หนังสือคือเพื่อนสนิท และหนังสือก็เปลี่ยนชีวิตใครหลายคน–ความลับของนักอ่านชาว a team

หนังสือคือเพื่อนสนิท และหนังสือก็เปลี่ยนชีวิตใครหลายคน–ความลับของนักอ่านชาว a team

ใน #aday224 ฉบับ The Reader’s Secret ชาว a team ได้แอบใส่หนังสือของพวกเราเองไว้ในหน้าแรก หนังสือทั้งหมดที่ทุกคนเห็นคือหน้ากระดาษที่ช่วยให้พวกเราแต่ละคนผ่านวัยหนุ่มสาวพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัว แต่ด้วยข้อจำกัดของนิตยสาร สุดท้ายเราไม่ได้บรรยายว่าหนังสือแต่ละเล่มส่งผลต่อพวกเราอย่างไรบ้าง ดังนั้นเราจึงตัดสินใจนำความลับของพวกเรามาอยู่ในออนไลน์แทน

เข้ามาใกล้ๆ สิ เราจะเล่าให้ฟัง

 

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

บรรณาธิการบริหาร

อ่าน Open Diary

ผู้เขียน : วรพจน์ พันธุ์พงศ์

และ บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร

ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

 

“หนังสือสำคัญของคนอื่นอาจจะมีผลกับชีวิต แต่หนังสือสำคัญ 2 เล่มของเราคือเล่มที่มีผลต่ออาชีพ นั่นคือ Open Dairy และ บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร เพราะสำหรับเรา งานกับชีวิตมักจะแยกกันไม่ค่อยออก

“เราเคยทวีตข้อความไว้นะว่าถ้าอยากเป็นคนทำนิตยสาร แนะนำให้อ่าน Open Dairy แต่ถ้าอยากเป็นนักเขียน แนะนำให้อ่าน บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร เหมือนหนังสือ 2 เล่มนี้ทำให้เราเห็นภาพอุดมคติของอาชีพนี้และภาพที่สวยงามที่ไม่ใช่ทุกคนจะไปถึง เวลาอ่านนอกจากจะเอาสนุก เรายังได้ทัศนคติและบทเรียนบนเส้นทางสายอาชีพด้วย ซึ่งทั้ง 2 เล่มเข้ามาในชีวิตเราช่วงแรกๆ ของการทำงานที่ a day พอดี

“ตัวเราช่วงนั้นค่อนข้างเห็นแต่แง่มุมสวยงามของงานนะ เช่น การได้ออกไปสัมภาษณ์คนเจ๋งๆ ความสนุก การได้ออกไปผจญภัย ซึ่งพอมองย้อนกลับไปมันค่อนข้างเบาบาง หนังสือ 2 เล่มนี้เหมือนเป็นการชี้ให้เราเห็นอิมแพกต์และความสำคัญของสิ่งที่เราทำ เราได้เห็นภาพอื่นๆ ว่าคนที่เขาฝากชีวิตไว้กับสิ่งนี้จริงๆ มันเป็นยังไง คนเจ๋งจริงๆ เขาเป็นยังไง พออ่านจบ เราเลยเหมือนได้ตั้งเป้าหมายอาชีพของเราใหม่ เพราะอาชีพสื่อสารมวลชนทำอะไรได้มากกว่าการออกไปคุยกับคนที่อยากคุย มันเล่าอะไรอื่นๆ ที่อิมแพกต์ได้ด้วย

“เรากลับไปอ่านหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้บ่อยมากและแต่ละครั้งก็ให้อะไรบางอย่างกลับมาเสมอ ครั้งล่าสุดคือก่อนที่จะกลับมาเป็นบรรณาธิการบริหารที่ a day นี่เอง เราอ่านแล้วได้กำลังใจ เหมือนได้รับพลังจากคนที่เคยต่อสู้และยังได้รู้ว่าอาชีพนี้ทำให้คนคนหนึ่งเติบโตและเรียนรู้ขนาดไหน เราว่าสิ่งนี้สำคัญมากๆ นะ กลับไปอ่านแต่ละครั้งก็รู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้ทำอาชีพนี้อยู่”

 

กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี

ผู้ช่วยบรรณาธิการบริหาร

อ่าน The Catcher in the Rye

ผู้เขียน : J.D. Salinger

 

“เราอ่านเรื่องนี้ตอนช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมกับมหา’ลัย ช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง และโดยไม่รู้ตัว เราเริ่มมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งในตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญคืออะไร มันมีความรู้สึกที่ปะปนกันระหว่างความโกรธและความเศร้า

“หลายคนบอกเราว่าตัวเอกในเรื่องอย่าง Holden บ่นบ้าอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ด่ากราดทุกคนโดยไม่มีสาเหตุ แต่ตอนเราอ่าน เราไม่รู้สึกเลยว่าเขากำลังบ่นหรือก่นด่า คงเป็นเพราะเราเองก็รู้สึกเหมือนกัน และการกระทำของ Holden ก็มาช่วย validate ความรู้สึกเราในตอนนั้นว่า เออ สิ่งที่เรารู้สึกอยู่มันไม่ผิดนะ คนเรามีความรู้สึกแง่ลบได้ มีความไม่เข้าใจภาวะที่ตัวเองเป็นได้ มีความไม่เข้าใจสังคมได้ เอ้อ และมันทำให้เรารู้จักคอนเซปต์ของ nervous breakdown เป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งทำให้เราเข้าใจสภาพจิตใจของตัวเองตอนนั้นมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ เราไปฝังหัวมาจากไหนไม่รู้ว่า คนที่ดี คนที่เป็นที่รัก ที่ยอมรับ คือคนที่มีความสุขอยู่เสมอ ร่าเริงอยู่เสมอ ต้องไม่โศกเศร้า ต้องไม่โกรธเกรี้ยว ดังนั้นพอเรามีความรู้สึกแง่ลบขึ้นมา เราเลยรู้สึกว่าตัวเองกำลังทำอะไรบางอย่างไม่ถูกต้อง และรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับ จากที่รู้สึกไม่ดีอยู่แล้ว เลยยิ่งรู้สึกไม่ดีเข้าไปใหญ่

“จริงๆ ที่เล่ามาเป็นสิ่งที่เราตกตะกอนได้หลังจากผ่านช่วงนั้นมาได้แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น The Catcher in the Rye ก็ยังเป็นหนังสือที่สำคัญสำหรับเราอยู่ดี คือสุดท้ายเราก็คงเข้าใจความเป็นไปของโลกมากขึ้นอยู่ดี สุดท้ายเราก็คงไปหาจิตแพทย์อยู่ดี แต่หนังสือเล่มนี้เร่งสปีดให้เราเข้าใจเร็วขึ้นและไปหาหมอเร็วขึ้น”

 

เอื้อบุญ จงสมชัย

บรรณาธิการดิจิทัลคอนเทนต์

อ่าน นิตยสารสตรีสาร

 

“ตอนเด็กๆ ที่บ้านเราเป็นสมาชิกนิตยสาร ‘สตรีสาร’ ตอนนั้นเป็นยุคท้ายๆ ของ สตรีสาร แล้ว ตอนที่ สตรีสาร ปิดตัว เราอายุ 9 ปี จริงๆ จำไม่ได้หรอก กูเกิลเอา จำได้แค่ว่าเด็กมาก ที่บ้านคงกะให้เราอ่าน สตรีสาร ภาคพิเศษสำหรับผู้เยาว์โดยเริ่มจากแม่อ่านให้ฟัง พออ่านหนังสือเองได้ก็เริ่มอ่านนิทานพื้นบ้าน นิทานนานาชาติที่แปลโดยต้อยติ่ง มีเซกชั่นวาดรูปก็ส่งไปและได้ลง ดีใจมาก บ้านชายทุ่งก็สนุก พี่ปีนังพี่ปรียาต่างๆ คอลัมน์เพื่อนรักที่เป็นตอบจดหมายก็อ่าน มีตุ๊กตากระดาษก็ตัดออกมาเล่น สะสมแสตมป์ตาม ประดิดประดอยอะไรทำตามหมด

พอปีกกล้าขาแข็งก็ขยับไปอ่านเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องสำหรับเด็ก อ่านนิยายท้ายเล่ม คอลัมน์ของวาณิช จรุงกิจอนันต์ บ้านของมังคุด เรื่องท่องเที่ยว ตำราอาหาร เล่นปริศนาอักษรไขว้ ไปจนอ่านบทบรรณาธิการของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ทั้งหมดตอนนั้นก็อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเพราะต้องยอมรับว่ายากเกินที่เราในวัยนั้นจะเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้เรามีคลังคำมากตั้งแต่เด็ก

“หลังจาก สตรีสาร ปิดตัวลง เรายังคงหยิบมาอ่านวนๆ จนชั้น ป.6 พูดได้เต็มปากว่า สตรีสาร ทำให้เราชอบอ่านหนังสือ และที่มากไปกว่านั้นคืออยากเป็นคนทำหนังสือหรือทำนิตยสาร คิดได้ก็เริ่มวาดนิทานขายให้แม่, ม.6 ก็อาสาเป็นบรรณาธิการวารสารขององค์กรหนึ่ง, ปี 1 เทอม 2 ก็เริ่มเป็นบรรณาธิการวารสารของคณะ สมัยมหา’ลัยเรามักโดดเรียนวิชาที่ไม่ชอบไปอ่านนิยาย ไม่ก็ไปไล่อ่านนิตยสารทุกเล่มในห้องสมุดอย่างบ้าคลั่ง เดือนไหนหัวไหนทำ issue อะไร เรารู้หมด ในวิชาเรียนก็รับอาสาเป็นบรรณาธิการรวบรวมบทความเพื่อน เลือกเรื่องมาลงเล่ม วิชาไหนที่ต้องทำนิตยสารก็จริงจังเป็นที่สุด คะแนนไม่ได้มากเลยแต่เล่นใหญ่ไว้ก่อน

“และโดยไม่รู้ตัว สตรีสาร นี่แหละที่เชปการทำงานของเรา ทั้งวิธีการเลือกเรื่องให้รอบ วิธีการสื่อสารกับผู้อ่าน แม้จะไม่ใช่ยุคของสื่อออนไลน์แต่พอนึกย้อนไป เราทึ่งในวิธีการพูดคุยกับคนอ่านของสตรีสารมาก ซึ่งก็คือวิธีการทำออนไลน์ดีๆ นี่เอง และแน่นอนว่ามันติดตัวเรามาใช้ทำงานทุกวันนี้ได้หมดเลย”

 

ฆฤณ ถนอมกิตติ

บรรณาธิการสังคม

อ่าน โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้

ผู้เขียน : ปรีดี หงษ์สต้น

 

“สำหรับเรา ‘โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้’ อาจะไม่ใช่หนังสือที่ดีที่สุดหรือเราอยากแนะนำที่สุด แต่ถ้าให้จำกัดความ มันเป็นหนังสือที่เป็นส่วนตัวกับเราที่สุด เพราะถ้าให้มองย้อนกลับไป เราอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนอายุ 22 ปี เป็นช่วงวัยที่เราคิดว่าตัวเราผุพังมากที่สุดแล้ว เราไม่พอใจพ่อแม่ ต่อไม่ติดกับสังคม รู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวในโลกที่คนเดินสวนทางผ่านไปมา แต่อยู่ดีๆ หนังสือเล่มนี้ก็เข้ามาในชีวิตเราผ่านการแนะนำของเพื่อน เราอ่านมันรวดเดียวจบและมันทำงานกับเราทั้งในแง่ที่ดีที่สุดและร้ายที่สุด

โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้ ทำให้เราเห็นแง่มุมเฮงซวยและความไร้เหตุผลของสังคม มันทำให้เรารับรู้ว่าจริงๆ แล้วโลกนี้ยังมีความห่วยแตกและคนไม่ดีที่เป็นปัญหาอีกมากมาย มันเหมือนเข็มที่ถูกตอกย้ำลงไปกลางใจ ไฟความโกรธที่อยู่ในตัวเราเหมือนถูกราดน้ำมันลงไป ความรู้สึกหลังจากอ่านค่อยๆ ผลักเราให้ไปขอบเหวมากขึ้น ฟังดูเหมือนเรื่องไม่ดีใช่ไหม แต่การไปอยู่หมิ่นเหม่ระหว่างการแตกสลายและความตายมันทำให้เราเห็นจริงๆ ว่าสุดท้ายแล้วในโลกแย่ๆ ใบนี้ อะไรคือแสงสว่างสุดท้าย–การที่มึงยังมีชีวิตอยู่ไง

“สุดท้ายเราก็ค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนหนึ่งของหนังสือก็ช่วยเราในขั้นตอนนี้เช่นกัน อีกด้านหนึ่งของหนังสือทำให้เห็นว่าการที่ยังมีลมหายใจมันดีอย่างไรต่อทั้งตัวเองและคนรอบข้าง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็หลายปีแล้วนะ แต่สำหรับเรา โลกก็ยังเป็นโลกใบเดิม ไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลงสักเท่าไหร่หรอก แต่อาจเป็นเพราะเรายอมรับมันมากขึ้นก็ได้มั้ง เลยไม่ได้รู้สึกแย่เท่าเดิมแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็คงช่วยเราในขั้นตอนนั้นและทำให้เราก้าวผ่านมันมาได้ เพราะสุดท้ายแล้วในวันที่ชีวิตทำร้ายเรามากๆ เราก็ค้นพบว่ายังมีสองมือที่พร้อมอยู่ข้างเราเสมอ

“‘โปรดจงโอบกอดฉันเอาไว้’– เราตอบ ‘ตัวเอง’ แบบนั้น”

 

เบญจวรรณ มังกรอัศวกุล

บรรณาธิการไลฟ์สไตล์

อ่าน ปัญญา ชา จีน

ผู้เขียน : ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

 

“เราได้หนังสือเล่มนี้มาตอนจะรับปริญญาจากการที่เพื่อนแนะนำว่าอ่านแล้วชีวิตจะวุ่นวายน้อยลง เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราทำงานมาได้สักพัก รู้สึกว่าอะไรๆ ผ่านไปเร็ว ใช้ชีวิตแบบรีบๆ ทำงานเยอะ เจอคนเยอะมากจนรู้สึกว่าแทบไม่ได้อยู่เงียบๆ คนเดียว ไม่ได้คิดย้อนกลับไปทบทวนอะไรเลย

“เราอ่านแล้วเราอินมากเลย เราไม่เคยอ่านหนังสือปรัชญาจีนมาก่อนเลยนะ แต่เล่มนี้เหมือนตัดทอนส่วนสำคัญและย่อยมาให้เราอ่าน เหมือนหนังสือเล่มนี้เปิดประตูให้เราไปอ่านปรัชญาจีนอื่นๆ อีกอย่างคือเขาเล่าประวัติศาสตร์จีนออกมาแบบไม่น่าเบื่อเท่าไหร่ ไม่ยาวเกิน เราสมาธิสั้น ไม่ค่อยชอบอ่านอะไรยาวๆ อยู่แล้ว เล่มนี้ถือเป็นเล่มแรกที่อ่านทีเดียวจบ

“การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนมันบังคับให้เราต้องละเมียดละไมคล้ายเวลาจิบชา ถึงจุดหนึ่งมันเลยทำให้เรานึกขึ้นได้ว่าเราอยากใช้ทุกโมเมนต์ ณ เวลานั้นให้มีความหมาย เหมือนอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น อยู่กับข้างในของตัวเองมากขึ้น ถึงชีวิตจะวุ่นวาย งานเยอะ มีเรื่องเข้ามามากแค่ไหน แต่ขอให้ในใจเราไม่วุ่นวายก็พอ

“หรืออาจจะพูดได้ว่าสิ่งที่เปลี่ยนเราจริงๆ มันไม่ใช่ข้อคิดในหนังสือเล่มนี้สักทีเดียวหรอก แต่เป็นเวลาและความรู้สึกขณะที่อ่านมันมากกว่า”

 

น้ำปาย ไชยฤทธิ์

บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

อ่าน Sum: Forty Tales from the Afterlives (ซัม: สี่สิบเรื่องเล่าหลังความตาย)

ผู้เขียน : David Eagleman

ผู้แปล : ณัฐกานต์ อมาตยกุล

 

“จริงๆ ตอนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรพิเศษ เราแค่รู้สึกว่าปกสวยดี ก็เลยลองอ่านดู

“หนังสือเล่มนี้พูดถึงโลกหลังความตาย 40 แบบ เช่น โลกหลังความตายที่ทุกเหตุการณ์ในชีวิตถูกเอามาจัดเป็นหมวดหมู่และเล่นใหม่ตามหมวดหมู่ต่างๆ โลกหลังความตายที่เราทุกคนต่างเป็นนักแสดง โลกหลังความตายที่มีพระเจ้า โลกหลังความตายที่ไม่มีพระเจ้า

“หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้เปลี่ยนตัวตนหรือความคิดเราจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่ความตาย 40 แบบที่คนเขียนพูดถึงทำให้เรามองความตายเปลี่ยนไป จากที่คิดว่าความตายต้องน่ากลัวมากๆ หรือตายไปต้องตกนรกแน่ๆ เราก็เริ่มคิดถึงความเป็นไปได้อื่นๆ  บางครั้งความตายก็เลยดูน่ากลัวน้อยลง แต่ก็แค่บางครั้งนะ (หัวเราะ)

“สิ่งที่ชอบมากๆ ของ Sum คือถึงหนังสือพูดถึงเรื่องความตายก็จริง แต่มันทำให้เราได้กลับมาคิดถึงช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เช่น มีตอนหนึ่งในเรื่องที่บอกว่าคนเราจะตายจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดชื่อเราเป็นครั้งสุดท้าย สิ่งนี้ก็ติดอยู่ในใจแบบเหนียวหนึบ และทำให้เรากลับมาคิดถึงวิธีการใช้ชีวิตของเรา ทำให้อยากเป็นคนที่ดีขึ้นบ้าง และทำให้หวังว่าครั้งสุดท้ายที่มีคนพูดถึงเรามันจะเป็นเรื่องดีๆ“

 

ณิชา พัฒนเลิศพันธ์

ครีเอทีฟคอนเทนต์ครีเอเตอร์

อ่าน คำพิพากษา

ผู้เขียน : ชาติ กอบจิตติ

 

“เราได้ยินชื่อชาติ กอบจิตติ ครั้งแรกตอน ม.5 อาจารย์สอนภาษาไทยบอกว่าให้เราลองอ่านงานของคนนี้ดู หลังจากนั้นเราจึงได้อ่าน คำพิพากษา เป็นเล่มแรกและทำให้เรามองโลกนี้เปลี่ยนไปเลย

“เราโตมาในบ้านที่พ่อเข้มงวด ชีวิตมีแค่บ้านกับโรงเรียน แต่พอมาอ่านเล่มนี้ เราถึงได้รู้ว่าโลกแม่งโหดร้าย แค่คำพูดก็เพียงพอให้คนทำร้ายกัน มันสะเทือนใจเรามากเพราะเหมือนได้มารู้ว่าโลกไม่ได้ใจดีกับเราแบบที่คิด เราต้องระมัดระวังตัวเอง

คำพิพากษา เปลี่ยนแปลงตัวเราไปจนถึงตอนนี้เลยนะ ทุกวันนี้เวลาต้องไปเจอกลุ่มสังคมใหม่ๆ เราจะระมัดระวังตัวและกลัวไว้ก่อน จะบอกว่ามองโลกในแง่ร้ายก็ได้แต่เราว่ามันคือการเข้าใจบริบทในสังคมมากกว่า ซึ่งถ้าหันกลับไปมอง เราว่าเราโชคดีนะที่ได้รู้แบบนี้ เพราะพอมาเจอเหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบใจในเวลาต่อมา ถ้าไม่ได้อ่าน คำพิพากษา เราก็ไม่รู้ว่าจะรับเรื่องนั้นได้ดีขนาดนี้หรือเปล่า เหมือนเราได้เข้าใจมาก่อนว่าโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ ตัวละครที่เล่นอยู่ก็ไม่ได้เลวร้ายไปหมดหรอก เพราะทุกคนมีเหตุผลของการกระทำ”

 

เพ็ญนภา ชาติเผือก

เลขากองบรรณาธิการ

อ่าน จริงตนาการ

ผู้เขียน : Mister Tompkin

 

“จริงๆ เราอ่าน จริงตนาการ ตอนปี 1 ขึ้นปี 2 เราเรียนคณะเกี่ยวกับศิลปะ แต่ตอนมัธยม เราเรียนสายวิทย์ ดังนั้นช่วงปี 1 เลยเป็นเหมือนช่วงเปลี่ยนผ่าน เราต้องปรับตัวพอสมควร

“ตอนเรียนวิทย์เราชอบเรียนทฤษฎี แต่อย่างอื่นเราไม่ชอบเลย มันน่าเบื่อ ซึ่งพอตัวเองย้ายมาเรียนต่อเกี่ยวกับศิลปะ เราก็ย้ายมาสนใจแค่ศิลปะเลย แต่พอช่วงปิดเทอมที่ได้พักเรื่องของศิลปะบ้างก็ได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้ มันเหมือนมีคนกลับมาตอกย้ำว่าจริงๆ วิทยาศาสตร์ที่เราชอบมันยังมีอยู่นะ มันยังมีคนที่เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ที่สนุก พี่ป๋องแป๋ง (Mister Tompkin) ทำให้เราไม่ลืมว่าจริงๆ เราเคยชอบอะไรในวิทยาศาสตร์ และทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองอยู่ระหว่างกึ่งกลางได้ เราชอบศิลปะและวิทยศาสตร์ไปพร้อมกันได้

“ในบ้านเราระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์มักจะไม่ค่อยรวมกันนะ เพราะเราไปแยกทั้ง 2 อย่างออกจากกันตอนมัธยม ที่สำคัญคือหนังสือวิทยาศาสตร์ก็มีแต่หนังสือเรียนหนักๆ ไม่ก็การ์ตูนเด็กไปเลย ซึ่งมันไม่ตรงกับเราทั้ง 2 แบบ ดังนั้นพอมาเจอ จริงตนาการ มันเลยเป็นเหมือนตัวอย่างว่าวิทยาศาสตร์ก็สนุกได้ เราสามารถมองโลกแบบวิทยาศาสตร์ได้แม้เราจะเรียนศิลปะก็ตาม”

 

สุภัทริณี ศรประดิษฐ์

พิสูจน์อักษร

อ่าน 4 ปี นรกในเขมร

ผู้เขียน : ยาสึโกะ นะอิโต

ผู้แปล : ผุสดี นาวาวิจิต

 

“เราอ่านหนังสือเล่มนี้ตอนอยู่ ม.5 ช่วงวัยนั้นเรามักเลือกอ่านหนังสือที่สนุกและรื่นรมย์ เล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ไม่ใช่ มันเปิดโลกมาก เราได้รู้ว่าที่ในหนังสือวิชาสังคมศึกษาเขียนไว้สั้นๆ ถึงการปฏิวัติในเขมร จริงๆ แล้วมันมีเลือดเนื้อ มีความสูญเสีย มีเรื่องราวมากมายมหาศาล

“เราได้ตระหนักรู้ว่าขณะที่ชีวิตเราดำเนินไปอย่างปกติสุข ประเทศที่ไม่ไกลจากเราเคยเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น ทั้งเล่มเหมือนเรื่องแต่งเพราะเราไม่เคยคิดว่ามนุษย์จะกระทำต่อกันได้ขนาดนี้ คล้ายมันขยายความหมายของอำนาจ ความโหดร้ายทารุณ การแก่งแย่ง ความพลัดพราก สูญเสีย การแบ่งปัน ความอาวรณ์ เราเรียนรู้มนุษย์ผ่านหนังสือเล่มนี้ เราได้เห็นว่าในช่วงเวลายากลำบาก มนุษย์ทั้งเผยสัญชาตญาณดิบ และอีกไม่นานก็มีความเห็นอกเห็นใจให้เห็น

“หลังอ่านจบ ตอนนั้นเราคิดอยากให้ทุกคนได้อ่านมัน อยากให้ทุกคนตระหนักว่ามีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น สิ่งที่เราคิดว่าไกลตัว ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งมันอาจเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา เล่มนี้มันทำให้เราเห็นพลังของหนังสือ ของเรื่องเล่า ชัดเจนมาก เป็นหนังสืออีกเล่มที่จุดให้เราอยากทำงานหนังสือ”

 

ปาริฉัตร พิมล

พิสูจน์อักษร

อ่าน ถนนไปสู่ก้อนเมฆ

ผู้เขียน : ธัญญา ผลอนันต์

 

ถนนไปสู่ก้อนเมฆ เล่าถึงการเดินทางของผู้ชายคนหนึ่งในยุโรปไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็พบเจอผู้คน พร้อมกับทบทวนตัวเอง ซึ่งเราอ่านเล่มนี้ตอนวัยรุ่น ช่วงที่กำลังสับสนวุ่นวายพอดี

“เรารู้สึกว่าตอนนั้นชีวิตตัวเองน่าเบื่อ เป็นช่วงวัยที่เราอยากค้นหาความหมายบางอย่างของชีวิต และพอมาเจอเล่มนี้ ตัวหนังสือทัชกับตัวเรา เขาไม่ได้พูดถึงว่าเขาไปเจออะไรมากเท่ากับว่ารู้สึกอย่างไร ความเหงาระหว่างการเดินทางที่เขาบรรยายตรงกับความรู้สึกของเราในตอนนั้นมากๆ เหมือนทำให้เรากลับมาครุ่นคิดว่าสุดท้ายแล้วชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าอยู่นานเท่าไหร่หรอก แต่มันอยู่ที่เราได้ใช้ชีวิตจริงๆ มากน้อยขนาดไหน ถึงต่อให้เป็นเวลา 1 เดือน แต่ถ้าเราได้ใช้ชีวิตโดยไม่ได้อยู่ไปวันๆ สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นความหมายขึ้นมาได้

“จากชีวิตที่ไร้จุดหมาย หนังสือเล่มนี้เหมือนเข้ามาเปลี่ยนตัวเราข้างใน หลังจากอ่านจบเรากลับมาทบทวนตัวเองมากขึ้น เราค้นพบว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเกิดอะไร มันอยู่ที่มุมมองเรามากกว่า เอาจริงๆ เรากลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้บ้างอยู่เหมือนกัน แต่พอผ่านพ้นช่วงนั้นมา เราก็ไม่ได้รู้สึกเหมือนเดิมเท่าตอนนั้นแล้ว แต่ถ้าหันกลับไปมอง ถนนไปสู่ก้อนเมฆ ก็เข้ามาเจอเราถูกเวลาพอดี เพราะความรู้สึก ‘ใช่’ กับเล่มนี้ในครั้งนั้น มันรุนแรงมากและเราจำได้ดี”

 

วัชรพงศ์ แหล่งหล้า

บรรณาธิการศิลปกรรม

อ่าน Slam Dunk Illustration Artbook

ผู้เขียน : Takehiko Inoue

 

“เราไม่ได้เป็นคนอ่านหนังสือขนาดนั้น ถ้าจะอ่านก็เป็นมังงะเลย แต่เราไปเจอหนังสือเล่มนี้ที่ร้านหนังสือที่ญี่ปุ่น พอเห็นปุ๊บเราก็ซื้อกลับมาทันที

Slam Dunk เป็นงานของอาจารย์ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ถ้าใครเคยอ่าน จะรู้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้ภาพสวยมาก อนาโตมีค่อนข้างแม่น เก็บรายละเอียดตั้งแต่คนยันเสื้อผ้า ดังนั้นหนังสือเล่มนี้เลยเป็นเหมือนการเผย art direction เบื้องหลังของงานอาจารย์ เวลาเราอ่าน อะไรไม่รู้ในภาพเหล่านี้จะกระตุ้นให้เราอยากทำงานเสมอ เอาจริงๆ หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับงานเราด้วยนะ แต่พอเห็นแล้วมันทำให้เรารู้สึกอยากทำงานทุกที  คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่าคนทำงานหนังสือต้องอ่านหนังสือ แต่อย่างเราก็ไม่ใช่นะ เราชอบหนังสือเพราะเราเสพสิ่งที่ไม่ใช่ตัวหนังสือและเราก็รักที่จะมองมันไปเรื่อยๆ

“จะว่าไปถ้าทำ a day เล่มอาจารย์ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ก็น่าจะดีนะ ถ้าทำจะมีคนสนใจไหม?”

 

พนิดา มีเดช

กราฟิกดีไซเนอร์

อ่าน One Hundred Years of Solitude (หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว)

ผู้เขียน : Gabriel García Márquez

ผู้แปล : ปณิธาน – ร.จันเสน

 

“เราอ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนนั้นในวัย 22 ปี เรากำลังจะเรียนจบ อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตกำลังเริ่มต้นใหม่ เรากำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ มีอะไรมากมายเกิดขึ้นและจบลง ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราผ่านมันมาได้

หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ทั้งกดเราลงไปและดึงเราขึ้นมา เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมของครอบครัวหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งพอเราอ่านจบบรรทัดสุดท้ายแล้วปิดหนังสือปุ๊บ ตัวเราแม่งพังทลายเลย เรื่องราวในหนังสือสะท้อนให้เราเห็นว่าทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต สุดท้ายวันหนึ่งก็ต้องทลายลงไป มันเป็นวัฏจักร

“ถ้ามองย้อนกลับไป ตัวเราก่อนอ่านและหลังอ่านเปลี่ยนไปเยอะมาก เราเคยจมอยู่กับความรู้สึกหนึ่งที่พออ่านเล่มนี้จบปุ๊บมันทำให้เรามองเรื่องนั้นได้กว้างขึ้น เหมือนได้เจอมมุมมองใหม่ๆ หนังสือฉุดเราขึ้นมาจากความรู้สึกนั้นทำให้เรามีเวลาที่จะทบทวนและตกตะกอนสิ่งที่เจอมามากขึ้น การอ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เหมือนเป็นจุดจบและจุดเริ่มต้นน่ะ เพราะในเวลาหนึ่ง เราพังทลายไปหมดแต่เราก็สร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ในแบบที่เราอยากทำ

“ทุกช่วงวัยมีความเจ็บปวดเป็นของตัวเองนะ ดังนั้นเราว่าอะไรแบบนี้ทำให้เราเรียนรู้ชีวิตได้ดีขึ้น เพราะการทำลายตัวเองและสร้างขึ้นมาใหม่ มันทำให้เราไปในขอบเขตที่เราไม่เคยไป เราว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรมี”

 

บุญศิรินาฏ รุจาทรัพย์

กราฟิกดีไซเนอร์

อ่าน เซวีน่า มหานครแห่งมนตรา

ผู้เขียน : กัลฐิดา

 

“ช่วงที่เราอ่าน เซวีน่า เล่มแรกคือช่วง ม.3 หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่เป็นความหวังของโลก เรื่องราวมีทั้งเนื้อเรื่องหลักและเนื้อเรื่องรอง มีการหยอดปริศนาต่างๆ ให้คนติดตามอ่านไปได้ตลอด

“ตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้ เราอ่าน เซวีน่า ไปไม่ต่ำกว่า 20 รอบ ตัวเรื่องสอนเราหลายอย่าง บางครั้งก็เป็นเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว เวลาเราเบื่อๆ และเราหยิบมันกลับมาอ่านอีก เราก็รู้สึกว่ามันสอนเราอีกรอบหนึ่งว่าทำไมตัวละครถึงคิดแบบนั้น ถ้าเราเข้าใจ เราก็สามารถหยิบตรงนั้นมาใช้กับชีวิตเราในบางสถานการณ์ได้ ยิ่งเรื่องราวของมันมีปริศนาเยอะมากและยิ่งมีภาคต่อออกมาอีก สำหรับเรา เซวีน่า ไม่เคยน่าเบื่อเลย เราสนุกไปกับมันในทุกๆ ครั้งที่อ่าน

“เพราะเล่มนี้เลยนะที่เปลี่ยนให้เราเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ ครั้งล่าสุดที่อ่านเล่มนี้คือเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง ทั้งๆ ที่จริงเวลาอ่านหนังสือเราไม่เคยอ่านซ้ำ แต่ทุกเล่มของกัลฐิดาโดยเฉพาะเรื่องนี้ เราสามารถอ่านซ้ำได้ทุกครั้งเลย หรือเราไปอ่านช่วงนี้ตอนที่สร้างตัวตนก็ไม่รู้นะ เราเลยรู้สึกผูกพัน “

 

ปีติชา คงฤทธิ์

นักออกแบบภาพประกอบ

อ่าน a day junior diary

ผู้เขียน : a team junior รุ่นที่ 2

“เราอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่สมัย ม.ปลาย พอดีกับตอนนั้นมีเพื่อนเราที่อ่าน a day junior diary อยู่ เขาก็มาขายของให้เราฟังว่ามันสนุกมากเลย มันเป็นเรื่องของนิตยสารแห่งหนึ่งที่เปิดรับนักศึกษาฝึกงาน วีรกรรมของคนที่เข้าไปก็วายป่วงมาก เราเองอยากเป็นนักเขียนอยู่แล้วแถมตอนนั้นเป็นช่วงที่เริ่มสับสนในชีวิต สุดท้ายทนไม่ไหว ก็เลยยืมของเพื่อนมาอ่าน

“ต้องเข้าใจว่าโลกเราในตอนนั้น เราเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ วันๆ ก็คิดแต่ว่าจะเข้ามหา’ลัยอะไรดี เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ แต่พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เราถึงได้รู้ว่าในขณะเดียวกันมันมีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ได้ออกไปเจอคน ไปสัมภาษณ์ ได้ทำเลย์เอาต์นิตยสารทั้งๆ ที่เขายังเรียนไม่จบมหา’ลัยด้วยซ้ำ เขาไปถึงจุดนั้นที่เราใฝ่ฝันแล้ว เราตื่นตาตื่นใจมากและสัญญากับตัวเองไว้ว่าจะเป็น a team junior ตั้งแต่ตอนนั้น และพอตัวเองอยู่มหา’ลัยตอนปี 3 เราก็ติด a team junior รุ่นที่ 8 ในที่สุด

“เราดีใจ กรี๊ดมากเลยนะ และยิ่งพอมาทำจริง เราพบว่ามันดีกว่าในหนังสืออีก การอ่านเล่มนี้มันเหมือนเราอ่านประสบการณ์มือสองจากคนอื่น แต่พอมาเจอจริงๆ ก็เหมือนเราได้เจอตัวละครที่อยู่ในนิยายซึ่งมาปรากฏตรงหน้า ยิ่งพอเรียนจบ เราก็ต่อยอดมาทำงานประจำที่ a day จริงๆ จนถึงตอนนี้  ดังนั้นสำหรับเราก็สามารถพูดได้นะว่าตั้งแต่อ่าน a day junior diary ในวันนั้น ชีวิตเราก็เปลี่ยนไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

 

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพ

อ่าน 多摩川な人々  (The People of Tamagawa)
ผู้เขียน キッチンミノル  (Kitchen Minoru)

 

“เราไปเจอหนังสือภาพเล่มนี้ตอนเรียนที่ญี่ปุ่น ผลงานของใครก็ไม่รู้นะ คือเท้าความก่อนว่าสมัยก่อนเวลาเราถ่ายภาพลง a day มันเหมือนเราแกล้งคนที่ไปสัมภาษณ์ ชอบให้เขาไปยืนบนเก้าอี้ ไปนอนอยู่ใต้โต๊ะ ไปโหนต้นไม้เพื่อจะแสดงความแตกต่างในรูปต่างๆ แต่พอเราเจอโฟโต้บุ๊กเล่มนี้ ทุกคนในเล่มกลับยืนนิ่งๆ และอยู่ในสถานที่ของเขาเอง เราเห็นแล้วก็เกิดความรู้สึกว่าการที่คนได้อยู่ในสถานที่ของตัวเองและยืนนิ่งๆ ก็สามารถสื่ออะไรออกมาได้แล้วแฮะ มันทำให้มุมมองการถ่ายภาพของเราเปลี่ยนไป พอมาดูภาพถ่ายใน a day หลังจากเรากลับมาจากญี่ปุ่นจะเห็นเลยว่าภาพดูนิ่งขึ้น ไม่เกรี้ยวกราด ไม่โวยวายเหมือนเมื่อก่อน มันจะเป็นภาพที่สื่ออารมณ์ของคนออกมามากกว่าแอ็กชั่น

“เหมือนพอวัยนี้ เราอยากเคารพคนที่เราถ่ายมากขึ้น เราไม่อยากให้คนที่อุตส่าห์สร้างชีวิตมานอนอยู่บนโต๊ะหรือปีนต้นไม้ พอกลับมาคิดก็ได้แต่ตั้งคำถามนะว่าเมื่อก่อนเราลบหลู่เขามากไปหรือเปล่านะ ตอนนี้เราเลยอยากเคารพเขามากขึ้น เขาควรเป็นของมีค่า คือให้ถ่ายซ่าๆ ตอนนี้ก็ซ่าได้แต่ก็ต้องเป็นประเด็นที่สนุก เราถึงจะถ่ายสนุกไง เพราะวันหนึ่งในอนาคตถ้าเขามาเปิดเจอ เขาคงตลกตัวเองน่ะว่านี่กูทำอะไรลงไปวะเนี่ย

“ในอดีตเราอาจจะสนุก กระโดดโลดเต้นตอนถ่ายรูป แต่จะทำไปทำไมในเมื่อมันก็จะกลายเป็นขยะในอีกหนึ่งปีข้างหน้าถ้าทุกคนโตขึ้น เขาคงอายที่จะอวดรูปเหล่านี้กับทุกคน ดังนั้นจากที่แค่เอ็นจอยกับการใส่พลังและไอเดีย ตอนนี้เราอยากทำหน้าที่เป็นคนเก็บภาพอดีตของพวกเขามากกว่า”

 

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพ

อ่าน ป๋าอัจฉริยะ ยานางิซาว่า

ผู้เขียน : Kazumi Yamashita

ผู้แปล : พัชรา ชาติบัญชาชัย

 

“เอาจริงเราไม่ได้มีหนังสือที่เปลี่ยนผ่านตัวตนเราขนาดนั้น แต่ถ้าจะให้พูดถึงหนังสืออะไรสักอย่างที่เปลี่ยนความคิด เราคิดว่าการ์ตูนเรื่อง ป๋าอัจฉริยะ ยานางิซาว่า เป็นตัวอย่างที่ดีเลย

“จำได้ว่าตอนนั้นเราไปเรียนพิเศษช่วง ม.ปลาย ปกติเราเป็นคนชอบอ่านการ์ตูนอยู่แล้ว วันหนึ่งก็ไปเจอการ์ตูนเรื่องนี้ และพอเปิดอ่าน เรารู้สึกได้เลยว่านี่ไม่ใช่การ์ตูนสำหรับเด็ก มันไม่ใช่อะไรที่เข้าใจง่าย เป็นครั้งแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าการ์ตูนมันไปไกลกว่านั้นได้ เราอ่านและต้องคิดตามเพื่อให้เห็นว่าจริงๆ เรื่องราวทั้งหมดจะสื่ออะไร

“จากเล่มแรกในวันนั้นสุดท้ายเราก็ตามซื้อทุกเล่มนะ ตอนนี้ผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว เรายังมี ป๋าอัจฉริยะ ยานางิซาว่า เก็บไว้อยู่เลยและยังคงครบทุกเล่ม กระดาษเหลืองหมดแล้ว แต่ถึงเป็นการ์ตูนเก่า เราก็ยังอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่านนะ สนุกดี”

 

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ช่างภาพ

อ่าน สนิมสร้อย

ผู้เขียน : ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

 

“ปกติผมเป็นคนอ่านหนังสือน้อย นี่เป็นหนังสือเล่มเดียวที่ผมอ่านจบ ผมอ่านเล่มนี้ตอนฝึกงานที่หนังสือ Passion of traveler เมื่อหลายปีที่แล้ว พี่ บ.ก.เป็นคนแนะนำให้อ่าน เขาบอกว่าผู้ชายต้องอ่านเล่มนี้ ซึ่งพออ่านแล้วก็รู้เลยว่ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง

“สังคมรอบข้างผมตอนนั้นมีแต่คนอ่านหนังสือ แต่เวลาเขาพูดถึงหนังสือ ผมคุยกับเขาไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน เราดูแต่ภาพ ชอบเสพภาพมากกว่าตัวอักษร ดังนั้นพออ่านเล่มนี้เลยเหมือนเริ่มมีเรื่องที่จะคุยกับคนอื่นรู้เรื่องมากขึ้น แต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ก็ผ่านมาหลายปี ผมอาจจะจำเรื่องราวหรือตัวละครไม่ค่อยได้แล้ว แต่สิ่งที่รู้สึกและนึกถึงได้ชัดเจนมากคือ สนิมสร้อย ทำให้ผมรู้จักการอ่านหนังสือจริงๆ มันทำให้ผมรู้ว่าตัวหนังสือสามารถเปลี่ยนเป็นภาพในหัวได้อย่างไร ความรักการอ่านของเราเพิ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น”

 

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

วิดีโอครีเอเตอร์

อ่าน INTO THE WILD (เข้าป่าหาชีวิต)

ผู้เขียน : Jon Krakauer

ผู้แปล : ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ

“ย้อนกลับไปตอนเด็ก ชีวิตเราโตมาในบ้านป่า ยิงนก ตกปลา ล่ากิ้งก่า ตอนนั้นเรารู้สึกว่าชีวิตสดมาก หิวก็หากิน อิ่มและดำเนินต่อไป มันเป็นช่วงวัยหนึ่งที่เรารู้สึกว่า ‘จริง’

“เวลาผ่านไป เราเติบโต เรียนหนังสือ เรียนจบและเข้ามาทำงานที่ a day ต่อทันทีโดยไม่มีช่วงรอยต่อ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นในใจเราก็ยังอยากดื้อและทำตามใจตัวเองบ้าง เราอยากออกเดินทาง ออกไปหาความหมายชีวิตตามวัยหนุ่ม อยากหนีออกจากคอมฟอร์ตโซนและหยุดพัก แต่ตอนนั้นแหละที่เราได้อ่าน INTO THE WILD และบางอย่างในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้เรา ‘ไปต่อ’ ได้

“INTO THE WILD เล่าถึงการละทิ้งชีวิตทางโลกของ Christopher McCandless แต่ข้อดีอีกอย่างคือหนังสือเล่มนี้เล่าถึงคนที่อยู่รอบข้างเขาด้วย เราได้เห็นการแหลกสลายทางความรู้สึกของคนรอบตัว Christopher  มันทำให้เราได้คิดกับตัวเองว่าถ้ามึงจะดื้อก็ดื้อได้นะ แต่มึงช่วยคิดถึงความรู้สึกของคนที่อยู่ข้างหลังด้วยได้ไหม เราเคารพในตัว Christopher แต่เราก็ได้ค้นพบว่าเราไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้นก็ได้ บริบทชีวิตของคนเราไม่เหมือนกัน สำคัญที่สุดคือเราจับความรู้สึกตัวเองหลังอ่านได้ทันทีว่าเรารักคนที่อยู่ข้างหลังเรามากๆ และเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้หรอก ทั้งหมดนี้มันเอฟเฟกต์กับเรา มันสอนเราว่าถ้าจะดื้อ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คุณรับได้หรือเปล่า มันมีอีกหลายชีวิตแวดล้อมที่จะได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการตัดสินใจทำอะไรบางอย่างของคุณ ”

“ทุกคนมีสิทธิเลือกอยู่แล้วแหละ แต่ว่าคุณยอมรับสิ่งที่จะตามมาได้ไหม ลองถามตัวเองดู”

 

ชาคริต นิลศาสตร์

วิดีโอครีเอเตอร์

อ่าน Managing Oneself  (ปัญญางาน จัดการตน)

ผู้เขียน : Peter F. Drucker

ผู้แปล : ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

 

“เราได้รู้จักกับหนังสือ ปัญญางาน จัดการตน ในช่วงปลายปี 2017 วันนั้นไปงาน Talk ที่ร้าน House of Commons เจริญนคร วันนั้นคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา มาพูดในหัวข้อเรื่องงานกับการจัดการตนเองนี่แหละ

“ช่วงปลายปี 2017 เป็นช่วงที่มรสุมชีวิตเยอะพอสมควร ตอนนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ที่ทำงานเดิมของเรากำลังจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เราต้องตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือไปหาบริษัทอื่นๆ ซึ่งพอได้ไปงาน Talk ของคุณภิญโญและได้อ่านหนังสือเล่มนี้ มันเหมือนการกระตุ้นตัวเราเองให้ได้วิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ ชอบที่จะทำหรือทำได้ดี เพราะอยากจับงานทั้งงานเขียน งานภาพ และงานวิดีโอ แต่สุดท้ายเราก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

“เราจำประโยคเด็ดๆ จากหนังสืออยู่สองประโยค อาจไม่เป๊ะๆ แต่เรียบเรียงได้ประมาณนี้ ‘ถ้าเรามีความสามารถ เราควรแสดงมันออกมา เพราะถ้าไม่แสดงออกมาก็เหมือนว่าเราไม่มีมัน คนอื่นก็จะไม่รู้ว่าเรามีความสามารถ นั่นเท่ากับว่าเราไม่มี’ และ ‘เราอาจมีงานที่ทำได้ดีแต่ไม่อยากทำ หรืองานที่ชอบทำแต่ทำได้ไม่ดี อันนี้เป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ แต่ถ้าสถานการณ์หรือโอกาส ไม่ได้เอื้อเวลาให้เราฝึกฝนตนเอง แนะนำให้เลือกงานที่ทำได้ดีและอาจต่อยอดหรือส่งผลดีให้กับตัวเราในอนาคตในแง่ใดแง่หนึ่งดีกว่า”

“ประโยคเหล่านี้ฮุคความรู้สึกเราตอนที่มีความคิดขบถต่อเรื่องงาน ตัวเราเอง หรือสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ มันตอกย้ำสิ่งที่เรากำลังทำและทบทวนกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้นเพื่อให้ตัวเองยังเดินต่อไปในเส้นทางที่ตัวเองเลือกอยู่ในวันที่ยุ่งเหยิงและธุระปนเปเยอะแยะไปหมด

“ด้วยความที่เราเป็นคนชอบนำประโยคที่เคยได้ยินจากบทสนทนากับเพื่อนๆ พี่ๆ อาจารย์ หรือคนที่เดินทางผ่านมาในชีวิตมาผสมๆ กันเพื่อไดรฟ์ตัวเราต่อไปได้ ดังนั้นในบางเงื่อนไข หนังสือเล่มนี้ช่วยเราในเรื่องนี้เหมือนกัน”

AUTHOR