ชวนไปเดินศึกษาความหลากหลายของชีวิตในผืนป่าดึกดำบรรพ์ เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ดอยอินทนนท์

เรานั่งคิดอยู่นานว่าจะเริ่มต้นบทความด้วยประโยคคลิเช่ๆ อย่าง ‘บางครั้งความสวยงามก็ไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง แต่พบเห็นได้ระหว่างทาง’ ดีไหม แต่เพราะนั่นคือความรู้สึกจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับเราขณะที่กำลังยืนสูดอากาศอยู่บนยอดดอยอินทนนท์เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เราเลยตัดสินใจเริ่มต้นบทความด้วยประโยคข้างต้นนี้

ถ้าจุดหมายปลายทางที่เราหมายถึงคือยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทยอย่างดอยอินทนนท์ ความสวยงามระหว่างทางที่เราพบก็เห็นจะเป็นผืนป่าเล็กๆ ที่ตำแหน่งของมันอยู่ไม่ไกลจากยอดดอยอินทนนท์มากนักระดับที่เดินเท้าไม่ทันจะถึงห้านาทีก็ถึง ซึ่งเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่เพิ่งจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของสถานที่แห่งนี้ มันอุดมไปด้วยความเขียวชอุ่มของแมกไม้ดึกดำบรรพ์ ห่มคลุมตัวเองท่ามกลางหมอกหนาที่พัดผ่านเข้ามาเรื่อยๆ ในยามเช้าบ่าย มันมีนกน้อยนานาพันธุ์ส่งเสียงเจื้อยแจ้วชวนให้เราผ่อนคลาย ‘อ่างกา’ คือชื่อของผืนป่าแห่งนี้

เพื่อฟื้นฟูผืนป่าเพื่อรักษาระบบนิเวศ

แม้ไม่ได้มีบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ชื่อของอ่างกามาจากไหน ถึงอย่างนั้น คำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือ อ่างกาเป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่าใหญ่, ภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงดอยอินทนนท์นั่นเอง 

แต่เริ่มเดิมที อ่างกาคือผืนป่าหย่อมเล็กๆ ที่อยู่ข้างๆ จุดสูงสุดของยอดดอยอินทนนท์ที่หากเป้าหมายในการเดินทางของคุณคือมาให้ถึงจุดสูงสุดของแดนสยาม ก็คงไม่แปลกที่ใครๆ จะพากันมองข้ามพื้นที่แห่งนี้ไป แต่หากเราย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2534 – 2536 อ่างกานี่แหละคือผืนป่าที่ ไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาชาวแคนาดาและอาสาสมัครประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้ตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของมัน จนได้วางเส้นทางศึกษาธรรมชาติในบริเวณอ่างกาไว้อย่างเสร็จสรรพ

แต่พอเวลาผ่านไป เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่วอลซ์ได้วางไว้กลับค่อยๆ เสื่อมโทรมลง จวบจนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ได้เข้ามาฟื้นฟูและพัฒนาเส้นทางใหม่ทั้งหมดให้มีความแข็งแรงปลอดภัย เป็นมิตรและกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ควบคู่กับการพัฒนาป้ายสื่อความหมายในเส้นทาง 11 จุด เพื่อเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางธรรมชาติแก่ผู้มาเยือนตลอดเส้นทาง เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาจึงได้หวนกลับมาสู่สภาพที่พร้อมจะอ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้คนที่สนใจเรียนรู้ธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง

ในระหว่างการเดินทางไปอ่างกา เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ซึ่งเล่าให้ฟังถึงจุดประสงค์ของมูลนิธิไทยรักษ์ป่าว่า “เราก่อตั้งมูลนิธิไทยรักษ์ป่าขึ้นในปี พ.ศ. 2545 ด้วยเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผืนป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิฯ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในคุณค่าของป่าต้นน้ำ และร่วมรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

“มูลนิธิไทยรักษ์ป่ามองว่า หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การปกป้องผืนป่า คือการที่สังคมมองเห็นคุณค่าของป่านั่นเอง” เทพรัตน์อธิบาย

ความหลากหลายของสรรพชีวิตในอ่างกา

320 เมตร คือระยะทางของเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอ่างกา ระยะทางที่หากเทียบกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอื่นๆ ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ยาวหรือฟังดูท้าทายอะไรนัก อย่างไรก็ตาม ภายใต้ระยะทางขนาดสั้นนี่เอง อ่างกากลับแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและสลับซับซ้อนของระบบนิเวศของผืนป่าบนยอดเขาสูงได้อย่างน่าสนใจ

เมื่อเดินทางถึงอ่างกา สิ่งแรกที่รอต้อนรับเราอยู่คือผืนป่าดึกดำบรรพ์ที่มีอายุกว่า 4,300 ล้านปี เขียวครึ้มชุ่มฉ่ำไปด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นมอสส์ เฟิร์น ข้าวตอกฤาษี และกุหลาบพันปี ซึ่งล้วนแล้วแต่ปรับตัวได้ดีกับผืนป่าที่มีอากาศหนาวจัด เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ อีกข้อหนึ่งที่เราเพิ่งจะได้รู้จากการเดินทางมาเยือนอ่างกาครั้งนี้คือ ยอดเขาสูงแห่งนี้ยังเป็นแนวเขาที่ต่อเนื่องมาจากเทือกเขาหิมาลัย จากการพบเฟิร์นสายพันธุ์เดียวกับที่เติบโตอยู่บนยอดเขาหิมาลัย โดยที่เฟิร์นสายพันธุ์นี้ก็ไม่สามารถพบเห็นได้ในภูเขาที่ไหนในประเทศไทย ยกเว้นก็แต่ยอดดอยอินทนนท์แห่งนี้

กลางผืนป่าอ่างกายังมีแอ่งน้ำซับลักษณะเป็นป่าพรุขนาด 30 ไร่ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่หาได้ยากรูปแบบหนึ่งของไทย และยังอยู่บนยอดดอยที่สูงที่สุดของประเทศ ป่าพรุภูเขาดังกล่าวเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่มีคุณภาพ และเป็นต้นกำเนิดสายน้ำส่วนหนึ่งที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำปิง

พ้นไปจากความหลากหลายของพืชพันธุ์ สปีชีส์ของสรรพสัตว์ที่พบในผืนป่าแห่งนี้ก็มากมายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา ‘นกชอบหนาว’ สารพัดสายพันธุ์ที่ดูจะชื่นชอบความหนาวเย็นของอ่างกาเป็นพิเศษ จากการสำรวจของนักนิเวศวิทยาพบว่า ผืนป่าบนยอดดอยอินทนนท์แห่งนี้เป็นบ้านหลังใหญ่ของนกกว่า 490 ชนิด จากนก 1,071 ชนิดที่พบในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นนกกระจิ๊ดคอเทา นกกินปลีหางยาวเขียวสายพันธุ์อ่างกา และนกพิราบป่าเขาสูง เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างเพียงหยิบมือของนกหายากที่พบเห็นได้ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา

ระหว่างที่เราย่ำเท้าไปเรื่อยๆ พลางตั้งใจฟังบทสนทนาของธรรมชาติรอบตัว อย่างไม่ทันตั้งตัว อยู่ๆ ก็ปรากฏหมอกหนาพัดผ่านเข้ามาจนคล้ายจะพร่าเลือนเส้นทางตรงหน้าเราไปชั่วขณะ ก่อนจะอันตรธานหายไปในเวลาเพียงไม่นาน แต่แล้วพอเราเริ่มเดินหน้าต่อไปอีกไม่กี่ก้าว ฉับพลันทันใดนั้นเอง เม็ดฝนเล็กๆ ก็ร่วงหล่นลงจากฟ้าจนพาให้เราชุ่มฉ่ำขึ้นมาในทันควัน แสงแดดอ่อนที่สาดทอลงมาพอให้อบอุ่น กับการปุบปับสับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ระหว่างหมอกขาวและเม็ดฝน เหล่านี้เองคืออีกหนึ่งคุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของผืนป่าแห่งนี้

‘ป่าซ่อมป่า’ คืออีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่เราพบเจอก่อนจะสิ้นสุดเส้นทาง ลองหลับตาแล้วจินตนาการตามเราว่า ในป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ต่างก็แผ่ขยายกิ่งก้านใบจนบดบังช่องว่างที่แสงแดดจะส่องลงมาถึงพื้นเสียมิดชิด นั่นเท่ากับว่า พืชพันธุ์ขนาดเล็กที่ไม่มีโอกาสสัมผัสแสงอาทิตย์จึงไม่อาจเติบโตได้อย่างเต็มที่ แต่แล้ววันหนึ่ง ต้นไม้ขนาดใหญ่เหล่านั้นก็ผุพังหรือบ้างก็ถูกลมพายุโค่นล้มลงมา จนก่อให้เกิดพื้นที่ว่างขึ้นกลางป่าที่แสงแดดจะสามารถสาดส่องถึงพื้นได้โดยตรง เมื่ออุณหภูมิของพื้นดินสูงขึ้น ควบคู่ไปกับความชื้นที่ลดลง นี่เองจึงนำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็วของพืชพันธุ์นานาชนิดจนหวนกลับมาสู่ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ธรรมชาติเองก็มีวัฏจักรของมัน ซึ่งการซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเองของผืนป่าแห่งนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนต่อพลังของธรรมชาติในการรักษาสมดุลของตัวมันเอง โดยที่มนุษย์อย่างเราๆ ไม่จำเป็นจะต้องยื่นมือเข้าไปผสมโรงด้วยเลยแม้เพียงนิดเดียว

เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ทุกคนเข้าถึงได้

หนึ่งในข้อดีของเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาคือ ความไม่สลับซับซ้อนของเส้นทาง ซึ่งช่วยให้มูลนิธิไทยรักษ์ป่าสามารถพัฒนาเส้นทางการเดินป่าแห่งนี้ให้สอดคล้องกับแนวคิด ‘อารยสถาปัตย์’ (universal design) นั่นคือการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานของสมาชิกต่างๆ ในสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่แค่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

ตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวคิดอารยสถาปัตย์ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ คือการออกแบบเส้นทางที่ตอบสนองกับการใช้งานวีลแชร์ ซึ่งช่วยให้ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและผู้สูงอายุซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้รถเข็น ก็สามารถที่จะมาสัมผัมธรรมชาติของอ่างกาได้เช่นกัน แม้ว่าปัจจุบันทางสำหรับรถเข็นจะยังไม่สามารถเชื่อมต่อไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้งหมดได้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนต้นนั้นมีความลาดชันสูงมาก หากต้องทำทางลงใหม่จะรบกวนธรรมชาติมากเกินไป แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติ นอกจากนี้ ตรงจุดเช็กอินสำหรับรถเข็นยังมีชุดข้อมูลด้านธรรมชาติของอ่างกาแบบดิจิทัลที่เก็บรายละเอียดแม้กระทั่งเสียงนกหลากหลายชนิดที่แวะมาที่อ่างกาแห่งนี้

อ่านถึงตรงนี้ ใครที่เริ่มมีความคิดอยากจะไปอ่างกาขึ้นมา แต่ยังไม่มีแพลนจะเดินทางไปเชียงใหม่ก็ไม่ต้องเซ็งไป เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน มูลนิธิไทยรักษ์ป่าก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ‘อ่างกา Virtual 360 องศา’ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นแอปฯ ที่บันทึกภาพของอ่างกา 360 องศาเท่านั้น หากยังบันทึกองค์ความรู้ต่างๆ ของธรรมชาติในพื้นที่แห่งนี้ไว้อย่างครบถ้วนอีกด้วย โดยสามารถลองเข้าไปดูกันได้ที่นี่

“แน่นอนว่า ป่าแต่ละผืนต่างก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ที่นี่พิเศษเพราะเป็นผืนป่าที่สูงที่สุด มันมีความหลากหลายทางธรรมชาติและระบบนิเวศทั้งพืชและสัตว์ มีความผสมกลมเกลียวกันของสิ่งมีชีวิตต่างๆ อย่างสลับซับซ้อน” เทพรัตน์อธิบาย

จริงอย่างที่เทพรัตน์ว่า เพราะแม้ระยะทางของเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอ่างกาจะสั้นๆ เพียง 320 เมตร แต่เรากลับพบว่า ผืนป่าหย่อมเล็กๆ ผืนนี้กลับมอบความรู้ทางนิเวศวิทยาที่มากกว่าที่เราคาดคิดไว้ สองชั่วโมงคือระยะเวลาที่เราย่ำเดินไปอย่างเชื่องช้าบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ แล้วก็เป็นระยะเวลาสองชั่วโมงเดียวกันนี้ที่เรารู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกโอบอุ้มด้วยหมู่มวลพฤกษา

นานเท่าไรแล้วที่เราไม่ได้รู้สึกผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติ นานเท่าไรแล้วที่เราไม่ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ของผืนป่า นานเท่าไรแล้วที่เราไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับสรรพชีวิตอื่นๆ ที่ต่างก็ดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มาตั้งแต่โบราณกาล

นานเท่าไรแล้วที่เราหลงลืมไปว่า การเป็นมนุษย์นี่มันช่างกระจ้อยร่อยเสียเหลือเกิน

AUTHOR