ให้ความชอบนำทางไปสู่สิ่งที่รัก ผ่านภาพทิวทัศน์บนลายเส้นจุ๊กจิ๊กของศิลปิน ‘Viwenny’

ครั้งแรกกับการได้รับโอกาสให้ไปสัมภาษณ์ศิลปินที่ชื่นชอบ แอบกระซิบก่อนว่า เธอเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของเราที่คอยขับเคลื่อนการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ผ่านภาพวาดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแสงสีของธรรมชาติ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากหยิบยกเรื่องราวของศิลปินตัวเล็กๆ ที่สามารถเติบโตในวงการศิลปะ จนได้รับกระแสตอบรับที่ดีถึงทุกวันนี้มานำเสนอ

ชวนรู้จัก ‘Viwenny’ หรือ จิ๊กซอว์-วรรณวิภา แก้วพิทักษ์ นักวาดภาพประกอบที่มีลายเส้นผ่านการแต่งแต้มประกอบขึ้นจนเป็นภาพทิวทัศน์ ซึ่งบ่งบอกถึงเรื่องราวของธรรมชาติ ผ่านท้องฟ้า ทุ่งหญ้า ภูเขา และทะเล รวมถึงเธอยังเคยวาดภาพประกอบหนังสือวรรณกรรมอีกหลายเล่ม ที่ใครหลายๆ คนคงร้อง อ๋อ! เมื่อได้เห็นผลงานของเธอ 

จุดเริ่มต้นความชอบศิลปะมาจากตอนไหน

เราในวัยเด็กชอบอ่านหนังสือการ์ตูนหนูหิ่นอินเตอร์ และชอบลายเส้นของพี่เอ๊าะที่เป็นนักวาดภาพประกอบมาก และนั่นจึงทำให้เราอยากวาดรูปภาพจากสิ่งของชิ้นเล็กๆ กระจุกกระจิกรอบตัว เพราะเราสามารถควบคุมรายละเอียดของมันได้ 

ความผลิกผันในชีวิตวาดรูปคือช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เพราะตอน ม.4 เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต แต่สุดท้ายตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านศิลปะ เพราะรู้สึกว่า สิ่งที่เรียนอยู่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากต่อยอดในอนาคต 

ตั้งแต่นั้นมาเราจึงเริ่มฝึกวาดภาพแนวบุคคล (Portrait) ซึ่งช่วงนั้นงานเรายังไม่พัฒนามาก เราเคยได้เกรด D แทบจะทุกตัว จากนั้นก็เลยต้องกลับมาฝึกวาดให้มากขึ้นอีกครั้ง แล้วตอนนั้นก็มีความคิดหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวว่า “ฉันอยากเก่ง ฉันอยากวาดรูปให้ดีกว่าเดิม” หลังจากนั้นเราก็ฝึกฝนมากขึ้น จากงานที่เรามองว่า มันยังไม่ใช่ มันก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ช่วงที่ยังเป็นศิลปินโนเนม เราได้มีโอกาสวาดภาพวิวให้กับแบรนด์เสื้อผ้าหนึ่งซึ่งเป็นภาพที่มีสีสันสดใส แล้วพอได้วาดเราก็รู้สึกว่า เอ้า ฉันก็ทำได้นี่! ก็เลยดึงงานตอนนั้นมาต่อยอดเรื่อยๆ ปรากฏว่ากระแสตอบรับดี มีคนชอบมากขึ้น เราเลยดึงจุดที่คนอื่นชมมาพัฒนางานต่อเรื่อยๆ 

แต่การเลือกสิ่งที่คนส่วนมากชื่นชอบ เราก็ต้องชอบเหมือนกันนะ ไม่ใช่ว่าคนอื่นชอบที่เราวาดแต่เราดันไม่ชอบ เรามองว่ามันคือการฝืน อย่างที่เราบอกว่า ตอนแรกเราเริ่มจากพื้นฐาน มีแค่ภาพวิวทิวทัศน์ แล้วก็ของเล็กๆ กระจุกกระจิก จากนั้นก็เพิ่มทักษะขึ้นมาเรื่อยๆ เราชอบที่ไม่ต้องวาดคนให้เป๊ะมาก แค่วาดโครงให้รู้ว่าเป็นคนก็พอ แล้วมาเติมแสงสีเพื่อให้ผู้ชมรับรู้ถึงความมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความท้าทายในตัวเอง เราอยากพัฒนาและไม่อยากหยุดอยู่กับที่

ถ้าให้นิยามสไตล์การวาดรูปของคุณคืออะไร

คนชอบเรียกว่า Impressionism เป็นแนวการวาดบันทึกสิ่งต่างๆ ที่เรารู้สึกประทับใจ แต่เรารู้สึกว่า งานเราไม่ได้มีสไตล์ที่ถูกจำกัดขนาดนั้น แต่ด้วยเทคนิคและความรู้สึกตอนนั้นเรามองว่ามันใกล้เคียงกับสไตล์นี้มากที่สุด เพราะเราชอบให้ตัวเองปล่อยมือปล่อยใจไปกับภาพที่วาด 

มันมีความสุขเวลาได้สานเส้นจนมันมือ แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะติดความเป๊ะที่เราเผลอใส่ลงไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งแนวงานของเราจะเป็นการผสมคำระหว่างความเป๊ะกับความไม่เป๊ะ ซึ่งมันก็กลายเป็นเรา ถ้าให้ตั้งชื่องานสไตล์เรา เราคงเรียกมันว่า ‘Impressionism เวอร์ชันจุ๊กจิ๊กๆ’ (หัวเราะ) 

เรารู้สึกว่า การที่เราเก็บรายละเอียดลายเส้นทีละนิดแบบนี้มันดีกว่าการ Copy Paste เพราะมันทำให้งานออกมาสมูทขึ้น ดูไม่แข็ง ดูมีความเป็นธรรมชาติ และเราอยากให้ผู้อ่านได้สังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆ จากงานของเราด้วย

คิดว่าเสน่ห์งานของคุณคืออะไร

มีหลายคนเคยบอกว่างานเราอบอุ่นมาก แต่สำหรับคนวาดกลับไม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกนั้นเลย เหตุผลเพราะว่า ครอบครัวของเราพ่อแม่เลิกทางกัน เราเลยเป็นคนที่โตมาแบบโดดเดี่ยว แต่ก็ต้องขอบคุณครอบครัวนะที่ไม่เคยห้ามเรื่องพวกนี้เลย ต่อให้ไม่มีเงิน เขาก็ไม่เคยสั่งห้ามศิลปะ เราก็เลยคิดว่า การที่เราวาดภาพอบอุ่นได้ มันน่าจะเป็นเพราะว่าเราขาดในสิ่งนี้ไปหรือเปล่า มันเลยทำให้งานออกมาดี

สังเกตว่าภาพของคุณมีรายละเอียดยิบย่อยมาก คิดว่าตัวเองเป็น Perfectionist ไหม

(ทำหน้าคิดหนัก) นิยามของ Perfectionist ก็คงจะเป็นคนที่สมบูรณ์แบบมาก เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็น Perfectionist เพราะไม่ใช่คนละเอียด ซึ่งบางครั้งความเป็น Perfectionist อาจบ่งบอกถึงตัวเรา โดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น การที่เราต้องวาดภูเขาให้เหมือนจริง แต่ไม่ได้อยากให้เหมือนเป๊ะ เราก็ต้องอาศัยวิธีการสานเส้นที่ไม่เป็นระเบียบของเราเข้ามาช่วย และผลสำเร็จของงานก็จะออกมาเป็นสไตล์เรา ซึ่งเราพยายามทำให้เกิดความสมดุลระหว่าง Perfectionism และความไม่เรียบร้อยในตัวเอง

แล้วมาวาดภาพประกอบหนังสือได้อย่างไร

เราได้รับโอกาสให้วาดภาพประกอบปกหนังสือชิ้นหนึ่ง โดยที่เขาออกแบบมาให้ประมาณ 3-4 เล่ม หลังจากนั้นเมื่องานเป็นที่รู้จัก สำนักพิมพ์ก็เริ่มติดต่อเข้ามามากขึ้น แล้วด้วยความที่เราชอบงานนี้มาก เราก็เลยเต็มที่กับมัน อาจมีบางงานที่ได้รับบรีฟในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่เราก็จะลองผิดลองถูกเสมอ เพราะคิดว่าถ้าทำได้ก็น่าจะเก่งขึ้น ถือว่าเป็นการฝึกตัวเอง และเมื่อผลสำเร็จของงานออกมา ทางสำนักพิมพ์ก็ชื่นชอบมาก เราเลยเริ่มรู้สึกกล้าที่จะก้าวข้ามเรื่องยากๆ ในการวาดภาพมากขึ้น

หลังจากที่ได้ทำแล้วเราก็รู้สึกชอบมากๆ เพราะเราชอบหนังสือ และพอได้ทำในสิ่งที่สานฝันเล็กๆ ของเราจึงรู้สึกว่า “นี่คือสิ่งที่ฉันใฝ่ฝันมาตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย” เราชอบที่เดินผ่านบูทแล้วเห็นปกหนังสือที่ตัวเองวาด มันมีบางครั้งที่ตัวเองคิดว่าทำไม่ได้ด้วยซ้ำ แล้วแบบนี้เราควรแก้ปัญหายังไง เราก็อาศัยการทำไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเกิดเราแก้ปัญหาตรงนั้นได้ เราก็เชื่อว่ามันจะเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ทำให้เราเก่งขึ้น

งานวาดของตัวเองกับลูกค้าแตกต่างกันไหม

ถ้าเป็นงานที่เราวาดเอง ทักษะที่เราใช้มันจะมีไม่เยอะ ต่างจากงานลูกค้าที่เราต้องทำตามบรีฟ มันจึงทำให้เราเก่งขึ้นและได้ลองทักษะใหม่ๆ แล้วนำสิ่งนั้นเหล่านั้นมาต่อยอดกับงานส่วนตัวเพราะความหลากหลายของบรีฟงานที่ได้รับมา

กว่าจะมาเป็นภาพหนึ่งต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง

ถ้าเป็นงานตัวเองก็วาดเลยค่ะ (หัวเราะ) เราจะร่างแค่บางส่วน และไม่ได้ร่างเป๊ะมาก เพราะท้ายที่สุดแล้วงานก็จะเปลี่ยนไปตามความรู้สึกที่เราอยากวาด กลับกันถ้าเป็นงานลูกค้า มันก็จะต้องมีภาพโครงร่างที่ชัดเจน 

ซึ่งสิ่งที่เราใช้เวลาวาดนานที่สุดคือต้นไม้ จริงๆ มันไม่ได้ยาก แต่เราอยากใช้เวลาอยู่กับมันนานๆ เรามีความสุขที่เราได้เก็บรายละเอียดในงานไม่ว่าจะเป็น แสง เงา หรือน้ำหนัก เพื่อให้ภาพดูมีชีวิตชีวา เหมือนเป็นการแก้ปัญหาให้มันออกมาสมบูรณ์มากกว่าเดิม พองานเสร็จสิ้นเราก็จะรับรู้ได้ถึงความสุขที่เราใช้เวลากับมันอย่างคุ้มค่า 

อะไรคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงความชอบการวาดภาพมาจนถึงทุกวันนี้

ถ้าเป็นงานลูกค้าก็คงเป็นเดดไลน์ค่ะ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นงานวาดของตัวเอง เราก็จะปล่อยวางค่ะ เราแค่ใจดีกับตัวเองให้มากขึ้น ถ้าไม่อยากวาดก็ไม่ต้องวาด 

“เราไม่ต้องสนใจว่าตอนนี้เราเดินถึงจุดไหนแล้ว แต่เราต้องสนใจตัวเองในขณะนี้ว่า จิตใจของเรายังไหวอยู่ไหม” 

บ่อยครั้งที่เรามักถามตัวเองเสมอว่า วันนี้ฉันอยากวาดรูปไหม ถ้าอยากวาดก็วาด แต่ถ้าไม่ไหวก็หยุด แล้ววันหนึ่งเราก็จะรู้สึกอยากกลับมาวาดรูปของเราเอง อีกอย่างหนึ่งคือ เราได้ฟังพอดแคสต์เรื่อง ‘กฎของแรงดึงดูด’ ทำให้เราเริ่มตั้งเป้าหมายกับตัวเอง ถ้าเราอยากเดินไปถึงจุดๆ นั้น เราก็ต้องใช้ความรักในงานศิลปะเป็นตัวนำทาง ในบางครั้งเราอาจจะท้อบ้าง แต่เรามีความตั้งใจที่จะทำงานวาดรูปไปตลอดชีวิต แม้ว่าเป้าหมายอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ความรักที่เรามีต่อศิลปะยังไงก็จะไม่เปลี่ยนไป

หลังจากคนรู้จักผลงานมากขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น เพราะงานทำให้เราได้เติมเต็มความรู้สึกในใจบางอย่างของตัวเอง และทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ว่าจริงๆ แล้ว ชีวิตเราไม่ได้ไร้ค่าขนาดนั้น เพราะว่าเราโตมากับคำที่ฝังรากลึกลงไปในหัวตัวเองว่า ‘ฉันไม่เก่ง’ พอวันหนึ่งเราได้รู้จักการวาดรูป จากวันนั้นจนถึงวันนี้เรารู้สึกว่าได้ว่า ชีวิตเรายังวาดรูปได้ เรายังทำให้คนอื่นรู้สึกดีได้นะ ซึ่งนี่คือวิธีการปลอบประโลมจิตใจของเรา จากคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีอะไรเลยนอกจากการวาดรูป จากศิลปินตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จากการปลอบใจตัวเองสู่การให้กำลังใจผู้อื่น เหล่านี้แหละคือสิ่งที่สุดยอดแล้วสำหรับเราเหมือนกัน

ในทางกลับกันท้อไหม ถ้างานของเราไม่ได้รับความสนใจจากผู้คน

ถามว่าตอนแรกท้อหรือผิดหวังไหม แน่นอนอยู่แล้วว่าลึกๆ ในใจของเราก็ต้องมีบ้าง แต่เราก็หาทางแก้ปัญหา ถ้างานไม่แมส เราก็จะไตร่ตรองกับตัวเองว่าสิ่งที่ขาดหายไปจากภาพคืออะไร และจะนำภาพนั้นกลับมาพัฒนาโดยการดึงจุดที่ดีของมันออกมา และเอาจุดที่ไม่ดีไปพัฒนาต่ออย่างไร เพื่อทำให้งานในครั้งต่อไปออกมาสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

คิดว่าตอนนี้คุณประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

พยายามมองเป้าหมายให้อยู่ในหัวตลอดเวลา ต่อให้วันไหนที่เราท้อ เราก็หวังว่าในอนาคตเราต้องเป็นแบบนี้ให้ได้ แม้ว่าเรายังไม่ได้รู้สึกพอใจมาก เพราะชีวิตคนที่อยู่ด้านหลังเรายังไม่ดี พอยังไม่ถึงจุดนั้นเราเลยรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ความสำเร็จ เพราะความสำเร็จของฉันคือ ต้องพาคนด้านหลังไปกับฉันด้วย 

ถ้าเป็นตัวงานเรายังรู้สึกว่าเราสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกลกว่านี้ เรามักจะทำตามใจตัวเองเป็นหลัก พยายามไม่หมุนตามโลกจนเกินไป เพราะเราจะไม่ลืมว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันมาจากความชอบของเรา เพื่อคงไว้ซึ่งผลงานของเราเอง แต่ว่าช่วงนี้เป็นช่วงพักเลยไม่ได้พัฒนางานสักทีหนึ่ง ในขณะเดียวกันเราก็กำลังรอจังหวะที่เราอยากกลับมาวาดรูปอีกครั้ง 

แนวทางการพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นคืออะไร

ในหัวเรามีแต่คำว่า ฝึก ฝึก และฝึกให้มากที่สุดเท่าที่จะฝึกได้ เราเป็นคนที่วาดรูปทุกวัน ซึ่งมันมีหลายๆ องค์ประกอบที่ทำให้เราอยากวาดคือ หนึ่ง-ฉันอยากเก่ง สอง-ฉันอยากฝึก เพราะการฝึกเป็นหนึ่งในวิธีที่เราสามารถดึงความรู้สึกที่อยู่ในใจออกมาได้ 

ถ้าให้เกรดตัวเองตอนนี้ก็คงเป็น B เพราะรู้สึกว่าเรายังไม่เก่งทุกอย่างขนาดนั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่เราอยากลองก้าวผ่านสกิลตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง ในอนาคตเราจึงตั้งใจว่าจะลงงานเฟรมโดยใช้สีอะคริลิก เพราะมันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย เราไม่ได้จับพู่กันบ่อย มันเลยทำให้มือแข็ง แล้วเราก็ไม่รู้ว่าการวาดบนเฟรม มันจะวาดออกมาตามที่ใจเราคิดเหมือนกับที่วาดในไอแพดไหม

สำหรับจิ๊กความสุขในการวาดรูปคืออะไร

การที่งานออกมาสมบูรณ์ตามที่ใจเราคิด สารตั้งต้นของการสร้างผลงานคืออารมณ์ของเรา เพราะฉะนั้นช่วงที่งานเสร็จ จึงเป็นช่วงที่สำคัญสำหรับเรามาก มันเป็นช่วงที่เรารู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเองมากที่สุด ต่อให้เรากลับมาเจอโลกแห่งความจริงว่าฉันเก่งหรือไม่เก่งก็ตาม แต่ช่วงดังกล่าวถือเป็นช่วงที่สามารถเติมเต็มความสุขให้กับศิลปินคนหนึ่งได้ แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว

ถ้าให้กำลังใจคนที่อยากเป็นศิลปินวาดภาพเหมือนจิ๊กบ้าง อยากบอกอะไรกับพวกเขา

“เราเชื่อว่าทุกคนมีจังหวะเวลาของตัวเอง”

อย่าไปท้อ แม้จะท้อแต่ก็อย่าอยู่กับมันนาน และใจดีกับตัวเองให้มากๆ พยายามตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า สิ่งที่เราชอบคืออะไร เพราะเราเชื่อว่าความชอบและความพยายามของเรามันไม่ทรยศเรา ต่อให้ใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม เพราะว่าเราเป็นอีกหนึ่งคนที่เพิ่งจะมาประสบความสำเร็จใน 2-3 ปีนี้ เราก็ทำงานในสายนี้มาเกือบ 10 ปี กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราก็ผ่านความยากลำบากมาเหมือนกัน เราเลยกล้าที่จะพูดว่า มันต้องใช้เวลาหน่อย บางคนอาจจะเร็ว หรือบางคนอาจใช้เวลานาน แม้ความมั่นใจจะหดไปบ้างระหว่างทาง แต่เมื่อเห็นผลสำเร็จของมัน เราก็จะรับรู้ได้ว่าที่ผ่านมาเราเก่งมากแล้วจริงๆ

ขอขอบคุณสถานที่ Vela at Mediums Sukhumvit 42


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR