อะไรคือความเป็น ‘มนุษย์’ หากเส้นแบ่งที่ว่านี้เลือนรางจากการทดลองข้ามสายพันธุ์

Highlights

  • 'มนุษย์เป็นผลผลิตจากวิวัฒนาการกินระยะเวลายาวนานกว่า 300 ล้านปีจากรูปแบบชีวิตและโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนอะไรมากจนมีสมองอันปราดเปรื่องจนยากจะหาสายพันธุ์ใดในโลกเทียบเคียง
  • ความก้าวหน้าทางวิทยาการและการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์กำลังพาเราเข้าสู่ยุค 'คิเมียรายุคสัตว์ผสมมนุษย์ เกิดการดัดแปลง ปรับเปลี่ยน ทำให้มนุษย์ต้านโรคดีขึ้น มีภูมิต้านทานมากขึ้น
  • ในอนาคตแทบจะไม่มีมนุษย์พันธุ์แท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ช่วงที่ผ่านมาจึงมีกระแสเรียกร้องว่า สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการทดลองควรได้รับการคุ้มครองเช่นกัน สิ่งที่มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์หรือครอบคลุมถึงเนื้อเยื่อมนุษย์
  • คำถามที่ตามมาคือ เราจะเรียกสิ่งมีชีวิตพวกนี้ว่าสัตว์อยู่อีกไหม ในขณะที่พวกมันถูกทำให้เป็นมนุษย์มากขึ้น

เราจะเรียกตัวเองว่ามนุษย์ที่แท้จริงอยู่ไหม หากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มีส่วนประกอบของมนุษย์เจือปนอยู่

ความก้าวหน้าทางวิทยาการและการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ลบเส้นแบ่งให้เลือนรางลงเรื่อยๆ เรากำลังเข้าสู่ยุค ‘คิเมียรา’ ยุคสัตว์ผสมมนุษย์ ผลผลิตแปลกประหลาดจากการทดลอง

สิ่งที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ เป็นผลผลิตจากวิวัฒนาการกินระยะเวลายาวนานกว่า 300 ล้านปี จากรูปแบบชีวิตและโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อนอะไรมากไปกว่าลอยเท้งเต้งในน้ำ ดิ้นรนให้อยู่รอดผ่านทั้งช่วงมืดหม่นและสว่างโชติช่วง กระบวนการแห่งชีวิตอันยาวนานทำให้เรามีสมองอันปราดเปรื่องจนยากจะหาสายพันธุ์ใดในโลกเทียบเคียง มนุษย์นั้นมาไกลเหลือเกิน

แต่ปลายปีที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนนำยีนสมองมนุษย์ไปปลูกถ่ายในสมองลิงจำนวน 11 ตัว พวกมันเป็นลิงกลุ่มแรกๆ ที่มีส่วนผสมของสมองมนุษย์ ผลปรากฏว่าลิงทั้ง 11 ตัวสามารถผ่านการทดสอบเกี่ยวกับการใช้ทักษะความทรงจำระยะสั้น (short-term memory) เอาชนะลิงตัวอื่นๆ ไปอย่างน่าอัศจรรย์  และมีแนวโน้มว่า ‘ลิงสมองมนุษย์’ จะสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ คำถามที่ตามมาคือ เราจะยังเรียกลิงพวกนี้ว่า ‘ลิง’ (monkey) อยู่อีกไหม ในขณะที่พวกมันถูกทำให้เป็นมนุษย์มากขึ้น

ในอนาคตมีงานวิจัยจำนวนมากที่จ่อคิวทำให้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์บางลงเรื่อยๆ เราต้องเผชิญคำถามที่ตอบยากขึ้นในอนาคต

ภาพจาก : Juan Carlos Izpisua Belmonte

นอกจากนี้การวิจัยสร้างหมูทดลองที่มียีนมนุษย์ผสมเรียกว่า Chimera หรือมีความพยายามนำเซลล์สมองของมนุษย์มาทดลองเลี้ยงในจานเพาะเชื้อ พบว่าเซลล์เหล่านั้นพยายามที่จะสื่อสารกัน และในอนาคตความเป็นไปได้ในการสร้างมนุษย์สังเคราะห์โดยการนำสเตมเซลล์มนุษย์ที่ดูเหมือนตัวอ่อนมนุษย์มาเลี้ยงโดยไม่จำเป็นต้องมีการปฏิสนธิ

เรากำลังเข็นสิ่งมีชีวิตผสมผสานออกจากห้องปฏิบัติการ แล้วเราจะหาอะไรมานิยามเพื่อออกแบบระเบียบวิจัยและขอบเขตเชิงจริยธรรมมารับมือ

ช่วงที่ผ่านมาจึงมีกระแสเรียกร้องว่า สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการทดลองควรได้รับการคุ้มครองเช่นกัน สิ่งที่มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์หรือครอบคลุมถึงเนื้อเยื่อมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเห็นด้วยว่า สมควรมีกฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่ในการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตลูกผสม ถ้าสิ่งมีชีวิตนั้นถูกจงใจทำให้ ‘คล้ายมนุษย์’ ก็สมควรได้รับการปกป้องแบบมนุษย์ใช่หรือไม่ ดังนั้นข้อเสนอนี้จึงยิ่งทำให้เรานิยามกรอบความเป็นมนุษย์ใหม่ในศตวรรษที่ 21 และศตวรรษถัดๆ ไป

สิ่งมีชีวิตจากการทดลองควรนิยามว่าอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเรายังไม่เข้าใกล้สิ่งมีชีวิตเสมือนมนุษย์แบบภาพยนตร์ sci-fi เร็วๆ นี้ แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องของเวลาเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้ววิทยาการมีความเป็นไปได้สูงว่าเราสามารถทำได้ ในอนาคตเราจะเผชิญความยุ่งยากทางจริยธรรม และหากได้คำตอบช้าเกินไปเราอาจถูกบังคับแบบไร้ทางเลือก

 

แล้วอะไรคือมนุษย์

การนิยามมนุษย์ขึ้นใหม่และสิ่งมีชีวิตที่เสมือนมนุษย์ เป็นประเด็นที่ Bartha Knoppers นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย McGill University และ Hank Greely จากมหาวิทยาลัย Stanford University หยิบยกขึ้นมาถกเถียงจากกระแสเทรนด์งานวิจัยทางชีววิทยาที่ล้ำสมัยขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันในแวดวงวิชาการพยายามผลักนวัตกรรมใหม่ที่ groundbreaking ตลอดเวลาเพื่อเป็นผู้นำ

เป็นไปได้ว่าหลายสถาบันทั่วโลกจะผลักดันทุนวิจัยให้เกิดงานน่าทึ่งอีกมาก และส่วนหนึ่งอาจเป็นงานวิจัยประเภท Dark Research ที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม แอบทำกันโดยละเมิดข้อบังคับสากล

แน่นอนว่าศาลจะต้องตัดสินคดีความเหล่านี้ในอีกไม่ช้า และจะเจอคำถามอย่าง “สิ่งนี้เป็นเนื้อเยื่อของมนุษย์หรือไม่ หรือเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์มาก่อนหรือไม่กรณี ลิงที่ปลูกถ่ายเซลล์สมองมนุษย์ จะถูกนิยามยังไง เพราะในเชิงปฏิบัติพวกมันก็ไม่ใช่ลิงตามปกติวิสัย แล้วหากเราทำมนุษย์ให้เป็น Embryo จากสเตมเซลล์ได้สำเร็จ ศาลจะให้สิทธิคุ้มครองการเป็นมนุษย์ด้วยไหม

นิยามต่างๆ ของการเป็นมนุษย์มีเส้นแบ่งที่เบลอเกินไป เพราะในอนาคตแทบจะไม่มีมนุษย์พันธุ์แท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะถูกความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ดัดแปลง ปรับเปลี่ยน อาจทำให้เราต้านโรคดีขึ้น มีภูมิต้านทานมากขึ้น แต่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับการสูญเสียตัวตน สูญเสียสิทธิในการเป็นมนุษย์เพื่อรักษาสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะในแต่ละประเทศจะนิยามความเป็นมนุษย์ไม่เหมือนกัน ด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมและคุณค่าทางสังคม ในทางกฎหมายก็ยังติดที่อาศัยการตีความทางด้านภาษาอยู่มาก

ข้อเสนอแรกจึงเน้นไปที่ความเกี่ยวข้องของ genome มนุษย์ที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ก่อน แต่ข้อเสนอนี้ก็ถูกวิพากษ์ไม่น้อย เพราะหากเรามองเพียง genome อย่างเดียวก็เป็นการเหมายกเข่งทางด้านพันธุศาสตร์ เมื่อมองมนุษย์ลงไปให้ลึกกว่านั้น เรายังพบมนุษย์ที่มี genome ไม่เหมือนคนทั่วไป มีภาวะผิดปกติหรือพิการที่ทำให้  genome ไม่เหมือนกรอบที่พยายามวางไว้ ดังนั้นตรงนี้จะเรียกว่าพวกเขาสูญเสียความเป็นมนุษย์ด้วยใช่หรือไม่ ทั้งที่เขาก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเราๆ

นอกจากนี้ genome ของมนุษย์ยังมีความคล้ายกับชิมแปนซีชนิดเครือญาติ เราเหมือนหนู 97.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นหากพึ่ง genome เองก็ยังให้นิยามไม่ดีพอ ตัวอ่อนมนุษย์ (embryo) นั้น แม้จะมาจากสเตมเซลล์มนุษย์ หรือมาจากส่วนหนึ่งของมนุษย์ แต่ในหลายประเทศกลับไม่ได้ให้การคุ้มครองและไม่ถือว่ามีสิทธิเป็นทารก (baby) 

อีกสิ่งหนึ่งที่ใช้พิจารณาคือ สิ่งมีชีวิตนั้นมีนัยสำคัญทางศีลธรรมอย่างไร (morally significant) หรือกลับไปตั้งคำถามว่าอะไรทำให้เราเป็นมนุษย์เสียก่อน

เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความตระหนักในตัวเอง มีทักษะในการสร้างความสัมพันธ์และสื่อสารทางสังคม แต่ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าหากสิ่งมีชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องพูด สื่อสารในแบบที่เราทำ หรือไม่มีความต้องการอยู่ร่วมเป็นสังคมเลยล่ะ เขายังเป็นมนุษย์ในเชิงศีลธรรมอยู่ไหม

 

เข้าสู่ยุคสมัยแห่ง ‘คิเมียรา’

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า คดีความทางกฎหมายกรณีต่อๆไปที่มีนัยยะสำคัญคือ คดีความเกี่ยวกับสัตว์ที่เกิดจากการทดลองที่สื่อเรียกว่า คิเมียรา เป็นการอ้างอิงชื่อจากสัตว์ในเทพปกรณัมกรีก เป็นสิ่งมีชีวิตรวมของสัตว์ร้าย 3 ชนิด คือ ส่วนหัวเป็นสิงโต ลำตัวเป็นแพะ บั้นท้ายเป็นมังกรหรืองู

ในโลกวิทยาศาสตร์นั้นคิเมียราเป็นสัตว์ที่มีเซลล์ 2 พันธุ์ผสมอยู่ เช่น คิเมียรา หมูมนุษย์ พวกมันเติบโตโดยมีเซลล์สร้างอวัยวะมนุษย์ได้ เพื่อจุดประสงค์ในอนาคตเราอาจสับเปลี่ยนอวัยวะที่มาจากหมู ไม่ต้องรออวัยวะบริจาคจากมนุษย์ อย่างไรก็ตามผลการทดลองที่เป็นตัวอ่อนได้ถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้ว

ในทางทฤษฎีนั้นอวัยวะที่จะนำมาใช้ทดแทนต้องมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด มิเช่นนั้นร่างกายผู้ป่วยจะปฏิเสธเมื่อภูมิต้านทานพบสิ่งแปลกปลอม แต่หากเราสามารถทำให้หมูสร้างอวัยวะเหมือนมนุษย์ได้เพื่อมนุษย์ หมูตัวนั้นจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ด้วยไหม

คล้ายกับกรณีหนู (mice) ทดลองที่มีเซลล์สมองมนุษย์ พวกมันเรียนรู้ได้เร็วกว่าหนูปกติ 4 เท่า ถ้าหมูสามารถสร้างอวัยวะที่มีความซับซ้อนคล้ายเซลล์สมองมนุษย์ จนสมองนั้นมีนัยสำคัญทางศีลธรรม (morally significant) เราอาจต้องเรียกหมูว่ามนุษย์ด้วยอย่างนั้นหรือ

มีความพยายามนิยามว่า คุณสมบัติเด่นของมนุษย์อีกข้อคือการเรียนรู้ ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง แต่ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบการกระตุ้นสมองด้วยการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้เครื่องจักรช่วยสอนมนุษย์ได้ ให้เรามีการตระหนักรู้เพิ่มขึ้น หรือสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับจักรกล ซึ่งจะส่งอิทธิพลต่อความรู้คิดและบุคลิกภาพของมนุษย์

นี่จึงเป็นความซับซ้อนในการนิยามมนุษย์ที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน เพราะยิ่งตั้งคำถามจะได้คำถามที่ตามมาเป็นพรวน ปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ล้ำหน้าและล้ำเส้นเสียจนนักกฎหมายและนักจริยศาสตร์ต้องวุ่นวายกันตัวเป็นเกลียวเพื่อเร่งทำความเข้าใจการเป็นมนุษย์ เพื่อหาคำวินิจฉัยข้อพิพาทมากมายในยุคคิเมียรา

และความยุ่งยากนี้จะเป็นส่วนบนของภูเขาน้ำแข็งใต้มหาสมุทรเท่านั้น เพราะวันหนึ่งเราอาจไม่แน่ใจที่จะเรียกตัวเองว่า ‘มนุษย์’ อีกแล้วก็เป็นได้ 

 

 

อ้างอิง

Human-pig chimeras are being grown – what will they let us do
newscientist.com

Interspecies Chimerism with Mammalian Pluripotent Stem Cells
cell.com

Moral uncertainty and the farming of human-pig chimeras
jme.bmj.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน