‘บ้านเขียว’ The Green Craft House พื้นที่พักใจที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ งานคราฟต์ และความรักของผู้คน

ช่วงเวลาเหน็ดเหนื่อยใจในชีวิต หลายคนคงอยากวิ่งหนีหลบไปพักใจในที่เซฟโซนของตัวเอง บางคนอาจจะเป็นห้องนอนในบ้าน สถานที่ท่องเที่ยวสุดประทับใจ แต่สำหรับเรา มันคือบ้านไม้เล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘The Green Craft House’

The Green Craft House หรือเราเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘บ้านเขียว’ อยู่ใกล้กับสถานี BTS วงเวียนใหญ่ เมื่อลงจากบันไดให้เดินเข้ามาใน ซอยเล็กๆ ลึกลับๆ ชื่อ ‘มานะวิทยา’ ระหว่างทางเดินจะพบกับตู้โทรศัพท์โบราณเก่าๆ ตั้งอยู่ เป็นสิ่งการันตีว่าคุณเดินมาไม่ผิดที่แน่นอน 

เมื่อเดินตามทางไปจนสุดสายตา เท้าของเราก็จะมาหยุดอยู่ตรงหน้าบ้านไม้ประตูสีเขียวที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ บริเวณกำแพงและผนังของบ้านถูกแต่งเติมไปด้วยงานเพนต์ศิลปะสีสันสดใส หรือบางทีคุณอาจจะเจอแก๊งน้องแมววิ่งผ่านหน้าไปมาบ้าง แล้วแต่วัน นี่ละเอกลักษณ์ของบ้านเขียวที่ไม่ว่าใครก็ต้องอุทานว่า น่ารัก น่ารัก น่ารัก ตั้งแต่แรกเห็น

สิ่งที่เราประทับใจกับบ้านเขียวหลังนี้คือการตกแต่งสุดน่ารักที่ไม่เหมือนใคร แถมคนที่มาที่นี่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามความชอบ เช่น ทำงานศิลปะ วาดรูป ระบายสี เพนต์ขวดแก้ว หรือทำกิจกรรมนั่งเล่นอย่างเล่นเกม PS4 และ Board Game หรือจะฟังเพลง นั่งคุยกับเพื่อนชิลๆ ก็ได้บรรยากาศเมาท์มอยเหมือนมาบ้านเพื่อน และที่สำคัญมีกิจกรรมฮีลอกฮีลใจ การจัดดอกไม้ (มีเปิดตารางเวลาจัดกิจกรรมเป็นรอบๆ) และกระดานแลกเปลี่ยนความรู้สึกเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ผ่านตัวหนังสือ รวมถึงเจ้าของร้านสุดน่ารักที่คอยแจกยิ้มต้อนรับแขกที่แวะเวียนมาอยู่เสมอ

คนๆ นั้นคือ ‘พี่โช-โชติกา อิทธิยากร’ เจ้าของบ้าน The Green Craft House สาวผมยาวสุดสวยสวมชุดเดรสเกาะอกสุดเก๋ ที่มีแพสชันอยากทำบ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่พักใจให้กับคนที่เข้ามาผ่านงานศิลปะ และหวังอยากให้ทุกคนกลับไปพร้อมกับรอยยิ้ม

บ้านเขียวแหล่งที่พักใจ

จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปช่วงที่พี่โชเบื่อหน่ายหมดไฟกับการทำงานประจำ วันหนึ่งน้องแพร รุ่นน้องคนสนิทยื่นสีน้ำกับกระดาษให้ที่ออฟฟิศ และบอกให้พี่โชลองระบายความรู้สึกผ่านสีออกมาลงบนกระดาษแผ่นจิ๋วดูสิ!

วินาทีนั้น น้องแพรเปรียบเสมือนคนเปิดประตูให้พี่โชได้ก้าวเข้ามารู้จักโลกศิลปะอย่างเต็มตัว และมีแรงบันดาลใจอยากหาพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันกับน้อง ทั้งสองคนจึงตัดสินใจออกเดินทางตามหาสถานที่ต่างๆ แล้วก็บังเอิญมาเจอกับบ้านไม้หลังเล็กในย่านวงเวียนใหญ่ และเกิดไอเดียจากมุมต่างๆ ในบ้านหลังนี้

พี่โชเล่าถึงไอเดียที่พรั่งพรูออกมาในหัวตอนที่เห็นบ้านครั้งแรก “พอเข้ามาเห็นบ้านหลังนี้ มันก็รู้สึกว่าตรงนั้นก็ทำอาหารได้นี่ ส่วนตรงนี้ เราชอบกินกาแฟ ก็คิดกับตัวเองว่า งั้นเราทำกาแฟไหม มันก็เลยออกมาเป็นบ้านรูปแบบนี้” 

ในตอนแรกพี่โชตั้งใจเปิดร้านให้เพื่อนๆ ที่รู้จักกันมาทำกิจกรรมด้วยกันเล็กๆ และไม่คาดคิดว่าจะได้รับความสนใจในภายหลัง

“เราแค่อยากสนุก แค่อยากทำ แต่หลังจากนั้นเพื่อนๆ ก็บอกปากต่อปากทำให้กลุ่มลูกค้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ แล้วทุกคนที่เข้ามาที่นี่ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ‘เขาต้องการที่พักใจ’ เขาสบายใจที่จะพูดกับเรา เขาต้องมาพูดอะไรให้เราฟังสักอย่าง เหมือนเราเป็นพื้นที่สบายใจสำหรับเขา แล้วเราก็ทำอาหารให้เขากินด้วยความตั้งใจ เอาขนมไปให้เขาชิม หรือเอาดอกไม้ไปวางใกล้ๆ พวกเขาเหล่านั้นก็รู้สึกดีขึ้น จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำให้ เราเลยรู้สึกว่าถ้างั้นเรามาชวนเพื่อนๆ ที่อยากจะพักจากอะไรสักอย่าง มาฮีลตัวเอง มาทำกิจกรรมด้วยกันดีกว่า” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ The Green Craft House

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเขียวแห่งนี้ พี่โชเริ่มต้นทุกอย่างจากศูนย์ “เราไม่ได้แพลนเลยว่า มันจะออกมาเป็นแบบไหน เพราะพี่โชก็ไม่เคยทำอาหารมาก่อน น้องแพรก็ไม่เคยทำกาแฟ แต่เราก็ลองมาหัดทำดู อย่างอาหารหรือกาแฟเราก็มองว่ามันเป็นงานคราฟต์เหมือนกัน เพราะทุกอย่างที่ทำมันเกิดจากการเรียนรู้ ฝึกหัดทำ ลองผิดลองถูกจนเข้าใจ ซึ่งทุกๆ ขั้นตอนของการทำอาหารและกาแฟมันจะต้องใส่ใจใส่ความรู้สึกเข้าไประหว่างที่ทำเพื่อให้ได้รสชาติของความอร่อยที่อบอุ่นด้วย” 

หลังจากที่ได้รับรู้ว่าพี่โชทำบ้านเขียวทุกอย่างด้วยตัวเองโดยไม่ได้เรียนหรือมีประสบการณ์มาก่อน เรารู้สึกเซอร์ไพร์สมาก เพราะเครื่องดื่มที่พี่โชทำนั้นเฉพาะตัวและอร่อยมากจริงๆ

“เพราะว่ามันทำจากรสชาติที่เราชอบ มันก็เลยไม่ได้ไปติดกับสิ่งที่เรียนมา แล้วพอเรามาลองชิม ให้คนอื่นชิม เขาก็ช่วยกันปรับให้เรา มันก็ช่วยทำให้ทุกอย่างดูมีมิติมากขึ้น ส่วนใหญ่ก็ได้คอมเมนต์จากลูกค้าที่เป็นเพื่อนๆ ผู้มาเยือนนี่แหละ” 

ตอนที่ได้รู้จักบ้านเขียวแห่งนี้ ด้วยความสงสัยปนอยากรู้ในที่มาของชื่อ ‘The Green Craft House’ คืออะไรและทำไมต้องเป็นสีเขียวด้วยนะ?

“จริงๆ คำว่า ‘Green’ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ‘สีเขียว’ แต่พี่โชใช้ Green เพื่อสื่อถึง ธรรมชาติ เพราะมันเชื่อมต่อกับป่าไม้ ทะเล ท้องฟ้า และทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วคำว่า Green ก็เป็นสีที่อยู่ในนั้นทั้งหมด เราเลยใช้คำว่า Green ส่วน Craft มันคือ การที่ตัวเราเองอยากฝึกที่จะลองทำอะไรสักอย่างด้วยมือของเรา และ House ความหมายสำหรับเราคือบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่อบอุ่นมากๆ และใส่คำว่า The เข้าไปให้ความรู้สึกแบบที่นี่จะมีที่เดียวเท่านั้น มันก็เลยออกมาเป็น The Green Craft House”

ถ้าแปลออกมาก็คือ บ้านที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติและงานคราฟต์ใช่ไหม? เราถามต่อหลังจากที่ได้ฟังคำอธิบายของโช

“ใช่แล้ว และมันก็มีความรักของผู้คนที่อยู่ในนี้ด้วยนะ” พี่โชพูดพร้อมกับรอยยิ้ม ก่อนจะเอ่ยต่อว่า

“The Green Craft House สำหรับพี่โชคือ ‘บ้านเขียวที่พักใจสำหรับทุกคน’ เราอยากให้ทุกคนมาแล้วสบายใจ และรู้สึกว่าได้มาพักผ่อนจริงๆ อยากให้คนที่มาที่นี่ใช้เวลาช้าๆ นั่งคุยกันกับเพื่อน ค่อยๆ นั่งทำงานศิลปะปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองจริงๆ อยู่กับมันจริงๆ เชื่อมต่อกับตัวเองและสิ่งรอบตัว ถอยห่างจากมือถือบ้างเพื่อที่เราจะได้รู้สึกว่า นี่แหละ คือการมาพักผ่อนจริงๆ และอยากให้มีรอยยิ้มก่อนกลับไปแค่นั้นเลย” 

ศิลปะปลดปล่อยความรู้สึก

กิจกรรมในบ้านเขียวมีหลากหลายอย่างให้เลือกทำ ไม่ว่าจะเป็นวาดรูป ระบายสี เพนต์ขวดแก้ว หรือการจัดดอกไม้ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้มีตัวเชื่อมเหมือนกันคือ ‘ศิลปะ’ ทำไมถึงเลือกสิ่งนี้มาเป็นกิจกรรมหลักในร้าน?

“เพราะว่าตัวเราเริ่มมาจากสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยเลือกสิ่งนี้แหละให้ทุกคนทำ สำหรับเรา ‘ศิลปะ’ มันง่ายมากที่เราจะสื่อสารอะไรออกไปหรือวาดอะไรออกไป ส่งความรู้สึกมันออกไปอยู่ในกระดาษแผ่นนั้น แค่การใช้สีก็ทำให้เราปลดปล่อยความรู้สึกที่อยู่ข้างในออกไปได้แล้ว” 

นอกจากนี้พี่โชยังเล่าความทรงจำเกี่ยวกับลูกค้าที่ตราตรึงใจว่า “เคยมีบางครั้งที่เวลาลูกค้าเข้ามาวาดรูป บางคนก็ร้องไห้ออกมาและรู้สึกสบายใจที่ได้ปลดปล่อยอารมณ์ออกไป หรือบางทีเขาเข้ามาแล้วบอกกับพี่โชว่า ‘วันนี้วันเกิดหนู หนูตั้งใจมาที่นี่’ แล้วก็มาวาดรูปและขอให้พี่โชอวยพร ให้กำลังใจเขาหน่อย หรือบางคนก็เข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิตกับพี่โชก็มีนะ เหล่านี้มันทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เขาสามารถปลดปล่อยอารมณ์และความรู้สึกออกมาได้ผ่านการทำงานศิลปะที่บ้านเขียวแห่งนี้” 

“พอได้เห็นทุกคนมีความสุขหลังจากกลับไป เราก็รู้สึกว่ามันดีจังเลยอะ การได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างมันก็ดีเหมือนกันนะ เราก็เลยค่อยๆ เปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่ใจดีขึ้น” 

มีกิจกรรมไหนที่พี่โชอยากทำอีกไหม? เราถามด้วยความตื่นเต้น  

“จริงๆ เราอยากสอนให้ทุกคนปลูกต้นไม้ การที่เราได้เอามือไปสัมผัสดิน มันก็เป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง มันทำให้รู้สึกดี มันเหมือนมีพลังงานอะไรสักอย่างที่ทำให้เรารู้สึกสงบ ซึ่งต้นไม้ในบ้านหลังนี้พี่โชเป็นคนปลูกทั้งหมดด้วยตัวเอง เราเฝ้าดูการเติบโตเห็นการเปลี่ยนแปลงของพวกเขาตั้งแต่ปีแรกจนตอนนี้ก็ 3 ปีแล้ว บางต้นก็สูงใหญ่บางต้นก็เหี่ยวเฉาไปตามความใส่ใจของเรา เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สอนให้พี่โชเป็นคนใจเย็นและอ่อนโยนขึ้น เราจึงอยากแชร์ต่อให้คนอื่นได้ลองมีความสุขกับสิ่งนี้ด้วย”

นับตั้งแต่วันที่ The Green Craft House เปิดประตูต้อนรับผู้คนมาพักใจเป็นเวลานานกว่าสามปี แม้เวลาจะผ่านมานานแค่ไหน สิ่งหนึ่งในการทำร้านสำหรับพี่โชไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือความน่ารักของผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยียน ที่มอบความจริงใจให้กับเขาไม่ต่างจากวันแรกที่เปิดร้าน แล้วอะไรคือสิ่งที่จูงใจให้คนแวะเวียนมาอยู่เรื่อยๆ?

พี่โชครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบออกมาด้วยรอยยิ้มว่า…..

“พี่โชไง เพราะบ้านเขียวคือพี่โช มันคือความเป็นพี่โช เพราะเราใส่ความเป็นตัวเราลงไปหมดแล้ว และถ้าไม่มีที่นี่ พี่โชก็คงจะพาตัวเองไปที่อื่น ก็จะเป็น The Green Craft House ที่อื่น ไม่ได้อยู่ที่นี่” คำพูดของพี่โชทำให้เรานึกถึงประโยคพูดหนึ่งว่า ‘ไม่ใช่สถานที่แต่คือ ตัวตน’ ขึ้นมาทันที เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในร้านไม่ว่าจะเป็นการตกแต่ง สีสันบรรยากาศในร้าน กิจกรรมต่างๆ หรือเมนูอาหาร มันมาจากสิ่งที่พี่โชชื่นชอบและหลงรักทั้งหมด

ตลอดสามปีในการทำบ้านเขียว พี่โชเล่าว่าเธอมีความสุขในการทำร้านทุกวันเพราะได้ลงมือทำในสิ่งที่ชอบ แล้วเคยมีจุดที่ยากลำบากมากไหม?

“ไม่ยากเลย เพราะบ้านเขียวเป็นสิ่งที่พี่โชเริ่มต้นทำจากความชอบ ได้ลองทำไปด้วยกันกับทุกคน ความท้าทายต่างๆ พี่โชมองว่าเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกับทุกคน ที่สำคัญเราไม่ได้เรียนรู้อยู่ตัวคนเดียว แต่ว่ามีเพื่อนมาช่วยกันเรียนรู้ นั่งคุยแลกเปลี่ยนกัน มาแชร์กัน” 

การเติบโตของบ้านเขียว

หากถามถึงการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ตั้งแต่เปิดร้าน The Green Craft House คืออะไร เธอบอกอย่างมั่นใจว่า การได้เปิดรับและเรียนรู้กับศิลปะที่บ้านเขียวนั้น มันทำให้เธอเป็นคนใจดีมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อก่อนมักจะโฟกัสที่ตัวเองเป็นหลักและเป็นคนพูดน้อย แต่เมื่อได้รู้จักทุกๆ คนที่เข้ามาด้วยความจริงใจ มันก็ทำให้เธอเริ่มรู้สึกเอ็นดูพวกเขาและเปิดใจพาตัวเองเข้าไปคุยกับทุกคนมากกว่าเดิม 

การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับตัวพี่โชเพียงเท่านั้น แต่บ้านเขียวแห่งนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน จากบ้านที่ว่างเปล่าก็ค่อยๆ มีสีสันเพิ่มขึ้น รวมถึงถูกแต่งเติมด้วยความร่าเริงและความสนุกสนานจากผู้คนที่เข้ามาสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับบ้านหลังนี้

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ บ้านเขียวก็ผ่านเรื่องราวมามากมายเหมือนกัน ย้อนกลับไปช่วงเปิดบ้านใหม่ๆ ซึ่งเป็นช่วงโควิด19 ระบาดพอดี เราก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ผ่านวิกฤตนั้นไปได้ ‘แต่ด้วยความที่เราเชื่อว่าฟ้าหลังฝนมักจะมีสายรุ้งที่สวยงามเสมอ และมันก็เป็นเช่นนั้น’ ซึ่งบ้านเขียวแห่งนี้จะไม่สามารถผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้เลย ถ้าปราศจากผู้คนต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยมาเยี่ยมเยียนกันและวันนั้นพวกเขาได้แวะเวียนกันเข้ามาให้กำลังใจและคอยอุดหนุนทางบ้านเขียวอย่างไม่ขาดสาย จนในที่สุดทำให้เราผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้

จากที่ได้ฟังเรื่องราวน่ารักของผู้คนที่เข้ามา มันทำให้เราเห็นว่า มีผู้คนมากมายที่เชื่อใจในตัวพี่โชและเข้ามาพูดคุยกับเขาเป็นประจำ ‘ด้วยความสงสัย ทำไมพวกเขาถึงเลือกคุยเปิดอกกับพี่โชล่ะ?’

พี่โชคิดอยู่สักพักก่อนตอบว่า “น่าจะเป็นเพราะว่า เราอยากส่งความรู้สึกดีๆ ไปให้กับพวกเขา อยากดูแลพวกเขา พร้อมส่งต่อความอบอุ่นไปให้กับทุกคน ซึ่งพวกเขาน่าจะรับรู้ได้ เรามีความเชื่อว่า ถ้าเราให้พลังเขาออกไปด้วยใจจริง ทุกคนจะรับรู้ได้ มันเป็นความเชื่อที่แลกเปลี่ยนกัน พี่โชเชื่อใจทุกคนอย่างนี้มันก็จะได้กลับมา ถ้าเราจริงใจก่อนเขาก็จะจริงใจกลับ”

ในบางครั้งกิจกรรมที่บ้านเขียวก็ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ จากผู้คนที่แวะเวียนกันเข้ามา การมีอยู่ของบ้านเขียวจึงเปรียบเสมือนสถานที่ที่ให้ทุกคนได้มาแบ่งปันความรู้ ความคิด ความรู้สึก ซึ่งทั้งพี่โชและผู้มาเยือนต่างพร้อมเปิดรับ รับฟังในสิ่งใหม่ๆ ของกันและกัน

เรียกได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวพี่โชและบ้านเขียวนั้น ล้วนมาจากเหล่าผู้คนที่เข้ามาให้ความรักและความอบอุ่นกับสถานที่แห่งนี้ทั้งนั้น

บทเรียนในการทำบ้านเขียว

ตลอดการทำบ้านเขียวเป็นรูปเป็นร่างจนถึงทุกวันนี้ มีคนเข้ามาแวะเวียนอยู่เรื่อยๆ พอมองย้อนกลับไปเราได้อะไรจากบทเรียนนี้ไหม?

“เราค้นพบว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราไม่สามารถทนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ความรู้สึกเดิมๆ ไปได้ตลอดชีวิต เราต้องพาตัวเราออกเดินทางไปสักที่หนึ่งเพื่อค้นหาสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากทำ สิ่งที่เราอยากเป็น เพื่อเราจะได้ลองทำในสิ่งที่เราอยากทำ ถ้ามันสนุก เราก็ทำมันต่อไป ถ้าพลาดก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ลอง เพราะเราได้ลองแล้ว ถ้าเราไม่ได้ลอง เราก็จะพูดอยู่นั่นแหละ ว่าทำไมเราถึงยังอยู่ที่เดิม” 

“ตอนแรกเราไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะทำ แค่รู้สึกว่าถ้าเราชอบก็ลองลงมือทำก่อนแล้วก็ไปดูข้างหน้าอีกที ถ้าเราไม่ชอบก็เลิก แต่ถ้ารู้สึกว่ามันไม่ดีแล้วเรายังชอบ เราก็จะหาทางทำต่อไปให้ได้” 

แล้วไม่กลัวหรอ ถ้ามันเฟล ?

“ไม่กลัวหรอก ถ้าหากกลัวก็คงไม่ทำ เพราะตอนตั้งใจจะทำบ้านเขียวก็วางแผนมาก่อนแล้วว่า เราจะต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง เพราะถ้าเรามีความเชื่อว่าเราจะทำได้ เราก็จะทำได้ แต่ถ้ายังไม่มั่นใจ ก็เก็บความอยากทำไว้ก่อน แล้วก็ลองไปคิดมาใหม่ เพราะถ้ามันมีความไม่มั่นใจในนั้น แปลว่าอาจจะยังไม่ใช่ที่สุดและอาจจะทำมันได้ไม่ดีพอ สำหรับบ้านเขียวเรามีความเชื่อมั่นว่า เราทำมันได้ และจะสนุกกับมัน ก็เลยเลือกที่จะทำแล้วก็เดินต่อไป ถึงแม้วันหนึ่ง บ้านเขียวจะต้องเจอกับอะไรก็ตามที่เข้ามา เราเชื่อว่าเราจะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เหล่านั้นด้วยความพยายาม ความรักที่เรามีให้กับบ้านหลังนี้อย่างสุดหัวใจ”

“หากเราจะเริ่มต้นทำอะไรบางสิ่ง ขอแค่มีความกล้าและความชอบในสิ่งนั้น ถ้าหากเรารู้สึกว่าทำได้ก็ลองทำไปเลย อาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยแต่งเติมมันไป เพราะมันจะทำให้เราค่อยๆ หลงรักมันในทุกๆ ช่วงเวลาที่เราค่อยๆ แต่งเติมมันเข้าไป เหมือนพี่โชที่ชอบงานศิลปะทั้งที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อน ศิลปะของพี่โชคือ ‘การลงมือทำ’ ถ้าเรามองว่าทุกอย่างรอบตัวคือศิลปะ เราก็แค่ลองทำมัน แล้วถ้าเราชอบ เราก็จะมีความสุขแล้วอยู่กับมันได้”

“ที่สำคัญอย่าลืมตัวตนของตัวเอง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เราสูญเสียตัวตนของเราไป เราก็จะกลายเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เราแล้ว” บทเรียนสำคัญที่พี่โชฝากทิ้งท้ายไว้ให้กับทุกคน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชัชชัญญา หาญอุดมลาภ

ช่างภาพสายกิน ที่ถ่ายรูปได้นิดหน่อย แต่กินได้เยอะมาก