Totop เอเจนซีที่เชื่อในพลังของการสร้างแบรนด์และการพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายในฐานะเพื่อน

เคมีที่เข้ากัน การคุยกันเหมือนเป็นเพื่อน และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน คือสิ่งที่ ไผ่-พงศ์รพี จีนาพันธุ์ Founder และ Creative Director แห่ง Totop Group เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่จะเติบโตไปด้วยกัน โดยใช้พลังของความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่าจะในการสร้างแบรนด์หรือแก้ปัญหาโจทย์ทางธุรกิจอื่นๆ 

ไผ่เล่าสตอรี่ของลูกค้าแบรนด์หนึ่งให้เราฟังอย่างออกรส เพราะมันมาจากการที่เขาค้นลึกไปถึงความเชื่อของลูกค้าเจ้าของธุรกิจ และอินกับสิ่งๆ นั้น จนสามารถสื่อสารผ่านการสร้างแบรนด์ออกมาได้ 

“อันนี้คนทำงานสนุกไงครับ ผมเล่าเป็นตุเป็นตะเหมือนผมเป็นเจ้าของแบรนด์เลย ซึ่งผมก็ฟังมาจากเจ้าของนี่แหละ แล้วเราก็ช่วยเขาในการหาว่าเขามีคุณงามความดีอะไร จะออกแบบได้เราต้องเข้าใจเขา ต้องเข้าไปอยู่ในใจเขาว่า เขากำลังขับเคลื่อนอะไรอยู่ แล้วเราคอยเป็นพันธมิตรทำในสิ่งที่เราถนัดผ่านความเป็นเขาออกมาเท่านั้นเอง ถามว่าผลงานของ Totop มีลายเซ็นมั้ย ไม่มีหรอก มันมีไม่ได้เพราะเป็นธุรกิจของเขา แต่เราใช้โปรเซสในการทำงานเพื่อสนับสนุน แล้วพอผลงานออกมา ทุกคนแฮปปี้”

Totop คือ Consulting Agency ที่เชี่ยวชาญในเรื่อง Brand and Design Solution ซึ่งมาพร้อมกับสโลแกน ‘พันธมิตรในการสื่อสารแบรนด์ผ่านงานออกแบบบนความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาและสนับสนุนธุรกิจ’ ซึ่งเราอยากพาคุณไปดูวิธีคิดและกระบวนการทำงานของเอเจนซีรุ่นใหม่แห่งนี้ พร้อมติดตามเส้นทางของ Founder หนุ่มคนนี้ตั้งแต่วันแรกที่เขาริเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง 

การทำงานที่รัก กับการเอาสิ่งที่รักมาทำเป็นธุรกิจ

Totop เป็นเอเจนซีด้าน Brand and Design Solution ที่อยู่ในตลาดมาแล้ว 8 ปี โดยมี ไผ่-พงศ์รพี จีนาพันธุ์เป็น Founder และ Creative Director

ไผ่เรียนจบทางด้านโปรดักต์ดีไซน์จากลาดกระบัง แต่ไม่เคยทำงานสายโปรดักต์เลย เนื่องจากไปสมัครงานแล้วเขาไม่รับ 

“โชคดีเขาไม่รับ เพราะโรงงานส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด แล้วผมนึกภาพตัวเองเป็นหนุ่มโรงงานไม่ออก” ไผ่พูดติดตลก

หลังจบมา เขาไปทำงานประจำอยู่สองบริษัท ที่แรกเป็นเอเจนซีโฆษณา ทำไปสักพักไม่เวิร์ก เลยย้ายสายไปทำสายมาร์เก็ตติ้งของบริษัทเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ ทำอยู่อีกพักหนึ่ง ก็ยังรู้สึกไม่สนุก

“พอไปทำงานประจำสักพัก รู้สึกว่าเรามีไฟ มีความฝัน เราอยากจะทำ แต่ทำแล้วบางอย่างยังไม่เห็นผลลัพธ์ชัดเจน รู้สึกว่าศักยภาพที่เรามีสามารถสนับสนุนให้วงการนี้มันดีขึ้นได้ เลยรู้สึกว่าเราต้องทำธุรกิจของตัวเองแหละ”

ไผ่จึงเริ่มทำบริษัทด้านแบรนดิ้งของตัวเองตั้งแต่อายุ 25 ในฐานะ Co-founder กับหุ้นส่วนอีกคน โดยไผ่ดูในเรื่องของแบรนด์คอมมูนิเคชัน การสื่อสาร visualize ผ่านงานออกแบบต่างๆ 

“มันเริ่มจากเรารับงานเป็นฟรีแลนซ์ แล้วพอทำคนเดียวไม่ไหวเลยต้องมีผู้ช่วย แล้วก็เริ่มขยับขยายทีม เราไม่ได้จบด้านแบรนดิ้งก็จริง แต่การจบมาสายแพ็กเกจจิ้งดีไซน์ เป็นเรื่องบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว มันมีเรื่องการตลาดมาร่วมด้วย เลยมีกลิ่นๆ ทางด้านนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว คือเป็นสายดีไซเนอร์ที่มีความเป็นมาร์เก็ตติ้งในตัว แล้วพอมาทำบริษัทแรกที่เป็น Consult ด้านแบรนด์นี้ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากตรงนั้น เลยไม่มีกรอบของทฤษฎี เราก็สำรวจหาสิ่งที่ดีที่สุดในการทำงานจนมาถึงปัจจุบัน”

แต่ไผ่บอกว่า การทำงานในสิ่งที่รัก กับการเอาสิ่งที่รักมาทำเป็นธุรกิจ ไม่เหมือนกัน

“วันแรกที่ทำธุรกิจส่วนตัวไม่ได้คิดอะไรมาก ก็แค่เอาสิ่งที่เราทำมาทำเป็นธุรกิจ แต่พอเราเอาสิ่งที่เรารักมาทำเป็นธุรกิจ มันไม่เหมือนกัน เรารักงานออกแบบ แต่พอเรามาทำธุรกิจออกแบบ มันมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนกับวันแรกที่เราทำงานที่รักเลย เราเคยออกแบบได้งานดีๆ ให้ลูกค้าแล้วเขาว้าว ตาเป็นประกาย เขารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไปสนับสนุนธุรกิจเขา เราเสพติดตรงนั้น หรือไปส่งงานประกวด เราได้ที่หนึ่งของเอเชีย ได้ที่หนึ่งของประเทศ เป็นเรื่องปกติ เราสนุกกับมัน แต่พอเราเอามาทำเป็นธุรกิจปุ๊ป มันมีปัจจัยหลายๆ อย่างมากกว่างานที่เรารัก มันมีเรื่องของภาษี การจะครองใจคน การจะดึงยังไงให้เด็กยุคนี้ที่เขาก็มีความเชื่อความฝันเขาอยู่กับเรา ทำยังไงให้คนเก่งๆ อยู่กับเรา ทำยังไงให้เขาทำงานมากกว่าศักยภาพที่เขาเชื่อว่าเขามี มันมีเรื่องของปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ 

“ตอนแรกไม่ได้คิดว่าเป็นอุปสรรค แต่เหมือนลูกวัวไม่กลัวเสือ เราไม่รู้ว่าปัญหาข้างหน้าเป็นอะไร แล้วก็ลุยทำไป พอทำแล้ว โจทย์คือทำยังไงให้รอด ทำยังไงให้ดี”

หลังจากทำบริษัทแรกอยู่ประมาณ 4-5 ปี ไผ่ก็ออกมาตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า Totop ในปี 2558

พันธมิตรทางธุรกิจที่อยากเติบโตไปสู่จุดสูงสุดด้วยกัน

ไผ่ออกมาตั้ง Totop ในฐานะ Chapter ที่ต่อเนื่องมาจากบริษัทเดิม เป็นเรื่องเดิม แต่มากประสบการณ์ขึ้น  

“เราเห็นความสำคัญของเรื่องแบรนดิ้ง คือถ้าเกิดเราเปลี่ยนความต้องการไปตามตลาด เราก็จะวิ่งตามตลาดกับผู้บริโภคไปที่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วอะไรคือสิ่งที่เราไม่ต้องไปแข่งขันเชิงราคา เรามองว่า ถ้าวันนี้เรารู้ว่าตัวตนเรายึดมั่นในอะไร เราจะสามารถสร้างเกมที่เราเป็นคนกำหนดกติกา วันนี้ลูกค้าของเราหรือธุรกิจเขาไม่ต้องเป็นตัวเลือก แต่เขาสามารถเป็นตัวเอง แล้วค่อยๆ สร้างฐานความเชื่อขึ้นมาได้ เรื่องแบรนดิ้งเลยสำคัญ พอมาทำ Totop เราก็เลยเอาแนวคิดนี้ในการทำบริษัทตั้งแต่แรก”

เขาย้ำว่า เอาสิ่งที่รักมาเป็นกิจการไม่ง่ายอยู่แล้ว มีหลายๆ อย่างที่ควบคุมไม่ได้ การเมือง เศรษฐกิจ ถูกโกง ในช่วงเริ่มต้น Totop ก็ล้มลุกคลุกคลานตามปกติ ไม่ได้สวยหรู

“ผมมองว่า ตอนคนจะทำธุรกิจ ไม่มีใครคิดว่ามันจะเจ๊ง แต่เวลาเราทำธุรกิจจริงปุ๊ป มันมีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ สำคัญว่า วันที่ได้กำไร วันที่ขายดี คือวันนั้นไม่ได้มีปัญหา แต่วันที่ฟ้าฝนไม่เป็นอย่างใจ วันนั้นเรายังอยากทำในสิ่งที่เราอยากทำอยู่ไหม ผมว่าจุดนั้นแหละเป็นตัวเฉือนเลยว่าแพสชันในการทำธุรกิจหรือคุณค่ากับสิ่งที่เราทำมันชัดเจนไหม ปรากฏว่าวันที่ผมเจอวิกฤต ผมยังตอบตัวเองว่า เรายังอยากทำสิ่งนี้ มันก็ทำให้ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรมันก็จะผ่านไปได้ เป็นแพสชันในแบบของ Entrepreneur”

ไผ่เล่าว่า ในช่วงเริ่มต้นของ Totop ด้วยความเป็นเด็ก ด้วยความกระหาย เขาสนุกกับการรับทุกงาน มีงานอะไรเข้ามาเป็นโอกาสก็รับหมด 

“แต่พอผ่านช่วงเลิร์นนิงเคิร์ฟ ช่วงแรกของการทำธุรกิจเราพบว่า เราไม่ได้สนุกกับการทำทุกอย่างให้รอด มันมีงานบางงานที่เรามองว่ามันมีแวลู่แล้วเราอยากทำ เพราะฉะนั้นพอเรารู้จุดยืนตัวเองปุ๊ป พาร์ตที่สองที่เราเรียนรู้คือ เราเริ่มรู้แล้วว่างานไหนเป็นงานที่เราอยากทำ เป็นงานที่จะเป็นพอร์ต ผลงานชีวิตเรา ก็ทำให้เวลาเราทำงานเหล่านั้นเราสนุกกับการทำงานมากขึ้น เมื่อคนทำงานสนุก ผลลัพธ์ก็เป็นผลลัพธ์ที่ดี ผลลัพธ์ที่ดีลูกค้าก็แฮปปี้ พอลูกค้าแฮปปี้จากไอเดียของเราปุ๊ป เขาไปทำธุรกิจ เขาก็มั่นใจ ก็ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโต สนุก เขาพูดได้เต็มปากว่ามันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาจากตัวเขา ผมว่าอันนั้นต่างหากคือมาตรวัดความสำเร็จของเราและทีม 

“คือถ้าเกิดเราทำงานให้ลูกค้าดีมาก แต่ลูกค้าไม่เก็ต มันไม่ใช่เขา มันอยู่บนหิ้ง ก็ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเกิดเราตั้งใจทำงาน สนุกตั้งแต่คนทำงานจนไปถึงเขาแล้วเวิร์ก สื่อสารแบรนด์เขาไปถึงมือผู้บริโภค แล้วผู้บริโภครับคุณค่าตรงนั้นได้ด้วย มันดีด้วยกันทั้งหมดเลย เราอยากทำงานที่มีความท้าทายแบบนี้”

สิ่งที่ Totop อยากสื่อสารคือ Totop เป็น Brand and Design Solution พาร์ตเนอร์ เน้นเป็นพันธมิตรในการสื่อสารแบรนด์ผ่านงานออกแบบบนความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาและสนับสนุนธุรกิจ ซึ่งไผ่บอกว่าโจทย์ของธุรกิจที่เข้ามานั้นหลากหลาย

“ถ้าเป็นธุรกิจที่เขาแก้ได้เขาไม่มาจ้างเรา แปลว่างานที่เขามาจ้างเราคืองานยากหมด ฉะนั้นทัศนคติของคนทำงานในองค์กรกับงานที่ยากเขามองยังไง เขามองเป็นเรื่องอุปสรรคหรือเขามองเป็นความท้าทาย ถ้าเกิดเราทำให้ทีมเห็นภาพว่า ถ้าเกิดมันแก้ได้มันคือความท้าทาย ทุกคนจะสนุกไปกับการแก้ปัญหานั้น แล้วสิ่งนั้นพอมันแก้ได้ มันโคตรมันเลย งั้นแปลว่าเด็กที่อยู่กับเรา เราเลยเชื่อว่าไม่ต้องกลัวผิด ทำลองผิดลองถูกไปด้วยกัน เพราะว่าพอเราอยู่ในพาร์ตงานสร้างสรรค์ มันจะเจอสิ่งที่ไม่เคยเจออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นน้องไม่ต้องกลัว สิ่งที่น้องไม่เคยทำพี่ก็ไม่เคย แต่เราจะผ่านมันไปด้วยกัน

“สิ่งที่เราเชื่อคือ ลูกค้ามาหาเรา เราสามารถเป็นพันธมิตรกับเขา ซึ่งเราสามารถไปสนับสนุนให้เขาไปสู่จุดสูงสุดตามปณิธานที่เขาเชื่อ เลยเป็นที่มาของคำว่า Totop”

เชื่อในเคมีที่เข้ากัน และความสนุกของคนทำงานย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดี

ความสำเร็จของธุรกิจนั้นมีหลายปัจจัย ตั้งแต่ราคา คู่แข่ง คอนเนกชัน แต่ Totop เชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าทำให้ลูกค้าเป็นแบรนด์ที่น่าจดจำ แบรนด์ที่น่าจดจำจะนำไปสู่แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ Totop มาคิดแพตเทิร์นในการที่จะสื่อสารแบรนด์ของลูกค้าผ่านความเชื่อว่าทุกๆ แบรนด์มีความยูนีคของตัวเอง หน้าที่ของ Totop คือการเอาสิ่งนี้ออกมาให้จับต้องได้

โดยมีกระบวนการทำงาน 3 ขั้นตอน คือ  

  • Discover 
  • Define 
  • Design 

ไผ่อธิบายว่า “Discover เราจะเข้าไปหาข้อมูลแบรนด์ของคุณ 3 องค์ประกอบคือ คุณเชื่ออะไร อะไรคือจุดมุ่งหมายในการที่คุณทำธุรกิจ และคุณส่งมอบคุณค่าอะไร อย่างที่ 2 คือ มาร์เก็ต แล้วคุณแข่งกับใครอยู่ล่ะ คู่แข่งเป็นใคร อย่างที่ 3 คือ ลูกค้า Customer Insight เป็นแบบไหน Persona เป็นยังไง การ Crack จากลูกค้า ก็คือผ่านการคุยกันเป็นเพื่อน พอเราคุยกับเจ้าของเราจะพอสัมผัสเคมีได้ เราพยายามเข้าใจธุรกิจเขาในแบบที่เขาพยายามขับเคลื่อน มันก็จะทำให้เราได้องค์ประกอบเหล่านี้ หรือธุรกิจใหญ่มาก เราอาจจะมีการทำวิจัยขึ้นมา เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าโจทย์ปัญหาเพนพอยต์ของเขาคืออะไรเพื่อจะแก้ 

“3 อย่างนี้ ผู้ประกอบการต้องบอกเรา คุณเชื่ออะไร คุณแข่งกับใคร และลูกค้าคุณคือใคร เราจะเอาสามอย่างนี้มาเพื่อทำกระบวนการที่สอง คือ

“Define ว่าแบรนด์ของคุณจะเป็นบุคลิกภาพแบบไหน อะไรคือคุณค่าที่นำส่งผู้บริโภค อะไรคือคุณค่าที่ผู้บริโภคต้องการโดยพื้นฐาน แล้วอะไรคือความยูนีคที่มีเฉพาะคุณเท่านั้น Customer Journey เป็นยังไง

“ก่อนที่จะ Design อัตลักษณ์ ตัวตน โลโก้ แพ็กเกจจิ้ง สตอรีเทลลิ่ง จะเล่าเรื่องยังไง และก็มาสื่อสารทั้งหมดผ่านตัว Touch Point จุดสัมผัสแบรนด์ คือแบรนด์จะไปทำการสัมผัสผู้บริโภคที่จุดไหน ออนไลน์​ ออฟไลน์ ออนกราวนด์ ที่ที่เราต้องรู้ว่าลูกค้าเราคือใคร คือเราไม่จำเป็นต้องมีทุกสื่อ อยู่ที่ว่าธุรกิจเราจะไปทัชเขาที่ไหน”  

เมื่อเน้นความเป็นพาร์ตเนอร์ ความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Totop จะเน้นลูกค้าที่หวังว่าจะจับมือกันไปยาวๆ มากกว่าลูกค้าเชิงปริมาณ 

“ส่วนใหญ่เวลาเราทำงานกับลูกค้าแบรนดิ้ง พอเขารู้สึกว่าเราเป็นพาร์ตเนอร์กัน เราก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนลูกค้าเรื่อยๆ หมายความว่า ส่วนหนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจกับลูกค้ารายใหม่ เพื่อมาคิด Solution เชิงสร้างสรรค์เพื่อออกแบบ การเปลี่ยนลูกค้าบ่อยๆ เขาก็เหนื่อย เราก็เหนื่อย คือน้องในทีมเขาจะต้องทำความรู้จักลูกค้าใหม่ แล้วเขาต้องคลอดอะไรบางอย่างออกมา ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นลูกค้าหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการทำลูกค้าเชิงปริมาณผมก็จะไม่ค่อยถนัดตรงนั้น

“แต่อย่างสมมติลูกค้าบางเจ้า เราเข้าใจเส้นเรื่อง เราคุยกับเจ้าของ พอเขารู้สึกว่าเราเป็นทีมที่เป็นพันธมิตรกันในมุมธุรกิจ การที่เขาจะออกโปรดักต์ใหม่ เขาจะจ้างเราไหมหรือเขาต้องไปจ้างทีมเอเจนซีใหม่ เขาก็จ้างคนที่เคมีมันได้ แล้วเขามั่นใจว่าได้ผลลัพธ์เลิศแน่นอน มันไม่ต้องมาผ่านช่วงการทำความรู้จักใหม่ แปลว่าลูกค้าที่เราสะสมก็จะยิ่งเหมือนเป็นเพื่อนกัน เราก็จะเติบโตไปกับธุรกิจเขาเรื่อยๆ หน้าที่เราก็คือทำให้เขารวย เพื่อมีเงินมาจ้างเราต่อ (หัวเราะ)”   

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ เรื่องราคา ไผ่บอกว่าเขาไม่ได้ขายที่ราคา แต่ขายที่ความเข้าใจ 

“สมมติเราเป็นผู้ประกอบการ การที่เราจะเลือกคู่ค้าสักคนหนึ่งมาช่วยสร้างสรรค์ มันไม่ได้อยู่ที่ว่าใครถูกสุด แล้วเราก็ไม่ได้อยากจะไปทำงานที่เราถูกที่สุดด้วย แต่ว่าเราไม่ได้ขายที่ราคา เราขายที่ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเวลาเขาจะเลือกเอเจนซีในการทำงาน เราคุยกันแล้วว่าเคมีเรากับเขาได้กันไหม ถ้าเกิดได้กันปุ๊ป คุณไว้ใจให้เราทำงาาน เราก็เต็มที่ในการที่เราเป็นพันธมิตรสนับสนุนคุณนะ เราเหมือนเป็นเพื่อนกันนะ 

“แปลว่าเวลาผมอยู่ในตลาด ผมไม่ใช่เจ้าที่ทำงานถูกที่สุด มันอยู่ไม่ได้ แล้วผมก็ไม่แฮปปี้กับการที่พอเรารับงานปริมาณเยอะๆ คนในองค์กรเราแม่งเป็นโรงงานเลย เขาต้องผลิต แล้วเราไม่ได้เห็นทีมน้องๆ เราเป็นฟันเฟือง ที่แบบมึงป่วยตายกูเปลี่ยนคน (หัวเราะ) เป็นโรงงานนรกแบบนั้นผมว่ามันก็ไม่เวิร์ก

“เพราะฉะนั้นการทำแบรนด์ยุคนี้มันไม่ใช่แค่ว่าลูกค้ารู้สึกกับเราดี แต่คนที่เป็นคนขับเคลื่อนช่วยให้แบรนด์ Totop ไปสู่ความตั้งใจที่ดีร่วมกัน เขารักองค์กรไหม ถ้าเกิดเราทำให้เขาเห็นงานที่มีความยากเป็นความท้าทาย แล้วเขาพร้อมจะผ่านอุปสรรคและปัญหาไปด้วยกัน ผมว่าทีมแบบนี้แข็งแรง จะเจอปัญหาอะไรเราไม่ต้องกลัวเลย”

ความเก่งของทีมคือค่าเฉลี่ยของคนในองค์กร

Totop มีพนักงานประมาณ 12-15 คน มีทั้งทีมออกแบบ ทีมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ทีม Strategy เป็นองค์กรสร้างสรรค์ มีเวลาทำงานยืดหยุ่น 

“เราเป็นผู้นำ แต่อาจจะไม่ได้เป็นบอสเป็นเจ้านายที่สั่ง แล้วผู้นำต้องมีคาแรกเตอร์ยังไง ก็คือคุยได้ เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง แต่เกรงใจกัน คือการที่คนคนหนึ่งจะเป็นทีม มันคือเป็นพวกเดียวกัน ‘พวก’ คือ ‘พ ว ก’ พึ่งพากัน ไว้ใจกัน และเกรงใจกัน ถึงเป็นพวกเดียวกัน แปลว่าในทีมเดียวกันเขาก็จะรู้สึกเราพึ่งพาได้ รู้สึกเราไว้ใจได้ และก็เกรงใจ คือไม่มาเล่นหัว เราเหมือนเป็นพี่เขา เราคาดหวัง เรา Flexible เราบอกน้องในทีมว่า การทำงานสร้างสรรค์คุณรับฝิ่นได้เลย คุณรับจ็อบได้เลยนะ หลังเลิกงาน เราไม่ได้ห้ามในการที่เขาจะทำจ็อบ เพราะเรารู้ว่ามันเงินอีกกระเป๋าหนึ่งของเขา แต่ข้อดีคือคนจะเก่งในสายทำงานสร้างสรรค์มันคือประสบการณ์ การที่เขามีช่องทางในการที่เขาจะฝึกมือเพิ่ม ยิ่งทำให้เขามีประสบการณ์เก่งขึ้น แล้วเขาเอาประสบการณ์นั้นมาทำงานให้องค์กร องค์กรก็ดีขึ้น เพราะฉะนั้นแนวคิดแบบนี้ผมว่าเราก็ Flexible ในการทำงาน เพียงแต่ว่าในเมื่อคุณรับจ็อบปุ๊ปงานหลักต้องไม่เสียนะ” 

“ทีนี้วิธีการในการที่จะเป็นผู้นำ เขาต้องเห็นเราทำงานหนัก ผมไม่ใช่คนที่อยู่บนหอคอยงาช้างแล้วสั่งเขาไปตาย คือเขาก็ต้องเห็นเราเป็นคนที่เขาเวิร์กฮาร์ด เราเวิร์กฮาร์ดด้วย สองคือเวลามีปัญหาเราแก้ปัญหาได้ สามคือเราอยู่ตลอด เคียงข้างความสำเร็จเขาหรือการทำงานของเขา สี่คือไม่ทำให้เสียศรัทธา ไม่ทำให้สามข้อแรกบกพร่อง ผมว่าการสร้างองค์ประกอบแบบนี้เป็นการที่ทำให้เราเป็นผู้นำในใจเขา”

อีกอย่างที่เขาในฐานะผู้นำย้ำคือ ความเก่งของทีมคือค่าเฉลี่ยของคนในองค์กร ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีใครบางคนเก่งสุดโต่ง แล้วคนบางคนด้อยมาก 

“เราบอกเขาว่าทุกองค์ประกอบสำคัญหมด แม่บ้านสำคัญ เขาเป็นจูเนียร์สำคัญ ซีเนียร์สำคัญ ไม่มีว่าซีเนียร์ได้ดีกว่าจูเนียร์ เพราะทุกองค์ประกอบเป็นบรรยากาศ เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จที่ทำให้หนึ่งโปรเจกต์สำเร็จไปได้ด้วยดี เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเขารับผิดชอบหน้าที่ของเขาได้ดี มันจะไม่รวน ไม่เออเร่อ แต่ถ้าเกิดคุณทำบทบาทคุณไม่ดีปุ๊ป เพื่อนต้องมาช่วย เพื่อนแม่งเสียพลังไปละ ผมแม่งปวดกะโหลก ผมไม่ไว้ใจผมต้องมาแก้งานเอง ซึ่งมันไม่ใช่โพสิชันของพี่นะ พี่ควรจะอยู่ในฐานะของการแก้ปัญหาหน้างาน การเจรจา การสโคปไดเรกชันให้ลูกค้าจบงานได้ แต่ถ้าเกิดว่าเอ็งแม่งทำงานห่วย แม่งไม่มีกึ๋นเลย แล้วผมต้องลงมาออกแบบเอง เสียโพสิชันกู งานนี้ไม่เป็นไร งานหน้าอย่าให้เกิด (หัวเราะ) 

“คือทุกคนต้องทำบทบาทตัวเองให้ดี แล้วมันถึงจะเป็นทีมที่แข็งแรง เพราะฉะนั้นเราก็พยายามจะอยู่ด้วยกันเป็นทีมเป็นพี่เป็นน้อง ที่คุยอะลุ่มอล่วย แต่ก็คาดหวังผลงานที่มันบียอนด์กว่า คือเราเป็นองค์กรสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นทุกคนในองค์กรต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ลูกค้าคาดหวังความคิดสร้างสรรค์จากเรา เพราะฉะนั้นเวลาเราทำงานมันต้องว้าว” 

ไผ่บอกว่า ความคาดหวังผลเลิศต้องเกิดจากการทำให้คนเห็นคุณค่าของงานที่ตัวเองทำ 

“ทำยังไงให้คนทำงานเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ เพราะว่าบางอย่างที่เขาทำมันใหญ่กว่าตัวเขามาก งานที่ดีบางทีมันมีแวลู่กับคนจำนวนมาก ถ้าเกิดเขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ เขาจะทำมันเต็มที่ แล้วบางทีเวลาในการทำงาน เราอยู่ด้วยกันมากกว่าคนในครอบครัวอีก เขาจะแก่ขึ้นไปโดยที่วันหนึ่งเขาอาจจะไม่ได้อยู่กับผมแล้ว เขาก็คงต้องเติบโตมีลูกมีเมียบางคนย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด แต่วันหนึ่งไทม์ไลน์ชีวิตที่เราอยู่ด้วยกัน เขาออกจาก Totop ไปเขาเป็นคนที่เก่งขึ้นไหม เขาเป็นคนที่ดีขึ้นไหม เขาเป็นบุคลากรที่มีคุณค่ากับในสังคมอื่นที่เขาไปอยู่ที่นั่นไหม ถ้าเกิดเขาเป็นอย่างนั้นได้ ผมว่าในมุมของ Totop ที่เป็นเบ้าหลอมเราก็สามารถผลิตคนคนหนึ่งที่มีคุณภาพให้กับสังคม เพราะฉะนั้นมันเลยอยู่ที่ว่า ถ้าเกิดเขาทำงานแบบที่เขาไม่เห็นแวลู่ในสิ่งที่เขาทำ งานเขาก็จะไม่ดี บริษัทก็ไม่แฮปปี้ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากการทำสิ่งนั้นเลย เพราะฉะนั้นเราก็พยายามจะทำให้เขาเห็นแวลู่ในงานที่เขาทำ เพื่อให้สุดท้ายแล้วมันก็เป็นพอร์ตชีวิตเขา อันนั้นเป็นสิ่งที่ผมเชื่อโดยส่วนตัว ผมก็เลยถ่ายทอดสิ่งนั้นลงไปในองค์กร” 

เปิดประตูสู่ความร่วมมือและโอกาสใหม่ๆ

ในปีนี้ Totop ได้ไปร่วมเข้าโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 หรือ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023 จัดโดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ทั้งนี้เพราะไผ่มองว่า นอกจากธุรกิจของตัวเองแล้ว Totop ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ด้วย

ผมทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ถ้าเกิดเราจะทำสิ่งที่มันใหญ่กว่าแค่รับลูกค้า คือเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมนี้ สิ่งสำคัญคือเรื่องของการ Collaboration คือความร่วมมือ เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ในการที่ผมเข้ามา เพื่อรู้จักหรือสร้างพันธมิตร คือเราไม่ได้มองว่าคนทำงานสตูดิโอสร้างสรรค์เป็นคู่แข่ง เรามองว่ามันอาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่เราร่วมมือกัน แล้วมันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกับอุตสาหกรรมนี้ได้ ซึ่งวิธีการที่เราจะเข้าไปอยู่ให้ทั้งเรารู้จักเขาและเขารู้จักเรา ก็คือผ่านโครงการภาครัฐนี่แหละ เพราะภาครัฐเองก็ต้องทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางที่ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและองค์กรสร้างสรรค์มาเจอกัน ก็เลยเป็นที่มาที่เราอยากจะเข้าไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ดีขึ้น ในบางส่วนที่เราสามารถสนับสนุนได้” 

นอกจากนี้เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในฐานะธุรกิจ Totop กำลังพัฒนาอีกโมเดลหนึ่งซึ่งหากไม่มีตัวเขาองค์กรก็ขับเคลื่อนไปได้ 

“เราพยายามคิดค้น Design Solution บางอย่างที่เป็นสตาร์ตอัป ที่เป็นดิจิทัลโปรดักต์บางอย่างที่สนุกกว่างาน Tailor-made แบรนดิ้งเป็นงาน Tailor-made ต้องคุย ต้องเข้าใจ เหมือนตัดสูทที่เข้ากับเขาไม่ใช่แมส พาร์ตนั้นเป็นพาร์ต Consult Design สร้างแบรนด์ไป แต่เรากำลังจะคลอดอีกอันที่เป็นสตาร์ตอัป เพื่อถอดความเป็นเราหรือทีมใครบางคนออกมาเป็นเครื่องมือ 

“ถ้าทำได้ Totop ก็จะแตกต่างและไปอีกสเต็ปหนึ่ง” ไผ่กล่าวอย่างมุ่งมั่นทิ้งท้าย 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream