ยู-กตัญญู สว่างศรี นักอดทนและลงมือทำผู้เชื่อว่า “ไม่มีใครได้ดีหมดทุกคนหรอก เพราะคนแม่งเยอะมากบนโลกนี้”

“ไม่มีใครได้ดีหมดทุกคนหรอก เพราะคนแม่งเยอะมากบนโลกนี้”

ประโยคที่ ‘ยู-กตัญญู สว่างศรี’ ในวัย 39 ปี พูดไว้เมื่อได้กลับมาสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้งใน a day สถานที่ในความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเขาเคยผูกพัน

“อยากแนะนำคนคนนึงให้รู้จัก ข้อมูลคร่าวๆ คือเด็กหนุ่มคนนี้ชื่อ กตัญญู สว่างศรี (ยู) อายุ 20 ปี ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต บ้านอยู่แถวดอนเมือง ขณะนี้ยังโสด ที่สำคัญก็คือ เขาเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง แฟนพันธุ์แท้นิตยสาร a day อย่างเป็นทางการ”

นี่คือข้อความที่อยู่ในนิตยสาร a day แฟนพันธุ์แท้ เล่ม 72 ของยูในช่วงเวลาที่เป็นทั้งมุมคนที่ชื่นชอบนิตยสาร คนอ่าน คนทำใน a team junior และเคยเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ a day สิ่งเหล่านี้ได้เติบโตและต่อยอดพัฒนาจนได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองตั้งใจอยากจะทำ

แม้ว่าในวันนั้นยูจะถูกคนมองว่าเป็นเด็กเส้นและเขาก็จำเหตุการณ์ไม่ได้ แต่ในวันนี้เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ได้สนใจแล้วใครจะมองยังไง เพราะทุกคนก็มีอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่าในแบบของตัวเอง
ผ่านมาสิบกว่าปี เขายังคงโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงและคอมเมเดียน แน่นอนว่าในแง่มุมต่างๆ ของชีวิตยูล้วนมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง

การเดินทางของยูในวัย 39 ปีที่หลากหลาย สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนคือบุคลิกยียวน กวนตีนแต่เป็นมิตรที่ยังคงเรียนรู้ อดทน และลงมือทำไปเรื่อยๆ จากวันนั้นสู่วันนี้เขามีอะไรเปลี่ยนแปลงและบทเรียนที่อยากแชร์บ้าง ไปฟังพร้อมๆ กัน

1

ใครจะไปคิดว่าผมจะได้ขึ้นปก

“ใครจะคิดว่าการได้ขึ้นปกมันจะเหมือนการไม่ได้ขึ้นปกขนาดนี้ (หัวเราะ) 

ผมได้ถ่ายปกเล่มนี้เพราะได้รางวัลจากรายการแฟนพันธุ์แท้ a day รูปนี้ถ่ายตรงกำแพงข้างสวนสัตว์ดุสิต ตอนนั้นพี่ช่างภาพบอกให้ลองเดินผ่าน ผมก็ไม่รู้ว่ารูปมันจะออกมาเป็นแบบนี้ ผมเก๊กหล่อไปตั้งเยอะ แต่โดนพี่เขาแกล้ง แต่จริงๆ ก็รู้สึกว่าเป็นคาแรกเตอร์ของ a day ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความแตกต่าง

ช่วงนั้นผมอายุ 19 ย่าง 20 เป็นคนชอบทดลอง สนุกสนานเฮฮาโดยเฉพาะเวลาทำงาน เป็นคนที่มีเป้าหมายหลวมๆ ก็เลยพาตัวเองไปฝึกงาน ตอนนั้นเรายังค้นหาอยู่ว่าสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่อยากทำคืออะไร มองย้อนกลับไปก็ตอบตัวเองไม่ได้ เราได้แต่จินตนาการว่าอาจจะเป็นนักเขียนมั้ง เป็นดีเจมั้ง เป็นครีเอทีฟมั้ง เป็นคนทำบทซิตคอมมั้ง เป็นคนทำหนังมั้ง หรือเป็นอะไรเราก็ยังไม่รู้ตัวเองชัด ก็เลยหาโอกาสและทดลองทำไปเรื่อยๆ 

ครั้งแรกที่ผมรู้จัก a day คือผมเดินเข้าเซเว่นไปซื้อนิตยสารเล่มที่มีหน้าปกเป็นคุณรงค์ วงษ์สวรรค์ หน้าปกสีชมพูที่มีคนบนปกเป็นนักเขียนไว้หนวด เท่ๆ ตอนนั้นผมไม่รู้จักอะไรเลย ด้วยความที่ยุคสมัยก่อนไม่มีโซเชียลมีเดียที่มีข้อมูลหลากหลายเหมือนทุกวันนี้ นิตยสาร a day นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างและใหม่สำหรับคนที่ไม่รู้ ผมว่ามันก็คูลดีสำหรับผมในฐานะเด็กหนุ่มชานเมืองคนหนึ่งที่ไม่รู้จักอะไรในเมือง ไม่รู้จักโลกโฆษณา ไม่รู้จักครีเอทีฟ ไม่รู้จักโปรดิวเซอร์เท่ๆ ไม่รู้จักนักเขียนเจ๋งๆ ผมว่า a day ทำหน้าที่สื่อมวลชนง่ายๆ คือนำเสนอข้อมูลที่แตกต่าง และเป็นทางเลือกให้กับคนที่สนใจในเรื่องครีเอทีฟ ความคิดสร้างสรรค์ ให้แรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง

ผมเห็นข้างในมีใบสมัคร a team junior รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการของนิตยสาร a day ที่ในสมัยผมคือเท่มาก ผมก็สมัครตั้งแต่ตอนนั้น แต่ก็ไม่ติด พอไม่ติดก็งุ่นง่านใจ ปีต่อไปก็เริ่มอ่าน a day อย่างเอาจริงเอาจัง อ่าน a day ทุกเล่ม ทำความเข้าใจว่า a day เป็นนิตยสารแบบไหน สนใจอะไร พยายามหาความรู้เพิ่ม แล้วก็สมัครใหม่อีกรอบนึง แล้วก็ติดรุ่นที่ 3 ตอนนั้นผมจำได้ว่าพอเลขากอง a day ติดต่อมา บอกว่าผมติด a team junior นี่ผมเฮลั่นบ้าน 

ผมมารู้ทีหลังว่ามีสองเหตุผลที่พี่ๆ รับผมเข้าฝึกงาน ข้อแรกคือผมเคยไปฝึกงานกับนิตยสาร DDT มาก่อน เป็นนิตยสารของคลื่นวิทยุแฟต เรดิโอ ที่ตอนนั้นป๋าเต็ดเป็นคนดูแล อีกข้อนึงคือผมตลกดี ตอนสัมภาษณ์พี่ๆ คงเห็นอะไรบางอย่างเลยได้เข้ามา จำได้ว่าตอนสมัครรอบสองแล้วไม่ได้ ผมรู้สึกว่าตัวเองสะเหล่อ เขาถามว่าอยากให้ใครขึ้นปก a day ผมก็ตอบว่าตัวเอง แต่ใครจะไปคิดว่าผมจะได้ขึ้นปกจริงๆ นึกถึงทุกวันนี้ก็เขินเหมือนกันนะ (หัวเราะ) 

ตอนนั้นก็มีทีมของรายการแฟนพันธุ์แท้มาทำการบ้าน ด้วยความที่เราเป็นคนสนุกสนานก็เลยทำให้ทางทีมงานชวนเราเข้าไปร่วมรายการ เราก็เออเอาดิ เรียบง่ายแบบนั้นเลย โชคดีที่เราใกล้ชิดกับกองบรรณาธิการ ข้อมูลก็หาง่าย สุดท้ายก็มีโอกาสได้รางวัลแฟนพันธุ์แท้มา ตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่าจะชนะ เอาสนุกอย่างเดียว พอชนะก็ดีใจมาก แล้วก็ได้ขึ้นปก a day ผมรู้สึกว่าการลงมือทำเป็นสิ่งที่นำพาชีวิตเหมือนกันนะ เพราะทำให้เราได้มาฝึกงานที่ a day ได้ไปแข่งรายการทีวี ได้รางวัล ได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ดีมากมาย ก็เป็นโอกาสที่ดีมากในชีวิต” 

2

ชีวิตพลิกผันเพราะทำต้นฉบับไม่ได้

“พอได้เข้ามาเป็น a team junior ผมตื่นเต้นแล้วก็สนุกมาก ที่นี่รวบรวมไปด้วยคนเก่งๆ มีหลายคนที่สุดยอด ยุคผมก็จะมีธรรมเนียมในการทำงานนิตยสาร เช่น การปิดเล่มที่จะต้องหอบเสื้อผ้ามาค้างคืนกัน แต่จะค้างคืนกันทำเหี้ยอะไรก็ไม่รู้ (หัวเราะ) เราเหมือนได้เจอเพื่อนกลุ่มใหม่ เหมือนได้เข้าเรียนโรงเรียนอีกที่หนึ่งเลย ได้ทั้งเพื่อนสนิท ได้ทั้งรุ่นพี่ ทุกวันนี้ก็ยังได้ร่วมงาน ได้เจอในชีวิตเรื่อยๆ ทั้งสอน ทั้งให้ความรู้ ให้งาน ให้โอกาส ให้ชีวิตที่ได้ทำงานในแวดวงสื่อมวลชน

ผมเริ่มต้นงานนิตยสารโดยที่ไม่มีพื้นฐานงานนิตยสารเลย มีแต่ความห้าว การทำงานในตำแหน่งผมคือกองบรรณาธิการ ความยากที่สุดคือการทำต้นฉบับ การเขียนหนังสือ การเขียนบทความให้มีท่วงทำนอง มีจังหวะที่น่าอ่าน การเรียบเรียงข้อมูลให้น่าสนใจ อ่านเข้าใจง่าย การหาข้อมูลที่อาจจะต้องใช้ภาษาอังกฤษ ใช้การรีเสิร์ช ใช้การสัมภาษณ์ ผมไม่มีต้นทุนในสิ่งเหล่านี้เลย จุดสำคัญที่ทำให้ชีวิตพลิกผันคือทำต้นฉบับไม่ได้

ตลอดเวลาระยะเวลาสามเดือนผมมีต้นฉบับที่เป็นผลงานของตัวเองแค่สองชิ้นเท่านั้น งานที่ผมเขียนเองก็มีจดหมายคอมเมนต์เข้ามาด้วยว่าข้อมูลผิดพลาด แม่ถึงกับไปบนหลวงพ่อโสธรให้ผมเขียนบทความผ่านด้วยซ้ำ ตอนนั้นเหมือนผมอยู่ในหนังอินดี้สักเรื่องนึงที่ตัวละครพยายามจะเขียนต้นฉบับแล้วก็เขียนไม่ได้ มีคีย์บอร์ดอันหนาๆ จอกลมๆ ใหญ่ๆ รุ่นเก่าแล้วก็นั่งร้องไห้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ อายเพื่อนด้วย ผิดหวังกับตัวเองด้วย

ตอนนั้นผมมีเพื่อนสนิทในรุ่นชื่อเอี่ยว ศิวะภาค เจียรวนาลี เอี่ยวเป็นคนเขียนหนังสือดี ผมก็เลยไปถามเอี่ยวว่าเขียนหนังสือยังไงให้ออกมาดีวะ เอี่ยวก็บอกง่ายๆ มึงก็เดินเข้าร้านหนังสือ หยิบเล่มที่มึงชอบมาอ่าน อ่านเยอะๆ เดี๋ยวก็เขียนดี ผมก็เข้าร้านหนังสือเป็นบ้าเป็นหลังเลย เราคิดว่าการจะเขียนหนังสือดีได้ เราก็ต้องอ่านนักเขียนระดับตำนาน นักเขียนระดับรางวัล ผมก็เลยไปหยิบ The Brothers Karamazov ของนักเขียนรัสเซีย ดอสโตเยฟสกี แล้วผมก็อ่านมูราคามิเกือบทุกเล่ม เล่มที่ชอบมากคือ Kafka on the Shore แล้วผมก็อ่าน กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ อะไรที่เขาว่าเจ๋งๆ ผมอ่านมั่วไปหมดเลยครับ 

หนังสือพาผมเปิดโลกการเขียนหนังสือ ได้พัฒนาตัวเอง ซึ่งมันเป็นต้นทุนในชีวิตของผมจนถึงทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้นำพาให้ผมมีต้นทุนในการเข้าใจมนุษย์ เข้าใจสังคมวิทยา ปรัชญา และความคิด ทำให้ผมได้ทำงานสื่อสาร ทำงานสื่อมวลชน ทำงานศิลปะในการเล่าเรื่อง บวกผสมกับการที่เป็นคนกวนตีนทำให้ผมมีทุกวันนี้ ผ่านมาก็เป็นบทเรียนสำคัญทำให้เราพัฒนาเรียนรู้ว่ามันไม่มีทางลัด สามเดือนมันไม่ทำให้เขียนหนังสือได้ แต่ถ้าเราไม่หยุดที่จะทำมันก็ค่อยๆ เติบโตแล้วก็งอกเงย

อีกหนึ่งความประทับใจตอนฝึกงานคือเราได้เสนอ main course ในการฝึกงานเราก็จะได้กำหนดธีมเองเป็นเล่มของ a team junior ตอนนั้นทุกคนเคร่งเครียดว่าจะเอาธีมอะไร วันนึงเดินไปกินข้าวอยู่ดีๆ ผมก็หันไปบอกพี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน ที่ตอนนั้นเป็นบรรณาธิการว่าพี่เอาธีมจตุจักรมั้ย พี่ก้องก็บอกเอาดิ ก็ง่ายแบบนั้นเลย อันนี้เป็นสิ่งที่ผมแอบภูมิใจในตัวเองว่าเราได้เสนอ main course ด้วยไอเดียเรา แต่วัยหนุ่มก็อย่างนี้แหละครับ เราอยากจะครอบครองไอเดีย เราอยากจะครอบครองความสำเร็จ เราอยากจะเป็นจุดเด่น แต่ในวัยนี้เราไม่ต้องมีอะไรมากมายก็ได้”

  3

ตัดสินกูก็ตัดสินไป กูก็จะตัดสินมึงเหมือนกัน

“เมื่อก่อนมีคนบอกผมเป็นเด็กเส้น ใช่ครับ ผมเป็นเด็กเส้น (หัวเราะ) แต่วันนี้เราไม่ได้สนใจแล้วว่าจะเป็นอะไร ไม่สนว่าเราทำมาเอง เป็นโชคชะตา หรือเป็นองค์ประกอบจากคนอื่น 

ตอนนี้ผมไม่สนใจคนอื่นสักเท่าไหร่ ใครจะมองผมแบบไหนก็เรื่องของเขา (นิ่งคิด) โอเค ก็สนใจบ้าง ยิ่งผมทำรายการเจอคอมเมนต์บางทีก็อยากด่ากลับ ผมเคยโดนอีเมลส่งมาด่าว่าผมโง่ ผมก็ตอบกลับไปสั้นๆ ว่าค*ย (หัวเราะ) คือผมรู้สึกว่าถ้ามึงไม่รู้จักกูมากพอ จะตัดสินกูจะก็ตัดสินไป กูก็ตัดสินมึงเหมือนกัน แต่โดยส่วนมากผมก็เคารพนะ บางคนอยากให้พัฒนาตรงนั้นตรงนี้เราก็รับฟัง แต่ก็พยายามที่จะไม่ให้เสียงคนอื่นรบกวนเรามากเกินไป พยายามที่จะไม่ให้เสียงของตัวเองยกยอเชิดชูตัวเองจนมากเกินไป ต้องบาลานซ์ให้มันพอดี

ผมมองว่ามนุษย์เชื่อมต่อกับคนอื่นเสมอ การได้โอกาสมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาตัวเองไปอยู่ในจุดเชื่อมต่อที่พาเราไปได้แค่ไหน ทุกคนเป็นเรื่องเล่าของคนอื่น เราไม่สามารถจะไปกำหนดเรื่องเล่าของคนอื่นได้ สิ่งที่เรากำหนดได้คือการเล่าเรื่องบางอย่างให้กับตัวเอง ผมคิดว่าทุกคนก็คงมีความยากลำบาก มีอุปสรรคที่ต้องฟันฝ่าในแบบของตัวเอง ผมก็มีอุปสรรคในแบบของผม ข้ามผ่านมันได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ไม่ว่าคนอื่นจะบอกว่าเราเป็นยังไง เรารู้ว่าตัวเองดีว่าข้ามผ่านอุปสรรคความยากลำบากอะไรมาบ้าง เรามีคนที่น่ารักคอยช่วยเหลือ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน จริงใจกับสิ่งที่เราทำ เท่านี้ผมก็ว่าโอเคแล้วครับ”

4

ไม่มีใครได้ดีไปหมดทุกคนหรอก เพราะคนแม่งเยอะมากบนโลกนี้ 

“ผมทำความฝันสำเร็จหลายสิ่งหลายอย่างได้ก็เพราะ a day ผมได้เขียนนิตยสาร ได้ทำงานพิธีกร ทำงานสื่อมวลชน ได้เติบโตในบรรยากาศของการทำงานที่สนุกสนานและมีความสุข ผมมองว่าทุกคนไม่ได้จะสำเร็จทุกเรื่อง การเลือกรับสิ่งต่างๆ แล้วนำไปพัฒนาต่อมันเป็นหน้าที่ของแต่ละคน 

คนที่มองว่า เขาไม่สำเร็จ เสียเวลา ผมว่าเขาต้องบริหารเวลาเอาเอง คือคุณจะโทษสิ่งอื่นก็คงได้ประมาณหนึ่งมั้ง แต่เราก็ต้องโทษตัวเองบ้างปะวะ ผมรู้สึกว่ามันเสียเวลามาก ที่มานั่งนึกความเสียเวลาของตัวเอง เอาเวลาไปทำอย่างอื่นให้สำเร็จสักทีดีกว่า เพราะบนลู่วิ่งหรือบนอันดับของความสำเร็จการแข่งขันกีฬามันมีแค่ 1 2 3 คน ก็คงมีวันหนึ่งที่คุณจะได้ขึ้นโพเดียม แต่ถ้าทั้งชีวิตคุณไม่ได้ขึ้นเลย ผมว่าก็โอเคนะ ถ้าคุณไม่ได้ทรมานจนเกินไป 

ความสำเร็จมันนิยามกันได้ อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ แบบภาพฝันของคนอื่น การที่คุณไปบอกว่าคุณไม่สำเร็จแบบที่คนอื่นเขาขายฝันไว้ นั่นแปลว่าความสำเร็จในแบบคุณคือแบบที่คนอื่นเขาบอก แต่ความสำเร็จจริงๆ อาจจะเป็นแบบที่คุณสร้างขึ้นมาเองในแบบที่คุณต้องการ แล้วคุณก็โอเคกับมันแค่นั้นก็ได้

โอเค ประเทศนี้มันก็ต้องโทษสิ่งต่างๆ เพราะมันมีรูปแบบของความไม่เท่าเทียม แต่ก็เป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคมแล้ว ที่ไม่ได้เอื้อให้กับทุกคน ชีวิตมันก็ต้องดิ้นรน ไม่มีใครได้ดีไปหมดทุกคนหรอก เพราะคนแม่งเยอะมากบนโลกนี้ เราอยู่ในข้อจำกัด ส่วนสำคัญที่สุดคือเราจะทะลุกรอบออกมาได้ยังไง เราจะทำให้ชีวิตของตัวเองสำเร็จแบบไหนได้บ้าง ผมว่ามันเป็นโจทย์ เวลาทำโจทย์ไม่ผ่านก็ต้องยอมรับ”

5

บางทีชีวิตก็แค่อดทนทำไป

“สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนนั้นคือน้ำหนัก ตอนนี้อ้วนชิบหาย (หัวเราะ) รวมไปถึงน้ำหนักของความรับผิดชอบ ตอนนั้นมันตัวเบากว่านี้เยอะ น้ำหนักของความรับผิดชอบในปัจจุบันมันมีเยอะ บางสิ่งบางอย่างที่เราเลือกจะทำหรือไม่ทำมันมีผลต่อคนอื่น วันนั้นการทำหรือไม่ทำอาจจะมีผลกับครอบครัวบ้างแต่ไม่ได้หนักหนามากเท่าตอนนี้              

ฃตอนอายุ 20 มันเต็มไปด้วยเอเนอร์จี อะไรก็ตื่นเต้นไปหมด สมัยฝึกงานผมกับก้อง (ชณัฐ วุฒิวิกัยการ) ได้ไปสัมภาษณ์นักสื่อมวลชนสายกีฬาฟุตบอลชื่อพี่กบ กิตติกร อุดมผล ตอนนั้นมีพี่ไปด้วย พี่กำลังสัมภาษณ์อยู่ดีๆ ก็ขอไปเข้าห้องน้ำ เราสองคนก็แบบเอาไงดีวะ ก็เลยบอกพี่กบว่าขออนุญาตหยุดอัดเทปก่อนนะครับ ซึ่งมันเด๋อมาก แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องที่ตอนนั้นเราจัดการไม่ถูก เพราะเราไม่มีประสบการณ์และความรู้ ไม่รู้ว่าจะจัดการยังไง มีทั้งความกล้าๆ กลัวๆ ในการออกไปสัมภาษณ์คน แต่สิ่งที่ตอนนั้นมีแต่ตอนนี้ไม่มีคือพลังงานบางอย่างที่มันล้นเหลือและความเชื่อมั่นอันแรงกล้าว่าเราจะสำเร็จทุกความฝันได้ พอโตขึ้นมันล้า เมื่อก่อนต้องเอาให้ได้ ตอนนี้คือเท่านี้ก็โอเคนี่หว่า ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร 

สิ่งหนึ่งผมจำได้ขึ้นใจว่าตอนที่ผมสัมภาษณ์ผู้กำกับหนังชื่อพี่อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผมถามแกว่าหนังของพี่ ลายเซ็นคืออะไร พี่อาทิตย์ตอบว่า ‘ผมไม่รู้ว่ะ ผมก็ลองๆ ทำไป วันหนึ่งภาพของเรามันจะชัดในสายตาของคนอื่นเอง’ ผมชอบประโยคนี้มากเลย เออ บางทีชีวิตมันก็แค่อดทนทำไป วันหนึ่งเราอาจจะเห็นตัวเองชัดขึ้น 

เส้นทางในชีวิตผมค่อนข้างทำหลากหลายอย่าง ผมก็ค่อยๆ ลดทอนมันออกแล้วเห็นว่าอะไรที่เป็นเนื้อตัวของเราที่เราทำมันได้ดี เราเอาอยู่ได้ ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ตกผลึกมากพอจนสกัดตัวเองมาชัดขนาดนั้น ยังต้องเรียนรู้ ยังต้องอดทนและลงมือทำอยู่เลย บางคนงอกเงยเร็ว บางคนงอกเงยช้า วันเวลาในสักวันหนึ่งมันจะเป็นแบบที่คุณต้องการ คุณต้องอดทนและลงมือทำไปเรื่อยๆ”

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream