“อังกฤษเป็นสังคมที่วัดคุณค่ากันด้วยศักยภาพ ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน” อุกฤษ อังควินิจวงศ์ เภสัชกรไทยในอังกฤษ

อากาศที่ลอนดอนกำลังดีกว่าวันไหนๆ ในตอนที่เราพูดคุยกับ อุกฤษ อังควินิจวงศ์ เภสัชกรนักวิจัย ผู้เลือกไปเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักร ด้วยความหวังว่าจะกลับมาเปิดบริษัทวิจัยและพัฒนา (R&D) เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยาในไทย 

10 ปีก่อน หลังจากเรียนจบปริญญาตรีในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อุกฤษมีเป้าหมายอยากทำงานในฐานะนักวิจัยเชิงพาณิชย์ เมื่อเห็นว่ายังไม่มีองค์กรเอกชนที่พัฒนาเทคโนโลยียาใหม่ๆ อย่างจริงจังในประเทศบ้านเกิด เขาจึงอยากเปิดบริษัทของตัวเองในรูปแบบสตาร์ทอัพที่วิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะเรียนต่อซึ่งจะช่วยเสริมองค์ความรู้ให้พัฒนาสิ่งที่อยากทำได้ อุกฤษจึงเลือกประเทศต้นกำเนิดนวัตกรรมหลายๆ อย่าง รวมทั้งมีสถาบันการศึกษาชื่อดังระดับโลกอย่างสหราชอาณาจักร เป็นประเทศที่เขาออกเดินทางไปศึกษาเล่าเรียน

ตั้งแต่นั้นมานักวิจัยไทยคนนี้ได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งนวัตกรรมและได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมโปรเจกต์ทดลองอันหลากหลาย อย่างการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดความจำเป็นในการใช้สัตว์ทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยารักษาโรคตา หรือการตรวจสอบเทคโนโลยีด้านยาที่กำลังเป็นข้อพิพาทในแวดวงเภสัชอังกฤษ รวมถึงการเข้าร่วมทำงานวิจัยอื่นๆ จนได้รับการรับรองความสามารถจากราชบัณฑิตยสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร เป็นผลให้อุกฤษได้รับวีซ่าแบบ global talent ทำให้เขาสามารถทำงานได้อิสระในฐานะบุคคลที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล 

อุกฤษเดินทางไปถึงจุดนั้นได้ยังไง แล้วสภาพแวดล้อมแบบไหนที่เอื้อให้คนทำงานด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์อย่างเขาเลือกทำงานนอกบ้านเกิด 

ในวันที่อากาศลอนดอนเป็นใจ ชายหนุ่มเล่าเส้นทางการทำงานของเขาให้เราฟัง 

ความฝันที่จะเปิดบริษัทวิจัยในไทย

ก่อนเดินทางออกไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อหาความรู้ อุกฤษพาเราย้อนถึงชีวิตในไทยที่ทำให้เขาค้นพบเป้าหมายในการเป็นนักวิจัยเชิงพาณิชย์ของตัวเองให้ฟังก่อน

“ตอนเด็กผมชอบอ่านเรื่องนักวิทยาศาสตร์ในอเมริกาอย่าง Thomas Edison หรือ Nikola Tesla ประทับใจในความมุ่งมั่นของเขาที่จะหาวิธีหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกอย่างคือมันทำให้เราเห็นว่าเขาไม่ได้ทำงานในแล็บอย่างเดียว แต่มีบริษัทของตัวเองด้วย” 

อุกฤษทำตามความฝันของตัวเองด้วยการเลือกเรียนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างที่ศึกษาอยู่เขาค้นพบว่าการทำงานเภสัชแบ่งได้ 2 สายใหญ่ๆ คือ หนึ่ง–เภสัชที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรง กับ สอง–เภสัชสายผลิตที่ทำงานในโรงงานยาสามัญ แต่ไม่ค่อยมีบทบาทในการทำงานวิจัยพัฒนายาแบบที่เขามุ่งมั่นศึกษามาตั้งแต่เด็ก

“ผมชอบและสนใจงานวิจัย การพัฒนาสูตรยาให้เป็นในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ รวมถึงพวกยาในรูปแบบอนุภาคนาโน แต่ระหว่างเรียนที่ไทยผมคิดว่างานเภสัชที่มีอยู่ในประเทศไม่ตรงกับสายที่ผมอยากทำ ไม่ใช่ว่าสายที่มีอยู่ไม่ดีนะ แต่เท่าที่สังเกต เมื่อ 10 ปีที่แล้วอุตสาหกรรมยาบ้านเราไม่ได้เติบโตด้วยงานวิจัยมากเท่าไหร่ แถมยังไม่ค่อยมีเชิงนวัตกรรมใหม่ๆ หรือ R&D จากเอกชน ส่วนใหญ่มาจากมหาวิทยาลัย ตอนนั้นภาคอุตสาหกรรมยังเน้นการทำยาสามัญ ซึ่งก็คือยาเลียนแบบอยู่”

เพราะฝันอยากเปิดบริษัทวิจัยและพัฒนาเป็นของตัวเองมานาน อุกฤษมองว่าการออกไปเก็บเกี่ยวความรู้จากประเทศต้นกำเนิดด้านเทคโนโลยีและศาสตร์ความรู้ต่างๆ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำฝันให้สำเร็จ

“การไปเรียนเมืองนอกไม่ใช่แค่เอาเทคโนโลยีหรือเอาความรู้จากเขามาใช้ แต่เราอยากเข้าถึงวิธีการคิดและการสร้างองค์ความรู้ ด้วยเพราะเขาเป็นประเทศที่กำเนิดนวัตกรรมต่างๆ การไปเรียนรู้วิธีคิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะยั่งยืนมากกว่าการเอาไฟนอลโปรดักต์มาใช้

“ในทางหนึ่งคือมันไม่ได้ตอบสนองแค่แพสชั่นของตัวเรา แต่ผมมองว่าการสร้างบริษัทที่ทำงานวิจัยและพัฒนามันช่วยประเทศได้” เขายกตัวอย่างถึงนักวิทยาศาสตร์และนักธุรกิจชาวอเมริกันอย่างโทมัส เอดิสัน ที่คิดค้นวงจรไฟฟ้าและตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง จนสามารถผลักดันนวัตกรรมที่คิดค้นไปสู่นโยบายระดับประเทศ กลายมาเป็นผู้พัฒนาอเมริกาในยุคที่เริ่มใช้ไฟฟ้าได้สำเร็จ 

“เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของการสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน มันดูเป็นภาพใหญ่มาก แต่ผมคิดว่าถ้ามีบริษัทเทคโนโลยีแบบนี้จะทำให้สังคมมีทางออกจากปัญหาหลายๆ ทาง อย่างยุคนี้เราจะเห็นชัดจากประเทศที่มีเทคโนโลยีวัคซีน” 

ในช่วงที่ต้องตัดสินใจ ตัวเลือกในการเรียนต่อของอุกฤษมี 2 ประเทศคือสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นดินแดนขึ้นชื่อด้านองค์ความรู้และนวัตกรรม อีกทั้งอาจารย์ที่เขาเคยเรียนด้วยตอนปริญญาตรีส่วนใหญ่ก็เรียนจบมาจาก 2 ประเทศนี้ 

“เป้าหมายที่ผมมีตั้งแต่แรกคือเรียนให้จบปริญญาเอก แต่ก็กลัวว่าตัวเองจะเรียนไม่ไหว เลยทดลองเรียนปริญญาโทก่อน ในอเมริกาสายที่ผมอยากเรียนจะมีแต่ระดับโท-เอก ซึ่งเรียนต่อเนื่องกัน แต่ที่อังกฤษมีปริญญาโทและส่วนใหญ่เรียนแค่ปีเดียว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้น พอเรียนจบแล้วเราสามารถตัดสินใจได้ว่าชอบสายงานนี้ไหม อยากทำงานวิจัยแบบนี้ไปตลอดไหม”

คณะ School of Pharmacy ที่ University College London (UCL) จึงเป็นสถาบันที่เขาเลือกเข้าไปศึกษาระดับปริญญาโท

ความล้มเหลวของทีสิสพัฒนายาและโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียนที่อังกฤษ

ก่อนไปเรียนและใช้ชีวิตในลอนดอนอย่างจริงจัง อุกฤษบอกว่าเขาเตรียมใจไว้ตั้งแต่แรกที่จะเปิดรับทุกอย่างแบบไม่คาดหวัง นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาปรับตัวได้ง่าย ถ้าไม่นับเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนมากพอจะทำให้คนที่อาศัยอยู่ลอนดอนต้องเจอกับอากาศแบบ 3 ฤดูได้ในวันเดียว

“ส่วนเรื่องเรียนก็ไม่ได้รู้สึกว่ายาก ผมรู้แล้วว่าจะต้องเจอการเรียนแบบ active learner คือเขาจะไม่ได้สอนแบบอัดๆ เนื้อหาให้ แต่เราต้องเข้าไปคุย ฟัง จับประเด็นแล้วมาอ่านเอง แต่ก็ไม่ได้อ่านสะเปะสะปะ เพราะบางที professor จะแนะแนวว่าประเด็นนี้ยูต้องคิดอะไร เราก็จะมีแนวทางว่าต้องอ่านอะไรไปบ้าง เสร็จแล้วเข้าคลาสอาจารย์จะชวนมาถกเถียงประเด็นนั้นร่วมกัน

“ผมคิดว่าอาจจะเพราะตอนเรียนปริญญาตรีที่ไทยเราต้องอ่านเทกซ์บุ๊กหรืออ่านเปเปอร์วิจัยกันอยู่แล้ว ศัพท์อะไรหลายอย่างที่เราใช้ตอนเรียนมันก็เป็นภาษาอังกฤษ เลยรู้สึกว่าไม่ได้ท้าทายมากเท่าไหร่”

การเรียนปริญญาโทที่ UCL ของอุกฤษนั้นเรียกได้ว่าผ่านฉลุย ถึงแม้เขาจะเล่าติดตลกถึงความลำบากของตัวเองในการสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติเล็กน้อย โดยเฉพาะกับเพื่อนชาวอินเดีย แต่เขาคิดว่าโดยรวมทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก

จนกระทั่งทีสิสดำเนินมาถึง

“ผมเลือกหัวข้อที่คิดว่าถ้ากลับไทยเราจะไม่มีโอกาสทำ คือจะมีตัวยาบางอย่างที่ผมก็ไม่เคยเรียนตอนอยู่ไทยและไม่มีการผลิตในไทย นั่นคือยาโปรตีน จำพวกยาแอนติบอดี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการผลิตขั้นสูง 

“ยาแอนติบอดี้จะอยู่ในร่างกายได้ไม่นาน เพราะมันจะถูกทำลายด้วยเอนไซม์ต่างๆ ทำให้โครงสร้างจะถูกย่อยไปหมด โปรเจกต์ที่ผมพยายามทำคือเอาโพลีเมอร์ต่อเข้าไปเพื่อให้มันอยู่ได้นานขึ้น และมันต้องมีการสังเคราะห์เคมี ซึ่งตัวเองก็ไม่ได้เก่งดีเลิศด้านนี้ขนาดนั้นแต่ดันไปรับทำโปรเจกต์นี้”

อุกฤษบอกว่าเขาพยายามทดลองซ้ำๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อยู่ 6 เดือนแต่ก็ไม่สำเร็จ ความล้มเหลวของหัวข้อทีสิสแรกทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามในใจว่าหรือเขาจะทำมันไม่ได้จริงๆ “ก็คงต้องยอมรับหรือเปล่า” เขาถามตัวเอง

ถึงอย่างนั้นเขาก็พาความล้มเหลวในโปรเจกต์พัฒนายาของตัวเองไปนำเสนอให้อาจารย์ฟังครั้งแล้วครั้งเล่า เขาอธิบายสาเหตุที่ทำให้ไม่สำเร็จด้วยหลักการต่างๆ จนกระทั่งคะแนนทีสิสออกมา ในความคิดแรก อุกฤษเตรียมใจเอาไว้แล้วว่าตัวเลขที่ได้น่าจะเข้าขั้นแย่พอตัว

“แต่พอคุยกับอาจารย์ไปๆ มาๆ เขาบอกเราได้คะแนน 80 จาก 100 คะแนน เราตกใจมากว่าทำไมให้เยอะจัง” เขาหัวเราะ

แม้ว่าในใจลึกๆ จะดีใจที่ได้คะแนนสูงกว่าที่หวังไว้ แต่เขาก็อดสงสัยที่จะถามไม่ได้ว่าเกณฑ์อะไรที่ทำให้อาจารย์มองข้ามความล้มเหลวในทีสิสเขาที่ไม่ได้ให้ผลลัพธ์อย่างที่หวัง 

“เขาเห็นว่าเรารีเสิร์ช อ่านเยอะมาก และอ่านในหัวข้อที่ไม่ถนัดด้วยซ้ำ แต่ก็พยายามอธิบายว่าสิ่งที่ผิดพลาดเกิดจากอะไร พอเราอธิบายไม่ได้เราก็ไปอ่าน เขารู้สึกว่าสกิลตรงนี้แหละจะทำให้เราอยู่รอดในการเรียนปริญญาเอก เพราะไม่ใช่ว่าการทำวิจัยยูจะเลือกไอเดียแรกแล้วได้ผลเลย ยูต้องผ่านขั้นตอนแบบนี้เยอะ เขาเลยเชื่อว่าความไม่ยอมแพ้ของเราจะทำให้เรียนปริญญาเอกได้” 

เมื่อมีคนช่วยยืนยันว่าการเรียนระดับปริญญาเอกของเขาไม่น่ามีปัญหา หลังเรียนจบปริญญาโทอุกฤษจึงตัดสินใจเรียนต่อที่สถาบันเดิม ครั้งนี้เหมือนมีภูมิคุ้มกันความล้มเหลวจากการทำทีสิสมาแล้ว เขาจึงรู้ว่าในระดับการเรียนที่สูงขึ้น ทุกสมมติฐานที่ตั้งไว้ไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบสุดท้าย แต่สามารถหาคำตอบต่อไปได้ไม่สิ้นสุด ผ่านการลงมือลองผิดลองถูกและหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ 

“ส่วนเป้าหมายที่อยากเรียนรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์กับธุรกิจ ผมได้เยอะมากจากพวกกิจกรรมที่อยู่นอกหลักสูตร เพราะว่าช่วงที่เรียนเป็นปีแรกๆ ที่อังกฤษเริ่มพูดเรื่องสตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัย เขาจะมีการจัดงานสัมมนาเยอะมาก” 

การเข้าไปฟังสัมมนาหลายครั้งทำให้เขาเปิดโลกความรู้หลายแบบ อย่างการไม่จำกัดว่าเรื่องยาจะต้องคุยกันในเฉพาะวงการแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น 

“เขาจะเอาปัญหาวางไว้ตรงกลางเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ อย่างช่วงหนึ่งเขาคุยกันว่าอุตสาหกรรมยาเริ่มถึงทางตันในการพัฒนายาใหม่ๆ ก็มีวงเสวนาที่พูดคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ ตอนนั้นผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก”

อุกฤษยังเสริมถึงเหตุผลที่ทำให้ได้ออกไปเจอประสบการณ์นอกห้องเรียนว่า อาจารย์หรือนักศึกษาไม่ได้มองว่าความสำเร็จคือการพัฒนาวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงทักษะด้านอื่นๆ และการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของตัวเอง เขาจึงมีโอกาสได้ทำงานจริงนอกห้องเรียนโดยการสนับสนุนของอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย 

“ตอนนั้นได้ทำโปรเจกต์ที่มีข้อพิพาทระหว่าง 2 บริษัทยา เขาฟ้องกันเรื่องเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Pegylation คือการเติมโพลิเมอร์เข้าที่โครงสร้างยาโปรตีนเพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้น บริษัทยายักษ์ใหญ่ที่เป็นโจทก์กล่าวหาว่าบริษัทยาขนาดเล็กที่ว่าจ้างไปละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยี Pegylation บริษัทขนาดเล็กเลยพยายามหาคนมาพิสูจน์นวัตกรรมนี้ว่าเขาเป็นคนคิดค้นก่อน พอดีว่าอาจารย์ผมรู้จักกับทนายฝั่งผู้ถูกกล่าวหา เพราะเขาเห็นว่าเราเคยทำการติดโพลีเมอร์สมัยเรียนปริญญาโทมาแล้ว

“ผมต้องออกแบบและทำการทดลองตามข้อมูลพื้นฐานที่บริษัทให้ เพื่อคอนเฟิร์มว่า เทคโนโลยีเขาคิดได้ก่อนและใช้ได้จริง พอได้ทำแล้วมันเป็นประสบการณ์ที่ดีในฐานะนักเรียนปริญญาเอกนะ แล้วผลลัพธ์ของโปรเจกต์ก็ออกมาดี เขาใช้การทดลองที่เราออกแบบไปใช้ในการโต้เถียงกันในศาลแล้วฝ่ายลูกความที่จ้างเราชนะคดี มันรู้สึกภูมิใจในตัวเอง”

นอกจากนี้เขายังได้รับเลือกให้เป็นนักวิเคราะห์เทคโนโลยีให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่ติดลิสต์ Fortune 500 ซึ่งเป็นการจัดอันดับบริษัทระดับโลกจากผลกำไรและรายได้ โดยทำหน้าที่รีเสิร์ชเทคโนโลยีใหม่และน่าสนใจให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงยังได้ทุนการศึกษาจาก Graduate School of Business ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้เข้าร่วมโปรแกรม Global Entrepreneurship and Innovation ซึ่งเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจะเลือกคนจากทุกสาขาอาชีพเข้าร่วมเพื่อเรียนเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาโมเดลธุรกิจไปพร้อมกัน

ระบบนิเวศของวงการวิจัยที่เป็นเสาหลักสนับสนุนให้นักวิจัยรุ่นใหม่ 

หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก อุกฤษกลับมาทบทวนเป้าหมายของการกลับไทยไปเปิดบริษัทของตัวเองอีกครั้ง เขามองว่าถ้าจะกลับบ้านเกิดไปพร้อมกับใบปริญญา แต่ไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานมากพอ ต้นทุนความรู้ในการดูแลบริษัทอาจจะน้อยไป เขาจึงตัดสินใจอยู่ต่อเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือทำงานในสหราชอาณาจักรดีกว่า

“พอดีอาจารย์ที่ปรึกษาเขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของยาตา เขามีโมเดลเพื่อดูว่ายาที่ออกแบบมาตอนนี้จะอยู่ในลูกตาได้นานแค่ไหนได้บ้าง เพราะมันมีผลกับระยะเวลาการออกฤทธิ์ และมีการพัฒนาเรื่องของยารักษาตาที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น อาจจะเป็นพวกอนุภาคนาโนต่างๆ”

เขาทำงานที่นี่ในตำแหน่งนักวิจัยประจำแล็บ ที่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดความจำเป็นในการใช้สัตว์ทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยารักษาโรคตาต่างๆ และพัฒนายารักษาตาที่เป็นโปรตีนให้อยู่ในรูปแบบอนุภาคนาโน เพื่อลดความถี่ในการฉีดยาเข้าลูกตาในการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม 

“ด้วยความเป็นบริษัทสตาร์ทอัพก็ต้องทำทุกอย่างด้วย” อุกฤษหัวเราะ “ทั้งช่วยดูธุรกิจ กลยุทธ์พัฒนาโปรดักต์ หาลูกค้า ซึ่งอันนี้แหละที่เป็น learning by doing ของจริง และได้รู้ว่ามันท้าทายขนาดไหนการทำบริษัทสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่เกิดจากมหาวิทยาลัย” 

อาจจะฟังแล้วรู้สึกขัดแย้ง เพราะบางคนอาจจะสงสัยว่ามหาวิทยาลัยไม่ควรมีบริษัทสตาร์ทอัพที่มีผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือเปล่า 

“แต่จริงๆ แล้วกำไรในเชิงพาณิชย์ที่กลับเข้าสู่มหาวิทยาลัยน้อยมากๆ ส่วนใหญ่แค่ไม่ทำให้ขาดทุนได้ก็เก่งแล้ว เพราะการต่อยอดเชิงพาณิชย์ใช้ระยะเวลานาน เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่รับความเสี่ยงตรงนี้ และให้คุณค่าของการสร้างคุณูปการต่อสังคมมากกว่ากำไร ขาดทุน แต่เล็งเห็นเป็นกลไกที่สามารถเพิ่มการจ้างงาน สร้างตลาดแรงงานเฉพาะทางที่มีคุณภาพ ส่งผลให้สร้างเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศอังกฤษด้วย” 

เมื่อวีซ่านักศึกษาใกล้หมดอายุ และกฎหมายของสหราชอาณาจักรที่อนุญาตให้บัณฑิตปริญญาเอกสามารถอยู่ทำงานหลังเรียนจบได้ 1 ปี อุกฤษจึงหาทางทำงานต่อในเมืองผู้ดีแบบไม่ต้องหาบริษัทที่คอยสปอนเซอร์ค่าวีซ่าให้ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสหางานทำในสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น เขาได้รับคำแนะนำให้ยื่นในรูปแบบ global talent ซึ่งต้องรวบรวมประวัติและผลงานให้หน่วยงานรัฐที่กำหนดรับรองความสามารถ โดยเขาเป็นหนึ่งใน 200 นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกที่ได้รับเลือกให้เป็น Emerging Leader จากราชบัณฑิตยสภาวิศวกรรมศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (The Royal Academy of Engineering) ทำให้ได้รับวีซ่าอนุญาตทำงานในฐานะ global talent ในที่สุด

หลังจากนั้นนักวิจัยวัย 30 ปีจึงลาออกจากบริษัทสตาร์ทอัพมาทำงานวิจัยส่วนตัว ซึ่งเป็นวิจัยเชิงพาณิชย์ 2 โปรเจกต์ ได้แก่โปรเจกต์พัฒนายารักษาตาที่เป็นแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ในรูปแบบอนุภาคนาโนให้ออกฤทธิ์ได้นาน 3 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ใกล้เคียงกับยาต้นแบบที่มีใช้ในการรักษาปัจจุบัน  

และโปรเจกต์ที่ 2 คือการเอายาที่มีอยู่เดิมมาทดสอบดูประสิทธิภาพใหม่ในโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อชนิดหายากที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือความเสื่อมของไมโทคอนเดรีย ซึ่งโปรเจกต์ทั้งสองนี้ได้รับทุนจากสภาวิจัยการแพทย์ของสหราชอาณาจักร (Medical Research Council) ที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ และส่งต่อให้กับนักวิจัยที่ยื่นคำขอเข้ามา

“คนที่นี่เขาจะมองว่างานวิจัยเป็นการลงทุน ไม่ใช่รายจ่าย ลงทุนให้กับองค์ความรู้ ทรัพยากรบุคคล ลงทุนในเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ใดๆ และเข้าใจว่าการลงทุนนี้มันใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นหน่วยงานรัฐอย่างสภาวิจัยการแพทย์จะมองถึงการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัย เขาจะสนับสนุนนักวิจัยในทุกระดับ ไม่ใช่แค่นักวิชาการเบอร์ใหญ่ๆ บางทุนระบุเลยว่าสำหรับนักวิจัยเบื้องต้น ซึ่งผมว่ามันเป็นระบบที่ดี ดึงให้คนที่เพิ่งเริ่มงานยังสามารถทำงานสายนี้ได้ มันไม่ต้องสู้จนอยากได้ผลลัพธ์ แต่ไม่มีเงินสนับสนุนอะไรเลย ต้องเริ่มเอง”

นอกจากนี้อุกฤษยังเล่าถึงระบบนิเวศของงานนวัตกรรมของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเสาหลักให้เกิดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยทางการแพทย์ตั้งแต่ต้นน้ำอย่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆ ไปจนถึงปลายน้ำอย่างเครือข่ายสาธารณสุขที่รับเอางานวิจัยไปพัฒนาต่อและใช้ได้จริงในประเทศ รวมถึงหน่วยงานขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดเส้นทางนวัตกรรมเข้าสู่ตลาด 

“อย่าง อย.อังกฤษนี่เขาไม่ได้ทำตัวเป็น gatekeeper ที่กันไม่ให้คนทำอะไรเลย แต่เขาพยายามช่วยเป็นผู้ให้บริการที่ทำงานร่วมกับนักวิจัย ช่วยเหลือดูแลเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันนวัตกรรมให้ใช้ได้จริง”  

เขาบอกว่ายังมีองค์กรการกุศลและหน่วยงานเอกชนที่สนับสนุนบริษัทพัฒนาขนาดเล็กและกลางสามารถดำเนินการได้ ไม่จำเป็นต้องมีแต่บริษัทใหญ่ที่ถือครองนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว ส่วนบริษัทใหญ่เองก็มีทุนมากพอที่จะสนับสนุนงานวิจัยในมหาวิทยาลัยให้มาต่อยอดธุรกิจได้

“ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเร่งนำนวัตกรรมทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมาแก้ปัญหาให้กับสังคม ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนให้รัฐบาลอังกฤษตื่นตัวกับการสนับสนุนงานวิจัยด้านการแพทย์จนตั้งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อให้อังกฤษเป็นมหาอำนาจด้านการแพทย์ของโลก” 

ปัจจุบันอุกฤษเปลี่ยนสายงานจากนักวิจัยในห้องแล็บมาทำงานด้านบริหารจัดการวิจัย โดยเน้นให้คำปรึกษา แนะนำ และบริหารจัดการเทคโนโลยีที่เกิดจากงานวิจัยให้กับนักวิจัย ทั้งวางกลยุทธ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การสร้างโมเดลธุรกิจ การหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเพื่อเอาเทคโนโลยีไปต่อยอด การจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาต่อยอดงานวิจัย รวมถึงการก่อตั้งและบริหารบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีนั้นๆ ด้วย

“เปรียบเทียบแล้วงานนี้เป็นกระบวนการกลางน้ำที่เชื่อมระหว่างการพัฒนาต้นน้ำ คืองานวิจัยให้ไหลไปจนถึงปลายน้ำได้อย่างไม่มีสะดุด ซึ่งมันตอบโจทย์ต่อเป้าหมายที่ผมเคยคิดว่าอยากจะเปิดบริษัท R&D ได้อย่างมาก”

แม้เขาจะยอมรับว่างานที่ทำเพิ่งอยู่ในช่วงเติบโตในอุตสาหกรรมงานวิจัยในสหราชอาณาจักร แต่ก็มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และหลายมหาวิทยาลัยก็มีเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษา ด้วยผลลัพธ์ของการนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมด้วยงานวิจัยที่มาจากภาษีของประชาชน และเป็นการตอบคำถามคลาสสิกอย่าง ‘นักวิจัยทำงานวิจัยไปแล้วได้อะไร’ หรือ ‘งานวิจัยไม่ได้อยู่บนหิ้งเพียงอย่างเดียว’

“ตั้งแต่มาเรียนที่นี่ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่มีอิทธิพลต่อผมไปตลอดชีวิตเลย 10 ปีนี้ทำให้ได้สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ที่ประเมินค่าไม่ได้ สหราชอาณาจักรทำให้ผมค้นพบศักยภาพของผมที่ซ่อนอยู่ เพราะสหราชอาณาจักรเป็นสังคมที่วัดคุณค่ากันด้วยศักยภาพ ทุกคนมีการเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน ทั้งโอกาสพื้นฐานที่ระบบมอบให้ และโอกาสที่ทุกคนสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเอง 

“อย่างผมเปลี่ยนสายงานจากการเป็นนักวิจัยมาเป็นเชิงธุรกิจ บางสังคมอาจจะตั้งคำถามว่าจบด็อกเตอร์มาแล้วทำไมไม่ไปเป็นอาจารย์ล่ะ แต่ที่นี่ คุณจะเป็นอะไรก็ได้ที่คุณอยากจะเป็น และไม่มีใครมาตั้งคำถามอะไรแบบนี้  

“ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง ทุกคนมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นได้” อุกฤษทิ้งท้าย

AUTHOR