ชีวิตในอิตาลีของ นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ดินแดนที่เห็นค่าศิลปะและทำให้เธอทำงานหนังสือ

เรารู้จัก นัน–นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ในฐานะของนักแปลและผู้ก่อตั้งอ่านอิตาลี สำนักพิมพ์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่วรรณกรรมอิตาลีในไทย

แต่ในอีกมุมหนึ่งเธอคือคนไทยที่ตัดสินใจพาตัวเองย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ต่างประเทศ ก่อนกระแส #ย้ายประเทศ จะเกิดขึ้น ก่อนที่คนรุ่นใหม่จะหมดความหวังกับบ้านเกิดจนอยากหนีไปเสียไกลๆ

ตอนนั้นเธอเองก็สิ้นหวังไม่แพ้กัน เมื่อมีโอกาสหญิงสาวจึงขอโบยบินจากประเทศไทย ดินแดนที่เธอใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมา 29 ปีไปแสวงหาความสุขที่แท้จริง

จวบจนตอนนี้ เป็นระยะเวลากว่า 22 ปีแล้วที่นันธวรรณ์อาศัยอยู่ที่อิตาลี ประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดเหล่าศิลปินและนักปราชญ์ผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกอย่าง Leonardo da Vinci, Michelangelo, Caravaggio ฯลฯ มากกว่านั้น ด้วยความที่เป็นเมืองศิลปะและมีภูเขาล้อมรอบ ทำให้อิตาลีมักติดลิสต์หนึ่งในดินแดนที่คนไทยวางหมุดหมายอยากไปเยือนสักครั้ง

ในตอนที่ 4 ของซีรีส์ One Way Ticket เราเลยชวนผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เล็กๆ คนนี้มาบอกเล่าถึงเรื่องราวของเธอ ตั้งแต่ช่วงเวลาในเมืองไทยที่รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ใต้เมฆครึ้มทึมเทาตลอดเวลา จนกระทั่งย้ายไปใช้อีกเกือบครึ่งชีวิตที่อิตาลี–ดินแดนที่เธอรัก

Departure Time
ชนชั้นรากหญ้าผู้แสวงหาความสุขที่แท้จริง

“เราเป็นชนชั้นล่างแบบรากหญ้า ชีวิตค่อนข้างลำบาก พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เล็ก เร่ร่อนไปอยู่กับญาติคนนั้นคนนี้ เคยไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า เคยหนีออกจากบ้าน และเคยต้องออกจากโรงเรียน” นันธวรรณ์ย้อนเล่าถึงชีวิตที่เรียกว่าแทบจะใช้ชีวิตตัวคนเดียวมาตั้งแต่ต้น

โชคดีว่าหลังจากเรียนจบมัธยมปลาย เธอสอบเข้าคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ และถึงแม้จะมีเงินติดตัวเพียงน้อยนิด แต่ก็ได้รับความเมตตาจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี ช่วงนั้นเธอไม่ค่อยตั้งใจเรียนนัก แต่เป็นเด็กกิจกรรมที่ชอบไปออกค่ายกับรุ่นพี่ จนสุดท้ายก็โดนรีไทร์ทำให้ต้องสอบเข้าเรียนใหม่

“เป็นช่วงที่ค่อนข้างเคว้งคว้างว่าจะไปทางไหนดี จนมีโอกาสได้อ่านหนังสือ The Old Man and the Sea ของ Ernest Hemingway แล้วชอบมาก เรียกว่านิยายเรื่องนี้เป็นจุดหันเหที่ทำให้เราอยากทำงานด้านวรรณกรรมเลย ตอนเอ็นทรานซ์ใหม่เราจึงเลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอันดับหนึ่ง”

อิตาลี

และเป็นโชคดีของนันธวรรณ์อีกเช่นกันที่ได้รับทุนช่วยเหลือจากอาจารย์ในคณะและทุนเรียนฟรีจากมหาวิทยาลัย ทำให้เธอไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โดยวิชาเอกที่เธอเลือกนั้นคือภาษาอิตาเลียน เนื่องจากพื้นฐานเป็นคนชอบงานศิลปะยุคเรอเนซองซ์อยู่แล้ว บวกกับตอนนั้นแม้ยังไม่รู้ว่าเรียนแล้วจะไปทำงานอะไร แต่เธอมั่นใจว่าถ้ามีภาษาที่สามเดี๋ยวก็มีที่ทางไปต่อได้เอง ในระหว่างที่นันธวรรณ์ตั้งใจเรียน เธอยังใช้เวลาส่วนใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัยไปกับการอ่านและแปลเรื่องสั้นส่งนิตยสารต่างๆ ซึ่งสุดท้ายมันได้กลายเป็นสิ่งที่เธอรักและทำมาตลอดชีวิต

หลังจากเรียบจบ นันธวรรณ์เข้าทำงานกับบริษัทสปอตไลต์ที่ทำการค้ากับอิตาลีได้ประมาณสองปีก่อนย้ายไปทำงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยในระหว่างนั้นเธอได้มีโอกาสไปทำงานที่ประเทศอิตาลีเป็นครั้งแรก และพบกับความเจริญงอกงามทางศิลปวัฒนธรรม ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติ รวมถึงวิวทิวทัศน์อันงดงามต่างจากบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าหน้าตาเหมือนกันที่มองแล้วจิตใจห่อเหี่ยวอย่างที่เธอจากมา

การเดินทางครั้งนั้นเองทำให้เธอเกิดความรู้สึกที่ชัดเจนขึ้นในการอยากพาตัวเองออกจากประเทศไทย

อิตาลี

“ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีจุดมุ่งหมายด้วย เราตื่นนอนแต่เช้าขึ้นรถเมล์มาทำงาน กลับถึงอพาร์ตเมนต์ก็สลบเพราะมลพิษ ระยะทางของออฟฟิศกับที่พักนั้นใกล้กันนิดเดียวแต่ต้องมาติดแหง็กกับที่เพราะรถติดประมาณสองชั่วโมง ไหนจะต้องสูดดมฝุ่นควันเข้าไปทุกวัน ถามตัวเองว่าเราทำเพื่ออะไร บวกกับการอยู่ตัวคนเดียวด้วย เทศกาลไหนก็อยู่ในกรุงเทพฯ มันมีความรู้สึกโดดเดี่ยว เคว้งคว้าง อยากหาอะไรบางอย่างให้ชีวิต”

นันธวรรณ์เริ่มเฝ้าคิดถึงการไปเรียนต่อต่างประเทศทั้งที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้เพราะต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่ถึงจะเป็นเรื่องยากแค่ไหน เธอก็มุ่งมั่นพยายามเก็บเงินหาทางขอทุนเพื่อไปเรียนต่อที่อิตาลีให้ได้ และในระหว่างนั้นเองที่เธอได้สมัครโปรแกรมแชต ICQ เพื่อหาเพื่อนคุยฝึกภาษา จนไปเจอกับชายชาวอิตาเลียนคนหนึ่งและตกลงคบหาดูใจกัน สองปีให้หลังเขาก็บินมาหาเธอถึงกรุงเทพฯ

อิตาลี

“หลังจากคุยกันเราก็ตัดสินใจทิ้งแล้วว่าไปกับคนนี้เถอะ เลยเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนั้นว่าถ้าเขามาก็จะกลับกับเขาเลย”

แน่นอน การทำอะไรแบบนี้ดูเป็นเรื่องเสี่ยงมากสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียว แต่เมื่อขบคิดทบทวนอย่างหนักแล้วเธอในตอนนั้นก็ไม่สามารถทนอยู่กับชีวิตแบบที่เป็นอยู่ได้อีกต่อไป ต่อให้เสี่ยงก็ต้องเสี่ยง “เพราะตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยเชื่อเลยว่าความสุขมีจริง คือเราอาจจะมีเรื่องดีใจแต่แวบหนึ่งมันจะหายไปแล้วกลับไปจมกับความทุกข์เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นไหนๆ แล้วก็ไปเถอะ มันจะแย่กว่านี้ก็คงไม่เป็นไร”

ความคิดนั้นทำให้นันธวรรณ์เลิกลังเล จัดการเก็บของ ลาออกจากงาน บอกลาเพื่อนๆ เพื่อโบยบินออกจากดินแดนไร้ความหวังที่มีชื่อว่าประเทศไทยไปสู่ดินแดนอีกฟากโลกอย่างอิตาลี โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเจอกับอะไรบ้าง

Arrival Time
สู่สวรรค์ที่อยากทำอะไรก็ได้ทำและไม่มีใครต่ำกว่าใคร

เพราะเคยมาเยือนอิตาลีในฐานะนักท่องเที่ยวแล้วครั้งหนึ่ง การมาเยือนในครั้งนี้ของเธอจึงให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไปในฐานะคนต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ที่นี่ ยังไม่นับความกังวลว่าครอบครัวของสามีจะให้การต้อนรับขับสู้เธอแบบไหนหรือต้องปรับตัวยังไง บทสนทนาหลังจากนี้จึงเป็นคล้ายการประมวลถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาของนันธวรรณ์ในดินแดนแห่งนี้

ความรู้สึกของก้าวแรกที่เหยียบอิตาลีครั้งที่สองในฐานะผู้มาอาศัยเป็นยังไง

มันไม่เหมือนครั้งแรกที่น่าตื่นเต้น เพราะเรามีความประหวั่นพรั่นพรึงว่าจะไปเจออะไร ครอบครัวเขาจะเป็นยังไง ยอมรับเราหรือเปล่า ก็กลัวๆ เพราะตอนที่มาอยู่คือปี 2542 ห่างจากตอนที่มาเที่ยวปี 2539 ประมาณ 3-4 ปี มุมมองของเราก็เปลี่ยนไป ตอนที่มาอิตาลีครั้งแรกเรายังไม่รู้อะไรเลย อินโนเซนต์ แต่ไม่กี่ปีต่อมาเรารู้แล้วว่าสายตาที่คนต่างชาติมองหญิงไทยเป็นยังไง ช่วงนั้นพัฒน์พงศ์ดังมากในหมู่ชาวต่างชาติ เราก็รู้สึกว่าเขาจะมองเราแบบนั้นหรือเปล่า กลัวเขาจะมองว่าเราเป็นแบบนั้น

อิตาลี

ความประทับใจแรกของคุณกับครอบครัวของสามีเป็นยังไงบ้าง

เราอยู่ที่เมืองเล็กๆ ใกล้เมืองฟลอเรนซ์ ในภาคกลาง ตอนนั้นสามียังอยู่กับพ่อแม่ เพราะคนอิตาเลียนถ้าเป็นผู้ชายยังไม่แต่งงานจะขึ้นชื่อว่าเป็นลูกแหง่ติดพ่อแม่ พอมาถึงบ้านเขาก็ปรากฏว่าเราโชคดีมาก ทุกคนค่อนข้างโอเคหมดเลย เขามีน้องสาวสองคนกับน้องชายอีกหนึ่งคน ซึ่งที่จริงน้องสาวไม่ค่อยไว้ใจเราเท่าไหร่ ทำนองว่ารู้จักกันแค่นิดเดียวก็มาอยู่ด้วยกันแล้วเหรอ อันที่จริงไม่มีใครในครอบครัวเขาเชื่อมั่นว่าเราจะคบกันจริงจังยืดยาว แต่ด้วยความที่แม่เขารักลูกมาก ลูกว่ายังไงก็ตามนั้น ถึงจะยังหวั่นๆ คิดว่าเราจะยังไงกันนะก็ตาม

วันหนึ่งแม่เขาก็มากระซิบกับเราว่าลูกเขาเป็นคนดี อย่าทำอะไรลูกเขานะ (หัวเราะ) ส่วนพ่อเขาก็เป็นพ่อที่ดี ทำทุกอย่างเพื่อลูก ถือว่าเราโชคดีที่มาตกอยู่ในครอบครัวที่ดี ซึ่งทุกคนอาจไม่ได้เจอแบบนี้

พอต้องไปอยู่กับครอบครัวคนอิตาลี คุณเจอคัลเจอร์ช็อกหรือเรื่องที่ต้องปรับตัวมากๆ บ้างหรือเปล่า

ไม่เชิงต้องปรับตัวมาก แค่นิสัยคนไทยกับคนยุโรปมันต่างกัน คนไทยเป็นคนไม่พูดอะไรตรงๆ ถ้าสมมุติมีคนมาถามว่าของชิ้นนี้เป็นยังไง ต่อให้น่าเกลียดเราก็จะไม่พูดว่าน่าเกลียดใช่ไหม แต่คนอิตาลีไม่ใช่แบบนั้น เขาจะตรงกว่าเราและพูดเสียงดัง แต่ถ้าคนไทยเสียงดังเราก็จะคิดว่าโมโหหรือเปล่า

ช่วงแรกเราร้องไห้บ่อยเหมือนกัน เพราะน้องสาวคนหนึ่งของสามีเป็นคนตรงมาก ไม่ชอบก็ไม่ชอบ ไม่ดีก็บอกไม่ดี เราเฮิร์ต ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน ปรับตัวยังไม่ค่อยได้ แล้วช่วงนั้นอิตาลียังไม่ค่อยยอมรับชาวต่างชาติ มีคนต่างชาติในอิตาลีน้อยโดยเฉพาะชาวเอเชีย ถ้าเป็นชาวเอเชียเขาจะมองว่าเป็นคนจีน ซึ่งคนอิตาลีสมัยนั้นจะค่อนข้างแบ่งแยกเชื้อชาติ อย่างไปซื้อของที่เคาน์เตอร์เขาจะพูดกับเราไม่ดีเท่ากับที่พูดกับคนในประเทศเขา เราก็จะมีความรู้สึกว่าถ้ายังอยู่ในประเทศไทยคงไม่ได้เจออะไรแบบนี้ แต่หลังๆ ไม่เป็นแบบตอนนั้นแล้ว อิตาลีเหมือนจะเปิดรับชาวต่างชาติมากขึ้น ตอนนี้เขาเริ่มดูออกว่าใครเป็นคนไทยคนจีน ไม่เหมารวมแบบเมื่อก่อน

อิตาลี

จากสวรรค์ของเราตอนมาท่องเที่ยว พอต้องมาเป็นผู้อาศัยคุณเจอความไม่สวยงามของอิตาลีบ้างไหม

ยังไม่เจออะไรที่ไม่สวยเลย จริงๆ คนอิตาลีเป็นคนไนซ์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุแถวบ้านนอก เขาจะคุยเก่ง อัธยาศัยดี ไม่ถือตัว ถ้ารับได้ว่าเขาเป็นคนโผงผาง พูดจาตรงไปตรงมาจะไม่มีปัญหา เราพูดตรงๆ เขาก็ไม่รู้สึกอะไร คิดว่ามันอยู่ที่ตัวเรามากกว่า เพราะเรามาจากสังคมไทยที่อ่อนน้อม เจอผู้ใหญ่จะไม่กล้าเถียง เพราะถ้าเถียงจะถูกมองว่าไม่มีสัมมาคารวะ เราติดนิสัยนั้นมา พอมาอยู่ที่นี่เราก็ค่ะๆ ได้ค่ะ ไม่เป็นไรค่ะ เขาก็ไม่รู้เรื่อง ตอบแค่ได้ๆ มันไม่ได้ เขาดูไม่ออกว่าเราจะเอายังไง

แต่ที่ร้องไห้เพราะเราเป็นคนเซนซิทีฟมาก นิดหน่อยก็ร้อง สมมติทำอะไรแล้วเขาบอกไม่สวย เราก็จะน้อยใจ ตอนอยู่เมืองไทยไม่เคยเจอว่าเวลาทำอะไรแล้วคนจะบอกว่าไม่สวย อย่างดีที่สุดเขาจะบอกทางอ้อม อีกอย่างเราติดมาว่าต้องมีสัมมาคารวะ โดยเฉพาะตอนทำงานกับผู้ใหญ่ที่สภาอุตสาหกรรม ต้องพูดขาเสียงอ่อนเสียงหวานไพเราะ พอมาอยู่ที่นี่เราต้องปรับเปลี่ยนการรับรู้ของเรา

แปลว่าคุณไม่เจอประสบการณ์แย่ๆ เกี่ยวกับอิตาลีเลยเหรอ

(นิ่งคิด) เรื่องแย่ๆ ไม่มี ส่วนใหญ่จะเจอเรื่องคาดไม่ถึงในทางที่ดี อย่างตอนมาถึงครั้งแรกสามีก็เอาชื่อเราไปลงในสาธารณสุขได้รักษาฟรีทันที เป็นไข้ไม่สบายโทรบอกคุณหมอประจำบ้านก็มาตรวจถึงบ้าน มีผ่าไส้ติ่งก็เรียกรถพยาบาลมารับไปโรงพยาบาล ทุกอย่างฟรีหมดเลย มันเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงในสิ่งที่ดีมากกว่า อะไรแบบนี้มันหาไม่ได้ที่ไทย

จำได้ว่าตอนอยู่กับสามีใหม่ๆ จะชอบจ้ำจี้จ้ำไชว่าต้องเก็บเงินไว้นะ ประหยัด อย่าใช้ฟุ่มเฟือย เพราะตอนอยู่เมืองไทยคนไทยจะห่วงว่าเดี๋ยวตอนแก่หรือเจ็บป่วยจะไม่มีเงินรักษาพยาบาล  ซึ่งสามีก็งงกับความคิดของเรา เขาบอกว่าที่นี่ไปโรงพยาบาลก็ไม่ต้องจ่ายเงิน แก่ไปก็ได้เงินบำเหน็จบำนาญจากรัฐ ไม่เห็นต้องกังวลอะไรขนาดนั้น แต่ที่ประเทศเรามันไม่ใช่ไง (หัวเราะ)

อิตาลี

แล้วคุณทำงานหาเงินเลี้ยงชีพยังไง

ตอนแรกที่มาอยู่ยังไม่ได้ทำอะไร ก็แปลหนังสือให้สำนักพิมพ์กับนิตยสารที่ไทย จนมีวันที่เราไปงานเลี้ยงของบริษัทสามีที่เป็นบริษัทไอที เจ้านายเขาก็ชวนเราไปทำงานด้วยเป็นฝ่ายกรอกข้อมูลในเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่งเราพอทำได้ ก็เลยทำงานในบริษัทนั้นอยู่ 2-3 ปี และได้แปลหนังสือออกกับสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนชื่อ ‘ตาผมเป็นต้นเชอร์รี่’ ระหว่างนั้นก็ตัดสินใจอยู่ว่าจะไปเรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ดีไหมเพราะเราชอบและสนใจ แต่แล้ววันหนึ่งอาจารย์ที่เคยสอนเราเขาได้อ่านหนังสือเล่มนั้นแล้วก็ทักมาบอกเราว่าคุณควรทำสิ่งนี้นะ นี่คืองานของคุณ เราก็เลยคิดทบทวน

ตอนนั้นนอกจากงานไอทีที่ไม่ได้ทำเต็มตัว เราชอบปลูกผักปลูกต้นไม้ที่หลังบ้าน ทำแบบเอาจริงเอาจัง ค้นคว้าว่าผักนี้ใช้ปุ๋ยเท่าไหร่ ต้องปลูกยังไง ฝันว่าอยากมีฟาร์มออร์แกนิก ปลูกผักขาย ซึ่งที่จริงเราชอบทางนั้นมากกว่าไอทีด้วย เพราะเป็นงานที่ใช้มือทำแล้วมันสนุก เพลิน และเห็นผล

ทีนี้นอกจากครูที่ทักมา ยังมีคุณยายแถวบ้านที่จู่ๆ ก็ถามเราที่กำลังทำสวนอยู่ว่าเรียนจบอะไรมา พอตอบไปว่าเรียนจบอักษรฯ เขาก็พูดว่าน่าเสียดายนะ ซึ่งพอฟังแล้วเราก็กลับมาคิดกับตัวเองว่าหรือมันคงน่าเสียดายจริงๆ ถ้าจะไม่ทำงานด้านนี้ต่อ อีกอย่างมันมีอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบข้างในคือเราอยู่อิตาลีแล้วชอบอิตาลีมาก ชอบตลอด รู้สึกรักประเทศนี้ รักคนอิตาลี เลยอยากทำความดีให้แผ่นดินที่อยู่ (หัวเราะ)

เพราะอิตาลีให้ชีวิตคุณ คุณจึงอยากตอบแทน

ใช่ รู้สึกว่าเรามีความสุข เพราะตั้งแต่เกิดจนอายุ 29 ปีที่ไทย เราคิดว่าความสุขไม่มีอยู่จริง แต่พอหลังจากผ่านช่วงช็อกช่วงแรกของที่นี่ได้ เรามีความสุข เลยอยากทำอะไรเพื่อตอบแทนบ้านที่เขาอุตส่าห์ต้อนรับเรา ทำให้ชีวิตเรามีความสุข ก็คิดว่าแปลงานวรรณกรรมดูเป็นการตอบแทนอิตาลีมากกว่าปลูกผักขาย อีกอย่างเราก็รักประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่ทำให้ตัวเราเป็นตัวเราขึ้นมาไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม คิดว่าถ้าทำงานแปลก็ตอบแทนได้ทั้งสองประเทศ

นี่เลยเป็นที่มาของการที่คุณทำสำนักพิมพ์อ่านอิตาลีใช่ไหม

ไม่เชิง ทีแรกจะแปลงานอย่างเดียว แต่ทีนี้เสนองานแปลไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ แล้วยากมากกว่าเขาจะรับ เขาจะรับงานที่แน่ใจว่าขายดีเท่านั้น หรือบางเล่มตอบรับนะแต่ให้รอไปอีก 4 ปี ก็เลยมาคิดๆ ว่าถ้ามันขอยากขนาดนี้ทำเองดีกว่าไหม

สรุปคืออ่านอิตาลีเกิดขึ้นเพราะต้องการพิมพ์งานที่เสนอสำนักพิมพ์อื่นแล้วไม่ผ่าน ก็เลยเอามาพิมพ์เอง เริ่มต้นด้วยเล่มเรื่อง ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์ (Sei personaggi in cerca d’autore) โดย Luigi Pirandello เพราะไม่ต้องซื้อลิขสิทธิ์ ส่วนเล่มอื่นๆ ก็พิมพ์เพราะมั่นใจว่าถ้าเสนอสำนักพิมพ์อื่นไปยังไงเขาก็ไม่รับแน่ๆ ซึ่งปรากฏว่าพอทำแล้วมันอยู่ได้ มีคนอ่าน แม้จะไม่ได้เงินกลับมาขนาดนั้น แต่มันก็มีเล่มที่ขายได้เยอะช่วยเล่มที่ขายไม่ค่อยได้ ก็เลยอยู่มาเรื่อยๆ และที่ได้มากกว่าเงินคือคนชอบ พอมีคนอ่านชอบเราก็รู้สึกว่ามันมีคนชอบนะแต่แค่ไม่มีคนทำออกไปเท่านั้นเอง

พอบอกได้ไหมว่าอะไรคือความแตกต่างของวรรณกรรมไทยกับวรรณกรรมอิตาลีสำหรับคุณ

เราซื้อวรรณกรรมไทยมาอ่านเยอะเหมือนกันนะ แต่อ่านไม่ค่อยจบ ถ้าจะเอาให้จบต้องใช้ความพยายามระดับหนึ่ง เพราะมันไม่ดึงดูด พล็อตส่วนใหญ่เหมือนเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว กับค่านิยมเดิมๆ ชุดความคิดเดิมๆ ประเด็นเดิมๆ เปรียบเทียบกับวรรณกรรมอิตาลีจะค่อนข้างแตกต่าง เช่นถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่ง อาจมีนักเขียนหลายคนเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงนั้น แต่ว่าแต่ละคนจะเขียนด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน เขาใส่เรื่องของปัจเจกลงไปในบริบททางประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจมาก

หลังจากอยู่ไทยและอิตาลีมาอย่างละครึ่งชีวิต คุณมองเห็นคุณภาพชีวิตประชากรของสองดินแดนนี้ต่างกันยังไง

ถ้าเป็นช่วงโควิด-19 ด้วยความที่เราไม่ได้ออกจากบ้านเท่าไหร่ก็เลยไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่ก็มีผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลเขาให้เงินช่วยเหลือ อีกอย่างพื้นฐานคุณภาพชีวิตคนอิตาลีก็ไม่ถึงกับหาเช้ากินค่ำแบบที่ไทย คนไทยถ้าหาเงินไม่ได้คือไม่รู้จะกินอะไรเลย แต่มาตรฐานชีวิตคนที่นี่มันไม่ใช่แบบนั้น ถึงได้รับผลกระทบแต่ก็ได้รับการซัพพอร์ตจากรัฐบาล ประชาชนก็บ่นก็ด่ากันนะแต่ไม่ถึงขั้นสิ้นหวังมาก

ถ้าสมมติมีการแจ้งว่าพรุ่งนี้แถวไหนจะโซนแดง วันนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตของแถวนั้นคนจะแน่น เพราะคนกลัวไม่มีอะไรกิน นั่นแปลว่าเขามีเงินจับจ่ายใช้สอย จริงอยู่ว่าคนไทยก็แห่ไปซูเปอร์มาร์เก็ตเหมือนกันแต่มันเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่มีเงินไปได้ ซึ่งจะมีคนอีกกลุ่มที่ไปไม่ได้ แต่ที่นี่ส่วนใหญ่ก็ไปซื้อของมากักตุนได้ เพราะฐานะความเป็นอยู่ก็ใกล้เคียงกัน

เราเคยได้ยินคนพูดว่าคนไทยที่ย้ายไปอยู่ต่างประเทศจะได้เป็นพลเมืองชั้นสอง แต่สำหรับอิตาลีเราไม่รู้สึกแบบนั้น เพราะคนเท่ากันทุกคนจริงๆ ตอนกลับไทยต่างหากที่รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสองหรือสามสี่ด้วยซ้ำ เพราะสังคมเราแบ่งแยกชัดเจนมากว่าใครคือชนชั้นหนึ่ง แล้วชนชั้นต่อมาคือไฮโซ จากนั้นคือระดับคนรวย คนทำงานออฟฟิศ แล้วค่อยคนหาเช้ากินค่ำ มันแตกต่างชัดเจน

อิตาลี

อย่างที่อิตาลีถ้าอยู่นอกเมืองรถเมล์จะมีน้อย ไม่เหมือนกรุงโรมหรือมิลานที่ขนส่งสาธารณะทั่วถึง ทุกบ้านจึงต้องมีรถเอง คันเดียวบ้างสองสามคันบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะใช้รถธรรมดาๆ กันหมด คันเล็กๆ ขับขี่สะดวก จริงอยู่ว่าถึงจะมีรถคันโตๆ บ้าง แต่มันไม่เหมือนเวลาอยู่ไทยที่เห็นว่าคนนั้นใช้รถเบนซ์คันเบอเริ่ม เป็นความต้องการที่จะมีที่ทางเรียกความนับถือ เพราะคนไทยชอบซื้อรถหรูๆ เพื่อบอกระดับของตัวเอง แต่ที่นี่เขาไม่ได้สนใจวัดค่ากันที่รถขนาดนั้น เขาจะสนใจที่ทำงานแล้วได้ไปเที่ยวมากกว่า

ในฐานะที่เราเป็นเด็กบ้านนอก ชนชั้นรากหญ้ามาก่อน เราจะเห็นชัดมากเวลากลับเมืองไทย ตอนอยู่กรุงเทพฯ เรารู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสองมากกว่าตอนอยู่ต่างประเทศอีกนะ แต่สำหรับคนรวยถ้ามาต่างประเทศเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสองก็ได้เพราะเขาเคยเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งในไทยมาก่อน พอมาอยู่ที่นี่ก็เป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ไม่มีคนมารับใช้ก้มหัว ต่อให้มีเงินจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดหรือทำกับข้าวให้ แต่สถานะเขาก็เท่ากับเรา คนทุกคนที่นี่มันเท่ากัน มีแค่อาชีพที่ต่างกันแต่ไม่มีสถานะสูงส่ง-ต่ำกว่า

อิตาลี

สุดท้ายนี้คุณคิดถึงประเทศไทยบ้างไหม อยากกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่หรือเปล่า

เราคิดถึงตลาดโต้รุ่ง โจ๊กโต้รุ่ง ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยวเรือ อะไรพวกนี้มากกว่า สรุปคือคิดถึงอาหารไทย (หัวเราะ) จริงๆ คนไทยที่มาอยู่ต่างประเทศยังไงๆ ก็น่าจะมีความรู้สึกว่าเราเป็นคนต่างชาติ ไม่ใช่คนประเทศเขา ต่อให้อยู่นานลึกๆ เราก็รู้สึกว่าเรายังเป็นต่างชาติ เดินไปไหนก็จะไม่เหมือนเดินกลางตลาดหรือตรอกซอกซอยในเมืองไทยที่กลมกลืนไปกับสิ่งรอบกาย เพราะนั่นคือบ้านของเรา คุณยายที่เดินสวนกันจะมีสายสัมพันธ์ที่เรา belong to แต่ที่นี่ไม่ใช่ ถึงจะอยู่ดีสุขสบาย เราก็ยังเป็นต่างชาติอยู่ดี

ที่จริงเราอยากกลับไปอยู่บ้าน ท่ามกลางสิ่งที่เรา belong to นะ เพราะพออยู่ต่างประเทศนานๆ เราจะรู้สึกถวิลหาบ้านเกิด เคยคิดเหมือนกันว่าอยากกลับไปอยู่เมืองไทย อยากปลูกบ้านหลังเล็กๆ ท่ามกลางคนไทย ตื่นขึ้นมาถามคุณยายข้างบ้านว่าวันนี้แกงอะไร เพราะถึงจะไม่รู้จักกันแต่เราก็ไม่รู้สึกว่าอีกฝั่งเป็นคนแปลกหน้า

อิตาลี

แต่พอได้กลับไทยเมื่อปีที่แล้ว เราไปเห็นสิ่งที่ไม่ได้ฝัน เห็นกรุงเทพฯ ที่มีแต่สิ่งก่อสร้างผุดขึ้นๆ และที่กำลังก่อสร้างอยู่ เห็นห้างใหญ่โตความหรูหรา แต่ขณะเดียวกันพอเดินเข้าไปในตรอกซอกซอยจะเห็นความสกปรก ความแออัด น้ำคลองที่เหม็นจนคนข้างๆ ต้องปิดจมูก เห็นบ้านเรือนใต้ทางด่วนที่ไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่กันได้ยังไง เรารู้สึกหดหู่และสงสาร ความรู้สึกที่เห็นมันกระทบเรา ต่อให้มีเงิน ไปอยู่ในหมู่บ้านที่ดี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ มีมุมนี้ ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันทำให้เราเปลี่ยนใจ ทำให้รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติแม้ว่าเราจะวาดฝันไว้ ตัดสินใจแล้วว่าอย่าดีกว่า อยู่ที่ที่เราอยู่ดีกว่า ถ้าคิดถึงก็กลับไปเที่ยวให้หายคิดถึง แล้วกลับมาอยู่ในที่ที่เราอยู่

เพราะมันมีความเสถียรในวิถีชีวิต ชีวิตเราไม่ได้ไปแขวนกับอะไรสักอย่าง ตอนกลับไทยก็ถามพี่ที่รู้จักว่าถ้าไม่สบายจะไปที่ไหน พี่เขาก็ตอบว่าไปโรงพยาบาลใกล้ๆ แต่ด้วยความที่เราอยู่ที่อิตาลีจนชิน ถ้าไม่สบายอย่างเป็นไข้สูง ลุกจากเตียงไม่ขึ้น ก็โทรศัพท์เรียกหมอประจำบ้านมาตรวจถึงบ้านได้ มันสะดวกและชัวร์มากว่าจะถึงมือหมอในเวลารวดเร็ว เพราะรถไม่ติดในนอกเมือง แต่ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในเมืองเวลารถพยาบาลผ่านถนนก็เปิดให้อยู่ดี ซึ่งในกรุงเทพฯ ต่อให้รถพยาบาลเปิดหวอดังแค่ไหนเราก็ยังไม่แน่ใจว่าถนนจะเปิดให้ไหม เพราะรถมันมากขนาดนั้น จะไปถึงทันหรือเปล่า ชีวิตมันหมิ่นเหม่ไปหมด

Good to Declare

เพราะการไปใช้ชีวิตไม่ใช่แค่การไปท่องเที่ยวไม่นานก็กลับ ทุกอย่างย่อมมีความคาดหวังและความเป็นจริงที่ไม่ตรงกัน เราจึงชวนนันธวรรณ์มาให้คำแนะนำการใช้ชีวิตในอิตาลีแก่ผู้ที่สนใจ

เรื่องที่คนอาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับอิตาลี

เคยได้ยินคนบอกว่าอิตาลีเป็นประเทศโลกที่สาม จริงๆ แล้วอิตาลีแค่เป็นประเทศอนุรักษนิยมในแง่เทคโนโลยีมากกว่า เพราะกว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาได้มันไม่เหมือนประเทศไทย ที่อิตาลีช้ามากกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละอย่าง กว่าจะสร้างอะไรสักอย่างได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างที่ไทยถ้าจะเปิดร้านที่ไหนก็ทำได้ใช่ไหม แต่ที่นี่ต้องดูก่อนว่าจะไปทำลายวิวทิวทัศน์อะไรหรือเปล่า กว่าจะสร้างบ้าน ต่อเติมระเบียงได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องขออนุญาตก่อน เขาค่อนข้างอนุรักษนิยมเพราะอยากรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างตึกรามบ้านช่องเก่าๆ อย่างที่มิลานขยายเมืองไปรวดเร็วก็จริงแต่เขาจะไม่ขยายเมืองในส่วนเมืองเก่า เพราะมีโบราณวัตถุและโบสถ์มากมาย เขาจะคงไว้มากกว่า

เรื่องที่ต้องเตรียมใจไว้ก่อนมาอยู่อิตาลี

คนอิตาลีไม่พูดภาษาอังกฤษ นอกจากจะไปทำงานในออฟฟิศฝั่งเมืองหลวงอย่างกรุงโรมกับมิลาน แต่สุดท้ายต่อให้ออกมาซื้อของและอาหารกินก็ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษอยู่ดี

อิตาลี

อิตาลีเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรของคุณไปบ้าง

ทำให้เป็นคนขี้เกียจเพราะอยู่สบาย ตื่นเช้ามาเปิดหน้าต่างสูดอากาศสดชื่น ไม่ต้องรีบร้อน (หัวเราะ) อิตาลีทำให้ความอดทนเราน้อยลง เพราะเมื่อก่อนต้องอดทนกับรถติดในกรุงเทพฯ กับระบบราชการที่ชักช้าและปฏิบัติต่อเราเหมือนเป็นอะไรไม่รู้ แต่มาอยู่ที่นี่เราจะไม่มีความอดทนแบบนั้น ถ้าเขาปฏิบัติต่อเราไม่ดีเราจะโวยวาย จะแสดงออกมากขึ้น มีปฏิกิริยาโต้ตอบมากขึ้น เก็บไว้น้อยลง ไม่หวานอมขมกลืน ทำให้เชื่อมั่น เคารพ และเห็นค่าในตัวเองมากขึ้น

คิดว่าอิตาลีเหมาะกับคนแบบไหน

คนที่เป็นศิลปิน มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการหาแรงบันดาลใจและความสงบ ไม่ได้มาเพื่อหวังว่าจะทะเยอทะยาน ก้าวหน้าทางอาชีพ เพราะอิตาลีไม่น่ามีอะไรให้สำหรับคนที่อยากแข่งขัน คนส่วนใหญ่เรียนใกล้บ้าน ไม่ได้สอบแข่งขันตั้งแต่อนุบาล การแข่งขันน้อยมากจนทำให้คนขี้เกียจ นักเรียนไปโรงเรียนเช้าถึงบ่าย ไม่มีเรียนพิเศษ ไม่ต้องทะเยอทะยานแข่งกันเข้าโรงเรียนดีๆ ที่นี่ไม่ค่อยส่งเสริมคนที่อยากพัฒนาตัวเองในด้านนี้ ต่างจากคนเยอรมัน อย่างครูอิตาลีจะพาเด็กไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ แต่ที่เยอรมันจะสนุกกว่า เขาจะส่งเสริมทางเทคโนโลยี มีความอยากคิดค้น ดังนั้นคนอิตาลีที่อยากเก่งจะไปเรียนต่างประเทศ

สิ่งที่เจอในอิตาลีและอยากให้ประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง

ย้อนไปถึงความวิตกกังวลแรกตอนมาถึงที่นี่คือ อยากให้คนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ทุกคน ไม่ต้องวิตกกังวลว่าป่วยแล้วไปรักษาที่ไหน ต้องเก็บเงินมากมายเท่าไหร่ถึงจะรักษาโรคที่ตัวเองเป็นได้ ถ้ามีสวัสดิการตรงนี้มันจะทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยอยู่อย่างสบายใจมากขึ้น เพราะถึงเจ็บป่วยขึ้นมาไม่มีเงิน รัฐก็ยังช่วยเรา พอสบายใจด้านนี้เราจะหมดกังวลไปเรื่องหนึ่งแล้วจะคิดสร้างสรรค์จินตนาการได้เยอะแยะมากมาย คนจะอยากทำอาชีพอื่น ไม่ต้องอยากเป็นหมอทุกคน ใครอยากทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองอยากทำ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีอนาคตไหม


ติดตามวรรณกรรมแปลของอ่านอิตาลีได้ที่ อ่านอิตาลี

AUTHOR