เมื่ออันโดะมอบของขวัญให้เด็กๆ โอซาก้าเป็น Nakanoshima Children’s Book Forest

บทบาทหนึ่งของพื้นที่สาธารณะคือการเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในเมืองนั้นๆ เมื่อเมืองมีพื้นที่นอกบ้านมากมายและหลายหลากประเภท ผู้คนก็มีตัวเลือกกิจกรรมและโอกาสที่จะพบปะคนใหม่ๆ ได้ Nakanoshima Children’s Book Forest

ห้องสมุดสาธารณะคือตัวอย่างพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ถูกใช้เป็นแค่ที่พักผ่อนหย่อนใจหรือเป็น third place ให้คนมาอ่านหนังสือ นั่งทำงาน แต่บทบาทที่ห้องสมุดสาธารณะมีต่อเมืองคือการบ่งชี้ว่าเมืองนั้นๆ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้คนในเมืองมากแค่ไหน เพราะไม่ใช่แค่รวบรวมหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ แต่ห้องสมุดยังเป็นพื้นที่กลางในการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันขั้นพื้นฐาน

จึงไม่แปลกใจที่หลายๆ เมืองในต่างประเทศจะมีห้องสมุดสาธารณะกระจายตัวไปในละแวกชุมชนเล็กๆ ที่ใครๆ ก็เดินไปอ่านหนังสือพิมพ์ประจำวันทุกเช้า แวะหลังเลิกงานเพื่อยืมนิตยสารกลับมาอ่านที่บ้านสักเล่ม หรือแม้แต่เป็นที่ใช้เวลาด้วยกันของครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ ห้องสมุดสาธารณะหลายแห่งยังออกแบบสวยงามจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำเมืองนั้นๆ อย่างในประเทศไต้หวันก็มีห้องสมุดสาธารณะสาขาเป่ยโถว (Taipei Public Library Beitou Branch) ที่สวยจนเป็นแลนด์มาร์กของย่าน

ห้องสมุดสาธารณะสาขาเป่ยโถว รูปภาพจาก thestandnews.com

โดยทั่วไป ห้องสมุดสาธารณะจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเพราะถือเป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดเตรียมให้ประชาชน และค่อนข้างเน้นผู้ใช้งานหลักเป็นผู้ใหญ่หรือนักเรียนนักศึกษา ส่วนมุมหนังสือเด็กจะถูกจัดไว้แค่มุมเล็กๆ มุมหนึ่งที่มีหนังสือนิทานหรือการ์ตูน ครั้งนี้เราเลยอยากพาไปรู้จักห้องสมุดสำหรับเด็กโดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เพียงเป็นตัวอย่างในแง่การออกแบบห้องสมุดยังไงให้ถูกใจเด็ก แต่ยังน่าสนใจเพราะมันเริ่มต้นจากการเป็นของขวัญตอบแทนบ้านเกิดของคนคนหนึ่ง

Nakanoshima Children’s Book Forest คือห้องสมุดเด็กในเมืองโอซาก้าที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ตั้งอยู่บนเกาะริมแม่น้ำ Dojima-gawa ใกล้กับอาคารสำคัญของเมืองอย่าง Osaka City Central Public Hall ความเป็นมาของห้องสมุดเด็กนี้พิเศษมากตรงที่เป็นไอเดียริเริ่มของทาดาโอะ อันโดะ (Tadao Ando) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อดังที่ตั้งใจสร้างและบริจาคห้องสมุดแห่งนี้เป็นของขวัญให้บ้านเกิดตัวเอง อันโดะเข้าไปพูดคุยกับเทศบาลเมืองโอซาก้าตั้งแต่ปลายปี 2017 ว่าอยากสร้าง ‘ห้องสมุดที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ความหลากหลายของศิลปะ วัฒนธรรม และวรรณกรรม’ จนทางเทศบาลเมืองได้ตกลงมอบพื้นที่บริเวณ Nakanoshima Park ให้เพื่อใช้ก่อสร้างห้องสมุดแห่งนี้ ภายใต้คอนเซปต์สั้นและง่ายว่า growth ที่อันโดะเชื่อว่าหนังสือจะปลูกฝังการเติบโตทางจิตใจให้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาพร้อมที่จะ ‘กระพือปีกบิน’ ไปในอนาคต

ว่าด้วยเรื่องดีไซน์ ห้องสมุด 3 ชั้นแห่งนี้ถูกออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานของเด็กๆ เป็นหลัก (พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ก็เข้าใช้งานได้ แต่กฎของห้องสมุดระบุไว้ชัดเจนว่าที่นั่งเป็น priority ที่ต้องให้เด็กๆ นั่งก่อนนะ) แถมยังไม่ทิ้งลายเซ็นสถาปัตยกรรมของอันโดะที่เล่นกับแสงเงาและพื้นที่ว่าง ตัวอาคารภายนอกใช้วัสดุคอนกรีตเปลือยที่รูปฟอร์มเว้าโค้งล้อไปกับการไหลของแม่น้ำข้างเคียง และยังมีฟังก์ชั่นที่ช่วยควบคุมปริมาณของแสงธรรมชาติในระดับพอเหมาะกับการอ่านหนังสือ แต่ก็ไม่ได้จ้าจนทำลายหนังสือ

บันไดไม้โอ๊กเชื่อมระหว่างชั้น 2 กับชั้น 3 ยังเป็นพื้นที่ฮิตที่เด็กๆ มานั่งอ่านหนังสือกันได้อย่างสบายใจ ชั้นหนังสือที่สูงไปจนถึงเพดานตั้งใจให้ความรู้สึกว่าเด็กๆ กำลังวิ่งเล่นไปในป่าหนังสือสมกับชื่อที่ตั้งไว้ (แต่หนังสือก็ยังหยิบได้ง่ายจากชั้นล่าง) โต๊ะเก้าอี้ไม้สีสบายตาก็เลือกมาให้เข้ากับการใช้งานของเด็กและเพื่อความปลอดภัย

อีกไฮไลต์หนึ่งของห้องสมุดแห่งนี้คือห้อง break room ที่เป็นโถงให้เด็กๆ มานั่งพักผ่อนหรือนอนเกลือกกลิ้งได้ตามชอบ โดยมี projection mapping ลงบนกำแพงคอนกรีตโค้งความสูงกว่า 12 เมตร ฉายแอนิเมชั่นที่ร้อยเรียงเรื่องราวและประโยคจากหนังสือคลาสสิกเล่มต่างๆ ทั้งของญี่ปุ่นเองอย่าง Kiki’s Delivery Service หรือวรรณกรรมคลาสสิกอย่างเจ้าชายน้อย

พื้นที่สวน Nakanoshima Park ด้านนอกของห้องสมุดก็เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดให้เด็กๆ อยากหยิบหนังสือไปนั่ง-นอนอ่านบนสนามหญ้าเขียวๆ ในวันที่อากาศดีมากกว่าจะนั่งอยู่ที่โต๊ะสี่เหลี่ยมเล็กๆ โดยห้องสมุดอนุญาตให้หยิบหนังสือติดไปอ่านข้างนอกได้คนละเล่ม และภาพที่เห็นกันได้ตลอดก็คือพ่อแม่นั่งอ่านหนังสือร่วมกับลูกๆ ใต้ต้นไม้นั่นแหละ

ในขณะที่ห้องสมุดสาธารณะของผู้ใหญ่พยายามปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัล แต่ที่ Nakanoshima Children’s Book Forest ยังเชื่อว่าหนังสือที่เป็นเล่ม สัมผัสได้ มีขนาดเหมาะมือกับเด็กๆ ยังเป็นตัวเลือกที่ดีต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ มากกว่า อันโดะเชื่อว่าการอ่านหนังสือจะช่วยสร้างจินตนาการให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์

หนังสือของห้องสมุดแห่งนี้จึงไม่ได้แบ่งตามหมวดต่างๆ อย่างที่เราเห็นในห้องสมุดทั่วไปอย่างประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา แต่ทีมที่ปรึกษาของห้องสมุดอย่าง BACH ที่เชี่ยวชาญเรื่องการคัดสรรและจัดแสดงหนังสือเลือกที่จะแบ่งธีมหนังสือเป็น 12 ธีมที่ล้อไปกับความสนใจและเรื่องรอบตัวของเด็กๆ เช่น Let’s Play With Nature, For Animal Lovers ที่พูดถึงธรรมชาติและสัตว์รอบตัว หมวด Osaka → Japan → World ที่พูดถึงประวัติศาสตร์เมืองโอซาก้า ญี่ปุ่น และใหญ่ไปจนถึงระดับโลก หรือหมวด Thinking About Your Future ที่พาเด็กๆ ลองสำรวจดูว่าพวกเขาอยากโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน และหมวดที่เราว่าน่าสนใจมากคือ To live/To die ที่รวบรวมหนังสือภาพ บทกวี ที่พูดถึงความตายให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กันตั้งแต่ยังเด็ก ก็น่าสนใจว่ามันจะสร้างจินตนาการแบบไหนให้เด็กๆ กันนะ ซึ่งหนังสือหลายเล่มในห้องสมุดยังได้มาจากเพื่อนๆ ของอันโดะเองที่ช่วยกันบริจาคเข้ามาด้วย

ข้อแตกต่างสำคัญของห้องสมุดเด็กแห่งนี้คือการเป็นห้องสมุดสาธารณะที่ไม่ได้จัดตั้งด้วยมือและงบประมาณจากรัฐบาลหรือเมืองโดยตรง แต่เริ่มต้นจากคนธรรมดาทั่วไปที่อยากสร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้เป็นของขวัญแก่เมืองที่เติบโตมา สิ่งที่เราสนใจคือ แล้วห้องสมุดที่เปิดให้บริการฟรีแก่ทุกคนแบบนี้ (แถมยังไม่มีงบสนับสนุนหลักทุกเดือนๆ จากเมือง) จะสามารถอยู่รอดเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างคนในชุมชนได้ยืนยาวไหมนะ?

คำตอบที่พวกเขากำลังทดลองทำคือการเปิดรับบริจาคเงินจากทั้งบุคคลทั่วไปและในนามองค์กร ซึ่งเขามีรายละเอียดบอกในเว็บไซต์แบบละเอียดยิบและตรวจสอบได้ (แถมยังได้ภาษีคืน) ซึ่งใครก็ตามที่บริจาคเงินไม่ว่ากี่เยนก็จะมีรายชื่อขึ้นในเว็บไซต์ (ลองเข้าไปดูเล่นๆ ได้ที่ city.osaka.lg.jp ซึ่งจะพบว่าลิสต์รายชื่อยาวจนน่าตกใจ) คนที่บริจาคเงิน 100,000 เยนขึ้นไปจะได้ประกาศนียบัตรจากเทศบาลเมืองโอซาก้า ส่วนใครที่ใจป้ำบริจาค 300,000 เยนขึ้นไป ชื่อของคุณ (หรือชื่อองค์กร) จะปรากฏบนแผ่นป้ายรายชื่อติดที่ห้องสมุดกันไปเลย

เราคิดว่านี่เป็นกลยุทธ์ง่ายๆ ที่เชื้อเชิญให้ชาวเมืองบริจาคเงินส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เพื่อช่วยเหลือให้ห้องสมุดแห่งนี้มีอยู่ต่อไป ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นชาวโอซาก้าก็คงอยากให้ลูกๆ หลานๆ ได้ใช้ห้องสมุดที่ทั้งสวยและดีแบบนี้ไปนานๆ เหมือนกัน แถมการระดมทุนจากประชาชนยังช่วยให้ชาวเมืองรู้สึกว่าห้องสมุดนี้เป็นของพวกเขาจริงๆ และช่วยกันดูแลรักษาให้ห้องสมุดไม่เสื่อมโทรมในเร็ววัน

อีกหนึ่งโมเดลที่เราว่าเวรี่เจแปนนีส คือการทำของที่ระลึกสุดน่ารักมาช่วยสร้างรายได้ให้ห้องสมุดอีกทางหนึ่ง ไม่ต่างจากเวลาที่เราไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวหรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นสมุดโน้ต แก้วน้ำ กระบอกน้ำ tote bag หรือเสื้อยืด ที่ดีไซน์มาทั้งสินค้าสำหรับเด็กและผู้ใหญ่หัวใจเด็ก (เราแอบไปส่องในเว็บไซต์แล้วพบว่าน่ารักมากจนอยากสั่งออนไลน์มาเดี๋ยวนี้) นี่อาจเป็นอีกโมเดลธุรกิจง่ายๆ ที่ห้องสมุดสาธารณะของประชาชนสามารถทำได้เช่นกัน ยิ่งหากเป็นห้องสมุดที่มีการดีไซน์แบรนด์ดิ้งชัดเจนแบบนี้แล้วก็นับว่าเป็นแนวคิดที่ฉลาดมาก

ระยะเวลาไม่ถึงปีที่ห้องสมุดแห่งนี้เปิดให้บริการอาจยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ และจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่อันโดะและชาวเมืองตั้งใจไว้หรือเปล่า แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดตั้งแต่ตอนนี้แล้วก็คือ อันโดะและผู้คนในเมืองได้มอบพื้นที่การเรียนรู้แห่งใหม่ให้กับเด็กๆ ในเมืองของเขา และยังเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่คนเมืองทุกคนมอบให้แก่กันและกัน


อ้างอิง

architecturalrecord.com

designboom.com

kodomohonnomori.osaka

mrkjr.jp/en

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที