จากสนามรบสู่รันเวย์ ว่าด้วย trench coat กับแฟชั่นของคุณสุภาพบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ 1 

Highlights

  • เทรนช์โค้ต (trench coat) เป็นแฟชั่นที่ยืนหนึ่งท้ากาลเวลามากว่าร้อยปี หากอ่านชื่อ trench สนามเพลาะ, coat เสื้อคลุม แบบแยกกัน หลายคนอาจทำหน้าประหลาดใจว่าทำไมเสื้อโค้ตตัวสวยถึงไปเกี่ยวข้องกับสถานที่เปียกแฉะที่เต็มไปด้วยดินโคลน
  • เรื่องราวของเทรนช์โค้ตเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 1853 ที่เกาะอังกฤษ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องฝนฟ้าคะนองแทบจะตลอดเวลา
  • เทรนช์โค้ตกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในแวดวงทหารช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19

“ถ้าคุณอ่านบทความประมาณ ‘10 แฟชั่นไอเทมที่ควรมีติดตู้’ คงไม่ประหลาดใจหากพบ ‘trench coat’ เป็นหนึ่งในนั้น เทรนช์โค้ตกลายเป็นสินค้าคลาสสิกไม่แพ้กางเกงยีนส์หรือเสื้อหนัง หลายคนอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเสื้อโค้ตสุดหรูเกี่ยวข้องกับสงคราม เชื่อเถอะว่าแฟชั่นมีอิทธิพลกับการแต่งกาย ไม่เว้นแม้แต่เครื่องแบบทหาร และการแต่งกายในสงครามก็ส่งผลกระทบให้แนวหลังไม่ต่างกัน” เจน บัตชาร์ต นักเขียนและอาจารย์จากมหาวิทยาลัย London College of Fashion กล่าว 

ทุกวันนี้เทรนช์โค้ตเป็นแฟชั่นที่ยืนหนึ่งท้ากาลเวลามากว่าร้อยปี หากอ่านชื่อ trench สนามเพลาะ, coat เสื้อคลุม แบบแยกกัน หลายคนอาจทำหน้าประหลาดใจว่าทำไมเสื้อโค้ตตัวสวยถึงไปเกี่ยวข้องกับสถานที่เปียกแฉะที่เต็มไปด้วยดินโคลน

เรื่องราวของเทรนช์โค้ตเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 1853 ที่เกาะอังกฤษ ประเทศซึ่งขึ้นชื่อเรื่องฝนฟ้าคะนองแทบจะตลอดเวลา ก่อนหน้านี้เสื้อผ้ากันน้ำที่ใช้กันแพร่หลาย เป็นผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ของนายชาร์ลส์ แมกอินทอช นักเคมีชาวสก็อตแลนด์ ที่เกิดหัวใสนำผ้าคอตตอนไปชุบกับยาง แน่นอนว่าผ้าแบบนี้กันน้ำได้ดี แต่มีข้อเสียที่น้ำหนักมาก อับเหงื่อ และมีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากโดนแดดจ้าเป็นเวลานาน ยางจะเกิดการหลอมละลายจนส่งกลิ่นชวนปวดหัว

เพื่อแก้ปัญหาที่ว่า นายจอห์น เอมเมอรี เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าผู้ชายบนถนนรีเจนต์ จึงทุ่มเทกำลังสมองจนสามารถคิดค้นเนื้อผ้าแบบใหม่ที่กันน้ำได้และมีน้ำหนักเบา เขาเรียกผ้าที่ตัวเองออกแบบว่า Aquascutum มาจากคำภาษาละตินสองคำคือ aqua ที่แปลว่าน้ำ และ scutum แปลว่าป้องกัน 

เอมเมอรีเริ่มผลิตเสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษโดยใช้ผ้าแบบใหม่ ไอเดียของเขาคือการผลิตเสื้อโค้ตสำหรับผู้ชายที่ ‘ดูดีได้แม้อากาศไม่เป็นใจ’ ปรากฏว่าเสื้อผ้าของเอมเมอรีขายดิบขายดีในวงสังคมชั้นสูง ลูกค้าของเขามีตั้งแต่ขุนนางไปจนถึงสมาชิกราชวงศ์ เมื่อเห็นว่าธุรกิจกำลังไปได้ดี เอมเมอรีจึงตัดสินใจเปิดแบรนด์ใหม่โดยใช้ชื่อเดียวกับผ้ากันน้ำที่เขาคิดค้นขึ้น แบรนด์ของเขามีชื่อว่า ‘Aquascutum’ 

ในเวลาใกล้เคียงกัน บุรุษอีกหนึ่งที่ก้าวเข้ามาแข่งขันในวงการเสื้อผ้ากันน้ำคือนายโธมัส เบอร์เบอรี เขาคิดค้นผ้าอีกชนิดที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดี ผ้าของเบอร์เบอรีมีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้มาก เขาตั้งชื่อสิ่งประดิษฐ์ใหม่ว่า Gabardine (กาบาร์ดีน) เบอร์เบอรียังมีโอกาสทำชุดกันฝนและเต็นท์กันน้ำให้เซอร์ เออร์เนสต์ แชกเคิลตัน นักสำรวจชื่อดังที่กำลังเดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา การทำงานร่วมกับบุคคลสำคัญทำให้ชื่อเสียงของเบอร์เบอรีเป็นที่พูดถึงในวงผู้ดีที่ชอบกิจกรรมท้าทายอย่างการเดินป่า แต่ยังอยากหล่อเนี้ยบทุกกระเบียดนิ้ว 

มองกลับมาในแวดวงทหาร ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 รูปแบบของสงครามมีการปรับเปลี่ยนจากวิ่งเข้าประจันหน้าเป็นการใช้อาวุธหนักที่ให้ผลสำเร็จดีกว่า ความนิยมสวมใส่เครื่องแบบสีสันสดใสถูกปรับเปลี่ยนเป็นสีที่สามารถพรางตัวได้ดี กองทัพอังกฤษตัดสินใจเลิกใช้เครื่องแบบทหารสีแดง โดยเปลี่ยนมาเป็นสีกากีในปี 1890 เครื่องแบบที่ว่ากลายเป็นความสำเร็จที่เห็นได้ชัดในสงครามบูร์ในแอฟริกาใต้ (Boer War 1899-1902) แต่วิวัฒนาการสำคัญที่นำเอาแฟชั่นจากแนวหลังมาผสมกับสีกากีในแนวหน้า เกิดขึ้นเมื่อชนชั้นสูงจำนวนมากต้องตบเท้าเข้าร่วมสงครามครั้งใหญ่ที่กินเวลานานถึง 4 ปี–สงครามโลกครั้งที่ 1 (World War 1, 1914-1918)

ในช่วงต้นของสงคราม พลทหารทั่วไปยังคงใช้เสื้อโค้ตหนาหนักซึ่งเป็นของแจกให้ของกองทัพเรียกกันว่า greatcoat เสื้อโค้ตแบบนี้ทำมาจากผ้าขนสัตว์ที่แม้จะช่วยให้อุ่นแต่กลับเทอะทะและมักติดในหล่มโคลน พวกเขาต้องแก้ปัญหากันเอง เช่น ใช้มีดตัดส่วนล่างของโค้ตออกไปเพื่อให้เคลื่อนไหวสะดวกขึ้น

ยังไงก็ดีนายทหารอังกฤษที่อยู่ในชนชั้นผู้ดีมีทางเลือกมากกว่า พวกเขาได้รับเงินราว 50 ปอนด์จากกองทัพเพื่อไปตัดเครื่องแบบของตัวเอง แน่นอนว่ารูปแบบและสีถูกกำหนด แต่วัสดุและการตัดเย็บเป็นเรื่องของรสนิยม นายทหารมองการสวมเครื่องแบบว่าเป็นหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความเป็น ‘สุภาพบุรุษ’ ดังนั้นเครื่องแบบของเขาต้องดูดี เพื่อให้ตัวเองแตกต่างจากทหารทั่วไปซึ่งมาจากชนชั้นล่าง (และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นายทหารพวกนี้มักถูกยิงตายก่อนใครโดยฝ่ายตรงข้าม)

นายทหารจำนวนมากเลือกใช้บริการตัดเครื่องแบบกับ Aquascutum และ Burberry ที่แน่นอนว่ากินราคามากกว่าเงิน 50 ปอนด์ ก่อนหน้านี้ Aquascutum และ Burberry เคยมีโอกาสผลิตเครื่องแบบให้กองทัพอังกฤษหลายครั้ง พวกเขามีเส้นสายใกล้ชิดกับวงการทหาร ทั้งสองแบรนด์มีเสื้อโค้ตกันน้ำลักษณะคล้ายกัน จนสุดท้ายไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นผู้ริเริ่มทำเทรนช์โค้ตขึ้นก่อน แต่หากมองกันเรื่องดีไซน์ เทรนช์โค้ตแบบที่เราใส่กันในปัจจุบันมีรูปร่างคล้ายกับโค้ตรุ่น Tielocken ของ Burberry มากกว่า เสื้อโค้ตแบบที่ว่ามีการทำเข็มขัดผ้าเพิ่มขึ้นมาสำหรับรัดช่วงตัวให้เข้ารูป ถือเป็นต้นแบบของเทรนช์โค้ตที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน

“Aquascutum และ Burberry ฉลาดมากในทางธุรกิจ พวกเขาวางตัวเป็นแบรนด์ที่ปรับเปลี่ยนแนวทางผลิตเสื้อผ้ากีฬาของชนชั้นสูงมาเป็นเครื่องแบบทหารให้ผู้ดี แน่นอนว่าสงครามคือนรกบนดิน แต่มันคือสมรภูมิศักดิ์ศรีของชายชาติทหาร” เจน ไทแนน อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย University of the Arts London กล่าว

“เราไม่ทราบแน่ชัดว่าแบรนด์ไหนคิดเทรนช์โค้ตขึ้นก่อน แต่คำว่า ‘เทรนช์โค้ต’ ถูกใช้อย่างเป็นทางการในปี 1916” เรายังพบโปสเตอร์โฆษณาเป็นภาพทหารกำลังบรรจุลูกกระสุนปืนใหญ่ โดยมีนายทหารในชุดเทรนช์โค้ตยืนสั่งการ” 

สาเหตุที่เทรนช์โค้ตกลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในภายหลังมาจากสองสาเหตุสำคัญ สาเหตุแรกเป็นเพราะเสื้อโค้ตแบบนี้ใช้ได้จริงในสงคราม เนื้อผ้ามีน้ำหนักเบา มีกระเป๋าด้านหน้าสำหรับเก็บของ ความยาวของเสื้อคลุมที่ไม่มากเกินไปทำให้ไม่ติดดินโคลน ความกว้างของเสื้อคลุมที่ไม่น้อยเกินไปทำให้ขยับตัวได้สะดวก ไปจนถึงปกเสื้อขนาดใหญ่ที่สามารถป้องกันอากาศหนาวได้ดี ป้องกันแก๊ซพิษได้บ้าง ส่วนสาเหตุหลังเป็นเพราะค่านิยมของผู้ชายอังกฤษในยุคนั้น ที่มองว่าเทรนช์โค้ตเป็นของ ‘ที่ต้องมี’ เพราะทำให้พวกเขาดูเป็นชายชาติทหาร เหมาะสมกับสนามรบ

ในช่วงสองปีแรกของสงคราม บรรดานายทหารจากโรงเรียนนายร้อยซึ่งมักเป็นชนชั้นสูงเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้เกิดการเปิดรับนายทหารที่มาจากชนชั้นกลางมากขึ้น คนเหล่านี้เรียกกันว่า ‘สุภาพบุรุษชั่วคราว’ (temporary gentleman) พวกเขาหาซื้อเทรนช์โค้ตแบบเดียวกันในราคาถูก ทำให้เกิดการผลิตเสื้อผ้าแบบนี้ขึ้นเป็นจำนวนมาก “ไม่ต่างจากความต้องการในปัจจุบัน แต่ฉันพนันได้ว่าใครๆ ก็แยกเทรนช์โค้ตของ Burberry กับ H&M ได้” วาเลเรีย สตีล ผู้อำนวยการ The Museum at the Fashion Institute of Technology ในนิวยอร์กกล่าว

เทรนช์โค้ตไม่ได้เป็นที่นิยมแค่ในแนวหน้า ประชาชนในแนวหลังต่างพากันสวมใส่โค้ตทหารเพราะมองว่าเป็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในประเทศ หลายคนเชื่อว่าการสวมใส่เสื้อผ้าแบบเดียวกัน กระทั่งใช้สิ่งของหรือทานอาหารแบบเดียวกับทหารในแนวหน้า เป็นการเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับบุคคลอันเป็นที่รัก สินค้าที่ติดคำว่า trench (สนามเพลาะ) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดาราและบุคคลสำคัญในประเทศล้วนสวมใส่เทรนช์โค้ตเพื่อแสดงออกว่าพวกเขาสนับสนุนกองทัพอังกฤษให้มีชัยในสงคราม ดังนั้นเสื้อโค้ตแบบนี้จึงมีความหมายทั้งทางจิตใจและคุณค่าในทางสังคม

“ราวปี 1990 ผมเดินผ่านร้าน Burberry บนถนนรีเจนต์ ร้านหรูหรามีข้อความใหญ่ ‘Trench Fever’ แน่นอนว่าในบริบทปัจจุบัน ข้อความนี้หมายถึงการโฆษณาเทรนช์โค้ตหรูหราของ Burberry แต่ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ‘Trench Fever’ เป็นอาการป่วยของทหารที่ประจำการในสนามเพลาะ ผมได้แต่ประหลาดใจ ในจำนวนผู้คนนับล้านที่มีเทรนช์โค้ตในตู้เสื้อผ้า จะมีสักกี่คนที่สามารถเชื่อมโยงแฟชั่นแสนแพงเข้ากับช่วงเวลายากลำบากของสงคราม” ปีเตอร์ ดอยล์ นักประวัติศาสตร์สงครามกล่าวทิ้งท้าย 

 

อ้างอิง

smithsonianmag.com

bbc.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา