เครียดสุดเครียดและเคว้งสุดเคว้ง ความท้าทายของสุขภาพจิตที่มากับโรคระบาด

ตั้งแต่คนที่ถูกกักตัวอยู่ในบ้านจนถึงคนทำงานแนวหน้าด้านการแพทย์ โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบเรื้อรังต่อภาวะสุขภาพจิตมวลรวมของคนในสังคม ความท้าทายต่อไปคือการรักษาสุขภาวะทางจิตให้ดำเนินต่อไปยังไง หากความเครียดได้กัดกินเราด้วยข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้ศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรที่แตกต่างกันของแต่ละคน

บางคนอาจแค่เบื่อหน่าย แต่หลายคนอาจต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

ถึงตอนนี้เราคงคุ้นกับคำว่า ‘การเว้นระยะห่างทางสังคม’ จนชินชาหู แต่ความรู้สึกลึกๆ ก็ยังหวั่นไหวเมื่อมองไปถึงอนาคตข้างหน้า การทำ social isolation มักเป็นส่วนหนึ่งในงานศึกษาวิจัยด้านจิตวิทยาที่นานๆ ทีจะมีการทำกันสักครั้ง แต่ตอนนี้มันกลายเป็นการทดลองหมู่ที่คนทั่วโลกมีส่วนร่วมอย่างไม่เต็มใจ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงนั้น การเว้นระยะห่างและกักตัวเป็นมาตรการของรัฐที่บังคับใช้เข้มงวด

การเว้นระยะห่างทางสังคมช่วยลดการระบาดของโรค แต่มีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งการสูญเสียอาชีพ เสียรายได้ ต้องแยกจากคนใกล้ชิด หรือจำเป็นต้องใกล้ชิดคนไม่อยากเข้าใกล้ด้วยจนเป็น toxic relationship ที่น่าอึดอัดใจ ลูกหลานหลายบ้านไม่ได้ไปโรงเรียน เพิ่มรายจ่ายให้สูงขึ้น การต้องมีชีวิตด้วยทรัพย์สินเก่าเก็บที่มีอยู่น้อยนิด และความวิตกกังวลต่อสุขภาพว่าเราจะเป็นผู้ติดเชื้อรายต่อไปหรือไม่ ความวิตกกังวลเหล่านี้กินระยะเวลานาน ถึงแม้สถานการณ์ไวรัสจะคลายไป แต่สภาพจิตใจผู้คนยังคงสับสน

ปัญหาใหญ่ต่อไปของโลกคือ ‘ปัญหาสุขภาพจิต’

เมื่อการปิดเมืองเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์

การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นมาตรการจำเป็นและพื้นฐานที่สุดที่ทุกประเทศเลือกใช้ แต่นี่คือการแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อหวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้น้อยที่สุด หากเรามองจากกราฟจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตแล้ว เราจะได้ยินคำว่า flattening the curve คือ ทำให้เจ้ายอดกราฟผู้ติดเชื้อใหม่นั้นนิ่ง ไม่ทะยานชันไปมากกว่านี้

การล็อกดาวน์ ไม่ใช่แผนระยะยาว การปิดเมืองได้ทำลายรูปแบบการใช้ชีวิตมนุษย์ เราจึงควรออกจากการปิดกั้นเพื่อไม่ให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับความเสียหาย รวมไปถึงสุขภาวะทางจิตของประชาชนอันเปราะบางที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา

แน่นอนว่าแม้สถานการณ์จะรุนแรงเพียงไร แต่ในสังคมหรือคนใกล้ตัวคุณก็ยังพอมีคนที่สามารถจัดการกับภาวะอารมณ์ตัวเองด้วยกลยุทธ์รับมือ (coping strategies) พอประคับประคองตัวเองไปได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกที่ความเครียดจากโรคระบาดนี้อาจกินระยะเวลายาวนาน

แม้คุณจะคิดว่าจิตใจได้เตรียมพร้อมแล้ว แต่ก็อาจมีบางจังหวะที่ตัวเองหลุดอย่างไม่รู้ตัว นี่ไม่ใช่เกมชักกะเย่อที่ใครปล่อยมือหลุดก่อนแพ้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอันแสนเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมเสมอ

 

ถึงตอนนี้เรายังไม่เห็นกรมสุขภาพจิตสำรวจภาวะสุขภาพจิตของคนไทยในช่วงโรคระบาด แต่ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มล็อกดาวน์เข้มข้น มีผลสำรวจว่า ประชาชนอังกฤษถึง 40% รู้สึกว่าตัวเองเข้าสู่ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า และความเครียดสะสมจากการถูกกักตัวเป็นเวลานาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตมวลรวมของประเทศ ทันใดนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ‘บอริส จอห์นสัน’ ถูกหามส่งโรงพยาบาลหลังติดเชื้อโควิด-19 ความวิตกกังวลของผู้คนก็ถีบตัวสูงไปถึง 60% ถือเป็นเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นทางสังคมจนอาจกล่าวได้ว่า ปัญหาสุขภาพจิตจะเป็นคลื่นระบาดระลอกต่อไป (next wave epidemic)

แม้โควิด-19 จะค่อยๆ เบาบางลง แต่คนในสังคมจะมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องต่อสู้กับสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตในสภาวะพิเศษ เช่น จิตวิทยาที่ว่าด้วยโรคระบาดและการกักกันตัว (psychology of epidemics and quarantine) เพื่อเข้าใจกลไกการตอบสนองทางจิตใจของมนุษย์ในเวลาฉุกเฉิน การพยายามเชื่อมบาดแผลในใจ และบรรเทาประสบการณ์อันรุนแรงจากความสูญเสีย เช่นเดียวกับการรับมือการก่อการร้ายและภัยธรรมชาติ

อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตเมื่ออยู่ในช่วงกักกันตัวคือ สถานที่นั้นๆ ที่คุณจำเป็นต้องอาศัยอยู่ แต่ละคนมีสภาพพื้นที่ใช้สอยไม่เหมือนกัน คนในเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แคบ มองไปทางไหนก็เจอห้องสี่เหลี่ยม หากเทียบกับคนต่างจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างกว่า มีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าคนเมืองที่อยู่ติดที่ คนในเมืองจึงอาจเกิดความเสี่ยงความเครียดสะสม หากอิงกับการวิจัยผ่านแบบสอบถามที่เกิดขึ้นในอังกฤษนั้น คนในเมืองเสี่ยงเสียสุขภาพจิตมากกว่าถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

การล็อกดาวน์คือการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ และรัฐจำเป็นต้องรับผิดชอบสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่เปลี่ยนไป ถ้าการกักกันดำเนินไปอย่างเป็นแบบแผน จะลดการสร้างภาระทางจิตใจให้กับประชาชน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว แต่หากการกักกันตัวอยู่ในขั้นเลวร้ายไม่มีแผนเยียวยาที่รัดกุมและใช้ได้จริง สิ่งที่ตามมาคือภาวะวิตกกังวล เครียดเรื้อรัง ภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย

แม้คนในสังคมส่วนใหญ่จะสามารถรับมือได้ ค่อยๆ เยียวยาตัวเองได้ภายในเดือนต่อๆ มาโดยไม่จำเป็นต้องเข้าพบกับจิตแพทย์ แต่กลุ่มคนเปราะบางจะได้รับผลกระทบที่รุนแรง เสี่ยงต่อการเผชิญภาวะซึมเศร้า และอาจฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้จำเป็นต้องยกขึ้นมาอภิปรายด้วยเช่นกัน

มีหลายปัจจัยที่ทำให้การกักกันดำเนินไปได้ด้วยดี อย่างน้อยต้องไม่สร้างภาระต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่เป็นอยู่ ยังคงมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้เรารู้สึกเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ไม่รู้สึกว่าถูกตัดขาดความสัมพันธ์ ยังสามารถทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ และที่สำคัญคือต้องรู้สึกว่าสถานภาพทางการเงินไม่เป็นอัมพาต ปัจจัยเหล่านี้เชื่อมโยงกันเป็นใยแมงมุมแห่งสมดุล การที่สัดส่วนใดหายไปจะทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อการใช้ชีวิต การกักกันจึงต้องไม่กินระยะเวลายืดเยื้อนานจนเสียสมดุลทั้งหมด

ถึงจุดนั้น โควิด-19 จะเป็นประเด็นหลังๆ ไปเสีย เพราะปากท้องและสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้

ความเหงาภายใต้การกักกัน

แม้หลายคนจะอาศัยในที่พักพร้อมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว แต่กลายเป็นว่าการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันเยียวยาจากความเหงา แม้จะถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนในมิติเชิงกายภาพ แต่จิตใจกลับไม่ได้ผูกพัน

ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวปรากฏมากขึ้น ความระหองระแหงในคู่แต่งงานสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้เรื่องพื้นที่ การถูกจำกัดกิจกรรม พฤติกรรมถูกสอดส่องตลอดเวลาจนขาดความเป็นส่วนตัว ส่งผลให้เกิดขีดจำกัดทางจิตใจ คุณจะพบว่าอะไรที่เคยคิดว่าสามารถทำได้ หรือพอที่จะเป็นไปได้ ทำจริงได้ยากขึ้นและรู้สึกมีข้อจำกัดมากกว่าที่คาดไว้

การที่มนุษย์ไม่สามารถมีกิจกรรมใดๆ นำไปสู่ ‘ภาวะนิ่งงัน’ (dormant state) จากข้อจำกัดทางสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม ความเครียดจากการกักตัวรบกวนระบบการเผาผลาญในร่างกายที่ทำงานน้อยลง มีระยะเวลาการนอนที่ยาวนานขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ลดลง ความจำแย่ จากการอยู่ในพื้นที่ปิด และทำกิจกรรมซ้ำๆ ไปมา

 

แม้กิจกรรมทางสังคมจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ การออกไปพบปะสังสรรค์ยังขัดต่อข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้หมายความว่าการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะยุติลง เราจำเป็นต้องรักษาสายสัมพันธ์ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่เฉพาะในกรณีโควิด-19 แต่เมื่อเราเผชิญกับความสูญเสียในชีวิต การมีใครสักคนให้พูดคุยยังคงจำเป็น มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการการรับฟังจากคนอื่นๆ

จิตแพทย์แนะนำว่าหากคุณรู้สึกเครียด วิตกกังวล ก็อย่าทำเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วเก็บมันไว้คนเดียว การส่งสัญญาณยอมรับว่ากำลังเครียด ช่วยให้ผู้อื่นรับรู้สถานการณ์ชีวิตหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ยังพอที่จะเอื้อมมือเข้ามาช่วยเหลือกันได้

กิจวัตรที่สำคัญไม่น้อยในระหว่างการระบาดของโรคคือการกลับมาสำรวจการดูแลตนเอง (self-care)ในแต่ละวัน แม้สถานการณ์ภายนอกจะเปลี่ยนแปลงรบกวนรูปแบบชีวิต แต่การดูแลตัวเองต้องดำเนินไปให้ได้รับผลกระทบน้อยหรือมีความยืดหยุ่นที่จะปรับตัว

คุณยังต้องการอาหารที่มีคุณค่า การนอนในเวลาพอเหมาะ และการออกกำลังกายสม่ำเสมอเฉกเช่นเดียวกับในภาวะปกติ การออกกำลังกายอาจต้องปรับให้สอดคล้องกับกิจกรรมภายในบ้าน เช่น การทำงานบ้าน จัดระเบียบสิ่งของ ยังเป็นกิจกรรมที่เรียกเหงื่อได้ดี  หรือการทำกิจกรรมสันทนาการเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยให้ได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว

ถึงแม้ช่วงนี้เราจะสาละวนกับเรื่องราวของตัวเองเยอะขึ้น การเอาใจใส่ผู้อื่นในสังคมก็ช่วยให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวได้ หากคุณไม่จำเป็นต้องถูกกักตัว การรักษาระยะห่างทางสังคมยังเป็นสิ่งจำเป็น รักษาความสะอาดของตัวเองอยู่เสมอ หากคนใกล้ตัวประสบปัญหาในการเข้าถึงสิ่งของจำเป็น การหยิบยื่นเอื้อเฟื้อให้แก่กัน สังเกตความต้องการของคนข้างบ้านว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร โดยเฉพาะผู้สูงอายุในชุมชน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับคนในชุมชนโดยอิงข้อมูลที่ถูกต้อง และหากในชุมชนมีผู้ป่วยที่เคยมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ควรตีตราทางสังคม (stigmatize) การแสดงออกถึงน้ำใจและความเอื้อเฟื้อยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงกระทำในสถานการณ์ยากลำบาก และช่วยทำให้เราประคับประคองจิตใจไว้ได้

แต่หากว่าความรู้สึกวิตกกังวลนั้นเรื้อรังจนเกินรับมือ จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล การขอความช่วยเหลือไปยังจิตแพทย์ยังเป็นเรื่องปกติที่ควรทำ เพื่อสำรวจความวิตกกังวลและอาจหาแนวทางร่วมกันในการเยียวยาในช่วงเวลาแบบนี้

ไม่ว่าโลกจะขับเคลื่อนไปทางไหน โลกยังต้องการความร่วมมือจากมนุษย์ แม้พื้นที่ในการใช้ชีวิตของพวกเราถูกจำกัด แต่พื้นที่แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ไม่ได้ถูกบีบให้แคบลงไปด้วย

รักษาภาวะทางจิตและความเป็นมนุษย์เอาไว้ในระยะยาว เพราะความงดงามของมนุษย์ไม่ได้ถูกลบล้างเพียงโรคระบาดหรอก

 

อ้างอิง

APS Backgrounder Series: Psychological Science and COVID-19: Social Impact on Adults

Coronavirus Anxiety Scale: A brief mental health screener for COVID-19 related anxiety

The Fear of COVID-19 Scale: Development and Initial Validation

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน