Thierry BAYLE ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรม สถานทูตฝรั่งเศส กับภารกิจจุดแสงสว่างท่ามกลางความมืดให้วงการศิลปะไทย

ก่อนมารับตำแหน่ง Cultural Attaché Thierry เคยเป็นนักข่าวมาก่อน

เขาเล่าชีวิตนักข่าวให้เราฟังอย่างออกรส ตีแยรีชอบคุยกับคน เดินทางในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย นั่นทำให้เมื่อมารับตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ตีแยรีจึงตระเวนคุยกับคนในวงการศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปิน ภัณฑารักษ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ และอีกหลายฝ่าย เพื่อทำอะไรสักอย่างให้พวกเขาหลุดพ้นจากความมืดมิดในช่วงโรคระบาด

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ตีแยรีและทีมจัดงาน galleries’ nights 2021 ในรูปแบบปกติ เดินทางไปดูนิทรรศการตามแกลเลอรี่ได้โดยไม่ต้องมองผ่านหน้าจอ งานมีคอนเซปต์ว่า Art is the Solution ซึ่งสะท้อนความเชื่อว่าศิลปะคือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของสังคม ที่ไม่ควรถูกทอดทิ้งเช่นกัน 

งานจะจัด 4 วัน โดยเริ่มจัดในกรุงเทพฯ วันที่ 26 -27 พ.ย. และจัดในบางแสน ชลบุรี วันที่ 3-4 ธ.ค. เราฉวยเวลาจากตารางงานแน่นเอี้ยดของตีแยรี ชวนคุยเบื้องหลังการจัดงาน galleries’ nights และสิ่งที่ประเทศไทยเรียนรู้จากฝรั่งเศสได้ในการฟื้นฟูวงการศิลปะหลังโควิดคลี่คลาย

จุดแสงสว่างด้วยงานศิลปะ

พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ และหอศิลป์ คือหนึ่งในรายการสถานที่ที่ถูกปิดในช่วงล็อกดาวน์

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในไทยและฝรั่งเศส “ที่ฝรั่งเศสก็ปิดเมืองสนิทเป็นเดือน มีการล็อกดาวน์ ผมออกจากบ้านได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน มันเป็นช่วงยากลำบากในปี 2020” ตีแยรีเล่า

ประมาณกลางปี 2021 เมื่ออัตราการฉีดวัคซีนเริ่มสูงขึ้น หลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดเมือง แต่ถึงตอนนั้นคนในแวดวงศิลปะก็เจ็บหนัก แกลเลอรี่จำนวนไม่น้อยปิดถาวรเพราะขาดรายได้ ศิลปินไม่มีที่แสดงงานต้องไขว่คว้าหาพื้นที่ในโลกออนไลน์ ทุกคนต่างเอาตัวรอดเพื่อให้อยู่ได้หลังโรคระบาด

ตีแยรีเดินสายคุยกับศิลปินและเจ้าของแกลเลอรี่ในประเทศไทย เขาตระหนักว่าในภาพใหญ่สิ่งที่ควรกู้คืนกลับมาคือ การฟื้นฟูระบบนิเวศทางศิลปะ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน ภัณฑารักษ์ และแกลเลอรี่ โดยเฉพาะกับตัวศิลปินซึ่งอดีตนักข่าวคิดว่าพวกเขาคือหัวใจในการหาทางออก 

“วงการศิลปะฟื้นฟูคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า บางแกลเลอรี่เปิดไม่ได้เลย สำหรับศิลปินนี่เป็นเรื่องยากลำบากมาก ตอนที่เริ่มทำงานนิทรรศการเมื่อหลายเดือนก่อน ทีมเราคิดคำว่า Artist is the solution หมายถึงศิลปินและผลงานของพวกเขาน่าจะเป็นคำตอบในการจัดนิทรรศการ” ตีแยรีเล่าที่มาของคอนเซปต์งานที่ว่า Art is the Solution ซึ่งอีกนัยหนึ่งเขาก็ตั้งใจให้คนมองว่าเป็นคำถามได้เหมือนกัน ว่าศิลปะสามารถเป็นคำตอบแก้ปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ได้ไหม

galleries’ nights เป็นกิจกรรมที่ประชาธิปไตย เพราะมันเปิดสำหรับทุกคน

เราจัดงานออนไลน์ไม่เก่ง หัวหน้าทีม galleries’ nights เล่าเหตุผลที่ไม่จัดงานออนไลน์เหมือนที่อีเวนต์อื่นนิยมทำ ตีแยรีขยายความว่าประเด็นหลักคือ เขาอยากช่วยแกลเลอรี่ อยากให้งานศิลปะไปถึงผู้คนมากขึ้น

“สำหรับแกลเลอรี่ มันคือเรื่องการตลาดด้วย เราต้องการช่วยพวกเขาแบบ physical แน่นอนว่าเราต้องเคารพกฎและนโยบายของรัฐในการจัดงาน ที่สำคัญคือ ผมเริ่มเห็นสัญญาณที่เมืองกลับมาเปิดอีกครั้ง เราต้องกลับมายืนหยัดเพื่อบอกทุกคนว่า galleries’ nights อยู่ตรงนี้ โชคดีที่เราเริ่มคุยกับแกลเลอรี่เมื่อเดือนก่อน และส่วนใหญ่ทุกคนตอบตกลง เราอยากสนับสนุนแกลเลอรี่ ซึ่งกำลังเผชิญความยากลำบาก เป็นเหตุผลนึงที่เราจัดงานในช่วงเดือนนี้

“เราหวังว่าจะสร้างความหวังให้แกลเลอรี่ อยากบอกทุกคนว่าชีวิตกำลังกลับมา ดูนิทรรศการกัน กับศิลปินก็เช่นเดียวกัน พวกเขาอยู่เงียบๆ มาตลอดหนึ่งปี อยู่บ้าน ไม่มีนิทรรศการ พวกเราต้องการจะร่วมมือกับหลายฝ่ายไปพร้อมๆ กัน อีกข้อคือ เรารู้สึกว่า galleries’ nights เป็นกิจกรรมที่ประชาธิปไตย เพราะมันเปิดสำหรับทุกคน เข้าชมฟรี ไม่ต้องจ่ายอะไร” 

เพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์ และช่วยเหลือคนในวงการศิลปะมากขึ้น งานปีนี้ขยายจาก 2 คืนเป็น 4 คืน ขยายจากกรุงเทพฯ ไปจัดที่บางแสน ออกจากเมืองหลวงไปสร้างความคึกคักให้ศิลปินเมืองชายทะเลมากขึ้น ปรับดีไซน์โปสเตอร์ที่เล่าเรื่องการสร้างแสงสว่างท่ามกลางความมืด แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น แกลเลอรี่ต้องปิดตอนสามทุ่ม งานจึงต้องเริ่มตอนบ่ายสาม 

แต่ละแห่งจะมีกิจกรรมที่จัดเฉพาะช่วงแกลเลอรี่ ไนต์ และมีนิทรรศการซึ่งยังจัดต่อเนื่อง ถ้าเราพลาด 4 คืนนี้ก็ยังตามไปดูได้ตามเวลาเปิด-ปิดปกติของแกลเลอรี่ นอกจากนี้ยังมีบริการรถตุ๊กตุ๊กรับส่งระหว่างแกลเลอรี่ เพิ่มความสนุกในการชมมากยิ่งขึ้น

ตีแยรียังพูดถึงการขยายไปจัดงานที่บางแสนว่า เริ่มจากทีมงานมหาวิทยาลัยบูรพา นำโดย มาริสา พันธรักษ์ราชเดช นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องฝรั่งเศสซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่นี่มาเข้าพบทีมงานของสถานทูต

“มหาวิทยาลัยบูรพาเข้ามาหาเราก่อน โดยเฉพาะคุณมาริสาซึ่งเป็นอาจารย์สอนที่นั่น เธอเองก็เคยสอนที่ฝรั่งเศส มาริสาเข้ามาที่สถานทูต บอกว่าชอบงานนี้และอยากจัดที่ชลบุรี เธอแนะนำหลายแกลเลอรี่ที่เราไม่เคยรู้จัก มีประมาณ 15 ที่ และจะทำแบบเดียวกับที่เราทำในระยะเวลา 2 คืน ถ้าสามารถทำได้ต่อเนื่องไปก็จะเป็นเรื่องน่ายินดีมาก เพราะเรามีโอกาสที่จะขยายงาน galleries’ nights ออกไปได้อีก”

วัคซีนคือความหวังของวงการศิลปะ

“เดือนพฤษภาคม – มิถุนายนทุกอย่างในฝรั่งเศสกลับมาเปิด ตัวแก้ปัญหาคือวัคซีน เราเริ่มฉีดวัคซีนจริงๆ คือเดือนมีนาคม ช่วงแรกก็ช้า แต่ช่วงหลังเร็วขึ้นมาก คนมากกว่า 15 ล้านคนได้รับวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา รัฐบาลเลยตัดสินใจเปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ ทุกอย่างกลับมาเปิดอีกครั้ง ถ้าคุณไม่ได้ฉีดวัคซีนคุณจะเข้ามิวเซียมหรือคอนเสิร์ตไม่ได้”

ตีแยรีตอบคำถามชัดเจนว่า สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้วงการศิลปะและวัฒนธรรมได้จริงๆ คืออะไร ไม่ว่าอย่างไรเราก็ไม่สามารถอยู่บ้านได้ตลอด การกลับมามีกิจกรรมทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่ศิลปินต้องการมากที่สุด 

ฝรั่งเศสบริการวัคซีนให้ประชาชนฉีดได้ฟรี ถ้าไม่ฉีดก็ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมได้เลย 

ในช่วงเกิดโรคระบาด งานศิลปะอาจจะถูกลดลำดับความสำคัญลง มันอาจไม่ใช่ solution สำหรับทุกคน ในมุมมองของคนทำงานด้านวัฒนธรรม ตีแยรีคิดว่าศิลปินเป็นทางออกในแง่ของการเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร

“ผมรู้สึกประทับใจกับโปรแกรมของงานที่กำลังจะเกิดขึ้น พวกเราไม่ได้คอมเมนต์อะไร แค่บอกแกลเลอรี่ว่า จงทะเยอทะยานมากเท่าที่คุณอยากทำ มีอิสระในการสร้างงาน และผมรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่ทุกคนนำคำว่า Art is the Solution มาปรับและสะท้อนมันออกมาได้หลากหลาย บางงานก็เกี่ยวข้องกับการเมือง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวัง ศิลปะมีส่วนร่วมกับเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดในการสร้างความเปลี่ยนแปลง มันเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่สำคัญในภาวะนี้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชย์ สุนทโรสถ์

ช่างภาพหน้าหมี ผู้ชอบเพลงแจ๊สเป็นชีวิตจิตใจ