Nike Dunk หนึ่งในสนีกเกอร์ระดับไอคอนที่ขายดีที่สุดในโลกจากยุค 80s

ในโลกของสนีกเกอร์คัลเจอร์นั้น เมื่อคุยกันถึงรองเท้าที่กลายมาเป็นตำนานและมีอิทธิพลต่อกลุ่มคนในยุคต่างๆ ถ้าจะให้ลิสต์ออกมา นิ้วมือและนิ้วเท้าของเราคงไม่อาจนับไหว ยังไม่รวมไปถึงเมื่อเราเจาะจงลงลึกไปในวัฒนธรรมย่อย (subculture) หมวดต่างๆ ก็จะมีรองเท้าแยกย่อยตามแต่ละหมวดออกไปอีก แต่ถ้าถามถึงรองเท้าที่มีจุดร่วมกับทุกซับคัลเจอร์ คำตอบคงหนีไม่พ้นรองเท้าบาสเก็ตบอลไอคอนจากยุค 80s ที่ชื่อ ‘Nike Dunk’

จุดกำเนิดของรองเท้า Nike Dunk ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1985 เมื่อ Peter Moore ดีไซเนอร์คนเดียวกันกับที่ออกแบบรองเท้าไอคอนอีกคู่อย่าง Nike Air Jordan 1 ได้รับโจทย์ให้ออกแบบรองเท้าบาสเก็ตบอลสำหรับทีมบาสเก็ตบอลมหาวิทยาลัยที่มีสปอนเซอร์จาก Nike ซึ่งในเวลานั้นการแข่งขันบาสเก็ตบอลดิวิชั่น 1 ระดับมหาวิทยาลัยที่จัดขึ้นโดย National Collegiate Athletic Association (NCAA) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงและมีการถ่ายทอดสดไปทั่วสหรัฐอเมริกา

NCAA เปรียบเสมือนเวทีเริ่มต้นของบรรดานักบาสเก็ตบอลที่จะได้แสดงผลงานของตนเอง ก่อนกระโจนเข้าสู่ลีกอาชีพอย่าง NBA การแข่งขันบาสเก็ตบอล NCAA ในปี 1984 The Final Four หรือ 4 ทีมที่มีผลการแข่งขันที่ดีที่สุดในปีนั้นต่างได้สปอนเซอร์จาก Nike หนึ่งในผู้บริหารของ Nike ได้มีโอกาสเข้าไปชมการแข่งขัน ซึ่งเต็มไปด้วยความบ้าคลั่งของกองเชียร์ที่ต่างใส่เสื้อทีม เพนต์หน้าตา และตะโกนเชียร์ทีมตัวเองอย่างสุดเสียง เลยเกิดความคิดว่าทำยังไงถึงจะเอาความรู้สึกหรือพลังงานพิเศษดังกล่าวนี้มาใส่ลงในรองเท้าของ Nike ได้บ้าง จึงเป็นที่มาของไอเดียที่จะออกแบบรองเท้าเพื่อทีมดังกล่าว

และนั่นคือโจทย์สำคัญของมัวร์ในการออกแบบรองเท้าที่เรารู้จักกันต่อมาในชื่อ Nike Dunk

ณ เวลานั้นสไตล์ในการออกแบบรองเท้าบาสเก็ตบอลยังคงใช้สีขาวเป็นสีพื้นหลัก ด้วยกฎระเบียบของ NBA แต่ NCAA กลับมีกฎที่แตกต่างกันออกไป มัวร์จึงออกแบบรองเท้าคู่แรกที่มี color block จากเฉดสีประจำของทีมมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สปอนเซอร์โดย Nike ณ เวลานั้น อันประกอบไปด้วย Michigan, Kentucky, Iowa, Georgetown, Syracuse, St. John’s และ UNLV โดยมัวร์นำรองเท้า 3 รุ่นมายำรวมกัน ได้แก่ Legend, Terminator และ Air Jordan 1 ซึ่งตอนแรกถูกตั้งชื่อว่า College Color High ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Dunk เนื่องจากในเวลานั้นถือเป็นช่วงครบรอบ 40 ปีของการเล่น Slam Dunk (รูปแบบการทำคะแนนด้วยการกระโดดและนำลูกบาสเก็ตบอลยัดลงห่วงด้วยความรุนแรง)

สิ่งที่ทำให้ Nike Dunk ประสบความสำเร็จในช่วงเวลานั้นคือแคมเปญการตลาดเปิดตัวที่ชื่อ Be True to Your School ในปี 1985 เพราะไม่ใช่แค่เฉพาะรองเท้าเท่านั้นที่มีสีของ 8 มหาวิทยาลัยที่สปอนเซอร์โดย Nike แต่ยังรวมไปถึงเสื้อผ้าและยูนิฟอร์มที่มีสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย วิธีการโปรโมท Nike Dunk ดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างสูงและได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยมมากๆ เพราะแฟนๆ ของทีมมหาวิทยาลัยดังกล่าวสามารถซัพพอร์ตทีมที่รักโดยสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าแบบเดียวกับผู้เล่นในทีมได้เช่นกัน ไม่ได้มีแค่เฉพาะบรรดามหาวิทยาลัยพวกนี้เท่านั้น แม้แต่มหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือบรรดาโรงเรียนมัธยมต่างๆ ก็เลือกที่จะสวมใส่ Nike Dunk ที่มีเฉดสีเดียวกันกับสีโรงเรียนของตัวเองเช่นกัน นั่นทำให้ Nike Dunk ครองใจกลุ่มวัยรุ่นนักเรียนนักศึกษาเป็นอย่างสูงในช่วงนั้น

 

 

ในช่วงปลายยุค 80s ความนิยมของ Nike Dunk ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม และเริ่มถูกบดบังจากรองเท้าที่เปรียบเสมือน ‘ญาติ’ อีกรุ่นหนึ่งของ Nike นั่นก็คือไลน์รองเท้า Air Jordan ที่มีดีไซน์โฉบเฉี่ยวกว่า (ถึงแม้ว่า ​Dunk จะหยิบยืมดีไซน์บางส่วนของ Air Jordan 1 มาใช้ก็ตาม) บวกกับผู้เล่นอย่าง Michael Jordan ได้รับการจับตามองในฐานะซูเปอร์สตาร์คนใหม่ของ NBA นอกจากนั้นเทรนด์รองเท้าบาสเก็ตบอลในช่วงปลายยุค 80s ยังเน้นความสำคัญไปที่เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพของรองเท้าบาสเก็ตบอล ทำให้ Nike Dunk กลายเป็นรองเท้า outdate อย่างรวดเร็วบนคอร์ตสนามบาสเก็ตบอล (เช่นเดียวกับ Air Jordan 1)

แต่ในขณะที่ Dunk เริ่มเสื่อมความนิยมในโลกของบาสเก็ตบอลนั้น มันกลับเริ่มได้รับความนิยมจากคนอีกกลุ่ม นั่นคือกลุ่มคนที่เล่นกีฬาเอกซ์ตรีมอย่างสเก็ตบอร์ดนั่นเอง

สาเหตุที่ Nike Dunk รวมไปถึง Air Jordan 1 ได้รับความนิยมในบรรดาคนที่เล่นสเก็ตบอร์ดเป็นเพราะว่า Nike Dunk สามารถหาซื้อได้ในราคาถูกตามเอาต์เลตขายรองเท้าทั่วไปเพราะคนเลิกให้ความสนใจ และด้วยความที่พื้นรองเท้าแบนราบ (flat outsole) ทำให้สัมผัสกับแผ่นบอร์ดได้เต็มเท้า ประกอบกับวัสดุทำมาจากหนังแท้ที่มีความคงทนสูง ซึ่งสเก็ตบอร์ดนั้นเป็นกีฬาที่สิ้นเปลืองรองเท้ามากจากการที่รองเท้าต้องถูกับกระดาษทรายที่ติดอยู่บนแผ่นบอร์ด แล้วสมัยนั้นยังไม่มีรองเท้ากีฬาสำหรับสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ ฉะนั้นตัวเลือกอย่าง Nike Dunk และ Air Jordan 1 จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่สเก็ตเตอร์สมัยนั้น

ว่ากันว่าบรรดาสเก็ตเตอร์จากเมืองนิวยอร์กเป็นคนริเริ่มนำรองเท้าพวกนี้มาใส่เล่น และเริ่มกลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่พบเห็นได้ในวิดีโอสเก็ตสมัยนั้น รวมไปถึงบนปกหนังสือสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ ไม่เพียงแค่ Nike Dunk และ Air Jordan 1 แต่ยังรวมไปถึงบรรดารองเท้าบาสเก็ตบอลรุ่นเก่าๆ จากแบรนด์อื่นๆ ด้วยเช่นกันที่สามารถหาได้ง่ายตามเอาต์เลตทั่วไป แต่ก็เป็นเพียงกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง จนในที่สุดความนิยมก็เปลี่ยนไป และกระแสรองเท้าอย่าง Nike Dunk ก็เลือนหายไป

ในช่วงต้นและกลางยุค 90s Nike เองพยายามเจาะตลาดกีฬาสเก็ตบอร์ด ด้วยการออกแบบรองเท้าสำหรับสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้ามเพราะไม่มีใครสนใจใส่รองเท้าของ Nike และถือเป็นความล้มเหลวที่ Nike เองไม่สามารถเข้าไปอยู่ในหมวดกีฬาดังกล่าวได้

ในปี 1999 Nike นำแพ็กรองเท้า Be True to Your School กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้งหลังผ่านไป 14 ปี พร้อมด้วยสีใหม่ๆ อีกมากมาย แต่เวลานั้นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือการที่ Nike ทำงานร่วมกับ Wu-Tang Clan–วงฮิปฮอปชื่อดังในยุค 90s จากนิวยอร์ก โดยมีการนำรองเท้า Nike Dunk High ‘IOWA’ (รองเท้าคู่สีเหลือง-ดำ) จากแพ็กดังกล่าวมาออกแบบด้วยการใส่โลโก้ตัวหนังสือ Wu W จาก Wu-Tang Clan เข้าไปที่ข้อเท้าและป้ายที่ลิ้นรองเท้า โดยเหตุผลที่เลือกคู่สีเหลือง-ดำมีที่มาจากเพลงของวง Killa Bees (ผึ้งนักฆ่าที่มีสีเหลือง-ดำ) ประกอบกับสีโลโก้ของวงที่ใช้คู่สีดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยผลิตขึ้นมาเพียง 36 คู่เพื่อมอบให้กับสมาชิกวงและครอบครัวเท่านั้น ซึ่งจำนวนดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งกิมมิกที่มีที่มาจากชื่ออัลบั้ม Enter the Wu-Tang (36 Chambers) ของวงที่ออกในปี 1993

ว่ากันว่า Wu-Tang Dunk แทบจะเป็นรองเท้าคู่แรกของ Nike ที่ถูกให้คำนิยามว่า ‘limited edition’ ในโลกของสนีกเกอร์คัลเจอร์อย่างแท้จริง เพราะจำนวนที่ผลิตขึ้นมาโดยเฉพาะเจาะจงและไม่สามารถครอบครองได้ถ้าไม่ใช่สมาชิกในวงหรือคนสนิทได้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับโมเดลรองเท้าอย่าง Nike Dunk ที่กลับมาเป็นกระแสใส่รองเท้าเรโทรอีกครั้ง

ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน Nike เองได้รับเสียงเรียกร้องจากหนึ่งในร้านขายอุปกรณ์กีฬาเจ้าใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Footaction ที่ต้องการออกแบบรองเท้า Nike Dunk ที่ใช้เฉดสีและวัสดุแบบพิเศษที่แตกต่างจากที่ Nike ออกแบบ และจำหน่ายเฉพาะที่ร้านแต่ละสาขาของ ​Footaction เท่านั้น ซึ่งถือเป็นความแปลกใหม่ที่แม้แต่คนของ Nike เองก็ยังแตกออกเป็นสองเสียง ระหว่างรักษาความคลาสสิกของรองเท้าคู่นี้หรือมองว่าถึงเวลาเติมความสดใหม่ได้แล้ว

ในที่สุด Nike ก็เข็นรองเท้า Nike Dunk หลากหลายสีสันในรูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างจากบรรดาต้นฉบับอย่าง Be True to Your School ออกมา และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Nike Dunk ได้รับความสนใจอีกครั้ง

ในช่วงเวลาเดียวกัน ทางฝั่งเอเชีย Nike Dunk มีกระแสความนิยมอย่างสูงในประเทศญี่ปุ่น

จากช่วงกลางยุค 90s ที่เทรนด์แฟชั่นจากต่างประเทศทั้งแบบอังกฤษที่มีอิทธิพลมาจากแนวดนตรีอย่างพังก์ร็อกและสไตล์อเมริกันหลากหลายรูปแบบอย่าง american workwear หรือฮิปฮอปกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากบรรดากลุ่มวัยรุ่นหัวก้าวหน้าแดนปลาดิบ

โดยในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นยังอยู่ในยุคชาตินิยมที่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้สินค้าในประเทศตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ก็ยังมีคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าอีกส่วนหนึ่งที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศหรือได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ ได้นำเอาวัฒนธรรมบางอย่างกลับมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น ดนตรี กีฬา และสไตล์การแต่งตัวแบบต่างๆ ทำให้บรรดาคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวและเปิดรับวัฒนธรรมทางตะวันตก โดยเฉพาะในเรื่องแฟชั่น

ช่วงนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของแฟชั่นที่ถูกเรียกว่า Ura-Harajuku ที่มีร้านเสื้อผ้าที่นำเข้าสินค้าต่างๆ จากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเกิดขึ้นมากมาย นอกจากเสื้อผ้าแล้วยังรวมไปถึงบรรดารองเท้าวิ่งวินเทจและรองเท้าบาสเก็ตบอลวินเทจต่างๆ ที่ไม่มีจำหน่ายในญี่ปุ่นมาก่อน ทำให้เกิดกระแสความนิยมรองเท้ากีฬาประเภทต่างๆ ที่รวมไปถึง Nike Dunk ด้วยเช่นกัน

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่เมื่อใดก็ตามที่มีความลุ่มหลงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วก็มักจะลงลึกเข้าไปในรายละเอียดต่างๆ เข้าขั้นที่เรียกว่า obsession (ในอดีตเคยมีคดีฆาตกรรมวัยรุ่นเพื่อแย่งชิงรองเท้า Nike Air Max 95 Neon มาแล้ว) จนมีคำเรียกชื่อพวกที่สะสมรองเท้าว่า sneakers otaku

จากอิทธิพลของความนิยมดังกล่าวที่ขยายวงกว้างอย่างมาก ทำให้รองเท้าหายากต่างๆ เป็นที่ต้องการของทุกคน ซึ่งฝ่ายการตลาดของ Nike มองเห็นการเติบโตของตลาดฝั่งเอเชียที่สามารถเติบโตได้โดยเริ่มต้นจากญี่ปุ่น นั่นจึงเป็นที่มาของรองเท้า Nike Dunk ในรูปแบบของญี่ปุ่นเองที่ถูกเรียกว่า CO.JP (ย่อมาจาก Concept Japan) โดยมีความแตกต่างจาก Nike Dunk ที่ผ่านๆ มาแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุและสีสันที่แปลกตา สดใหม่ และขายเฉพาะในญี่ปุ่นเพียงเท่านั้น ซึ่งความเอกซ์คลูซีฟเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกสนีกเกอร์คัลเจอร์ที่ผลิตจำนวนจำกัดและมีการวางจำหน่ายเฉพาะที่ โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีรองเท้า Nike Dunk เวอร์ชั่นของตัวเองมากที่สุดรองจากอเมริกา

นอกจากนั้นการมาถึงของคอมมิวนิตี้ในโลกออนไลน์ การเกิดเว็บฟอรั่มที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและซื้อ-ขายรองเท้าอย่าง NikeTalk การเกิดขึ้นของตลาดขายสินค้าออนไลน์อย่าง eBay ทำให้การเสาะหารองเท้าต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกเริ่มเข้าถึงง่ายมากขึ้น รองเท้า Nike Dunk CO.JP ต่างได้รับความสนใจจากโลกอีกฟากทางฝั่งตะวันตก ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการมาเยือนสำหรับนักสะสมรองเท้า เพื่อตามล่าหารองเท้ารุ่นพิเศษที่มีเพียงแค่ที่นี่ที่เดียว

ในปี 2001 โลกของสนีกเกอร์คัลเจอร์ก็ได้รู้จักกับคำว่า collaboration เป็นครั้งแรก เมื่อ Nike ได้ทำงานร่วมกับแบรนด์ ​streetwear ระดับตำนานอย่าง Stussy ที่ออกแบบรองเท้า Nike Dunk High 2 สี และวางจำหน่ายแบบเอกซ์คลูซีฟผ่านทางร้าน Stussy Chapter Stores 4 สาขาเท่านั้น ประกอบไปด้วยนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ลอนดอน และโตเกียว โดยมีรูปแบบการขายที่พิเศษมากๆ คือจะวางขายรองเท้าทุกวันเป็นเวลา 2 อาทิตย์ แต่จำกัดจำนวนขายในแต่ละวันแค่วันละ 12 คู่ต่อสีเพียงเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้เปรียบเสมือนหมุดที่ปักเริ่มต้นให้โลกได้รู้จักสนีกเกอร์คัลเจอร์​ในอีกรูปแบบหนึ่ง และ Nike มองว่ามันคืออนาคตของสนีกเกอร์คัลเจอร์ที่กลายมาเป็นแพตเทิร์นที่ทุกคนทำตามกันในเวลาต่อมา

กระแสการกลับมาของ Nike Dunk ในยุคนั้นยังไม่ได้เป็นกระแสหลักในโลกรองเท้าผ้าใบมากนัก แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กลายมาเป็นหนึ่งในรองเท้าที่ขายดีที่สุดตลอดกาลของ ​Nike มาจากยุคที่ Nike กลับมาสนใจตลาดกีฬาสเก็ตบอร์ดอีกครั้ง โดยก่อตั้งแผนกขึ้นมาโดยเฉพาะ ใช้ชื่อว่า Nike SB (Nike Skateboarding) และแต่งตั้ง Sandy Bodecker เป็น General Manager และโบเดกเกอร์นี่เองที่เปลี่ยนภาพลักษณ์และมุมมองของวงการสเก็ตบอร์ดที่มีต่อ Nike ใหม่ทั้งหมด

โบเดกเกอร์เริ่มต้นทำงานจากการเป็นคนทดสอบผลิตภัณฑ์ของ Nike ตั้งแต่ปี 1982 ด้วยความใส่ใจและละเอียดพิถีพิถัน ทำให้เขาได้รับมอบหมายงานที่สำคัญๆ ผลงานก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง General Manager ของ Nike SB คือการนำ Nike Football เข้าไปบุกเบิกและตีตลาดในยุโรปที่ Adidas ครองตลาดมาอย่างยาวนาน

สิ่งที่โบเดกเกอร์เริ่มต้นนั้นไม่ใช่แค่ออกแบบรองเท้าใหม่ แต่เป็นการย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของสเก็ตบอร์ดและพบว่ารองเท้าอย่าง Air Jordan 1, Nike Dunk รวมไปถึงรองเท้าบาสในยุค 70s อีกรุ่นที่ชื่อ Blazer อยู่ในส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กีฬาเอกซ์สตรีมประเภทนี้มาอย่างยาวนาน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นไอเดียที่นำเอารองเท้า ​Nike Dunk ที่เคยนิยมในอดีตมาปรับปรุงดีไซน์ใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานด้วยการทำการบ้านอย่างใกล้ชิดกับนักสเก็ตมืออาชีพหลายๆ คน เพื่อค้นหาสิ่งที่พวกเขาต้องการจากรองเท้ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลิ้นรองเท้าที่มีความหนาเป็นพิเศษ ระบบรองรับแรงกระแทกด้วยถุงอัดอากาศ (zoom air) ที่แผ่นรองพื้นรองเท้า

รองเท้า Nike Dunk สำหรับสเก็ตบอร์ดคู่แรกเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2001 จากการร่วมงานกันของโบเดกเกอร์และ Alyasha Owerka-Moore จากแบรนด์ Alphanumeric และรองเท้ารุ่นดังกล่าวคือ Nike Dunk Low Pro B ซึ่งถือเป็นรองเท้า Nike Dunk คู่แรกสำหรับสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ และเพื่อให้เข้าถึงวัฒนธรรมและกลุ่มสเก็ตเตอร์ที่ Nike ไม่เคยย่างกรายเข้าไปได้เลย โบเดกเกอร์เลือกที่จะทำสิ่งที่แตกต่างออกไปจากที่เคยมีมา นั่นคือการเลือกวางจำหน่ายรองเท้า Nike SB ให้กับร้านสเก็ตช็อปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขาเดินทางไปยังร้านสเก็ตช็อปตามเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อทำความรู้จักและแนะนำตัวเองแก่ร้านเหล่านั้น ด้วยบุคลิกที่สนุกสนานและมีความเข้าใจถึงความต้องการของสเก็ตเตอร์และรองเท้าที่ตอบโจทย์การใช้งาน แถมยังมีสีสันและวัสดุที่แปลกใหม่ ในที่สุดสังคมของสเก็ตบอร์ดก็เริ่มเปิดใจยอมรับ Nike SB จากผลงานของโบเดกเกอร์

ในปี 2002 โบเดกเกอร์ได้ให้นักกีฬาสเก็ตบอร์ดในทีมช่วงก่อตั้ง ประกอบไปด้วย Reese Forbes, Gino Lanucci, Richard Mulder และ Danny Supa (ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน) ออกแบบรองเท้า Nike Dunk เป็นของตัวเองอีกด้วย นอกจากนั้นยังทำงานร่วมกับร้านสเก็ตช็อปและแบรนด์สเก็ตบอร์ดมากมาย เช่น Chocolate Skateboards, Zoo York และที่ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือรองเท้าที่ทำร่วมกันกับ​ Supreme แบรนด์เสื้อผ้าสเก็ตบอร์ดจากนิวยอร์กที่ถือเป็นการเปิดทางให้กับ Nike SB ได้ก้าวย่างเข้าไปในโลกของสเก็ตบอร์ดอย่างเต็มตัว

สิ่งที่ทำให้รองเท้า Nike SB แตกต่างจากรองเท้า Nike Dunk ทั่วๆ ไปทั้งหมด คือการที่โบเดกเกอร์ให้อิสระแก่ collaborators ของเขาได้ใส่ไอเดียในการออกแบบรองเท้าได้อย่างเต็มที่ และไม่ใช่แค่เฉพาะร้านสเก็ตหรือแบรนด์สเก็ตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังข้ามไปทำงานร่วมกับศิลปินแขนงต่างๆ หรือในวาระพิเศษอีกด้วย นอกจากนั้นในการออกแบบรองเท้า Nike SB Dunk รุ่นต่างๆ ยังมีคอนเซปต์และที่มาที่ไปอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นคู่สีที่สื่อถึงสถานที่หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงมีชื่อเล่นที่ถูกเรียกกันกลายๆ ในรองเท้าหลายๆ รุ่นอีกด้วย เช่น eBay (2003), Paris (2003), Heineken (2003), Supreme (2003), Futura (2004), London (2004), Hemp (2004), Tokyo (2004), Iron Maiden (2005) และอื่นๆ อีกมากมายในหลายปีต่อมา โดย Nike SB เลือกที่จะแยกรุ่นต่างๆ ตามปีที่ออกด้วยสีของกล่องรองเท้าที่แตกต่างกันออกไป

การเกิดของ Nike ​SB นั้นทำให้ Nike Dunk กลับมาได้รับความนิยมสูงมากๆ รองเท้าบางคู่มีคนมารอต่อแถวมากมาย บางคู่ถึงขนาดก่อให้เกิดจราจล อย่างกรณีของ Nike Dunk Low Pro SB ‘Pigeon’ ในปี 2005 ที่ออกแบบโดย Jeff Staple และวางจำหน่ายที่ร้านของเขาเองที่นิวยอร์ก โดยวันวางจำหน่ายเกิดการจราจลและกลายเป็นข่าวดังไปทั่วสหรัฐอเมริกา ทุกครั้งที่ Nike Dunk SB ออกวางจำหน่ายจะมีการเข้าแคมป์รอคิวซื้อรองเท้าเสมอ ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่เป็นรองเท้าสำหรับสเก็ตเตอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการของบรรดานักสะสมรองเท้าหรือที่เรียกว่า sneakerheads ทั่วโลกด้วย นั่นทำให้ราคาขายต่อในตลาดรีเซลถีบตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะรองเท้าบางคู่ที่ผลิตมาจำนวนน้อยหรือมีกระแสความนิยมสูง

 

สำหรับบ้านเรานั้น กระแสความนิยมเกิดขึ้นในช่วงปี 2006 ที่ถือเป็นครั้งแรกที่ร้านสเก็ตช็อป Preduce วางจำหน่ายรองเท้า Nike Dunk SB Low SBTG ที่ออกแบบโดยศิลปินชาวสิงคโปร์ชื่อ Mark Ong และถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยที่มีคนมาต่อคิวข้ามคืนเพื่อรอซื้อรองเท้าคู่ดังกล่าว จนกลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งตอนนั้นมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวสนีกเกอร์คัลเจอร์ในบ้านเราจำกัดอยู่แค่เฉพาะกลุ่ม ยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนในปัจจุบัน

 

ช่วงยุค 2000s Nike Dunk SB ครองความนิยมไปแทบจะทั้งหมด ลากยาวมาจนช่วงต้นยุค 2010s แต่ในที่สุด Nike SB ก็เสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว เพราะเริ่มขาดความน่าสนใจ และเทรนด์ความนิยมรองเท้าในช่วงเวลานั้นเหล่าบรรดานักสะสมเริ่มให้ความสนใจรองเท้าอย่าง Air Jordan หรือการมาของ Adidas Yeezy ทำให้คนเริ่มอิ่มตัวกับ Nike SB รองเท้าที่เคยเป็นของหายากหรือเป็นที่ต้องการกลับไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักจนกระแสเงียบหายไปในที่สุด ช่วงเวลานั้น Nike เองก็ออกรองเท้า Nike Dunk สำหรับ sportswear หรือหมวดไลฟ์สไตล์ทั่วไปบ้างประปราย แต่ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงหรือเป็นที่ต้องการมากสักเท่าไหร่นัก ในที่สุด Nike Dunk ก็เลือนหายไปตามเทรนด์แฟชั่นรองเท้าที่เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งหนึ่ง

จนมาถึงช่วงราวๆ ปี 2016-2017 Nike Dunk ก็เริ่มกลับมาเป็นกระแสรองเท้าวินเทจ โดยเฉพาะรองเท้าในยุค 80s ที่เริ่มต้นมาจาก Air Jordan และลามไปถึง Nike Dunk ในช่วงดังกล่าวบรรดาคนที่มีอิทธิพลในโลกแฟชั่นและสนีกเกอร์คัลเจอร์ต่างทยอยใส่รองเท้า Nike Dunk Vintage ไม่ว่าจะเป็น Virgil Abloh จาก Louis Vuitton หรือ Kim Jones จาก Dior เป็นต้น

ในปี 2017 COMME des GARÇONS แบรนด์ตำนานจากญี่ปุ่นออกรองเท้า Nike Dunk High ที่เปิดผนังด้านข้างด้วยวัสดุพลาสติกใส สร้างกระแสให้ Nike Dunk กลับมาเป็นที่สนใจและถูกพูดถึงอีกครั้ง เช่นเดียวกับ Nike SB ที่เริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งจากบรรดาเซเลบริตี้ต่างๆ โดยเฉพาะแรปเปอร์ชื่อดัง Travis Scott และภรรยา Kylie Jenner ที่เริ่มต้นใส่ Nike Dunk SB รุ่นต่างๆ ให้เห็นบ่อยมากขึ้น รวมไปถึง ​collaboration พิเศษต่างๆ ที่ Nike SB ทยอยออกมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ 

Nike Dunk เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในปี 2019 จากการที่ Virgil Abloh นำกลับมาทำใหม่อีกครั้งในเวอร์ชั่นของ Off-White ที่เป็นแบรนด์ของตนเอง โดยนำเอาคู่สีที่เคยได้รับความนิยมในอดีตในคอลเลกชั่น Be True to Your School รวมไปถึง Nike เองที่นำหนึ่งในรองเท้า Nike Dunk Low เวอร์ชั่น CO.JP ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการอย่างมากอย่าง Viotech กลับมาอีกครั้งเช่นกัน

 

ในปี 2020 ถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของโมเดล Nike Dunk เมื่อถึงวาระครบรอบ 35 ปีของรองเท้าโมเดลนี้

โดย Nike เริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีก่อนหน้า รองเท้า Nike SB กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งจากการ collaboration กับ Travis Scott ส่งอานิสงส์ให้บรรดารองเท้าเก่าๆ ที่เคยหมดความนิยมกลับมาได้รับความสนใจ ทำให้ราคาในตลาดรีเซลของรองเท้ารุ่นนี้ถีบตัวสูงขึ้นอีกครั้ง และส่งผลให้รองเท้า Nike Dunk SB รุ่นใหม่ๆ ที่ออกวางจำหน่ายขายหมดแทบจะทันที

เช่นเดียวกับฝั่ง Nike Sportswear ไลน์รองเท้าในหมวดแฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่นำรองเท้า Nike Dunk สีคลาสสิกในอดีตรุ่นเก่าๆ กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง เช่น Nike Dunk ‘Be True to Your School’ แพ็กที่มาในฟอร์มโลว์ท็อปหรือ Nike Dunk Low ‘Ugly Duckling Pack’ ที่เป็นรองเท้าในไลน์ CO.JP ก็กลับมาวางจำหน่ายอีกครั้งในปีนี้เช่นกัน รวมไปถึง ​collaboration ใหม่ๆ ที่ Nike ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์และแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ​​COMME des GARÇONS, Cactus Plant Flea Market, Ambush และยังรวมไปถึงการอัพเดตดีไซน์ใหม่ของ Nike Dunk อีกครั้งด้วยเช่นกัน ซึ่งกระแสความนิยมดังกล่าวไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า Nike Dunk เป็นรองเท้าที่อยู่ในทุกยุคทุกสมัย มีส่วนร่วมและมีอิทธิพลต่างๆ มากมายในหลากหลายวัฒนธรรม จากรองเท้าบาสเก็ตบอลยุค 80s จนกลายมาเป็นที่ยอมรับในโลกของสเก็ตบอร์ดและแฟชั่นในปัจจุบัน จนวันนี้ดีไซน์อมตะกว่า 35 ปีก็ยังคงก้าวเดินทางต่อไปไม่มีหยุดยั้ง ในฐานะของไอคอนที่ครองใจคนทั่วโลก

AUTHOR

ILLUSTRATOR

จักรกฤษณ์ อนันตกุล

นักวาดภาพประกอบ ผู้ที่เคยเป็นซึมเศร้า แต่ได้รับชีวิตใหม่จากการติดตามพระเยซู ชีวิตนี้จึงรักการอ่านไบเบิล