19 ปีของ ‘เจ๊ป้อง ไกลบ้าน’ ในฝรั่งเศส ดินแดนที่ให้ค่ากับพลเมืองและสอนให้รู้จักตั้งคำถาม

กับแฟนคลับรายการท่องเที่ยวเคล้าประวัติศาสตร์แสนสนุกนาม ‘ไกลบ้าน’ คงไม่ต้องพูดให้มากความว่า เจ๊ป้อง ไกลบ้าน คือใคร แต่กับหลายคนที่ไม่รู้จักรายการท่องเที่ยวที่ว่าแต่สนใจย้ายประเทศที่อยู่อาศัย ขอแนะนำแบบย่นย่อว่า เจ๊ป้องหรือ ป้อง–ชมะนันท์ จันทร์ศรี คือคนไทยที่อาศัยในประเทศฝรั่งเศสมากว่า 19 ปี โดยไม่ได้เร่งรีบขอสัญชาติทันทีเมื่อไปถึง แต่เฝ้ารอจนวันหนึ่งที่รู้สึกพร้อมที่จะเป็นพลเมืองของสังคมนี้

“ไม่ต้องโฟกัสว่าจะย้ายไปประเทศไหน แต่อยากให้มองว่าจะเข้ากับวัฒนธรรมของประเทศไหนได้มากกว่า เพราะสำหรับเรา การเปลี่ยนสัญชาติเป็นเรื่องสำคัญและควรจะมีคุณค่า ไม่ควรจะเปลี่ยนเพราะหวังอยากได้สวัสดิการอะไร แต่ควรจะเปลี่ยนเมื่อรู้สึกว่าเราเป็นสมาชิกของเขาแล้ว”

จากวันแรกที่บินลัดฟ้าไปเรียนต่อปริญญาโทและเตรียมปริญญาเอกด้านวรรณคดีสมัยใหม่ (จิตวิเคราะห์) ณ Université Paris 8 เพื่อหวังกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จบมา สู่วันที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานในปารีสกับคนรักและเบนสายการเรียนไปด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศเพื่อให้หางานทำได้ง่ายๆ จนทำงานด้าน supply chain มากว่า 12 ปี เราสงสัยว่า เจ๊ป้อง ไกลบ้านที่คุ้นเคยกับฝรั่งเศสอยู่แล้วต้องปรับตัวในบ้านใหม่บ้างไหม

ในซีรีส์ One Way Ticket ตอนนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนสนทนาข้ามซีกโลกกับเจ๊ป้องถึงเรื่องราวคราวย้ายประเทศเมื่อ 19 ปีที่แล้ว คัลเจอร์ช็อกที่ทำเอาเจ๊ป้องที่ดูสนุกสนานเฮฮาถึงกับซึมเศร้า สู่วันที่ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนความคิดเรื่องการเป็นพลเมืองและสวัสดิการดีๆ ของเจ๊ป้องไปตลอดกาล  เจ๊ป้อง ไกลบ้าน

Departure Time
‘ฝรั่งเศส’ ประเทศที่ผูกพันตั้งแต่สมัย ม.ต้น

หากนับเพียงตอนที่มาเรียนและตัดสินใจอาศัยที่ฝรั่งเศสถาวร 19 ปีคือระยะเวลาทั้งหมด แต่หากถามว่าเจ๊ป้องผูกพันกับฝรั่งเศสมานานมากแค่ไหน คำตอบคือตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้น ม.3 ครั้งที่เธอยังเป็นสมาชิกชมรมภาษาฝรั่งเศส จนถึงวันนี้ก็ 27 ปีแล้ว 

“ความคิดที่จะมาอยู่ฝรั่งเศสตอนนั้นก็เป็นความคิดเด็กๆ ว่าฉันเรียนภาษาฝรั่งเศสแล้วก็ต้องไปนั่งจิบกาแฟที่หอไอเฟล (หัวเราะ) แต่ไม่ได้คิดจะย้ายมาอยู่จริงจัง” 

เมื่อเราถามถึงช่วงชีวิตวัยแรกแย้ม เจ๊ป้องเล่าแล้วย้อนอดีตให้ฟังต่อว่า ตั้งแต่เด็กเธอเป็นคนชอบเรียนภาษาอยู่แล้ว ในสมัยที่ภาษาที่สามยังมีให้เลือกไม่มาก ภาษาฝรั่งเศสจึงเป็นภาษาเดียวที่น่าไปต่อ เธอจึงตัดสินใจเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศสที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและเรียนต่อสายการเรียนเดิมที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ๊ป้อง ไกลบ้าน

“ภาษามันเปิดโลก” เจ๊ป้องบอกอย่างนั้น เมื่อเรียนจบปริญญาตรีเธอทำงานที่ประเทศไทยอยู่ 1 ปี วนเวียนไปเที่ยวยุโรปเพื่อดูมหาวิทยาลัยอยู่ 2 เดือน ก่อนจะได้ทุนไปทำวิจัยที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และค้นพบว่า

“เราอยู่ไม่ได้ เมืองมันเงียบเกิน ที่นั่นมันธรรมชาติมากแต่เราชอบความเป็นเมือง จำได้ว่านั่งรถเข้าปารีสทุกเดือนเลย พอจะเรียนต่อปริญญาโทช่วงปี 2545 เลยไม่เรียนที่สวิตเซอร์แลนด์แต่ย้ายไปเรียนด้านวรรณคดีสมัยใหม่ (จิตวิเคราะห์) ที่ Université Paris 8 จะได้ไม่ต้องเสียเงินเดินทางเข้าปารีสบ่อยๆ” เธอหัวเราะ 

ช่วงแรกของการเป็นนักเรียนนอก เจ๊ป้องยังคงติดต่อกับอาจารย์ที่คณะอักษรฯ จุฬาฯ อยู่เรื่อยๆ เพื่อถามว่าพอจะมีตำแหน่งอาจารย์ให้เข้าสอนหรือเปล่า แต่ความฝันที่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อเจ๊ป้องเรียนจบเตรียมปริญญาเอก

“ตอนเรียนปริญญาโทเราเรียนด้วยเงินตัวเอง แต่ตอนเรียนเตรียมปริญญาเอกเราได้ทุน พอจะต้องชิงทุนเรียนต่อปริญญาเอกก็เป็นช่วงที่ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน (หัวเราะ) เราคุยกับแฟนที่คบกันตั้งแต่อยู่ไทยแต่เพิ่งจริงจังตอนมาเรียนที่ปารีสว่าความสัมพันธ์ของเราจะเป็นยังไงต่อ 

“ถ้าจะจริงจังเราก็คงอยู่ที่ปารีสและจดทะเบียนสมรสกับเขาซึ่งหมายความว่าเราคงไม่เรียนต่อปริญญาเอกเพราะเสียดายความรู้และอยากให้คนที่จะได้กลับไปทำประโยชน์ที่ไทยได้ทุนไปมากกว่า เลยต้องวางแผนชีวิตและสายงานใหม่ทั้งหมด”

เมื่อตัดสินใจแน่วแน่ว่าต่อจากนี้ฝรั่งเศสคือประเทศที่จะอยู่อาศัย จึงบอกกับที่บ้านว่าอนาคตจะเปลี่ยนไป แม้พ่อจะไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าอยู่ประเทศไทยนั้นสบายที่สุด แต่แม่ผู้ที่เจ๊ป้องสนิทสนมด้วยสนับสนุนเต็มที่

“แม่บอกพ่อว่าชีวิตของใครก็ต้องจัดการเอง ถ้ามีความสุขก็ทำไป ไม่ไหวก็กลับ ไม่เห็นจะเป็นปัญหา เขายังบอกด้วยนะว่าพ่อเองก็เป็นคนนครสวรรค์แต่ยังมาอยู่กรุงเทพฯ ไม่กลับไปอยู่กับปู่-ย่า แล้วจะมาเรียกร้องอะไรจากลูก อาจเพราะแม่เราโตที่กรุงเทพฯ แล้วต้องเลี้ยงดูตา-ยายจนแก่ เขาคงไม่อยากให้บั้นปลายชีวิตของลูกต้องมาติดกับดักนี้”

Arrival Time
สู่ความเป็นพลเมืองฝรั่งเศสที่สอนให้รู้จักคำว่า
‘สมาชิกของสังคม

หลังตัดสินใจหยุดความฝันที่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้วเปลี่ยนสถานะจากนักเรียนเป็นผู้อยู่อาศัยโดยที่ยังไม่รู้ว่าจะได้สัญชาติหรือไม่ ชีวิตของเจ๊ป้องจะเป็นยังไง สุข ทุกข์ และพร้อมเปลี่ยนสัญชาติ ณ ตอนไหน บทสนทนาข้ามประเทศด้านล่างนี้มีคำตอบ

ช่วงที่ยังมีสถานะเป็นนักเรียนปริญญาโทและเตรียมเอก ชีวิตคุณเป็นยังไงบ้าง

ตอนยังมีสถานะเป็นนักเรียนมันไม่ได้ลำบากนะ เรียกว่าสบายในระดับหนึ่ง เพราะวันๆ ก็มีแค่เรียนกับเข้าห้องสมุด ถ้ามีปัญหาก็แค่เรื่องภาษาที่ถึงแม้จะเรียนด้านนี้มาแต่ก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน 

พอตัดสินใจไม่เรียนต่อด้านวรรณคดีและไม่กลับไทยแล้ว คุณทำยังไงต่อกับชีวิต

เราเป็นคนชอบวางแผน คือจะต้องมีแผนเอและบีอยู่เสมอกับทุกเรื่อง เราเลยไปปรึกษาศูนย์แนะแนวสำหรับนักเรียนว่าฉันจบวรรณคดีมาแล้วไปทำอะไรได้บ้าง ด้วยความที่ตอนนั้นยังไม่ได้สัญชาติฝรั่งเศส อาชีพแนวๆ บรรณารักษ์หรืออะไรก็ตามที่ข้องเกี่ยวกับรัฐคือตัดไปได้เลย เพราะคนทำงานต้องมีสถานะเป็นข้าราชการซึ่งต้องมีสัญชาติฝรั่งเศสด้วย แต่นี่คือฝรั่งเศสสมัยที่ยังไม่ได้เปิดประเทศขนาดนี้นะ

เวลานั้นเราจึงมีตัวเลือกการทำงานแค่ 2 ทางคือสายอาชีพหรือสายวิชาการ ตอนแรกสนใจเรียนทำเสื้อผ้าแต่ค่าเรียนต่อด้านนี้มันแพงมาก ถ้าเราจบมาแล้วฝีมือไม่ดี เงินเดือนก็จะเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ เลยเลือกเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ในโรงเรียนเอกชนด้านธุรกิจที่อันดับดีๆ หน่อยต่ออีก 2 ปี เพราะมองว่าทุกบริษัทคงต้องการสายอาชีพนี้อยู่แล้ว

จากสายมนุษยฯ มาสู่สายคำนวณ ต้องปรับตัวเยอะแค่ไหน 

มันซัฟเฟอร์มาก (เน้นเสียง) ตอนแรกที่สมัครเรียนก็คิดแค่ว่าหางานง่ายแต่พอเรียนจริงๆ ถึงจำความรู้สึกที่ไม่ชอบเลขได้ แล้วยิ่งระบบโรงเรียนที่เรียนอยู่ค่อนข้างเก่า เขาจะบอกคะแนนโดยไล่จากคะแนนน้อยสุดไปมากสุดโดยที่ไม่มีการปิดชื่อหรือให้ดูคะแนนแยก ซึ่งเราก็เป็นคนที่ได้ 2/10 แต่มันก็ดีตรงที่อยากจะทำให้ดีขึ้น โชคดีที่แฟนจบวิศวะมาเขาเลยติวให้เรา

ถามว่าทำไมท้อขนาดนั้นถึงยังเรียนต่อเพราะค่าเรียนมันแพงมาก (หัวเราะ) ถ้าเรียนระบบรัฐบาลอย่างตอนปริญญาโทและเตรียมปริญญาเอก ค่าเทอมตกอยู่ที่ 150 ยูโรหรือ 5,000 บาทต่อปีเอง แต่พอเรียนโรงเรียนเอกชนเฉพาะทางแบบนี้ ค่าเทอมมันกระโดดไปที่ 10,000 ยูโร หรือประมาณ 400,000 บาท ดังนั้นยังไงก็ต้องได้ปริญญาใบนี้

แล้วการเรียนสายนี้ทำให้คุณหางานทำง่ายจริงไหม

เราก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้นแต่โชคดีที่งานแรกที่ได้มันคืองานด้าน supply chain ที่เขาต้องการคนที่พออ่านภาษาเยอรมันได้ เราพูดไม่ได้แต่พอจะอ่านได้เลยได้งานไป พองานต่อๆ มาตำแหน่งนี้มันต้องการคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้บวกกับโลกการทำงานของคนฝรั่งเศสคือโลกของผู้เชี่ยวชาญ เขาไม่ชอบให้เปลี่ยนสายงานบ่อยๆ เราเลยทำงานด้าน supply chain มาตลอด 

อย่างตอนที่อยากเปลี่ยนงานจากการสั่งซื้อสารเคมีในบริษัท Johnson & Johnson ไปเป็นแบบอื่น เราก็เปลี่ยนไม่ได้เพราะมันจะมีงานด้านสารเคมีเข้ามาหาเราตลอด ทำต่ออยู่อีก 2 ปีถึงได้เปลี่ยนงานมาทำด้านจิวเวลรีที่ Cartier เพราะเขาอยากได้คนที่เริ่มงานวันต่อไปได้เลยและเราต้องยอมลดเงินเดือน หลังจากนั้นก็ทำงานด้านจิวเวลรีที่ Van Cleef & Arpels อีก แต่ช่วงนี้กำลังหางานใหม่ก็ค่อนข้างหายากเพราะเขาก็จะถามอีกว่าทำจิลเวลรีมาตั้งนานทำไมไม่ทำสายนี้ต่อ 

แล้วเรื่องเพศกับเรื่องเชื้อชาติเป็นปัญหาในการสมัครงานไหม

บอกเลยว่าอยู่ที่นี่มา 19 ปีไม่เคยมีปัญหาเรื่องโดนแบ่งแยกเลย ตอนสมัครงานเขาไม่ให้ระบุอายุ เพศ เชื้อชาติ เวลาทำงานจริงเขาก็ไม่ได้มาเหยียดเราสักนิด แต่เรื่องที่เป็นปัญหาคือภาษามากกว่า เพราะคนฝรั่งเศสไม่พูดภาษาอังกฤษ ขนาดประชุมกับคนอเมริกันยังต้องพูดภาษาฝรั่งเศสเลย 

เราเลยคิดมาตลอดว่าคำว่า “ประชาชนชั้นสอง” มันไม่มีอยู่จริง ถ้าจะมีก็คนไทยที่มาอยู่ที่นี่ก่อนนี่แหละที่ตั้งมาเรียกคนไทยด้วยกันเอง

จริงไหมที่สวัสดิการการทำงานที่ยุโรปนั้นดีมาก

จริง ยอมรับเลยว่าดีมาก เช่น ตามกฎหมายจะระบุว่าถ้าพนักงานทำงานเกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บริษัทจะต้องให้เงินเพิ่มหรือให้วันหยุดเพิ่ม อย่างเราทำงาน 39 ชั่วโมง จากปกติที่ให้หยุด 5 สัปดาห์ต่อปี เราก็ได้หยุดเป็น 8 สัปดาห์ต่อปี 

หรือเรื่องการเดินทาง บริษัทต้องออกเงินค่าขนส่งสาธารณะให้พนักงาน 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าต้องเดินทางไปต่างประเทศเกิน 6 ชั่วโมง บริษัทต้องให้ตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจ 

อย่างเรื่องเงินช่วยเหลือ ถ้าบริษัทไม่มีโรงอาหาร พนักงานต้องได้เงินช่วยอาหารกลางวัน วันละ 150-200 บาท ถ้ามีปัญหาสุขภาพ ไปโรงพยาบาลรัฐก็ฟรีอยู่แล้วแต่ถ้าไปคลินิกเอกชน บริษัทต้องช่วยออก 70 เปอร์เซ็นต์ เราต้องหาประกันเสริมอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ซึ่งบริษัทก็ต้องช่วยออกค่าประกันเสริมอีก 50 เปอร์เซ็นต์ หรืออย่างตอนนี้เราว่างงานอยู่ก็ได้รับเงิน 72-75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน

การใช้ชีวิตที่นั่นฟังดูดีมากๆ แต่คุณเคยเจอปัญหาหรือคัลเจอร์ช็อกที่ฝรั่งเศสบ้างไหม 

มีเยอะแยะเลย แต่เรื่องหนึ่งที่อยากให้ทุกคนเข้าใจคือคนฝรั่งเศสเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เป็นคนโผงผางและชอบการปะทะมากๆ อย่างสังคมการทำงานที่นี่ก็จะเครียดมากๆ เช้ามาเขาก็เล่าปัญหาชีวิตกันแล้ว เวลาประชุมก็จะมานั่งยิ้มไม่แสดงความเห็นไม่ได้ แต่ต้องมีแอ็กติ้ง ใส่อารมณ์ฉุนเฉียว ใช้คำพูดแรงๆ ใส่กัน ตอนแรกไม่เข้าใจว่าเราทำอะไรผิด ทำไมต้องมาว่ากันด้วย บอกกับแฟนว่าไม่ไหวแล้วจนต้องไปพบจิตแพทย์และใช้ระยะเวลาปรับตัวอยู่ 3 ปี  

เราเลยได้เข้าใจว่าจริงๆ เขาไม่ได้อยากใจร้ายกับเรานะแต่มันเป็นธรรมชาติของเขา แล้วอย่างเรื่องการทำงาน ถ้าเราไม่แสดงความเห็นแล้วนั่งยิ้มเฉยๆ เขาก็จะไม่รู้ว่าเราเข้าใจจริงไหม แม้จะไม่มีความเห็นแต่ก็ต้องพูดออกมาบ้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันอยากมีส่วนร่วมในโครงการนี้นะ ดังนั้นเวลาประชุมมันจะน้ำท่วมทุ่งมากแต่คนฝรั่งเศสถือเป็นการแสดงตัวตนของเขา

ส่วนการใช้ชีวิตทั่วไป เขาก็ยังเป็นคนแบบนี้กันนะ เวลานั่งในเมโทรเราจะได้ยินคนด่ากันตลอด หรือเวลามีคนยืนพิงเสาถ้าเป็นคนไทยก็อาจจะบอกกันดีๆ แต่ที่นี่ผลักกันเลยนะ บางทีก็ตบต่อยกันซึ่งมันก็ผิดแต่ไม่มีใครเอาเรื่องไงเพราะมันเป็นเรื่องปกติ จนตอนนี้เรายังผลักเลย (หัวเราะ) 

อะไรที่ช่วยให้คุณผ่านช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวไปได้ 

ตอบง่ายมาก แฟน (หัวเราะ) อีกอย่างคือเราก็พอมีพี่คนไทยจากคณะมาอยู่ที่นี่ การได้ไปคุยกับเขาก็ทำให้รู้สึกดีขึ้น อีกข้อคือยุโรปมีวันหยุดเยอะ เดินทางไปไหนก็ง่าย ช่วงนั้นเสาร์-อาทิตย์เลยไปเที่ยวตลอดซึ่งมันก็ช่วยได้ 

อีกข้อที่สำคัญคือคิดว่าเราเองต้องทำความเข้าใจใหม่ บางครั้งคนที่ทำให้เราอยู่ยากคือตัวเองที่สร้างกำแพงว่าที่ไทยเป็นแบบนี้แบบนั้น ทั้งที่เราต้องลืมไปเลยว่าเราไม่ได้อยู่ที่ไทยอีกต่อไปแล้วนะ 

ย้อนกลับไปเรื่องสัญชาติ ตอนแรกที่ตัดสินใจจดทะเบียนและทำงานที่ฝรั่งเศส คุณมั่นใจได้ยังไงว่าจะได้สัญชาติ

เราไม่มั่นใจเลย เพราะตอนนั้นฝรั่งเศสยังไม่ใช่ประเทศที่เปิดขนาดนี้ ขนาดที่การจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกันยังเพิ่งเริ่มได้แค่ 2 ปีเอง ซึ่งตอนนั้นยังมีการโต้เถียงกันเลยว่าควรจะจดได้ไหม ดังนั้นเรื่องการขอสัญชาติจากการจดทะเบียนสมรสยังไม่มีเลย แต่เราคิดไว้แล้วว่าอย่างน้อยการเรียนต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์อีก 2 ปีก็ช่วยยืดระยะเวลาได้ และคิดกระทั่งว่าถึงเรากับแฟนจะไปกันไม่รอด ใบปริญญาที่เรียนอยู่ก็ยังมีประโยชน์ในการหางานทำ

แต่ถึงจะได้หรือไม่ได้สัญชาติก็ไม่ได้สำคัญขนาดนั้นเพราะเรารู้สึกว่าในเมื่อเราเลือกสัญชาติตอนเกิดไม่ได้ เราก็ควรเลือกสัญชาติที่จะเปลี่ยนอย่างรอบคอบ เพราะสำหรับเรา สัญชาติมันไม่ควรเป็นแค่กระดาษใบหนึ่งแต่ควรจะมีความหมายกับชีวิต เราจึงขอสัญชาติก็ต่อเมื่อรู้สึกว่าประเทศนี้มันคืออนาคตของฉันและฉันอยากจะมีส่วนร่วมกับสังคมนี้

แล้วความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นตอนไหน

มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ตื่นขึ้นมาแล้วคิดว่าฉันพร้อมแล้วนะ แต่มันจะค่อยๆ รู้สึกว่าเรามีความสุขจังเลย หรือวางแผนว่าเราจะทำอาชีพอะไร เก็บเงินยังไง ตอนเกษียณจะทำอะไรอยู่ เราก็คิดว่านี่แหละคือสัญญาณที่บอกว่าฉันกำลังมีความสุขกับสังคมที่อยู่ บวกกับช่วงนั้นเราเริ่มเปรียบเทียบเมืองที่เกิดและโตมากับเมืองที่อยู่ปัจจุบันแล้วพบว่าเราชอบสังคมที่นี่มากกว่า

ที่รู้สึกได้ชัดๆ คือเรื่องที่กระทบกับตัวเอง ก่อนหน้านี้เราต้องเสียภาษีเยอะมาก ทั้งค่าประกันสังคม 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ภาษีรายได้อีก 10 เปอร์เซ็นต์ แถมยังมีภาษีโรงเรือนอีกเพราะซื้อบ้าน เฉลี่ยแล้วเราเสียภาษีไป 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด สมมติเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 100,000 บาท แต่หักไปหักมาเหลือแค่ 60,000 อาจจะดูเยอะแต่มันจะไปอยู่ในฝรั่งเศสได้ยังไง เมื่อเทียบกับเงินเดือน 20,000 ที่ไทยที่ไม่ต้องเสียอะไรเลยก็ดูเหมือนจะสบายกว่า 

แต่ตอนนั้นเราผ่าตัดไป 2 ครั้ง แต่ไม่ต้องเสียค่าพยาบาลเลย ขณะที่แม่ที่เพิ่งเกษียณราชการและเป็นโรคไตกลับต้องเสียค่านู่นค่านี่เยอะแยะทั้งที่ก่อนหน้านี้คิดว่าข้าราชการจะได้รักษาพยาบาลฟรี มันเลยทำให้เราสำเหนียกถึงสวัสดิการที่ได้รับจากภาษีที่เสียไปและคิดว่าตายแล้ว ถ้าฉันป่วยที่ไทยฉันจะทำยังไงกันล่ะเนี่ย 

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องทัศนคติที่เปลี่ยนไปตามสังคมที่อยู่ ตอนอยู่เมืองไทยเราไม่ค่อยสนใจการเมืองและอะไรในสังคมเพราะมีความเชื่อแบบหนึ่งว่าถ้าคนเราตั้งใจทำอะไรสักอย่าง ยังไงก็เอาตัวรอดได้ แต่พอเราอยู่ในสังคมที่มีรัฐสวัสดิการ อยู่ในสังคมที่ทุกคนตื่นตัวตลอดเวลากับทุกปัญหาแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอง มันทำให้เราเริ่มกลายเป็นคนอีกแบบไปเลย

คนแบบไหน

คนที่คุยเก่ง คุยได้ทุกเรื่องเพราะคนฝรั่งเศสสนใจทุกเรื่องจริงๆ ช่วงแรกไม่เข้าใจมากๆ แต่พออยู่ไปอยู่มาก็เริ่มกลายเป็นแบบนั้นไปด้วย เราจะเริ่มฟังในหัวข้อที่แม้ไม่ได้สนใจแต่ก็จะมีความคิดเห็นเพราะเพื่อนจะต้องถามว่าเธอคิดยังไงซึ่งพอมันเกิดการถกเถียงขึ้นมันทำให้เรามีมุมมองกว้างขึ้น 

อย่างช่วงหนึ่งที่ฝรั่งเศสถกเถียงกันว่ามหา’ลัยควรหรือไม่ควรมีการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อ ตอนแรกเราไม่เห็นด้วยนะเพราะเราโตมาในประเทศไทยที่ต้องสอบแข่งขัน ทำไมเราต้องเอาภาษีมาให้ใครก็ไม่รู้ที่อาจไม่ตั้งใจเรียนก็ได้ แต่พอฟังคนเถียงกันไปมาก็เริ่มคิดว่า เออว่ะ คนที่ไม่ได้มีเงินเรียนในสถานศึกษาดีๆ มันไม่ใช่ว่าเขาโง่แต่อาจเพราะเขาไม่รู้ซึ่งก็ถือว่าเป็นความเหลื่อมล้ำหนึ่งจากการที่เขาไม่ได้เรียนโรงเรียนมัธยมดีๆ มันทำให้เราเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับหลายๆ สิ่งในไทยมากยิ่งขึ้น 

พูดได้ไหมว่าการย้ายมาอยู่ที่ฝรั่งเศสเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ไม่รู้ว่าถือว่าเป็นการตัดสินใจได้หรือเปล่า เพราะเราว่ามันไม่ใช่การตัดสินใจว่าจะไปอยู่ประเทศไหนแต่มันควรเป็นการมองว่าชีวิตแบบไหนที่คุณอยากได้มากกว่า 

สำหรับเรา ชีวิตที่เราอยากได้คือการได้อยู่กับแฟน เป็นชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรนมาก ถึงแม้ฝรั่งเศสจะมีข้อเสียเยอะแยะไปหมดแต่มันก็กลายเป็นที่ที่เราฟิตอิน แม้ช่วงแรกจะรู้สึกคับบ้างหลวมบ้างแต่พออยู่ไปสักพักก็จะปรับตัวได้ 

Good to Declare 

19 ปีในฝรั่งเศสเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอต่อการเขียนบทเรียนชีวิตฉบับเจ๊ป้อง เราจึงชวนเธอมาแชร์บทเรียนที่ว่าเกี่ยวกับฝรั่งเศสเผื่อมิตรสหายที่อยากย้ายไปอยู่ที่นั่นบ้าง

เรื่องที่คนอาจจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝรั่งเศส

ขอตอบเป็นปารีสอย่างเดียวแล้วกันเพราะเราก็อยู่แค่ปารีส 

ข้อแรก คนมักเข้าใจว่าปารีสเป็นเมืองสวยหรูและเป็นเมืองแฟชั่นจ๋า แต่จริงๆ ที่นี่สกปรกมากและโจรเยอะ เราอยากให้มองว่าที่จริงมันก็เป็นเมืองเมืองหนึ่งที่มีทั้งแหล่งเสื่อมโทรมและหรูหรา

ข้อสอง บางคนอาจจะคิดว่าคนที่นี่ช่างโรแมนติกแต่จริงๆ เขาค่อนข้างโผงผาง เช่น เวลาเสิร์ฟกาแฟก็กระแทกแรงๆ หรือมีครั้งหนึ่งเราไปถามร้านกาแฟว่าเมื่อไหร่จะได้กาแฟเขาก็บอกมาตรงๆ เลยว่านี่ไม่ใช่ร้านฟาสต์ฟู้ดนะ หรือตอนที่เราสั่งอาหารที่ร้านหนึ่งก็บอกว่าขอเนื้อสุกๆ เขาก็บอกเลยว่าเปลี่ยนเมนูไหม เสียดายวัตถุดิบ

ถ้าคนที่ชอบก็ชอบไปเลย เพราะที่นี่มันคือชีวิตจริงที่ไม่ได้เสริมเติมแต่งใดๆ แต่ถ้าใครไม่ชอบก็อาจจะเป็นปารีสซินโดรมที่วาดฝันว่ามันต้องสวยหรูแต่จริงๆ แล้วมันก็คือเมืองธรรมดา

เรื่องที่ต้องเตรียมใจไว้ก่อนมาอยู่ฝรั่งเศส

ภาษา เพราะคนฝรั่งเศสไม่พูดภาษาอังกฤษและที่นี่เป็นประเทศแห่งกฎหมาย เวลาจะซื้อหรือติดต่ออะไรก็ตามมักจะมีสัญญาเล่มหนาๆ มาให้อ่านแล้วก็จะชอบมีดอกจันเล็กๆ ด้านล่าง ถ้าไม่ได้ภาษาแล้วอ่านไม่แตกก็อาจจะโดนเอาเปรียบได้ 

เราไม่ได้อ่านแตกตลอดหรอกนะแต่ที่นี่มีสายด่วนปรึกษากฎหมายฟรีเพื่อซัพพอร์ตคนที่อาศัย มันเป็นหน้าที่ของคนในประเทศที่จะต้องรู้ว่าจะไปขอความช่วยเหลือได้จากที่ไหน 

ฝรั่งเศสเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรของคุณบ้าง 

ฝรั่งเศสทำให้เราตระหนักถึงความเป็นพลเมืองของสังคมนั่นคือเราจะมองปัญหาต่างๆ ให้เป็นปัญหาทางสังคมมากขึ้น เราจึงไม่ชอบคำพูดที่ว่า “อย่าวิจารณ์หรือพูดอะไรมาก ให้เริ่มที่ตัวเราก่อน” เพราะมันหมายความว่าหนึ่ง–คุณกำลังบอกว่าฉันยังทำไม่ดีพอ สอง–ถ้าให้เริ่มที่ตัวเองก็ไม่ต้องมีการเมืองก็ได้ สาม–เราควรจะมีด้านที่เป็นปัจเจกและสมาชิกในสังคม การที่เราออกมาวิจารณ์ก็คือออกมาเรียกร้องเพื่อสังคม แต่ปัจเจกจะคิดยังไงก็อีกเรื่อง 

อย่างตอนที่มีการถกเถียงเรื่องให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ส่วนตัวเราไม่ได้เชื่อเรื่องการแต่งงานแต่มันก็ยังมีคนอีกมากที่เขาเชื่อแบบนี้ซึ่งก็ไม่ได้มาเบียดเบียนความเชื่อเราไง เราเลยเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิให้คนอื่นที่เขาเชื่อในเรื่องนี้ด้วย 

คิดว่าฝรั่งเศสเหมาะกับคนแบบไหน

ต้องเป็นคนที่อยากรู้ไปทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องวัฒนธรรมหรือสังคม เพราะที่นี่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมมากๆ แทบทุกถนนจะมีแต่นิทรรศการและพิพิธภัณฑ์มากมายจนบางครั้งต้องมานั่งคัดเลือกว่าวันนี้จะไปที่ไหนดี ถ้าคุณไม่สนใจมันก็น่าเสียดายนิดหนึ่ง 

อีกอย่างคือคนฝรั่งเศสสนใจทุกเรื่องเลย เป็นคนช่างพูดและชอบสร้างตัวตน ถ้าเราไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เลยเราจะกลายเป็นคนไม่น่าสนใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องรู้ลึกนะแค่ต้องหัดแสดงความคิดเห็นของตัวเองด้วย

สิ่งที่เจอในฝรั่งเศสและอยากให้ประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง

คนฝรั่งเศสเป็นสัตว์การเมืองและสัตว์สังคม เช่น เวลาจะเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเชิงสังคมเขาจะต้องย้อนกลับไปที่การเมืองเสมอ เขาจะต้องไปกดดันภาคนิติบัญญัติเพื่อการันตีว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องจะเกิดขึ้นจริง ถ้ามองกลับมาที่ไทย คนไทยเป็นสัตว์สังคมแต่ไม่ยอมก้าวไปเป็นสัตว์การเมือง เช่น คนไทยชอบบริจาคสิ่งของต่างๆ ซึ่งมันเป็นแค่การแก้ไขปัญหาเชิงสังคมเท่านั้น แต่ถ้าเราเป็นแบบฝรั่งเศสจริงๆ เราจะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ให้คนชายขอบ 

สิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นสำหรับประเทศไทยจริงๆ จึงคือการตื่นรู้ด้านการเมืองและการตั้งคำถามต่อสังคม เราอยากให้คนไทยหยิบประเด็นต่างๆ ในสังคมขึ้นมาคิดต่อ พอคิดต่อแล้วมันจะเกิดการกระทำซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพราะเราเชื่อว่าสังคมมันไม่ใช่พื้นที่ ไม่ใช่สถานที่ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์แต่สังคมคือสิ่งที่เราสร้างขึ้น ซึ่งตอนนี้คนไทยสมัยใหม่กำลังเปลี่ยนแล้ว เช่น การล่ารายชื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายสมรสเท่าเทียมมันสะท้อนว่าคนไทยเริ่มเข้าใจว่าถ้ายังแก้ปัญหาโดยใช้ทางออกสังคม และไม่พยายามผลักดันเชิงการเมืองก็จะแก้ปัญหาระยะยาวไม่ได้ 

AUTHOR