TikTot เมื่อเด็กอายุน้อย (มาก) เริ่มเล่นโซเชียลด้วยวิธีที่ผู้ใหญ่ไม่รู้

เราล้วนคุ้นเคยว่า TikTok คือแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นยอดนิยมของวัยรุ่น Facebook, Instagram หรือ ​Twitter ก็เริ่มจะเป็นช่องทางของคนอายุเยอะกว่าไปเสียแล้ว งานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของอังกฤษยังพบว่ามีเด็กจำนวนมากเริ่มมีบัญชีของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย

In Other Word รอบนี้ ขอแนะนำให้รู้จักกับคำว่า TikTot (n.) หมายถึง เด็กเล็กที่เล่น TikTok อย่างแพร่หลาย แม้แพลตฟอร์มต่างๆ มักตั้งค่าอายุขั้นต่ำไว้ที่ 13 ปีก็ตาม 

แม้คำว่า TikTot จะยังไม่แพร่หลาย แต่ก็ได้ถูกใช้เป็นพาดหัวข่าวโดยสำนักข่าว BBC และได้ปรากฏเป็นคำศัพท์ใหม่ของพจนานุกรม Cambridge Dictionary สะท้อนพฤติกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

ปรากฏการณ์ TikTot เมื่อเด็กอายุน้อยมากเริ่มหัดเล่น TikTok

ภาพเด็กที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องใหม่ ส่วนมากมักมาจากพฤติกรรมที่เรียกว่า Sharenting คือการที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่โพสต์ภาพเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงเพื่อบันทึกความทรงจำดีๆ บันทึกพัฒนาการ แชร์ให้คนรอบตัวได้รับรู้ถึงความน่ารักน่าเอ็นดูของลูกหลาน 

แต่ TikTot ไม่เหมือนกัน คำนี้หมายถึงกลุ่มเด็กที่เริ่มจะเล่นแพลตฟอร์มด้วยตัวเอง เป็นผู้ที่ควบคุมบัญชีตัวเอง เลือกดูคอนเทนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในความดูแลและคำแนะนำของผู้ใหญ่หรือไม่

คำเรียกว่า TikTot ปรากฏขึ้นในข้อสรุปงานวิจัย ofcom (สำนักงานวางกฎระเบียบการสื่อสารของสหราชอาณาจักร) โดยทีมงานได้เก็บข้อมูลชีวิตออนไลน์ของเด็กๆ งานศึกษาระยะยาวนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2014 เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจโลกออนไลน์ของพวกเขา

มีสถิติหลายข้อที่น่าสนใจจากเทรนด์ปี 2022 เช่น เด็กเล็กชาวอังกฤษอายุ 3-4 ปี ประมาณ 16% และเด็กเล็กวัย 5-7 ปีจำนวน 1 ใน 3 เริ่มมีบัญชี TikTok เป็นของตัวเอง พวกเขาล้วนมีอายุต่ำกว่าอายุขั้นต่ำที่แพลตฟอร์มกำหนดไว้ (13 ปี) แพลตฟอร์มวิดีโออย่าง TikTok และ YouTube เป็นที่นิยมมากที่สุดในเด็กช่วงวัย 3-17 ปี

ในปี 2022 เด็กกลุ่มตัวอย่างใช้เวลาไปกับ TikTok เยอะที่สุดแทนการเล่น Instagram แต่เด็กที่โตกว่ามักจะมีบัญชี Instagram มากกว่า มีเด็กเพียง 4 ใน 21 คนที่ใช้ Facebook พวกเขาใช้มันเพื่อโปรโมตตัวเองหรือซื้อสินค้าผ่าน Marketplace มากกว่าใช้ในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เด็กไม่ใช้ Facebook เพื่อติดต่อกับญาติผู้ใหญ่อีกแล้ว มีเด็กบางคนเล่าว่าใช้  Discord เพื่อคุยเรื่องการ์ตูนอนิเมะกับคอมมูนิตี้ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน

เด็กที่เล่น TikTok มักเสพคอนเทนต์จากบัญชีมืออาชีพซึ่งมีผู้ติดตามเยอะมากกว่า เช่น แบรนด์สินค้า ดารา หรืออินฟลูเอนเซอร์ เมื่อเด็กเห็นคอนเทนต์ที่มียอดวิวสูงๆ เด็กหลายคนเริ่มโพสต์ลดลง เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นโพสต์นานๆ ที คิดเยอะขึ้นก่อนโพสต์ พวกเขาอธิบายว่ากลัวจะถูกคนอื่นล้อถ้าวิดีโอนั้นไม่ดีพอ และรู้สึกเหมือนตัวเองต้องโพสต์แข่งกับเนื้อหาของมืออาชีพที่มียอดวิวสูงๆ  

นอกจากนี้ เด็กยังมีพฤติกรรมชอบลบโพสต์จนมีจำนวนโพสต์ในบัญชีน้อยมาก พวกเขามีพฤติกรรมที่เน้นเป็นผู้รับ (Passive) มากขึ้นเรื่อยๆ เด็ก ยังคัดกรองหรือค้นหาคอนเทนต์ด้วยตัวเองลดลง พอใจที่จะเสพคอนเทนต์ตามที่แพลตฟอร์มนำเสนอ หรือชอบไถหน้าจอไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคิดและไม่ต้องตัดสินใจเลือกเอง

เนื้อหาวิดีโอขนาดยาว เช่นใน YouTube และ Netflix เริ่มดึงดูดความสนใจเด็กยากขึ้น ทำให้เด็กมีพฤติกรรม Multi-Screening หรือดูคอนเทนต์หลายหน้าจอพร้อมกัน เช่น ดูหนังและเล่นมือถือไปพร้อมๆ กัน  

แม้ TikTok จะพยายามควบคุมเรื่องอายุ แต่เด็กจำนวนมากสามารถหลบเลี่ยงการถูกรีพอร์ตได้ไม่ยาก เหตุผลคือพวกเขาสร้างบัญชี TiktTok เอาไว้ส่องหรือเสพเท่านั้น ไม่ได้โพสต์ภาพตัวเอง และเรียนรู้ที่จะตั้งค่าเป็นบัญชีส่วนตัวเพื่อไม่ให้ใครติดตามตัวเองได้ 

แอ็กหลุมและ Incognito Mode เคล็ดไม่ลับที่ทำให้เด็กๆ หลบเลี่ยงผู้ปกครองสอดส่องชีวิตออนไลน์และการใช้อินเทอร์เน็ต 

ไม่ใช่แค่ TikTok เด็กจำนวนมากยอมรับว่าตัวเองมีบัญชีอินสตาแกรมก่อนอายุขั้นต่ำ พวกเขาไม่ได้สนใจเกณฑ์อายุ เพราะสามารถสมัครได้ง่ายโดยการกรอกวันเกิดปลอม กลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันต่างก็มีกันหมด และมีพ่อแม่จำนวนมากไม่ทราบว่าอายุขั้นต่ำของแพลตฟอร์มนี้คือ 13 ปี

ปัจจุบันเราคุ้นเคยกับคำว่า ‘แอ็กหลุม’ (บัญชีลับๆ ที่จำกัดจำนวนผู้ติดตาม รู้แค่เพื่อนสนิทเท่านั้น) เด็กอังกฤษวัย 8-11 ปีมากถึง 64% ยอมรับว่าตัวเองมีบัญชีปลอม เด็กเรียกแอ็กหลุมว่า Finsta (ย่อมาจาก Fake Instagram) ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็มี Rinsta (ย่อมาจาก Real Instagram) หรือแอ็กหลักซึ่งเปิดเผยให้ผู้ปกครองหรือเพื่อนๆ เข้ามาติดตามได้ 

เด็กเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงการติดตามของผู้ปกครอง รู้จักใช้ Incognito Mode หรือโหมดที่ไม่ระบุตัวตนในอินเทอร์เน็ตบราวเซอร์ และเรียนรู้ที่จะลบประวัติการเข้าเว็บไซต์ เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงเว็บต่างๆ โดยไม่ทิ้งร่องรอยประวัติการค้นหาให้พ่อแม่แกะรอยตามได้ง่ายๆ 

พ่อแม่ควรดูแลอย่างไร ในโลกที่ลูกเข้าถึงคอนเทนต์ออนไลน์ได้แบบไม่จำกัด

เด็กที่ท่องไปในจักรวาล TikTok มีโอกาสได้พบคอนเทนต์หลากหลายที่ควบคุมเนื้อหาได้ยาก จากการศึกษาของ Ofcom พ่อแม่จำนวนมากถึง 70% รู้สึกเป็นกังวลในเนื้อหาที่เด็กเห็นในโลกออนไลน์

เด็กเล่าว่าพวกเขาพบเนื้อหาหรือภาพที่สุ่มเสี่ยง บางคนเลือกจะใส่อายุให้เกิน 18 ปีเพื่อสามารถได้รับชมคอนเทนต์ที่โตกว่าวัย ตัวอย่างเนื้อหาที่เด็กได้พบจากการบันทึกหน้าจอของพวกเขา เช่น

  • โฆษณาเว็บพนัน
  • วิดีโอที่แชร์ประสบการณ์ BDSM 
  • วิดีโอเกี่ยวกับเมื่อมีอารมณ์ทางเพศควรทำอย่างไร
  • โพสต์อินสตาแกรมคอสเพลย์แนวเซ็กซี่
  • เนื้อหาที่มีตลกแบบดาร์ก หรือเหยียดเชื้อชาติ
  • เนื้อหาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การทำร้ายตัวเอง
  • ได้รับการติดต่อจากคนแปลกหน้า หรือได้รับภาพหรือคลิปโป๊จากคนแปลกหน้าโดยที่ไม่ได้ขอ

นอกจากนี้โลกออนไลน์ยังมีส่วนให้เด็กๆ ได้รู้จักวิธีหาเงินประเภทที่มีความเสี่ยงสูง รวยทางลัด เช่น การขายตรง เด็กจำนวนมากเริ่มสนใจการลงทุนในเงินคริปโตหรือ NFT เด็กผู้หญิงจำนวนมากเคยได้รับการติดต่อให้เป็นตัวแทนของแบรนด์เพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการ

ประสบการณ์ออนไลน์ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ไปเสียทีเดียว โลกออนไลน์ก็ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ได้เห็นความเป็นไปได้ มีความคิดสร้างสรรค์ และช่วยให้พวกเขาได้ฝึกทักษะใหม่ๆ เด็กจำนวนมากใช้อินเทอร์เน็ตในการช่วยทำการบ้าน ทำงานโรงเรียน ช่วยเรื่องทักษะการอ่านและทักษะทางคณิตศาสตร์ และใช้ในการติดตามข่าวสาร แชร์ประสบการณ์ แสวงหาคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาในชีวิต มีเด็กจำนวนไม่น้อยใช้โลกออนไลน์เพื่อทำความเข้าใจความคิดและความรู้สึกของคนอื่นๆ ที่ไม่เหมือนตนเอง

รายงาน Global Kids Online: Growing Up in a Connected World  โดย UNICEF เลยเสนอว่าแทนที่พ่อแม่จะกังวลว่าลูกใช้เวลานานในโลกออนไลน์ พ่อแม่ควรหาโอกาสมีส่วนร่วมในการพูดคุยกับลูกถึงภัยอันตรายที่อาจจะพบเจอได้ เพื่อให้เด็กได้ระวังตัวด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้และเติบโต การรับรู้ว่าเด็กๆ เสี่ยงจะพบเจอเนื้อหาแบบไหน น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนและคุณครูได้เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต การหาข้อมูล หรือการประเมินข้อเท็จจริงจากคอนเทนต์ที่พวกเขาได้พบ

นอกจากนี้การผลักดันให้มีกฎหมายที่ควบคุมและดูแลแพลตฟอร์มให้ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่ประชาชนควรร่วมกันผลักดันได้ ในปี 2022 ประเทศอังกฤษมีพระราชบัญญัติเพื่อความปลอดภัยทางออนไลน์ (Online Safety Bill) ที่มีเป้าหมายจะตรวจสอบและควบคุมบริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุดกับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ใช้อินเทอร์เน็ต เช่น พฤติกรรม Cyberflashing หรือการส่งภาพโป๊หรือคลิปโป๊จากคนแปลกหน้าโดยที่อีกฝั่งยังไม่ได้ขอ จะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

TikTot อาจเป็นคำใหม่ที่ยังไม่แพร่หลาย แต่ก็ทำให้เห็นแนวโน้มว่ากำลังจะมีเด็กจำนวนมากเริ่มเข้ามาเป็นผู้เล่นในแพลตฟอร์มด้วยวัยที่เด็กมากๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาลหรือประถมต้น แถมเด็กก็เรียนรู้ที่จะซอกแซกไปในโลกไซเบอร์โดยไม่ให้ผู้ใหญ่มาก้าวก่ายโลกส่วนตัว ซึ่งย่อมนำมาสู่ความเสี่ยงต่อการพบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 

ไม่ว่าอยู่ในยุคสมัยใด วัยเด็กคือวัยแห่งความอยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจและอยากเรียนรู้โลกรอบตัว เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมและตัวตนในโลกออนไลน์ได้ พวกเขากำลังเติบโตในโลกที่เชื่อมต่อมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สามารถแนะนำและช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันเนื้อหาที่เขาพบเจอได้ 🙂

อ้างอิง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ksmac

Ordinary person who’s trying to do non-ordinary work.