เก็บตกตะลุย TOKYO IDOL FESTIVAL สุดยอดมหกรรมไอดอลฤดูร้อน ที่โอตะไม่ควรพลาด

หน้าร้อนของประเทศญี่ปุ่น อาจไม่น่าไปเที่ยวนักเมื่อเทียบกับฤดูอื่นๆ เพราะความร้อนระอุของที่นี่จัดว่าเอาเรื่อง หากใครคิดว่าแดดประเทศไทยแรงแล้ว บอกเลยว่าแดดแดนอาทิตย์อุทัยยิ่งแผดเผากว่าหลายเท่า ชนิดที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังสู้ไม่ไหว หลายคนต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะฮีทสโตรก และบางคนยังถึงขั้นเสียชีวิตก็เคยเป็นข่าวกันมาแล้วบ่อยๆ 

อาจฟังดูโหดร้ายเกินลิมิต แต่ขณะเดียวกันหน้าร้อนของญี่ปุ่นก็มีเทศกาลกลางแจ้งมากมาย รอผู้ไม่กลัวหน้าไหม้ออกไปสัมผัส เช่น เทศกาลดอกไม้ไฟ ซึ่งเป็นงานเชิงวัฒนธรรมย้อนยุค หรือถ้าใครเป็นคอดนตรีจ๋าๆ Summer Sonic เทศกาลดนตรีชั้นแนวหน้าที่รวมศิลปินชื่อดังทั่วโลกไว้มากมายก็คือหมุดหมายที่ต้องมา เป็นต้น

แต่งานเด่นงานดังยังไม่หมดแค่นั้น ยิ่งหากใครเป็น ‘โอตะ’ ตัวยง คลั่งไคล้ไอดอลญี่ปุ่นเข้าเส้นล่ะก็ เทศกาล Tokyo Idol Festival หรือ TIF ก็คืองานที่ไม่ควรพลาดเด็ดขาด! ขีดเส้นใต้หลายๆ รอบเลย 

ผู้เขียนได้ยินกิตติศัพท์ของงานนี้มานานหลายปีแล้ว แต่ยังไม่เคยมาเยือนด้วยตัวเอง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จึงมางาน TIF อย่างที่ใฝ่ฝันไว้เสียที และได้ประสบการณ์น่าปลื้มปริ่มมากมายกลับมา จึงขอเอามาเล่าสู่กันฟังเป็นการเก็บตก เผื่อว่าใครสนใจและอยากไปบ้าง จะได้วางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อมาตามไอดอลอย่างมีความสุขในปีต่อไป 

งานเดียวจบ พบไอดอล(แทบ)ทุกวงที่ใฝ่ฝัน

ปกติแล้ว ที่ญี่ปุ่นมีงานไอดอลจัดประจำแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นงานจับมือ งานแฟนมีต โชว์ตามไลฟ์เฮาส์ โชว์ตามร้านขายแผ่นซีดี คอนเสิร์ตสเกลใหญ่ หรือจะเป็นเทศกาลรวมตัวไอดอลทั้งวงใหญ่และเล็กมาอยู่ในงานเดียวกัน ก็มีมาเป็นระยะๆ 

แต่หากนับเฉพาะงานเทศกาล คงไม่มีงานไหนยิ่งใหญ่เท่ากับ TIF อีกแล้ว เพราะนี่คือมหกรรมการรวมตัวไอดอลครั้งใหญ่สุดของปี ที่สามารถดึงวงไอดอลทั่วญี่ปุ่นมาร่วมงานได้ถึง 200 วง ทั้งวงใหญ่ๆ ที่แฟนๆ คุ้นเคยกันดี เช่น วงตระกูล 48-46 (AKB48, Hinatazaka46) ไปจนถึงวงเล็กวงน้อยที่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักมาก แต่ใช้เวทีนี้เพื่อสร้างฐานแฟนคลับ เพื่อกลายเป็นวงยอดนิยมในอนาคต

ย้อนกลับไปตอน TIF จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7-8 สิงหาคม 2010 ที่เมืองโอไดบะ งานนั้นสามารถรวมวงไอดอลมากกว่า 50 วง ถือว่าเยอะมากเมื่อพิจารณาว่าตอนนั้นกระแสไอดอลในญี่ปุ่นอาจยังไม่บูมเท่าปัจจุบัน ความสำเร็จในครั้งนั้นกลายเป็นธรรมเนียมให้จัดงานนี้เป็นประจำทุกต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี ยกเว้นปี 2020 และ 2021 ที่ย้ายไปจัดเดือนตุลาคมแทน

กรณีของปี 2020 ทีมงานไม่อยากจัดชนมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่จะจัดในช่วงนั้นพอดี แต่เพราะโรคโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้โอลิมปิกจัดไม่ได้ สุดท้ายต้องย้ายไปอีกปีแทน ส่วน TIF แม้จะไม่ย้ายกำหนดการณ์ แต่ก็ต้องเปลี่ยนมาจัดงานออนไลน์แทนแบบกร่อยๆ 

ส่วนปีถัดมา TIF ก็ยังต้องเลี่ยงโอลิมปิกเช่นเคย แต่ข่าวดีคือคราวนี้สามารถกลับมาจัดงานกลางแจ้งได้แล้ว อย่างไรก็ตามพอถึงวันจัดงานจริงกลับเจอพายุมรสุมเข้าพอดี จนต้องยกเลิกงานวันแรกอย่างน่าเสียดาย

หลังพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ในที่สุด TIF ก็ได้ฤกษ์กลับมาจัดงานเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคมเสียทีเมื่อปี 2022 รวมถึงปีล่าสุดด้วย ถึงแม้ทุกคนจะต้องเจออากาศร้อนจนผิวแทบไหม้ แต่ขอเพียงจัดงานราบรื่นโดยไม่มีอาเพศอะไรเข้าแทรก แค่นี้เหล่าโอตะก็พอใจแล้ว

โลโก้งาน Tokyo Idol Festival 2023 อย่างเป็นทางการ

การกีดกันชาวต่างชาติ กับความยุ่งยากของการกดบัตรเข้างาน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกหมายตาว่าจะต้องไปเยือนให้ได้ ข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่า 4 เดือนแรกของปี 2023 หากนับเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยที่บินไปญี่ปุ่นล่ะก็ มีถึง 3.65 แสนคนเลยทีเดียว!

แต่ถ้าใครพอคุ้นเคยวัฒนธรรมแดนปลาดิบอยู่บ้าง น่าจะพอรู้ว่ากำแพงด้านวัฒนธรรมและภาษาของญี่ปุ่นยังคงสูง ทำให้หลายคนอาจเที่ยวได้ไม่จุใจนัก โดยเฉพาะคอดนตรีทั้งหลายที่ล้วนเคยเจอประสบการณ์สุดยุ่งยากตอนซื้อตั๋วคอนเสิร์ตกันทั้งสิ้น เนื่องจากบ่อยครั้ง การซื้อบัตรกำหนดรายละเอียดไว้ว่า ถ้าไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในญี่ปุ่นจะหมดสิทธิ์ซื้อตั๋วไปโดยปริยาย จนหลายคนต้องงัดกำลังภายในทุกทาง ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ดูคอนเสิร์ตของวงที่รักไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง

ยังดีว่างาน TIF ปีนี้ไม่ได้ซื้อบัตรยากขนาดนั้น อย่างน้อยถ้าเข้าไปดูรายละเอียดในเว็บไซต์ของ TIF ที่มีข้อมูลระบุไว้หมดเลยว่า สามารถซื้อบัตรผ่านช่องทางใดได้บ้าง แต่ถึงอย่างนั้น มิตรสหายร่วมทริปของผู้เขียนที่เคยไปงานนี้มาหลายครั้งจะสับสนกับวิธีการซื้อบัตรพอสมควรว่าควรซื้อผ่านช่องทางไหนจึงสะดวกที่สุด

ก่อนพบว่าวิธีที่สะดวกที่สุดสำหรับชาวต่างชาติคือการซื้อผ่านเว็บไซต์ eplus global แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนนอกประเทศซื้อตั๋วงานต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ต้องทำใจว่า ราคาบัตรจะแพงกว่าการซื้อผ่านเว็บไซต์ eplus สำหรับชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะด้วย (ถ้าใครสงสัยว่าจะแบ่งเว็บไซต์ให้ยุ่งยากทำไม? นั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสงสัยเหมือนกัน ฮาาาาา)

และเมื่อซื้อแล้ว จะได้ QR Code ส่งมาทางอีเมล์ที่ลงทะเบียนไว้ จากนั้นค่อยนำไปแลกเป็นริสต์แบนด์เข้างานในวันจริงอีกที

สำหรับตั๋วเข้างาน TIF ในปีนี้มีให้ซื้อหลายแบบ ตั้งแต่บัตรเข้างานวันเดียวราคา 2,500 บาท บัตรเข้างาน 2 วัน ราคา 4,500 บาท เลือกได้ว่าจะเข้างานวันที่ 4-5 สิงหาคม หรือวันที่ 5-6 สิงหาคม (นี่เป็นปีแรกที่มีตัวเลือกบัตรแบบนี้) และบัตรแบบ 3 วันสุดคุ้ม ราคาประมาณ 6,500 บาท  

จริงๆ แล้ว ตั๋วเข้างาน TIF ยังมีแพ็กเกจอื่นๆ ด้วย เช่น แพ็กเกจบัตรเข้างาน 3 วันแถมเสื้อธีมของงานซึ่งปีนี้มาในธีมอนิเมะเรื่อง ‘Oshi no Ko’ อนิเมะที่ว่าด้วยโอตะผู้กลับชาติมาเกิดเป็นลูกของไอดอลที่ตัวเองปลื้มที่กำลังเป็นกระแสพอดี ใครใส่เสื้อตัวนี้จะได้สิทธิ์เข้าชมการแสดงพิเศษที่มีเฉพาะคนที่ใส่เสื้อแบบนี้เท่านั้นถึงเข้าชมได้

ด้านหลังของเสื้อธีม Tokyo Idol Festival 2023 ที่มาในธีมอนิเมะ Oshi no Ko

นอกจากนั้นยังมีแพ็กเกจ VIP ราคาแพงเอาเรื่อง แต่ผู้ซื้อจะได้รับการดูแลจากสตาฟดีชั้นยอดเป็นการแลกเปลี่ยน เป็นต้น

ผู้เขียนอาจมีเบี้ยน้อยหอยน้อย ไม่มีปัญญาซื้อบัตร VIP แต่ไหนๆ ก็มาเพื่อตามไอดอลทั้งที จึงซื้อบัตรแบบ 3 วันไปเลย เพราะพอเห็นโปรแกรมทั้ง 3 วันแล้ว มีแต่วงไอดอลที่น่าดูทั้งนั้น หากพลาดวันใดวันหนึ่งไปน่าจะนอนตายตาไม่หลับ (ฮาาาา)​ 

หลังแลกริสต์แบนด์สำหรับเข้างานได้ 3 วันเรียบร้อย ผู้เขียนและมิตรสหาย ก็ทำพิธีกรรม รวมพลังก่อนตะลอนดูไอดอล

โอไดบะ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่โอตะต้องมาแสวงบุญ

ส่วนหนึ่งของสถานที่จัดงาน TIF ภาพนี้ถ่ายไว้ขณะผู้เขียนอยู่บนรถไฟฟ้า ขณะเดินทางเข้าโอไดบะ

งาน TIF จัดขึ้นที่เมืองโอไดบะ เมืองเกาะเทียมที่เป็นย่านการค้า การท่องเที่ยวแห่งสำคัญของญี่ปุ่น มีแลนด์มาร์กน่าสนใจมากมาย เช่น อาคารของสถานีโทรทัศน์ Fuji TV Headquarters, หุ่นกันดั้ม ยูนิคอร์น (Unicorn Gundam) ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าห้างสรรพสินค้า DiverCity, รูปปั้นจำลองเทพีเสรีภาพ และพิพิธภัณฑ์มิไรคัง (Miraikan) หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์สมัยใหม่แห่งชาติ (National Museum of Emerging Science) เป็นต้น 

ถ้าใครเคยมาโอไดบะน่าจะจำได้ว่า เมืองนี้มีอาณาเขตกว้างมาก งาน TIF ก็ใช้ประโยชน์จากความกว้างเต็มที่ด้วยการกระจายเวทีโชว์ในงานเป็น 7 แห่งทั่วเกาะไปเลย บางเวทีอาจอยู่ใกล้กัน บางเวทีจะอยู่ห่างกันพอสมควร ถ้าใครวางแผนดูไอดอลให้ครบทุกสล็อตเวลาละก็ อย่าลืมเผื่อเวลาเดินเปลี่ยนเวทีด้วยนะ ไม่อย่างนั้นอาจพลาดไม่ได้ดูโชว์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นได้

สำหรับ 7 สเตจที่กระจายตัวทั่วโอไดบะนั้น มีรายละเอียดและความน่าสนใจแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

ภาพแผนที่สเตจโชว์ไอดอลทั้ง 7 เวที จากเว็บไซต์ของ Tokyo Idol Festival

เริ่มจาก Hot Stage เวทีหลักของงาน เป็นจุดที่วงใหญ่ๆ ดังๆ มักมาโชว์กันตรงนี้ เพราะรองรับคนได้มหาศาล โชว์ของแต่ละวงนั้นยาวจุใจถึง 30 นาทีเต็ม 

Heat Garage เวทีนี้ใช้พื้นที่ของ Zepp DiverCity ซึ่งเป็นไลฟ์เฮาส์สำหรับจัดแสดงคอนเสิร์ตอยู่แล้ว สามารถจุคนได้ถึง 2,473 คน เป็นเวทีในร่มเปลี่ยนบรรยากาศจากความร้อนฉ่าภายนอก แต่ปัญหาของเวทีนี้ในงานครั้งที่ผ่านมาก็คือเสียงลำโพงแตกชัดเจนมาก และทีมงานมิกซ์เสียงไม่ดีเท่าที่ควร ดูโชว์ไปไม่กี่นาทีจะรู้สึกได้เลยว่าหูดับไปเรียบร้อย!

Heat Garage ตั้งอยู่ใน Zepp DiverCity หนึ่งในเวทีโชว์ของ TIF ประจำปีนี้

Smile Garden เวทีที่อยู่กลางสวนข้างตึก Fuji TV Wangan Studio มีความร่มรื่นพอสมควร เป็นอีกเวทีไว้รองรับไอดอลวงใหญ่ๆ มาแสดงที่นี่

Doll Factory เวทีนี้ที่ตั้งอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่ง (น่าจะเป็นโรงงานผลิตตุ๊กตาจริงๆ ตามชื่อ) จุดเด่นคือเป็นเวทีภายในให้โอตะสามารถมาหลบร้อนได้เหมือน Heat Garage แต่ในนี้เป็นจุดอับสัญญาณโทรศัพท์ ใครอยู่ดูไอดอลในนั้นสัก 2-3 ชั่วโมงติด กลับออกมาเมื่อไหร่อาจตามสถานการณ์บ้านเมืองไม่ทันแล้วก็ได้

ทางเดินเข้าไปใน Doll Factory สังเกตได้ว่าโดยรอบมีลักษณะเป็นโรงงานจริงๆ

Sky Stage จัดอยู่บนดาดฟ้าตึก Fuji TV Wangan Studio ซึ่งให้บรรยากาศดีและที่สำคัญมีวิวท้องฟ้าใส สวยมาก แต่ข้อเสียคือ ถ้าใครขึ้นมาตอนกลางวันจะเจอแดดแผดเผาราวกับตกอยู่ในขุมนรก ถ้าไม่ใช่วงที่อยากดูจริงๆ ขึ้นโชว์ล่ะก็ ไม่ค่อยมีใครอยากขึ้นไปเท่าไหร่

Dream Stage เวทีเล็กๆ อยู่ด้านนอกตึก Fuji TV บรรยากาศกลางวันถือว่าร้อนทีเดียว เพราะไม่มีที่ร่มให้เข้าไปหลบตอนดูเท่าไหร่ แต่ข้อดีก็คือถ้าใครไม่ได้ซื้อตั๋วเข้างาน TIF สามารถแอบมารับชมโชว์ของไอดอลแบบฟรีๆ ตรงนี้ได้

เวทีสุดท้าย Festival Stage ตั้งอยู่ใต้หุ่นกันดั้มหน้าห้าง DiverCity พอดี เนื่องจากเป็นเวทีเปิดโล่งเหมือน Dream Stage คนที่เดินผ่านไปผ่านมาก็สามารถมาดูโชว์ไอดอลได้ฟรีเช่นกัน

ก่อนวันงานจริงจะเริ่ม หลังเห็นการแบ่งเวทีแต่ละเวที ผู้เขียนแอบกังวลว่าจะมีแรงฝ่าแดดฝ่าความร้อนไปดูไอดอลที่รักไหวไหม แต่ปรากฏว่าพอก้าวขาเข้าเขตเกาะเทียมเท่านั้น จู่ๆ ร่างกายก็มีพลังแฝง เดินไปตามเวทีนั้นเวทีนี้ไม่หยุดจนลืมความกว้างของโอไดบะ และอากาศร้อนจัดไปเลย

นี่สินะที่เขาเรียกว่า การดูไอดอลสุดรัก ช่วยเติมพลังชีวิตได้ชั้นดี!

มาดูไอดอลที่ Festival Stage แถมฟรีดูหุ่นกันดั้ม

ชี้เป้าวงน่าฟัง มา TIF ทั้งที ต้องมาดูวงเหล่านี้!

เวลามางาน TIF โอตะแต่ละคนจะมีลิสต์วงไอดอลที่อยากดูแตกต่างกันไป บางคนเน้นดูวงที่ตัวเองรักเป็นหลัก ต่อให้ดูบ่อยแค่ไหนก็ไม่เบื่อ บางคนเน้นดูวงที่หาดูสดไม่ได้บ่อยๆ หรือบางคนอาจปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่จัดตารางเป๊ะเท่าไหร่ ถ้าว่างอยากดูวงไหน เวทีไหนค่อยไปดู ก็มีเหมือนกัน

สำหรับผู้เขียน มีหลายวงที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าจะต้องดูให้ได้ แล้วเมื่อได้ดูจริงก็ไม่ผิดหวัง แถมยังทำให้รักมากขึ้นอีกหลายเท่าด้วยวงแรก Title Mitei (タイトル未定) วงโปรดของผู้เขียนที่มาไกลจากฮอกไกโด จุดเด่นของวงอยู่ที่มีเพลงฟังง่าย ฟังสบาย ต่อให้ใครไม่ค่อยถูกโฉลกกับการฟังเพลงไอดอลตามขนบ ก็สามารถตกหลุมรักได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง Kodou, Fumikiri และ Seishun Gunzou

วง Title Mitei กับโชว์ที่ Heat Stage วันแรก

อีกวงที่มุ่งมั่นมาดูให้ได้คือ Gunjo no Sekai (群青の世界) วงไอดอลที่มีเพลงฟังสนุก สุดมัน เป็นวงที่ผู้เขียนอยากฟัง อยากดูการแสดงสดมานานแล้ว และพอได้ดูก็ไม่ผิดหวัง แต่ละโชว์ต่างจัดเซตลิสต์แตกต่างกันไป แต่ลงเอยด้วยความสนุกจัดเต็มทุกรอบ โดยมีเพลง Bokura no Supernova, However Long และ Ribbon ที่แค่เมโลดี้ขึ้นโน้ตแรก ก็รู้สึกฟิน คุ้มค่าสมกับที่รอคอยแล้ว 

วงต่อมาคือ Amefurasshi วงไอดอลสุดเท่จากค่ายใหญ่ Stardust ที่มีชื่อเสียงในการปั้นไอดอลสายแมสให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ และในระดับเอเชีย เช่น Momoiro Clover Z (โมโมโคล่) และ Shiritsu Ebisu Chugaku (เอบิจู – วงโปรดของผู้เขียน ที่จัดคอนเสิร์ตใหญ่ประจำปี FAMIEN’23 e.p. ชนกับ TIF พอดี เลยไม่ได้มาร่วมงานนี้ด้วย) เป็นต้น 

ผู้เขียนรู้จักวง Amefurasshi ครั้งแรกตอนมาโชว์ในงาน Japan Expo Thailand ช่วงต้นปี 2023 และติดใจจนต้องตามมาดูซ้ำที่งานนี้ แม้วงจะมาโชว์แค่วันแรกวันเดียว แถมขึ้น Sky Stage ตอนบ่ายโมงเสียด้วย ผู้เขียนจึงต้องยอมฝ่าความร้อนขึ้นไปดู ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะเมมเบอร์ทุกคนโชว์สุดความสามารถ สร้างความสนุกสนานจัดเต็ม เล่นเอาลืมความร้อนไปเลย

อีกวงที่อยากดูมากคือ Hinatazaka46 วงสุดแมสอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ผู้เขียนยังไม่เคยมีโอกาสดูวงนี้แสดงสดเลย ในเมืองไทยก็ยังไม่เคยมีใครพามาโชว์ทั้งแบบเสียเงินและฟรี ดังนั้นเมื่อมีโอกาสดูในงานนี้ก็ต้องดูให้ได้ 

Hinatazaka46 ยังเป็นวงเอกประจำงาน ขึ้นโชว์ครั้งเดียวที่ Hot Stage ตอน 1 ทุ่มของวันสุดท้าย ผลก็คือบรรดาฝูงคนแห่มาดูกันเยอะมากจนผู้เขียนแทบมองไม่เห็นเวที แต่ก็ยังสัมผัสได้ถึงความสนุกแบบจัดเต็มสมคำร่ำลือ

ส่วนวงสุดท้าย ต้องขอกล่าวถึงแบบเป็นแพ็ครวมนั่นคือเหล่าวง ‘เครื่องหมาย’ ได้แก่ =LOVE (Equal Love) , ≠ME (Not Equal Me) และ ≒JOY (Nearly Equal Joy) วงที่ระดับความนิยมน่าจะสูสีกับกลุ่มไอดอลวงตัวเลข (ตระกูล 48 และ 46) มากที่สุดแล้วในปัจจุบัน

ผู้เขียนยังไม่เคยดูทั้ง 3 วงนี้แสดงสดๆ กับตาตัวเองเช่นกัน ในเมื่องานนี้จัดทุกวงมาโชว์ติดกันทั้งที ก็ต้องยืนขาแข็งดูจนครบ และด้วยเพลง ด้วยเซตลิสต์ของแต่ละวงที่ขนเพลงสนุกๆ มาเล่นแบบไม่ยั้ง ไม่แปลกใจหากจะเป็นวงแมสที่คนชอบมากขนาดนี้ เป็นอีกกลุ่มที่ทำเอาคนแน่น Hot Stage จนขยับไปไหนแทบไม่ได้

แต่เพราะเป็นวงที่มีคนอยากดูเยอะ ก็ทำให้ยิ่งมากคนยิ่งมากความตามไปด้วย ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงประเด็นนี้ในช่วงต่อไป

ขอบคุณความไม่ตั้งใจ ที่ทำให้เราได้มาเจอกัน

แม้จะจัดตารางมาอย่างดีแล้วว่าแต่ละวันจะดูวงอะไร แต่เชื่อว่าทุกคนที่มางาน TIF ต้องเคยผิดแผน พลาดวงที่อยากดูอย่างน้อยก็ 1 ครั้ง ผู้เขียนก็เช่นกันที่แผนแตกตั้งแต่ชั่วโมงแรกของงานเลยทีเดียว

แต่การผิดแผนก็มีข้อดีตรงที่ทำให้ได้เจอวงไอดอลนอกสายตาที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยสนใจมาก่อน และหลายวงยังทำให้ผู้เขียนหลงหัวปักหัวปำ ต้องปวารณาตัวเองเป็นแฟนวงในทันทีหลังดูโชว์จบ

วงแรก #2i2 (เขียนเป็นตัวอักษร คาตาคานะ ニーニ อ่านว่า นี่นิ) ผู้เขียนพอจะคุ้นชื่อวงนี้อยู่บ้าง แต่สารภาพว่าคุ้นจากการถ่ายแบบกราเวียร์ หรืองานถ่ายแบบชุดว่ายน้ำของเมมเบอร์ในวงมากกว่า แต่ยังไม่เคยฟังเพลงของวงและไม่ได้จัดตารางไว้ว่าจะดูด้วย 

พอได้ดูวงนี้ตั้งแต่วันแรกโดยบังเอิญที่ Smile Garden ก็เซอร์ไพรซ์ตรงที่เพลงของวงมาแนวร็อกสุดมันส์ ผิดกับภาพลักษณ์น่ารักสดใสของเมมเบอร์มากๆ เป็นรสชาติที่แปลกแตกต่างออกไปจากไอดอลวงอื่นๆ ในงานไม่น้อย

หนึ่งในพรีเซนเตอร์งาน TIF ประจำปีนี้ก็คือ อามาอุ คิสุมิ จากวง #2i2

วงต่อมา Kasumisou to Stella (かすみ草とステラ) วงนี้ผู้เขียนไม่เคยรู้จัก ไม่เคยฟังเพลงมาก่อน แต่ได้ดูโชว์ของวงโดยไม่คาดฝันบน Sky Stage ช่วงค่ำๆ ของวันแรก เพราะไม่สามารถลงมาจาก Sky Stage เพื่อไปดูอีกวงหนึ่งได้ทันเวลา กลายเป็นว่าหลงใหลในเพลงที่ไพเราะอย่าง Aoi Yori Aoku จนต้องกลับมาย้อนฟังเพลง ย้อนทำความรู้จักวงในภายหลัง

โชว์ของ Kasumisou to Kastella บน Sky Stage ยังมีสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากเป็นพิเศษก็คือ มีกลุ่มโอตะรวมตัวกันเอาแท่งไฟแบบหักแล้วจะส่องแสงสีส้ม สีประจำวงมาชูพร้อมกันขณะเล่นเพลง Aoi Yori Aoku เป็นโมเมนต์ที่ยิ่งทำให้ขนลุกซู่มากกว่าเดิมอีกเท่าตัว

อีกวงที่บังเอิญได้ฟังบน Sky Stage ก็คือ NEO JAPONISM ซึ่งขึ้นโชว์หลัง Amefurasshi แสดงเสร็จพอดี ผู้เขียนเคยได้ยินชื่อของวงนี้มาบ้างว่าเล่นสดสนุกสุดมันส์ เผลอๆ จะสนุกกว่าการฟังเพลงเฉยๆ เสียอีก พอได้ดูเพอร์ฟอร์แมนซ์ของวงจริงๆ ก็พบว่าเร้าใจไม่น้อย แต่ถามว่าหากฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งอย่างเดียวกร่อยไหม ต้องบอกว่าไม่ได้กร่อยแต่อย่างใด

วง NEO JAPONISM ขณะขึ้นโชว์บน Sky Stage

วงสุดท้ายที่ขอพูดถึงก็คือ FRUITS ZIPPER วงไอดอลสุดคาวาอี้จากฮาราจูกุ ที่ตั้งใจนำความน่ารักสดใสเผยแพร่ไปให้ไกลทั่วโลก ผู้เขียนเคยได้ยินวงนี้มาบ้างว่าขึ้นชื่อเรื่องการทำเพลงไอดอลสายหลัก ฟังง่าย ฟังสนุก แถมเมมเบอร์ทุกคนล้วนน่ารัก แล้วพอได้รับชมและฟังเพลงอย่างจริงๆ จังๆ ในงานนี้เป็นครั้งแรกก็ตกหลุมรักทันที และในวันที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ก็ยังเปิดเพลงของวงฟังอยู่ตลอดเวลา หากเป็นไปได้จะตามไปดูคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่นอีกแน่นอน

แจก Tips ตะลุย TIF อยากตามไอดอลให้คุ้ม ต้องไม่ลืมขั้นตอนเหล่านี้

ตลอด 3 วันของการมา TIF มีเรื่องราวน่าประทับใจมากมาย แต่ผู้เขียนขอฝาก Tips เล็กๆ น้อยๆ เป็นไกด์ไลน์แก่ผู้ที่วางแผนจะมา ซึ่งจะช่วยให้ตามไอดอลอย่างมีความสุขมากขึ้นไม่มากก็น้อย

1. เตรียมร่างกายให้พร้อม

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า คนไทยจำนวนมากคิดว่า ตัวเองคุ้นเคยกับความร้อนของเมืองไทยแล้ว แดดญี่ปุ่นก็น่าจะจิ๊บๆ ไม่น่าทำอะไรพวกเขาได้ แต่ขอเตือนตั้งแต่ตรงนี้เลยว่าอย่าดูหมิ่นมันเป็นเด็ดขาด เพราะความร้อนในงานเอาเรื่องจริงๆ มิฉะนั้นอาจเป็นลมแดดจนหมดสนุกไปเสียก่อน 

ดังนั้นถ้าใครจะมางานนี้ อย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆ (ข่าวดีคือภายในงานมีตู้กดน้ำหยอดเหรียญเยอะมาก) และอย่าลืมอุปกรณ์สู้แดด ทั้งหมวก ร่ม รวมถึงครีมกันแดดมาด้วย ขนาดผู้เขียนทาครีมป้องกันวันละหลายรอบ ตอนกลับมาส่องกระจกที่ไทยยังเห็นเลยว่าหน้าและแขนไหม้ คล้ำ ดำขึ้นอย่างชัดเจน อดคิดไม่ได้ว่าถ้าไม่ทาครีมกันแดดไป ผิวน่าจะคล้ำกว่านี้หลายเท่า

2. เตรียมเงินให้พร้อม

นอกจากซื้อตั๋วเข้างาน TIF ที่ราคาเอาเรื่องแล้ว ใครอยากซื้อของที่ระลึก ถ่ายรูป และพูดคุยกับไอดอลที่รัก ก็อย่าลืมเตรียมเงินไปให้พอดีด้วย แต่หากใครเป็นคนใจง่าย ใจไม่แกร่งพอ โปรดระวังให้ดี เพราะหลังเจอไอดอลที่รักอยู่ตรงหน้าเข้าไป คุณอาจกระเป๋าแบนโดยไม่รู้ตัว!

อย่างที่เคยบอกไปว่า ผู้เขียนชื่นชอบวง Title Mitei มากๆ ในงานวันเสาร์เป็นวันที่วงไม่ได้ขึ้นเล่นให้บนเวทีไหน แต่วงก็มาทำกิจกรรมในโซน Meet and Greet ด้วย ปรากฏว่าผู้เขียนเดินเจอเมมเบอร์กำลังทำกิจกรรมตกปลาพลาสติกแลกลายเซ็นโดยบังเอิญ พอรู้ตัวอีกทีก็เสียเงิน 2,000 เยน เพื่อซื้อปลาพลาสติกที่ไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้เรียบร้อย! ดังนั้นขอเตือนโอตะใจบางทั้งหลาย ระวังเงินในกระเป๋าตัวเองให้ดี

3. วางแผนการเดินทางดีๆ และเผื่อใจรับสิ่งที่ไม่คาดฝัน

เมืองโอไดบะตั้งอยู่ห่างจากในตัวเมืองโตเกียวพอสมควร แม้สามารถมาได้หลายทาง แต่ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าจะเดินทางมาถึง ดังนั้นหากใครวางแผนอยากดูวงไอดอลแบบจัดเต็ม อย่าลืมคำนวนเวลาเดินทางดีๆ ด้วย หรือถ้าใครหาที่พักใกล้โอไดบะให้มากที่สุดเพื่อประหยัดเวลาได้ก็จะดีไม่น้อย 

แต่ขนาดผู้เขียนวางแผนไว้ดีแล้ว ก็ยังเจอเหตุการณ์เส้นทางรถไฟปิดปรับปรุงกะทันหัน จนต้องเปลี่ยนวิธีการเดินทางใหม่ จนพลาดโปรแกรมที่อยากดูไปหลายวง 

ดังนั้นขอย้ำอีกครั้งว่า ถึงจะมีแผนการชัดเจนแล้วแต่ก็เตรียมตัวเผื่อใจ เผื่อเวลา และเผื่อเส้นทางหนีทีไล่อื่นๆ ไว้ด้วยนะ 

บรรยากาศอันเบียดเสียดระหว่างเดินทางไปโอไดบะในช่วงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม หลังรถไฟสาย Rinkai Line ปิดปรับปรุงกะทันหัน จนฝูงชนต้องไปคนเปลี่ยนไปขึ้นรถสายอื่น สถานีอื่น

4. โปรดปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด

เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม การมา TIF ก็เช่นกัน ในงานมีกฎต้องปฏิบัติตามหลายอย่างเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาได้ เช่น ไม่กระโดดขี่คอกันดูไอดอล หากการ์ดเห็นใครกระโดดขี่คอเชียร์ไอดอลหรือทำอะไรแผลงๆ ละก็ จะวิ่งเข้ามาชาร์จแล้วลากลงมาแลนดิ้งกับพื้นทันที (การ์ดงานไอดอลญี่ปุ่นไม่ใจดีเหมือนการ์ดงานไอดอลในประเทศไทย ขอเตือนไว้เลย)

หรือโชว์ของบางวงมีกฎว่าไม่สามารถถ่ายรูปได้ ก็ไม่ควรยกกล้องขึ้นมาถ่ายเด็ดขาด ควรถ่ายเฉพาะวงที่อนุญาตเท่านั้น

5. ระวังโอตะจอมเรื้อน

การมางานเทศกาลคือการมารวมตัวกันของคนร้อยพ่อพันแม่ แม้คนญี่ปุ่นจะนิสัยดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป

ตลอด 3 วันของงาน ทั้งผู้เขียนและเพื่อนร่วมทริปเจอโอตะไร้มารยาทกันทุกคน เช่น คนที่พุ่งแทรกตัวไปหาไอดอลหน้าเวทีแบบไม่สนสี่สนแปดว่ามีใครมายืนจับจองที่อยู่ก่อนแล้ว ไม่สนว่าตอนฝ่าฝูงคนเข้าไปจะเหยียบเท้าใครบ้าง หรืออย่างผู้เขียนเองเจอโอตะดูดบุหรี่ไฟฟ้าใจกลางดงมนุษย์สุดเบียดเสียดใน Hot Stage ขณะกำลังจะดูวง =LOVE แสดง พอเจออย่างนี้ ต่อให้จะหนียากแค่ไหน ผู้เขียนก็ต้องยอมหนีให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้

ก็หวังว่าสำหรับคนที่ได้ไปตามไอดอลจริงๆ ในงาน TIF บ้าง จะไม่เจอโอตะจอมเรื้อน ก่อเรื่องยุ่งยากให้การตามไอดอลหมดความสนุกไปซะก่อน 

No Idol No Life โอตะตัวจริง มา TIF ครั้งเดียวไม่เคยพอ!

ตอนที่ตกลงมา TIF มิตรสหายร่วมทริป ผู้เขียนจำได้เลยว่าเคยพูดไว้ว่า “มางานปีนี้แค่ครั้งเดียวพอ เอาเป็นประสบการณ์” ก่อนที่มิตรสหายจะตอบกลับมาทันทีว่า “มา TIF เอาเป็นประสบการณ์แค่ครั้งเดียวไม่มีจริง!” 

แต่เชื่อหรือไม่ว่า มันเป็นแบบนั้นจริงๆ !  เพราะตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้างาน ผู้เขียนก็ตั้งเป้าไว้แล้วว่า ปี 2024 จะกลับมาเยือนงานนี้อีกแน่นอน ก็ในเมื่อการตามไอดอลมันสนุกแบบนี้ ช่วยเยียวยาจิตใจกันแบบนี้ จะไม่กลับไปหาได้อย่างไร

ก็หวังว่านับจากนี้ ผู้เขียนจะได้กลับไปเยือนงานนี้ทุกปี และไม่เกิดอาเพศใดๆ มาทำให้งานล่มอีก และถ้ามีโอกาส จะเก็บเรื่องราวดีๆ น่าประทับใจมาแชร์กันอีกนะ


เรื่องและภาพ: โซโนอิ 

AUTHOR