สำหรับผม หอศิลป์เป็นคล้ายเพื่อน | จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

ที่ห้องประชุมชั้น 5 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) ผมและน้องในทีมอีก 2 คนนั่งอยู่ท่ามกลางบุคลากรของ bacc แบบครบทีม ขาดเพียงแม่บ้านกับพนักงานรักษาความปลอดภัย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมาเยือนหอศิลป์แห่งนี้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบเจอผู้อยู่เบื้องหลังสถานที่ที่ผมผูกพัน

ที่ผ่านมาผมแวะเวียนมาใช้บริการที่นี่ในหลายโอกาส ในคืนวันอันว่างเปล่า ผมเคยยืนเกาะราวบนทางเดินลอยฟ้าเฝ้ามองการแสดงด้านหน้า เคยแวะเวียนมาชมนิทรรศการของศิลปินชื่อคุ้นและไม่คุ้นที่ชั้นบน เคยนั่งเขียนบางบทของหนังสือเล่มใหม่และสนทนากับใครบางคนที่ร้านกาแฟชั้นล่าง หรือแม้กระทั่งเคยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่หลบน้ำบนฟ้ายามฝนมาเยือน

แต่ครั้งนี้ผมมาเยือนที่นี่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป ผมมาเพื่อบอกความตั้งใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวของหอศิลป์ผ่านหน้านิตยสาร

“ตอนนี้สถานการณ์หอศิลป์เป็นอย่างไรบ้าง พอจะบอกได้ไหมครับ” ผมถามคำถามซ้อนคำถามกลางห้องประชุม ด้วยกลัวว่าบางอย่างจะเปิดเผยไม่ได้ หลังจากได้ยินข่าวคราวล่าสุดว่าขณะนี้หอศิลป์คล้ายตกอยู่ในอาการโคม่าเนื่องจากขาดเงินสนับสนุนจากทาง กทม.

หลังจากได้ยินคำถาม ครูป้อม–ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็อธิบายสถานการณ์ล่าสุดแบบละเอียด ซึ่งบางอย่างที่ได้ฟังก็ยังเปิดเผยไม่ได้

 “เป็นยังไง สถานการณ์แบบนี้แต่พวกเรายังยิ้มกันได้อยู่” ผู้อำนวยการบอกผมด้วยอารมณ์ขันกับเรื่องตลกร้าย

เป็นอย่างที่เขาว่า แม้สถานการณ์จะอ่อนไหวเพียงใดแต่แววตาของทุกคนในห้องกลับไม่ได้ฉายแววสิ้นหวัง ทุกคนยังคงโฟกัสกับงานตรงหน้าและอนาคต

ในชีวิตมีหลายเหตุหลายปัจจัยที่พัดพาให้คนเรามาพบกัน

หน้าที่การงาน ความบังเอิญ ความสัมพันธ์ ความเชื่อ ความชอบ ความรัก พรหมลิขิต วิกฤตในชีวิต และอีกหลายสาเหตุสุดแล้วแต่โชคชะตากำหนด แต่พูดก็พูดเถอะ ท่ามกลางหลากหลายเหตุผลที่ว่า ถ้าเลือกได้ ผมไม่อยากพบใครสักคนเพราะพายุในชีวิตพัดพาให้เรามาเจอกัน

ว่ากันให้เห็นภาพ กับเพื่อนฝูง ถ้าเลือกได้ ผมอยากพบเจอในงานสังสรรค์มากกว่าเจอกันในขณะที่อีกฝ่ายนอนป่วยอยู่บนเตียง

แต่นั่นแหละ คุณก็รู้ ผมก็รู้ ชีวิตเราเลือกได้ที่ไหน เหนืออื่นใดเราจะมีเพื่อนไปทำไมถ้าจะพบกันเฉพาะยามอีกฝ่ายสุขสบาย แล้วไม่ใช่เรื่องงดงามของชีวิตหรอกหรือที่ยามทุกข์ร้อนมีผู้คนห้อมล้อมไม่ให้ผ่านไปอย่างโดดเดี่ยว

สำหรับคนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ สำหรับผม หอศิลป์เป็นคล้ายเพื่อน

เพลงที่ได้ฟัง หนังที่ได้ดู หนังสือที่ได้อ่าน นิทรรศการศิลปะที่ผ่านตา งานเสวนาที่เข้าร่วม สิ่งเหล่านี้คือเส้นเลือดใหญ่ คือลมหายใจที่หล่อเลี้ยงมันสมองและหัวใจของผู้คนในวงการสร้างสรรค์

ไม่มากก็น้อย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานที่แห่งนี้ได้หล่อหลอมผมโดยไม่รู้ตัว และแน่นอนว่าไม่ใช่กับผมคนเดียว

วันที่มีข่าวว่าสถานที่แห่งนี้เจอวิกฤตเราจึงเห็นแฮชแท็ก #saveYOURbacc เต็มไทม์ไลน์ คนที่พอจะเห็นความสำคัญของมันต่างออกมาเคลื่อนไหวทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์

ว่าถึงตรงนี้ผมนึกถึงอีกสถานที่หนึ่งที่ผูกพันซึ่งอยู่ไม่ไกลกันอย่างสกาลา ตอนที่มีข่าวว่าโรงภาพยนตร์แห่งนี้สุ่มเสี่ยงจะหายไปก็มีใครหลายคนพยายามออกมาปกป้อง หากแต่กรณีของ bacc ค่อนข้างแตกต่างจากสกาลาอยู่มากตรงที่มันไม่ใช่เรื่องคุณค่าทางสถาปัตย์แต่อย่างใด

จะทุบทิ้งวันนี้พรุ่งนี้เลยก็ได้ หากสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่เป็นการเปิดที่ทางให้วงการสร้างสรรค์และศิลปวัฒนธรรมบ้านเราได้มีที่ทางเพิ่มขึ้น แต่ก็อย่างที่รู้กันว่ามันอาจเป็นทางตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นหากวันหนึ่งหอศิลป์แห่งนี้ต้องกลายเป็นอย่างอื่น มันหาใช่เรื่องน่าเศร้าในแง่ตัวอาคารสถานที่ หากแต่มันเป็นการสะท้อนว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเราให้ค่ากับพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่น้อยนิดในบ้านเราเพียงใด

“คือถ้าเรามองว่ามันเป็นตึกตึกหนึ่ง เป็นสถานที่สถานที่หนึ่ง จะทุบทิ้งก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญกว่ามันคือสิ่งที่อยู่ข้างใน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในนั้น ระหว่างงานศิลปะกับคนที่เข้ามาดู

“ถ้าเจ้าของอาคารหลังนี้ ซึ่งก็คือทาง กทม. หรือประชาชนคิดว่า เอาอาคารหลังนี้ไปทำอย่างอื่นจะมีประโยชน์มากกว่าอะไรแบบนี้ ก็เป็นไปตามนั้น 

“แต่ย้ำว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนนะครับ ไม่ใช่คนบางกลุ่ม” ครูป้อมบอกกับผมด้วยรอยยิ้มหลังจากเรามีโอกาสได้พบกันอีกหนนอกห้องประชุม

ในชีวิตมีหลายเหตุหลายปัจจัยที่พัดพาให้คนเรามาพบกัน

กล่าวสำหรับครั้งนี้ ไม่ใช่วิกฤตหรอกที่พาพวกเราชาว a day กับ bacc มาเจอกัน หากแต่เป็นสิ่งที่งดงามกว่านั้น มีคุณค่ากว่านั้น ทรงพลังกว่านั้น

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในหอศิลปกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลา 10 ปี และตอนนี้บางส่วนของมันหลอมรวมอยู่ในเนื้อตัวของพวกเรา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!