ทำให้อคติทางเพศหายไปจากสังคมไทย คือเป้าหมายของเพจ SPECTRUM

Highlights

  • SPECTRUM คือเพจเฟซบุ๊กที่ตั้งใจสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยฟีดทั้งข่าวเรื่อง LGBT และเรื่องเล่าเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศจากผู้อ่านทางบ้าน
  • เบื้องหลังเพจนี้คือทีมงานจากโปรดักชั่นเฮาส์ของ Chamni’s Eye Studio ซึ่งทำเพจ SPECTRUM เป็นกิจกรรมเสริมสุดจริงจัง โดยมี โอ๋–อภิสิทธิ์ อัศวะภูมิ ครีเอทีฟประจำเฮาส์เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ
  • เป้าหมายสูงสุดของ SPECTRUM คือการทำให้อคติทางเพศหายไปจากสังคมไทย ซึ่งแม้จะดูเป็นหนทางที่ยาวไกล แต่เขาก็เชื่อว่าสักวันมันจะเกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงและคนผิวสีในสหรัฐ

ในทางวิทยาศาสตร์ สเปกตรัมประกอบด้วยแสง 7 สีที่หลายหลาก

บนหน้าเฟซบุ๊ก SPECTRUM คือ เพจที่เล่าเรื่องของความหลากหลายทางเพศผ่านความหลากหลายทางความคิด เพจที่เป็นเหยี่ยวคาบข่าวอัพเดตวงการ LGBT ทั้งรอบโลกและรอบตัวให้กับชุมชนออนไลน์ที่สนใจเรื่องนี้ได้ติดตามและแลกเปลี่ยน

แม้จะฟีดคอนเทนต์ทั้งเรื่องคนหรือข่าวกันอย่างสม่ำเสมอ แถมยังเลือกซับเจกต์มาเล่าได้สุดน่าสนใจ แต่ SPECTRUM กลับไม่ใช่ทีมสื่อคอนเทนต์มากประสบการณ์ในตำนาน และเช่นกัน SPECTRUM ก็ไม่ได้ฟอร์มทีมกันใหม่เพื่อทำคอนเทนต์ แต่คือทีมงานโปรดักชั่นเฮาส์ของ Chamni’s Eye Studio ที่ทำเพจ SPECTRUM เป็นกิจกรรมเสริมสุดจริงจัง โดยมี โอ๋อภิสิทธิ์ อัศวะภูมิ ครีเอทีฟประจำ Chamni’s Eye เป็นคนที่ทำให้แสง 7 สีนี้เคลื่อนไหวอยู่เสมอ

“SPECTRUM เริ่มจากการที่เราอยากลองทำคอนเทนต์กันดูบ้าง บอสเขาก็บอกว่าเราเห็นเพจที่พูดถึงชายรักชาย แต่ไม่มีเพจที่พูดถึงเลสเบี้ยน คนที่เป็น non-binary หรือ LGBT เลย เขาเลยชวนทำเพจกัน”

นับแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา หากชาว Chamni’s Eye ว่างจากงานหลักเมื่อไหร่ พวกเขาเป็นต้องจับเมาส์ รัวคีย์บอร์ด ถือกล้องเพื่อผลิตคอนเทนต์ ตัดวิดีโอ เตรียมโพสต์สำหรับ SPECTRUM ด้วย

“ทีมของเราที่มาช่วยกันทำเพจ SPECTRUM นั้นหลากหลายมาก คุณไม่จำเป็นต้องเป็น LGBT ที่สมาทานความคิด LGBT กันทั้งหมด เป็นชาย-หญิงทั่วไปก็ได้ ขอแค่มีคอนเซปต์ว่าเพศไม่ได้มีแค่ทวิลักษณ์ ไม่ได้มีแค่ชาย-หญิง อย่างบอสของทีมเราก็เป็นผู้หญิง หรือคนตัดต่อหลายคนที่มาช่วยกันก็เป็นผู้ชาย

“ที่ใช้ชื่อเพจว่า SPECTRUM เพราะสเปกตรัมมันใช้ได้ในหลายบริบท ทั้งสเปกตรัมทางการเมือง สเปกตรัมทางเพศ มันเป็นการแสดงความคิดเห็น แล้วมันก็ไม่จำเป็นว่าคุณต้องไปอยู่ทุกที่ คุณอาจจะอยู่ที่ไหนสักจุดหนึ่งของสเปกตรัมนั้นก็ได้”

เล่าเรื่องด้วยเรื่องเล่า

ด้วยรู้ถึงข้อจำกัดด้านเวลาและทรัพยากรคนตั้งแต่ต้น และเพื่อทำให้เพจตรงกับคอนเซปต์ความหลากหลายให้มากที่สุด พวกเขาจึงตั้งใจเปิดพื้นที่เป็นคอมมิวนิตี้ให้คนได้เล่าเรื่องของตัวเอง โดยนำเสนอทั้งรูปแบบวิดีโอและตัวอักษร พร้อมๆ กับที่ทีมงานก็อัพเดตข่าวคราว LGBT ทั้งในและนอกประเทศอย่างทันเวลา

“เริ่มต้น เรารีเสิร์ชหากลุ่มคน กลุ่มนักกิจกรรม หรือคนที่เคลื่อนไหวเรื่อง LGBT อยู่แล้ว และชวนเขามาพูดคุย บางเรื่องที่เราเล่าในเพจก็ได้ไอเดียมาจากคนอ่าน หรือบางเรื่องเราโพสต์ไปแล้วก็มีคนทักมาว่า หนูมีเรื่องประมาณนี้อยากจะเล่าให้ฟัง บางทีเขาแชร์โพสต์เราไปแล้วก็พูดถึงสถานการณ์เขา เราเห็นว่าน่าสนใจก็ทักเขาไปว่าอยากแชร์ลงเพจไหม

“เขาไม่จำเป็นต้องเล่าเองก็ได้ เช่น ถ้าเขาไม่ถนัดเขียน เราก็ขอให้เขาอัดเสียงมาและช่วยเรียบเรียงสิ่งที่เขาพูด อย่างตอนที่เราโพสต์เรื่องผู้หญิงข้ามเพศก็มีคนแชร์ไปเล่าเรื่องตัวเอง บอกว่าเขาก็เป็นผู้หญิงข้ามเพศเหมือนกัน เขาเจอความรุนแรงภายในครอบครัวจากพ่อและอยากแชร์ ซึ่งเราก็เอามาเขียนให้”

แม้ทุกวันนี้ คนจะมีพื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อเล่าเรื่องของตัวเองอยู่แล้ว แต่ SPECTRUM ก็เชื่อว่าการมีพื้นที่ที่ช่วยขยายเรื่องเล่าออกไปในวงกว้างคือสิ่งสำคัญ

“เรื่องเล่ามัน convincing ช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของคนที่ไม่เชื่อในความหลากหลายทางเพศได้ เวลาเราพูดเรื่องพวกนี้ด้วยฐานคิดของนักรณรงค์ พูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิทางเพศต่างๆ คนฟังทั่วไปอาจจะไม่เก็ต แต่พอฟังเรื่องราวประเด็นเดียวกันจากเรื่องเล่าของคนจริงๆ มันกลับเข้าใจง่ายมากกว่า มันก็เหมือนกับนักการเมืองทำแคมเปญหาเสียงเรื่องการทำให้คนรวยขึ้น บางคนอาจใช้คำพูดว่าจะทำให้คนหายจนโดยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกคนบอกว่าอยู่กับเรากระเป๋าตุง จริงๆ มันพูดเรื่องเดียวกันเลย”

เดือนหน้า SPECTRUM จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบโดยเพิ่มการนำเสนอคอนเทนต์บนเว็บไซต์ โดยมีหมวดหมู่ที่หลากหลายขึ้น ทั้งหมวดชีวิต สุขภาพ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การเมือง และเอ็นเตอร์เทนเมนต์

“สุดท้ายเราก็ทำคอนเทนต์ทั่วๆ ไปที่เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นสิทธิมนุษยชนนั่นแหละ กลุ่ม LGBT ก็อาจจะเข้ามาหาความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเขา อย่างองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่ยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างแต่เป็นเรื่องสำคัญ เราก็ทำคอนเทนต์ไว้ หรือเพศชาย-หญิงที่สมาทานอุดมการณ์เรื่องความหลากหลายทางเพศจะเข้ามารับรู้ข่าวสารก็ได้”

What is your SPECTRUM?     

ต่อให้เรื่องเล่าบนเพจ SPECTRUM จะเป็นของคนธรรมดา แต่ความเข้มข้นและท้าทายขนบสังคมของแต่ละเรื่องกลับไม่ธรรมดา อย่างเรื่องของพระที่เป็นกะเทย หรือการทำให้งานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ความท้าทายขนบนี้เองที่ทำให้หลายครั้ง พวกเขาได้รับเสียงสะท้อนกลับเข้ามาผ่านทางคอมเมนต์ที่แลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง

“เรารู้แหละว่าสิ่งที่เราสื่อสารออกไปจะมีคนเถียงเพราะมันไม่ใช่เรื่องที่คนคุ้นชินหรือยอมรับได้ แต่บางทีข้อถกเถียงก็เป็นสิ่งที่ดี ส่วนมากเราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เราเหมือนยืนดูเขาคุยกัน กลุ่ม LGBT ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เขาไลก์เรา เขาก็จะมาตอบโต้กันเอง เราก็นั่งอ่านว่าบทสนทนานี้จะไปถึงไหน มันก็ดีที่เห็นบางคนถกเถียงด้วยเหตุผล สุดท้ายก็เห็นเขาสู้กันด้วยความคิด สู้กันแบบนี้มันก็อาจจะดีกว่าทะเลาะตบตีกันรึเปล่า”

Amazing True Stories

คอนเซปต์ของ SPECTRUM คือ ‘Amazing True Stories’ ในมุมมองของโอ๋ ‘Amazing’ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องบวกเสมอไป แต่คือเรื่องที่ฟังแล้วรู้สึกว้าว และมันทำงานบางอย่างกับเรื่องสิทธิของ LGBT

โอ๋ยกตัวอย่างเรื่องที่เคยลงในเพจ เป็นเรื่องของผู้หญิงข้ามเพศที่เป็นลูกครึ่งผิวสี เธอเติบโตในอีสาน แต่ชีวิตไม่มีความสุขเพราะโดนแกล้งมาตลอดตั้งแต่เด็ก ตอนอนุบาลเธอไม่ได้นอนกลางวันเพราะเพื่อนกลัวสีผิวตกใส่ เวลาเข้าห้องน้ำก็ถูกล้อว่าอวัยวะเพศใหญ่กว่าเพื่อนจนทำให้ไม่ค่อยกล้าเข้าห้องน้ำ พอโตขึ้นเธออยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ตั้งใจซ้อมอยู่เสมอ แต่จนถึงวันจริงชุดที่เธอได้สวมใส่กลับเป็นชุดกุมารทองเพื่อให้คนอื่นขำขันกัน

“ฟังแล้วมันก็น่าเศร้า แต่ก็รู้สึก ‘Amazing’ เพราะเราไม่รู้มาก่อนว่ามีการเหยียดผิวในไทยขนาดนั้น เราคิดว่ามันเป็นเรื่องของคนขาว คือเรื่องแบบนี้พอเรารู้แล้วเรามองว่ามันให้อะไรกับคนอ่านดี”

เข้าใจความหลากหลาย

โอ๋บอกเราว่าหนึ่งในเป้าหมายของเพจ SPECTRUM คือการทำให้อคติทางเพศหายไปจากสังคม

คิดว่าอีกไกลไหมกว่าประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้น เราถาม

“สำหรับผม ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่ตายตัวและยึดโยงกับเรื่องการทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ เช่น บางศาสนาก็เข้มงวดเรื่องเพศมาก หรือระบอบชายเป็นใหญ่ในประเทศไทยก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ

“ในมุมมองของผม เวลาคือปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลง กว่าผู้หญิงอเมริกันจะเลือกตั้งได้ กว่าคนดำจะผลักดันเรื่องสิทธิได้ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ บางทีมันอาจจะดูเร็วในเชิงความคิด เราอาจเข้าใจสิทธิเป็นคำๆ แต่กว่าจะไปถึงจุดที่ทุกคนเข้าใจในทางปฏิบัติจริงๆ มันต้องใช้เวลา

“อีกปัจจัยคือประชาธิปไตย LGBT เกิดขึ้นจากกระบวนการทางประชาธิปไตย มันมาพร้อมกับฐานคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสำนึกในเสียงตัวเอง สิทธิตัวเองด้วย สุดท้ายการเติบโตของประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องสำคัญมากต่อเรื่องสิทธิตรงนี้ด้วย มันไม่ได้หมายถึงว่าทุกประเทศที่มีประชาธิปไตยจะได้มาซึ่งสิทธิ LGBT แต่ทุกประเทศที่ได้ซึ่งสิทธิ LGBT มาเป็นประชาธิปไตยหมด

“เรื่องนี้มันเลยตอบไม่ง่าย แต่อย่างน้อยประเด็น LGBT ก็เป็นที่พูดถึงมากขึ้น มีเพจที่พูดเรื่องพวกนี้มากขึ้น คนก็มาไลก์สูงขึ้น แสดงว่าเขาก็มีความคิดเห็นในเรื่องนี้มากขึ้น”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!