อากาศสะอาดเป็นสิทธิของทุกคน คุยกับ Thailand CAN ดันเรื่องสิทธิให้รู้ทันนโยบายหาเสียง

ภาพวาดของเด็กน้อยชั้นอนุบาลสามกำลังเล่าความฝันในจินตนาการผ่านกระดาษเล็กๆ หนึ่งแผ่น ในนั้นมีรูปยานอวกาศลำใหญ่ที่เขากำลังขับยานพุ่งออกจากโลก เมื่อถามเด็กน้อยคนนั้นว่า ความหมายของภาพคืออะไร เขาตอบว่า อยากหนีออกไปจากโลกนี้ ไม่ใช่เพราะมีสัตว์ประหลาดบุกโลกหรืออยากท่องอวกาศ แต่เป็นเพราะอากาศในไทยเป็นพิษจนทำให้เขามีผื่นแดงขึ้นทั้งตัว และหนักถึงขั้นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง

เด็กน้อยคนนั้นคือ หลานของ รศ. ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (Thailand Clean Air Network: Thailand CAN) ผู้ร่วมริเริ่มการทำร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ฉบับประชาชน คนึงนิจเล่าให้ฟังว่า หลานชายวาดรูปดังกล่าวในช่วงที่ตัวเลขค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นมาอย่างหนัก รวมถึงเขาเป็นโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ร่างกายเปราะบางง่ายกว่าคนอื่น เมื่อเจอฝุ่นมลพิษที่รุนแรงก็ทำให้เกิดอาการกำเริบ มิหนำซ้ำเด็กยังเก็บมาวาดรูปสื่อถึง อยากหนีออกจากโลกนี้อีกต่างหาก

เหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนใจถึงมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่เราได้ยินตามข่าวสารตลอดหลายปี เช่น กรุงเทพฯ ติดหนึ่งในสามอันดับแรกมีค่าฝุ่นพิษมากที่สุดในโลก เมืองเชียงใหม่เคยติดอันดับหนึ่งอยู่เป็นประจำจนกลายเป็นเรื่องคุ้นชิน หรือจะเป็นเรื่องราวน่าหดหู่ ที่มีผู้คนมากมายถูกคร่าชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดจากการสูดดมฝุ่นพิษสะสมเป็นเวลายาวนาน

ปัจจุบันฝุ่นพิษเหล่านี้แทรกซึมถึงทุกคนหรือแม้กระทั่งเด็กตัวเล็กๆ ที่อยู่ในบ้านได้อย่างอิสระ อย่างไร้การจัดการและควบคุม ทั้งหมดนี้จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้คนึงนิจยังคงเดินหน้าผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด เพื่อให้ทุกคนรู้จักและมีสิทธิในการปกป้องชีวิตจากอากาศพิษ ทั้งการเข้าถึงข้อมูล ร่วมแก้ไข ร้องเรียน และเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงอากาศให้ดีมากกว่าเคย

ระบบโครงสร้างไทย ‘ล้าหลัง’ ไม่ตอบโจทย์ ‘สมัยใหม่’

จุดเริ่มต้นการทำร่าง พ.ร.บ อากาศ แน่นอนว่า ก็คงหนีไม่พ้นช่วงมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในบ้านเราอย่างหนักหนามานานหลายปี ส่งผลกระทบกับคนทุกกลุ่มเป็นวงกว้าง รวมถึงตัวอาจารย์และคนรอบข้างเอง ซึ่งเป็นเหล่านักวิชาการและนักเคลื่อนไหวต่างๆ ต่างก็ถกเถียงถึงประเด็นเหล่านี้จนค้นพบว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5 มันมีต้นตอที่หยั่งรากลึกมาจาก ‘ปัญหาระบบเชิงโครงสร้างไทย’ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวคนเดียว

คนึงนิจอธิบายว่า “ในปัจจุบันมันเป็นระบบดั้งเดิม ที่ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรใดๆ เพราะระบบของเรามันแยกส่วนกัน กระทรวงใครกระทรวงมัน กฎหมายใครกฎหมายมัน ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับ ต่างก็มีวัตถุประสงค์เฉพาะ สมมติถ้าเราจะจับเรื่องรถควันดำ มันก็จะมีกฎหมายที่มารุมมาตุ้มอยู่ 4-5 หน่วยงาน ซึ่งก็จะมี 4-5 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

“ผลที่ตามมาก็คือ พอมันแยกส่วนกัน มันก็จะโบ้ยกันไปโบ้ยกันมา ตอนนั้นคนก็ตายจากมลพิษควันดำไปก่อนละ เพราะฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายไทยมันห่วยแตก มันไม่ได้เอื้อให้เกิดการบูรณาการ ในขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมทุกเรื่องเลยนะ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่แค่เฉพาะ PM 2.5 เท่านั้น การบูรณาการกฎหมายคือหัวใจสำคัญ เพราะว่าสิ่งแวดล้อมมันแทรกซึมอยู่ทุกอณูของทุกเรื่อง”

“ดังนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมันใหญ่เกินตัวมาก ที่ใครคนหนึ่งในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งจะรับผิดชอบด้วยตัวคนเดียว นั้นจึงเป็นเหตุให้เกิดร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ฉบับประชาชน ที่แตะปัญหาเชิงโครงสร้างและแก้แบบคว้านลึกไปถึงต้นตอ เพื่อที่จะนำไปใช้กฎหมายควบคุมเรื่องอากาศโดยเฉพาะ ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงรอกระบวนการของรัฐสภาพิจารณา”

สิทธิอากาศสะอาด ‘รัฐ’ จัดการไม่ได้ แต่ ทุกคน’ เอาเรื่องได้

กว่าจะมาเป็นร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด เกิดมาจากการรวมกลุ่มคนจากภาคประชาชนและนักวิชาการจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมเข้ามารวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ เพื่อทำความเข้าใจปัญหา วางแนวทางร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและดูแลการจัดการมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน หากให้อธิบายเข้าใจง่ายๆ ว่า พ.ร.บ. อากาศสะอาด มีความสำคัญกับชีวิตคนในชีวิตประจำวันอย่างไร 

“มันสถาปนาสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจในอากาศสะอาด เรื่องเดียวแค่นี้” คนึงนิจตอบอย่างหนักแน่น

เธอขยายเสริมเรื่องสิทธิเรื่องอากาศเป็นสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ อ้างอิงจากองค์กรสหประชาชาติ (United Nations: UN) ประกาศว่า ทุกคนมีสิทธิมนุษยชนทางด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Human Rights) ประกอบด้วยสองสิทธิพื้นฐาน ได้แก่ 

‘สิทธิเชิงเนื้อหา (Substantive Rights) เช่น การเข้าถึงข้อมูลประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอากาศ และ
‘สิทธิเชิงกระบวนการ’ (Procedural Rights) เช่น ประชาชนมีส่วนร่วมกับกระบวนการตัดสินใจในการแก้ปัญหามลพิษได้ รวมถึงทุกคนมีสิทธิร้องเรียนในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับอากาศไม่สะอาด มิหนำซ้ำหากรัฐบาลจัดการไม่ได้ ทุกคนก็สามารถฟ้องเอาผิดรัฐบาลได้ด้วยเช่นกัน

“เรามักจะเห็นข่าวใครหลายคนที่เป็นโรคร้ายที่มีสาเหตุจากอากาศไม่สะอาด ไม่ใช่ว่าเราเป็นโรคร้ายแล้วเราถึงเรียกร้องสิทธิได้ มันไม่ใช่นะ จริงๆ แล้วสิทธิมีหลายประเภท มีหลายขั้นตอน สิทธิแรกที่เราสามารถทำได้เลยคือสิทธิที่เราจะรับรู้และเข้าถึงข้อมูล”

“เช่น เดิมทีเราสามารถเช็กได้ว่า วันนี้อุณหภูมิเท่าไหร่ฝนจะตกฟ้าคะนองไหม พายุกระหน่ำไหม ฉันใดเนี่ยมันก็ต้องสามารถมีข้อมูลเรื่อง PM 2.5 ได้ วันนี้ระดับสีอะไรแปลว่าอะไร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร และป้องกันอย่างไรด้วย ข้อมูลเหล่านี้ควรต้องรายงานแบบเรียลไทม์ได้เลย มีจุดเช็กวัดสถานีกระจายทุกพื้นที่และแม่นยำ ทุกคนรับรู้หมด แต่เรายังไม่มีข้อมูลของคนไทยทำเอง เพราะส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลจากต่างประเทศ และบ้านเรามีการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ถึงเขียนกฎหมายดีมาก แต่ใช้งานกระจัดกระจาย เนื่องจากกระทรวงแยกกันทำงาน”

รู้ทันเล่ห์นโยบายหาเสียง ‘ตรงใจ’ อาจไม่ ‘ตรงปก’

ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเรื้อรังในไทยมาเนิ่นนาน และเป็นกระแสสังคมที่พูดถึงอยู่บ่อยครั้ง แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่หลายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามปรับปรุงและแก้ไขมาตลอด (แต่ก็ยังไม่มีท่าทีจะเบาบางลง) เมื่อถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2566 ส่วนใหญ่พรรคการเมืองต่างผลักดันการแก้ไขมลพิษทางอากาศ เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนในการหาเสียง

ระหว่างบทสนทนาเราเปิดนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองให้คนึงนิจดู บางพรรคมีการกล่าวถึงการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด แสดงว่าเขาสนับสนุนเรื่องอากาศสะอาดจริงๆ ใช่ไหม ยังไม่ทันพูดจบประโยค คนึงนิจรีบเบรกว่า

“เรามักจะเห็นนักการเมืองพูดว่า พรรคเราจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ชาวบ้านก็จะเฮ แต่ไม่ได้พูดว่าเอาร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ฉบับไหน เนื้อข้างในเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ. อากาศ ทั้งหมด 5 ฉบับจากแหล่งต่างๆ ” 

“ได้แก่ ฉบับประชาชนเสนอโดยสภาหอการค้า (โดนปัดตก) ฉบับพรรคภูมิใจไทย (โดนปัดตก) ฉบับพรรคประชารัฐ ฉบับพรรคเพื่อไทย และฉบับของเรา เป็นฉบับประชาชนจากเครือข่ายอากาศสะอาด สามอันหลังอยู่ในช่วงรอกระบวนการของรัฐสภาอยู่ ซึ่งเนื้อหาข้างในของร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด แต่ละอันไม่เหมือนกัน”

“ตอนนี้มันใกล้เลือกตั้งแล้ว ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เราต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด อย่าพึ่งตัดสินใจจากสิ่งที่โฆษณาแล้วเชื่อเลย ถ้าพรรคไหนเขาบอกจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ต้องบอกได้ด้วยสิ ว่าเขาเอาเวอร์ชันไหน เพราะมันจะมีบางคนพูดแต่คำๆ นี้แค่หน้าปก แต่เนื้อหาข้างในอะ เป็นฉบับที่เอาไว้หาเสียง เอาใจข้าราชการและนายทุน ซึ่งแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลยนะ ไม่มีซะยังดีเสียกว่า เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็น ‘กฎหมายฟอกเขียว’ (Greenwashing) การทำให้คนเข้าใจผิดว่า การโฆษณาสินค้าหรือองค์กรมีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งที่จริงๆ ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย”

นโยบายแก้ปัญหา ‘ปลายน้ำ’ แต่ไม่มีใครแตะ ‘ต้นตอ’

เมื่อแต่ละพรรคต่างนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหามลพิษปี 2566 แตกต่างกัน เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พรรคไหนชูนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาประเด็นดังกล่าวได้มากที่สุด คนึงนิจแชร์หลักการวิเคราะห์ผ่านนโยบายพรรคต่างๆให้เราฟังว่า

  • พรรคก้าวไกล: ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ ลดการเผาพื้นที่การเกษตร งบอุดหนุนปลูกข้าว สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปฟางข้าว-ซังข้าวโพดแทนการเผา เพิ่มพื้นที่สีเขียว ควบคุมปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง ตรวจวัดสภาพอากาศและเตือนภัยให้เร็ว และทำงานเชิงรุกในเวทีโลก

คนึงนิจ: นโยบายเน้นพูดเรื่องยิบย่อย มีพูดถึงการแก้ปัญหาหลายเรื่อง แต่ขาดการอธิบายภาพรวมเรื่องโครงสร้างและกระบวนการจะทำอย่างไร อยากจะบอกว่า ถ้าจะทำได้ก็ต้องมีระบบโครงสร้างใหม่รองรับสิ่งใหม่เข้ามา ซึ่งโครงสร้างปัจจุบันมันไม่ได้เปิดช่องให้ทำได้ ควรเขียนอธิบายให้ชัดเจน

  • พรรคเพื่อไทย: เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านและเอกชนไทยเรื่องห้ามเผาป่าจริงจัง เปลี่ยนรถเมล์ กทม. เป็นรถไฟฟ้า ตรวจเข้มรถปล่อยควัน โรงงานปล่อยมลพิษ และพื้นที่ก่อสร้าง ตั้งศูนย์ผลิตรถไฟฟ้า ดันราคาลงให้คนใช้รถไฟฟ้า และผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด

คนึงนิจ: มีพูดถึงผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด แต่ก็ไม่รู้ฉบับไหน ซึ่งก็ต้องระวัง ส่วนนโยบายการเจรจาเพื่อนบ้าน  เขาแค่บอกว่าเป็นแค่การเจรจาเฉยๆ ซึ่งมันควรมีมาตรการลงโทษ ทั้งไม้นิ่มและไม้แข็ง เพราะการเจรจาอย่างเดียวคงไม่พอ ซึ่งเรามีเขียนในร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ของเราเป็นกฎหมายลงโทษผู้เผานอกแดนไว้ด้วย

  • พรรคภูมิใจไทย: รถเมล์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้าครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ ติดหลังคาโซลาร์เซลล์ทุกครัวเรือน และวินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันละ 6,000 บาท

คนึงนิจ: นโยบายสั้นและแคบมาก แล้วประเด็นอื่นๆ ไม่มีปัญหาหรอ ส่วนหลังคาโซลาเซลล์ มันดูเน้นเฉพาะกลุ่ม และการเจาะจงเฉพาะส่วนก็ชวนน่าสงสัย ว่ามีธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวข้องหรือไม่ ชวนคิดต่อ

  • พรรคประชาธิปัตย์: ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมคนกรุงเทพฯ ทั้งน้ำและอากาศ คุมเข้มรถที่เข้ามาในเมืองและพื้นที่ก่อสร้าง ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด

คนึงนิจ: สังเกตใช้คำว่า ‘ฟื้นฟู’ มันเป็นศัพท์วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูมันต้องมีวิธีจัดการในดีเทลของสิ่งแวดล้อมแต่ละประเภท เช่น การฟื้นฟูป่าไม้ พื้นที่สีเขียว น้ำเน่า อากาศเสียทำอย่างไร แต่พอพูดว่า สิ่งแวดล้อมมันกว้างมากเลย มาเจอคำว่าฟื้นฟูก็เป็นคำที่กว้างอีก คำว่ากว้างกับกว้างเจอกันก็คือกว๊างกว้าง ใครๆ ก็พูดได้ รวมทั้งนโยบายไม่แตะรายละเอียดเลย ปัจจัยการเกิดมลพิษก็ไม่ได้แก้แค่สองเรื่องนี้เท่านั้นด้วย

  • พรรคชาติไทยพัฒนา: ส่งเสริมใช้รถสาธารณะ สร้างเศรษฐกิจสีเขียว พัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด พัฒนาทุกจังหวัดให้น่าอยู่ มีสวนสาธารณะทั่วประเทศ พัฒนาให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่ดี มีป่าไม้และแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

คนึงนิจ: สังเกตเศรษฐกิจสีเขียว ดูแล้วมันเหมือนเขียนนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมากกว่า ซึ่งเรื่องพวกนี้เขาก็ทำกันอยู่นะ มันดูซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่ในรายงานสภาพแวดล้อม นโยบายของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คำถามคือ บทบาทของนักการเมืองที่ไม่ใช่จากคนเหล่านั้น ที่เขาทำแทนกันไม่ได้คืออะไร ตอนนี้มันผิวๆ มาก

  • พรรคชาติพัฒนากล้า: พันธบัตรป่าไม้ เพิ่มพื้นที่ป่า 40% เพิ่มพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกจากการเผาป่า ทำเป็นไร่ข้าวโพด

คนึงนิจ: อันนี้ให้ความสำคัญเรื่องป่าไม้ เขาจะเล่นเป็นมุมๆ เล่นแต่เรื่องนี้ แล้วอย่างอื่นล่ะ?

หลังจากวิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองทั้งหมด คนึงนิจมองว่า ทุกพรรคยังไม่มีใครกล้าแตะเรื่องระบบโครงสร้างขององค์กรที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการแก้ปัญหาทั้งหมด บางพรรคมีทั้งออกนโยบายที่ยิบย่อยมากมาย สวนทางกับบางพรรคที่ลงรายละเอียดกว้างมากจนจับต้องไม่ได้ หรือมุ่งเน้นเพียงแค่ในกรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่มีการอธิบายกระบวนการต่างๆ ของนโยบายที่หาเสียงจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองจะทำได้สำเร็จ ก็ต่อเมื่อปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างของไทยให้เท่าทันกับสมัยใหม่ เปรียบเสมือนประตูด่านแรกที่จะแก้ไขและปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามที่นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองวางเป้าหมายที่ตั้งไว้

จุดอ่อนของสิทธิ ‘พลังประชาชนอ่อนแอ’ จุดแข็งของรัฐ ‘ควบคุมง่าย’

อำนาจของสิทธิมีความสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เพียงใช้ในการเลือกตั้ง แต่ยังรวมถึงการออกมาเรียกร้องและสามารถเข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสิทธิพื้นฐานในชีวิตที่ควรจะได้รับ ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องของสิทธิ คนมักจะมีภาพจำว่า เป็นเรื่องของกฎหมายและเข้าถึงยากจนกลายเป็นเรื่องไกลตัว เหล่านี้กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการแก้ไขระบบโครงสร้างไทย นั่นคือ พลังจากภาคประชาชนอ่อนแอ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรในมือที่ควรได้รับ 

“เวลาภาคประชาชนอ่อนแอ รัฐจะชอบมาก แล้วเราเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ เพียงหยิบมือ พลังก็น้อย ไปต่อกรกับพวกเขา แถมเขายังยุให้ตีกันและเข้ามาป่วนด้วย มากไปกว่านั้นเขาอาจจะแอบไปจับมือกับคนอื่นลับหลัง ก็ยิ่งสร้างความเข้มแข็งหนักเข้าไปอีก ภาคประชาชนก็อ่อนแอ แถมไม่รู้ด้วยว่า ตัวเองเป็นเหยื่อแล้ว”

หากให้อธิบายสิทธิของทุกคนสำคัญมากแค่ไหน เธออธิบายต่อว่า “รู้ไหมว่าโลกแห่งสิทธิเนี่ย มันยิ่งกว่าสายรุ้งที่ประกอบไปด้วยแถบสีนั้นๆ มันถี่ละเอียดมาก เพียงแต่คนไม่รู้ถึงความถี่ของช่องต่างๆ พวกเราอยู่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มานานแล้ว คนตายกันเป็นเบือ เป็นเครื่องสังเวยให้มนุษย์ยุคนี้ได้เงยหน้าอ้าปาก เพื่อเราจะได้สถาปนาสิทธิมนุษยชนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2”

  “ถ้าทุกคนไม่สู้เพื่อสิทธิของตัวเอง คนรุ่นก่อนที่ตายมากมาย เขาสู้เพื่อสิทธิมาให้พวกเราจะเป็นสุขไหม เขาตายฟรีนะ อุตส่าห์สู้มาเพื่อลูกหลาน แต่พวกเรามองไม่เห็นว่าสิทธิสำคัญขนาดไหน นั่งเฉยๆ จนรอวันตาย”

สิทธิจะศักดิ์สิทธิ์ ถ้ารวมพลังเพื่อ ‘ส่วนรวม’ มากกว่า ‘ส่วนตัว’ 

สำหรับคนึงนิจ ตัวแทนของผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ที่มีความตั้งใจผลักดันเรื่องร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด มานานหลายปี แม้ในระหว่างทางเธอเจออุปสรรคมากมาย และยังคงเดินหน้าสู้ต่อไป เพราะอยากให้ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ไม่ใช่แค่ทำให้ประสบความสำเร็จ แต่อยากปลูกฝังให้ทุกคนรู้เรื่องสิทธิของตนเองว่ามีค่ามากขนาดไหน

“สิ่งที่อาจารย์ทำคือ ทุกคนต้องรู้สิทธิเบื้องต้นที่ตัวเองต้องมี แล้วคนรู้เรื่องนี้น้อยมาก เราอยากให้ทุกคนรู้แล้วตระหนัก อย่าอยู่นิ่ง แต่ช่วยกันลงมือลงแรงหน่อยสิ เท่าที่ทุกคนจะทำได้ในความถนัดของตนเองที่สามารถช่วยได้คนละไม้คนละมือ” 

“อีกประเด็นคือ อยากให้ความรู้สังคมในภาพรวมเกี่ยวกับกฎหมาย การปกป้องและรักษาสิทธิของตัวเอง อาจารย์ได้เขียนคำอธิบายทุกอย่างทีละมาตรา ใครสงสัยมาตราไหนไปเปิดดูได้เลยในเว็บไซต์ Thailand Clean Air Network อาจารย์ทำให้ถึงเพียงนี้ อยากให้ทุกคนอย่านิ่งเฉย อย่าทิ้งให้อาจารย์สู้อย่างโดดเดี่ยวเลย เราช่วยกันและสู้กันไปดีกว่า”  

หากให้ทิ้งท้ายถึงพรรคการเมือง ที่กำลังชูนโบายผลักดันการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ อยากจะบอกว่าอะไร?

“ความเป็นจริงปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก ที่ทุกภาคส่วนต้องจับมือทำงานร่วมกัน เพราะมันมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของทุกคน ประเด็นนี้มันอยู่สูงกว่าการแบ่งขั้วทางการเมือง หมายความว่า การเมืองไม่ควรหยิบเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียง มันควรจะเป็นการเมือง ที่ทุกพรรคทุกฝ่ายทั้งหมดช่วยกันทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง”

“ในการเลือกตั้ง เรื่องสิ่งแวดล้อม พรรคไหนก็ได้ถ้าคุณจริงใจ คุณต้องทำให้เรื่องนี้เข้าสู่สภาให้ได้ และอย่ามัดมือชกทำกฎหมายเขียนหน้าปกอีกอย่าง เเต่เนื้อหาข้างในเป็นอีกอย่าง หรือที่เรียกว่า กฎหมายไม่ตรงปก คุณอย่าทำแบบนั้นเด็ดขาด เพราะเท่ากับคุณทรยศต่อทุกคนในโลกนี้ โดยเฉพาะตัวคุณเองก็จะตายเร็วขึ้น อย่าลืมว่า คุณและครอบครัวของคุณก็อาศัยอยู่ในประเทศที่มีมลพิษอากาศย่ำแย่เช่นเดียวกัน”

เรื่อง: จารุจรรย์ ลาภพานิช 


ที่มา

https://workpointtoday.com/vote-pm2-5/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ