Bharata Shaadi : เบื้องหลังความสดของละครเวทีที่ตั้งคำถามกับคำสาปของความโสด

กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ มีดินแดนลับแลแสนไกลที่สร้างขึ้นจากจินตนาการ
และคำถามชวนคิดของหนุ่มสาวคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสังคมหนึ่งเกิดเชื่อบางสิ่งสุดหัวใจ อย่างการห้ามหญิงสาวในเมืองครองโสด! ไม่เช่นนั้นพวกเหล่าสาวโสดจะต้องถูกลงทัณฑ์ทุกค่ำคืน
โดยมีฉากหลังเป็นกลิ่นอายเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ
ดนตรีภารตะ และสีแสบสดของส่าหรี่

เมื่อตั้งต้นด้วยคำถามซนๆ แน่นอนว่าวิธีการเล่าเรื่องของพวกเขาต้องสนุกไม่แพ้ละครเวทีรุ่นใหญ่
แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ เมื่อ a
team ได้พูดคุยกับผู้กำกับละครเวทีในปีนี้
เกวลี ศุภการัง ผู้ช่วยผู้กำกับ ปภาวรินทร์ อยู่ประเสริฐ, กษิดิ์เดช บุญตานนท์ และ Acting Coach อมร จินดาทองดี จึงรู้ว่านอกจากวิธีเล่าแสบซ่า ตัวละครก๋ากั่น พวกเขายังคิดเยอะมากกับรายละเอียดเล็กๆ
น้อยๆ ที่ไม่ใช่แค่เสื้อผ้ากับฉากอลังการตามแบบฉบับ Bollywood แถมยังเลือกเล่าเรื่องความเชื่อเหล่านั้นออกมาโดยไม่ตัดสินหรือชี้นำ เพียงแต่เปิดเผยมุมมองใหม่ให้คนดูได้คิดเล่นเห็นต่าง ระหว่างหายใจในบรรยากาศเดียวกันกับชาวเมืองโสดต้องสาปใน
Bharata Shaadi – ภารตะชาดี้ สะบัดส่าหรีหนีโสด

ดินแดนในจินตนาการที่สร้างจากคำถามใกล้ตัว

ปภาวรินทร์ : “อย่างที่ทุกคนรู้ว่าละครเวทีนิเทศของเรา ทุกคนทำด้วยกันตั้งแต่ส่งธีมเรื่องกันเข้ามาทั้งคณะ แล้วทุกคนสามารถโหวต
สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ ซึ่งธีมของละครนิเทศจุฬาฯ ปีนี้คือบอลลีวูด พวกเราก็เอามาคิดกันต่อว่า ภาพยนตร์อินเดียและประเทศอินเดียมีอะไรน่าเล่า
และคนดูสามารถเข้าถึงได้ง่าย ก็มีหลายประเด็นมากที่พวกเราสนใจตั้งแต่เรื่องวรรณะ เรื่อง
Love Commandos ที่เขาช่วยให้คนต่างวรรณะแต่งงานกันได้

บวกกับความสงสัยของพวกเราที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า เฮ้ย! เวลาคนเราเชื่ออะไรอย่างสุดหัวใจ
เราเคยรู้ไหมว่าต้นตอมาจากไหน เหตุผลของความเชื่อนั้นเป็นยังไง
แล้วในฐานะคนที่มองเข้าไป เราเข้าใจเขาได้แค่ไหนกัน กลายเป็นว่าประเด็นเรื่องการแต่งงานของอินเดีย
โดยเฉพาะขั้นตอนของชีวิต หรือทางปฏิบัติเพื่อยกระดับชีวิตให้สูงขึ้นในศาสนาฮินดูมันน่าสนใจมากเลย
เพราะหนึ่งในขั้นตอนที่ทำให้ชีวิตของคุณคอมพลีตได้นั้นมีขั้นที่ว่าด้วยการครองเรือน
การแต่งงาน

เรารีเสิร์ชเยอะมาก แล้วก็เจอข่าวนั่นนี่ว่าเมื่อผู้หญิงถึงวัยแห่งการออกเรือน ในสังคมอินเดีย พ่อแม่พี่น้องมักกดดันเรื่องแต่งงาน ถ้าไม่ได้แต่งงานแล้วโสดเขาจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงเหลือใช้ หรือกรณีหนึ่งที่เจอคือ
ผู้หญิงที่เป็นจัณฑาล แต่เรียนสูงมาก จบปริญญาเอกจะไปต่างประเทศก็ไปไม่ได้
พ่อแม่จำเป็นต้องลากกลับมาแต่งงาน เหมือนเขาสูงสุดได้แค่แต่งงาน ผู้หญิงไปไกลกว่านี้ไม่ได้

พวกเราก็เลยสงสัยกันว่าทำไมผู้หญิงถึงถูกมองแบบนั้น?
ทำไมการแต่งงานถึงเป็นสิ่งที่สูงสุดในชีวิตผู้หญิง? แล้วต่อยอดเรื่องราวจากคำถาม แต่ทั้งนี้พวกเราไม่ได้อยากให้กระทบกับวัฒนธรรมเขา
หรือความเชื่อของประเทศเขา ดังนั้นเลยสร้างเมืองใหม่ที่มีความเชื่อเฉพาะตัวว่าผู้หญิงห้ามโสด
แล้วเราเพียงแค่หยิบกลิ่นอายวัฒนธรรม ความจัดเต็มของบอลลีวูดเข้ามาใช้

หลังจากนั้นก็พยายามทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีมันเข้มข้นขึ้น จนความเชื่อนั้นกลายเป็นกฎแทน
และกลายเป็นละครเวทีเรื่องนี้”

อมร : “ส่วนเหตุผลที่เราหยิบเรื่องความโสดมาพูดก็เพราะความรักเป็นสิ่งสากล คนเข้าถึงได้ง่าย ความโสดเป็นประเด็นที่ทุกคนอินได้ จริงๆ ก็เริ่มจากพวกเราอินก่อนด้วย (หัวเราะ) ก็ช่วยๆ กันเขียนบท รวมๆ
พวกเราด้วยก็ราวๆ สิบคน”

ปักหมุดดินแดนเมืองโสดต้องสาปให้ชัด

ปภาวรินทร์ : ขั้นตอนในการสร้างเมืองนี้เรียกว่าค่อนข้างไร้ขอบเขตเลยนะ เพราะกฏเกณฑ์ทุกอย่างคือใหม่หมดเลย แต่พวกเราต้องมากำหนดให้ชัดตั้งแต่ต้นว่าเมืองนี้อยู่ในยุคไหน
ถ้าจะเป็นเหมือนเมืองลับแลในอินเดียมันจะอยู่บริเวณใด ก็ได้มาว่าเป็นช่วงปี ค.ศ. 1940 – 1960 เมืองนี้จะอยู่แถวชัยปุระ (Jaipur) ทางตอนเหนือของอินเดีย เหตุผลที่เป็นตอนเหนือก็เพราะทางนั้นจะเคร่งเรื่องวัฒนธรรมกว่าตอนใต้
มีกลิ่นอายความเก่าแก่ดั่งเดิมมากกว่า และเราก็ชอบศิลปะที่ยิ่งใหญ่เนื่องจากเป็นเมืองเก่าของกษัตริย์”

“พอได้จุดที่ตั้งชัดแล้วก็มานั่งคุยกันว่าต้นกำเนิดความเชื่อของเมืองห้ามโสดนี้คืออะไร? เริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่? สมัยก่อนนั้นคนเชื่ออย่างไร? ดำเนินมาถึงสมัยนี้คนยังเชื่อแบบเดิมอยู่ไหม? เข้มข้นรุนแรงเท่าเดิมหรือเปล่า? แล้วคนในเมืองนี้ทำอย่างไรกับสาวโสดบ้าง?
เรามีวิธีลงโทษหญิงโสดยังไง?”

เพราะเป็นโสดจึงเจ็บปวด

ปภาวรินทร์ : “บทลงโทษสาวโสดในเมืองคือถ้าอาทิตย์ตกดินแล้วจะถือเป็นช่วงเวลาของการลงโทษ
สมมติคุณเป็นสาวโสด เวลาเช้ายันเย็นคุณสามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้ปกติ แต่แค่ว่าคนในเมืองจะรังเกียจเราแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่ที่การรับรู้ของบุคคลเลย เช่น ขายของให้ได้ไหม? ขายให้ได้นะ แต่ลึกๆ ก็ไม่ได้เต็มใจขายหรอก
เดินผ่านก็คุยด้วยได้นะ แต่ไม่ได้อยากคุยด้วยขนาดนั้นหรอกส่วนตอนกลางคืนถือเป็นเวลาที่ถูกต้องตามกฏหมาย ทุกคนสามารถล่าสาวโสดพวกนั้นมารวมกันใจกลางเมือง ทำโทษให้เจ็บปวด
อันนี้ก็หยิบองค์ประกอบจริงๆ มาใส่ เช่น
สาวโสด แม่ม่าย หรือใครที่ถูกคนในเมืองรังเกียจก็จะโดนปาหิน เป็นต้น”

อมร : “พอมีคนอย่างเอช่า นางเอกที่โดนอุปสรรคให้อยู่ดีๆ มีผัวไม่ได้ขึ้นมาก็เลยกลายเป็นคอนฟลิกต์ของเรื่อง แล้วก็ยิ่งลุ้นขึ้นไปอีกเมื่อเอช่าดันเกิดมาในเมืองที่ทุกคนพร้อมเชื่อเรื่องความโสดนี้อย่างสุดๆ”

เมืองโสดต้องสาปที่สาวโสดต้องแสบ

ปภาวรินทร์ : ตัวละครปีนี้มี 8 ตัวหลัก จากปกติที่จะมี 10 ตัว ตัวเอกอยากให้เป็นผู้หญิงที่สู้คนไม่แพ้ใคร
นั่นก็คือเอช่า เราก็คุยกันว่าควรมีคาแรกเตอร์ยังไงให้คนเชียร์ดี
เพราะบทที่เราเขียนให้เอช่าค่อนข้างเป็นบทที่ทำให้คนดูเหม็นตัวละคร และถอยห่างไม่เอาใจช่วยได้อยู่
(หัวเราะ) เอาจริงๆ คาแรกเตอร์เอช่าที่พวกเราเขียนไว้อันตรายมากที่จะออกมาไม่น่ารัก ไม่น่าเชียร์ วอนนาบีเหลือเกิน เช่น ซีนอ่อยผู้ชาย แต่ว่าพอมะม่วง (สุธิดา ก้อนใส นิสิตชั้นปีที่ 3) มาลองเล่น
เฮ้ย! มันตลก ไม่เหม็นเลย”

อมร : “กลายเป็นว่าไปคนละทางกับที่คนอื่นเล่นมา
เราสนุกที่ได้ดูเขาอ่อยผู้ชาย ยั่วยวนด้วยลีลาเซ็กซี่ ไม่ได้รู้สึกว่าทำทำไม เชื่อว่าคนดูก็พร้อมที่จะเชียร์ พร้อมที่จะรักเขา เขาต้องการมีสามี พวกเราก็ตามลุ้นว่าเขาจะจีบผู้ชายยังไงต่อ”

เกวลี : “ที่ผ่านมาเราจะชอบเห็นตัวละครหญิงเนี้ยบเฮี้ยบ ผู้ชายลูสเซอร์หรือไม่ก็ผู้ชายแสบ
ผู้หญิงซื่ออะไรแบบนั้น ปีนี้เราเลยอยากเห็นผู้หญิงแซ่บๆ กับผู้ชายเสือๆ มาเจอกัน
แบบเป็นพระนางที่ทันกันบ้าง พอได้พระนาง พวกเราก็มาคิดกันต่อ จะให้ใครมาเป็นคนดูแลความเชื่อนี้ ซึ่งก็คือตัวมหาราณีผู้ปกครองเมือง
ถ้าศาสนามีพระสงฆ์ ตัวละครนี้ก็จะเป็นเหมือนเจ้าศาสนา
เหตุที่เราเลือกเจ้าศาสนาเป็นผู้หญิงก็เพราะถ้าเป็นผู้หญิงด้วยกันเชื่อแบบเดียวกัน
ก็น่าจะทำให้เราเชื่อได้ง่ายกว่าผู้ชายมาบอก”

แค่สะบัดส่าหรีคงยังไม่พอ

เกวลี : “ความท้าทายคืออินเดียห่างตัวเรามาก ละครเวทีต้องใช้ทุกๆ องค์ประกอบของความเป็นบอลลีวูด แค่ใส่ส่าหรี
แค่มีพระราชวัง ไม่ได้ทำให้เป็นอินเดีย เราต้องใช้ทุกอย่าง ท่าเต้น ท่าทางการเดิน
วัฒนธรรม การพูด มือไม้ ทุกอย่างพวกเราต้องมานั่งคิดกันว่าความเป็นอินเดียคืออะไร
ทำยังไงให้ใกล้เคียงเขามากที่สุด เช่น การเล่น
การแสดงที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวเยอะๆ ต้องแสดงความรู้สึกมากกว่าปกติ ทั้งตัวเพลง
ทั้งการเต้น วิธีการร้องมันน้อยไม่ได้”

อมร : “หลักๆ เราก็รีเสิร์ชหนักๆ เลยว่าวิธีการแสดงออกของเขาเป็นยังไง เช่น เวลาเห็นด้วยต้องส่ายหน้าแบบไหน การส่ายหน้ามีกี่ระดับ พ่อค้าอินเดียเวลาทอนตังเขาไม่ยื่นให้นะ
เขาโยนให้ มันเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็บวกกับประสบการณ์จริงของรุ่นพี่ที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น
เขาก็จะมาแนะนำน้องๆ
เราก็จะได้ข้อมูลหลายๆ ทาง แต่ไม่ได้เอามาหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอย่างที่บอกว่าอยากได้กลิ่นอายมาใส่ไว้ในเมืองใหม่ของเรามากกว่า”

ปภาวรินทร์ : “อีกความท้าทายคือ ทำอย่างไรไม่ให้กระทบวัฒนธรรมประเทศอินเดีย ไม่ให้ไปลบหลู่ ไปเหยียดเขา ถ้าเล่าตามข้อเท็จจริงก็ไม่เป็นการลบหลู่นะ
แต่เราไม่อยากเล่าแบบนั้นแล้วเพราะว่าเป็นประเด็นที่สังคมก็รู้กันอยู่
ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ เราจะเล่าอีกทำไม ถึงแม้ในเรื่องเราจะมีเรื่องวรรณะอยู่ก็จริง
แต่พวกเราไม่ได้หยิบตรงนั้นมาเน้น ส่วนความคาดหวังแค่คนดูดูสนุกก็โอเคแล้ว เราได้จิ้มบอกว่าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร
ไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น พวกเราก็แค่เพียงนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ส่วนเขาจะได้สารระดับไหน เราให้อิสระคนดูเลือกรับได้เลย ต้องการจะรับขนาดไหน เราให้หมดอยู่แล้ว”

ติดตามความเคลื่อนไหวอื่นๆ ของละครนิเทศจุฬาฯ ต่อได้ที่
ละครนิเทศจุฬาฯ

ภาพ BharataShaadi
– LakornNitade_CU

AUTHOR