‘TranS I-Am’ ละครเวทีที่ชวนให้เราโอบรับความหลากหลายและสรรเสริญแง่งามของการเป็น ‘ตัวเอง’

Highlights

  • ละครเวที ‘TranS I-Am’ เป็นผลงานการกำกับของ โย–อภิรักษ์ ชัยปัญหา และ กอล์ฟ–ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เล่าเรื่องราวของกะเทยแต่งหญิงผู้กำลังจะแปลงเพศ แต่จู่ๆ ก็ค้นพบว่าตัวเองมีลูกชาย ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากหนังขวัญใจชาว LGBT อย่าง Transamerica
  • ความคาดหวังของผู้กำกับคือการลบภาพจำเก่าๆ ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และให้มองพวกเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน
  • นอกจากบริบทของเรื่องที่ปรับให้มีความเป็นไทยแล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจคือเวทีรูปตัว X ที่ให้คนดูนั่งล้อมรอบ ซึ่งจะสามารถเห็นพลังการแสดงได้จากทุกทิศทาง

TranS I-Am Transamerica คือหนังตลก-ดราม่าที่ออกฉายในปี 2005 ว่าด้วยเรื่องราวของบรี กะเทยแต่งหญิงผู้กำลังจะแปลงเพศ แต่จู่ๆ ก็พบว่าตัวเองมีลูกชายวัยห้าวเป้งโผล่มาให้ดูแล นำมาซึ่งการเดินทางของเธอกับลูกชายที่นอกจากจะข้ามประเทศแล้ว ทั้งคู่ยังได้ก้าวข้ามอคติที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย

หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์และรายได้ และถือว่าเป็นหนัง LGBT ยุคบุกเบิกที่สามารถปลุกกระแสให้สังคมอเมริกันตื่นตัวกับความหลากหลายทางเพศ

TranS I-Am

14 ปีต่อมา Qrious Theatre กลุ่มคนทำละครเวทีรุ่นใหม่ไฟแรงได้หยิบเอาแรงบันดาลใจจากหนังต้นฉบับเรื่องนี้มาเล่าในรูปแบบละครเวที ภายใต้ชื่อ TranS I-Am  (ทรานส์ไอแอม) จากการกำกับของโย–อภิรักษ์ ชัยปัญหา ผู้รับหน้าที่กำกับควบกับเขียนบท และ กอล์ฟ–ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับหนัง ละคร และ ส.ส. transgender คนแรกของประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะกำกับร่วมแล้ว กอล์ฟยังรับหน้าที่แสดงนำด้วย

แค่ชื่อผู้กำกับก็ทำให้หูผึ่ง เราจึงไม่พลาดที่จะขอนัดเจอทั้งคู่ รวมทั้ง ขวัญ–วิทยา สุทธินิเทศ นักเขียนบทและโปรดิวเซอร์คนสำคัญ ผู้ริเริ่มโปรเจกต์นี้มาด้วยกัน เจาะลึกถึงการดัดแปลงหนังในดวงใจใครหลายคน (รวมถึงเรา) ให้กลายเป็นละครเวทีบริบทแบบไทยๆ

การเดินทางของ ‘ทรานส์สยาม’ จะเป็นอย่างไร คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไปแล้ว

‘ฉันคือทรานส์’ ที่อยากสรรเสริญการเป็นตัวเองเหมือนทุกคน

กอล์ฟ : “ปกติเราทำหนังเกี่ยวกับ LGBT เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคมอยู่แล้ว จนเมื่อปีที่แล้วเราเจอโยในงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ โยเป็นรุ่นน้องที่เรารู้จักมาตั้งแต่เรียนมัธยม ก่อนหน้านี้เราคุยกับโยตลอดว่าเราอยากทำละครเวที โยบอกว่าตัวเองมีโปรเจกต์ Transamerica ซึ่งเป็นหนังในดวงใจเราอยู่แล้ว ก็เลยคุยกันว่า งั้นเราทำ TranS I-Am ละครเวทีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Transamerica กันไหม”

โย:Transamerica เป็นหนังที่เราและกลุ่ม LGBT ประทับใจกันอยู่แล้ว เราชอบที่มันเป็นการเดินทางของคนที่ยอมออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองเพื่อไปเรียนรู้โลกกว้าง เขาได้เจออะไรบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าที่เขาเคยยึดถือ

“พอจะหยิบมาทำมันจึงเกิดคำถามว่าหนังเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อมันอยู่ในยุคนี้ เราอยากคุยกับคนดูยังไงบ้าง”

เพราะทรานส์ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว

ขวัญ: “ในฐานะคนเขียนบท ต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้ยากมาก เพราะเราต้องคิดว่าเราจะไปให้ไกลกว่าจุดที่มันเคยมีได้ยังไง เราไม่ต้องการให้อะไรเหมือนเดิมเลยนอกจากโครงเรื่อง ที่สำคัญต้องปรับมันให้เข้ากับบริบทสังคมในเวลาปัจจุบันให้ได้มากที่สุด”

กอล์ฟ: “สิ่งที่เราบอกกับโยและทีมเขียนบทคือ เราไม่อยากทำซ้ำภาพจำว่ากะเทยจะต้องไม่สมหวัง ฆ่าตัวตาย ต้องไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เราอยากทำละครเวทีที่กะเทยได้สมหวังในตอนจบ ไม่ได้แปลว่านำเสนอแบนๆ ด้านเดียว แต่เขาก็ยังมีความเป็นมนุษย์ มีถูก ผิด ดี เลวอยู่ในตัวคนคนหนึ่ง

“เราอยากสร้างภาพกะเทยที่มันจะมีอุปสรรคในการเป็นตัวของตัวเองบ้าง มีปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองและสังคมบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดถ้ามันก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นมาได้ แล้วได้ค้นพบกับสิ่งที่ตัวเองเป็นจริงๆ มันก็ควรได้รับการ celebrate ได้รับรางวัล ได้รับการมีคนรักสักที และเราก็เลือกจัดแสดงในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็น pride month เราอยากสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคนก็คือมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับทุกคนผ่านละครเวทีเรื่องนี้”

การเดินทางของทรานส์แห่งสยาม

โย: “ความท้าทายของละครเวทีเรื่องนี้คือการทำ road movie บนเวทีที่ไม่มีรถสักคัน โจทย์ยากคือทำยังไงให้คนดูรู้สึกว่าเรากำลังเดินทางอยู่”  

กอล์ฟ :Transamerica เดินทางจากเคนทักกีไปลอสแอนเจลิส แต่ของเราเดินทางจากเชียงใหม่ไปภูเก็ต เป็นการข้ามประเทศเหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันคือคาแร็กเตอร์ต่างๆ ที่เรามีการเพิ่มเข้าไป เพิ่มบท เพิ่มความสำคัญ เพิ่มรายละเอียดที่คนดูจะได้เห็นการก้าวข้ามผ่านอะไรบางอย่างของทุกตัวละคร”

โย: “เรื่องต้นฉบับมีโครงสร้างของบทที่คลาสสิกและแข็งแรงมาก มันพูดถึงคน 3 เจเนอเรชั่น คือพ่อแม่ที่เป็นเจเนอเรชั่นผู้ใหญ่ ตั๊กที่เป็นเจเนอเรชั่นที่อยู่ตรงกลาง และเจเนอเรชั่นลูกชาย เขาวิพากษ์สังคมอเมริกันผ่านครอบครัวเดียว เล่าความพังทลายของครอบครัวนี้ซึ่งพยายามเยียวยากันและกัน

“แค่โครงสร้าง เราก็ยังคงรู้สึกว่าสังคมไทยตอนนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่ กลุ่มเจเนอเรชั่นผู้ใหญ่พูดปากเปียกปากแฉะยังไง ความเข้าใจของเขาที่มีต่อทรานส์ หรือ LGBT ก็ยังไม่ได้เปิดกว้างมาก หรือแม้แต่ไม่ต้องเป็น LGBT กลุ่มคนที่คิดต่างไปจากเขา เขาก็ยังไม่เข้าใจ”

ขวัญ: “ทุกคนรู้ว่ากรุงเทพฯ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในเมืองหลวง LGBT ของโลก การทำเรื่องให้สมเหตุสมผลในบริบทไทยเลยยาก เพราะ ณ ปัจจุบันทุกอย่างมันเปิดมาก แต่ถึงมันเปิด มันก็จะมีอะไรที่ไม่เปิดอยู่ดี เรารู้สึกว่าต่อให้มันมีการยอมรับกันได้ สุดท้ายมันก็ยังไม่ได้เท่าเทียมหรอก เพราะ perception ของคนก็ยังมองว่า ความหลากหลายทางเพศมันไม่ใช่เรื่องปกติ”

กอล์ฟ: “เรามองว่าสังคมจะก้าวข้ามอคติทางเพศไปได้มันต้องไปทั้งองคาพยพทั้งหมด ต้องไปกันทั้งสังคม ไม่ได้แปลว่ากะเทยจะก้าวข้ามอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจกับสังคมเป็นเรื่องที่สำคัญ ตรงนี้เราก็ใส่เข้าไปใน TranS I-Am ซึ่งจะแตกต่างกับ Transamerica

จาก ‘บรี’ สู่ ‘ตั๊ก’

กอล์ฟ: “ในหนังเวอร์ชั่นต้นฉบับ บรีตัวละครเอกของเรื่องเป็นกะเทยที่เชื่อว่าตัวเองเป็นผู้หญิงในร่างผู้ชาย แต่ในเวอร์ชั่นละครเวทีไทย เธอกลายมาเป็น ตั๊กผู้ได้รับอิทธิพลจาก พี่ตั๊ก มยุราต้นแบบของผู้หญิงที่เธออยากเป็นมาตั้งแต่เด็ก

“การเล่นเป็นตั๊ก มันมีทั้งความเหมือนและความต่างจากตัวเอกในหนังต้นฉบับ นักแสดงที่รับบทเป็นบรีใน Transamerica เธอเป็นผู้หญิงที่ต้องมาเล่นเป็นกะเทย เขาต้องตีความว่าตัวเองต้องเป็นผู้ชายที่อยากเป็นผู้หญิง แต่ของเราก็ยากเหมือนกัน เพราะเราดันเป็นกะเทยที่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง ไม่ได้อยากผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ได้อยากทำนม แต่เราต้องมาเล่นเป็นผู้หญิงที่เรียบร้อย ให้คนจับไม่ได้ เพราะฉะนั้นเลเยอร์ในการตีความมันก็เลยไม่เหมือนกัน

       TranS I-Am

“เพื่อการแสดงที่สมจริงที่สุด เราต้องพยายามที่จะทำความรู้จักกับตั๊กเพื่อเข้าใจเขา คือตั๊กเป็นกะเทย conservative ตั้งแต่เกิดมาเขาไม่เคยชอบอวัยวะเพศชายของตัวเอง เวลาเดินจะเดินแรงก็ไม่ได้ เดี๋ยวแต๊บจะหลุด คือที่แต๊บไว้ ไม่ใช่ว่ากลัวคนอื่นรู้นะ แต่กลัวว่าตัวเองจะรู้ว่ามีมันอยู่ต่างหาก การแต๊บของตั๊กคือการไม่ยอมรับความจริงว่าจริงๆ แล้วกูมี จะรักผู้ชายสักคนก็ไม่กล้าที่จะมีอะไรกับเขา ถ้าฉันมีจิ๋ม ฉันถึงจะมีเซ็กซ์กับเขาได้ ถึงจะเป็นความรักที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่เหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายามทำความรู้จักตัวตนของตั๊กให้มากที่สุด”

เข้าถึงบทบาทด้วยการสร้างประสบการณ์ร่วม

โย: “ด้วยความที่นักแสดงทุกคนมีเครื่องมือดีอยู่แล้ว วันแรกพอเราอ่านบทปุ๊บ เราก็เริ่มเห็นสกิลที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถช่วยเขาให้เห็นภาพร่วมกันได้ คือการกลับมาที่การทำความเข้าใจตัวละคร

“สิ่งที่ช่วยก็คือการทำแบ็กกราวนด์ตัวละคร เราจะให้ทำอิมโพรไวเซชั่นช่วงสำคัญในชีวิต บทละครเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่ออกมาแค่นี้ แต่มันจะมีแบ็กสตอรีที่อยู่ข้างล่างเยอะมาก เป็นประสบการณ์ที่นักแสดงร่วมกันสร้างเอง แล้วเขาจะได้เอามาใช้กับบทได้อย่างเข้าใจ”

กอล์ฟ: “ถ้าให้จินตนาการ แต่ละคนจะคิดไม่เหมือนกัน แต่การที่เราจับตัวละครมาอยู่รวมกัน แล้วโยนสถานการณ์ในอดีตให้อิมโพรไวส์ มันเกิดประวัติศาสตร์ของครอบครัวนี้ขึ้น บาดแผลที่มันเกิดขึ้น มันมีผลกระทบกับฉากที่เป็นยอดน้ำแข็งในละครยังไงบ้าง ซึ่งมันเวิร์กมาก จากเหตุการณ์เวิร์กช็อปนี้มันทำให้เรามีประสบการณ์ร่วมกันของเรากับตัวละคร มีประสบการณ์ร่วมกันของตัวละครเรากับตัวละครอื่น”

TranS I-Am

เวทีเป็นดั่งเพศวิถีที่ไม่มีการจำกัด ‘กรอบ’

โย: “ตอนแรกเราลองคิดจากคอนเซปต์ว่าอยากเล่นบนเวทียังไง ทีมก็เสนอมาว่าเป็นตัว X ไหม เราเลยพัฒนาจากตรงนั้น ไม่รู้เลยว่ามันจะยากกับเรา (หัวเราะ) เพราะว่ามันเป็น arena stage คนดูอยู่รอบๆ มันจะปลอมสักโมเมนต์ไม่ได้เลย และมันต้องมีพละกำลังสูงมาก แม้ว่ามันจะอยู่ใกล้ชิดกันมากก็ตาม”

กอล์ฟ: “เรื่องนี้เล่าถึงการก้าวข้าม สิ่งที่เราตั้งใจคืออยากให้เกิดการก้าวข้ามที่ไม่ใช่แค่ตัวนักแสดงอย่างเดียว เราอยากให้รูปแบบการแสดงมันก้าวข้ามด้วย แล้วคนดูก็ได้ก้าวข้ามมันไปพร้อมกับเรา มันก็เลยข้ามกันไปข้ามกันมา เพราะส่วนตัวพอเราพูดเรื่องทรานส์ เราไม่อยากติดอยู่ในกรอบอะไรอยู่แล้ว”

โย: “นอกจากมีเวทีตัว X แล้ว หนึ่งในประสบการณ์ที่คนดูจะได้รับคือการเห็นตัวละครเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ดู พอถึงบทที่ตัวเองเล่นก็ขึ้นเวที พอไม่มีบทเล่นก็ลงมาข้างล่าง เพราะเราต้องการโชว์ให้คนดูเห็นว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่คุณเห็นทั้งหมดมันคือสิ่งสมมติ วาทกรรม หรือมายาคติที่คุณอิน ความจริงมันถอดออกได้ รสนิยมทางเพศเองก็เป็นสิ่งสมมติ”

TranS I-Am

ความตั้งใจในการพาคนไทย ‘ก้าวข้าม’ ไปด้วยกัน

กอล์ฟ: “ตั้งแต่ตอนตั้งชื่อ TranS I-Am ทรานส์ไอแอม ซึ่งมันก็คือทรานส์สยามด้วยเนี่ย มันเป็นความหมายที่เราชอบมาก เพราะว่าการที่เราจะก้าวข้ามอะไรบางอย่าง เราไม่สามารถก้าวข้ามได้แค่เราคนเดียว มันต้องก้าวข้ามไปพร้อมกัน นี่คือความตั้งใจของเราในการทำละครเวทีเรื่องนี้ เราอยากให้ประเทศไทยก้าวข้ามสิ่งที่มันติดหล่มกันอยู่นี่ได้สักที ตอนนี้เราติดหล่มหลายๆ อย่างเป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในตัวเอง

“เมื่อเราไม่กล้ายอมรับความจริงที่มันเกิดขึ้นในบ้านเมือง เราก็ไม่สามารถจะพาประเทศให้ก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปได้ เราอยากเล่าเป็นอุปมาในเรื่องนี้ ที่ตัวละครไม่ได้ก้าวข้ามแค่ด้านร่างกายสรีระอย่างเดียว มันยังได้ก้าวข้ามความรู้สึกของตัวเอง ความจริงที่ต้องเผชิญหน้า ความเชื่อที่เคยเชื่อ ”

TranS I-Am

โย: “เรื่องนี้มีคอนเซปต์แข็งแรงที่เราอยากเล่า แต่สิ่งที่เราแอบโยนคำถามไว้เล่นๆ แบบหยิกนิดๆ ในละครด้วยก็คือการตั้งคำถามว่า เมื่อเรารณรงค์ให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นตัวของตัวเองหมดแล้ว น้องทอมอยากมีจู๋ น้องทรานส์อยากมีจิ๋ม ต่อสู้ทางด้านจิตใจหมดแล้ว ถามว่า แล้วในเมืองไทยเปิดโอกาสอะไรให้เราได้บ้าง เรายังไม่มีกฎหมายรองรับเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ การสมรสในเพศเดียวกัน เวลาเราเปลี่ยนเพศ การเทคฮอร์โมนของแต่ละเพศ ลิสต์ยาเหล่านั้นยังอยู่ในสวัสดิการหรือเปล่า หรือเขามองว่าเราป่วยเกินจำเป็น เรายังเป็นสิ่งเกินจำเป็นอยู่ไหม”

กอล์ฟ: “เพราะจริงๆ ในการที่เราจะเป็น ส.ส.กะเทยคนแรก เราต้องการมาต่อสู้เรื่องนี้ เพราะว่าเมื่อเราต่อสู้เรื่องความเป็นตัวของเราเองแล้ว สังคมก้าวข้ามแล้ว แล้วรัฐมีอะไรรองรับในความเป็นมนุษย์ให้เราบ้าง”

โย: “จากชื่อ TranS I-Am กลุ่ม LGBT คือ I-Am ที่ข้ามแล้ว แล้วคน SIAM ข้ามหรือยัง”

กอล์ฟ: “เรายังไม่ได้เป็นไทยแลนด์นะคะ เรายังเป็นสยามอยู่ เรายังก้าวข้ามอะไรไม่พ้นอยู่เลยค่ะ”

TranS I-Am

TranS I-Am เปิดแสดงตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน 2562 (เฉพาะวันศุกร์-อาทิตย์) ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ อาคาร Plan House III (ซอยสาทร 10) บัตรราคา 500 และ 700 บาท สามารถจองบัตรได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Qrious Theatre

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ

ณัฐวุฒิ เตจา

นักเรียนศิลปะการถ่ายภาพผู้นอนเช้าตื่นบ่ายและกำลังจะตายกับหัวข้อทีสิส กำลังหัดกินกาแฟและดูแลต้นไม้ 8 ต้น