Shinichiro Kitai : ผู้ให้กำเนิดคาแร็กเตอร์ TO-FU OYAKO ที่ครองใจคนรักและไม่รักเต้าหู้ทั่วโลก

Highlights

  • TO-FU OYAKO คือคาแร็กเตอร์เต้าหู้หน้าตาเหยเกเพราะหวาดกลัวว่าหัวที่เป็นเต้าหู้ญี่ปุ่นเนื้อนิ่มจะหล่นลงมาแตกโพละเข้าสักวัน

  • คาแร็กเตอร์นี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2002 โดยนักออกแบบคาแร็กเตอร์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Shinichiro Kitai และตั้งแต่เปิดตัวในนิทรรศการที่นิวยอร์ก มันก็กลายเป็นที่นิยมของคนทั่วโลกโดยมีแบรนด์และอีเวนต์ต่างๆ ชวนไปร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ

  • ชินอิจิโร่เชื่อว่าความสำเร็จนี้มาจากการที่ TO-FU OYAKO ไม่ได้มีแค่ความน่ารักเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหน้าตาบิดๆ เบี้ยวๆ ทำให้คนสนุกกับการคิดสตอรีให้มันได้ไม่รู้จบ

ต่อให้ไม่ชอบกินเต้าหู้ เราก็เชื่อว่าถ้าคุณได้เห็นคาแร็กเตอร์เต้าหู้ TO-FU OYAKO จากประเทศญี่ปุ่น คุณก็น่าจะหลงรักมันได้แน่ๆ ด้วยหน้าตาเหยเกที่ไม่ว่าใครก็ต้องแอบขำตั้งแต่แรกเห็น tofu oyako

เผื่อคุณยังไม่เคยทำความรู้จักกับมัน เราขอเล่าสั้นๆ ว่า TO-FU OYAKO คือคาแร็กเตอร์ที่เกิดขึ้นในปี 2002 โดยนักออกแบบคาแร็กเตอร์ชาวญี่ปุ่น Shinichiro Kitai ซึ่งครองใจแฟนๆ ได้อยู่หมัดด้วยใบหน้าเหยเกเหมือนหวาดกลัวอะไรสักอย่าง พร้อมสตอรีเบื้องหลังว่าแท้จริงมันกลัวหัวที่เป็นเต้าหู้ญี่ปุ่นเนื้อนิ่มจะหล่นลงมาแตกโพละ เหมือนเวลาเราเผลอทำเต้าหู้หล่นจากตะเกียบยังไงยังงั้น tofu oyako

tofu oyako

หน้าตาและแบ็กกราวนด์ที่น่าเอ็นดูทำให้ตั้งแต่เปิดตัว แบรนด์และคาแร็กเตอร์ต่างๆ ก็กรูกันเข้ามาชวนมันไปคอลแล็บ เช่น หมี Bearbrick ผู้โด่งดัง ตัวการ์ตูน SpongeBob ไปจนถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แถมงานอีเวนต์ในเมืองทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ปารีส หรือนิวยอร์ก ก็จองคิวเจ้าเต้าหู้เนื้อหอมไปโชว์ตัว ทั้งในรูปแบบภาพวาดและฟิกเกอร์ของเล่น ที่สำคัญชินอิจิโร่ผู้ให้กำเนิดจะลงมือออกแบบหน้าตาและชุดของมันใหม่ให้เข้ากับธีมของแต่ละอีเวนต์ กระทั่งทุกวันนี้ที่มี TO-FU OYAKO กว่า 200 แบบแถมยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีหยุด

โชคดีที่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ชินอิจิโร่เดินทางมาสร้างงานสตรีทอาร์ตลาย TO-FU OYAKO และผองเพื่อนถึงเซ็นทรัลเฟสติวัลสมุย เราจึงมีโอกาสได้คุยกับเขาในที่สุด

และถึงแม้เต้าหู้ที่เขาออกแบบจะมีหน้าตาบิดเบี้ยวเหยเก แต่เรื่องราวที่เขาเล่าให้เราฟังวันนั้นยืนยันว่าการใช้ชีวิตกับเจ้าเต้าหู้ตัวนี้มีแต่จะทำให้เขามีรอยยิ้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน

tofu oyako

ทุกวันนี้ TO-FU OYAKO เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ เยอะมาก ย้อนกลับไปตอนที่คุณเป็นเด็ก คุณชอบคาแร็กเตอร์ไหนเป็นพิเศษไหม

ผมชอบงานของอาจารย์ Toriyama Akira ที่วาด อาราเล่จัง และ ด็อกเตอร์สลัม และชอบเอนิเมะเรื่อง กันดั้ม เป็นพิเศษ นอกจากนี้ก็ชอบหุ่นยนต์มากๆ จนคล้ายจะกลายเป็นชื่อเล่นของผมเลยแหละ เป็นเหตุผลที่ผมตั้งชื่อบริษัทว่า Devilrobots ด้วย

เรารู้มาว่าคุณเรียนด้านกราฟิกดีไซน์ในมหาวิทยาลัย ความชอบการ์ตูนกับเอนิเมะมีส่วนทำให้เลือกเรียนด้านนี้หรือเปล่า

ที่จริงผมเรียนด้าน visual communication design มาตั้งแต่อายุ 16 หรือตอนอยู่มัธยมปลาย เพราะว่าที่ญี่ปุ่นพอขึ้นมัธยมปลายก็จะมีวิชาให้เลือกเรียนหลายด้านกว่าที่เมืองไทย

ที่เลือกเรียนด้านนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความชอบเรื่องการ์ตูนนี่แหละ แต่อีกส่วนคือผมชอบศิลปะและชอบเรียนศิลปะอยู่แล้ว เรียกว่าถนัดและทำได้ดีมาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนเป็นธรรมชาติของผม ผมได้คะแนนท็อปของชั้นตลอดเลยนะ ตอนอยู่มัธยมต้น เวลาครูสอนผมก็แอบเขียนการ์ตูน ครูเดินมาก็รีบปิดหนังสือ (หัวเราะ) พ่อแม่ของผมก็คงจะเห็นแววเลยปล่อยให้ผมทำอะไรที่ผมชอบแถมยังคอยเชียร์ตลอด ไม่เคยห้ามเลยจนถึงทุกวันนี้

สมัยนั้นคุณวาดอะไร

สมัยประถมตั้งแต่ ป.1-6 ผมจะชอบวาดภาพแลนด์สเคปหรือสถานที่ เช่น สถานีรถไฟ ก็คือวาดสิ่งที่มีอยู่จริงๆ นั่นแหละ ภาพเหล่านั้นก็ได้รางวัลบ้าง หลังๆ ผมนั่งดูทีวีก็วาดอะไรที่เห็นในบ้านไปเรื่อยเปื่อยแต่ยังไม่ได้วาดการ์ตูนเพราะวิชาศิลปะตอนนั้นก็ไม่ได้สอนอะไรแบบนี้

tofu oyako

อย่างนั้นคุณเริ่มวาดคาแร็กเตอร์ช่วงไหน

ผมมาเริ่มวาดคาแร็กเตอร์ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว สองตัวแรกที่วาดคือคาแร็กเตอร์วิทยุคาสเซตชื่อ Dajio กับคาแร็กเตอร์สามพี่น้อง คือตอนนั้นผมอ่านนิตยสารฟรีก๊อบปี้อยู่แล้วรู้สึกว่าเลย์เอาต์มันดูจืดๆ ก็เลยวาดเล่นๆ ลงไป ไม่รู้เหมือนกันนะว่าทำไมถึงวาดสองตัวนี้ คิดแค่ว่ามันน่าจะสวยดีถ้าอยู่ในหน้ากระดาษนั้น 

คุณหัดออกแบบคาแร็กเตอร์จากที่ไหน

ไม่มีใครสอนผมนะ แต่ผมดูงานดีไซน์ อ่านหนังสือดีไซน์เยอะแล้วก็จินตนาการคาแร็กเตอร์ของผมเอง เริ่มตั้งแต่ช่วงมหาวิทยาลัยนี่แหละ ถ้าเป็นตอนนี้ที่มีอินเทอร์เน็ตผมคงได้เห็นคาแร็กเตอร์มากมายเต็มไปหมด แล้วก็จะมีคนสอนด้วยว่าต้องออกแบบยังไง ได้เห็นวิธีการคิดของดีไซเนอร์ เรียนรู้ได้ง่ายๆ เลย แต่สมัยก่อนอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายแบบนี้ผมก็เลยต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง

คุณออกแบบ TO-FU OYAKO ครั้งแรกเพื่อส่งประกวดคาแร็กเตอร์ที่ร้านเครื่องเขียน Loft จัด ทำไมตอนนั้นตัดสินใจส่งประกวด

ช่วงนั้นผมยังไม่ได้เปิดบริษัทของตัวเองแต่ทำงานในบริษัทดีไซน์แห่งหนึ่ง ผมเลยได้ออกแบบคาแร็กเตอร์อยู่แล้วแต่ไม่ใช่ของตัวเองเพียวๆ เพราะจะมีหัวหน้ามาบอกว่าต้องทำอย่างนี้ๆๆ ส่วนที่ผมตัดสินใจส่งคาแร็กเตอร์ของตัวเองเข้าประกวดเพราะรู้ว่าหนึ่งในกรรมการตัดสินคือนักวาดการ์ตูนชื่ออาจารย์ Suzy Amakane เป็นคนที่ยิ่งใหญ่มากๆ ผมนับถือเขาสุดๆ ก็เลยอยากให้อาจารย์ได้เห็นงานของผม

เพราะเอกลักษณ์ของงานของอาจารย์ซูซี่คือความตลกและน่ารักผมเลยคิดว่าเขาน่าจะชอบงานสไตล์นี้ด้วย ก็เลยออกแบบ TO-FU OYAKO ขึ้นมาซึ่งทั้งตลกและน่ารักในเวลาเดียวกัน ผมคิดว่ามันน่าจะได้รางวัลนะเลยไม่ลังเลที่จะส่งประกวด (หัวเราะ) ซึ่งปรากฏว่าอาจารย์คนนี้แหละที่ให้รางวัลผม หลังจากนั้นผมมั่นใจขึ้นเลยชวนเพื่อนเปิดบริษัท Devilrobots ขึ้นมา ทำทั้งงานดีไซน์และคาแร็กเตอร์ แต่ผมทำแค่งานออกแบบคาแร็กเตอร์อย่างเดียว

tofu oyako

รู้มาว่าคุณชนะการประกวดเพราะ TO-FU OYAKO แต่ก็ยังไม่เผยแพร่คาแร็กเตอร์นี้จนกระทั่ง 5 ปีต่อมา ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

(หัวเราะ) ผมว่ามันเป็นเรื่องของช่วงเวลาที่เหมาะสมมากกว่า ผมรู้สึกว่ามันยังไม่เหมาะสมที่จะเปิดตัว แต่พอเวลาผ่านไป ผมเปิดบริษัทก็มีคนจากสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย มาเห็น TO-FU OYAKO ก็เลยชวนผมไปพูดและขอใช้คาแร็กเตอร์นี้ในโปสเตอร์งานสัมมนา ฉายบนหน้าจอใหญ่ๆ หน้าโรงแรมที่จัดงานเลย จากนั้นก็มีคนจากนิวยอร์กมาเห็นคาแร็กเตอร์เต้าหู้ของผม ก็เลยชวนไปจัดนิทรรศการ TO-FU OYAKO โดยเฉพาะที่นิวยอร์ก ถือเป็นการเปิดตัวคาแร็กเตอร์อย่างเป็นทางการ

ตอนนั้นคุณมี TO-FU OYAKO กี่เวอร์ชั่น

ประมาณ 10-15 แบบ หลังจากนั้นมันก็เพิ่มขึ้นๆ เรื่อยๆ เลย เพราะพอคาแร็กเตอร์นี้เป็นที่รู้จักก็มีคนมาจ้างเพิ่มขึ้น ผมเลยต้องดีไซน์แบบใหม่ๆ ให้เข้ากับแบรนด์หรืออีเวนต์ต่างๆ ที่ติดต่อมามากขึ้น

แปลว่าเวลาไป collab กับแบรนด์หรืออีเวนต์ก็จะออกแบบให้เข้ากับงานนั้นๆ ทุกครั้งเลยใช่ไหม

ใช่ๆ คล้ายๆ กับการทำงานที่สมุยครั้งนี้ที่ผมออกแบบภาพวาดในธีมความสุขและธีมประเทศไทย ทุกครั้งผมจะคุยกับคนที่ติดต่อมาว่าเขาอยากได้งานแบบไหน มีโจทย์แบบไหน แล้วผมก็จะจินตนาการออกมาเป็นผลงาน และออกแบบอย่างน้อย 10-20 เวอร์ชั่น ให้เลือกว่าคุณจะเอาอันไหนเพราะถ้าเกิดว่าให้ไปแบบเดียวแล้วไม่ประสบความสำเร็จขึ้นมาจะเดือดร้อน (หัวเราะ) สไตล์ของผมคือถ้าร่วมงานกันแล้วผมก็อยากให้งานประสบความสำเร็จด้วย ไม่ใช่แค่อยากได้เงินแต่ทำให้มันดีไปด้วยกัน

tofu oyako

สำหรับคุณคาแร็กเตอร์ที่ดีต้องเป็นยังไง

คาแร็กเตอร์ที่ดีสำหรับผมคือคาแร็กเตอร์ที่ทำให้คนเห็นแล้วมีความสุข ทำให้คนอยากเอาไปอวดเพื่อนด้วยความภูมิใจว่า “นี่ๆ ตัวนี้น่ารักไหม” อีกอย่างคือผมรู้สึกว่าคาแร็กเตอร์ที่ดีของผมจะเกิดขึ้นแบบรวดเร็ว ใช้เวลาวาดเร็วๆ เหมือนนักดนตรีได้ยินเสียงดนตรีแล้วรีบเขียนโน้ตลงไป และผมจะไม่แก้มันอีก เวลาทำแบบนี้ตอนปล่อยออกมาส่วนมากผลตอบรับจะดี คนก็นิยม แต่เวลาผมคิดแล้วคิดอีก วาดแล้ววาดอีก ทำไมไม่รู้มันชอบออกมาไม่ดี (หัวเราะ)

เหตุผลหนึ่งที่เราชอบคาแร็กเตอร์เต้าหู้ของคุณคือสตอรีของมันที่กลัวหัวจะหล่นลงมาแตก คุณว่าคาแร็กเตอร์ที่ดีต้องมีเรื่องราวไหม

ผมว่าแล้วแต่นะ ไม่ต้องมีก็ได้ อย่างบางตัวไม่มีสตอรีแต่หน้าตาน่าเอ็นดูก็ประสบความสำเร็จได้ เป็นเคสๆ ไปนะ

แล้วที่คุณบอกว่าคาแร็กเตอร์ที่ดีจะน่ารักอย่างเดียวไม่ได้ องค์ประกอบอื่นที่คาแร็กเตอร์ควรมีคืออะไร

ผมคิดว่าคาแร็กเตอร์น่ารักได้นะ แต่สำหรับผมมันไม่ควรจะน่ารักอย่างเดียวแต่ควรผสมอย่างอื่นเข้าไปด้วย อาจจะเป็นความดาร์กบางอย่าง หรือความเกเรๆ ผสมกันแล้วจะออกมาดูดี

ทำไมล่ะ

มันเป็นสไตล์ เป็นแนวคิดของผม เช่น คาแร็กเตอร์สีขาวอาจจะดูสวยงามอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นผม ผมจะโยนสีดำลงไปให้มันดาร์กขึ้นนิดหนึ่ง อย่าง Hello Kitty ก็เป็นคาแร็กเตอร์ที่ผมมองว่ามีความน่ารักอย่างเดียว แต่ถ้าผมออกแบบผมคงผสมอย่างอื่นลงไปด้วย มันอาจจะเบี้ยวบ้างนิดๆ หน่อยๆ แบบนี้

สำหรับผม ความสวยก็คือสวย น่ารักก็คือน่ารัก แต่ถ้าผสมอะไรดาร์กๆ ลงไปอีกแค่นิดเดียวผมรู้สึกว่าคนที่เห็นจะได้จินตนาการมากขึ้น เช่น TO-FU OYAKO ที่ทำหน้าเหยเก คนก็อาจจะคิดว่า เอ๊ะ ทำไมมันถึงหน้าตาเป็นแบบนี้นะ เขาปวดท้องหรือเปล่า อยากเข้าห้องน้ำหรือเปล่า (หัวเราะ) ทำให้คนได้คิดมากขึ้น คิดได้หลายแบบด้วย

เหมือนอยากให้คนใส่เรื่องราวลงไปเอง

ใช่ๆ นี่คือตัวอย่างของคาแร็กเตอร์ที่อาจจะไม่ได้มีสตอรีเบื้องหลังเยอะ หรือคนอาจจะไม่รู้เบื้องหลังของมันแต่เขาก็สามารถเติมเรื่องราวลงไปเองได้ เหมือนเรื่องราวมาจากทั้งผมและคนอื่นๆ

จนถึงตอนนี้ คุณออกแบบ TO-FU OYAKO ไว้หลากหลายสไตล์มาก ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

เวลาผมเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งต่างจังหวัดของญี่ปุ่นเองหรือประเทศต่างๆ เวลาเห็นอะไร เจอของแปลกๆ ก็มักจะเกิดเป็นไอเดียขึ้นมา หรือเวลาได้ไปร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ ได้เจอสิ่งใหม่ๆ ก็เกิดแรงบันดาลใจอยากจะทำนู่นทำนี่ เช่น ครั้งนี้ผมมาเมืองไทยก็ได้กินอาหารอร่อยๆ ได้กินเบียร์แบรนด์ไทยก็อยากจะทำฟิกเกอร์ TO-FU OYAKO สีทองที่ข้างในเป็นเบียร์เลยล่ะ เหมือนมันเป็นแคนวาสที่ผมได้ใส่เรื่องราวต่างๆ ลงไป 

ผมรู้สึกว่าต้องไปข้างหน้าอยู่เสมอเลยไม่เคยหยุดคิด เวลาเจอสิ่งใหม่ๆ ก็ปรับเปลี่ยนเจ้าเต้าหู้ไปเรื่อยๆ เช่น เวลาเอา TO-FU OYAKO ไปขายในอีเวนต์ต่างๆ ผมก็จะออกแบบให้เข้ากับงานนั้นๆ เช่น เวอร์ชั่นที่ผสมเลโก้ลงไป เวอร์ชั่นที่เหมือนโดนระบายสี หรือไปไต้หวันผมก็ออกแบบ TO-FU OYAKO ที่ได้แรงบันดาลใจจากชานมไข่มุกซึ่งถ้าไม่ได้ไปไต้หวันก็ไม่น่าจะเกิด TO-FU OYAKO เวอร์ชั่นนี้แน่ๆ

ตั้งแต่ออกแบบมา คุณชอบเวอร์ชั่นไหนมากที่สุด

ผมชอบเวอร์ชั่นคลาสสิกมากที่สุดนะเพราะคนชอบเวอร์ชั่นนี้มากที่สุด คือเมื่อก่อนหน้าตาของ TO-FU OYAKO จะเหยเกเหมือนกำลังกลัวอะไรอยู่เพราะอินเนอร์ของมันคือมันกลัวหัวหล่นลงมาแตก แต่เพราะคนชอบมันมากๆ  มีหลายคนที่บอกว่า โอ๊ย น่ารักจัง และมันก็ประสบความสำเร็จมาก ผมคิดว่ามันคงมีความสุขก็เลยเปลี่ยนหน้าตาให้มันยิ้มซะเลย (หัวเราะ)

TO-FU OYAKO สมัยยังหน้าบึ้ง
TO-FU OYAKO ยิ้มออกแล้ว

คุณวาด TO-FU OYAKO มาตั้งแต่ปี 2002 ทำยังไงให้รู้สึกสดใหม่เสมอ

ผมยังสนุกอยู่มากๆ เพราะว่าเวลาปล่อย TO-FU OYAKO เวอร์ชั่นใหม่ๆ ออกไปหรือโพสต์ลงสื่อออนไลน์ก็จะมีคนมาคอมเมนต์ มากดไลก์ ให้กำลังใจและชื่นชมตลอด หรือเวลามีคนมาสัมภาษณ์เพราะเขารู้จักงานของผมผมก็รู้สึกดี อย่างครั้งนี้ที่เซ็นทรัลสมุยติดต่อมาผมก็ดีใจ สนุกที่มีคนรู้จักงานมากขึ้นๆ ต่อไปผมก็อยากขยายงานให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้อีก

เท่าที่ฟัง คุณดูใส่ใจความเห็นของแฟนๆ มากเลย

คนที่ผมแคร์ที่สุดคือคนที่เห็นงานของผม ผมอยากให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น สำหรับผม TO-FU OYAKO ไม่ใช่แค่คาแร็กเตอร์หรือตุ๊กตาแต่เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างผมกับผู้คน และระหว่างผู้คนกับผู้คน เช่น เวลาเด็กๆ ห้อยคาแร็กเตอร์เต้าหู้บนกระเป๋านักเรียนเพื่อนก็จะมาถามว่านี่คือตัวอะไร เจ้าของกระเป๋าก็สามารถตอบได้ว่าซื้อมาจากที่นี่นะ ราคาเท่านี้ๆ ทำให้พวกเขาได้สื่อสารกัน ไม่ใช่แค่เรื่องตุ๊กตานะแต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย

ความสุขที่สุดของการทำคาแร็กเตอร์นี้คืออะไร

ความสุขของผมคือการที่คาแร็กเตอร์นี้เป็นที่รู้จักและทำให้ผมได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมพาเขาไปนะ แต่ TO-FU OYAKO ต่างหากที่พาผมไปเที่ยว เช่น วันนี้มีงานที่สมุยเขาก็พาผมมา หรือพาผมไปไต้หวัน ไปปารีส หรือนิวยอร์ก ผมนี่แหละที่ต้องขอบคุณเขามากๆ เลย อาริกาโตะ ขอบคุณครับ (พูดภาษาไทย)


งานของชินอิจิโร่ที่เกาะสมุยเป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการ SAMUI, THE ISLAND OF HAPPINESS ตอน STREET ART ที่เซ็นทรัลเฟสติวัลสมุยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชวนศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ 6 คนมาสร้างงานสตรีทอาร์ตสนุกๆ ทั่วเกาะสมุย ใครสนใจไปดูกันได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปaday
devilrobo

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!