Tainan Spring ลานเล่นน้ำสาธารณะที่ชุบชีวิตห้างเก่าและชุบใจคนเมืองไถหนันไปพร้อมกัน

Tainan Springส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาพื้นที่สาธารณะหลายแห่งในต่างประเทศไม่ได้เริ่มด้วยการ ‘สร้าง’ พื้นที่ใหม่ขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ แต่เทรนด์ของการพัฒนาเมืองในปัจจุบันกำลังมุ่งไปสู่การ ‘สร้างใหม่’ (renovation, revitalization) จากพื้นที่เดิมหรือโครงสร้างเก่าที่ถูกทิ้งร้างและห่างหายจากการใช้งานไปตามวันเวลา เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ที่เหมาะสมกับความต้องการที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยให้กับพื้นที่นั้น

ไต้หวันเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการจัดการพื้นที่สาธารณะโดดเด่น เพราะรัฐต้องการสนับสนุนให้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านแทนที่จะอุดอู้อยู่ในอพาร์ตเมนต์ส่วนตัว พื้นที่สาธารณะของไต้หวันจึงกระจายไปในย่านชุมชนต่างๆ ทั้งในฐานะที่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย วิ่งเล่น และเป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มาเจอหน้ากัน

Huashan 1914 Creative Park ภาพจากเฟซบุ๊ก 華山1914文化創意產業園區

หนึ่งในโมเดลการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เราเห็นกันบ่อยจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของไต้หวันไปแล้วคือแนวคิด urban regeneration หรือการชุบชีวิตอาคารร้าง โรงงานเก่า หรือพื้นที่ในช่วงยุคการพัฒนาอุตสาหกรรมช่วงปี 1960-1989 ของไต้หวัน ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่อย่าง creative space ในหลายๆ เมือง เช่น Huashan 1914 Creative Park ในไทเปหรือ Pier-2 Art Center ที่เมืองทางใต้อย่างเกาสง

Pier-2 Art Center ภาพจากเฟซบุ๊ก 駁二藝術特區 The Pier-2 Art Center

ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะแห่งล่าสุดในไต้หวันที่เราว่าน่าสนใจมากคือ Tainan Spring ลานสระน้ำกลางแจ้งใจกลางเมืองแห่งแรกของไต้หวันซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองไถหนัน เมืองทางฝั่งตะวันตกตอนใต้ของเกาะ งานนี้เป็นผลงานการออกแบบของ MVRDV บริษัทสถาปนิกสัญชาติดัตช์ที่ร่วมมือกับโลคอลพาร์ตเนอร์หลายส่วน ทั้งบริษัทสถาปนิก ภูมิสถาปนิก และไลต์ติ้งดีไซเนอร์ ดังนั้นแม้ว่าจะถูกออกแบบโดยชาวยุโรป แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังตอบโจทย์บริบทและความต้องการของคนไต้หวันได้ครบถ้วน

ไถหนันเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไต้หวัน รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่และขึ้นชื่อเรื่องอาหารอร่อย ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมในช่วง 70s โดยพื้นที่ปัจจุบันของสระน้ำเคยเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า China Town Mall สร้างเมื่อปี 1983 ในใจกลางเมืองซึ่งใกล้กับท่าเรือและคลองไถหนัน รองรับอุตสาหกรรมประมงที่รุ่งเรืองสุดๆ ของไถหนันในยุคนั้น แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนผ่าน ห้างที่ดูทันสมัยก็ค่อยๆ ตกยุคและไม่มีใครมาเดินจนต้องปิดตัวลงเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา โดยทิ้งโครงสร้างตึกเก่าไว้บนถนน Haian

หน่วยงาน Urban Development Bureau ของเทศบาลเมืองไถหนันจึงริเริ่มโครงการฟื้นฟูย่าน T-Axis บริเวณถนน Haian นี้ให้กลับมาคึกคักใหม่อีกครั้ง โดยเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองและแก้ปัญหาการจราจรติดขัดโดยการปรับผังการเดินรถให้เป็นเส้นทาง one-way หนึ่งใน flagship project ก็คือการพัฒนา Tainan Spring ให้สะท้อนเอกลักษณ์ใหม่ของเมือง ชุบชีวิตใหม่ให้กับย่านและผู้คนที่อยู่อาศัยไปพร้อมกัน

หลักการออกแบบลานเล่นน้ำสาธารณะแห่งนี้ใช้แนวคิดความยั่งยืนที่เรียกว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของแทบทุกธุรกิจทั่วโลก ในบริบทของวงการสถาปัตยกรรมก็คือการใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างเดิมโดยไม่ทุบทิ้งหรือทำลายไป (หรือการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลได้)

ทีม MVRDV เลือกเก็บโครงสร้างเสาคอนกรีตเปลือยบางส่วนของตัวห้างฯ เดิมไว้เป็นโครงสร้างหลักของลานสระน้ำให้ยังได้กลิ่นอายของอดีต และเปลี่ยนลานจอดรถเก่าชั้นใต้ดินให้เป็นลานสระน้ำพื้นที่ 56,000 ตารางเมตร ซึ่งออกแบบลูกเล่นให้พื้นที่มีทั้งส่วนเปียกและส่วนแห้งให้เดินขึ้น-ลงได้พอสนุก เกาะกลางที่ล้อมรอบด้วยน้ำ หรือบางส่วนของสระน้ำก็อยู่ใต้ทางเดินระดับที่ผู้ใหญ่ต้องก้มหัวเดิน ส่วนบริเวณรอบๆ พื้นที่ก็มีห้องน้ำและมีมุมกว้างพอที่ทั้งครอบครัวจะมานั่งกางเสื่อรอลูกๆ เล่นน้ำได้ทั้งวัน มุมหนึ่งของชั้นใต้ดินยังจัดแสดงนิทรรศการขนาดย่อม เล่าความเป็นมาของการออกแบบพื้นที่พร้อมกับโชว์โครงสร้างเก่าของห้างไว้ให้คนมาเดินชมด้วย

Tainan Spring เปิดให้ใช้งานเมื่อเดือนมีนาคมปี 2020 และกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ให้กับชาวเมืองไถหนัน ชาวไต้หวัน รวมไปถึงนักเรียนต่างชาติอย่างเราเองที่ตั้งใจนั่งรถไฟลงใต้ไปไถหนันเพื่อดูงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งพอได้ไปเห็นด้วยสายตาตัวเองเราถึงพบว่างานนี้ประสบความสำเร็จตรงที่มันดึงดูดให้ชาวเมืองมาใช้งานได้จริงๆ ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ที่สวยเก๋แต่ไม่มีใครกล้ามาใช้ แถมการเปิดพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ยังช่วยให้ร้านรวงท้องถิ่นรอบข้างคึกคักมากขึ้น และตอนกลางคืนที่นี่ยังเปิดไฟสว่างช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เมือง ซึ่งในอนาคตลานสระน้ำนี้อาจเปิดพื้นที่ให้มีร้านค้าหรือเปิดพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย

จริงๆ แล้วโมเดลสวนน้ำหรือสระว่ายน้ำสาธารณะ (public pool, open public bath) ไม่ใช่เรื่องใหม่และมีเคสตัวอย่างที่เราเห็นได้บ่อยในประเทศยุโรปหรือแถบสแกนดิเนเวีย เช่น Ribersborgs Kallbadhus พื้นที่กึ่งสระน้ำกลางแจ้งในเมืองมัลโม ประเทศสวีเดน, Kalvebod Brygge ทางเดินริมแม่น้ำกลางเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ภาพหนุ่มสาวกระโดดน้ำกลางเมืองกลายเป็นภาพชินตา, Sørenga Seawater Pool ที่เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ก็เป็นอีกตัวอย่างของสระว่ายน้ำน้ำทะเลกลางแจ้งที่กั้นพื้นที่ทะเลบางส่วนให้เป็นสระลู่และเล็กตื้นสำหรับเด็กๆ หรือแม้แต่ในไต้หวันเองก็มี Heping Island Park ในเมืองจีหลงที่เป็นสระว่ายน้ำริมทะเลกลางแจ้งเช่นกัน

Heping Island Park ภาพจากเฟซบุ๊ก 和平島公園 Heping Island Park

แม้ว่าแนวคิดการออกแบบลานเล่นน้ำจะได้อิทธิพลมาจากสระน้ำสาธารณะที่อ้างอิงกับวิถีชีวิตสาธารณะของชาวยุโรป แต่จุดที่ทำให้ที่นี่น่าสนใจคือมันแค่ปรับเพียงนิดเดียวก็ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนเอเชียได้แล้ว

ข้อแรกที่เรามองเห็นคือที่นี่เป็นลานสระน้ำที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่มีจุดมุ่งหมายไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวเมืองได้ทุกวันทุกเวลา ตั้งแต่หนุ่มสาวที่อยากแวะมานั่งเล่นหลังเลิกเรียนหรือเลิกงาน พ่อแม่ที่พาลูกๆ มาเล่นน้ำในวันหยุดสุดสัปดาห์โดยไม่ต้องขับรถออกไปไกลถึงนอกเมือง ลานสระน้ำนี้เลยตอบโจทย์คนเอเชียที่อาจไม่ได้ต้องการที่อาบแดดกลางแจ้งหรือที่กระโดดน้ำลงแม่น้ำเย็นเจี๊ยบ แต่ขอแค่มีพื้นที่ในเมืองไว้นั่งพักใต้ต้นไม้ ได้เปลือยเท้าเอาขาแช่น้ำและวิ่งเล่นไปมาก็พอใจแล้ว (อย่างเราที่ไม่ได้เตรียมจะไปเล่นน้ำเต็มที่ก็พอใจกับการเอาขาแช่น้ำได้เป็นชั่วโมงๆ)

ฟังก์ชั่นของลานสระน้ำที่ใส่ใจถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลก็เป็นข้อหนึ่งที่เราประทับใจ อย่างที่รู้กันดีว่าอากาศของไต้หวันนั้นเปลี่ยนแปลงบ่อยสุดๆ ในฤดูร้อนที่อุณหภูมิเฉียด 40 องศาเซลเซียส น้ำในสระน้ำจะถูกปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะพร้อมกับมีละอองน้ำเย็นๆ ปล่อยออกมาทั่วลานเป็นระยะเพื่อช่วยดับร้อนและเติมความสดชื่น เช่นกันกับที่น้ำจะถูกปรับอุณหภูมิให้อุ่นขึ้นในฤดูหนาว รวมถึงระดับน้ำในสระไม่ได้ตื้นเกินที่เด็กเล็กจะวิ่งไม่สนุก แต่ก็ไม่ลึกเกินอันตราย และระดับน้ำจะถูกปรับตามแต่ละช่วงเวลาและสภาพอากาศด้วย

ลานเล่นน้ำใจกลางเมืองไถหนันนี้คือตัวอย่างการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เริ่มคิดจากสิ่งที่เมืองมีและปัญหาที่เมืองกำลังเผชิญ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับนักพัฒนาเมืองที่อยากศึกษาว่าจะเอาโมเดลจากวัฒนธรรมอีกซีกโลกหนึ่งมาปรับใช้ให้เข้ากับคนอีกซีกโลกได้ยังไง และจะสร้างความหมายใหม่ให้กับโครงสร้างเก่าที่ถูกทิ้งร้างได้ยังไงเพื่อให้ได้พื้นที่สาธารณะที่สวยทั้งหน้าตา ดีทั้งฟังก์ชั่น สามารถพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนไปพร้อมกัน

ตัวอย่างการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เริ่มคิดจากสิ่งที่เมืองมีและปัญหาที่เมืองกำลังเผชิญ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับนักพัฒนาเมืองที่อยากศึกษาว่าจะเอาโมเดลจากวัฒนธรรมอีกซีกโลกหนึ่งมาปรับใช้ให้เข้ากับคนอีกซีกโลกได้ยังไง และจะสร้างความหมายใหม่ให้กับโครงสร้างเก่าที่ถูกทิ้งร้างได้ยังไง เพื่อให้ได้พื้นที่สาธารณะที่สวยทั้งหน้าตา ดีทั้งฟังก์ชั่น สามารถพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนไปพร้อมกัน ตัวอย่างการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เริ่มคิดจากสิ่งที่เมืองมีและปัญหาที่เมืองกำลังเผชิญ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับนักพัฒนาเมืองที่อยากศึกษาว่าจะเอาโมเดลจากวัฒนธรรมอีกซีกโลกหนึ่งมาปรับใช้ให้เข้ากับคนอีกซีกโลกได้ยังไง และจะสร้างความหมายใหม่ให้กับโครงสร้างเก่าที่ถูกทิ้งร้างได้ยังไง เพื่อให้ได้พื้นที่สาธารณะที่สวยทั้งหน้าตา ดีทั้งฟังก์ชั่น สามารถพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตของคนไปพร้อมกัน

หมายเหตุ มีการระงับการปล่อยน้ำในลานสระน้ำชั่วคราวตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2020 เนื่องจากนโยบายประหยัดน้ำในฤดูแล้งของไต้หวัน แต่ยังสามารถเข้ามานั่งเล่นหรือเดินเล่นในลานสระน้ำ (ที่ไม่มีน้ำ) ได้ รอให้ถึงฤดูฝนแล้วเราจะกลับมาเล่นน้ำกันอีกนะ 😊


อ้างอิง

designwanted.com

floornature.com

mvrdv.nl

theguardian.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที