บทสนทนาที่เรียลมากแม่กับ ‘เติ้ล กิตติภัค’ ผู้กำกับตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค

วงการบันเทิงหาความจริงได้ยาก หลายคนว่าไว้อย่างนั้น

โดยการปลูกฝังเราเชื่ออย่างนั้นเช่นกัน แทบจะเป็นปกติที่เห็นข่าวแฉดาราแล้วมีคนก่นด่าหน้ากากที่เขาเคยใส่ ขึ้นชื่อว่าวงการมายาแล้ว ทุกอย่างอาจเป็นภาพที่เซตไว้ให้คนภายนอกเข้าใจ เมื่อเปลี่ยนแปลงก็ย่อมมีผลกระทบ

แต่หากมองลึกลงไปสักนิด เราก็ยังไม่เห็นว่าวงการบันเทิงจะแตกต่างอะไรกับชีวิตของเราทุกคนตรงไหน เรามีตัวตนหลายชั้น ใส่หน้ากากเข้าหากัน และเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อยู่แล้ว

ถ้าถามถึงความเรียล-ความเฟค เราไม่แน่ใจเท่าไหร่เพราะไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว แต่ถ้ายกเรื่องวงการบันเทิงขึ้นมา เราอาจพูดได้ว่า เติ้ล–กิตติภัค ทองอ่วม เป็นอีกคนที่เติบโตมากับวงการบันเทิงอย่างแท้จริง

หลังเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์จากรั้วจุฬาฯ เติ้ลคลุกคลีกับงานเบื้องหลังสลับกับการแวะเวียนมาเบื้องหน้าอยู่เสมอ หลายคนอาจคุ้นตาเติ้ลในบท ‘ตุ๊กติ๊ก’ จากละครแนวตลกเรื่อง น้ำตากามเทพ หรือเคยเห็นหน้าจากบทรับเชิญในซิตคอมตระกูล ‘เนื้อคู่’ ที่เขาเป็นหนึ่งในทีมเขียนบท 

นอกจากนี้ เติ้ลยังโผล่ไปเป็นพิธีกรรายการในไลน์ทีวี เป็นดีเจที่มีรายการวิทยุของตัวเอง เป็นเพื่อนสนิทของซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ ที่ชอบเปิดสงครามคอมเมนต์กันในไอจีอย่างเมามัน แต่บทบาทที่เราคิดว่าคนน่าจะจำชื่อเขาได้มากที่สุดคือ การเป็นผู้เขียนบทและผู้กำกับ ‘ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์’ ทั้งสองซีซั่น

จะว่าไปงานที่เขาทำมาก็มาก มากจนเราแอบสงสัยว่าเหลืออะไรในวงการให้เขาทำอีก

เติ้ลตอบความสงสัยของเราด้วยบทบาทใหม่เมื่อไม่นานมานี้ หลังการนั่งหลังมอนิเตอร์กำกับซีรีส์มาหลายปี คราวนี้เขาเขยิบก้นมานั่งหลังจอมอนิเตอร์ของหนังใหญ่ดูบ้าง และจะเป็นเรื่องอะไรไปได้นอกจากซีรีส์ที่สร้างชื่อให้เขาที่สุด

หลังจากหายไป 2 ปี เติ้ลเคลมว่าครั้งนี้แก๊งตุ๊ดซี่ส์จะเล่นใหญ่กว่าเดิม เพิ่มเติมคือมีตัวแม่ของวงการอย่าง ชมพู่–อารยา เอ ฮาร์เก็ต และดาราสมทบนับสิบคนมาเสิร์ฟความสนุกให้คนดูในโรงหนังแบบเต็มกระบุง

ด้วยความคาดหวังเพราะส่วนตัวเป็นแฟนซีรีส์ แกมสงสัยว่าวิธีบ่มอรรถรสของตุ๊ดซี่ส์ครั้งนี้จะเป็นยังไง ยามบ่ายใต้เงาไม้ร่มรื่นที่ออฟฟิศ GDH เราจึงนัดคุยกับเติ้ลที่เจียดเวลาในขั้นตอนโพสต์โปรดักชั่นมาแบไต๋ให้เราฟังแบบไม่เฟค

แก๊งตุ๊ดซี่ส์หายไป 2 ปีเต็มๆ หลังจากจบซีซั่นสองแล้วเกิดอะไรขึ้น

หลังจาก ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ จบไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราก็รู้สึกว่ามันถึงเวลาจบได้แล้วล่ะ เพราะว่าเราเป็นคนเหมือน…เรียกว่าไรอะ ขี้เกียจอะค่ะ (หัวเราะ)

 

เรียลมากแม่ 

จริงๆ นะ คือโดยพื้นฐานสันดานเราเป็นคนขี้เกียจประมาณหนึ่ง แล้วเวลาทำซีรีส์มันเอาเวลาชีวิตไปเยอะเหมือนกัน ประจวบเหมาะกับที่ทำซีรีส์มา 2 ซีซั่น ก็รู้สึกว่าสำหรับเราพอแล้ว 

พอซีซั่นสองฉายจบก็มีฟีดแบ็กจากคนดูอยากให้ทำซีซั่นสาม เรารู้นะว่าทำให้คนดูแล้วจะได้กระแสต่อแน่นอน แต่ว่าเอาเรื่องอะไรมาเล่าล่ะ เรารู้สึกว่าบางเรื่องที่มันไม่ดีพอก็ไม่ต้องทำ เลยพอก่อน หลังจากนั้นก็ทำโน่นทำนี่ที่ตัวเองชอบและสนใจ

ระหว่างนั้นพี่แจนที่เป็นโปรดิวเซอร์ของ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ มาตั้งแต่ซีซั่นแรกบอกเราว่า พี่วรรณกับพี่เก้ง (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ และจิระ มะลิกุล ผู้บริหาร GDH) อยากทำหนัง แล้วก็อยากนัดให้คุยกัน

นั่นคือจุดเริ่มต้นของ ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค

ใช่ ความรู้สึกตอนนั้นขอใช้คำว่า ประหวั่น นอกจากจะเป็นเกียรติกับชีวิตที่อยู่ดีๆ คนอย่างพี่วรรณ พี่เก้ง จะมานัดคุยโปรเจกต์กับเราแล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ดีมาก แต่มุมหนึ่งมันลำบากใจ เพราะความขี้เกียจ (หัวเราะ) แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า นี่เป็นข้อเสนอที่ต้องคิดให้ดีก่อนจะเซย์เยสหรือโน เพราะมีตั้งกี่คนอยากทำหนังกับที่นี่แล้วไม่ได้โอกาสนี้

พี่วรรณ พี่เก้ง เขาเล็งเห็นว่า ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ สามารถทำเป็นหนังได้ เขาบอกว่าถ้าไม่ใช่เติ้ลกับแจน พี่ก็คงไม่ทำ เพราะฉะนั้นก็เลยถามว่าอยากทำหรือเปล่า

ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นอยากทำไหม 

ไม่อยากทำ เพราะว่าไม่ได้อยากเป็นผู้กำกับ คือซีรีส์ก็มากเกินพอแล้ว พอเป็นหนังแล้วมันดูไกลตัวเหลือเกิน แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่คงโง่มากถ้าไม่คว้าไว้ มันจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของชีวิตที่ใหญ่ ท้าทาย แล้วถ้ามันสำเร็จก็คงดี เลยตกลงทำ

ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค

คุณเริ่มเขียนบทและกำกับแก๊งตุ๊ดซี่ส์จากซีรีส์ เรามีการต่อยอดอะไรจากตรงนั้นมาถึงเวอร์ชั่นหนังบ้าง

ในแง่ของตัวเรา ถ้าถามว่ามีอะไรพัฒนาขึ้นบ้างก็น่าจะเป็นประสบการณ์ เราเคยลองผิดลองถูกกับซีรีส์ ไม่รู้ว่าที่ทำมามันดีหรือไม่ดียังไง เราคิดว่าประสบการณ์ตรงนี้จะช่วยเราได้ แต่เอาจริงๆ มันน้อยมากนะ แค่สองซีซั่นกับการทำหนังใหญ่หนึ่งเรื่อง มันต่างกัน 

อย่างตอนเขียนบท ก็มีบ้างที่คิดว่า หูย ง่าย หนังสองชั่วโมงทำไมกูจะทำไม่ได้ กูเขียนซีรีส์มากี่เรื่องแล้ว เขียนตั้งหลายตอนกูยังทำให้เขาตลกได้เลย กะอีแค่หนังสองชั่วโมงกูจะทำให้เขาตลกไม่ได้เหรอ มันจะยากอะไรขนาดนั้น 

ตัดมาความเป็นจริงก็คือเขียนจนอ้วก อ้วกเลยนะ ช่วงทำบทอยู่ปีหนึ่งมันเครียดไม่รู้ตัว ร่างกายมันคงสะสม เช้ามาวันหนึ่งเราตื่นมาอ้วกเป็นน้ำเลย ใครคิดว่ามันง่ายล่ะ

 

ความไม่ง่ายของเรื่องนี้คืออะไร

ตัวละครหลักของตุ๊ดซี่ส์มี 4 ตัว กัส, กอล์ฟ, คิม, แนตตี้ พอมาทำเป็นหนังเราต้องหาวิธีเล่ายังไงให้น่าสนใจ เฉลี่ยบทยังไงให้สนุกพอ แล้วเรื่องนี้ดันมีอีก 2 ตัวละครที่เป็นแฟนเก่า (ท็อป รับบทโดย เจเจ–กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม) แฟนใหม่ (วิน รับบทโดย กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา) มีฟีเจอริงตัวแม่อีก (เคที่และเจ๊น้ำ รับบทโดย อารยา เอ ฮาร์เก็ต) หลักๆ เลยคือ 8 ตัว ความยาวของหนังประมาณชั่วโมงกว่าๆ เล่ายังไงให้ครบก่อน

มันยากตรงที่การหาแก่นเรื่อง พอหาเจอก็ต้องคิดว่าทำยังไงให้ตัวละครทุกตัวเชื่อมโยงกับมัน ตอนเขียนบทเหมือนเราได้มาเรียนใหม่โดยมีพี่วรรณ พี่เก้ง เป็นครูสอน ดราฟต์แรกของหนังเรื่องนี้มี 200 หน้านะคะ ก็คือ Avengers: Endgame นะคะ (หัวเราะ) เราถามพี่เก้งว่าคิดเรื่องความยาวกันยังไง เขาบอกว่าปกติ 1 หน้าก็ 1 นาที บท 200 หน้าก็ 200 นาที แปลว่า 3 ชั่วโมงกว่า ถูกมะ วันนั้นก็ได้หิ้วบทกลับเพราะมันยาวเกินไป เอนด์เกมจริงๆ 

ตุ๊ดซี่ส์เวอร์ชั่นหนังกับซีรีส์มีความแตกต่างกันยังไง

อย่างแรกเลยคือโครงหลักของเรื่องที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนจะรู้จากเทรเลอร์คือ แก๊งตุ๊ดซี่ส์มีภารกิจปลอมตัวเจ๊น้ำ แม่ค้าขายข้าวผัดผงกะหรี่ ให้ไปเป็นซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งในวงการ 

ต่างจากในซีรีส์ที่เขียนเป็นตอนๆ ว่าตอนหนึ่งจะเล่าอะไร แล้วมีโครงหลวมๆ ให้แต่ละซีซั่น อย่างซีซั่นแรกก็ไปตามหาความรักกัน สุดท้ายก็บ้งกันหมด ซีซั่นสองคือให้รู้ว่าดีเทลความรักของแต่ละคนเป็นยังไง แต่พอเป็นหนังมันจะมีธีมที่ชัดเจนและแข็งแรงก่อน โอเค ไปช่วยกันปลอมตัวเจ๊น้ำนะ แต่ว่าระหว่างทาง กัส, กอล์ฟ, คิม, แนตตี้ก็จะเข้าไปพัวพันกับคำว่า ‘เฟค’ ในทางใดทางหนึ่งเหมือนกัน คือเราคิดว่าการเฟคเป็นเรื่องที่รีเลตและเลี่ยงไม่ได้สำหรับทุกคน บางครั้งเราก็เฟคแบบตั้งใจ บางครั้งเราก็เฟคแบบไม่ตั้งใจ เราเฟคเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด หรือบางทีเราก็เฟคเพื่อคนอื่น 

ไอเดียเรื่องการเฟคนี่มาจากไหน

มันเริ่มจากเราอยากเห็น 4 คนนี้ฟีเจอริงกับ 1 ตัวแม่ เพราะเสน่ห์ของตุ๊ดซี่ส์คือการที่เราโยนแก๊งตุ๊ดซี่ส์ไปเจอกับคนคนหนึ่งที่มีคาแร็กเตอร์น่าสนใจ อย่างในซีรีส์เราจะเห็นน้องใหม่ ดาวิกา, มาดามมด, พี่ตุ๊ก ญาณี รู้สึกว่าแฟนซีรีส์ชอบอะไรแบบนี้ 

พอเป็นหนังทั้งที เพื่อให้เสน่ห์ของมันยังอยู่สำหรับแฟนซีรีส์และเวิร์กสำหรับคนที่ไม่เคยดูด้วย เราต้องหาใครสักคนมาโยนให้พวกนี้จัดการ ตอนที่คุยกันแรกๆ เราขอให้เป็นตัวแม่ที่ปั๊วะมากๆ อยู่ในวงการมานาน บารมีสูงส่ง แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นใครนะ ทีนี้ก็คิดต่อว่าจะหาบทอะไรที่น่าสนใจพอให้ตัวแม่คนนี้รับเล่น คิดมาเยอะมากแต่ก็ยังไม่ดีพอ 

ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค

วันดีคืนดีเราก็ไปเจอน้องเต๋อ รัฐนันท์ (ผู้รับบท คิม) นางมาสวัสดีปีใหม่เรา ตอนนั้นกำลังเขียนบทกับพี่แจน เจอนางมาหาพร้อมกับจมูกแท่งใหม่ เราก็สตันท์นิดหนึ่ง เพราะหน้าเขาเปลี่ยนไปเยอะ

พอเห็นปุ๊บเราก็คิดละ กูจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับหน้าใหม่ของนางในหนังไม่ได้เด็ดขาด เพราะฉะนั้นในหนังต้องพูดเรื่องศัลยกรรมแน่ๆ แล้วอยู่ๆ มันก็นึกขึ้นมา เฮ้ย ศัลยกรรมเหรอ แล้วถ้ามีผู้หญิงคนหนึ่งทำหน้าเหมือนดาราคนหนึ่ง สองคนนี้มีคาแร็กเตอร์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่จำเป็นต้องเล่นให้คนรู้สึกให้ได้ว่าเขากำลังพยายามปลอมตัวเป็นดาราอยู่ล่ะ

ไอเดียนี้เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า เฮ้ย นี่ถ้าเป็นกูกูอยากเล่น พอปรึกษาพี่แจน พี่แจนก็บอกว่า เพ้อเจ้อ (ทำเสียงเหยียด) มึงบ้าปะเนี่ย มันจะตลกเกินจริงไปไหม บ้าปะ ใครจะทำหน้าเหมือนกันขนาดนั้น

แต่เราก็ยืนยัน กูว่ามันได้ ซึ่งระหว่างนั้นอีกไม่กี่วันก็ต้องไปเล่าให้พี่เก้ง พี่วรรณ ฟังแล้ว ซึ่งคาแร็กเตอร์ผู้หญิงคนนี้แบบอื่นๆ มันไม่ผ่านสักที พอขายไม่ผ่านปุ๊บ เราก็แบบ พี่วรรณ พี่เก้งคะ (กระซิบด้วยน้ำเสียงยั่วยวน) หนูมีไอเดียหนึ่งที่อีแจนมันไม่ยอมให้หนูขายค่ะ (หัวเราะ) ซึ่งพี่วรรณ พี่เก้ง ก็ให้พูดมาก่อน เราเลยได้แทงไอเดียนี้ กลายเป็นว่าพี่วรรณ พี่เก้ง โอเค แฮปปี้ ก็เลยไปพัฒนาต่อ  

ทำไมบทนี้ต้องเป็นชมพู่ อารยา

ต้องถามว่าแล้วทำไมถึงไม่เป็นชมพู่ อารยาล่ะ because she’s worth it. (เน้นเสียง) ตอนทำบทเราไม่ได้เขียนจากใครคนหนึ่ง แต่รวมเอาความแม่ทั้งหลายมารวมอยู่ในร่างนี้ เราก็รู้ว่านางต้องเป็นนักแสดงที่มีบารมีเบอร์นั้น ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่คนหรอกในวงการบันเทิงไทยที่เราเห็นว่าเป็นแบบนี้ได้  

ระหว่างนั้นเราก็เห็นพี่ชมไปเดินพรมแดงที่เมืองคานส์ เราดูเขามาแล้วตั้งแต่เด็ก เขาเล่นละครมานาน มีของนะ แต่เด็กสมัยนี้จะเห็นเขาแค่ตอนเดินพรมแดงเท่านั้น เราเลยติดต่อไป แล้วก็ไปคุยกับนางด้วยตัวเอง เล่าให้นางฟังอยู่ 2 ชั่วโมงตั้งแต่ต้นจนจบ พอจบปุ๊บ ถามว่าชมเป็นไง สนุกไหม ชมก็เอ้อ สนุกดี ขำนะ เราก็ถามว่าโอเคไหมอะถ้าจะเห็นตัวเองเป็นเจ๊น้ำแบบนี้ เพราะบทเจ๊น้ำมันต้องการคนที่กล้าเสี่ยง เราเข้าใจสถานะของเขานะถ้าเขาจะไม่เล่น แต่กลายเป็นว่าเขาพูดกับเราว่า ไม่เห็นเป็นไรเลย มันก็คือการแสดงปะ 

เราก็ โอ๊ะ ตายแล้ว ชีเป็นนักแสดงว่ะ เขาก็ได้ใจเราไปเลย ณ ตอนนั้น คนนี้แหละคือคนที่เราหา เพราะอย่างที่บอกว่าบทอีเจ๊น้ำมันทำอะไรเต็มไปหมดเลย แล้วถ้าคนที่เขาไม่ได้เข้าใจการแสดงพอจะทำไม่ได้เลย 

ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค

ตั้งแต่ซีรีส์แล้วที่คุณจะมีแฮชแท็ก #ไม่ใช่ดังแค่ในไทยแต่ดังไกลถึงเมืองจีน ในหนังเรื่องนี้ก็มีแฮชแท็ก #รายได้ถล่มทลายไม่ใช่แค่ไทยแต่ในเอเชียจ่ะแม่ ตรงนี้เราคิดเผื่อกลุ่มคนดูในประเทศอื่นยังไงบ้าง

ไม่ได้คิดถึงขั้นว่าต้องทำให้เขาเข้าใจ แต่เรารู้สึกว่าคอมเมดี้เรื่องนี้มันเป็นสากลนะ นี่ กล้าพูดอะไรขนาดนั้น (เสียงหยอกตัวเอง) มันดูได้ทุกคน เพราะเรื่องเข้าใจง่าย จากคนหนึ่งปลอมตัวเป็นอีกคนหนึ่ง แล้วความระเบิดเถิดเทิงฉิบหายวายวอดระหว่างนั้นมันก็เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้หมด และเข้าถึงได้ทุกวัย ทุกเพศด้วย ตั้งแต่ซีรีส์เราก็ไม่ได้ทำเพื่อให้ตุ๊ดหรือคนในสังคม LGBT+ ดูนะ เราทำให้คนดูทั่วไปดู เช่นเดียวกันมีเด็กนี่แหละที่อย่าดู เพราะว่ามันมีคำหยาบ (หัวเราะ) หลานเราก็ไม่ให้ดู

พูดถึง LGBT+ บางคนมองว่าการมีหนังกะเทยเยอะขึ้นทำให้กะเทยถูกยอมรับมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันบางกลุ่มก็มองว่ามันเป็นการสร้างสเตอริโอไทป์กะเทยว่าต้องตลก คุณมองมุมนี้ยังไง

เรียนตามตรงด้วยความเคารพ เราไม่ใช่คนที่ อู๊ย วันหนึ่งอยากลุกขึ้นมาทำหนังกะเทยเพื่อกะเทย เรื่องนี้เป็นแค่โจทย์หนึ่งในการทำงาน เกิดจากที่พี่แจนอ่านบันทึกของตุ๊ดของคุณช่าแล้วรู้สึกว่าตลกจังเลย แค่บังเอิญว่าใน ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ คุณช่าเขาเป็นแบบนี้ แล้วเขามีเพื่อนรอบตัวเป็นแบบนี้ แค่นั้นเอง

ในแง่ของคนทำคอนเทนต์ เราเห็นทางว่าสามารถทำให้เกิดเรื่องราวได้ด้วยคนเหล่านี้ แล้วคาแร็กเตอร์มันน่ารัก แถมเรื่องเขาดันไปต้องตา ตรงใจ ตรงจริตคนทั่วไปอีก เพราะหลายคนเคยเจอเรื่องนี้กับตัว หลายคนปวดขี้บนรถ หลายคนเจอแท็กซี่ไม่ทอนตังค์ แล้วไม่รู้จะรับมือยังไง แค่ยังไม่มีใครเอามาเล่าบนจอทีวี ณ ตอนนั้น 

ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค

ส่วนเรื่องฉายภาพซ้ำมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นคนตลกไง สมมติว่าถ้า 4 คนนี้มีเรื่องเศร้า คุณช่าเขาเขียนว่าชีวิตเศร้าฉิบหาย อ่านแล้วร้องไห้ เราก็คงต้องทำให้พวกนี้เศร้านะ เพราะมันคือการทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วม 

แต่บังเอิญว่าเขาดันเป็นคนตลกเท่านั้นเอง อาจเข้าแก็บว่า อะ เป็นตุ๊ดตลกอีกแล้วเหรอ แต่ใครที่ได้ดูซีรีส์ก็จะรู้ว่าเราไม่ได้ให้พวกนี้ตลกอย่างเดียว บทเขาจะร้องไห้ จะต้องจริงจังกับความรัก จะต้องรับผิดชอบเรื่องครอบครัว เขาก็เหมือนพวกเราทั่วไป เราแค่อยากให้เห็นว่าจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มันเป็นยังไง สำหรับเรากะเทยไม่ใช่ตัวตลก พวกเขาแค่รีแอกต์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตด้วยอารมณ์ขันน่ะ

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด

ถึงแม้คนดูจะเห็นแล้วหัวเราะ แต่เราไม่ได้ตั้งใจบอกว่ากูเป็นตัวตลกนะ มาตลกพวกกูกัน มันคือตลกสถานการณ์ แค่เขารีแอกต์กับบางอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องแล้วคุณตลกเขาเท่านั้นเอง ซึ่งถามว่าการเป็นตลกมันผิดตรงไหน มันไม่ดียังไงเหรอ สำหรับเราไม่ได้รู้สึกว่ามันไม่ดีเลยนะ เพราะอยู่กับเพื่อนก็ชอบอยู่กับคนตลกน่ะ แล้วยังไงอะ ถ้าคุณเป็นตุ๊ดที่ตลก อารมณ์ดี มันไม่ได้ผิดนี่ เช่นเดียวกันคุณเป็นตุ๊ดที่ไม่ชอบตลก จริงจังกับชีวิต ไม่วี้ดว้าย ก็ไม่ผิดเหมือนกัน แล้วแต่เวย์ที่คุณจะเลือกเลย

ความสนุกของการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร

การทำงานระหว่างทาง อย่างอยู่ในกองเห็นอีปอง (ปิงปอง–ธงชัย ทองกันทม ผู้รับบท กอล์ฟ) บ้าๆ บอๆ เอาเหงื่อเลอะพี่ชมพู่ก็ตลก แต่ถ้าถามถึงความฟิน ในมุมที่เราเป็นคนเขียนบทด้วย กำกับด้วย สิ่งหนึ่งที่มันทำให้เราฟินมากคือ ตอนที่เห็นภาพที่เคยคิดในหัวเป็นจริงอยู่บนหน้าจอมอนิเตอร์ ฟินกับเวลาที่นักแสดงทำในสิ่งที่บทเขียนไว้ได้ บางทีทำได้มากกว่า ไม่ว่าจะซีนตลก ดราม่า ถ้ามันแตะถึงที่เราวางไว้จะมีความสุขมาก เหมือนพี่ชมพู่เป็นเจ๊น้ำที่เราอยากได้มาก ด่าอีเหี้ยได้ถึงพริก อะไรแบบนี้

ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค

คนดูคาดหวังอะไรได้บ้างจาก ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค

แน่นอนว่าความตลกค่ะ ตามแฮชแท็ก #หนังเรื่องนี้ตลกมากแม่ เพราะว่าเราตลกกันตั้งแต่ทำบทจนถึงตอนถ่าย ซีนไหนเล่นแล้วตลกก็ให้มันมีเพิ่มขึ้น อันไหนไม่ตลกก็ตัดออก ถ่ายเสร็จมาอีดิต อันไหนไม่ขำ ไม่เวิร์ก ก็ไม่เอาไว้ จากที่รีดมาจาก 200 หน้า อยากให้เป็นชั่วโมงกว่าๆ ที่คนดูสนุก หัวเราะ จุดประสงค์ของเรามีแค่นั้นเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเรื่องข้อคิดหรือแนวทางการดำเนินชีวิตจะไม่มีเลยนะ แต่สุดท้ายเราไม่ได้คาดหวังว่าคนออกมาจากโรงจะแบบ ตายแล้ว ฉันจะต้องมีชีวิตที่ไม่เฟค แต่อย่างน้อยถ้าประเด็นของตัวละครมันจะกระทบชิ่งไปโดนชีวิตใคร แล้วเขาได้เรียนรู้ว่าตัวละครตัดสินใจแบบนี้ทำให้มันเกิดผลอะไรกับชีวิต อาจทำให้คนดูเปลี่ยนความคิด อันนี้สุดแท้แต่เลย ซึ่งมันก็คงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่อย่างน้อยแค่ออกมาแล้วสนุก ตลก อยู่ในโรงแล้วหัวเราะ พาพ่อแม่ไปดูแล้วได้หัวเราะด้วยกันทั้งบ้าน แค่นี้เราก็พอใจแล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย