แหวกม่านความอิหยังวะของ Unexpected Thailand ทีมละครเวทีไทยที่สู้ชีวิตไปไกลถึงเมลเบิร์น

ในชีวิตนี้เราจะเจอเรื่องอิหยังวะได้ขนาดไหนกัน สำหรับโรงละคร Unexpected Thailand เรียกได้ว่า สู้ชีวิต แต่ชีวิตก็สู้กลับมากเช่นกัน!

อิหยังวะแรก งบจำกัดทำให้ได้ไปแสดงที่เมลเบิร์นแค่สี่คน เล่นจริงสองคน สองคนเป็นโปรดักชัน จัดการทุกอย่าง ทั้งแสดงละคร คุมวิชวลเบื้องหลัง ประสานงาน ไปจนถึงแปะป้าย PR ในร้านอาหารไทยทั้งหมด

อิหยังวะสอง หาสปอนเซอร์แทบตาย แต่โดนปัดแบบ 90% ถูกปฏิเสธจนท้อ แต่ลุยมาขนาดนี้แล้ว ก็ต้องทำไปต่อเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่ามันจะสำเร็จในตอนท้าย ถ้าเราไม่ล้มเลิกคนอื่นก็ไม่ล้มเลิก 

อิหยังวะสาม อุปสรรคการหาทุนในไทย เมื่อไหร่สังคมจะเข้าใจการเปิดกว้างทางศิลปะ ความเป็นไทยไม่ได้ถูกจำกัดแค่โขน รำไทย ตีขิม ตีระนาด ศิลปะควรเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้

แต่ความอิหยังวะนี้ คือสิ่งที่ Fluid Collaboration Theatre กลุ่มคนทำละครเวทีเลือดใหม่ที่ต้องพยายามฝ่าฟันปัญหาต่างๆ แต่มากไปกว่านั้น พวกเขาคือเพียงกลุ่มเดียวที่ได้ทำการเเสดงภายในงาน Melbourne Fringe Festival 2023 เทศกาลศิลปะประจำปีของเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยนำเสนอความอิหยังวะหลายหลายเลเวล ตั้งแต่วัฒนธรรม ความเชื่อแปลกๆ ไปจนถึงการเมืองในประเทศไทย

เราเลยถือโอกาสนี้ชวนพวกเขามาพูดคุยยาวๆ ถึงวิถีและวิธีการทำงานของกลุ่มคนตัวเล็กๆ ในประเทศที่ทางของศิลปะการละครยังไม่เปิดกว้างว่าพวกเขาผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง

รู้มาว่าคนในทีมส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าถาปัดการละคอน จุฬาฯ เล่าให้ฟังหน่อยว่ามารวมตัวกันได้ยังไง

แน็ทตี้: จริงๆ แล้วพวกเราไม่ได้อยู่ในวงการละครเวทีมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นเด็กสถาปัตย์ที่เคยทำละครคณะด้วยกัน พอดีเราไปเรียนกำกับละครเวทีที่เมลเบิร์น แล้วต้องทำธีสิสจบ ก็เลยมาชวนแก๊งเดิมที่รู้มือกันอยู่แล้ว พอทำไปทำมาทีมก็บวมขึ้นเรื่อยๆ เราเลือกคนที่ Vibe เดียวกัน พอจะทำงานด้วยกันได้ แล้วก็มารวมตัวกันเป็นคณะละคร Fluid Collaboration Theatre

ทำไมตั้งชื่อว่า Fluid Collaboration Theatre

แน็ทตี้: ตอนตั้งชื่อเราเลือกใช้คำว่า Fluid เพราะอยากให้ทุกอย่างมันไหลไปได้ เพราะงานที่เราทำมันเกิดจากความอยากทำ แน่นอนว่าแต่ละคนมีจะหน้าที่ชัดเจนของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นจะต้องทำหน้าที่นั้นไปตลอด เพราะเราอยากเปิดช่องว่างให้ทุกคนได้ทำในสิ่งที่อยากทำไปด้วยกัน 

วู้ดดี้: ในคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ จะมีละครทุกปี ซึ่งเป็นละครอีกโลกหนึ่งที่สนุกฉิบหาย! การเล่นละครสถาปัตย์ไม่จำเป็นต้องเข้าใจศาสตร์เลย เพราะมัน Break Method ทุกสิ่งทุกอย่างในการแสดง แค่ต้องเชื่อ ต้องสนุก และทำให้คนดูรู้สึกแฮปปี้ เรารู้สึกว่ามัน Beyond กว่า Method อื่นๆ อีกนะ

จุดเริ่มต้น Unexpected Thailand เกิดจากอะไร

แน็ทตี้: ตอนแรกเราก็มีแพlชันรุนแรงมาก พยายามที่จะเข้าไปอยู่ใน Theater Induction ในเมืองไทยให้ได้ แต่ด้วยความที่เราเรียนละครเวทีเมืองนอกมา ทำให้เราไม่มีคอนเนกชันละครเวทีในเมืองไทยเลย สุดท้ายเราได้มารู้จักกับ Thai Theater foundation (TTF) ซึ่งเขามีโจทย์ว่าคนที่จะสามารถมาเข้าร่วมได้ อย่างน้อยต้องสร้างละครหนึ่งเรื่องในฐานะโปรดิวเซอร์

แน็ทตี้: ตั้งแต่เรากลับมา เรารู้สึกว่าประเทศไทยมีความอิหยังวะหลายเรื่อง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้สึก Unexpected Thailand ซึ่งเราแปลไทยเองว่า ‘เมืองไทยอิหยังวะ’ (หัวเราะ) ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจทำให้เราสร้าง Key Message ขึ้นมา ตั้งแต่เรื่องการใช้ชีวิต ระบบความคิด ไปจนถึงเรื่องการเมืองที่หลายคนรู้สึกร่วมกัน โดยจุดขายเราคือความเป็นคนไทย ไม่มีใครรู้จักสิ่งนี้ได้ดีเท่าคนไทยแน่นอน

‘ความอิหยังวะ’ ที่ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

แน็ทตี้: อย่างเช่นเรื่องที่เมืองไทยไม่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า ตอนกลับไทยมาเราตั้งใจว่าจะเดินไปทำงานโดยที่ไม่ขับรถ เรามุ่งมั่นมาก คิดว่าทำได้ แต่สรุปคือทำไม่ได้เพราะมันไม่มีทางให้เดิน แทนที่จะสร้างทางม้าลายให้คนเดิน แต่กลับสร้างสะพานลอยแทน มันคือการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ก็เลยเอฟเฟกต์ไปถึงระบบการเมืองในประเทศไทย แล้วก็ทับถมไปเรื่อยๆ 

เนี้ยบ: ถ้าเราอยู่ในไทยมาทั้งชีวิตก็จะเคยชินกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราเห็นมันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่หลายคนที่ไปเรียนต่างประเทศ พอกลับมาก็มักจะ Reverse Culture Shock หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนในชุมชน สภาพโครงสร้างเมือง หรือแม้กระทั่งการทักทายเรื่องรูปร่างของคนไทย

มีมี่: ความอิหยังวะที่ว่ามันแบ่งได้หลายเลเวล ตั้งแต่วัฒนธรรม ความเชื่อแปลกๆ ไปจนถึงการเมืองในประเทศไทย ในเชิงของการเล่าเรื่องเราก็เลยพยายามเล่าเป็นสองเส้นเรื่องคือโลกของละครและโลกของชีวิตจริง ซึ่ง Key Message ที่อยากบอกคือทุกคนมีความเชื่อที่หลากหลาย แต่เราก็สามารถอยู่กันได้ในความคิดที่แตกต่างกันนะ

ทำไมถึงเลือกวิธีการเล่าเรื่องระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกของละคร

มีมี่: ด้วยความที่คณะละครเราคนมันน้อยมากและงบก็มีจำกัด ทำให้ไปแสดงที่เมลเบิร์นได้แค่สี่คน เล่นจริงๆ แค่สองคน อีกสองคนคือไปทำโปรดักชัน เพราะฉะนั้นเราต้องทำยังไงให้การเล่าเรื่องยังสนุกได้เหมือนเดิม เราเลยแบ่งการเล่าเรื่องเป็นสองเส้นเรื่อง แล้วก็หยิบเอาตัวแก๊งละครใส่เข้าไปแบบประชุมออนไลน์แทน

น้ำ: แต่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นอุปสรรคนะ เรามองมันเป็นโจทย์มากกว่า เพราะปกติละครสถาปัตย์จะต้องทำงานอยู่กับข้อจำกัดอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว มันเป็น Nature ของพวกเราเองด้วย ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ Fluid ต่างจากละครเวทีอื่นๆ

สิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดสำหรับเรื่องนี้คืออะไร

วู้ดดี้: ความท้าทายคือ Live Performance บวกกับ Mapping หมายความว่า คน จอ ซาวนด์ ไฟ แม่งต้องลมหายใจเดียวกัน อันนี้คือความชาเลนจ์ของเรื่องนี้ 

วิน: นี่เป็นงานแรกที่ได้ลองทำ Live Performance ปกติเราจะทำแต่ละครเพลงแล้วก็เพลงประกอบหนัง ความยากของ Live Performance คือทำยังไงให้มีฉากที่ต้องเด่นออกมา ทำยังไงให้มันตรงกับระยะเวลาโปรเจกเตอร์

มอส: พาร์ตที่ต้องวิดีโอคอลประชุมกัน ความยากคือต้องแบ่งวิดีโอยังไงให้สามารถกดแล้วเล่นไปพร้อมกันนักแสดงได้ เราต้องมานั่งแบ่งบทรับส่งของนักแสดงกับตัววิดีโอ ซึ่งพอมันเป็นวิดีโอคอลแล้วมันคอลอยู่ตลอดเวลา แปลว่าเราไม่สามารถจะกดบทคนนี้แล้วให้นักแสดงพูดต่อได้ เราต้อง hold ทุกสิ่งไว้อยู่ตลอดเพื่อให้สมจริงมากที่สุด อีกอย่างคือการทำงานของเรากับพี่วินอยู่คนละที่กัน อันนี้เป็นเรื่องที่รู้สึกว่าท้าทายมาก

แค่คนก็น้อยอยู่แล้ว แถมอยู่คนละประเทศอีก แบ่งหน้าที่กันยังไง

มีมี่: ด้วยความที่ตอนแรกเราตั้งต้นว่าอยากของบจากรัฐบาล เพราะฉะนั้นตอนเขียนบทเราก็มีภาพความเป็นไทยอยู่ด้วย เราเลยหยิบเอาความคิดความเชื่อ การเคารพบูชาบุคคล ลำดับศักดิ์มาใส่เพิ่มเข้าไป ซึ่งพอบทพัฒนาเสร็จก็จะส่งต่อไปให้กับสเตจต่อว่าจะช่วยเสริมยังไงให้การเล่าเรื่องของบทมันชัดขึ้นได้บ้าง

มอส: พอบทถูกแบ่งเป็นสองเส้นเรื่อง ตัวภาพก็จะถูกแบ่งออกเป็นสองโทน อย่างที่บอกว่าเราไปเมลเบิร์นได้แค่สี่คน เราก็จะเน้นการใช้ Projection Mapping แล้วก็ต้องหาเทคนิคต่างๆ มาช่วย เช่น การวิดีโอคอลจำลองการประชุมเรื่องละคร เรื่องบทต่างๆ ส่วนอาร์ตไดเรกชันก็จะมีเป็นกิมมิก Symbolic บางอย่างที่เป็นภาพเข้ามาด้วย

วิน: เสียงใช้เพลงประกอบตอนที่ตัวละครเข้าไปอยู่ในโลกของละครด้วย เพื่อทำให้นักแสดงรู้ว่าตอนนี้ออกจากโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปอยู่ในอีกมิติหนึ่ง สิ่งที่สำคัญในพาร์ตมัลติมีเดียคือการทำให้นักแสดงเขาเล่นง่ายที่สุด มีการจับจังหวะซีนต่างๆ นอกจากภาพและเสียงจะคุมเรื่องมู้ดแอนด์โทนแล้ว ก็ยังช่วยให้นักแสดงรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปด้วย

น้ำ: ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตโปรดักชัน พาร์ตโปรดิวซ์ หรือพาร์ตบท ก็จะมีสิ่งที่เชื่อมกันอยู่ วิธีการทำงานของพวกเราคือดีไซน์โปรดักชัน ทำยังไงให้ได้ผลลัพธ์ออกมาแล้วก็มาทำทีละขั้นตอน ความเฟรชที่ทำให้สิ่งนี้ทำต่อไปได้ ก็มาจากไอเดียจากประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย

หาสปอนเซอร์ยากไหม

มะตูม: ยากมาก ด้วยความที่เขาอาจจะไม่ใช่คนละคร ต่อให้เราทำ Pitch Deck ละเอียดขนาดไหน เขาก็อาจจะยังไม่เห็นภาพว่าสิ่งที่เราจะทำคืออะไร อีกมุมหนึ่งในประเทศเราเองก็ยังไม่เห็นคุณค่าหรือเข้าใจศิลปะขนาดนั้นด้วย การที่จะอธิบายละครเรื่องหนึ่งให้คนที่อาจจะไม่เคยดูหรือไม่เข้าใจก็เป็นอะไรที่ท้าทายจากฝั่งโปรดิวเซอร์

แน็ทตี้: ต้องบอกก่อนว่างานนี้ทุกคนทำด้วยกันครั้งแรก ไม่เคยไปเมลเบิร์นมาก่อน มีแค่เราคนเดียวที่เคยไปในฐานะผู้กำกับ แต่ก็ไม่เคยยกทีมไปทำเอง เพราะงั้นทุกอย่างคือใหม่หมด ฝั่งโปรดิวเซอร์ก็ต้องดิ้นรนหาเงิน แต่ด้วยความไม่รู้มาก่อนว่าการรันงานของรัฐบาลเป็นยังไง เขาตัดงบประมาณช่วงไหน สรุปคือทุนของรัฐบาลดันตัดก่อนเดือนที่เราจะไป Melbourne Fringe Festival พอดี 

ด้วยความที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่คิดว่าไปขอ Doner น่าจะไม่ให้แน่ๆ แต่องค์กรน่าจะให้เพราะเงินเยอะกว่า สรุปคือไม่ได้เลยไม่ว่าจะเป็นฝั่งรัฐบาลหรือเอกชนก็ตาม สุดท้ายก็เลยมาหาฝั่ง Doner ตามหาคอนเนกชันที่เขาเชื่อในตัวเรา สรุปคือเราได้ Main Doner คือ คุณเสริมสิน สมะลาภา แล้วก็มีการ donate อีกเล็กๆ น้อยๆ ในวงการของพ่อแม่พี่น้องตัวเองหรือเพื่อนที่สนับสนุน คือมันเหมือนเป็นโอเอซิสที่ต่อความหวังเลยนะ อย่างสถานที่ซ้อมละคร Buffalo Bridge ที่อารีย์ เขาให้เราไปซ้อมได้ฟรีๆ แต่จ่ายแค่ค่าไฟ 

คิดว่ามีปัจจัยอะไรอีกไหมที่ทำให้หาสปอนเซอร์ยาก

วู้ดดี้: ปัจจัยหลักๆ แบ่งเป็นสองอย่าง หนึ่งคือพวกเราเองมั่นเกิน (หัวเราะ) เราสูญเสียตัวตนไปประมาณหนึ่งเหมือนกันนะในการทำบทเพื่อไปทรีตรัฐบาล หมดหวังว่าเราจะได้เงินจากเขา สองคือ ในวันนี้ภาพใหญ่ในประเทศไทยยังไม่ใช่พื้นที่ที่จะใช้ศิลปะในการ motivate ชีวิต เพราะไม่มีอะไรเอื้อให้ศิลปะเติบโตได้เลย ไม่มีองค์กรไหนสนับสนุนศิลปะประเภท Live Performance ที่เป็นละครเวที พอเขารู้ว่ามันไม่ใช่การรำไทย ฉันไม่คุยกับเธอแล้ว ยิ่งละครเวทีที่เราทำแม่งหลุดออกมาไกลมาก เป็นอีกโลกหนึ่งที่เขาไม่จำเป็นจะต้องมาพยายามทำความเข้าใจด้วย

ทำไมถึงอยากเล่นละครไทยให้ต่างชาติดู

มอส: หลังจากที่เราพัฒนากันมาเรื่อยๆ ก็มีความคิดขึ้นมาว่าอยากลองทำละครไปเมลเบิร์น เพราะที่นั่นมีเทศกาลละครจัดขึ้นทุกปีชื่อว่า Melbourne Fringe Festival เรามองเห็นลู่ทางบางอย่างที่พอจะไปได้ ประกอบว่าแนตตี้ก็คุ้นเคยกับเมลเบิร์นอยู่แล้ว ก็เลยตั้งโจทย์ว่าจะทำละครไปเมลเบิร์นกัน 

แน็ทตี้: เรามองเห็น Value ที่อยู่ตรงนั้น รัฐบาลออสเตรเลียเขาก็ต้อนรับและยินดีมากที่จะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ เขามองว่าเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับวงการละครเวทีที่นั่น อีกอย่างคือละครที่เราอยากทำก็ไม่ใช่ละครเวทีมิวสิคัลที่เข้าใจง่าย หรือละครฟิสิคคัลเธียเตอร์ที่ไม่ต้องใช้ภาษา เราคิดว่าคนไทยน่าจะไม่ดู เราก็เลยอยากไปเติบโตที่เมืองนอกก่อน ไปทำให้มันดังก่อนแล้วค่อยกลับมาดีกว่า 

วู้ดดี้: เราไปพูดให้คนที่อยากฟัง เราจะรู้สึก Secure ในการพูดเรื่องเหล่านั้นมากกว่า เราเชื่อว่าคนตรงนั้นยังไม่เคยได้ยินสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราได้การตอบรับที่ดีใน Big Step ครั้งนี้ วันที่เรากลับมาอาจจะมีคนในกลุ่มละครอ้าแขนต้อนรับพวกเรามากขึ้น เพราะการที่เราจะ pop up ขึ้นมามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นในเมืองไทย เราตั้งใจทำให้พวกเขาเห็นว่าเราทำสิ่งเหล่านี้มานะ ขออยู่ด้วยได้ไหม (หัวเราะ) 

หมายความว่าเราต้องเป็นที่รู้จักก่อนใช่ไหมถึงจะในวงการนี้ได้

วู้ดดี้: ในฐานะที่เราประกอบอาชีพนี้มาก่อน ถ้าอยากเป็นนักแสดงจริงๆ คุณต้องทำทุกอย่างเพื่อให้คุณได้รับแสงมากที่สุด โรงใหญ่ในไทยมีอยู่ประมาณสามโรงในปัจจุบัน แต่มีแค่ที่เดียวที่จะสามารถประกอบอาชีพได้คือ รัชดาลัย เธียเตอร์ ซึ่งเป็นโรงละครที่อยู่ได้โดยนักแสดง เพราะเขามีช่องของตัวเอง คุณจะมีโอกาสได้ไปเล่นละคร ได้ไปเล่นหนังที่ Scenario เป็นโปรดักชันหลัก ถ้าคุณไม่ได้เป็น Magnet หรือ Someone ในกลุ่มละครเวที คุณก็ไม่สามารถทำอาชีพเป็นนักแสดงละครเวทีอย่างเดียวได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกที่คนที่เรียนจบมาเลือกที่จะเป็นอาจารย์สอนการแสดง

มอส: ประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยคนดังหรือเซเลบริตี สุดท้ายก็ต้องเอาดาราดังมาเล่น ไม่งั้นมันขายไม่ได้ ในขณะที่ต่างประเทศหลักๆ คือคนในวงการละครเวที ตรงนี้มันเป็นจุดที่ต่างกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วรัฐอาจจะต้องช่วยผลักดันในด้านต่างๆ ด้วย เพื่อให้มันประสบความสำเร็จได้

มะตูม: เราอยู่กับศิลปะหลายแขนง ทั้งละครหรือวาดรูป เรารู้สึกว่าต่อให้เรารักศิลปะขนาดไหน แต่ถ้าไม่ได้เป็น Someone ในวงการนั้นๆ มันต้องมีอาชีพรองรับเพื่อให้เราอยู่ได้ ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างทั้งสภาพสังคม การสนับสนุนจากภาครัฐ หรือค่านิยมต่างๆ ทำให้แพสชันที่เราชอบยังไม่สามาถเกิดขึ้นได้

น้ำ: อุตสาหกรรมนี้มันอยู่ได้ด้วยเงิน คนสนใจตรงไหนเงินมันอยู่ตรงนั้น สุดท้ายมันก็จะไปลงกับแมสมีเดีย ไม่ใช่แค่ละครเวที ในเมื่อตอนนี้ Audience ในไทยยังไม่สนใจ ก็ลองไปอยู่ในประเทศที่คนเขาสนใจสิ่งนี้อยู่แล้วดูซิว่าจะเป็นยังไง เหมือนเราซื้อค่าประสบการณ์ เรามองว่าต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน แล้วพอเรารวมกันเป็นกลุ่มคอมมูนิตี้มันก็จะสำเร็จขึ้นเรื่อยๆ เอง 

ดูเหนื่อยเหมือนกันนะ ระหว่างทางเคยมีความคิดล้มเลิกไหม

วู้ดดี้: ระหว่างทางเราก็มีคิดกันตลอดว่าไปต่อดีไหม มันดูเหนื่อยขึ้นทุกวันเลยนะ แต่ก็ไม่มีใครพูดออกมา ก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในตอนนั้น แต่วันที่เราไปคุยกับ Donor แล้วเขาพูดออกมาว่า ตอนนี้ถอยไม่ได้แล้ว แต่พี่ช่วยได้เท่านี้ อยากให้พวกเราได้ไปกัน ไปทำมานะ อันนี้ก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่ทำให้เราไปต่อ 

เนี้ยบ: ช่วงแรกเราทำกันแบบสนุกมากๆ แต่ช่วงหลังก็เริ่มกดดันเพราะต้องแก้แล้วแก้อีก ความสนุกเริ่มกลายเป็นความเครียด แต่สิ่งที่ทำให้เรามีแรงไปต่อมากที่สุดคือ ถ้าออกตอนนี้แล้วคนอื่นจะเป็นยังไง ถ้าหายไปคนเดียว คนที่เหลือจะโหลดขึ้นทันทีเพราะทีมเรามันเล็ก ก็เลยรู้สึกว่ามันต้องจบ มันถอยไม่ได้แล้ว

มะตูม: ในฐานะที่เราเป็นโปรดิวเซอร์คอยหาสปอนเซอร์ แต่โดนปัดแบบ 90% คือท้อมาก ทุกครั้งที่เราถูกปฏิเสธมาก็เฟลเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่าทุกคนลุยมาขนาดนี้แล้ว เราต้องทำไปต่อเรื่อยๆ ด้วยความหวังว่ามันจะสำเร็จในตอนท้าย ถ้าเราไม่ล้มเลิกคนอื่นก็ไม่ล้มเลิก

คิดว่าในไทยยังมีกรอบอะไรอีกบ้างที่ทำให้เราไปไม่ได้ไกลเหมือนต่างประเทศ

วู้ดดี้: การไปดูละครเวทีเราต้องใช้เงิน เด็กไทยจะมีสักกี่คนที่จ่ายเงินเพื่อไปชมมหรสพ มีแค่คนกลุ่มน้อยที่เข้าถึงละครเวทีได้ ทำให้หลายๆ คนก็ไม่เข้าใจว่าศิลปะแบบนี้มันดียังไง ซึ่งมันเป็นปกติของประเทศโลกที่สาม ขนาดโปรดักชันโหมโรงเดอะมิวสิคคัลที่ว้าวมาก สามารถเป็นละครประจำประเทศไทยได้ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเลย มันแปลกประหลาดมาก

วิน: ในฐานะคนที่อยู่ต่างประเทศ ผมคิดว่าละครเวทีในไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศ เพียงแต่ว่าเราอาจจะมีมาตรฐานในการมองไม่เหมือนกัน ในช่วงหลังที่ผ่านมา ผมเริ่มรู้สึกว่าเห็นละครเวทีในไทยมากขึ้น ภาพรวมมันก็เริ่มมาเพราะทุกคนเห็นค่าของการ Live Performance แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าละครอินดี้จะลืมตาอ้าปากได้ยากกว่าเพราะเขาไม่มีเงิน ก็เลยไม่มีทางที่จะเอาโปรเจกต์ของตัวเองออกไปให้คนอื่นรู้ได้ พอโปรเจกต์ไม่ได้ก็ไม่มีทางเกิด แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งมันก็เป็นสิ่งที่อาร์ทิสต์ทุกคนจะต้องเจอในระยะเริ่มต้น ผมคิดว่าเราอาจจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายจากการที่ไปได้ไกลเหมือนต่างประเทศ เป็นเราไปได้ไกลในแบบของเราเอง

น้ำ: เวลาที่มีคนพูดว่าเมืองไทยมีดี ใช่เรามีดีอยู่แล้ว เรามีรากที่มันต่างจากคนอื่น แต่เราจะ represent ยังไงให้คนรู้สึกว่าอยากมาอยู่ใน Culture นี้ สิ่งแรกที่รัฐบาลควรจะทำคือการโฟกัส ตอนนี้เราโฟกัสกันไปคนละที่ ฝั่งรัฐก็จะมองว่าควรจะทำนุความเป็นไทยไว้ แต่เราอยากเอาความเป็นไทยกับสากลมาผนวกกัน เราพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพราะเรามองว่าวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มันควรทำได้ 

ด้วยความที่ละครเวทีก็เป็น Subculture มากๆ คนกลุ่มเล็กๆ อยู่กระจัดกระจายกัน พอเราไม่ได้โฟกัสสิ่งเดียวกันก็ทำให้มุมมองในการพัฒนาไม่ซ้อนทับกันสักที ถ้าจะต้องใช้เวลาในการ Develop ตรงนี้แล้วหัวไม่แข็งแรง งั้นทำอะไรที่เราอยู่รอดดีกว่า เพราะฉะนั้นผู้นำทางความคิดควรจะลีดให้ได้แล้วทำให้คนที่เป็นจุดแบบเรารู้สึกอยากเข้าไปร่วม ถ้าเขามี Vision ที่แข็งแรงคนก็จะวิ่งเข้าไปหาเอง ถ้าเขามองเห็นถึงความเป็นไปได้ในสิ่งที่มีอยู่แล้วด้วยมุมมองใหม่ๆ ก็อาจจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ดีขึ้น

สุดท้าย คาดหวังอะไรในวงการศิลปะไทยบ้าง

แน็ทตี้: Fluid อยากเป็นช่องทางหนึ่งให้คนไทยเข้าถึงศิลปะได้โดยที่ไม่ต้องถูกกดดันว่าฉันเป็นเด็กละคร ฉันรักศิลปะ ฉันจะไปเธียเตอร์ ฉันเหนือหรือต่ำกว่าเธอ ความจริงแล้วมันไม่ควรถูกแบ่งแยกแบบนั้นเลย คนเราควรจะเดินไปมิวเซียมเพราะอยากเข้า หรือดูละครเวทีเพราะอยากดูได้ ในมุมภาพใหญ่ศิลปะมันมีส่วนสำคัญในชีวิตของมนุษย์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ตาม สำหรับเมืองไทยเองก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร แต่มันถูกแบ่งแยกด้วยเส้นของคำว่าเงินมากกว่า ทำให้คนมองว่าศิลปะมีไว้เพื่อสำหรับคนรวย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วศิลปะควรจะเป็นสถานที่ที่คนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย สามารถไปเพื่อปลดปล่อยอะไรบางอย่างเหมือนสวนสาธารณะ อยากให้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตทุกคน

สมาชิกคณะละครเวที Unexpected Thailand ประกอบด้วย

Playwrights / Directors: เนี้ยบ-พิติ คติมุนีธร, มีมี่-พัทธวรรณ สุกทน, น้ำ-ญาณกร อุ่ยสมพงศ์

Art Director / Set Designer / Lighting Designer / Multimedia Designer: มอส-ศรัณย์ภัชร์ รัชตะนาวิน

Sound Composer: วิน-ชวิน เต็มสิทธิโชค

Stage Managers: วู้ดดี้-วุฒินันท์ พึ่งประยูร, มะตูม-ปรางค์บุญ มีวาสนา

Cast: แน็ทตี้-ปราญชลี ขาใจ, มะตูม-ปรางค์บุญ มีวาสนา, วู้ดดี้-วุฒินันท์ พึ่งประยูร, เนี้ยบ-พิติ คติมุนีธร, น้ำ-ญาณกร อุ่ยสมพงศ์

Producers: แน็ทตี้-ปราญชลี ขาใจ, มะตูม-ปรางค์บุญ มีวาสนา, วู้ดดี้-วุฒินันท์ พึ่งประยูร

PR: จุ๊-คลัง มงคลสวัสดิ์

Graphic Designers (For PR): มะตูม-ปรางค์บุญ มีวาสนา, มีมี่-พัทธวรรณ สุกทน

Melbourne Crew: โรส-ศุภลักษณ์ ปัญญาประทีป, ภิญญ์-ภิญญ์ วิศิษฏ์วิญญู, ฮาร์ทบีต-ธัญชนิตา อภิธนาดล, มิลค์-บุณณดา สุขทอง

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream