‘รัฐที่แคร์หนังหน้ากว่าชีวิตคน’ สารคดีเรือล่มเกาหลีใต้ที่สะท้อนความพังทลายของรัฐ

ตอนแรกผมขึ้นโครงบทความไว้ ตั้งใจจะเขียนถึงสารคดีเรื่องอื่น จนกระทั่งตื่นมาตอนบ่ายวันที่ 5 กรกฎาคม

เห็นภาพแทบไม่ซ้ำมุมกล้องของกลุ่มควันหนาทึบ เห็นบันทึกวินาทีระเบิดจากบ้านหลังหนึ่ง เห็นแผนที่แสดงรัศมี 5 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร จากโรงงานเคมีต้นเพลิงให้คนปักหมุดเช็กระยะตัวเอง เห็นเพื่อนในเฟรนด์ลิสต์ปิดร้านเก็บของย้ายสัตว์เลี้ยงโน้มน้าวพ่อแม่ให้อพยพเพราะอยู่ในวงรัศมี บางคนต้องเฝ้าสถานการณ์ที่บ้านวันนั้นจากเตียงผู้ป่วยโควิด เห็นอาสาดับเพลิงมีแค่หน้ากากอนามัยใส่ป้องกันเขม่าพิษสารเคมี เห็นประชาชนต้องคอยอัพเดตรายงานสถานการณ์กันเองเพราะแทบไม่มีแจ้งเตือนของทางการ เห็นบางส่วนราชการอ้างเรื่องข้ามเขตช่วงโควิดขัดขวางความช่วยเหลือที่พยายามเข้าพื้นที่ และเห็นคนงานซึ่งถูกกักบริเวณที่แคมป์ในวงรัศมีถูกทหารห้ามอพยพเพราะกลัวคำสั่งนาย 

ยิ่งเห็นว่าคนที่พยายามคุยกับทหารเรื่องคนงานในพื้นที่เสี่ยงคือนักการเมืองฝ่ายค้าน (ไม่ใช่นายก อบจ. จากพรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลที่แทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกับทหาร) เห็นอารมณ์ท่วมท้นของคนรอบตัวที่ยังตกค้างอยู่หลังประกาศล็อกดาวน์ร้านอาหารตอนตีหนึ่ง และสั่งปิดแคมป์คนงานแบบมีทหารไปคอยเฝ้าแต่ไม่มีรัฐหรือนายทุนเอาข้าวให้เขากินจนคนต้องออกมาดูแลกันเอง เห็นความพยายามเชิดชูเฮลิคอปเตอร์ทหารที่เพิ่งโผล่เข้าฉากหลังเกิดเหตุเกินสิบชั่วโมง เห็นตำรวจพยายามให้ข่าวหลังคนทวงถามถึงรถฉีดน้ำว่าผู้ชุมนุมตอนโน้นทำพังจนออกปฏิบัติการไม่ได้ (แต่พร้อมใช้ทันทีเมื่อมีม็อบช่วงกลางเดือน) ผมก็ยิ่งนึกย้อนไปถึงเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

ไม่ใช่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม (ข้อนี้ผรุสวาทสาปแช่งอยู่แล้วเป็นกิจวัตร) แต่คือโศกนาฏกรรมเรือเซวอล (MV Sewol) เมื่อเช้าวันที่ 16 เมษายน 2014 ตามเวลาท้องถิ่นเกาหลีใต้ และคงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ภาพยนตร์สารคดีเกาหลีที่บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นจะสนทนากับคนไทยได้เข้มข้นเท่านาทีนี้ ต่อให้ทั้งสองเรื่องจะทำเสร็จออกฉายคนละช่วงเวลา เล่าเรื่องด้วยคนละน้ำเสียง เลือกเน้นคนละเหตุการณ์ แต่จุดร่วมหลักใหญ่ใจความสำคัญของทั้งคู่คือสิ่งเดียวกัน

…รัฐที่แคร์หนังหน้ามากกว่าชีวิตคน

รัฐขัดขวาง 

อาจพูดได้ว่า Diving Bell: The Truth Shall Not Sink with Sewol (2014) ขับเคลื่อนด้วยแรงแค้น และมีสิทธิสูงว่าจะเป็นความแค้นส่วนบุคคล เพราะหนึ่งในผู้กำกับคือ อี ซัง-โฮ (Lee Sang-Ho) เป็นนักข่าวที่ถูกต้นสังกัดไล่ออกด้วยข้อหาใช้อคติกับอารมณ์ส่วนตัวในการทำข่าวกรณีเรือเซวอล เมื่อทำข่าวแบบตัวเองลงช่องไม่ได้ เขาเลยจับมือคนทำหนังสารคดี อาห์น เฮ-รย็อง (Ahn Hae-Ryong) ลงพื้นที่เกาะติดปฏิบัติการช่วยเหลือ ขุดประเด็นเดือดกัดไม่ปล่อยแบบไม่สนข้อครหาว่าเลือกข้างหรือตั้งตัวเป็นศัตรูต่อรัฐ และทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้หนังเสร็จพร้อมฉายเร็วที่สุด หวังท้าชนหักล้างน้ำเสียงกับเนื้อเรื่องในสื่อกระแสหลักเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ตอนนั้น (หนังเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานช่วงเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ไม่ถึง 6 เดือนหลังเหตุการณ์)

ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาในห้องตัดต่อรวมถึงวิธีสรุปเรียบเรียงประเด็นอย่างนักข่าวเลือดร้อน ตัวหนังเลยเล่าแบบรายการข่าวที่มีอี ซัง-โฮเป็นพิธีกรหน้ากล้องเกือบตลอดเรื่อง สำหรับคนนอกวัฒนธรรมที่ส่วนใหญ่รับข่าวเรือเซวอลผ่านเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต กัปตันที่ทิ้งเรือเอาตัวรอด ครูใหญ่ที่ฆ่าตัวตายเพราะความรู้สึกผิด หรือวัฒนธรรมการเชื่อฟังอำนาจ (culture of obedience) ที่มีส่วนให้นักเรียนนับร้อยต้องตาย หลักฐานยืนยันข้อกล่าวหาที่หนังมีต่อรัฐบาลกับสื่อมวลชนอาจดูตกหล่นขาดหาย ทั้งด้วยวิธีเล่าเรื่องที่ไม่สมบูรณ์ และด้วยหนังตั้งใจสื่อสารความคิดกับเพื่อนร่วมชาติเป็นหลัก จึงไม่อธิบายซ้ำในสิ่งที่คนเกาหลีใต้ปีนั้นเข้าใจค่อนข้างตรงกันอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับจุดยืนของหนังหรือไม่)

ตอนดูหนังครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน ผมสงสัยหนักว่า ‘สื่อกระแสหลักบิดเบือน’ ที่หนังด่าทั้งเรื่องแต่เราไม่เห็นนี่มันแค่ไหน (ในหัวคงเผลอคิดเทียบกับสื่อไทยที่ตอนนั้นถูกเย็บปากสนิท) ค่อยมารู้ทีหลังว่า ช่วงชั่วโมงแรกสื่อหลายหัวรายงานว่าช่วยชีวิตคนบนเรือได้หมดแล้ว ถึงแก้ไขก็ยังผลิตซ้ำข้อมูลทางการที่ผิดพลาดหรือจงใจบิดเบือนโดยไม่ตรวจสอบ นักข่าวเขียนจดหมายสารภาพว่าที่ทำงานละเลยเสียงผู้สูญเสียและไม่ได้ทำข่าวจากที่เกิดเหตุ ต่อมานักข่าวหลายร้อยคนหยุดงานประท้วงการครอบงำสื่อของรัฐ หลังหลายสำนักตั้งใจหลีกเลี่ยงไม่วิจารณ์การสร้างภาพของรัฐบาล

บริบทเรื่องสื่อในภาพกว้างอาจทำงานกับคนเกาหลีเป็นสำคัญ แต่สิ่งที่สั่นสะเทือนได้อย่างชัดเจนเป็นสากลคือความรู้สึกสิ้นหวังรุนแรง ทั้งจากครอบครัวผู้เสียชีวิตที่กำลังเศร้าโศก อี ซัง-โฮในหมวกนักข่าวไร้สังกัดที่กำลังโกรธแค้นสิ่งที่รัฐกับอดีตเพื่อนร่วมอาชีพทำ กับเส้นเรื่องหลักของหนังคือเจตนาช่วยเหลือที่กลับถูกรัฐขัดขวางชนิดเอาเป็นเอาตาย

อี จอง-อิน (Lee Jong-In) ผู้เชี่ยวชาญด้านประดาน้ำที่เคยร่วมงานกองทัพสหรัฐฯ และเปิดบริษัทเกี่ยวกับการดำน้ำโดยตรง เมื่อเห็นหลายร้อยชีวิตยังติดอยู่ในเรือ ได้เสนออุปกรณ์ชื่อ diving bell ให้ทางการนำไปใช้ เพราะถังเหล็กนี้ส่งคนลงไปถึงพิกัดที่ต้องการได้เร็วกว่า พาผู้รอดชีวิตขึ้นเหนือน้ำได้ รวมถึงเป็นที่พักหายใจกินข้าวใต้น้ำ ช่วยออมแรงเพิ่มเวลาให้นักดำน้ำไม่ต้องขึ้นผิวน้ำทุกครั้งที่หมดออกซิเจน หนังตามถ่ายความตั้งใจของเขาที่ถูกขวางสุดตัว โดยเฉพาะจากหน่วยยามฝั่งเกาหลีใต้ (Korean Coast Guard) ซึ่งกำลังต้องการเครดิตกู้หน้าหลังตกเป็นเป้าว่าส่งคนเข้าช่วยเหลือช้าและไร้ประสิทธิภาพ เขาฝืนสู้แรงต้านได้พักใหญ่ก่อนล้มเลิกความพยายาม

ครอบครัวผู้สูญเสียรวมตัวกดดันทางการอย่างหนักหลังทราบข่าวว่าเขาถอนตัว ฝ่ายรัฐที่ยังขว้างงูไม่พ้นคอเลยต้องบากหน้าไปขอให้อี จอง-อินกลับมาร่วมทีมช่วยเหลือ แต่ก็ใช่ว่าอะไรจะดีขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐยังขวางสุดกำลังเหมือนเดิม แถมสื่อกระแสหลักยังเขียนข่าวด้อยค่าว่าอุปกรณ์ทำงานล้มเหลว (ทั้งที่ทางการแทบไม่เคยอนุญาตให้ได้ปฏิบัติการจริง) กล่าวหาว่าเขาหิวแสง หากินกับความสูญเสียเพื่อโฆษณาตัวเอง

หนังตั้งข้อกล่าวหาชัดเจนว่ารัฐเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนทั้งที่การช่วยเหลือค้นหาไร้ความคืบหน้า เครดิตเลื่อนขึ้นในวันที่หลายสิบศพยังถือเป็นผู้สูญหายเพราะไม่พบร่างไร้ชีวิต แต่การขัดขวางของรัฐยังไม่หยุดหลังหนังจบ เทศกาลภาพยนตร์ปูซานที่มีชื่อเสียงระดับโลก (ปัจจุบันถือเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย) ถูกนายกเทศมนตรีเมืองปูซานกดดันให้ถอนชื่อหนังโดยอ้างว่า “การเมือง” เกินไป เทศกาลตัดสินใจฉายหนังตามเดิมและถูกรัฐตัดงบสนับสนุนเกือบครึ่งในปีถัดมา, นักข่าวญี่ปุ่นถูกฟ้องหมิ่นประมาทจากข่าวประธานาธิบดีปัก กึน-ฮเย (Park Geun-Hye) กับผู้นำลัทธิในช่วงเกิดเหตุ, เอกสารสำนักงานข่าวกรองเผยว่ารัฐบาลพยายามทุกวิถีทางไม่ให้คนประท้วงจากกรณีเรือเซวอล โดยในรายงานไม่พูดถึงการสอบสวนหาสาเหตุ การกู้ซากเรือ หรือเยียวยาผู้สูญเสีย

สัญลักษณ์ริบบิ้นเหลืองเพื่อรำลึกโศกนาฏกรรมถูกรัฐจับตาว่าเป็นการต่อต้าน หลังเปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้สำเร็จ เอกสารแบล็กลิสต์ที่มีชื่อศิลปินเกาหลีใต้แทบทุกสาขาอาชีพ (เพื่อไม่ให้องค์กรของรัฐสนับสนุน) ของรัฐบาลปัก กึน-ฮเยก็ถูกเปิดโปง ต่อมาสืบพบว่าแบล็กลิสต์นี้เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กรณีเรือเซวอลโดยตรง เมื่อศิลปินที่มีชื่อในลิสต์ส่วนใหญ่ถูกเพ่งเล็งเพราะทำงานที่เกี่ยวข้อง เล่าถึง รำลึก หรือเคยมีส่วนร่วมกับกิจกรรม ‘ริบบิ้นเหลือง’

รัฐหายหัว

In the Absence (2019) ข้ามฟากไปเข้าชิงออสการ์สาขาสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในปีเดียวกับที่ Parasite เขียนประวัติศาสตร์ หลังจากตัวผู้กำกับ ยี ซึง-จอน (Yi Seung-Jun) เริ่มเป็นที่จดจำด้วยสถานะคนทำสารคดีที่มีหนังน่าสนใจต่อเนื่อง ทั้งการสำรวจชีวิตผู้พิการตาบอดหูหนวกใน Planet of Snail (2011, ผ่านความสัมพันธ์คู่รัก) กับ Wind on the Moon (2014, ผ่านความสัมพันธ์แม่ลูก) และการเมืองเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ใน Crossing Beyond (2018, นักกีฬาสองฝั่งในโอลิมปิกฤดูหนาว) กับ Shadow Flowers (2019, หญิงเกาหลีเหนือสู้กับเกาหลีใต้ที่ไม่ให้เธอกลับประเทศ)

เริ่มถ่ายทำเมื่ออารมณ์ของสังคมเกาหลีใต้เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว และเผยแพร่ครั้งแรก 5 ปีหลังเรือเซวอลจมสู่ก้นทะเล หนังจึงเลือกใช้น้ำเสียงนิ่งสงบปนเศร้าเพื่อเล่าย้อนสำรวจเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นภาพกว้าง (ดราม่าทั้งหมดในเรื่อง Diving Bell ถือเป็นประเด็นข้างเคียง) ผ่านการลงพื้นที่บันทึกภาพการเคลื่อนไหวริบบิ้นเหลืองในช่วงปี 2017, สัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต นักดำน้ำอาสา และครอบครัวที่ต้องสูญเสียลูกวัยมัธยม รวมถึงใช้ข้อมูลตัวเลขสถิติ ภาพข่าวโทรทัศน์ บันทึกเสียงโทรศัพท์กับวิทยุสื่อสาร วิดีโอคณะกรรมาธิการสอบสวนข้อเท็จจริงของรัฐสภา และคลิปมือถือกับข้อความจากคนบนเรือ

อ่านแล้วอาจรู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรใหม่ แต่หนังก็สามารถใช้เวลาที่มีจำกัดเพียงไม่ถึง 29 นาที แจกแจงความล้มเหลวของรัฐในช่วงเวลานั้นได้ชัดเจนเป็นลำดับ ผ่านการนำเสนอความยอกย้อนของ ‘การไม่ปรากฏ’ (absence) ได้ลึกซึ้งคมคาย และชวนคลื่นไส้ในเวลาเดียวกัน

ทั้งปากคำบอกเล่า ทั้งหลักฐานเชิงประจักษ์ ล้วนชี้ให้เห็น absence ของรัฐที่แสดงตัวชัดตั้งแต่เรือเสียการทรงตัวและเริ่มส่งสัญญาณฉุกเฉิน ในจำนวนผู้รอดชีวิตทั้งหมด 172 คน (จากผู้โดยสาร 476 ชีวิต) เกินครึ่งรอดตายเพราะความช่วยเหลือจากเรือประมงกับเรือพาณิชย์ในบริเวณนั้น ซึ่งเข้าถึงจุดเกิดเหตุก่อนหน่วยยามฝั่งเกาหลีใต้กว่า 40 นาที และถึงยามฝั่งจะเข้าพื้นที่แล้ว ความช่วยเหลือก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าทุลักทุเล, ปัก กึน-ฮเยปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งแรกหลังเกิดเหตุราว 7 ชั่วโมง (มีข่าวตามหลังว่า 7 ชั่วโมงนั้นเธออยู่บ้าน ไม่ได้เข้าทำเนียบประธานาธิบดี) เรียกผู้รับผิดชอบเหตุการณ์เข้าพบ พร้อมกล้องนักข่าวที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าผู้นำประเทศไม่อัพเดตสถานการณ์อย่างไม่น่าให้อภัย

ส่วนสาเหตุที่ทางยามฝั่งเริ่มเดินเครื่องช้ากว่าที่ควรจะเป็น ในหนังบอกว่าเพราะต้องรอใช้เรือที่ติดตั้งกล้องแล้วเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องความโปร่งใสหรือตั้งใจติดกล้องเพื่อเอาภาพ วีรกรรมของหน่วยยามฝั่งที่หนังติดโบว์ดำให้ก็คือการพากัปตันเรือเซวอลขึ้นฝั่งทั้งที่บนเรือยังเหลือผู้โดยสารอีกร่วมสองร้อย

หนักที่สุดคือเมื่อปัก กึน-ฮเยไปถึงจุดเกิดเหตุ เราเห็นเธอยืนชี้นิ้วสั่งการบนเรืออีกลำจากเรืออีกลำ นักดำน้ำอาสาเล่าว่ามีคำสั่งให้อัดอากาศเข้าเรือเซวอล (ตอนนั้นเหลือแค่ส่วนหัวเรืออยู่เหนือน้ำ) ทีมส่วนใหญ่รู้ว่าถ้าทำเรืออาจจมเร็วกว่าเดิม แต่เมื่อประธานาธิบดีต้องการภาพพวกเขาก็ขัดไม่ได้ กลุ่มหนึ่งตกลงกันว่าแค่ทำท่าให้ดูเหมือนทำก็พอ แต่เพราะการสื่อสารหน้างานในสถานการณ์โกลาหล อีกกลุ่มอัดอากาศเข้าไปจริง แล้วส่วนที่เหลือของเรือก็จมลง

ในขณะที่คนตะโกนถามว่ารัฐหายหัวไปไหน เกียร์ว่างขนาดนี้จะมีรัฐไว้ทำไม ต่อให้ถามด้วยความชิงชังก็ยังหวังหรือเชื่อลึกๆ ว่าตกต่ำแค่ไหนรัฐก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองบ้าง แต่หลายครั้งกลับต้องสิ้นหวังรุนแรงเมื่อรัฐโผล่หัวออกมา แล้วตอบคำถามเหล่านั้นด้วยภาวะผู้นำที่ล้มเหลว การใช้อำนาจที่ไร้ประสิทธิภาพ การตัดสินใจที่ส่งผลร้ายในสถานการณ์วิกฤต และวิธีคิดที่ไม่เคยเห็นชีวิตคนเป็นตัวแปรหลักในสมการ

รัฐจงใจล้มเหลว 

นอกจากครูที่ฆ่าตัวตายเพราะความรู้สึกผิดหลังรอดชีวิตจากเรือเซวอล เวลาส่วนหนึ่งของ In the Absence ได้อุทิศให้อีกหนึ่งนักดำน้ำอาสาที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เพราะผลกระทบทั้งทางกาย (ไม่สามารถดำน้ำได้อีก) และทางใจ (trauma จากความรู้สึกผิดและการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กัดกินตัวตน) หลายครั้งหรือแทบทุกครั้ง ความรู้สึกผิดไม่ได้เกิดกับรัฐที่ล้มเหลวหรือเจตนาเลว กลับเป็นคนธรรมดาที่คิดว่าตัวเองอาจลงมือช่วยอะไรได้บ้าง แต่ก็ยังดีไม่พอ โดยเฉพาะในวิกฤตที่หนักหนายิ่งใหญ่เกินแรงกายแรงใจคนจะแก้ ภายใต้อำนาจของรัฐที่จงใจล้มเหลว

รัฐที่หายหัวปล่อยเกียร์ว่างในยามจำเป็น แต่โผล่หัวมาให้เห็นแค่ตอนขัดขวาง สร้างภาพ และกอบโกย

กว่า 20 ชั่วโมงที่ประชาชนตะโกนถามว่ารัฐหายหัวไปไหนในเหตุการณ์ที่พร้อมข้ามเส้นเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ได้ทุกวินาที แต่เมื่อได้สังเกตความเป็นไปตลอดวันนั้น ความคิดก็แล่นสวนขึ้นมาว่า ปล่อยไอ้รัฐจงใจล้มเหลวน่ารังเกียจมุดหัวอยู่ตรงนั้นอาจเป็นภัยกับทุกคนน้อยที่สุดแล้ว จะแก้ตัวว่าไม่ได้เล่นโซเชียลเลยไม่รู้ว่าเกิดไฟไหม้รุนแรง จะเข้าฉากไปชี้นิ้วแขนค้างให้ตากล้องหลังคุมเพลิงได้ จะใส่สูทเวิร์กฟรอมโฮมทำทรงปิดทองหลังพระ ทนเห็นภาพหน้าด้านน่ารังเกียจก็คงดีกว่าให้คนพวกนี้สร้างผลงานอัดอากาศเอาภาพ โปรยฝนหลวงเอาหน้า แล้วชะล้างสารเคมีให้ไหลลงปนเปื้อนแหล่งน้ำ สร้างภาพแบบที่ทำกับเรื่องวัคซีนและการควบคุมโรคระบาด

ในประเทศยอดติดวันละหมื่นยอดตายวันละร้อยที่แก้ตัวเรื่องวัคซีนไร้คุณภาพด้วยสูตรไขว้หนูทดลอง รวบอำนาจฉุกเฉินแต่ทุกเรื่องติดขั้นตอนราชการยกเว้นปราบม็อบ ขวางเอกชนเพื่อหาซีนให้วัคซีนล้นเกล้า ประเทศที่เตียงคนไข้ไม่พอเท่ากับประชาชนการ์ดตก แสลงใจภาพคนไร้บ้านก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปกวาดล้าง ขายชุดตรวจเชื้อราคาเกินค่าแรงขั้นต่ำ เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนกองกระจุกเหมือนอยากสร้างสถิติคลัสเตอร์ใหม่ ยอดคนป่วยสูงไปก็ให้ตรวจเชื้อด้วยวิธีที่ไม่ต้องส่งเลขเข้าระบบ และความตายรายวันบนท้องถนนถูกรัฐบาลปั่นข่าวด้อยค่าว่าจัดฉาก มันก็หวังได้แค่นี้ในตอนนี้

In the Absence ทิ้งท้ายกับเราว่า ภายใต้รัฐจงใจล้มเหลวที่ชอบหายหัวและมุ่งมั่นขัดขวาง ย่อมไม่ปรากฏความจริงหรือการคลี่คลายเยียวยาความสูญเสียเจ็บปวด เพราะเรือเซวอลกับร่างไร้ชีวิตถูกทิ้งให้จมอยู่ก้นทะเลตลอดสมัยประธานาธิบดีของปัก กึน-ฮเย จนกระทั่งเธอถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่งหลังการชุมนุมต่อต้านและยื่นถอดถอนโดยสมาชิกรัฐสภา (impeachment)– 12 วันหลังจากนั้น ปฏิบัติการกอบกู้ซากเรือจึงได้เริ่มนับหนึ่ง

หากรัฐยังไม่ถูกทำให้ต้องเปลี่ยนโฉมหน้าหรือเจตนาเบื้องลึก ซากประเทศที่เราอยู่ก็ยังต้องจมค้างต่อไปในความบิดเบี้ยวล้มเหลวย่อยยับ

Diving Bell: The Truth Shall Not Sink with Sewol ฉายในไทยครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติศาลายา (Salaya Doc) ประจำปี 2015 / ปัจจุบันดูได้ที่ youtube.com/watch?v=dhME_nj5CWc
In the Absence ดูได้ที่ youtube.com/watch?v=Mrgpv-JgH9M

AUTHOR