Singapore Design Scene ว่าด้วยทัศนียภาพทางการออกแบบ คุณภาพชีวิต และธุรกิจของสิงคโปร์

Shigeru Ban, เมือง Milan และอีกมากมายที่กำลังร่วมออกแบบ ‘อนาคต’ กับประเทศสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็นประเทศที่พัฒนาตัวเองไม่เคยหยุด สังเกตได้จากการก่อสร้างที่ไม่เคยหมด สถานที่ใหม่ๆ โครงการใหญ่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และในตอนนี้สิงคโปร์ก็กำลังจับมือกับนานาประเทศเพื่อ ‘ออกแบบ’ หนทางสู่อนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา Singapore Design Council ได้นำเสนอ ‘Singapore Design Week 2024’ ในธีม ‘Designing Futures’ โดยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างน่าประทับใจ

ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีธุรกิจและลงทุนจากประเทศใหญ่ๆ ของโลกเป็นทุนเดิม การสร้างความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ตามมาเป็นลำดับ

ประเด็นต่างๆ ที่สิงคโปร์กำลังมุ่งเป้าไปเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต มีทั้งเรื่องสถาปัตยกรรมและความยั่งยืน ธุรกิจและการออกแบบ สุขภาพกายและสุขภาพใจ

สถาปัตยกรรมและอนาคตแห่งความยั่งยืน (Design for the Future of Sustainability)

ความยั่งยืนคืออะไร?

ความยั่งยืนก็คือการที่เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงในระยะยาว

ภาพของความยั่งยืนในสายตาของประเทศสิงคโปร์ คือสภาพภูมิประเทศที่ปลอดมลพิษ ธรรมชาติกับมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ความเจริญของเมืองและธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

แล้วส่วนสำคัญที่สร้างให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ก็คือ ‘สถาปัตยกรรม’

ชิเงรุ บัง (Shigeru Ban) สถาปนิกอันดับต้นๆ ของโลกชาวญี่ปุ่น มาร่วมบรรยายและแสดงความคิดเห็นในเรื่องอนาคตของความยั่งยืน

ลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมในแบบของ ชิเงรุ บัง คือการสร้าง ‘ที่อยู่อาศัย’​ และ ‘ที่พักพิง’ ของมนุษย์ ด้วยการผสมผสานวัสดุจากธรรมชาติอย่างไม้และวัสดุรีไซเคิล เข้ากับนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรม ผลงานของ ชิเงรุ บัง มีทั้ง Mount Fuji World Heritage Center ที่จังหวัดชิซึโอกะของญี่ปุ่น อาคาร Center Pompidou แห่งใหม่ในฝรั่งเศส (ร่วมกับสถาปนิกชาวฝรั่งเศสชื่อว่า ‘Jean de Gastines’)

แล้วในครั้งนี้ ชิเงรุ บัง ได้มาร่วมแชร์มุมมองของเขาให้กับชาวสิงคโปร์ได้รับฟังกัน…

ส่วนในภาคธุรกิจ สิงคโปร์มาพร้อมกับแบรนด์มูจิ เพื่อแสดงถึงตัวเลือกที่นำสู่ความยั่งยืนจากมุมมองของธุรกิจแฟชั่น

เสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่มนุษย์สวมใส่ และปริมาณเครื่องแต่งกายที่ธุรกิจผลิตแฟชั่นขึ้นมา แบรนด์สามารถเพิ่มการใช้เส้นใยธรรมชาติในการทอเสื้อผ้า และนำเทคนิควิธีจากท้องถิ่นมาเข้ามาใช้

ในปีนี้มูจิจึงได้ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ชาวสิงคโปร์ในหัวดังกล่าว เพื่อให้หนทางสู่ความยั่งยืนใกล้เข้ามามากยิ่งขึ้น

ธุรกิจและการออกแบบ

‘ธุรกิจ’ ขับเคลื่อนให้สิงคโปร์เป็นประเทศแถวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การที่สิงคโปร์และเมืองมิลานจัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างดีไซเนอร์ชาวสิงคโปร์และอิตาเลียน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของความร่วมมือของทั้งสองประเทศ

เมือง ‘มิลาน’ เป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจและการออกแบบของประเทศต้นแบบงานดีไซน์ของโลกอย่างอิตาลี เมืองมิลานมีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจบนรากฐานอารยธรรมที่เก่าแก่ ทำให้มิลานกับสิงคโปร์เป็นส่วนผสมที่ลงตัว

ในช่วงเทศกาลงานออกแบบสิงคโปร์ 2023 ที่ผ่านมา สิงคโปร์และเมืองมิลานจึงแสดงให้โลกเห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อการออกแบบมาพบกับวัฒนธรรมและนวัตกรรม ผลลัพธ์ก็คืองานดีไซน์ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการใช้งานและรูปลักษณ์ที่น่าพึงพอใจ จากวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งในแบบของสิงคโปร์และอัจฉริยภาพทางการออกแบบของอิตาลี

สุขภาพกาย สุขภาพใจ

ชาวสิงคโปร์ใส่ใจสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง ตามแนวคิดของการแพทย์แผนจีนและอินเดีย โดยมีความเชื่อว่าร่างกายเป็นศูนย์รวมของพลังในการดำเนินชีวิต จึงไม่แปลกที่จะพบเห็นร้านขายสมุนไพรและยาตามหลักแพทย์แผนจีน และคลินิกอายุรเวทตามย่านต่างๆ ในสิงคโปร์

เนื่องจากสุขภาพที่ดีเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิต งานออกแบบเพื่อสุขภาพจึงหยั่งรากลึกในชีวิตประจำวันของชาวสิงคโปร์ ขนาดที่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ไม่ลืมที่จะคำนึงถึงการตอบโจทย์การใช้งานและประสบการณ์ของผู้ใช้ ไม่ใช่เรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว

ลองคิดดูว่าจะเป็นอย่างไรถ้าผู้สูงอายุแกะบรรจุภัณฑ์ขวดยาไม่ออก?

หรือว่าถ้าของเหลวหกในกระเป๋าขณะโดยสารรถไฟใต้ดินในชั่วโมงเร่งด่วน

ชีวิตประจำวันของชาวสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ จึงสามารถใส่ใจเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้

แต่ไม่เพียงแต่เรื่องสุขภาพกายเท่านั้น ‘สุขภาพใจ’ ก็กำลังเป็นประเด็นสำคัญในสิงคโปร์

ตามสถานีรถไฟ MRT จะพบเห็นป้ายรณรงค์เรื่องการใส่ใจ ‘ความรู้สึก’ ของผู้อื่น เนื่องจากมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกัน การดูแลความรู้สึกของกันและกันจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ

สำหรับภาคการศึกษา โครงการงานออกแบบของมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มุ่งเน้นในเรื่องนี้

การทำให้ทุกคน ‘มีส่วนร่วม’ และ ‘เป็นส่วนหนึ่ง’​ ของสังคม (Inclusivity) ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีโอกาสน้อยกว่าเรา และทุกๆ คน เป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงในตอนนี้

เพราะสภาพจิตใจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก แตกต่างจากสุขภาพกายที่เพียงแค่ตรวจเช็คก็ทราบผล แต่ความรู้สึกของมนุษย์ไม่เคยอยู่นิ่ง ผันแปรตลอดเวลา ทำให้การ ‘ดูแล’ ความรู้สึกเป็นเรื่องท้าทาย

ประกอบกับการระบาดของไวรัสโควิดตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน สภาพจิตใจของมนุษย์จึงเก็บซ่อนความกลัวและหวาดระแวงเข้าไปในเลเยอร์ที่ลึกมากไปกว่าเดิม

แล้วเราจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร?

สิงคโปร์เป็นประเทศแถวหน้าของเอเชียและในระดับโลก ซึ่งทุ่มเทความพยายามค้นหาเส้นทางสู่ ‘วันพรุ่งนี้’ ที่ดีขึ้น

หลายสิ่งประสบผสสำเร็จออกมาให้เห็นในปีนี้ แต่ก็ยังมีอีกมากมายหลายอย่างที่จะนำมาออกมาพูดถึงในปีต่อ ๆ ไป

อย่างน้อยเราก็เชื่อมั่นได้ว่าอนาคตที่ดีกว่าจะต้องมาถึงในเร็ววันนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

จินนี่ สาระโกเศศ

อดีตบรรณาธิการเนื้อหาของ Thailand Creative & Design Center (TCDC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์กรมหาชน): CEA ตอนนี้จินนี่เป็นนักเขียน อาจารย์รับเชิญ​ นักเดินทาง และคอลัมนิสต์ให้กับ a day