WK.studio สตูดิโอปั้นเทพที่ตอบโจทย์ทั้งสายมูชาวเก๋ และคนเท่ที่อยากแต่งบ้าน

“สีขาวเด่นสวยชัดจัดทุกมุม
บนเมฆนุ่มสีทองบอกความหรู
รัศมีแดงแปร๊ดแสบตาดู
อุ้มน้องหนูสุดฟรุ้งฟริ้งวิ่งเล่นเอย” WK.studio

WK.studio

WK.studio

พระพิฆเนศ แมวกวักนำโชค และเจ้าพ่อเสือ ทั้งสามนี้ไม่ใช่เซรามิกองค์เทพเพื่อการบูชา แต่คือของตกแต่งบ้านสุดเก๋จาก WK.studio (ที่ใครจะนำไปกราบไหว้ก็ไม่ขัด) ของนักเรียนศิลป์จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่าง ตุ้ย–ภาคภูมิ นรังศิยา และ มี่–วาสิทธิ์ จินดาพร ที่แปลงความหลงใหลท่าทีของเหล่าเทพและองค์ประกอบศาลเจ้ามาเสกสรรค์ปั้นแต่งให้องค์เทพที่ดูขึงขังกลับน่ารักน่าเข้าถึงในสายตาคนรุ่นใหม่

ทั้งคู่เริ่มสร้างแบรนด์จากการปั้นกระถางต้นไม้ขายในตลาดนัดนักศึกษาสมัยเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 โดยเอกลักษณ์ในกระถางของพวกเขาคือการผสมผสานวัสดุมากมาย ทั้งไม้ เหล็ก แก้ว ฯลฯ ซึ่งเกิดจากการนำองค์ความรู้ด้านเซรามิกของตุ้ยมารวมกับทักษะงานประยุกต์ศิลป์ของมี่ 

WK.studio

“เรียกว่าทำขึ้นมาแบบมั่วๆ งงๆ” แต่เพราะความมั่วและงงที่ตุ้ยบอกนี่แหละ รุ่นพี่คณะคนหนึ่งซึ่งเห็นว่างานกระถางของทั้งคู่น่าไปต่อ จึงออกปากชวนไปแจมบูทของตัวเองในงานบ้านและสวนแฟร์ และผลตอบรับก็ออกมาดีเกินคาดชนิดที่แม้จบงานแล้วยังมีลูกค้าและนิตยสารติดต่อเข้ามาไม่ขาดสาย

WK.studio

เมื่อเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษาเป็นบัณฑิตป้ายแดงเรียบร้อย ทั้งคู่จึงหันมาทำแบรนด์ต่ออย่างจริงจังในนาม Pinocchio ก่อนเปลี่ยนเป็น WK.studio อย่างปัจจุบัน 

แล้วจากการทำกระถางผสมผสานหลากวัสดุกลับกลายเป็นเหล่าเทพเทวาได้ยังไง กลุ่มลูกค้าแบบไหนที่สนใจรูปเคารพและศาลเจ้าขนาดย่อมเหล่านี้ ตามไปฟังเรื่องราวจากปากของทั้งสองโดยไม่จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการอ่านก็ได้ และต่อให้ไม่ใช่สายมูก็สามารถสนุกไปกับเหล่าช้าง แมว และเสือในร่างองค์เทพเหล่านี้ได้เช่นกัน

WK.studio

แบรนด์เซรามิกที่ใช้ความสนุกเป็นตัวตั้ง

หลังเกริ่นให้ฟังถึงที่มาการรวมตัวคู่หูดูโอ้เซรามิกมือฉมัง มี่และตุ้ยบอกว่าการทำแบรนด์ของทั้งคู่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จากทำมั่วๆ งงๆ เป็นการปั้นตามคอลเลกชั่นประจำงานแฟร์ ก่อนกระจายสินค้าไปขายในร้าน selected shop บนห้าง 

แต่นอกจากปั้นกระถางขายแล้ว อีกงานเสริมที่ทั้งคู่จะทำคือการปั้นสิ่งละอันพันละน้อยอย่างงานปั้นชิ้นเล็กๆ ไปประกอบร้านให้สวยงามน่าดึงดูด แต่เจ้างานเสริมที่ว่านี้ดันได้รับเสียงตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์

WK.studio

“ถ้ามีเวลาเหลือจากการปั้นกระถาง เราจะปั้นเซรามิกรูปสัตว์บ้าง โคมไฟบ้าง เพื่อเอาไปจัดร้านให้น่าดึงดูด แต่กลายเป็นว่าลูกค้าอยากได้ พอบอกว่าไม่ได้ขาย เขาก็ยืนยันว่าจะเอา เป็นแบบนี้อยู่หลายครั้งจนคิดกันว่าหรือจะเปลี่ยนมาขายงานปั้นคาแร็กเตอร์ที่ไม่มีฟังก์ชั่นไปเลย” มี่เล่าพลางหัวเราะเมื่อลูกค้ายืนกรานว่าของแบบนี้มันต้องมีจริงๆ

WK.studio

“อีกสิ่งคือพอทำแต่กระถางไปเรื่อยๆ มันก็เริ่มเบื่อ ความสนุกที่เคยได้คิดว่าจะเอาวัสดุอะไรมาผสมกันบ้าง กระถางใบนี้จะออกมาแบบไหน มันเริ่มหมดไป แต่พอเราปั้นงานอื่นๆ เรากลับสนุกทั้งตอนที่ทำและตอนที่ขาย” จากแต่เดิมที่บทสนทนาระหว่างทั้งสองกับลูกค้ามักจะวนเวียนอยู่ที่วิธีการเลี้ยงต้นไม้แต่ละชนิดในกระถาง พวกเขาก็ได้โอกาสเล่าเรื่องใหม่ๆ อย่างไอเดียในการปั้นของประดับแต่ละชิ้น 

และเมื่อถึงจุดที่เทรนด์การเลี้ยงแคคตัสเริ่มจางหาย กระถางจึงได้รับผลกระทบไปด้วย กระแสนี้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งให้ทั้งคู่ทดลองไม่นำกระถางไปขายที่งานแฟร์ แต่ขนงานปั้นทั้งหมดไปจัดวางเพื่อประเมินว่าสิ่งที่คิดนั้นเป็นไปได้หรือไม่

“ร้านขายกระถางมันเริ่มเยอะขึ้นกว่าตอนที่เราขายแรกๆ เวลาคนเดินเลือกกระถางเขาก็จะบอกแค่ว่าน่ารักจังแต่ไปลองเลือกร้านอื่นก่อน แต่พอเป็นงานปั้นคาแร็กเตอร์ปุ๊บ ถ้าคนชอบก็จะพุ่งเข้ามาเลย” ตุ้ยเล่า แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนก็คือ

“ไม่มีใครถามถึงกระถางที่เราเคยทำเลย” ทั้งคู่หัวเราะพร้อมกัน

แต่คำถามสำคัญคือคาแร็กเตอร์ที่ว่าต้องน่าสนใจขนาดไหน ชนิดที่ใครเห็นก็ต้องอยากซื้อ 

สรรพสัตว์ที่เกิดจากมวลอารมณ์ของศาลเจ้า

คาแร็กเตอร์หลักๆ ของ WK.studio ที่เราพอนับได้มีอยู่ 3 อย่าง คือ ช้าง แมว และเสือ แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ๆ ก็นึกอยากปั้นสัตว์ทั้ง 3 ชนิดนี้ขึ้นมาเฉยๆ เพราะทุกตัวล้วนมีที่มา

เริ่มจากช้างซึ่งตั้งใจปั้นให้เป็นพระพิฆเนศ สังเกตได้จากมือไม้และพาหนะคู่ใจอย่างหนูน้อยที่คอยติดสอยห้อยตามมาด้วยเสมอ ส่วนแมวนั้นทำหน้าที่เป็นแมวกวัก ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเป็นเอกลักษณ์ ต่างจากที่เห็นกันบ่อยๆ ตามร้านขายของชำ สุดท้ายคือเสือที่แค่เห็นก็ชวนให้นึกถึงศาลเจ้าพ่อเสือตามไชน่าทาวน์ยังไงยังงั้น

“จริงๆ เราหัดปั้นพระพิฆเนศตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว ตรามหาวิทยาลัยเราก็คือพระพิฆเนศ หรืออย่างเสือกวักก็มีตั้งแต่ตอนขายกระถางแล้วเพราะตุ้ยชอบเสือ ส่วนแมวกวักนั้นพัฒนามาจากเสือกวักอีกที

“แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ปั้นขึ้นเพราะความเชื่อหรืออยากให้คนไปบูชา แต่ปั้นเพราะเราสองคนชอบมวลอารมณ์ของศาลเจ้า การจัดวางองค์ประกอบ และความขลังที่รู้สึกว่าแม่งเอาว่ะ” มี่เล่าพร้อมหันไปหัวเราะกับตุ้ย

เมื่อเห็นว่าสัตว์น้อยใหญ่เหล่านี้ล้วนขายได้ขายดี แถมยังสนุกที่ได้ออกไอเดียใหม่ๆ เสมอ ทั้งสองจึงชวนกันหยิบคาแร็กเตอร์ช้างขึ้นมาทำเป็นคอลเลกชั่นในชื่อ On The Cloud หรือพระพิฆเนศอ้วนขาวบนก้อนเมฆเต่งตึง แถมยานพาหนะตามความเชื่ออย่างหนูน้อยห้อยมาด้วย

“เราเปลี่ยนการทำงานจากปั้นล้วนๆ มาเป็นการหล่อเพื่อให้จัดการสต็อกง่ายและให้งานเหมือนกัน แต่เพราะความเยอะของทั้งคู่ สุดท้ายงานก็ออกมาละเอียดเหมือนปั้นอยู่ดี” ตุ้ยเล่าพร้อมยกตัวอย่างพระพิฆเนศที่ถึงจะใช้งานหล่อในส่วนของช้าง แต่ส่วนเล็กๆ อย่างหนูก็ต้องปั้นมือทีละตัว ยิ่งหางหนูที่เซรามิกทำไม่ได้ก็ต้องทำทองเหลืองให้เป็นเส้น ก่อนที่ทั้งสองจะนำองค์ประกอบแบบนั้นมาจัดวางด้วยมือทีละชิ้น

“พอจัดวางแล้วก็ต้องดูอีกว่ามันได้ตามภาพที่คิดไหม ถ้าใส่หนูอย่างเดียวแล้วยังไม่พอทำยังไง หรือถ้าแมวกวักดูโล้นๆ จะใส่ปลาเพิ่มเข้าไปไหม เอ้า ยังไม่พออีกก็เอาปลาใส่พานรอง” ตุ้ยอธิบายถึงความละเอียดของกระบวนการทำงานในแบบของพวกเขา

เมื่อหยิบจับความเชื่อโบราณมาทำให้ร่วมสมัยขึ้น คนรุ่นใหม่ก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่ได้มองว่าขึงขังน่ากลัวแต่กลับกลายเป็นน่ารักน่าเอ็นดู แต่ทั้งคู่เคยโดนดราม่าเรื่องนี้บ้างไหม เราสงสัย

“ตอนแรกก็กลัว แต่กลายเป็นว่าคนที่เขาอินและบูชาจริงๆ เขาก็ชอบนะ บางคนก็ซื้อไปปลุกเสกด้วยซ้ำ เราคิดว่าลูกค้าจะซื้อไปวางตกแต่งเฉยๆ หรือเอาไปกราบไหว้ก็ได้ทั้งนั้น 

“เพราะเราแค่หยิบเอาเรื่องราวของเทพมาเป็นไกด์ไลน์ในการทำงานเฉยๆ โดยไม่ได้มองว่าสิ่งที่เราปั้นคือพระพิฆเนศจริงๆ ไม่ได้มองว่านี่คือเจ้าพ่อเสือจริงๆ แต่มองว่านี่คือช้างและเสืออีกคาแร็กเตอร์หนึ่ง 

“ซึ่งมันคือสไตล์ความชอบของเราสองคน” ตุ้ยไขข้อข้องใจ

ผลิตจำนวนจำกัด เพื่อเพิ่มคุณค่าและรักษาสมดุล

สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มอยากซื้อเทพเทวาของทั้งคู่มาบูชาบ้างก็ใช่ว่าจะซื้อได้ตลอด เพราะทั้งคู่จะออกคาแร็กเตอร์เป็นคอลเลกชั่นเท่านั้น โดยมีแก่นสำคัญอยู่ 2 ส่วนคือ 

หนึ่ง–เทศกาลน่าสนใจ เช่น แมวกวักในวันแห่งความรักก็เปลี่ยนจากสายตาเรียกลูกค้าให้กลายเป็นแมวส่งสายตาหัวใจปิ๊งๆ พร้อมคาบดอกกุหลาบราวกับจะบอกว่า ‘จงรักฉัน จงรักฉัน’ หรือพระพิฆเนศในครีษมายัน (ฤดูร้อน) ก็เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำเงินแจ๊ดแสบตา

สอง–ความชอบเฉพาะ ทั้งคู่ปั้นเสือขึ้นมาก็เพราะความชอบ ไม่ได้อิงกับปีนักษัตรใดๆ ทั้งสิ้น แม้จะมองเห็นโอกาสในทางธุรกิจสำหรับคอลเลกชั่นปีนักษัตรซึ่งน่าจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่เพราะยังมองไม่เห็นว่านักษัตรในแบบของ WK.studio จะออกมาในรูปแบบไหน ทั้งคู่จึงเลือกที่จะไม่ทำ

“เราไม่ได้ปั้นขึ้นเพราะความเชื่อแต่ปั้นเพราะความชอบ เลยไม่ได้คิดจะทำสัตว์ 12 ตัวออกมา อย่างปีที่แล้วปีวัวก็จริง แต่เราก็เลือกที่จะปั้นพระพิฆเนศลายวัวแทน

“ที่เรายึดมั่นในความชอบและความสนใจของตัวเองเพราะมองว่าความต้องการของลูกค้ามีเป็นร้อยเป็นพัน มันมีเยอะจนเราไม่รู้ว่าเราต้องเลือกอะไรมาทำ เราจึงยึดมั่นในตัวตนของเราแล้วทำออกมาให้ดีก่อนเป็นอันดับแรกน่าจะดีที่สุด แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ให้สนใจความชอบลูกค้าเลยนะ บางครั้งก็ต้องพยายามหาตรงกลางด้วย” ตุ้ยเล่า 

นอกจากนี้ในแง่ของจำนวน พวกเขาก็ยังผลิตทุกคอลเลกชั่นในจำนวนจำกัด ซึ่งนอกจากจะทำให้สินค้าแต่ละชิ้นดูมีคุณค่าแล้ว ก็ยังช่วยรักษาสมดุลในการทำงานของพวกเขาเองอีกด้วย

“บางครั้งเราทำออกมาแค่ 99 ตัวแต่ดันขายดีมาก จนอดคิดไม่ได้ว่ารู้แบบนี้น่าจะทำสัก 500 ตัว แต่พอคิดอีกมุมมันก็ดีแล้ว เพราะถ้าเราทำเยอะขนาดนั้น เราอาจจะเบื่อเหมือนตอนทำกระถางก็ได้ การมีจำนวนจำกัดจึงกระตุ้นให้เราได้คิดและออกคอลเลกชั่นใหม่ๆ เสมอ” ตุ้ยอธิบายถึงกลยุทธ์

“อีกอย่างคือถ้าทำเยอะๆ ซ้ำๆ มันไม่ค่อยพิเศษหรือมีคุณค่าทางใจกับลูกค้า เพราะเขาจะซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรีบ แต่พอเราทำเป็นคอลเลกชั่น มีตัวเลขกำกับว่าที่เขาได้ไปเป็นตัวที่เท่าไหร่ มันก็ให้ความรู้สึกพิเศษกว่า” มี่เสริม

WK.studio

สิ่งละอันพันละน้อยที่คอยสร้างบรรยากาศ

นอกจากเหล่าเทพเทวาหน้าตาน่ารักแล้ว การจัดองค์ประกอบสินค้าในแบบของ WK.studio คืออีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่เห็นแค่แวบเดียวก็จำได้ ชนิดที่ใครก็ยากจะเลียนแบบ 

WK.studio

ไม่รู้เป็นเพราะเรียนศิลปะมาหรือเพราะความชอบส่วนตัวของเราสองคน แต่เวลาที่เราคิดงานสักชิ้น มันจะต้องมาพร้อมกับองค์ประกอบรอบๆ อย่างแมวที่ต้องอยู่บนฐานไม้ ส่วนฐานไม้อยู่บนหิ้ง หิ้งอยู่ในศาล ศาลอยู่ในบ้าน ซึ่งการจัดวางแบบนี้ไม่ได้เพิ่งมีตอนขายคาแร็กเตอร์ แต่มีมาตั้งแต่สมัยที่เราขายกระถางต้นไม้แล้ว

“ปัจจุบันเราเลยจับไอเดียการจัดวางมาพัฒนาต่อ จากเมื่อก่อนที่วางมั่วๆ ลูกค้าอาจจะซื้อกระถางอย่างเดียวโดยไม่เอางานชิ้นเล็กๆ กลับไปด้วยก็ได้ ช่วงหลังเราจึงเริ่มตั้งใจออกแบบให้เป็นชุดที่เข้าคู่กัน ชนิดที่ถ้าคนชอบสะสมของเล่นจะเห็นแล้วรู้สึกว่ามันกุ๊กกิ๊กน่ารักจนต้องซื้อไปเป็นชุดในที่สุด” ตุ้ยว่าแล้วยกตัวอย่างเจ้าแมวกวักน้อยๆ ที่มาพร้อมปลาจิ๋ววางบนพานประกอบ หรืออย่างในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาก็ออกหน้ากากป้องกันโรคมาเป็นไอเทมเสริมด้วย

WK.studio

นอกจากนั้นยังมีหัวเสือที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศาลเจ้าจีน แท่นวาง พวงมาลัย และกระถางธูป ที่เห็นได้ทั่วไป รวมถึงสารพัดสิ่งละอันพันละน้อยที่สื่อถึงความเป็นศาลเจ้าเพื่อสร้างบรรยากาศให้คาแร็กเตอร์ดูโดดเด่นสะดุดตา

“เหล่านี้มาจากความชอบของเราสองคนล้วนๆ อย่างศาลอินเดียจะมีความเหนือธรรมชาติมากๆ ส่วนศาลเจ้าจีนจะจัดวางองค์ประกอบดี ซึ่งเราซึมซับความชอบเหล่านี้มาตอนไหนก็ไม่รู้ แต่รู้ตัวอีกทีก็ค่อยๆ นำมาใช้กับการทำงานแล้ว” มี่เสริมให้เห็นภาพ

WK.studio

บทเรียนธุรกิจของสองนักเรียนศิลปะ

ความท้าทายครั้งใหม่ของทั้งคู่เกิดขึ้นเมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด พวกเขาจึงต้องผันตัวมาขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับธุรกิจที่นำเสนอสินค้าพร้อมกับบรรยากาศภายในร้านที่เต็มไปด้วยมนตร์ขลังอันเป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญ

“พอลูกค้าไม่ได้เห็นการจัดวางจริงๆ หรือบรรยากาศที่ทำให้งานน่าดึงดูด เราก็ต้องทำอาร์ตเวิร์กให้เห็นถึงบรรยากาศนั้นๆ แบบที่ใกล้เคียงกับการออกบูทที่สุด เวลาโพสต์ขายก็ไม่ค่อยได้เขียนแห้งๆ แต่เขียนให้น่าดึงดูดเช่นการแต่งโคลงกลอนประกอบ” ตุ้ยว่าพลางหัวเราะไปพร้อมๆ มี่ พร้อมยกตัวอย่างโคลงประกอบแมวกวักคอลเลกชั่น Good Night

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

A post shared by WK.studio (@wk.studio_th)

“ทั้งหมดที่เราทำล้วนไม่มีองค์ความรู้ทางธุรกิจเลย แต่มาจากประสบการณ์การออกบูทขายของกว่า 7 ปี ถึงได้รู้ว่าต้องขายยังไง จัดบูทยังไง ทำยังไงให้คนสนใจ” มี่บอก ก่อนตุ้ยจะเล่าเสริม

“แต่สิ่งสำคัญคืองานต้องดีก่อนนะ ส่วนตัวเราเชื่อว่าต่อให้คุณเก่งธุรกิจแค่ไหน แต่ถ้างานคุณไม่ได้ดีมันก็ไปต่อไม่ได้ ถ้าทำงานดีแล้ว เรื่องธุรกิจก็ค่อยมาเรียนรู้เอา” 

WK.studio

ห้องสารภัณฑ์ที่อยากนำเสนองานศิลป์

“WK.studio ย่อมาจาก wunderkammer แปลว่าห้องสารภัณฑ์ที่สะสมของแปลก พิเศษ หรือมหัศจรรย์ เราอ่านเจอคำนี้ในหนังสือเล่มหนึ่งแล้วรู้สึกว่ามันใช่มาก เพราะสตูดิโอพวกเรารกมากจริงๆ อีกอย่างคือมันเข้ากับบรรยากาศของร้านที่รวมของแปลกๆ ด้วย” มี่บอกถึงที่มาชื่อแบรนด์ให้ฟัง แต่ความสงสัยต่อไปของเราคือ แล้วห้องสารภัณฑ์ห้องนี้มีเป้าหมายที่จะเป็นมากกว่าห้องเก็บของหรือไม่

WK.studio

“เราไม่มีความรู้ทางธุรกิจก็จริง แต่การจะไปสู่เป้าหมายก็ต้องค่อยๆ ไปทีละสเตป ดูว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ในตอนไหนบ้าง ไม่ใช่ว่าทำงานศิลปะแล้วอยากจะทำอะไรก็ทำโดยไม่วางแผน เพราะโลกความจริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น” มี่บอกก่อนตุ้ยจะเฉลยถึงเส้นทางที่วางไว้

“ในฐานะนักเรียนศิลปะ เรายังอยากทำงานศิลปะอยู่ แต่ถ้าเรานำเสนอออกไปตรงๆ เลยคิดว่าอาจจะเสพยากเกินไป ตอนนี้เราเลยค่อยๆ ปูทางไปสู่เป้าหมายโดยนำเสนอผ่านงานคาแร็กเตอร์ก่อนขยับไปเป็นการจัดวางองค์ประกอบที่มากขึ้น

“แล้วนำไปสู่นิทรรศการเพื่อให้คนเข้าใจว่า Wunderkammer คือใคร และทำอะไรบ้าง”

WK.studio

ขอบคุณภาพจาก WK.studio

AUTHOR