เมื่อ ‘แสตมป์ อภิวัชร์’ กลับไปนับหนึ่งอีกครั้งในปีที่ 17 ของชีวิตนักดนตรี

Highlights

  • แสตมป์–อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข คือนักร้อง นักแต่งเพลงที่มีผลงานโลดเล่นอยู่ในวงการเพลงไทยมาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากบทบาทเจ้าของค่ายเพลงเล็กๆ อย่าง 12sumrecords ไม่นานมานี้เขาเพิ่งเซ็นสัญญาเป็นศิลปินกับค่ายเพลง TOY'S FACTORY ประเทศญี่ปุ่น
  • แสตมป์เดบิวต์ด้วยบทเพลง BANGKOK SUMMER เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ และอัลบั้มเต็มที่ชื่อว่า EKAMAI DREAM 1 การส่งเพลงตัวเองสู่ตลาดในต่างประเทศครั้งนี้ เขามองว่าเป็นการนับหนึ่งอีกครั้งในอาชีพนักดนตรี แม้ว่าตัวเองจะมีประสบการณ์การเป็นศิลปินไทยมานานกว่า 17 ปีก็ตาม
  • ชีวิตของแสตมป์ ไม่ได้มีความสุขอยู่กับการทำงานเพลงตลอดเวลา อย่างวันที่อัลบั้ม Sci-Fi ดังพลุแตก เขาสารภาพว่าลึกๆ ตัวเองไม่ได้ยินดีกับความสำเร็จที่ว่า แต่วินาทีนี้ เขาเลือกให้เครดิตเรื่องราวทุกข์ใจที่เกิดขึ้น เพราะมันทำให้เขาเห็นทิศทางใหม่ๆ ในเส้นทางดนตรีที่เขาสามารถเดินต่อไปได้ พร้อมกลับมาทำเพลงด้วยแววตาเป็นประกายอีกครั้ง

หากมองชีวิตรวมๆ ของ แสตมป์–อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ชายร่างสูงตรงหน้าเราคนนี้ 

สิบเจ็ดปีที่ผ่านมา ความรักในเสียงดนตรีพาเขาก้าวมาไกลเหลือเกิน จากอดีตมือกีตาร์วงนูเมทัลที่ชื่อว่า ‘กล้วยไทย’ นักร้องนำวง 7thSCENE กระทั่งเริ่มจรดปากกาเขียนเพลงให้ตัวเอง ตามด้วยความโด่งดังในฐานะศิลปินเดี่ยวที่ชื่อว่า แสตมป์ อภิวัชร์ กระทั่งวันที่เปิดค่ายเพลงเล็กๆ แสนอบอุ่นของตัวเองอย่าง 12sumrecords

การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เขาถูกห้อมล้อมด้วยความรักจากแฟนเพลง มีอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสุดๆ มีคอนเสิร์ตใหญ่ และเพลงฮิตนับไม่ถ้วนของเขาแทรกซึมอยู่ในความทรงจำของเรา พี่น้อง ผองเพื่อน หรือกระทั่งคนรุ่นพ่อแม่เราเองก็ไม่เว้น 

เดือนที่แล้วเขาประกาศข่าวดีบนเพจตัวเองว่าได้เซ็นสัญญากับ TOY’S FACTORY ค่ายเพลงเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยศิลปินเบอร์ใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย เดบิวต์บนตลาดเพลงที่นู่นด้วยเพลง BANGKOK SUMMER เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ และมีแพลนปล่อยอัลบั้มเต็ม EKAMAI DREAM 1 เร็ววันนี้

ในวันที่เราเชื่อว่าแสตมป์คือนักร้องนักแต่งเพลงผู้เพียบพร้อม เขามีครบแทบทุกอย่างทั้งฝีมือ ชื่อเสียง และคนรอบข้างที่พร้อมซัพพอร์ต ระยะทางไกลที่ผ่านมาเขาพบเจอความสำเร็จเกินกว่าที่คาดคิดมากมาย ชายตรงหน้ากลับย้ำว่าบนน่านน้ำใหม่ที่เขาเลือกหันใบเรือเดินทางไปคือการเริ่มนับหนึ่งใหม่

แน่นอน การพาตัวเองไปอยู่ในที่ใหม่อาจมีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่นักดนตรีเจนเวทีคนนี้เป็นกังวลบ้าง แต่ท้ายที่สุดเขายังคงยืนยันคำเดิม คำเดียวกับที่เขาเคยพูดเมื่อครั้งยังเป็นนักดนตรีหนุ่ม

“ทุกวันนี้มีความสุขกับการทำเพลงมาก” เรารู้สึกอิจฉาทุกครั้งเวลาเห็นใครพูดด้วยสีหน้าและแววตาที่เต็มไปด้วยประกายความสุข แถมเป็นความสุขที่เกิดจากการอยู่กับงานอีกต่างหาก 

แต่สิ่งที่เราค้นเจอระหว่างบทสนทนาราวหนึ่งชั่วโมง ช่วงเวลาเดียวกับที่อัลบั้มลำดับที่ 4 Sci-Fi ของเขาดังพลุแตก ชายตรงหน้ากลับบอกเราว่าลึกๆ เขาไม่ได้ยินดีหรือมีความสุขกับความสำเร็จก้อนนี้ เขาใช้เวลาเยียวยาตัวเองจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจนานเกือบสามปี เจ็บหนักราวกับเลิกกับแฟนที่รักกันมาก เขาว่าอย่างนั้น 

ที่มาที่ไปของความสุขและแววตาสดใสที่เราเห็นในวันนี้ต้องผ่านความสาหัสระดับไหนมา แล้วชายที่เราเห็นว่าเขาเป็นศิลปินมาดกวนอารมณ์ดีคนนี้ก้าวข้ามมันด้วยวิธีการใด เขยิบเข้ามาใกล้ๆ แสตมป์พร้อมเล่าให้เราฟังแบบยาวๆ 

 

ได้ยินมาว่าแสตมป์ตกลงเซ็นสัญญากับ TOY’S FACTORY ก่อนที่จะรู้เงื่อนไขเสียอีก อะไรทำให้คุณตัดสินใจไวแบบนั้น

คือเราไม่ได้มีอะไรที่นู่นเลยครับ ไม่มีคอนเนกชั่นเลย ฉะนั้นการที่เราจะไปเล่นหรือทำอัลบั้มก็ค่อนข้างยากพอสมควร เขาเป็นค่ายเพลงในฝันที่เราอยากร่วมงานอยู่แล้วด้วย เคยคิดว่ามันไม่น่าเป็นไปได้ด้วยซ้ำ (ยิ้ม) จริงๆ เราเคยคุยเรื่องทำโปรเจกต์กับเขามาก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนั้นมันถูกพับไป แต่พอเขาติดต่อให้เราเข้าไปคุยอีกรอบ ชวนทำอัลบั้ม เราตกปากรับคำแบบไม่คิดเลย

 

เขาบอกไหมว่าทำไมเขาถึงเลือกคุณ

ผมไม่เคยถามเขาเลยครับ อยากวานให้ a day ช่วยถามเขาเหมือนกัน (หัวเราะ)

 

วัย ประสบการณ์ ชื่อเสียงที่คุณมี ส่งผลกับการเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่นู่นบ้างไหม

อย่างที่บอกว่าเราไปแบบศูนย์เลย ทำงานกับคนที่ไม่รู้จัก อย่างคนที่มาดูเขาก็ไม่ได้รู้จักเรามาก่อน ถ้าถามว่าต่างกับที่ไทยไหม เราว่ามันเหมือนตอนทำวง 7thSCENE ความรู้สึกแบบเดียวกับตอนนั้นเลย เริ่มเรียนใหม่ ทำความรู้จักกับคนใหม่ ได้ไปออกวิทยุ สัมภาษณ์ลงหนังสือ แนะนำตัวกับคนฟังอีกรอบ เหมือนกลับไปช่วงเข้าวงการตอนแรกๆ โชคดีที่เรามีค่ายที่ดูแลเราดีมากเลยไม่รู้สึกว่าลำบากอะไร

ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัยในการทำงาน เขาดูแลคุณยังไงบ้าง เฮี้ยบกับคุณบ้างไหม

ตอนนี้เขายังไม่เฮี้ยบนะ อาจเพราะเราเพิ่งเข้าไปในค่ายได้ไม่นาน อย่างใน แตมไปดู ตอนล่าสุดนี่คือการเข้าไปแนะนำตัวกับคนในค่ายในฐานะศิลปินครั้งแรก เดี๋ยวเดือนหน้าหลังจากที่ปล่อยอัลบั้มไปคิดว่าเราน่าจะได้ทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ที่เราบอกได้ตอนนี้คือ เขาช่วยเราดีทุกๆ อย่าง เรียกได้ว่าละเอียดมากๆ เช่น เขาขยันมาก ส่งอีเมลมาให้ทั้งเช้าและเย็น อัพเดตว่าเราต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง เสนอให้ออกรายการทีวีรายการนี้นะ ถามว่าคุณคุยคำถามนี้ได้ไหม ตอนทำซีดี ทำปกอัลบั้ม ก็ถามเราเลยว่าใช้ฟอนต์แบบนี้ได้ไหม คือในไทยเราจะปล่อยผ่านเนอะ แต่ที่นู่นเขาทำอะไรนิดหน่อยคือต้องถามเราก่อน เราเลยต้องคุยกับเขาเยอะมาก

สิบกว่าปีที่ผ่านมา เราทำงานอย่างอิสระมาตลอดอยู่แล้ว เรารู้สึกดีมากๆ ที่ตอนนี้มีคนช่วยเราคิด ช่วยเราทำในเรื่องที่เราทำเองไม่ได้ อย่าง Summer Sonic ที่เราได้ไปเล่นจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเขาไม่ไฟต์ ไม่เสนอชื่อเราเข้าไป คือถ้าไปเองเราก็ไม่รู้ว่าจะเสนอใคร เพราะตลาดเพลงที่นู่นมีวิธีการของเขา

แล้วเรื่องผลงานเพลงล่ะ

เขาให้ไอเดียมาว่าจะเสนออะไรในตัวเรา เวลาส่งเพลงไป เขาจะไม่บอกว่าเพลงนี้ไม่ดี เขาบอกแค่ว่าอยากเติมภาษาไทยลงไปในเพลง เหมือนมองเห็นว่าถ้าใส่สิ่งนี้เข้าไปเพลงเราจะเด้งออกมาจากเพลงในตลาด เป็นเรื่องแบบนี้มากกว่า แทบไม่เปลี่ยนอะไรข้างในเลย หรืออย่างอัลบั้ม EKAMAI DREAM 1 ที่กำลังจะปล่อย ตอนแรกเราทำเพลงภาษาอังกฤษหมดเลย เขาก็มาคุยกับเราว่าอยากให้มีเพลงภาษาไทยด้วย ถ้ามองจากข้างนอกมันเป็นอัลบั้มที่แปลกมากเลยนะ 

 

คุณคิดเรื่องการทำเพลงให้คนญี่ปุ่นฟังหนักขนาดไหน

จริงๆ ตอนทำไม่ได้คิดมากครับ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเราน่าจะคิดมากกว่านี้ (หัวเราะ) ตอนนั้นเราคิดว่าแค่ได้ออกก็บุญแล้ว ตอนนี้กลับรู้สึกว่าน่าจะทำให้มันเข้ากับตลาดเพลงญี่ปุ่นมากกว่านี้หน่อย คือคนฟังเพลงญี่ปุ่นเขาจะมีซาวนด์เพลงที่เขาชอบอยู่ ถ้าใส่สิ่งนี้เข้าไปอีกก็น่าจะช่วยได้มากกว่านี้ 

ถ้าอัลบั้มประสบความสำเร็จก็คงจะดีนะ ถ้าถามว่า ณ ตรงนี้คาดหวังอะไร เราคาดหวังว่าจะได้ทำมันต่อ เพราะถึงเวลานั้นเราคงเริ่มรู้แล้วว่าเราต้องเดินไปเส้นไหนวะ ถ้าเริ่มมีแฟนเพลงจำนวนหนึ่งที่เอนจอยกับเพลงเรา กลายเป็นโอกาสที่ได้ทำมันต่อ เราก็น่าจะได้สนุกกับมันมากขึ้นด้วย 

ทำไมต้องชื่อ EKAMAI DREAM 1

เอกมัยเป็นบ้านของเรา แล้วตอนเด็กๆ เราชอบอัลบั้มของ Cornelius ชื่อว่า From Nakameguro to Everywhere นากาเมกุโระคือบ้านที่เขาอาศัยอยู่ เขาทำเพลงจากที่นั่นและปล่อยมันไปสู่ทุกๆ ที่ มันเจ๋งมากที่เอาโฮมทาวน์ตัวเองมาอยู่ในชื่ออัลบั้ม อีกอย่างคือคำว่าเอกมัยเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นง่ายดี

 

ตอนนี้คุณต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นหนักเลยใช่ไหม

กำลังพยายามครับ อย่างตอนที่ไปสัมภาษณ์ครั้งล่าสุด เรารู้เลยว่าภาษาญี่ปุ่นของเรายังห่างไกลมาก ฟังไม่ออกแม้แต่คำเดียวเลย ทางผู้จัดการก็บอกว่าเขาชอบที่เราพูดไม่ได้นะตลกดี (หัวเราะ) แต่ลึกๆ เราอยากพูดให้ได้นะ อย่างน้อยก็อยากสื่อสารให้เมมเบอร์ในวงหรือเพื่อนร่วมงานเข้าใจว่าเราอยากได้อะไร คุยกันเข้าใจมากขึ้น

ก่อนหน้านี้คุณได้ไปเล่นดนตรีตามไลฟ์เฮาส์ในญี่ปุ่น ชอบวัฒนธรรมการดูไลฟ์คอนเสิร์ตของประเทศนี้ไหม

ผมว่าสิ่งที่นักดนตรีไปเล่นแล้วชอบคือการที่เขามาดูเราเล่นก่อนแล้วค่อยกินเหล้าทีหลัง แต่ว่าบ้านเราคือเขามากินเหล้าแล้วมีวงมาเล่น priority มันต่างกันนิดหนึ่ง ตัวผมเองเนี่ยเป็นนักดนตรีที่ติดการเรียกร้องความสนใจมาก ‘ทุกคน เป็นไงบ้างครับ’ ‘ขอเสียงคนโสดหน่อย’ มวลมันจะสนุกได้คือเราต้องให้คนดูเขาสนใจเรา ทำโชว์ให้สนุก ให้คนดูแฮปปี้ ถามว่าให้เราไปเล่นในผับแบบก้มหน้าก้มตาเล่นจนจบ เราทำได้นะ แต่เจ้าของร้านคงไม่จ้างเราซ้ำ (หัวเราะ) บรรยากาศผับมีส่วนสร้างให้เราเป็นแบบนี้ เราติดสิ่งนี้ไปใช้กับที่นู่นด้วยนะ ซึ่งเราก็รู้สึก เออ มันเกินไปปะวะ เพราะว่าคนดูที่นู่นเขาตั้งใจดูเราโดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องความสนใจเลย ตอนหลังเลยต้องพยายามลดลงเวลาไปเล่นที่นู่น

 

คิดยังไงกับคำพูดที่ว่า ‘การเล่นในผับทำลายอาชีพศิลปิน’ 

แต่มันทำให้เราได้ตังค์ เรายอมรับ แล้วเราว่ามันก็สำคัญ มันอาจจะไม่ได้ทำลายหรอกแต่แค่สร้างความเคยชินบางอย่างให้คนดูและศิลปิน ทุกอย่างมีข้อดี-ข้อเสียต่างกันไป

ในขณะที่วงต่างประเทศไม่เล่นในผับเลย เขาเล่นในฮอลล์ ในไลฟ์เฮาส์อย่างเดียว การทัวร์เขาจะเป็นกิจจะลักษณะมาก ซ้อม 3 เดือนแต่เล่นทัวร์ร้อยครั้ง แล้วโชว์เขาก็จะเป็นโชว์ที่คิดมาแทบจะทุกรายละเอียด เพื่อให้โชว์สมบูรณ์ ของที่ใช้ก็เป็นของที่เขาเตรียมมาเองหมด แต่ถ้าเป็นผับ อันนี้ก็ไฟของร้านนะ เดี๋ยวมีพริตตี้เอ็มซีแทรกตรงนี้ แต่ข้อดีของการเล่นผับคือเราว่าเราเล่นดนตรีมาเยอะกว่าวงต่างๆ ในเมืองนอกที่เขาต้องเล่นในฮอลล์เท่านั้น ซึ่งความถี่ในการเล่นที่บ่อยกว่าก็ทำให้เราแกร่งได้อีกแบบหนึ่ง จะให้เล่นที่ไหนก็เล่นได้ ศิลปินไทยแข็งแกร่งนะ

ข้อเสียของการเล่นในผับคือวงต้องดังก่อนถึงจะมีที่เล่น ผับเขาคงไม่จ้างวงเล็กๆ หรอก เพราะเขาต้องขายโต๊ะให้ได้ พวกวงเล็กๆ ที่เจ้าของร้านรู้จักแล้วจ้างมาเล่นก็มีนะแต่มันเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ถ้าเรามีไลฟ์เฮาส์แบบเมืองนอก พอวงมียูทูบของตัวเอง มีกลุ่มแฟนเพลงในสตรีมมิง วงก็จะสามารถรวบรวมแฟนเพลงตัวเองมาที่ไลฟ์เฮาส์ เด็กๆ ก็จะมีโอกาสได้เล่นดนตรีเยอะขึ้น

สิ่งที่ผมค้นพบที่ญี่ปุ่นคือนักดนตรีที่นู่นบาลานซ์เสียงจากเครื่องดนตรีตัวเองเก่งมาก คือกว่าที่วงจะมีแฟนเพลงมากพอที่จะออกอัลบั้ม เขาต้องผ่านการเล่นไลฟ์เฮาส์มาเป็นพันครั้งเลยฮะ เมื่อเขาต้องลุยด้วยตัวเอง เทียบกับยุคเราตอนทำ 7thSCENE เราทำเพลงจากบ้าน เราเข้าค่าย เราปล่อยอัลบั้ม ตอนไปเล่นที่ผับครั้งแรกๆ เรากลายเป็นเด็กบ้านๆ ที่ทุกอย่างบนเวทีมีคนเซตให้เรียบร้อยหมดเลย กลายเป็นว่าเราขาดซาวนด์เอนจิเนียร์ คนที่คอยคุมบาลานซ์ให้เราไม่ได้ 

แต่ไอ้เด็กญี่ปุ่นที่เติบโตมากับไลฟ์เฮาส์เนี่ย เขาแทบไม่ต้องการซาวนด์เอนฯ ทุกอย่างเขาบาลานซ์ด้วยมือเขาเองหมดเลย ตลอดเวลา 3-4 ปีที่ทัวร์ วงพวกนี้เล่นโดยไม่พึ่งบุคลากรนอก เขาเลยเก่งเรื่องการฟังเอามากๆ ซึ่งผมว่านี่เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดของนักดนตรีเลยนะ

 

ช่วงนี้เราได้ยินคุณพูดบ่อยครั้งว่ามีความสุขกับการทำงานมาก อะไรส่งผลให้คุณมีความสุขกับมันมากขนาดนี้

เรามีช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่มีความสุขเฉยเลยเว้ย มันคือช่วง 5-6 ปีก่อน ตอนนั้นอาชีพการงานเราดีมากเลยนะ ทำเพลงอะไรออกมาคนก็อินหมดเลย The Voice ก็พีคเอามากๆ แต่ข้างในเราไม่มีความสุข ไม่รู้ทำไมเราถึงเบื่อ เรารับมือกับใจตัวเองไม่ไหว อาจเพราะความเห็นต่างๆ มันเยอะมาก ทั้งความสำเร็จ คำชื่นชม ความเกลียดชัง ตัวเราก็ดันเกลียดตัวเองในวันนั้น

งานเพลงเป็นงานละเอียดอ่อน เราใช้หัวใจในการเขียนเพลง ใช้หัวใจในการเล่น เวลาเล่นดนตรีเราต้องไม่มีกำแพงกับคนดู เล่นแล้วเราเอนจอย มันเลยค่อนข้างละเอียดอ่อนกว่า พอหัวใจมันไม่ดีแล้วเจตจำนงก็ไม่ดีตาม งานเลยออกมาไม่ดีด้วย ตอนนั้นเพลงเราประสบความสำเร็จ มีคนชื่นชมมากก็จริง แต่ข้างในเราไม่ได้รู้สึกตามเลย

ตอนนั้นในใจคืออยากเลิกเล่นดนตรีแล้ว ภรรยา (นิว–จีริสุดา ศรีวัฒน์) เห็นความดาร์กมืดมนในจิตใจผมก็เลยพาไปญี่ปุ่น แล้วก็แนะนำว่าลองไปทำเบื้องหลังไหม ทำในไทยไม่ได้ตังค์ไม่เป็นไร เราไปทำเมืองนอกกัน เขาก็ติดต่อกับคนที่เอาวงญี่ปุ่นมาที่ไทย ปรึกษาว่ามีหนทางไหนบ้างไหมที่เราจะได้ไปทำงานเบื้องหลังที่เมืองนอก จนสุดท้ายเราก็ได้ลองแต่งเพลง ทำอะไรที่หลุดกรอบเดิมๆ

หลังอัลบั้ม Sci-Fi เราเลยหายไปจากวงการเพลงไทยพักหนึ่ง ระหว่างนั้นเราก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ค่อยๆ กลับมาสนุกกระทั่งกลับมาเป็นปกติ ความรู้สึกของผมตอนนี้เหมือนกับคนที่เลิกกับแฟนแล้วกลับมาคบกัน เราเลิกกับดนตรีแล้วกลับมาเจอมันใหม่ เป็นช่วงฮันนีมูนที่มีความสุขจนเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย เราเสียดายเวลา 3 ปีที่ไม่มีความสุขกับมัน 

 

ในวันที่คุณกลับมา เคยนึกย้อนไปไหมว่าสาเหตุจริงๆ ของมันคืออะไร

เราว่าเราคาดหวังอย่างอื่นมากกว่าการเล่นดนตรี เมื่อก่อนเราทำดนตรีเพื่อให้คนฟังมาตลอด จนกระทั่งวันที่มันประสบความสำเร็จ เราเริ่มคาดหวังอย่างอื่น เราอยากทำเพลงเพื่อให้คนชม ให้คนรัก แล้วพอตั้งต้นแบบนั้นทุกอย่างมันเลยผิดไปหมด สมมติเราทำด้วยใจที่อยากให้คนชม พอมันมีคนชมมาจริงๆ จิตใจก็จะยิ่งอยากให้เขาชมอีก ชมยิ่งกว่านี้อีกสิ แย่กว่านั้นคือมีคนด่าเท่านั้นแหละ จิตใจมันแตกเลยนะ

พออะไรต่างๆ เข้ามาเยอะ เหมือนเราเมาหมัดจนเราหลงทาง จนเราเป๋ไป แทนที่เราจะทำเพลงเพราะชอบมันเหมือนเดิม พอเริ่มรู้สาเหตุว่าจุดมุ่งหมายมันผิด วันนี้เราหันใบเรือกลับมาได้ เรารู้สึกดีทุกครั้งที่มีโอกาสได้เล่น เราเอนจอยทุกโมเมนต์ที่มันเกิดขึ้น อย่างคืนนี้เราไปเล่นที่โรงเบียร์ เมื่อก่อนเรากังวลนะว่าคนเขาชอบเพลงเพื่อชีวิตมากกว่าเพลงเราไหมนะ แต่พอเรามีจุดมุ่งหมายที่จะเล่นดนตรีเพียงแค่นี้จริงๆ เราก็จะเล่นมันโดยที่ไม่กลัวอะไรเลย

นอกจากได้ความสุขกลับมา เหตุการณ์นี้มันให้บทเรียนอะไรกับคุณอีกบ้าง

มันบอกเราว่าถ้าวันนี้เราไม่ประสบความสำเร็จเท่าเก่า ต่อให้มีคนจำนวนน้อยมากที่มาดูเราเล่นคอนเสิร์ตเพราะเขาชอบเพลงเราจริงๆ เราจะรู้สึกว่ารอบข้างยังมีคนกลุ่มนี้ที่สนับสนุนเราอยู่นะ เมื่อก่อนเนี่ยเราแทบจะมองไม่เห็นพวกเขาเลยเพราะจิตใจที่มันปิด มันมืดมนจนมองไม่เห็นอะไรเลย

วันนี้เราอยากให้คนที่ได้ดูเราเมื่อ 3-4 ปีก่อนกลับมาดูเราอีกครั้ง เราอยากให้ทุกคนได้เห็นว่าแววตาเราไม่เหมือนเดิมแล้วนะ กลับไปดูเทปที่เขาเล่นเนอะ (หันไปมองภรรยาที่นั่งอยู่ไม่ไกล) นิวก็บอกว่าแววตาเรามันคนละเรื่องกับตอนนี้เลย แล้วตอนนั้นเราอ้วนกว่านี้มาก สิบกิโลฯ เลยมั้ง เป็นช่วงที่เราอ่อนแอจริงๆ แต่ก็มีนิวนี่แหละที่พาเราไปเห็นว่าชีวิตไม่ได้มีแค่นี้นี่หว่า

 

คุณโชคดีมากเลยนะที่มีคนนี้อยู่ข้างๆ 

เหมือนว่าทั้งชีวิตเราไม่ได้เตรียมการเพื่ออย่างอื่นเลย เราอยากเป็นนักดนตรีอย่างเดียว พอเราเฟลด้วยตัวเราเอง เรางงเลยว่าควรทำอะไรต่อ นิวเลยต้องรับบทเป็นคนพาเราไปนั่นไปนี่ อย่างทุกวันนี้ที่เราเปิดค่ายเพลง เราเป็นศิลปิน อย่างมากที่สุดก็คือจัดแจงตัวเอง คิดนั่นคิดนี่บ้าง แต่นิวเป็นเหมือนคน 11 คนในคนเดียว เพราะนิวดูแลแทบจะทุกอย่างที่เกี่ยวกับค่าย คนที่เป็นเจ้าของค่ายจริงๆ คงเป็นนิวมากกว่า (หัวเราะ)

เราว่าทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นตอนนี้ก็มาจากตอนนั้นแหละที่คนด่าเรา เราเจ็บ เราวิ่งหนี เราลุกขึ้นสู้อีกครั้ง เรากลับมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าให้พูดจริงๆ เราต้องขอบคุณวันเหล่านั้น ไม่งั้นเราคงไม่เห็นช่องทางอื่นที่ทำได้ เราอาจจะไม่มีความสุขกับอาชีพนักดนตรีเท่าตอนนี้ก็ได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!