Stonegoat ยิมปีนผาจำลอง ที่ประจำของคนรักความท้าทาย คอมมูนิตี้แห่งมิตรภาพสำหรับคนทำงานยุคดิจิทัล

หลังจากมีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี 2016 ให้กีฬาปีนผาได้รับการบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในกีฬาที่จะมีการแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในปี 2020 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ในปี 2019 พบว่าประเทศอังกฤษพบตัวเลขความนิยมในกีฬานี้เพิ่มขึ้นกว่า 50% รวมถึงจำนวนยิมปีนผาเกิดขึ้นใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกปีในฝั่งอเมริกาเหนือก็สะท้อนความฮอตฮิตของกีฬาประเภทนี้ได้อย่างชัดเจน

‘Stonegoat’ บอกว่าตัวเองเป็นยิมปีนผาจำลอง แต่สิ่งที่เราเห็น คือการ Work from the Gym! เทรนด์ที่กำลังมาสำหรับคนสายเฮลตี้ในยุคดิจิทัล เมื่อความสำคัญของการมีออฟฟิศประจำลดลง แต่พื้นที่ทำงานที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องของความสะดวกและการได้ดูแลสุขภาพมันสามารถเดินไปควบคู่กันได้ เราคิดว่าที่นี่แหละจะเป็นต้นแบบให้ธุรกิจใหม่ได้เห็นช่องว่างของสิ่งที่คนทำงานต้องการคือการมี Work-life Balance ในอีกรูปแบบหนึ่ง

การออกกำลังกายเป็นประจำจนติดเป็นนิสัยสร้างความรู้สึกไม่ต่างกับการเสพติด เพราะหลายคนเมื่อขาดไปเกิดอาการกระวนกระวาย อารมณ์แปรปรวน ลามไปถึงทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้เลยในบางคน โดยที่สารเคมีให้ความรู้สึกดี อย่างเช่น  โดปามีน (Dopamine) และเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) จะหลั่งออกมาและยิ่งเพิ่มสารความรู้สึกดีนี้มากขึ้นไปด้วย

Bouldering (โบลเดอริง) เป็นการปีนผาแบบไม่ใช้เชือกสามารถปีนผาตามธรรมชาติหรือในยิม มีอุปกรณ์ไม่กี่อย่าง รองเท้า ชอล์ค และเบาะรอง ก็สามารถเริ่มต้นได้แล้ว สำหรับยิมปีนผาจำลอง ‘Stonegoat’ เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2564 ด้วยชื่อและความหมายน่ารักมาจากคำว่า แพะภูเขา ในภาษาอังกฤษ และล้อไปกับวลี ‘GOAT (Greatest Of All Time)’ ที่ใช้ที่ยกย่องบุคคลน่านับถือและมีความยิ่งใหญ่ระดับตำนานในสาขาต่างๆ ข้อมูลจาก กร-กฤษกร ธงพานิช หนึ่งในผู้บริหารของยิมตกลงเคาะใช้ชื่อนี้เรียกยิมที่เกิดมาจากกลุ่มคนที่มีแพสชันในการปีนผาที่หมุนมาพบกันในเวลาและสถานที่ที่ถูกต้อง 

แม้ในแผนที่จะดูลึกลับแต่เมื่อเดินทางมาด้วยตัวเองกลับพบว่าที่ตั้งในซอยสุขมวิท 69 อยู่ไม่ไกลจาก BTS พระโขนง ถ้าใครไม่ต้องการอยู่บนถนนที่รถติด แนะนำให้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าแล้วเดินเท้าต่อเข้ามาไม่ถึงสิบนาทีเป็นการวอร์มอัปไปในตัวก่อนเข้ามาปีนผาจำลองแห่งนี้

อดีตโกดังร้างขนาดใหญ่ถูกแบ่งย่อยปรับพื้นที่ให้กลายเป็นฟิตเนสขนาดใหญ่ ร้านค้าและธุรกิจฮิปๆ มารวมกันเป็นคอมมูนิตี้เพื่อคนเมืองได้อย่างน่าประทับใจ จนอยากกลับมาสำรวจบริเวณนี้อีกเมื่อมีโอกาส สำหรับ Stonegoat เองก็เป็นหนึ่งในนั้น 

จากการได้พูดคุยกับ กร กฤษกร พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า สัดส่วนผู้หญิงเข้ามาใช้บริการมากกว่าผู้ชาย ทั้งที่ภายนอกดูเป็นกีฬาที่ผาดโผน ท้าทาย และมีล้มลุกลงเบาะกันบ้าง แต่ก็ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำรับรองว่าจะตกลงมากี่ครั้งก็ปลอดภัยกลับขึ้นไปหายใจลึกๆ บนยอดได้อีกหลายรอบ 

เปิดเข้ามาภายในยิมเราได้พบโถงกว้างขนาดใหญ่ ปลอดโปร่ง รองรับได้มากถึง 200 คน เบื้องหน้าเราคือกำแพง 6 รูปแบบที่ตั้งชื่อตามสถานที่ปีนผาแลนด์มาร์กของไทย ได้แก่ Sikhio Wall (สีคิ้ว), Railay Wall (ไร่เลย์), Tonsai Wall (ต้นไทร), Khon Kaen Wall (ขอนแก่น) รวมไปถึงผาแบบ Island หนึ่งเดียวในประเทศไทยให้นักปีนเขาสามารถขึ้นไปชมวิวภาพกว้างด้านบนทั้งหมดของยิมได้อีกด้วย และหน้าผาสำหรับแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดในไทย Competition Wall ความยาว 33 เมตร รอคอยผู้มาพิชิต (ที่ยังไม่ใช่เราในเร็ววันนี้)

แม้จะได้ทำความรู้จักกับการปีนผาแบบใช้เชือก (Top-rope climbing) มาก่อนบ้างแล้ว บวกกับการออกกำลังกายเป็นประจำ แต่การปีนแบบ Bouldering (โบลเดอริง) นี้ก็ต้องใช้ทักษะและกล้ามเนื้อที่ต่างออกไป ได้วัดสมรรถภาพร่างกายตัวเองเพื่อกลับมาพิชิตในเส้นทางใหม่ๆ ที่ทางยิมกระซิบบอกกับเราว่าเปลี่ยนใหม่ทุกๆ วันอังคารเอาใจนักปีนขี้เบื่อ

นอกจากจะเป็นยิมปีนผาจำลอง ยังหยอดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมคนยุคดิจิทัลที่มีไลฟ์สไตล์การทำงานที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาออฟฟิศประจำ หรือคนที่มีวันทำงานยืดหยุ่นสามารถเลือกมานั่งทำงานที่ co-working space สลับกับการยืดเหยียดปีนผาไปด้วยได้ตลอดทั้งวัน บอกลาวงการมนุษย์ออฟฟิศปวดหลังได้เลยถาวร มองในแง่ของความสะดวกสบายที่นี่เตรียมพร้อมไว้ทั้งคาเฟ่ ห้องอาบน้ำ ฟิตเนสเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และที่จอดรถ

แน่นอนว่าผลลัพธ์ทางร่างกายสำหรับผู้ที่ปีนผาเป็นประจำสังเกตได้จากผู้มาใช้บริการรอบตัวมีตั้งแต่เด็กน้อยวัยกำลังซนที่ปีนได้ว่องไวกว่าผู้ใหญ่แบบเรา ไปจนถึงผู้ใหญ่วัยกลางคนในชุดกระชับสัดส่วนที่ผ่านการเทรนด์มาอย่างดีกำลังโฟกัสกับเส้นทางตรงหน้าด้วยความมุ่งมั่นและปีนข้ามไปแตะจุดสูงสุดของเส้นทางที่เริ่มต้นได้สำเร็จ 

เมื่อได้ทดสอบเส้นทางด้วยตัวเองพอแตะถึงยอดเราพบกับความสุขจนเกือบปล่อยมือจากที่เกาะมาแสดงความยินดีกับตัวเอง จึงสงสัยต่อว่าการปีนผาแบบนี้เชื่อมโยงอย่างไรกับจิตใจมนุษย์ได้บ้าง ก็ได้พบข้อมูลที่นักวิจัยทำการศึกษาถึงประโยชน์ที่ส่งผลกับมนุษย์ไว้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะอาการซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวล เนื่องจากกีฬาปีนผานี้มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดที่มองเห็นได้เป็นรูปธรรม ถึงแม้ในตอนแรกจะยังไม่สามารถปีนได้คล่องแคล่วไปคว้ายอดได้สำเร็จ แต่เราก็รู้สึกได้ถึงความก้าวหน้าของตัวเองทีละเล็กทีละน้อยและยิ่งกระตุ้นให้อยากทำสำเร็จ

อีกทั้งยังเป็นค้นหาวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะร่างกายนักปีนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน การรู้จักศักยภาพของตัวเองทำให้เราปรับใช้กับการปีนที่ไม่เหมือนกัน อาจไม่มีวีธีที่ถูกต้องวิธีเดียวเท่านั้น ถ้าเราใช้ความยืดหยุ่นและความอดทนเฉพาะตัวกับการปีนผาก็สามารถถ่ายทอดไปกับการใช้ในเรื่องอื่นๆ ของชีวิตได้อีกด้วย 

ที่สำคัญคือการฝีกสติและสมาธิจดจ่ออยู่กับร่างกายที่กำลังปะทะกับผาตรงหน้า ช่วยทำให้เราลืมไปว่างานในสัปดาห์ที่ผ่านมามันหนักหนาเพียงใด หรือเหนื่อยกับเรื่องในบ้านอะไรมาบ้างได้ชั่วครู่ การอยู่กับปัจจุบันขณะนี้เองช่วยบรรเทาความกังวลที่เกิดขึ้นในอดีตและอนาคตได้อย่างเกิดผล 

สุดท้ายถ้าอ้างอิงจากที่มาที่ไปของผู้ร่วมก่อตั้ง Stonegoat ที่มาจากกลุ่มคนที่ชื่นชอบและสะสมประสบการณ์การปีนผามาเป็นประจำก็สามารถยืนยันถึงการสร้างมิตรภาพและคอมมูนิตี้ที่เหมาะกับการเป็นสถานที่ที่อยากชวนเพื่อน จูงมือแฟน มากระชับความสัมพันธ์ เป็นตัวเลือกสถานที่ออกเดตอีกแห่งหนึ่งพากันมาช่วยกันแก้ปัญหา คอยดูแลเอาใจใส่ให้เธอและเขาปีนผาขึ้นไปอย่างปลอดภัยประสบผลสำเร็จ แถมได้รูปปนเหงื่อแห่งความพยายาม เผลอๆ ขยับเข้ามาใกล้ชิดกันโดยไม่รู้ตัว

แต่สำหรับใครที่อยากฉายเดี่ยวก็ไม่ต้องกลัวเหงาเพราะทางยิมเตรียมรูปแบบแพคเกตให้เลือกไว้หลากหลาย โดยสามารถติดต่อให้ Coach ช่วยดูแลสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้แบบ Private หรือ Small Group แบบกลุ่มเพื่อน 

หลังจากที่ Stonegoat เจาะกลุ่มนักปีนเขาเป็นประจำจนเกิดได้ฐานชุมชนคนรักกีฬานี้มารวมตัวกัน จึงเริ่มขยายสู่กลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ (แบบเรา) ที่เป็นมือสมัครเล่นที่ชื่นชอบการออกกำลังกายอื่นๆ ได้มาทดสอบฝีมือวัดทักษะการปีนป่ายกันดูบ้าง เมื่อติดใจก็สามารถจอยน์กับกลุ่มหรือคลาสที่เปิดรับมือสมัครเล่นที่อยากจริงจังกับกีฬานี้ต่อไป

สิ่งที่เราขอชื่นชมเป็นพิเศษคือคำตอบที่ทำให้ยิมปีนผาแห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ออกกำลังกายเพื่อคนรักสุขภาพแต่พวกเขายังสร้างพื้นที่ทำงานที่ใส่ใจร่างกายและจิตใจพนักงานด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้จะเปิดทุกวันแบบ 24/7 แต่ กร-กฤษกร หนึ่งในทีมบริหารเน้นย้ำว่า ทุกคนที่ทำงานต้องมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอเพื่อฟื้นฟูตัวเองให้พร้อมกับการต้อนรับลูกค้า ถ้าคนทำงานจนเหนื่อยล้าจะให้การดูแลนักปีนที่เข้ามาได้ดีอย่างไร เป็นแนวคิดการทำงานที่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและเห็นอกเห็นใจคนทำงานที่เราอยากให้มีบอสแบบนี้มากขึ้นอีกเยอะๆ 

สำหรับใครที่สนใจทดสอบทักษะการปีนผาทั้งมือโปรและสมัครเล่น สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติม Stonegoat ได้ในเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/stonegoatclimbinggym 

ที่ตั้ง

36/3 ซ.สุขุมวิท 69 พระโขนงเหนือ วัฒนา กทม. 10110 วิธีเดินทาง: เดิน 4 นาทีจากสถานีบีทีเอสพระโขนง ทางออก 3 

เวลาทำการ

วันธรรมดา: 11.00-22.00 น. 

วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์: 10.00-22.00 น.  

วันอาทิตย์: 10.00-21.00 น. 


อ้างอิงข้อมูลจาก

https://shorturl.asia/bLFAl

https://blog.mdpi.com/2022/12/30/benefits-climbing/

https://www.nicetofit.com/the-joy-of-movement/ 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream