Kapital : Cult Brand ที่หลอมวัฒนธรรมตะวันตกและรวมวิถีชีวิตตะวันออก เสื้อผ้าใหม่ที่ทำให้ดูเก่า และงาน Artisan ระดับพระเจ้า

Highlights

  • Kapital คือแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ Americana Vintage สัญชาติญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับนับถือในแวดวงเสื้อผ้า Heritage ในระดับ Niche Brand
  • Kapital ได้หลอมรวมวัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตกผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวตะวันออก จนกลั่นออกมาเป็นสไตล์เสื้อผ้าเฉพาะตัวที่ยากจะมีใครลอกเลียนแบบได้
  • Kapital เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในโลกแฟชั่นจากการทำเสื้อผ้าพิเศษร่วมกับแบรนด์ Louis Vuitton ในคอลเลกชั่น Spring/Summer 2013
  • สินค้าที่เป็นไอคอนของแบรนด์คือ Century Denim ยีนส์ที่มีอายุการใช้งานได้ถึง 100 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสื้อผ้าสไตล์ ​Americana นั้นมีอิทธิพลอย่างสูงต่อวัฒนธรรมการแต่งกายไปทั่วโลก โดยเสื้อผ้าสไตล์ ​Military Workwear ที่คนยุคก่อนสร้างสรรค์เอาไว้กลายมาเป็นสไตล์การแต่งตัวที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ถูกนำมาตีความหมายใหม่ที่แตกต่างกันออกไปในยุคปัจจุบัน ในโลกของเสื้อผ้าสไตล์ Americana Heritage ทั้งหลาย หนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจนกลายมาเป็น Cult Brand ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบที่ไม่มีใครเหมือนคือ Kapital แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นสไตล์ ​Americana Vintage Workwear ที่สร้างปรากฏการณ์และสไตล์เสื้อผ้าที่มีความพิเศษอย่างสูง

Kapital คือแบรนด์ที่หลอมรวมวัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตกผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวตะวันออก จนกลั่นออกมาเป็นสไตล์เสื้อผ้าเฉพาะตัวที่ยากจะมีใครลอกเลียนแบบได้

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Kapital นั้นมาจากคู่หูพ่อลูก Toshikiyo Hirata และ Kiro Hirata ในปี 1984 แต่ก่อนหน้าที่จะเป็น Kapital อย่างทุกวันนี้โทชิกิโยะเริ่มต้นมาจากการที่ตัวเองไม่มีพื้นฐานด้านการออกแบบหรือการผลิต สมัยที่ยังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในเมือง Kobe เจ้าตัวให้ความสนใจและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับคาราเต้ จนได้มีโอกาสเดินทางไปฝึกสอนวิชาคาราเต้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้โทชิกิโยะได้รู้จักกางเกงยีนส์ของอเมริกันเป็นครั้งแรก

หลังจากเดินทางกลับญี่ปุ่น โทชิกิโยะย้ายไปอยู่ที่เมือง Kojima จังหวัด Okayama ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองหลวงของยีนส์เดนิม และเริ่มต้นก่อตั้งแบรนด์ Kapital ขึ้นมา โดยมาจากการผสมกันของคำว่า Capital ที่หมายถึง ‘เมืองหลวง’ และตัวอักษร K ที่เป็นตัวอักษรแรกของเมือง Kojima ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘เมืองหลวงของเดนิม’ นั่นเอง

โทชิกิโยะเริ่มต้นศึกษากระบวนการผลิตต่างๆ ของยีนส์เดนิมและเรื่องธุรกิจในส่วนอื่นๆ ก่อนที่จะก่อตั้งโรงงานของเขาเองในปี 1984 โดยเริ่มต้นจากการ reproduce ยีนส์อเมริกันเหมือนแบรนด์เดนิมอื่นๆ ของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นจากการได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตก และเริ่มมีหน้าร้านของตัวเองในปี 1995 โดยขายเดนิมและเสื้อผ้าวินเทจ จนกระทั่งในปีต่อมาโทชิกิโยะก็ออกวางจำหน่ายไลน์ยีนส์เดนิมของตัวเองภายใต้รหัส ‘TH’ 

แต่จุดเปลี่ยนแปลงของ Kapital ที่กลายเป็นอย่างทุกวันนี้มีอิทธิพลหลักมาจากลูกชายชื่อคิโระ เมื่อคิโระอายุ 18 ปี เขาตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาในสายศิลปะ หลังจากเดินทางกลับมาญี่ปุ่นในปี 1996 คิโระเริ่มต้นทำงานในตำแหน่ง Apparel Designer ให้กับแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีชื่อ 45RPM โดยสไตล์เสื้อผ้าของ 45RPM นั้นเป็น Americana Inspried ที่มีโครงสร้างเสื้อผ้าที่สวยงามและงานย้อมครามที่สุดยอด การทำงานกับ 45RPM นี่เองที่ได้หล่อหลอมและขัดเกลาความสามารถในด้านการออกแบบและประสบการณ์ต่างๆ ของคิโระ จนกระทั่งในปี 2002 เขาตัดสินใจลาออกจาก 45RPM แล้วกลับมาสานต่อธุรกิจของพ่อและเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของ Kapital ใหม่ร่วมกัน

สไตล์เสื้อผ้าของ Kapital นั้นคือ Americana Vintage ที่ได้รับการยอมรับนับถือในแวดวงเสื้อผ้า Heritage ในระดับ Niche Brand ซึ่งยังคงให้ความเคารพรากเหง้าดั้งเดิมอย่างสูงเอาไว้ด้วยการผสมผสานเอาสไตล์เสื้อผ้าในแบบอเมริกันเข้ากับเทคนิคปะชุนผ้าโบราณของญี่ปุ่นอย่าง Sashiko ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนญี่ปุ่นยุคก่อน โดยแบรนด์เลือกใช้แพตเทิร์นโบราณจากชาวนาทางชนบทตอนเหนือของญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 17 มาทำให้กลายเป็นงานศิลปะชั้นสูงมากกว่าแค่งานปะชุนผ้าธรรมดาเท่านั้น เช่นเดียวกับเทคนิคการตัดต่อผ้าที่รู้จักกันในชื่อ Boro ที่เลือกใช้รูปแบบผ้าที่แตกต่างกันและการสร้างเลเยอร์ผ้าที่มีความสลับซับซ้อนและมีเอกลักษณ์พิเศษในแต่ละชิ้น นอกจากนั้นยังมีการนำภูมิปัญญาอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ เช่น การย้อมผ้าและเทคนิคพิเศษต่างๆ

ที่สำคัญในทุกๆ คอลเลกชั่นของ Kapital จะมีการนำเอาผ้าเช็ดหน้าวินเทจ (Bandanna) มาใช้ในการออกแบบเสมอๆ จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของแบรนด์ที่มีให้เห็นในทุกๆ คอลเลกชั่น ด้วยความที่เจ้าตัวหลงใหลและเก็บสะสมผ้าเช็ดหน้าเก่า โดยเฉพาะผ้าเช็ดหน้าแบรนด์ Elephant (แบรนด์ผ้าเช็ดหน้าสัญชาติอเมริกันที่ก่อตั้งขึ้นโดย Davis and Catterall ในช่วงต้นยุค 19s) และศึกษาลงลึกถึงประวัติความเป็นมาของผ้าเช็ดหน้าวินเทจดังกล่าว จนกระทั่งเปิดพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผ้าเช็ดหน้าวินเทจโดยเฉพาะชื่อ The Elephant Brand Bandanna Museum เมื่อปี 2017 ที่ออฟฟิศหลักของ Kapital เมือง Kojima, Okayama โดยภายในพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยผ้าเช็ดหน้าวินเทจมากมายที่คิโระเก็บรวบรวมไว้ บางชิ้นมีอายุมากกว่า 100 ปี นอกจากนั้นคิโระยังทำแบรนด์ผ้าเช็ดหน้าของตัวเองชื่อ Rat Brand โดยมีสัญลักษณ์เป็นหนูซึ่งมาจาก ‘ปีชวด’ อันเป็นปีเกิดของเจ้าตัว จากความหลงใหลดังกล่าวจึงไม่แปลกใจที่คิโระจะนำเอาผ้า Bandanna มาใช้ในทุกๆ คอลเลกชั่นเสื้อผ้าของ Kapital

 

ในปี 2010 คิโระได้แตกไลน์เสื้อผ้าเพิ่มเติมโดยใช้ชื่อ Kapital Kountry ด้วยการนำสินค้าของ Kapital ในไลน์ปกติมาทำใหม่อีกครั้ง โดยทั้งหมดเป็น ‘เสื้อผ้าใหม่’ ที่เน้นไปที่การทำให้เสื้อผ้าเหล่านั้นดูเหมือนผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ด้วยเทคนิคอย่างการซักผ้าและย้อมผ้า เพื่อทำให้เสื้อผ้าในไลน์ของ Kountry นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกเหนือไปจากนั้นยังใส่ลูกเล่นอื่นๆ เช่น การปัก​ Smiley Face ด้วยเทคนิคการปักแบบโบราณ หรือจงใจเย็บผ้าให้ดูไม่เรียบร้อยและสอดแทรกอารมณ์ขัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เสื้อผ้าของ Kapital Kountry มีความพิเศษเฉพาะที่ดูเหมือนจะผลิตขึ้นมาเพียงชิ้นเดียวในโลก 

ในขณะที่แบรนด์เสื้อผ้าอื่นๆ ต่างพยายามทำให้เสื้อผ้าของตนเองดูเหมือนของวินเทจที่ใส่มานานแล้วแต่ก็ยังคงดูออกว่าจงใจประดิษฐ์ขึ้นมา แต่เสื้อผ้าของ Kapital นั้นกลับทำให้ดูเหมือนผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานจริงๆ ด้วยเทคนิคเฉพาะตัวของแบรนด์

สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจในแต่ละคอลเลกชั่นของ Kapital นั้น คิโระได้มาจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นต่างเมืองหรือต่างประเทศ การพบปะผู้คนจากสถานที่เหล่านั้นส่งผลให้เขาได้นำเอาสิ่งที่ซึมซับมาใช้ในการออกแบบและสร้างธีมหลักของคอลเลกชั่นเสื้อผ้า 

ฉะนั้นเสื้อผ้าในแต่ละคอลเลกชั่นของ Kapital จะมีคอนเซปต์ที่แตกต่างกัน แต่ยังคงอยู่บนพื้นฐานของสไตล์ Americana Heritage รวมไปถึงการถ่ายภาพ Lookbook ในแต่ละซีซั่นด้วย โดยคิโระทำงานร่วมกับ Eric Kvatek ช่างภาพประจำผู้ถ่ายงานให้กับแบรนด์เสมอมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง Lookbook ของ Kapital นั้นได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งจุดขายด้วย 

ในช่วง 3-4 ปีแรกที่เริ่มต้น แบรนด์ Kapital ยังเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มภายในประเทศและคนที่สนใจแฟชั่นในแนวนี้เท่านั้น จนกระทั่งปี 2013 ที่คิโระได้ทำเสื้อผ้าพิเศษร่วมกับแบรนด์ Louis Vuitton ในคอลเลกชั่น​ ​Spring/Summer 2013 ซึ่ง Kim Jones ในตอนนั้นยังเป็น Artistic Director ของ Louis Vuitton เป็นคนที่สะสมผ้า Sashiko และ Boro อยู่แล้ว เขาชื่นชอบผลงานของคิโระและ Kapital มากๆ จึงชวนคิโระมาทำงานร่วมกัน และนับตั้งแต่นั้น Cult Brand อย่าง Kapital จึงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในโลกแฟชั่น โดยอีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลทำให้ผู้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้นคือนักร้องนักดนตรีชื่อดังอย่าง John Mayer ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของแบรนด์นี้ ส่วนศิลปินรายอื่นๆ ที่ชื่นชอบ Kapital และเป็นที่รู้จักก็อย่างเช่น ASAP Rocky หรือ Travis Scott เป็นต้น

 

ปัจจุบัน Kapital มีร้านทั่วญี่ปุ่น 17 สาขา ซึ่งแต่ละสาขาก็จะมีดีไซน์ร้านที่แตกต่างออกไป โดยแรงบันดาลใจในการออกแบบร้านขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศของเมืองดังกล่าว นอกจากนั้นในแต่ละสาขาก็จะมีสินค้าพิเศษเฉพาะสำหรับสาขานั้นๆ ด้วยความต้องการให้ลูกค้าของ Kapital ได้สัมผัสประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละสาขา

สำหรับสินค้าที่กลายมาเป็นไอคอนของแบรนด์ที่น่าสนใจก็เช่น Century Denim ที่สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ในวงกว้าง ด้วยความต้องการสร้างยีนส์ที่มีอายุการใช้งานได้ถึง 100 ปี นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อรุ่นกางเกงยีนส์ตัวนี้ ที่เป็นกางเกงยีนส์ผ้าดิบขนาด 12 ออนซ์ เย็บปักด้ายในสไตล์ Sashiko ทั้งตัว ที่เมื่อผ่านระยะเวลาการสวมใส่ไปสักพัก ก็จะสร้างเฟดขึ้นมาเป็นพิเศษจากบรรดาด้ายที่ปักลงบนเนื้อผ้าดังกล่าว หรือแจ็กเก็ต ​Ring Coat ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแจ็กเก็ตทหารรุ่น M-65 Field และเสื้อ Peacoat ที่เปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ที่สามารถเป็นได้ทั้งแจ็กเก็ต เสื้อคลุมและถุงนอนภายในตัวเดียว โดยใช้วัสดุหลากหลายประเภท

 

สองพ่อลูกอย่างโทชิกิโยะและคิโระเคยกล่าวเอาไว้ว่า ถึงแม้ว่าแบรนด์ Kapital จะมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น ทั้งการออกแบบและฐานการผลิต รวมไปถึงเทคนิคต่างๆ ที่ใช้ แต่ทั้งคู่ไม่อยากให้คำจำกัดความของแบรนด์ว่าเป็น ‘แบรนด์ญี่ปุ่น’ แต่อยากให้ Kapital เป็นแบรนด์ที่ผสมผสานทั้งวัฒนธรรมของญี่ปุ่นและวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ ซึ่งยังคงมีพื้นฐานจากความชอบของสองพ่อลูกที่มีความหลงใหลในสไตล์ Americana และความ Heritage สมัยเก่า โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างจุดเด่นที่น่าสนใจและงาน Craftsmanship ระดับสูง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Kapital ที่กลายมาเป็นอีกหนึ่ง Cult Brand ระดับ Artisan 

เพียงแค่เห็นก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าเสื้อผ้าที่ใส่นั่นคือ Kapital

AUTHOR

ILLUSTRATOR

จักรกฤษณ์ อนันตกุล

นักวาดภาพประกอบ ผู้ที่เคยเป็นซึมเศร้า แต่ได้รับชีวิตใหม่จากการติดตามพระเยซู ชีวิตนี้จึงรักการอ่านไบเบิล