‘Time’ ในกระบวนการยุติธรรม เวลาเป็นเพียงแค่คำหลอก

หลังผ่านวงจรความสัมพันธ์แบบรักๆ เลิกๆ มาถึงปีที่สิบ พวกเขาก็ตัดสินใจเลือกคนรักที่คบหากันตั้งแต่สมัยเรียนไฮสกูลเป็นคู่ชีวิต–Sibil Fox Richardson และ Robert G. Richardson เลือกไม่ทุ่มกำลังทรัพย์จัดงานแต่งหรูหรา แต่หอบเงินก้อนใหญ่ไปลงทุนทำธุรกิจ วาดหวังให้แบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ฮิปฮอปที่จะเป็นเจ้าแรกแห่งเมือง Shreveport เป็นประตูสู่เป้าหมาย ความฝัน และการสร้างเนื้อสร้างตัวให้ครอบครัวได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง

Time

แล้วทุกอย่างก็สิ้นหวังพังลงไม่ถึงเดือนก่อนวันเปิดร้าน เมื่อนายทุนที่ลงหุ้นใหญ่ด้วยกันเปลี่ยนใจถอนเงินออกทั้งหมด มืดแปดด้านไร้ทางออกสำหรับผัวเมียหมาดใหม่ที่ฝากอนาคตทั้งหมดไว้กับร้านเสื้อ

16 กันยายน 1997 ซิบิลหรือ ‘ฟอกซ์ริช’ ขับรถไปส่งร็อบกับหลานชายวัยรุ่นหน้าเครดิตยูเนียนใกล้บ้าน ใต้มวลหนาหนักของความรู้สึกหมดสิ้นหนทางที่ปกคลุมทุกความเป็นไปได้ ครอบครัวนี้ตัดสินใจปล้นธนาคารเพื่อเอาเงินก้อนมาต่อชีวิตและธุรกิจ ฟอกซ์เขียนไว้ในหนังสือและเล่าซ้ำด้วยเสียงเมื่อได้ขึ้นพูดต่อสาธารณชน เธอบอกว่าเธอรู้ตัวทันทีที่ก้าวลงจากรถพร้อมปืน รู้ว่าทุกคนกำลังก้าวเข้าสู่โลกอีกใบที่ต้องจำไปจนตาย 

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจุดที่ยอดโจรคู่ขวัญบอนนีกับไคลด์ถูกตำรวจจับตาย ฟอกซ์และร็อบถูกจับเป็นด้วยข้อหาปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธ–พวกเขาปล้นเงินมาได้ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่มีพนักงานธนาคารหรือลูกค้าได้รับบาดเจ็บ ฟอกซ์ถูกตัดสินจำคุก 13 ปีแต่ได้กลับบ้านหลังติดคุกจริงเพียง 3 ปีครึ่ง แต่ข้อตกลงระหว่างอัยการกับศาลของร็อบเกิดสถานการณ์ที่ซับซ้อนจนผิดพลาดและยืดเยื้อจนหมดเงินจ้างทนายความ เขาจึงถูกตัดสินจำคุกถึง 60 ปีโดยไม่รอลงอาญา ไม่สามารถยื่นลดหย่อนโทษขอทัณฑ์บนหรือรับโทษด้วยการคุมประพฤตินอกเรือนจำได้

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่กินเวลากว่า 20 ปีของนางจิ้งจอก เพื่อทวงคืนชีวิตกับเวลาของสามี พ่อของลูก และครอบครัวที่เธอเพิ่งได้เริ่มสร้าง

Time

นอกจากเขียนหนังสือและบอกเล่าการต่อสู้ในคดีของร็อบ ชีวิตทางการเมืองของฟอกซ์เดินหน้าไปในฐานะแอ็กทิวิสต์ เธอมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวทั้งเพื่อการปฏิรูปคุก (prison reform–เรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และสิทธิมนุษยชนในคุก) และเพื่อล้มเลิกเรือนจำ (prison abolition movement–เรียกร้องให้ลดขนาดคุกกับจำนวนนักโทษ หรือยกเลิกอำนาจของเรือนจำทั้งระบบ แล้วแทนด้วยกระบวนการที่เน้นบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังมากกว่าสำเร็จโทษ) เธอนิยามตัวเองเป็น abolitionist หรือผู้สนับสนุนการล้มเลิกระบบทาส

ต่างไปจาก abolitionist สมัยค้าทาสที่ต่อต้านระบบทาสอย่างตรงไปตรงมา หรือการต่อสู้ในประเด็นแรงงานทาสสมัยใหม่ (modern slavery) เพราะกลุ่มผู้ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิคนผิวดำในสหรัฐอเมริกามองว่าคุกอเมริกันที่ถูกแปรรูปจนมีลักษณะคล้ายอุตสาหกรรมเอกชน และทำงานสอดรับกับอคติทางเชื้อชาติสีผิวในกระบวนการยุติธรรมอเมริกันทั้งระบบ (ตำรวจ, อัยการ, ศาล) ที่มองคนผิวดำเป็นอาชญากร คือการใช้กฎหมายสร้างสถานะนักโทษเพื่อเกณฑ์พวกเขากลับสู่ความเป็นทาส แม้จะเลิกทาสไปแล้วตั้งแต่สมัยลินคอล์น–หนังสารคดีอย่าง The House I Live In (2012) หรือ 13th (2016) ไล่เรียงเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ นำเสนอข้อมูลสถิติ และเจาะประเด็นปัญหาของคุกอเมริกันที่สัมพันธ์กับเชื้อชาติสีผิวในระดับมหภาคไว้ได้อย่างทรงพลัง

ข้อถกเถียงภายใต้บริบทประวัติศาสตร์เหล่านี้แข็งแรงพอ (ยิ่งอยู่ภายใต้อุณหภูมิทางการเมืองยุคทรัมป์) ที่จะดำรงอยู่อย่างบรรยากาศเบื้องหลัง ไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำประเด็นเชื้อชาติสีผิวให้ชัดเจน และนั่นทำให้ Garrett Bradley ตัดสินใจเปลื้องข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับขั้นตอนทางกฎหมาย วันเดือนปี หรือกระทั่งท่าทีที่สังคมมีต่อคนผิวดำที่มักเห็นในหนังการเมืองปลุกใจเรียกร้องสิทธิทั่วไปออกจากชีวิตของฟอกซ์แทบทั้งหมด

Time

ด้วยสายตากับน้ำหนักมือละเอียดอ่อน เธอเลือกสังเกต บอกเล่า ร่วมเป็นผู้บันทึกชีวิต และ “เวลา”

มากกว่าความเป็นแอ็กทิวิสต์อย่างในหนังเรียกร้องสิทธิส่วนใหญ่ เราได้เห็นตัวตนของฟอกซ์ ริช ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวของลูกชายต่างวัยถึงหกคน เป็นเมียที่เฝ้ารอการกลับบ้านของสามี เป็นลูกสาวของแม่ที่เริ่มเฒ่าชรา เป็นสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนที่มีโบสถ์คริสต์เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ทำทุกอย่างเพื่อประคองโครงสร้างทั้งหมดในชีวิตไว้ระหว่างการต่อสู้อันยาวนาน อาจพูดได้ว่าถ้าไม่ต้องต่อสู้ยาวนานเพื่ออิสรภาพของสามี เธอก็คือผู้หญิงที่ทำงานธรรมดาคนหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน การดำรงตนอย่างผู้หญิงทำงานและแม่ที่ดีก็คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดของการต่อสู้เพื่อความชอบธรรมในการกลับบ้านของร็อบ

บางเสี้ยวส่วนของชีวิตก็แหลมคมประหนึ่งการเทียบแทนสื่อความของวรรณกรรม ลูกแฝดของฟอกซ์อายุเพียงไม่กี่วันในวันที่แม่เดินเข้าห้องขังและพ่อยังเผชิญกับตัวเลข 60 ปีอย่างมองไม่เห็นทางออก เธอตั้งชื่อพวกเขาว่า Freedom กับ Justus–ทำไมถึงไม่ใช่ Justice เจ้าของชื่อเคยถามในวัยอนุบาล ก็เพราะเราต้องการอิสรภาพ แต่ชีวิตตอนนี้ไม่มีความยุติธรรม เราก็มีแค่เรา (just us) เธอตอบ

Time

แบรดลีย์พบฟอกซ์ครั้งแรกเมื่อปี 2016 ขณะถ่ายสารคดีสั้นเรื่อง Alone (2017) ซึ่งเปรียบเสมือนอารัมภบทของ Time ทั้งด้วยประเด็นและสายตาของผู้เล่าเรื่อง (แถมยังมีเสี้ยวส่วนอย่างวรรณกรรมคล้ายกัน) และคล้ายภาคต่อของ Below Dreams (2014) สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของเธอ (คนรักของตัวละครหลักใน Below Dreams คือโฟกัสของ Alone หลังฝ่ายชายติดคุกและตกลงแต่งงานกัน) หนังตีแผ่ผลกระทบของคุกที่มีต่อชุมชนคนผิวดำโดยมุ่งสนใจอารมณ์ความรู้สึกอย่างมนุษย์ ปล่อยรายละเอียดวิชาการประวัติศาสตร์เป็นบริบทเบื้องหลังชีวิต และพลังในถ้อยคำของฟอกซ์ผู้ยืนหยัดต่อสู้มาแล้ว 18 ปีในวันที่ทั้งคู่พบกันทำหน้าที่ดังกล่าวได้หมดจด (“แทนที่จะใช้แส้ฟาด พวกนั้นใช้เวลา ใช้ความยากลำบาก”) จนผู้กำกับหญิงตัดสินใจทำสารคดีสั้นอีกเรื่องเพื่อเล่าถึงฟอกซ์โดยตรง

หลังปิดกล้อง แบรดลีย์ได้รับมอบ ‘แคปซูลเวลา’ ของครอบครัวริชาร์ดสัน ตรงข้ามกับความขมขื่นที่ฟอกซ์เลือกบันทึกย้ำเตือนไว้ในการตั้งชื่อลูกแฝดคนเล็ก ม้วนเทป Mini DV ความยาวร่วม 100 ชั่วโมงในกระเป๋าเดินทางสีดำคือความหวังที่เธอไม่ยอมทอดทิ้งตลอดระยะเวลาเกือบสองทศวรรษของการรอคอย ย้อนไกลไปถึงวันที่เธอจูบกับร็อบต่อหน้ากล้องบนรถยนต์ก่อนต้องเดินเข้าคุก ทั้งหมดถูกบันทึกไว้เพื่อชดเชยเวลาที่ร็อบสูญเสียไปในเรือนจำ บันทึกสิ่งที่เขาไม่มีโอกาสได้สัมผัสหรือมีประสบการณ์ร่วม ภาพเคลื่อนไหวแห่งชีวิตที่ฟอกซ์ไม่เคยเปิดดูเองแม้แต่ครั้งเดียวกลายเป็นชิ้นส่วนและเครื่องมือสำคัญที่แบรดลีย์ใช้พัฒนาสารคดีสั้นเรื่องนี้จนกลายเป็นหนังยาวเรื่อง Time 

Time

‘do time’ และ ‘serve time’ คือคำสแลงภาษาอังกฤษทั่วไปที่ใช้แทนการพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าติดคุก (เริ่มใช้แพร่หลายในโลกใต้ดินอเมริกันช่วงทศวรรษ 1860 ทศวรรษเดียวกับที่ลินคอล์นชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีและแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สหรัฐอเมริกาล้มเลิกระบบทาส) การมองเรื่องราวทั้งหมดให้เห็นชีวิตด้วยความใกล้ชิดและสายตาอันละเอียดอ่อนของแบรดลีย์ยิ่งน่าชื่นชม เมื่อเธอเปิดโอกาสให้อารมณ์และความรู้สึกนำพาเรื่องราวทั้งหมด แสดงให้ผู้ชมได้เห็นชัดเจนตรงหน้าว่าไม่ได้มีแค่คนคุกที่ต้อง ‘ชดใช้เวลา’ แต่คนใกล้ชิดรอบข้างผู้ต้องโทษ โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ต่างก็ต้องชดใช้เวลาเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยความหวังเปี่ยมล้น อดทนยืนหยัดสู้ หรือต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน

จากภาพชีวิตที่แบรดลีย์บันทึกเพิ่มเติมเพื่อเสริมเรื่องราวจากม้วนเทปแห่งอดีต เราอาจกล่าวได้ว่าครอบครัวริชาร์ดสันคือบุคคลตัวอย่างในกรณีนี้ พวกเขาชดใช้เวลาด้วยการสร้างครอบครัวให้มั่นคง สร้างชีวิตที่ดีให้ประจักษ์ชัด กิจการของฟอกซ์ดำเนินไปเพื่อการศึกษาของลูกทุกคน (ลูกชายคู่แฝดเรียนมหาวิทยาลัย ลูกชายคนเล็กเป็นนักกีฬาที่เริ่มสร้างชื่อให้โรงเรียน) เพื่อหาเงินจ้างทนายความในการสู้คดี หรืออาจกระทั่งเพื่อสถานะทางสังคมที่จะทำให้ศาลมองพวกเขาต่างจากคนผิวดำอื่นๆ ที่อคติดั้งเดิมบอกว่าเป็นครอบครัวขี้คุกหรืออาชญากรไร้อนาคต

แม้จะรักษาระดับความหวังและต่อสู้อย่างไม่ยี่หระ จนหลายเสียง (รวมถึงแบรดลีย์และหนังเรื่องนี้) ยกย่องเลือดนักสู้ของเธอ แต่การที่ฟอกซ์ต้องเผชิญบททดสอบความอดทนที่กินเวลายาวนานย่อมส่งผลกับสภาพจิตใจ (ในฉากหนึ่งเธอระบายอารมณ์อย่างเต็มที่ต่อหน้ากล้องหลังคุยโทรศัพท์กับเสมียนศาลด้วยบุคลิกและเสียงที่ผ่านการควบคุมให้ไร้อารมณ์มากที่สุด) ความยอดเยี่ยมของ Time จึงไม่ใช่การยกย่องฟอกซ์ขึ้นเป็นกรณีพิเศษหรือข้อยกเว้น แต่เผยให้เห็นมิติความเป็นมนุษย์ที่สะท้อนไกลไปถึงอีกหลายร้อยหลายพันครอบครัวของผู้ต้องขัง ไม่ว่าพวกเขาจะทำผิดจริง ถูกใส่ความ ศาลตัดสินผิดพลาด หรือเผชิญผลของอคติในระบบกฎหมาย พวกเขาล้วนต้องชดใช้เวลา และหลายครั้งเวลาที่แต่ละชีวิตมีก็น้อยเกินกว่าจะยืนหยัดต้านทานได้นานพอ ก่อนที่ทุกสิ่งจะแตกสลายลงไปตรงหน้า

Time

ในโลกภาษาอังกฤษที่กระแสหลักคือน้ำเสียงแบบอเมริกัน ย่อมมีแนวโน้มที่จะอ่าน Time โดยผูกโยงกับบริบทอเมริกัน (เช่นเดียวกับช่วงต้นของบทความนี้ คำถามที่นักข่าวใช้สัมภาษณ์แบรดลีย์ รวมถึงคำตอบเกือบทั้งหมดของเธอเอง) ร็อบกลายเป็นภาพแทนของคนผิวดำที่เผชิญอคติทางเชื้อชาติฝังรากลึก ซึ่งส่งผลเป็นอัตราโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด และทัศนคติของกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯ ที่ไม่เห็นโอกาสว่าเขาจะกลับคืนสู่สังคมได้–แต่เมื่อ Time เลือกวางตัวเองอยู่อีกด้านของเหรียญในบริบทเดียวกัน การอ่านหนังแบบคนไกลที่อยู่นอกบริบทจึงยิ่งน่าสนใจ

แน่นอนที่สุดว่าการพิจารณาบริบทอย่างตระหนักรู้เป็นคุณสมบัติด้านบวก และสำหรับหลายต่อหลายกรณีการตระหนักรู้คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดจนไม่อาจละทิ้งได้ แต่กำแพงในนามของบริบทก็ปรากฏขึ้นได้เสมอ (กระทั่งกับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริบทสังคมนั้นๆ เช่น ชาวอเมริกันผิวขาวปัจจุบันบางส่วนสบายใจเมื่อเห็นภาพการเหยียดผิวในหนังที่เล่าเรื่องย้อนยุค เพราะเกิดกำแพงบริบททางความรู้สึกขึ้นว่าความเลวร้ายเหล่านั้นเป็นเรื่องในอดีต) เมื่อแบรดลีย์เลือกปลดเปลื้องบริบทและข้อมูลสถิติออก และประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่องของฟอกซ์กับร็อบด้วยน้ำเสียงสากล การต่อสู้ของพวกเขาจึงเป็นเรื่องของคนที่กำลังเผชิญหน้ากับระบบยุติธรรมที่กำลังสำแดงข้อบกพร่องจากเนื้อใน

Time

ต่างจากหลายกรณี ‘พิเศษ’ หรือ ‘ข้อยกเว้น’ ที่เพียบพร้อมน่าสนใจจนถูกหยิบยกมาทำหนังหรือสารคดี หลายครั้งผู้ชมเชื่อมโยงกรณีเหล่านั้นด้วยความรู้สึกว่าเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ในระบบอันส่งผลเฉพาะต่อกรณีนั้นๆ หรือใกล้เคียงกัน (เช่น ตำรวจเหยียดผิว, ผู้พิพากษาอคติ, จับผิดตัว หรือเก็บหลักฐานไม่ครบถ้วน ซึ่งต้องแก้ไขเพื่อให้ระบบกลับมาเป็นธรรม–หรือในกรณีหนังเรียกร้องสิทธิ ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกแวบแรกว่าเป็นเรื่องของ ‘ที่อื่น’) แต่คดีของฟอกซ์กับร็อบไม่เข้าคุณสมบัติเหล่านั้น พวกเขาปล้นธนาคารจริง ทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา รับสารภาพ และไม่เคยเรียกร้องความเห็นใจผ่านภาษาแบบนักรณรงค์หรือสื่อมวลชน (เช่น แม่ที่ขโมยนมผงเพราะความขัดสน หรือคนจนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ) อัตราโทษ 60 ปีที่ร็อบได้รับก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะศาลทำเกินอำนาจหน้าที่ (กฎหมายรัฐลุยเซียนาขณะนั้นระวางโทษจำคุกคดีปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธไว้ที่ 5-99 ปี)

การปลดเปลื้องบริบทของแบรดลีย์จึงท้าทายให้เราจับจ้องความเปลือยเปล่าของข้อเท็จจริง เรารู้สึกอย่างไรที่ได้เห็น ‘มนุษย์’ ซึ่ง ‘ทำผิดจริง’ ถูก ‘กระบวนการยุติธรรม’ ตัดสินให้ ‘ชดใช้เวลา’ ด้วยการจำคุกเป็นเวลา 60 ปี และได้เห็นมนุษย์คนอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในเวลาที่เขาต้องชดใช้ เรารู้สึกอย่างไรที่กระบวนการยุติธรรมได้พรากเวลาเกือบทั้งชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง

ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อตัวหนังได้ข้ามบริบทต้นทางมาถึงอีกซีกโลกหนึ่งแล้ว ในขณะเดียวกันกับที่หนังของแบรดลีย์สามารถสื่อสารเรื่องราวของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาอย่างได้ผล เรามองเห็นความสากลของบริบทในรูปแบบใด

Time

คุกอเมริกันอาจมีประวัติศาสตร์และคุณสมบัติพิเศษไม่เหมือนคุกไหนในโลก ร็อบอาจเป็นคนอเมริกันผิวดำผู้มีชีวิตในบริบทที่ไม่เหมือนชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติสีผิวในประเทศอื่น แล้วคุกของเรามีประวัติศาสตร์อย่างไร นักโทษที่ถูกจองจำส่วนใหญ่ของเราเป็นใคร ตำรวจหรือแขนขาในกระบวนการยุติธรรมของเรามีอคติหรือทำงานเก่งกับผู้ต้องหากลุ่มใดเป็นพิเศษ–เรามองเห็นระบบที่บิดเบี้ยวบกพร่องในบริบทของตัวเองหรือไม่ ความบกพร่องแบบเดียวกับที่ฟอกซ์และแบรดลีย์พูดย้ำเสมอว่าเป็น ‘ชีวิตปกติ’ เมื่อคุณเกิดเป็นคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา

เชื้อชาติ สีผิว ชนชั้น หรือความคิดทางการเมืองแบบใดในบริบทของเราที่กระบวนการยุติธรรมได้ขีดเส้นไว้ให้ชีวิตของพวกเขาต้องสัมพันธ์กับเรือนจำเป็นพิเศษ? พวกเขาอาจเป็นนักโทษคดียาเสพติด พวกเขาอาจเป็นคนจน พวกเขาอาจเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาอาจเป็นคนไม่มีสัญชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาอาจเป็นนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ–อะไรก็ตามที่เราอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องของ ‘คนอื่น’

และในสังคมที่อาจมองไม่เห็น หรืออาจมองเห็น ตระหนักรู้ แต่ไม่อยู่ในสถานะที่สามารถทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวได้ กระทั่งเกิดสภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่เสมอมาและเสมอไปในกระบวนการยุติธรรม เราทุกคนต่างก็ต้องชดใช้เวลาเช่นเดียวกับ ‘คนอื่น’ เหล่านั้น–We’re all doing time.

AUTHOR