Little Nightmares เกมสยองขวัญที่เล่าเรื่องฝันร้ายในวัยเด็กจนผู้ใหญ่ทั่วโลกอินได้

ถ้าแปลตรงตัว Little Nightmares คงหมายถึงฝันร้ายเล็กๆ 

แต่สำหรับเกม Little Nightmares คำว่า ‘Little’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนาดเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงผู้ที่ครอบครองความฝันนั้นไว้ในยามค่ำคืนด้วย

ใช่ เกมนี้กำลังเล่าถึง ‘ฝันร้ายของเด็กๆ’

และฝันร้ายนั้นก็เป็นคล้ายบาดแผลที่ส่งผลต่อเราในยามเติบโต

Little Nightmares

Little Nightmares คือเกมมัลติแพลตฟอร์มที่ปล่อยภาคแรกออกมาเมื่อปี 2017 และภาคสองเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

Tarsier Studios สตูดิโอเกมเล็กๆ สัญชาติสวีเดนที่เป็นผู้ให้กำเนิดเกมให้คำจำกัดความเกมนี้ไว้ว่าเป็นเกมแบบ ‘puzzle-platformer horror adventure game’ หรือแปลง่ายๆ ได้ว่าเกมปริศนา-สยองขวัญ-ผจญภัย

คนที่อยู่นอกวงการเกมอาจสงสัยว่าเกมเกมหนึ่งจะบรรจุประเภทไว้ได้มากขนาดนั้นเชียวหรือ คำตอบคือได้ นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่คำถามสำคัญกว่านั้นคือ ในเมื่อผู้สร้างเกมเลือกที่จะเป็นหลายอย่างแล้ว พวกเขาทำได้ ‘ถึง’ มาตรฐานของเกมแต่ละประเภทแค่ไหน

ถ้าดูจากคะแนนรีวิว การที่พวกเขาสามารถสร้างเกมภาค 2 ได้ และประสบการณ์จากการได้ลองเล่นเอง คงไม่เกินจริงนักที่จะบอกว่า Little Nightmares นั้น ‘ทำถึง’

เพราะสำหรับเรา นี่คือ ‘interactive media’ ที่เล่าเรื่องได้อย่างชาญฉลาดราวกับกำลังดูหนังแอนิเมชั่นดีๆ สักเรื่อง และที่สำคัญโลกของฝันร้ายเหล่านั้นกลับทำให้เราหันมามองโลกแห่งความเป็นจริงในยามตื่นได้อย่างคมคาย

ฝันร้ายของเด็กชายและเด็กหญิง

เกม Little Nightmares ในภาคแรก เล่าเรื่องราวของ Six หญิงสาวในชุดเสื้อกันฝนสีเหลืองที่ตื่นขึ้นจากฝันร้ายแล้วพบว่าตัวเองอยู่ใน ‘The Maw’ สถานที่โสมมเน่าเฟะที่ทุกอย่างผุพังไร้ชีวิตชีวา ด้วยความไม่รู้เหนือรู้ใต้ว่าที่นี่คือที่ไหน เธอต้องพยายามหาทางเอาชีวิตรอดจากกับดักต่างๆ ความหิวโหย และการจับตามองของ ‘ดวงตาตรงประตู’ ที่เรียกว่า ‘The Eye’ รวมถึงหญิงสาวในชุดกิโมโนที่ซ่อนใบหน้าเอาไว้ในชื่อ ‘The Lady’ ทั้งหมดนี้คืออุปสรรคที่พยายามจะเอาชีวิตของซิกซ์โดยไม่รู้เหตุผล แต่นั่นเองคือภารกิจหลักตั้งต้นที่ผู้เล่นต้องพาซิกซ์หลบหนีออกจากที่นี่ให้ได้

Little Nightmares
Little Nightmares

สำหรับภาค 2 แกนหลักในการเล่าเรื่องจะย้ายมาอยู่ที่ตัวละครที่ชื่อว่า ‘MONO’ เด็กชายผู้สวมหมวกถุงกระดาษไว้บนหัว เขาตื่นขึ้นมาจากฝันร้ายเหมือนกับซิกซ์และพบว่าตัวเองอยู่ในเมืองที่แสนหดหู่ เต็มไปด้วยสถานที่ที่น่าสะพรึงกลัวตั้งแต่โรงเรียนที่มี ‘The Teacher’ ปีศาจครูสาวยืดคอได้ กับ ‘The Bullies’ กลุ่มตุ๊กตานักเรียนที่ทำขึ้นมาจากกระเบื้อง, โรงพยาบาลที่มี ‘The Doctor’ ปีศาจหมอที่จะปีนเพดานเข้ามาทำร้ายทุกครั้งเมื่อมีใครเผลอ และอาคารเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์ สถานที่สถิตของ ‘The Thin Man’ ตัวร้ายหลักประจำภาคนี้ที่คอยบงการภาพที่ฉายออกทีวีจนทำให้ประชากรทั้งเมืองคลั่งและแปรเปลี่ยนสภาพเป็น ‘The Viewers’ คนไร้หน้าที่จะพุ่งมาทำร้ายเราทุกครั้งที่พยายามปิดทีวีของพวกเขา

นอกจากโมโนจะต้องเจอกับศัตรูร้ายกาจคูณสองจากภาคที่แล้ว ภารกิจหลักของเขายังต่างไปจากภาคแรก เพราะครั้งนี้ไม่ใช่แค่เขาที่ต้องตะเกียกตะกายพยายามเอาชีวิตรอดจากที่นี่คนเดียว แต่ยังต้องพาเด็กสาวที่บังเอิญเจอระหว่างทางหนีไปพร้อมกัน

และเด็กสาวคนนั้นคือซิกซ์

งานภาพในฝันร้ายที่คล้ายฝันดี

ในแง่ของความเป็นเกม สิ่งที่หลายคนต้องสะดุดตาเมื่อได้เห็น Little Nightmares คืองานภาพ

โลกที่เน่าเฟะ โสมม และขมขื่น ที่เป็นฉากหลังของทั้ง 2 ภาคนั้นถูกนำเสนอออกมาด้วยภาพกราฟิกที่คล้ายกับหนังของ Tim Burton นั่นคือตัวละคร สิ่งของ หรือฉากมีความไม่สมจริง คล้ายการ์ตูน แต่ในรายละเอียดกลับมีจุดชวนแหวะหรือภาพสยดสยองที่ซ่อนอยู่ชัดเจนจนเกิดเป็นความขัดแย้งที่แฝงเสน่ห์บางอย่าง

“ฉากหลังของเกมเกิดจากความคิดที่ว่า ถ้า ‘สิ่งที่เด็กมองว่าน่ากลัวที่สุดในโลก’ เน่าเหม็น บูดเบี้ยว ฟอนเฟะยิ่งขึ้น มันจะออกมาเป็นยังไง” Dave Mervik หนึ่งในหัวเรือใหญ่ของ Tarsier Studios ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ gamingbolt เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

“เราอยากสร้างโลกที่เกิดจากมุมมองของเด็กอย่างแท้จริง เพราะถ้าคุณลองคุยกับเด็ก คุณจะรู้ว่าพวกเขามักมองอะไรเป็นสองขั้วอย่างสุดทาง ไม่ซูเปอร์ฮีโร่ก็ตัวร้าย ไม่ผจญภัยก็สยองขวัญ ไม่สนามเด็กเล่นก็คุก เราจึงพยายามสร้างโลกแบบนั้นขึ้นมา โดยตัวละครหลักจะแต่งกายชุดสีสดใส (ซิกซ์ใส่ชุดกันฝนสีเหลืองสะท้อนแสง) ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับฉากหลังและองค์ประกอบรอบๆ ที่สำคัญคือทุกอย่างต้องดูใหญ่กว่า เร็วกว่า แข็งแรงกว่า และดูจะเอาชีวิตคุณได้ เพราะนั่นคือมุมมองของเด็กจริงๆ”

ด้วยแนวคิดนี้เอง จะเห็นได้ว่าในโลกภายในเกมนี้จะทำให้เรารู้สึกตัวเล็กจ้อย ทุกอย่างดูใหญ่โตเกินขนาด และจัดการด้วยยากไปหมด อย่างฉากที่ต้องการเพิ่มความสยองขวัญ สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่การปรากฏตัวที่ทำให้ตกใจเหมือนฉาก jump scare ในหนังผี แต่จะเป็นมวลความน่ากลัวบางอย่างที่เรารู้สึกตอนเด็ก เช่น สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้สัดส่วน ความมืดที่แฝงมาด้วยความไม่รู้ หรือแม้กระทั่งความสูญเสีย

นั่นเองที่ทำให้เกมนี้เข้าชิงรางวัลสาขา visual designer มาได้หลายเวทีแล้ว

เมื่อในฝันเด็กไร้พลังและไร้เสียง

อีกหนึ่งเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของ Little Nightmares คือการเล่าเรื่อง

นี่คืออีกจุดเด่นของเกมเพราะจากทั้งหมดที่กล่าวไป เชื่อไหมว่าเกมนี้ไม่มีบทพูดเลยแม้สักประโยคเดียว

นอกจากเสียงเอฟเฟกต์และดนตรีประกอบในฉากหลัง เกมนี้ไม่มีเสียงอื่นใดอีก ทุกอย่างถูกนำเสนอผ่านภาพและการกระทำของตัวละครทั้งหมด ฟังดูอาจเป็นข้อด้อยแต่นั่นเองคือที่มาที่ทำให้เกมบรรจุความสนุกไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม

ด้วยความที่ตั้งใจให้เกมเป็นแนวแก้ไขปริศนา การโยนผู้เล่นเข้าสู่โลกของเกมที่พวกเขาไม่รู้จักและไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ เป็นการบังคับกลายๆ ให้ผู้เล่นต้องออกสำรวจและตามแก้ไขปริศนา ยิ่งได้แก้เท่าไหร่ก็ยิ่งได้คิดและสนุกไปกับเกม ยิ่งเมื่อตัดสลับกับช่วงที่ผสมผสานความสยองขวัญหรือการผจญภัย นี่จึงเป็นเกมที่คลุกเคล้าไปด้วยหลายรสชาติ ผ่านแนวทางที่ผู้พัฒนาเกมเรียกว่า ‘Hide and Sneak’

“เราไม่อยากใช้คำว่าเกมแนว stealth (เกมแนวลอบเร้นเพื่อหลบศัตรู) แบบที่หลายเกมใช้ด้วยซ้ำ“ Andreas Johnsson หนึ่งในทีมผู้สร้างได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ gematsu “ถ้าใช้คำนั้นเหมือนเกมอื่นๆ มันจะเป็นการให้อำนาจกับผู้เล่นมากเกินไป เราไม่ได้อยากให้ผู้เล่นแอบซุ่มแต่อยากให้รู้สึกว่าตัวเองคือเด็กจริงๆ ดังนั้นสิ่งที่คุณทำได้คือการซ่อนแอบและสำรวจเท่านั้น”

ความหลากหลายและความแปลกใหม่นี่เองที่ทำให้หลายเว็บไซต์เกมในต่างประเทศต่างเทคะแนนให้เกมนี้สูงมาก ถึงขั้นที่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ห่างจาก Cuphead เจ้าของรางวัลเกมอินดี้ประจำปีแค่ไม่กี่คะแนนเท่านั้น

Little Nightmares

ฝัน บาดแผล หรือตัวแปรต่อการเติบโต

ทั้งสองอย่างที่กล่าวไปล้วนเป็นฉากหน้า แต่เรื่องสุดท้ายที่เราอยากพูดถึงคือความหมายที่ซ่อนอยู่ใน Little Nightmares 

แม้เกมจะบอกทุกคนว่าพวกเขาเลือกนำเสนอ ‘ฝันร้าย’ ของเด็กๆ นำมาสู่สไตล์ภาพและเกมเพลย์แบบที่เห็น แต่เมื่อได้ลองเล่นเรากลับพบว่าใต้ฝันร้ายนั้นมีเมสเซจลึกล้ำที่ทำให้ผู้ใหญ่ต้องสะอึก

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ในเกมภาคแรก ตัวเอกอย่างซิกซ์จะได้เจอกับตัวร้ายที่ส่วนใหญ่เป็น ‘ผู้ใหญ่ตัวอ้วนที่หิวกระหายและกินเด็กเป็นอาหาร’ ซึ่งเด็กที่ถูกกินหรือพรากชีวิตไปจะกลายเป็นหิน ส่วนฉากจบก็สื่อความหมายว่าฝันร้ายหรือบาดแผลในวัยเด็กอาจหล่อหลอมให้เด็กสักคนโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่พวกเขาเคยเกลียด ทั้งหมดนี้ล้วนสื่อความหมายถึงชีวิตจริงทั้งนั้น

เคยไหมที่เวลาไม่ชอบผู้ใหญ่คนไหน แต่เมื่อโตขึ้น รู้ตัวอีกทีเราก็ทำเหมือนเขาเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำไร้เหตุผลของพ่อแม่ การพูดจาที่ฟังแล้วไม่เข้าหูของอาจารย์ หรือแม้กระทั่งความห่วยแตกของผู้ใหญ่ในประเทศบนหน้าข่าว แม้เราจะเกลียดแค่ไหนตอนเด็กแต่ถ้าไม่มีสติและบอกตัวเองอยู่เสมอ มันยากเหลือเกินที่เราจะไม่โตไปเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น เพราะสังคมที่คนโตกว่าสร้างไว้มันช่างเอื้อให้เรากลายร่างไปเป็นปีศาจแบบพวกเขาเหลือเกิน

อย่างในภาค 2 ทั้งโมโนและซิกซ์จะได้เจอกับตัวร้ายชื่อ The Viewers เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงในบางฉากโมโนเองก็จะคล้ายถูกสะกดจิตจากโทรทัศน์ เป็นอีกหนึ่งการเปรียบเปรยเรื่อง ‘ปัญหาของสื่อบนหน้าจอที่มีผลต่อเด็ก’ เพราะเราจะเห็นได้จากตัวละครเลยว่า ‘หน้าจอ’ ส่งผลให้คนแสดงออกอย่างรุนแรงได้ยังไงบ้าง หรือให้ลึกไปกว่านั้น อย่างการที่ The Thin Man สามารถควบคุม The Viewers นั่นก็เป็นการบอกกลายๆ ว่าถ้าเราไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เสพผ่านหน้าจอ เราอาจตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ควบคุมสื่อเข้าสักวันก็ได้

หรือแม้แต่ฉากที่สะท้อนปัญหาในโรงเรียนอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง The Teacher ที่ยืดคอยาวๆ ไปสอดรู้สอดเห็นเด็กตลอดเวลา คอยบังคับให้เด็กทุกคนทำตามสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็น และนักเรียนกระเบื้องอย่าง The Bullies ที่ชอบบูลลี่ตามชื่อก็เป็นอีกประเด็น การที่เด็กสักคนจะไม่อยากไปโรงเรียน เชื่อเถอะว่า ‘เพื่อน’ และ ‘ครู’ นั้นเป็นสาเหตุหลักๆ มากกว่าสถานที่เสียอีก

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นรายละเอียดรายทางที่เกมค่อยๆ บอกเราว่า ‘ฝันร้าย’ ของเด็กนั้นมีผลต่อการเติบโตของพวกเขามากแค่ไหน และฝันร้ายเหล่านี้ยังมีอยู่ในเกมอีกมากให้ผู้เล่นได้สำรวจและสัมผัสด้วยตัวเอง

ปัจจุบัน Little Nightmares ภาค 2 กำลังเก็บเสียงชื่นชมเหมือนกับภาคแรกที่พวกเขาทำได้ และดูแล้ว ‘ฝันร้ายของเด็กๆ’ น่าจะมีภาคต่อแน่ๆ ดังนั้นนี่จึงเป็นเหมือนหลักฐานตอกย้ำว่าถึงแม้เมสเซจหลักที่อยากสื่อสารผ่านเกม ฟังผ่านๆ อาจดูเข้าใจและเข้าถึงยาก แต่ถ้าผ่านการคิด ไตร่ตรอง และหา ‘จุดร่วม’ ในแง่วิธีการนำเสนอออกมาได้ คนทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยากเลย

เหมือนกับที่ Andreas Johnsson หนึ่งในทีมผู้สร้างเคยกล่าวไว้นั่นแหละ

“คำถามที่ว่าทำไมพวกเราถึงใช้ตัวละครเป็นเด็กน่ะเหรอ ก็เพราะเราทุกคนเคยเป็นเด็กกันทั้งนั้นนี่”

และเด็กในวันนั้นจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหนในปัจจุบัน

บางทีฝันร้ายในอดีตนั่นเองที่เป็นคำตอบ

Little Nightmares

AUTHOR