Valheim เกมเอาชีวิตรอดจากผู้สร้างเพียง 5 คนที่ทำยอดขาย 2 สัปดาห์แรกกว่าพันล้านบาท

ง่ายๆ สั้นๆ Valheim คือเกมเอาชีวิตรอดในโลกตำนานนอร์สที่เราจะได้สวมบทเป็นนักรบชาวไวกิ้ง

ถ้าเป็นคนที่ชอบเล่นเกมแนวนี้ (survival-sandbox game) เมื่อแรกเห็นคอนเซปต์และคำอธิบายข้างต้น ต้องยอมรับว่านี่ยังไม่ใช่เกมที่น่าสนใจเท่าไหร่นัก เพราะก่อนหน้าเรามีเกมเอาชีวิตรอดชั้นดีในโลกแฟนตาซีอย่าง ARK: Survival Evolved ที่พาเราไปในยุคดึกดำบรรพ์ หรือ Subnautica ที่พาเราลงไปในโลกใต้ทะเลลึกมาแล้ว

แต่นอกจากคอนเซปต์เกมดังกล่าว แท้จริงแล้วเกมนี้มีอะไรมากกว่านั้นมาก ซึ่งสิ่งที่ว่าก็พาให้เกมอายุ 2 เดือนนี้ทำยอดขายไปกว่า 6 ล้านก๊อบปี้ รวมถึงยังเคยไต่อันดับกลายเป็นเกมที่มีคนเล่นมากที่สุดในโลก ณ ช่วงเวลาหนึ่ง แซงหน้าเกมในตำนานอย่าง CS:GO หรือ Dota 2 

และที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือความสำเร็จแบบถล่มทลายนี้เกิดขึ้นจากทีมงานเพียงแค่ 5 คนเท่านั้น

ทำไมพวกเขาถึงทำได้

เดินทางเข้าไปในโลกตำนานนอร์สเพื่อหาคำตอบได้ผ่านบรรทัดถัดไป

Valheim

เอาชีวิตรอดในโลกหลังความตายของตำนานนอร์ส

ใน Valheim ผู้เล่นทุกคนจะเริ่มต้นเกมจากจุดเดียวกันคือการเป็นนักรบชาวไวกิ้งที่ตายในโลกมนุษย์ (Midgard) ก่อนที่วิญญาณของแต่ละคนจะถูกนำตัวมาปล่อยในโลกที่ไม่รู้จัก

หลายคนต่างคาดการณ์ว่าฉากในโลกนี้น่าจะเป็นการยึดตามเนื้อเรื่องตำนานนอร์สที่ว่าด้วยชีวิตหลังความตายของนักรบชาวไวกิ้งที่จะถูกพาไปสู่ดินแดนที่ชื่อว่า Valhalla และวิญญาณทั้งหมดจะถูกฝึกฝนที่นั่นเพื่อรอการมาถึงของมหาสงครามระหว่างโลกที่ชื่อ Ragnarok

จากเส้นเรื่องเดิมที่มีอยู่ สิ่งที่เกมพาผู้เล่นไปพบเจอก็คล้ายคลึงกัน เราเริ่มต้นเกมในร่างแทบเปล่าเปลือย ก่อนถูกนำมาปล่อยในโลกที่ไม่มีใครบอกว่าต้องทำยังไงต่อ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเอาชีวิตรอดโดยการหาของที่จำเป็นและสร้างสิ่งที่ต้องการขึ้นมาตั้งแต่เสื้อผ้า อาหาร ไปจนถึงที่พัก เพื่อให้ตัวละครมีความสามารถมากพอที่จะไปปราบบอสในเกมได้

ความพิเศษอย่างหนึ่งคือเราไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดนี้ด้วยตัวคนเดียว เกมมีระบบให้เราสามารถเล่นร่วมกับเพื่อนได้พร้อมกันมากสุดถึง 10 คน

ช่วยกันสร้าง ช่วยกันสู้ หรือแม้แต่ระรานกันเองก็สามารถทำได้ เกมมีอิสระพอๆ กับข้อจำกัดให้เราเดินทางไปสู่การเป็นยอดนักรบด้วยตัวคนเดียวหรือทั้งหมู่คณะแบบมีคอมมิวนิตี้

และประเด็นหลังนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งให้เกมประสบความสำเร็จแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

Valheim

สร้างโลกสมมติที่เพลิดเพลินกว่าโลกจริง

ในช่วงเวลาที่ผู้คนแทบทั้งโลกถูกจำกัดให้อยู่บ้านจากวิกฤตโควิด-19 เกมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับความบันเทิงให้กับหลายๆ คน

ยิ่งถ้าเป็นเกมที่สนุก เล่นร่วมกับเพื่อนได้ นั่นยิ่งตอบโจทย์

และ Valheim ก็มาในช่วงเวลาที่เหมาะสมแบบพอดิบพอดี

Valheim

เพราะการอนุญาตให้คนเล่นออนไลน์ร่วมกันมากถึง 10 คน เหล่าก๊วนเล่นเกม (ที่ว่างตรงกันเสียที) จึงมักเลือกเกมในโลกตำนานนอร์สนี้ไปลองเล่น ยิ่งไปกว่านั้น ทุกการเอาชีวิตรอดก็เอื้อต่อความสนุก ‘ส่วนรวม’ ได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างเช่นการสร้างที่พักอาศัย รูปแบบการสร้างบ้านในเกมนั้นจะคล้ายคลึงกับเกม Minecraft นั่นคือเราสามารถสร้างเป็น ‘ชิ้น’ ขึ้นมาได้เท่านั้น การจะประกอบทุกอย่างขึ้นมาให้กลายเป็นบ้านที่เราต้องการต้องเกิดจากความสามารถและการออกแบบของเราเอง

ระบบนี้ทำให้การเล่นร่วมกับเพื่อนสำคัญ เพราะการจะหาทรัพยากรภายในเกมเพื่อนำมาสร้างเป็นบ้านและข้าวของเครื่องใช้แบบที่ต้องการนั้นต้องอาศัยเวลาจำนวนมาก การมีเพื่อนเล่นไปด้วยกันจึงช่วยย่นระยะเวลาไปได้มากโข 

และแน่นอนว่าอีกตัวอย่างหนึ่งคือการต่อสู้กับบอส ซึ่งหลายหัวช่วยกันย่อมดีกว่าหัวเดียวอยู่แล้ว

Valheim
Valheim

สุดท้าย อีกหนึ่งประเด็นที่ว่ากันว่าทำให้ Valheim เป็นที่นิยมขนาดนี้คือความสมดุล

ว่ากันตามจริง เกมเอาตัวรอดไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการเกม ก่อนหน้านี้มีหลายสตูดิโอที่พยายามสร้างโลกให้ผู้เล่นได้เอาตัวรอดด้วยความท้าทาย แต่น้อยเกมที่จะสำเร็จตั้งแต่แรกแบบนี้ 

ผู้เล่นหลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าโลกไวกิ้งนี้มี ‘ความสมดุลที่เป็นมิตรต่อผู้เล่น’ กล่าวคือตามปกติแล้วสิ่งที่เกมเอาตัวรอดส่วนใหญ่มักตกม้าตายง่ายๆ คือระบบ ถ้าไม่ยากเกินไปก็ง่ายเกิน แม้กระทั่งไม่สมจริงเกินไป หรือน่าเบื่อเกินไป แต่ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นน้อยมากใน Valheim

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ในโลกไวกิ้งนี้ผู้เล่นไม่จำเป็นต้องเร่งรีบไปปราบบอส ถ้าความสนุกของคุณคือการเล่นกับเพื่อนหรือวิ่งไล่เก็บของเพื่อสร้างบ้าน เกมก็จะให้อิสระในการทำเช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกันอิสระที่ว่าก็มีขอบเขตจำกัด ถ้าคุณอยากจะไปต่อในแง่เนื้อเรื่องหรือคุณภาพไอเทม ระบบจะบังคับให้คุณทำอะไรยากขึ้นไปเอง ระบบเหล่านี้เองคือสิ่งที่ผู้เล่นชอบมากจนบางคนใช้เวลาไปกับเกมนี้หลักร้อยชั่วโมง

ซึ่งความสมดุลและความดีงามทั้งหมดนี้มีที่มาที่พิเศษกว่าใคร

Valheim

คิดจะทำเกมให้คนเล่น ก็ต้องฟังคนเล่น

ถ้าจะนับจุดแรกเริ่มของ Valheim จริงๆ เราคงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2017

ในตอนนั้น ช่องยูทูบของ Richard Svensson ผู้ก่อตั้ง Iron Gate Studio สตูดิโอผู้สร้างเกมเล็กๆ สัญชาติสวีเดนได้โพสต์คลิปวิดีโอเกมที่ชื่อว่า Fejd (ชื่อโปรเจกต์ก่อนเปลี่ยนในภายหลัง) ที่กำลังอยู่ในกระบวนการสร้างออกมา พร้อมกับเขียนคำอธิบายสั้นๆ ว่า ‘นี่คือดราฟต์แรกของเกมเอาตัวรอดใหม่เอี่ยมที่ผมกำลังพัฒนาอยู่’

เอาจริงคลิปนั้นไม่ได้มีกระแสที่น่าตื่นเต้นอะไร ขนาดที่ว่าปัจจุบันวิดีโอนี้ก็ยังมีผู้เข้าชมแค่ 9,000 คนเท่านั้น แต่สิ่งที่ Iron Gate Studio ทำหลังจากนั้นต่างหากที่เป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้

เนื่องจากการเป็นสตูดิโอขนาดเล็กที่มีพนักงานทำเกมเพียงแค่ 5 คน ริชาร์ดและ Henrik Törnqvist หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอต่างรู้ดีว่าพวกเขาคงไม่มีพลังมากพอจะไปสร้างเกมที่กราฟิกโคตรสมจริงหรือมีระบบเกมอันแสนซับซ้อนระดับ AAA ได้แน่ๆ สิ่งที่พวกเขาทำได้คงเป็นเกมขนาดเล็กถึงกลางที่มีเนื้อหาและระบบจำกัด

แต่สิ่งที่ต่างจากคนทั่วไปคือพวกเขาไม่ได้มองว่าตรงนี้เป็นข้อเสีย ริชาร์ดและเฮนริกเลือกที่จะมองว่ามันเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งที่พวกเขาต้องหาทางแก้

และทางแก้ที่ว่าก็ง่ายมาก ในเมื่อเกมมีพื้นที่จำกัด สิ่งที่อยู่ในนั้นต้องถูกต้องและถูกใจผู้เล่นให้ได้มากที่สุด และการจะได้มาซึ่งความพอใจเหล่านั้นจะมีอะไรดีไปกว่าการสื่อสารและ ‘ฟัง’ คนเล่นจริงๆ อีกล่ะ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลังจากที่ริชาร์ดปล่อยคลิปตัวอย่างเกมแรกออกมา เขาไม่หยุดพัฒนาเกมไว้เพียงแค่นั้น แต่ยังคงนำส่วนต่างๆ ของเกมที่กำลังพัฒนามาทำเป็นคลิปวิดีโอเพื่อลงในช่องยูทูบส่วนตัวอยู่เรื่อยๆ เพื่ออัพเดตความคืบหน้าและรับฟังความเห็นของคนที่ผ่านเข้ามาดูด้วยว่าคิดยังไงกับเกมของพวกเขา

ซึ่งไม่ใช่แค่คอยอ่านคอมเมนต์เท่านั้น สิ่งที่ Iron Gate Studio ทำแตกต่างออกไปจากสตูดิโออื่นโดยสิ้นเชิง คือการสร้างช่องทางการสื่อสาร ‘สองทาง’ กับผู้เล่นตั้งแต่แรก

เมื่อพร้อมปล่อยเกมออกมาเป็นเวอร์ชั่นทดลองเล่น เฮนริกได้สร้างห้องพูดคุยในแอพพลิเคชั่น Discord ขึ้นมา (ฟังก์ชั่นคล้าย Clubhouse ที่ฮิตๆ กันอยู่ช่วงหนึ่ง) เพื่อพูดคุย รับฟัง และโต้ตอบกับผู้ทดลองเล่นโดยตรงแบบเรียลไทม์

ต้องหมายเหตุว่า การให้คนทดลองเล่นและฟีดแบ็กไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเกม เกือบแทบทุกเกมในยุคนี้มีขั้นตอนดังกล่าวด้วยกันทั้งนั้น แต่นี่แทบจะเป็นเกมแรกที่พยายามสร้างคอมมิวนิตี้สำหรับพูดคุยและเสนอแนะเกี่ยวกับเกมตั้งแต่ยังอยู่ในดราฟต์แรกๆ

แน่นอนว่าเมื่อเกิดการพูดคุยโต้ตอบแบบเรียลไทม์แบบนี้ ฟีดแบ็กที่สตูดิโอได้กลับไปพัฒนางานของตัวเองย่อมแตกต่างจากการให้ผู้เล่นกรอกแบบสอบถามเป็นไหนๆ ดังนั้นแม้ทีมงานประจำสตูดิโอจะมีเพียง 5 คน แต่คอมมิวนิตี้ที่สร้างขึ้นทำให้พวกเขามีมากกว่า 5 หัวในการช่วยคิดและออกแบบ อีกทั้งผู้เล่นที่เข้ามาก็เป็นผู้เล่นที่ชื่นชอบเกมเอาชีวิตรอดเป็นทุนเดิม พวกเขาจึงรู้ทั้งข้อดี-ข้อเสียของเกมก่อนหน้าจนสามารถแนะนำกับผู้พัฒนาเกมได้ว่าแท้จริงแล้วผู้เล่นต้องการเกมแบบไหนกันแน่

เพราะอย่างนี้เมื่อเกมออกวางจำหน่ายจึงแทบไม่มี bug หรือความผิดพลาดที่ร้ายแรงอะไรเลย เพราะทีมงาน (และผู้เล่น) ได้ช่วยกันพัฒนาเกมให้มีประสิทธิภาพและพร้อมติดปีกตั้งแต่วันแรกแล้ว

ก้าวต่อไปในเทพนิยายที่ไร้จุดจบ

เล่าถึงข้อดีมายืดยาว แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันเกม Valheim ยังอยู่ในขั้น Early Access เท่านั้น

เวอร์ชั่นที่ทุกคนสามารถเล่นได้ตอนนี้ยังไม่ใช่เกมตัวเต็ม ทีมผู้พัฒนายังมีเนื้อหาอีกมากที่กำลังทยอยทำเพิ่มเข้าไปให้ผู้เล่นได้ติดตาม ตั้งแต่บอสใหม่ ระบบใหม่ ไปจนถึงสถานที่ใหม่ๆ ให้ทุกคนไปค้นหา พูดง่ายๆ ว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น

“จากการเตรียมตัวของทีม ในตอนแรกผมเชื่อว่าเกมน่าจะขายดีพอให้บริษัทเราไม่ขาดทุน แต่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ สารภาพว่าไม่มีใครในทีมเราคาดคิดมาก่อนเลย” เฮนริกให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ pcgamer เมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อน และพูดถึงที่มาของสิ่งนี้เช่นกัน

“และความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากการที่เราค้นพบอะไรหรอก เราแค่ค้นพบ ‘ผู้เล่น’ ของเราและทำตามคำแนะนำของพวกเขาในการสร้างการผจญภัยที่แสนพิเศษเท่านั้นเอง”

ปัจจุบันเกมเอาตัวรอดนี้ยังเดินหน้าสร้างความสำเร็จและยอดขายต่อไป ล่าสุดคะแนนรีวิวของพวกเขาติดอันดับ 36 ของเกมที่ดีที่สุดตลอดกาล และดูเหมือนว่าโลกไวกิ้งนี้จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับฐานแฟนคลับอันเหนียวแน่นที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวันๆ

สำหรับเรา นี่เป็นอีกหนึ่งเกมที่น่าติดตามว่าจะนำเสนอประสบการณ์อะไรให้กับผู้เล่นอีกบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร เราก็เชื่อมือเพราะรู้ว่าพวกเขาจะยังฟังเสียงของผู้เล่นเหมือนเดิมเป็นแน่

อ๋อ เกือบลืมไป มีอีกคำถามที่หลายคนสงสัยที่เฮนริกได้ตอบไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนเช่นกัน

“พวกคุณจะยังทำงานกัน 5 คนต่อไปหรือเปล่า”

“ต้องขอบคุณผลตอบรับที่เกิดขึ้นนะ เพราะตอนนี้พวกเราน่าจะพอมีทุนหาพนักงานเพิ่มได้แล้ว น่ายินดีจริงๆ (หัวเราะ)”

AUTHOR