ประเทดอุบล เพจโปรดักชั่นวิดีโอที่อยากเล่าเรื่องม่วนๆ ให้ทุกคนรู้ว่าพลังสื่ออุบลฯ นั้นคักแฮง

เพียงชั่วข้ามคืน เพจเฟซบุ๊ก ประเทดอุบล ก็โดดเด่นขึ้นท่ามกลางเพจคอนเทนต์ทั่วฟ้าเมืองไทย และ 2 ปีเต็ม คือช่วงเวลาที่เพจใช้พิสูจน์แล้วว่าคอนเทนต์จากคนอุบลฯ เพจนี้ มีคุณภาพไม่น้อยหน้าสื่อเมืองกรุงหัวไหน ด้วยวิดีโอสั้นๆ เนื้อหาแซบย่อยง่ายที่ถ่ายทำและร้อยเรียงอย่างดี แถมเล่าเรื่องด้วยการสัมภาษณ์ที่มีส่วนผสมของสารคดีสนุกๆ มาเสิร์ฟผู้ชมอย่างจัดเต็มในแบบฉบับที่คนดูต้องร้องว่าคักแฮง

ที่ประเทดอุบลมีรสชาติไม่เหมือนใคร เพราะเล่าเรื่องคนและเมืองอุบลฯ ผ่านสายตาคนใน โดยฝีมือของ อ๊อด–ปกรณ์ แก้ววงษา ผู้สะท้อนเสน่ห์วัฒนธรรมอีสาน และถ่ายทอดชีวิตคนธรรมดาในจังหวัดได้ลึกซึ้ง ตั้งแต่เรื่องราวของพ่อค้าแม่ขายไปยันนักธุรกิจ เล่าประเด็นหลากหลายอรรถรส อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดปี 2562 คนเชื้อสายแขกที่อาศัยอยู่ในเมือง แฟชั่นมันๆ ของดีไซเนอร์ลูกอีสานกับการจ่ายตลาดในอำเภอวารินชำราบ วัฒนธรรมลูกชิ้นยืนกินจิ้มแจ่วสุดแซบ เด็กสเกตที่โลดแล่นในลานทุ่งศรีเมืองในดาวน์ทาวน์ รวมมิตรประวัติร้านก๋วยจั๊บญวนเจ้าดังไว้แบบเน้นๆ และเล่าเรื่องโควิด-19 ผ่านแง่มุมของคนพื้นที่ได้อย่างอยู่มือ

แน่นอน ทั้งหมดเกิดขึ้นในอุบลราชธานี เมืองดอกบัวที่อ๊อดนำเสนอผ่านคลิปด้วยมุมพิเศษ จนยืนยันได้เต็มปากแล้วว่าดินแดนนี้ไม่ได้มีดีแค่งานแห่เทียนพรรษา แต่มีวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ทั้งสนุกสนานและน่าตื่นเต้นรอให้หยิบจับมาเล่าอีกเพียบ

คำว่าประเทดจึงเป็นจักรวาลคอนเทนต์จากสายตาชาวอุบลฯ ที่ทำให้คนอุบลฯ พลัดถิ่นคิดถึงบ้าน ส่วนคนในจังหวัดก็ได้สนุกเพราะมีประสบการณ์ร่วม แถมผู้คนจากจังหวัดอื่นๆ ยังดูได้แบบไม่มีติดขัด

นอกจากคลิปที่คว้าเอาเรื่องท้องถิ่นมาเล่าอย่างเข้าใจและม่วนอีหลี ในฐานะคนอุบล อ๊อด ผู้ปลุกปั้นเพจ ยังทำให้เราเห็นว่าพลังของสื่อโลคอลที่ทำหน้าที่ตัวเองอย่างสุดฝีมือเป็นยังไง นี่คือกลุ่มคนทำสื่อ ที่ไม่เคยหยุดเล่าเรื่องในบ้านตัวเอง โดยไม่ต้องรอส่วนกลาง และเชื่อในพลังของผู้คนในจังหวัด ก็พวกเฮามีดีบ่แพ้ไผ และบ้านซุมเฮาก็มีเรื่องราวน่าสนใจบ่เป็นรองใคร 

ในฐานะคนอุบลฯ เหมือนกับอ๊อด เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักประเทดอุบล เพจของดีที่เรากล้ายกให้เป็นของดีประจำจังหวัดให้ลึกซึ้งกว่าที่เคย

ประเทดอุบล ไม่ใช่ประเทศอุบล

“ตอนแรกเราตั้งชื่อ ประเทศ ศ ศาลา ปกติ เนื่องจากเพจเปิดมาแล้วมันก็บูมเลย คนก็มาทักเรื่องชื่อเยอะมากว่า เดี๋ยวคนจะคิดว่าแบ่งแยกดินแดนนะ เราก็ได้ปรึกษาหลายๆ คน เขาก็แนะนำว่าให้สะกดผิด ในเชิงมาร์เก็ตติ้งมันก็เป็นคำของเราไปเลย เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของเรา พอใช้ ด เด็ก ก็เป็นโลโก้ไปโดยปริยาย ผมชอบเล่นคำแบบนี้อยู่แล้ว พอเป็นประเทด ด เด็ก แล้วมันก็ดูมีอัตลักษณ์ขึ้น สนุกขึ้น ไม่ทางการเกินไป” 

เล่าเรื่องธรรมดาในอุบลฯ ให้แสนพิเศษ

“เราเป็นคนทำโปรดักชั่น ได้เดินทางไปหลายจังหวัด รู้สึกว่าพอเจออะไรต่างๆ เช่นของกินหรือสถานที่ ก็รู้สึกว่าที่บ้านกูก็มี ทำไมไม่ทำคอนเทนต์วะ เฮ้ย ทำไมต้องหาสิ่ง unseen จากที่อื่น ประเทดอุบลเลยทำเรื่องปกติของตัวเองให้มันพิเศษขึ้นมา”

“เราตั้งใจเล่าเรื่องธรรมดาที่ใกล้ตัวจนคนมองข้าม บางครั้งไปเห็นความสำคัญของสิ่งอื่นหรือสถานที่อื่นที่อยู่ไกลมากๆ ไม่ว่าจะออกไปทำงาน เที่ยว ไปแสวงหาอะไรจากข้างนอกหมด แต่สิ่งที่อยู่รอบตัวเราสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวในบ้าน ก็อาจเป็นเรื่องพิเศษสำหรับคนอื่นๆ ก็ได้”

“สิ่งที่ประเทดอุบลเล่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนไม่สังเกต เรื่องนี้เล่าได้นะ พอคนอื่นเห็นก็เป็นเรื่องสนุก พูดคุยกันได้ อย่างคอนเทนต์ภาพนิ่ง เรื่องร้านค้าที่ลูกค้าในจังหวัดพากันเปลี่ยนชื่อให้ร้าน เพราะร้านต่างๆ มีเอกลักษณ์ของตัวเอง จนคนเลิกเรียกชื่อจริง แล้วกลายเป็นชื่อที่ทุกคนเรียกร่วมกัน ก็น่าสนใจ เรื่องพวกนี้น่ารัก เราก็หยิบมาเล่าเหมือนตอนที่ผมทำเรื่องลูกชิ้นยืนกิน เรากินจนไม่ได้รู้สึกแปลก คนอื่นมาเห็นก็ เอ้า ทำไมรุมยืนกินเนี่ย มันน่าสนใจมาก แล้วสุดท้ายพอคนอุบลฯ ได้เห็น เขาก็คิดว่า เออจริง พวกเราเห็นตั้งแต่เด็ก เพียงแต่ไม่เคยมีใครหยิบมาเล่าแบบเรา ฉะนั้นเราไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ประเทดอุบลแค่หามุมมานำเสนอ ซึ่งเราตั้งใจให้คนอุบลที่อยู่ไกลบ้านดู คลายคิดถึงบ้านด้วย และคนบ้านเราก็แทบจะเป็นกลุ่มหลักๆ ของเพจ สถิติหลังบ้านอุบลฯ เคยเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นกรุงเทพฯ ตอนนี้กลายเป็นกรุงเทพฯ อันดับหนึ่งแล้ว ซึ่งก็จะมีคนคอมเมนต์แนวๆ คิดถึงบ้านเยอะมากเวลาเผยแพร่ออกไป”

เพจเกิดเพราะน้ำท่วมอุบลฯ ปี 2562

“เราคิดว่าอยากทำเพจมานาน ซึ่งคิดชื่อประเทดอุบลไว้แต่ต้นเลย แต่ด้วยความที่ทำโปรดักชั่น เราเสพติดความเพอร์เฟกต์ รอให้พร้อม อยากรวมหลายๆ อย่างก่อน เพื่อทำคลิปเปิดตัวสักชิ้นจะได้ดูยิ่งใหญ่ แต่ว่าก็เป็นแค่แผนการ”

“ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมอุบลฯ ปี 2562 เราลงพื้นที่ไปถ่ายงานและได้เก็บภาพให้หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด ได้เข้าไปในพื้นที่ลึกๆ ด้วยเรือ พอเข้าไปเห็นมุมที่คนอื่นไม่เห็น เรารู้สึกว่า ทำไมจังหวัดเราไม่ค่อยมีข่าวในทีวี หรือในสื่อในอินเทอร์เน็ตต่างๆ ทั้งที่เดือดร้อนมาก บ้านน้ำท่วมทั้งหลัง ไม่มีที่อยู่ ไม่มีข้าวกิน เราก็เอาฟุตเทจที่ถ่ายจากการลงพื้นมาตัดต่อ แล้วโพสต์ลงไปในเพจ วัตถุประสงค์หลักๆ คืออยากนำเสนอในมุมคนอุบลฯ ว่าตอนนี้คนบ้านเราเดือดร้อน คลิปน้ำท่วมเลยเป็นคลิปแรกของเพจ”

“หลังจากลง การแจ้งเตือนก็เด้งไม่หยุด วันนั้นผมไม่ได้นอนเลย ก็ได้รับการช่วยเหลือต่างๆ เข้ามา พวกสื่อใหญ่ๆ ก็เริ่มแชร์ เราก็เลยทำเนื้อหาน้ำท่วมอีกระยะหนึ่ง ตอนนั้นภายในวันเดียวคนกดไลก์เพจหลักหมื่น ไม่มีช่วงค่อยๆ เติบโต โพสต์แรกก็บูมเลย มาถึงวันนี้คนติดตามเพจประมาณ 200,000 กว่าคน ลึกๆ ก็มีคำถามว่าเราเจ๋งจริงเปล่า แค่ฟลุกหรือเปล่า แต่หลังจากนั้นก็พยายามพิสูจน์ตลอด ด้วยคลิปที่ทำมาเรื่อยๆ”

คนอุบลฯ เล่าเรื่องเมืองอุบลฯ

“หลักๆ ที่สนใจคือผู้คน เวลาเอามาทำงานไม่มีวันตันเลย เพราะเชื่อว่าผู้คนมีเรื่องเล่าของตัวเอง ไม่ว่าใครผมเดินไปเจอ เราเป็นคนชอบคุยกับคนแปลกหน้า เจอแม่ค้าเราก็ชวนคุย อยากเล่าถึงความหลากหลายของคน วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากคนก่อน” 

“โดยปกติโลคอลเพจเนี่ยจะนำเสนอข่าว เรื่องน้ำไหลไฟดับ พยากรณ์อากาศ การเลือกตั้งและการเมือง แต่ว่าเราไม่มีเลยครับ สิ่งที่เราทำคือคอนเทนต์ เล่าให้เป็นบทสนทนาขึ้นมา แต่สิ่งที่เราไม่ทำก็คือเรื่องไม่ดี จะไม่เล่าแง่ลบเลย คอนเซปต์ที่ผมอธิบายในเพจก็คือเล่าเรื่องดีๆ ของอุบลฯ”

“เรื่องมันเป็นด้านเดียว แต่เราก็ค่อยๆ เล่าความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ให้คนรู้สึกว่าดีจัง คนนี้เลิศประเสริฐศรี เราพยายามลดตรงนั้น เพราะคนที่ดีมากๆ ก็มีมุมไม่ดี คนที่ไม่ดีมากๆ ก็อาจมีมุมที่ดี นี่คือก้าวต่อไปที่พยายามจะทำ เราไม่เชื่อว่าสารคดีคือเรื่องจริง เพราะมันต้องผ่านมุมมองของผู้ถ่ายทอดอยู่ดี” 

“ปกติถ้าเราไปเที่ยวเราก็จะตามไปกินร้านที่สื่อใหญ่รีวิว ไม่ได้กินอาหารที่คนพื้นถิ่นกิน อาจเหมือนกับที่ฝรั่งเข้าใจว่าคนไทยกินต้มยำกุ้งกันทุกวัน ประเทดอุบล พยายามบอกว่ามีมุมอื่นๆ ให้เลือกได้นะ หรือคนนอกอาจมองว่าที่อุบลฯ มีสามพันโบก หรืองานเทียนพรรษา แต่จริงๆ สิ่งที่คนอุบลเขาเสพจริงอาจเป็นเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องชื่อซอยและชื่อย่านที่เราเรียกกันเอง อย่างซอยบ่อนไก่ชื่อจริงๆ คือสุขาอุปถัมภ์ แต่ถ้าถามคนในพื้นที่ว่าแล้วซอยสุขาอุปถัมภ์คืออะไร คนก็ไม่รู้จักแน่นอนครับ”

Behind The Scene ประเทดอุบล

“เวลาเราทำงาน จะวางแผนแค่ครึ่งเดียว เรากำหนดประเด็นคอนเทนต์ไว้ครึ่งหนึ่ง อีกส่วนมาจากผู้ที่เล่าเรื่องที่เราไปลงถ่าย สคริปต์ของผมจะมีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ เมื่อเกิดคำถามในหัวเราก็จะไปถามเขา งานมันค่อนข้างบริสุทธิ์มากๆ เราไม่ได้เตรียมคำตอบไป และไม่ได้คาดหวังกับคำตอบของเขาด้วย แต่ผมมองว่า documentary ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด เพราะสุดท้ายผมก็เอาคำตอบของเขามาตัดต่ออยู่ดี” 

“โดยส่วนใหญ่ผมจะไปคุยกับเขาก่อน ก่อนถ่าย ผมจะบอกทีมงานว่าอย่าเพิ่งเอากล้องลงนะให้เราชวนเขาคุยปกติกันก่อน พอเริ่มสนิทกัน ผมก็จะถามว่าขอถ่ายได้ไหม แล้วค่อยเดินกลับไปเอากล้องมาถ่าย ผมทำอย่างนี้แทบทุกเคสเลย มันไม่มีทางหรอกที่อยู่ดีๆ จะเอากล้องไปจ่อหน้าคนอื่น แล้วให้เขาเล่าความในใจ อย่างเคสล่าสุดผมไปถ่ายไปทำเรื่องเฟคนิวส์ หลายๆ ร้านที่เราไปมีข่าวลือว่ามีคนติดโควิด จนส่งผลเสียหายกับเขา เขาขายของไม่ได้ ผมก็เลยอยากจะสะท้อนมุมนี้ว่าคนที่เดือดร้อน เขารู้สึกอย่างไร ก็เลยไปสัมภาษณ์ แต่ต้องชวนคุยกันก่อน พอคุยได้ประมาณนึงก็ โอเค ขอถ่ายนะครับถึงจะถ่ายได้ เราต้องไว้ใจกันก่อน” 

“ผมทำคอนเทนต์อยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่คนดูอยากดู กับเรื่องที่ผมอยากเล่า อย่างเรื่องอาหารแมสและคนชอบมากแน่นอน เราก็เล่า และเมื่อวันหนึ่งมีเรื่องที่เราอยากจะเล่าเราก็แทรกเข้ามา แม้กระทั่งคอนเทนต์ขายของก็ต้องให้สาระคนดูด้วย ถ้าอันไหนที่เราทำโดยหวังผลประโยชน์ ทำเพราะอยากดัง หรืออยากได้ตังค์ อันนี้ผมรู้สึกว่ามันขาดทุน แค่คิดว่าทำเต็มที่ แล้วผลที่ตามมาคือผลพลอยได้”

ความภูมิใจของชาวอุบลฯ

“ความภูมิใจส่วนตัวก็คือเราไม่เคยคิดว่าจะทำมาหากินด้วยการทำงานแบบนี้ในจังหวัดได้ เราเคยเป็นโปรดักชัน รับบรีฟงานลูกค้า พอเรามาทำเพจตัวเองลูกค้าที่เข้ามาก็อยากให้เราเล่าในสิ่งที่เราอยากเล่า” 

“ไม่คิดว่าเราจะทำแบบนี้ได้ เราเคยอยากทำงานโปรดักชั่นใหญ่ๆ แต่สิ่งที่เราทำทุกวันนี้ บางงานเราใช้เลนส์ 35 มม. ตัวเดียว คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการถ่ายเกิดขึ้น มาถ่ายตั้งแต่เมื่อไหร่  ทุกอย่างมันง่ายมาก เพราะเราก็เน้นที่เรื่องราว จริงๆ การเลี้ยงชีพของเราตอนนี้คือการที่ทำให้คนดูชอบ คนภูมิใจในจังหวัดตัวเอง มีหลายๆคน เขารู้สึกว่าเพจเราเป็นหน้าเป็นตาให้จังหวัด หลายคนที่ไม่เคยมาอุบลฯ เขาเห็นการนำเสนอของเรา เราเห็นเขาแชร์และคอมเมนท์ว่าอยากจะมาอุบลฯ สักครั้ง จากที่เขาไม่เคยสนใจ เพราะเราไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวจ๋า” 

“อาจจะอยากจะมากินยำมะม่วง อยากมากินลูกชิ้น อยากมานั่งร้านกาแฟธรรมดาที่บ้านเรา เราก็รู้สึกว่ามันเป็นความภูมิใจที่เราไม่ได้ตั้งใจเลย เราก็ทำแบบบ้านๆ แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้คนที่ทำงานกองถ่ายใหญ่ๆ มาสนใจอยากรู้จักกับเรา และมีหลายคนไปเรียนที่กรุงเทพฯ อยากกลับมาฝึกงานกับเรา มันสวนทางกับสิ่งที่เราตามหามาตลอด สุดท้ายมันอยู่ที่เราหมดเลยนี่หว่า”

“เราพยายามจะนำเสนออุบลฯ ในเรื่องอื่นๆ ให้คนภูมิใจ ได้แรงบันดาลใจ มีคนจากหลายๆ จังหวัดที่ทักมาคุยกับผมว่าเขาอยากทำเพจแบบนี้ในบ้านตัวเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจเลยแต่แรกเลยว่า ทุกที่มีของดีให้เอามาเล่าได้หมด แล้วเรารอคนนอกเข้ามาอย่างเดียวไม่ได้หรอก เพราะถ้าจะนำเสนอเรื่องบ้านของคุณน่ะ ตัวคุณเองนั่นแหละที่รู้จักบ้านตัวเองกว่าใคร”

เรื่องของอุบลฯ ก็คือเรื่องของประเทศไทย

“จริงๆ ผมอยากให้คนกลับบ้าน แต่พอเรามาทำเรื่องนี้จริงๆ เราก็รู้สึกแบบว่าเฮ้ย อุบลฯ น่ะพร้อมสำหรับทุกคนนะ มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่ทุกคนต้องไปกระจุกกันอยู่ที่กรุงเทพฯ จะกลับมาทำอะไรดีๆ ที่บ้านก็ได้ แต่ว่าเราไม่อาจไปตัดสินแทนเขา เราไม่อาจล่วงรู้แทนใคร คนที่ไปทำงานไกลๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไร มันเป็นทางเลือกของความฝันของเขา” 

“เราเจอคนเยอะขึ้น ได้คุยกับคนหลายๆ รูปแบบ ถึงรู้ว่าความสุขคนต่างกัน ตอนนี้เราไม่กล้าบอกเขาว่ากลับมาอยู่บ้านแล้วมันจะดี แต่เราอยากให้คุณเปิดใจมากขึ้น ลองดูก็ได้ อย่างน้อยก็กลับมาหาครอบครัวหรือกลับมาพักผ่อนก็ได้ เพียงแต่ว่าในใจคุณต้องสามารถกลับบ้านได้จากข้างใน การกลับบ้านไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องนั่งเครื่องมาลง แค่รู้ว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน แล้วก็ทำอะไร”

“ก่อนที่ผมจะมาทำประเทดอุบล ผมมองว่าเรามีความเป็นเอกลักษณ์หลายอย่าง จังหวัดเรา ไม่เหมือนคนอื่น แต่พอยิ่งทำไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่าประเทศไทยไม่ได้ต่างกันมากนัก แค่จะบอกว่าสิ่งดีๆ ที่คุณเคยเจอที่อื่น ที่อุบลฯ ก็มีเหมือนกัน  เราอยากให้มองว่าอุบลฯ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ จะแตกต่างกันก็แค่ภูมิประเทศ สภาพอากาศ และวัฒนธรรมบางอย่าง นั่นคือสิ่งภายนอก แต่สุดท้ายแล้วเราทุกคนก็คือคนไทยเหมือนกันนั่นแหละ”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ธาษิท จันณิชาสกุล

ช่างภาพสามลูกครึ่งควบสี่