‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ โครงการดีๆ ที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของการแยกขยะ

Highlights

  • สิ่งที่เต็ดตรา แพ้คยึดมั่นอยู่ตลอดเวลาคือ สโลแกนที่ว่า 'Protects What’s Good' หมายถึงปกป้องทุกคุณค่า ประกอบไปด้วย 3 อย่าง ปกป้องอาหาร ปกป้องผู้คน และปกป้องอนาคต เพราะสิ่งแวดล้อมคืออนาคต จึงพยายามทำกิจกรรมหลายอย่าง ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อตอบรับสิ่งที่ให้คำมั่นสัญญา เพื่อให้ทุกคนได้เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม
  • บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มต้นโครงการ 'กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้' (BEverage CArton REcycling Project) ตั้งแต่ปี 2559 รวมยอดเก็บกล่องกลับมารีไซเคิลตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวเลขกลมๆ กว่า 1,700 ตัน หรือ 170 ล้านกล่อง

ปัจจุบันหากใครติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องย่อมเห็นตรงกันว่า การสื่อสารถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ณ ตอนนี้ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นความจริงที่พวกเรากำลังเผชิญ เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกที่เราทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหาและมองเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ร่วมกัน

“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง” สุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เกริ่นกับเราเมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นโครงการ ‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ (BEverage CArton REcycling Project)

“ท้ายที่สุดแล้วบรรจุภัณฑ์พวกนี้จะต้องผ่านมือตั้งแต่ผู้ผลิต ห้างร้าน ไปจนถึงผู้บริโภค ก่อนกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายที่อยู่บน value chain นี้มีความรับผิดชอบร่วมกัน อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันตระหนักถึงความสำคัญในการตั้งใจแยกขยะจริงๆ เริ่มจากทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางก่อน เพราะปัญหาที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นในบ้านเราหรือที่ต่างประเทศ เริ่มมาจากการทิ้งขยะทั้งหมด ขยะไปกองอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางก่อน”

เต็ดตรา แพ้คเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มประเภทกล่อง เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่สามารถบรรจุแบบปลอดเชื้อ ทั้งยังรักษากลิ่น สี เนื้อสัมผัส รสชาติ และคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไว้ได้นานหลายเดือน โดยไม่ใช้วัตถุกันเสียหรือแช่เย็น ทำให้สามารถขนส่งอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้จะมีคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์และตอบสนองความต้องการอย่างครบวงจร แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไมได้นั่นคือปริมาณขยะที่มากขึ้นตามความนิยมไปด้วย เต็ดตรา แพ้คจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการลดขยะตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต เน้นการใช้ทรัพยากรทดแทนและนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ โดยให้กำเนิดโครงการต่างๆ มากมายที่สร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสังคม ทั้งยังรับบทบาทสำคัญนำทีมจัดทำโครงการจัดเก็บรวบรวมกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วนำกลับมารีไซเคิล เริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ภายใต้โครงการที่ใช้ชื่อว่า กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้ (BEverage CArton REcycling Project)

“สิ่งที่เต็ดตรา แพ้คยึดมั่นอยู่ตลอดเวลาคือ สโลแกนของเรา ‘Protects What’s Good’ หมายถึง ปกป้องทุกคุณค่า ประกอบไปด้วย 3 อย่าง ปกป้องอาหาร ปกป้องผู้คน และปกป้องอนาคต เพราะสิ่งแวดล้อมคืออนาคต เราพยายามทำกิจกรรมหลายอย่าง ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อตอบรับสิ่งที่เราให้คำมั่นสัญญา เพื่อให้ทุกคนได้เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เราได้ริเริ่มโครงการร่วมกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน อย่างเช่นบริษัทผู้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ ภาครัฐ ภาคชุมชน ผู้ประกอบการรีไซเคิล ผู้ผลิตเครื่องดื่ม รวมไปถึงผู้บริโภค เพื่อให้ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน เห็นความสำคัญของการจัดเก็บและการนำบรรจุภัณฑ์นี้ไปรีไซเคิล”

ความจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับคือบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ และหากย่อยได้ย่อมใช้เวลานานเกินไป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดจึงบอกว่า นี่คือสาเหตุที่ต้องชวนใครต่อใครมาทำความเข้าใจร่วมกันถึงความสำคัญของการแยกขยะ รวมถึงประชาสัมพันธ์โครงการ ลงพื้นที่ให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ผ่านเทศบาล โรงเรียน หน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเดียวกันว่า การคัดแยกขยะนั้นเป็นต้นทางที่ดีของการรีไซเคิลและมีความสำคัญเช่นใด มุ่งหวังเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้สิ่งนี้กลายเป็นพลังงานใหญ่มากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

จากวันที่โครงการเริ่มต้นเมื่อปี 2559 ที่ทำได้เพียงครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ก่อนที่ปีที่ 2 จะเพิ่มมาเป็น 8 จังหวัด ปีล่าสุดโครงการได้ขยายจนครอบคลุมพื้นที่ถึง 13 จังหวัด รวมยอดเก็บกล่องกลับมารีไซเคิลตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเป็นตัวเลขกลมๆ กว่า 1,700 ตัน หรือ 170 ล้านกล่อง

หากมีคำถามว่ากล่องที่เป็นขยะจะนำกลับไปทำอะไรได้บ้าง ก่อนอื่นต้องขอให้ทุกคนนึกภาพตามว่าในหนึ่งกล่องประกอบด้วย 3 วัสดุหลักคือ เยื่อกระดาษ 75 เปอร์เซ็นต์ และอีก 25 เปอร์เซ็นต์เป็นพลาสติกและอะลูมิเนียมฟอยล์ ผนึกกันเป็นชั้นๆ ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีก เช่น เยื่อกระดาษสามารถนำไปผลิตเป็นกระดาษเขียนยี่ห้อ eco papers แบบ A4 หนา 80 แกรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ลดการสูญเสียต้นไม้ได้เป็นจำนวนมาก หรือนำไปทำเป็นสมุด กระดาษโน้ต และซองจดหมาย ได้อีกด้วย

ส่วนพลาสติกและอะลูมิเนียมฟอยล์ เมื่อแยกจากเยื่อกระดาษแล้วสามารถนำไปทำเป็นแผ่นหลังคา eco roof ที่ให้ความแข็งแรงเฉพาะตัว กันน้ำ ไม่ลามไฟ และปลวกไม่กินแน่นอนหรือจะนำ 2 วัสดุส่วนนี้ไปขึ้นรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลให้กำเนิดผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไปได้อีก และกล่องเครื่องดื่มยังสามารถนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างแผ่นไม้กรีนบอร์ด ใช้เป็นวัสดุแทนไม้ นำไปสร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ฯลฯ

“สำหรับโครงการของปีนี้อยู่ภายใต้กิจกรรม ‘พี่มีกล่อง น้องขอนะ BeCare Be Kind Book for the Blind’ เปลี่ยนกล่องยูเอชทีในมือให้เป็นสื่ออักษรเบรลล์ โดยเป็นการนำกล่องที่เก็บได้ไปผลิตเป็นกระดาษรีไซเคิลคุณภาพดี เนื้อกระดาษมีความหนาแน่นสูง ทนทาน เหมาะแก่การนำไปใช้ทำสื่ออักษรเบรลล์เพื่อการสัมผัสที่ดี เป็นอุปกรณ์ทางการศึกษาให้แก่น้องๆ ผู้พิการทางสายตา มอบให้โรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศทั้ง 13 แห่ง ที่สำคัญเราคิดว่าน้องๆ คงดีใจที่รู้ว่า สิ่งที่ได้รับมาจากน้ำใจของคนไทยด้วยกัน”

แต่ก่อนที่ขยะจะสามารถนำไปรีไซเคิลจนเกิดประโยชน์เช่นนี้ ต้องย้อนกลับไปถึงต้นทางคือความสำคัญในการแยกขยะแต่ละประเภทให้ชัดเจน เพราะหากผู้บริโภคไม่แยกขยะให้ดี เมื่อขยะนั้นถูกส่งต่อมาที่รถเก็บขยะก็จะต้องจ้างคนเพิ่มเพื่อจัดการ สูญเสียทั้งพลังงานคน ทรัพยากร และอาจจะเลยเถิดไปถึงการเพิ่มกำลังเครื่องจักรหรือรถที่ใช้ในการขนส่ง บวกกันต่อไปเป็นทอดๆ

อาจจะดูเป็นเรื่องยุ่งยากหากจะบอกว่า กล่องที่ดื่มแล้วควรล้างทำความสะอาด ตัด พับ และจัดส่งไปรีไซเคิลต่อ แต่ถ้ามองถึงประโยชน์ที่จะได้มากกว่าการทิ้งลงถัง การเริ่มต้นลงมือทำสิ่งง่ายๆ เช่นนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อย

ใครบางคนอาจคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่และไกลตัวเกินกว่าจะแก้มันได้เพียงลำพัง แต่อย่างที่มีคนว่าไว้ “Every action has a big impact. ทุกอย่างอยู่ที่การเริ่มต้นและลงมือทำ” การกระทำบางอย่างที่อาจดูเล็กน้อย แต่เมื่อเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและมีคนร่วมกันมากพอ วันหนึ่งมันจะส่งแรงกระเพื่อมอย่างไม่อาจคาดเดาได้

ทีนี้ลองมองดูกล่องนม กล่องน้ำผลไม้ หรือกล่องกะทิรอบตัวคุณ รู้หรือยังว่าจะทำยังไงต่อไปดี


ติดตามโครงการ ‘กล่องยูเอชที รีไซเคิลได้’ ที่ facebook.com/UHTBECARE

AUTHOR