หยิบปากกาแล้วหนีไป! เมื่อคนมีอาชีพขีดๆ เขียนๆ ก็ยังต้องหนีความเครียดจากงานด้วยการเขียนอยู่ดี

Highlights

  • ฉันเคยจริงจังกับการเขียนไดอารีบันทึกความรู้สึกในแต่ละวันเหมือนที่เด็กยุค 90s ชอบทำกัน
  • ฉันค้นพบว่าไดอารีของฉันมีแต่ถ้อยคำที่ฉันกลัวใจตัวเองยิ่งเมื่อกลับไปอ่านก็พบว่ามันเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการบอกว่าฉันเศร้า โกรธ เกลียด และเจ็บปวดกับเรื่องต่างๆ และคนอื่นๆ เพียงใด
  • ฉันเลิกเขียนไดอารีอย่างเป็นทางการ โดยไม่เคยรู้เลยว่ามันมีประโยชน์กับฉันแค่ไหน เพียงแค่ไม่ต้องกลับไปอ่านมันเท่านั้นเอง
  • สุดท้ายฉันก็ยังต้องหนีความเครียดจากงานด้วยการเขียนอยู่ดี

ฉันเพิ่งอีดิตต้นฉบับเกี่ยวกับนักศิลปะบำบัดที่แนะนำให้ผ่อนคลายความเครียดและอารมณ์ลบในใจด้วยการพักจากหน้าจอ แล้วหยิบดินสอขึ้นมาเขียนถ้อยคำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องสนใจรูปประโยค ความหมาย หรือความถูก-ผิด เพื่อระบายสิ่งที่อัดอั้นตันใจออกมาผ่านมือลงบนกระดาษ แล้วไม่ต้องกลับไปอ่านมันอีก

ฟังดูเรียบง่าย และทำให้นึกได้ว่าฉันก็เคยใช้วิธีเดียวกันนั้นในวันที่ยังเด็กกว่านี้ ฉันเคยจริงจังกับการเขียนไดอารี บันทึกความรู้สึกในแต่ละวันเหมือนที่เด็กยุค 90s ชอบทำกัน แข็งขันเป็นกิจวัตรในบางปี หย่อนยานในบางช่วงชีวิต แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำสม่ำเสมอ จนเมื่อโตพอที่ชีวิตจะเจอเรื่องงี่เง่าหลากหลายนั่นแหละ ฉันก็ค้นพบว่าไดอารีของฉันมีแต่ถ้อยคำที่ฉันกลัวใจตัวเองยิ่งเมื่อกลับไปอ่าน ฉันก็พบว่าฉันเริ่มไม่ไว้ใจสมุดที่เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการบอกว่าฉันเศร้า โกรธ เกลียด และเจ็บปวดกับเรื่องต่างๆ และคนอื่นๆ เพียงใด

ฉันเลิกเขียนไดอารีอย่างเป็นทางการ โดยไม่เคยรู้เลยว่ามันมีประโยชน์กับฉันแค่ไหน เพียงแค่ไม่ต้องกลับไปอ่านมันเท่านั้นเอง

ฉันมีอาชีพเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารตั้งแต่เรียนจบ ตอนตัดสินใจออกมาเป็นฟรีแลนซ์ก็ยังชีพด้วยการเขียนล้วนๆ เมื่อเปิดออฟฟิศจิ๋วๆ ของตัวเองก็รับงานเล่าเรื่องผ่านการเขียนเป็นหลักมาตลอด แต่เพราะทำงานกับคอมพิวเตอร์ที่สามารถอันดูและอีดิตได้เท่าที่ต้องการ นั่นทำให้ฉันสูญเสียทักษะในการเขียนลงบนกระดาษไปอย่างสิ้นเชิง แค่เขียนการ์ดเล็กๆ เขียนโน้ตสั้นๆ เซ็นหนังสือให้ผู้อ่าน หรือแสดงความยินดีในสมุดอวยพรในงานแต่งงาน ฉันกลับทำได้ไม่ดีจนอายที่จะบอกว่าประกอบอาชีพนี้ มันตะกุกตะกัก ขัดเขิน และไม่มั่นใจ สิ่งที่ทำได้จึงเป็นการเขียนชุดคำแสนสั้น หรือใช้ประโยคไม้ตายที่เตรียมไว้เอาตัวรอดทุกครั้ง

แน่นอนว่าไม่มีทางกลับไปเขียนไดอารีอีกครั้งได้แน่นอน

เมื่อไม่ถนัดเขียนออกมาอีกต่อไปและไม่รู้วิธีล้างสิ่งอุดตันในใจด้วยวิธีอื่น แปลกดีเหมือนกันที่ฉันก็ค้นพบวิธีใหม่ ทุกครั้งที่อยู่ในสถานการณ์ที่อยากหนีไป สถานการณ์ที่ไม่อยากแบกรับไว้ หรือสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ฉันสามารถดึงตัวเองออกไปเป็นคนนอก เป็นผู้เฝ้ามอง เป็นผู้เขียน ในวันที่ต้องยืนอยู่ข้างเตียงของพ่อในโรงพยาบาลและหมอบอกว่าพ่อคงไม่ฟื้นขึ้นมาอีกแล้ว ถ้อยคำในหัวของฉันเรียบเรียงออกมาได้เป็นฉากๆ ชายร่างบางซูบบนเตียงหลับตานิ่ง เราเห็นชีวิตของเขาได้ผ่านหน้าจอที่แสดงอัตราการเต้นของหัวใจเท่านั้น ภรรยาและลูกสาวยืนฟังคำอธิบายของหมออย่างเงียบและง่าย ไม่ฟูมฟาย ไม่มีน้ำตา หลังหมอและพยาบาลออกจากห้องไป ผู้เป็นแม่จับมือลูกสาว และบอกคนบนเตียงว่าไม่ต้องห่วงทางนี้ แม่อยู่กับลูกได้

หญิงสาวเลื่อนอ่านสเตตัสในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังด้วยน้ำตาคลอเบ้า เธอโกรธผู้คนที่ศรัทธาในสิ่งที่เธอไม่อาจศรัทธา บ้าคลั่งในสิ่งที่เธอคิดว่าไร้เหตุผล แล้วเธอก็ถกเถียงกับตัวเองว่า เธอต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับความแตกต่างอย่างที่เธออยากให้คนคนนั้นยอมรับเช่นกันสิ แต่แล้วอีกฝั่งในใจก็พูดเสียงดังว่า เธออาจเข้าใจและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมได้ดีกว่านี้ หากเพียงสังคมที่เธออยู่เอื้อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกัน แล้วใครจะเชื่อสวรรค์ ชังนรก แบบไหน ก็ช่างหัวมันเถอะ!

นั่นแหละ, วิธีนี้ทำให้ฉันแข็งแกร่งพอสมควรและผ่านวันเวลาน่าหดหู่ใจมาได้ แถมบางครั้งมันก็เป็นตุเป็นตะจนกลายเป็นเรื่องแต่งที่ฉันกลับไปอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนได้ โดยไม่กลัวใจตัวเอง

เรื่องสั้นและนิยายกลายเป็นอีกหลุมหลบภัยของฉัน

แม้จะมีผู้อ่านติดตามอยู่ในจำนวนที่น้อยนิด แต่ก็มีบ้างที่ได้รับการถามไถ่ว่าเมื่อไหร่จะเขียนหนังสืออีก ทุกครั้งฉันจะยิ้มแหยและบอกว่ายังอยากเขียนอยู่เสมอแต่ยุ่งเกินจะเขียนออกมา ซึ่งทุกครั้งที่ได้พูดออกไป ฉันก็พบว่ามันยากเหมือนกันที่จะกลับไปเปิดประตูหลุมหลบภัยที่เหมือนปิดตายมาหลายปี และสิ่งที่คิดต่อมาทุกทีคือ แล้วเดี๋ยวนี้ฉันหนีเข้าหลุมหลบภัยไหน

ใช่, ฉันไม่ได้แข็งแกร่งขึ้นสักหน่อย มันต้องมีหลุมไหนที่ฉันหลบแว่บเข้าไปโดยอัตโนมัติในระดับที่ฉันเองก็ไม่รู้ตัวบ้าง

จนกระทั่งสุดสัปดาห์ก่อน ฉันนั่งทดท้อในคืนวันอาทิตย์หน้าแพลนเนอร์ของตัวเองเหมือนเคย แค่คิดว่าจะต้องจัดการงานอะไรบ้างในแต่ละวันก็เผลอขมวดคิ้วและปวดต้นคอตามฟอร์ม แต่แทนที่จะจัดการงานอะไรสักอย่างสองอย่างให้เสร็จไปบ้าง ฉันกลับหยิบสมุดโน้ตเล่มโตที่ตั้งอกตั้งใจให้เป็นสมุดเลกเชอร์ของตัวเองออกมา หยิบ cookbook เล่มที่อ่านค้างไว้มาค่อยๆ แปล ค่อยๆ ทำความเข้าใจ แล้วสรุปความเข้าใจลงไปในสมุดเลกเชอร์นั้น คืนนั้นฉันเรียบเรียงความเข้าใจเรื่องรสอูมามิ แยกแยะออกมาผ่านศัพท์แสงเคมี (เท่าที่พอจะเข้าใจได้) คัดลอกกราฟวงกลมรสชาติลงสมุด จริงจังราวกับกำลังจะมีสอบวันรุ่งขึ้น แล้วก็นึกได้ว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัย นี่คือกระบวนการที่ฉันชอบที่สุด

การหยิบเอาเลกเชอร์ของเพื่อนๆ หลายคนและหนังสือเรียนมายำรวมกัน แล้วสรุปออกมาเป็นเวอร์ชั่นที่ฉันเข้าใจเอง หลังเขียนเสร็จ ฉันพบว่าต้นคอเกร็งเครียดหายไป ทั้งๆ ที่สิ่งที่ทำอยู่ก็เคร่งเครียดไม่ต่างไปจากงาน เพราะมีการจัดการข้อมูล การเรียบเรียงชุดคำ (ที่พยายามขีดฆ่าคำผิดให้น้อยที่สุด) และเมื่อพลิกดูเลกเชอร์หน้าก่อนๆ ที่มีทั้งกระบวนการดริปกาแฟในเงื่อนไขเวลาต่างแบบจะให้รสชาติต่างกันยังไง มีวิธีหมักดองน้ำส้มสายชูจากผลไม้รสเปรี้ยว มีเรื่องช่องลมและการวางผังบ้านเรือนไทย มีเรื่องวัตถุดิบทดแทนในการทำอาหารแบบวีแกน ฯลฯ

ช่างเป็นวิธีคลายเครียดที่เคร่งเครียดดีแท้

แต่อย่างน้อยที่สุด, ฉันก็ได้กลับมาจับปากกาเขียนบนกระดาษอีกครั้ง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

กาแฟดำไม่เผ็ด

เป็นคนวาดภาพประกอบ เขียนคอลัมน์ เขียนหนังสือสำหรับเด็ก เจ้าของเพจกาแฟดำไม่เผ็ด และ Milo and Me ชอบเดินทาง แต่ก็ชอบอยู่บ้าน ชอบทำอาหาร ชอบดูนก ชอบวาดรูปและเล่าเรื่อง ชอบชีวิต…