Let’s Glow Singburi ตีความเมืองรองในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ปลุกชีวิตสิงห์บุรีเป็นเมืองการท่องเที่ยวผ่านเทศกาล แสง สี สิงห์

ทำไมต้องสิงห์บุรี? 

ไปทำอะไรที่สิงห์บุรี?

คำถามที่ตามมาหลังจากคุยให้คนรู้จักฟังว่ากำลังจะไปเยือนจังหวัดสิงห์บุรี ในโอกาสที่กำลังจะจัดงานเทศกาล แสง สี สิงห์ (Let’s Glow Singburi) ในรอบพิเศษนี้ ทำให้เรามองจังหวัดเล็กๆ ที่มีขนาดเป็นลำดับ 74 จากทั้งหมด 77 จังหวัดของประเทศไทยเปลี่ยนไป 

สิ่งที่ทำให้เราสนใจจังหวัดสิงห์บุรีคือเรื่องเล่าและเกร็ดทางประวัติศาสตร์ที่มีเลือดเนื้อของ ‘คนสิงห์’ ไหลวนอยู่ในนั้นด้วย ประวัติศาสตร์เมืองที่มีคนเป็นคนสร้าง และส่งไม้ให้คนรุ่นใหม่สานต่อ

ว่ากันว่าถ้าอยากรู้จักจังหวัดไหนให้ดูจากคำขวัญประจำจังหวัด คำขวัญประจำจังหวัดสิงห์บุรีคือ ถิ่นวีรชนคนกล้า คู่หล้าพระนอน นามกระฉ่อนช่อนแม่ลา เทศกาลกินปลาประจำปี ทำให้เราพอจะเห็นจุดขายของเมืองๆ นี้อย่างคร่าวๆ ได้บางส่วน

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่ก็ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม จุดเด่นที่เคยมีอาจไม่สามารถดึงดูดนักเดินทางเยาวรุ่นและคนเจนใหม่ได้เหมือนแต่ก่อน 

งานในครั้งนี้เป็นการจับมือกันระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรีและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดึงภาคเอกชนทั้งในส่วนของนักออกแบบ ร้านค้า ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการชาวสิงห์บุรีรุ่นใหม่ ผนึกกำลังกันฟื้นคืนชีวิตชีวาเพื่อทำให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจริง

เทศกาล แสง สี สิงห์ Let’s Glow Singburi จัดขึ้นในวันที่ 18-27 สิงหาคม 2566 เป็นโปรเจกต์นำร่องการท่องเที่ยวจังหวัดรองของจังหวัดสิงห์บุรี จัดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่ที่สุดตลอด 10 วัน 10 คืน ติดตามรายละเอียดและตารางกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ เพจ Sang See Sing-แสงสีสิงห์

ในครั้งนี้เราจึงชวนมาตามเก็บ 5 จุดเช็กอินในเทศกาลแสง สี สิงห์ ที่อยากให้คุณไปสัมผัสเสน่ห์ของเมืองสิงห์บุรี ผ่านคอนเซ็ปต์การท่องเที่ยวในชื่อ Contemporary man-made tourism products ใส่ความป็อปให้เรื่องราวของเมืองเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย

1

งานฝีมือพวงมโหตรในอาคารเก่าแก่ที่สุดของเมืองสิงห์บุรี

อาคารศาลากลางหลังเก่า (ร.ศ. 130) ได้รับการปรับโฉมให้เป็น ‘มิวเซียมสิงห์บุรี’ แหล่งความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม พาผู้ชมย้อนกลับไปถึงหลายพันปีของพื้นที่บริเวณที่ยืนอยู่นี้เพื่อแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองในอดีต

ลงจากรถได้เห็นภายนอกของสถาปัตกรรมยุคโคโลเนียล ตัวอาคารสีเหลืองอร่ามหลังคาสีแดงสด หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2454 ก็สร้างความประทับใจแรกให้เกิดขึ้น เพราะผู้บริหารจังหวัดเห็นคุณค่าและรักษาไว้อย่างดี เป็นเอกลักษณ์ที่เหมาะกับการเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองรวมถึงนักท่องเที่ยว

มิวเซียมสิงห์บุรี ถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างสนุกสนานย่อยง่าย ผู้เข้าชมสามารถปฏิสัมพันธ์กับงานที่จัดแสดงไปด้วย แบ่งออกเป็นนิทรรศการทั้งหมด 8 เรื่อง อาทิ ห้องจัดแสดงทรัพย์ในดิน บอกเล่าความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมผลิตภาชนะดินเผา ‘ไหสี่หู’ ในสมัยอยุธยาเป็นสินค้าส่งออกไปไกลถึงทวีปแอฟริกา มีการค้นพบเตาเผากว่าร้อยแห่งกระจายตัวอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรี นำเสนอบนผนังให้เราสามารถเข้าไปหมุนพวงมาลัยเรือ เดินทางไปตามเส้นทางในอดีต มาต่อด้วยห้องจัดแสดงทรัพย์สลาย เป็นการนำเสนอจุดตกต่ำของเตาเผาเดิมจนมาสู่เหตุการณ์บ้านบางระจัน ซึ่งใช้อินเทอร์แอ็กทีฟให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างอาวุธมาใช้ในศึกสงคราม เป็นต้น

ก็ไม่แปลกใจเมื่อรู้ว่ามีมิวเซียมสยามเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบและเรียงร้อยเรื่องราวให้อยู่เบื้องหลัง

มาต่อกันด้วยกิจกรรมน่ารักๆ สอนทำพวงมโหตร (พวง-มะ-โหด) เป็นเครื่องแขวนโบราณที่คนในต่างจังหวัดใช้ห้อยกันในงานบุญ งานมงคลต่างๆ มีชื่อเรียกในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป เช่น คนในจังหวัดเลยหรืออุดรธานีเรียกพวงมาลัย เป็นศิลปะการตัดกระดาษที่ต้องใช้ทักษะและสมาธิ

กิจกรรมในครั้งนี้สอนโดยคุณครูรุ่นใหญ่ อ.อำภา พิลาวัลย์ และ คุณบังอร จันโนทัย ผู้ใจดีและใจเย็นกับเด็กๆ เจเนอเรชันอยู่ไม่ค่อยสุขแบบเราและน้องๆ ผู้ร่วมทริป จนได้ออกมาเป็นพวงมโหตรของตัวเองติดไม้ติดมือกลับบ้านไปแขวนรับสิ่งมงคล 

2

หลงแสงที่เมืองสิงห์

จากปากคำของช่างภาพ a day ผู้เป็นชาวเมืองสิงห์บุรีโดยกำเนิดบอกกับเราว่า คนแถวนี้สองทุ่มก็ปิดไฟเข้านอนกันแล้ว กิจกรรม Neon Light Art บนอาคารเก่าในตัวเมืองจึงเป็นการเติมไฟ ปลุกความตื่นตาตื่นใจให้กับบริเวณเส้นทางสายกราฟฟิตี้ที่มีระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร และถือได้ว่ายาวที่สุดในประเทศเชียวนะ

โดยในแต่ละไอคอนของ Neon Light Art ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านบางระจัน ดอกทองอุไร หรือ ปลาช่อนแม่ลา เป็นการสะท้อนเอกลักษณ์ประจำจังหวัด และเพิ่มกิมมิกความเป็นชาวสิงห์ด้วยไอคอนหัวใจ สื่อถึงคนใจสิงห์-ใจกล้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ใส่ไว้ในทุกองค์ประกอบ เห็นถึงความเอาใจใส่และความน่ารักในทุกรายละเอียด

นอกจากนี้ยังเป็นการจุดประกายให้คนรุ่นใหม่เห็นศักยภาพของ ‘เมืองรอง’ แห่งนี้ เลี้ยวกลับมาพัฒนาและสร้างสีสันให้จังหวัดนี้ไปด้วยกัน ผ่านการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับศิลปะและการพูดคุยแลกเปลี่ยนความสนใจ ไปจนถึงสร้างธุรกิจใหม่ให้กับจังหวัด เพื่อทำให้สิงห์บุรีไม่เงียบเหงา กลายเป็นเมืองที่มีแต่ผู้สูงอายุแบบในภาพจำเดิม

3

Crosswalk และ เส้นทางตามล่าเก็บ ‘ใจ ใจ สิงห์’ ผ่านแพลตฟอร์ม WABU

ภาพเพนต์บนถนนใจกลางเมืองขนาดใหญ่ที่มีสีสันสดใส ชวนให้อยากจูงเพื่อนเดินข้ามเลียนแบบหน้าปกวงดนตรีสี่เต่าทอง หรือจะถ่ายจากมุมสูงก็ได้ภาพเท่ๆ โพสต์ลงโซเชียล เป็นคอนเทนต์ที่ต้องมาเยือนที่นี่เท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งสีสันของเทศกาลแสง สี สิงห์

นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมชื่อเรียกน่าเอ็นดู ‘ใจ ใจ สิงห์’ ให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางค้นหาด้วยตัวเองผ่าน WABU (วาบุ) Walking Buddy แพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในรูปแบบของ Digital-Self-Walking-Guide เพื่อนที่จะพานักท่องเที่ยวไปยังแลนด์มาร์กสำคัญภายในงาน เป็นกิมมิกให้คนเดินสำรวจเมืองโดยรอบ สัมผัสวิถีชีวิตคนในชุมชน ร้านค้า และบริการท้องถิ่น สร้างการมองเห็นเป็นวงกว้าง สามารถต่อยอดให้เกิดการจับจ่ายสินค้าและงานคราฟต์ของชาวสิงห์บุรีได้ต่อไป

4

ร้านอาหารรสมือแม่ (ข้ามไปถึงรุ่นแม่ของแม่)

แจกหมุดเมนูและร้านอาหารต้องห้ามพลาด เริ่มกันที่บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังไอเดียใหม่ๆ ที่เคยทำให้สิงห์บุรีรุ่งเรือง เฮียปอ-กิตติพงษ์ ตั้งประกอบกิจ แห่งร้านเจริญทิพย์ ร้านอาหารอายุกว่า 70 ปี ที่มีเมนูเด็ดมัดใจคนชอบอาหารรสชาติเข้มข้นถึงเครื่อง อาทิ เมนูเรียกน้ำย่อย ยำมะม่วงสูตรพิเศษ ทอปปิ้งด้วยปลาเส้นทอดกรอบราดน้ำยำรสเปรี้ยวกระตุ้นความอยากอาหาร คนในโต๊ะตักกินกันเกลี้ยงไม่รออาหารจานหลักเลยทีเดียว 

ต่อกันด้วยเมนูต้มยำพุงไข่ปลาช่อน ซดน้ำแซ่บๆ ถึงใจ ตบท้ายด้วยจานเชิงปลากรายทอดชิ้นใหญ่ แป้งกรอบแทะกันจนแมวร้องไห้

แต่นอกจากการเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านอาหาร เฮียปอลาบวชออกมาสานฝันของตัวเองด้วยการเป็นเจ้าของโรงหนัง ‘คู่รักรามา’ ในปี 2519 (ชาวบ้านเรียกกันตามชื่อหนังยอดฮิตในสมัยนั้น) ออกแบบโครงสร้างด้วยการใช้ศิลปะแบบ Art Deco มีชื่ออย่างเป็นทางการ ‘เมืองทองรามา’ ปัจจุบันปิดตัวอย่างถาวร

เฮียปอ เริ่มผันตัวมาเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายและผู้สร้างภาพยนตร์ในอดีต จนขยายต่อเป็นธุรกิจหนังสายเหนือขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนทำให้เศรษฐกิจในตัวเมืองคึกคักในอดีตมีโรงภาพยนตร์ไม่น้อยกว่า 3-4 แห่งในจังหวัดสิงห์บุรี ‘เมืองทองรามา’ ได้รับการขนานนามให้เป็นโรงหนังที่โก้และใหญ่ที่สุดในบริเวณกลุ่มจังหวัดสายเหนืออีกด้วย

สำหรับใครชื่นชอบร้านอาหารแบบสตรีทฟู้ด ขอแนะนำแรงๆ กับร้าน ‘ผัดไทยสิงห์บุรี’ ตั้งอยู่บริเวณใต้โรงภาพยนตร์เมืองทองรามา ถนนหน้าเขื่อน ร้านเล็กๆ ที่มีคุณป้าตั้งใจผัด ใส่เครื่องหนัก มีสองเมนูแนะนำ ได้แก่ ผัดไทยและขนมเบื้องสูตรดั้งเดิม หอม กรอบ อร่อย สั่งแล้วต้องใจเย็นๆ กันสักนิดเพราะคิวยาวไม่ใช่เล่นๆ

5

สถาปัตยกรรมยุค Mid-Century Modern และโรงแรมถูกที่สุดในประเทศ

แถมท้ายสำหรับใครที่หลงใหลเรื่องเมืองและสถาปัตยกรรม อยากแนะนำให้ลองมองสูงๆ เข้าไว้ เพราะอาคารบริเวณอำเภอเมืองของจังหวัดสิงห์บุรีเท่ไม่แพ้ใคร ทั้งโรงภาพยนตร์เมืองทองรามาที่มีงานออกแบบโดยเฉพาะบันไดวนคล้ายกับโรงภาพยนตร์สกาลาแห่งสยามสแควร์ ตัวอาคารถอดแบบสไตล์มาจากยุค Mid-Century Modern เป็นการแสดงให้เห็นร่องรอยของความรุ่งเรืองในอดีตที่ยังหลงเหลือผ่านกาลเวลา

ถ้ายังมีเวลาสามารถเดินไปชม ‘โรงแรมสันติสุข’ ที่พักราคาถูกที่สุดในประเทศไทย 1 คืน 50 บาท เท่านั้น ยังใจดีแถมดาดฟ้าให้ขึ้นไปชมวิวเมืองสิงห์แบบไม่คิดเงินเพิ่มอีกด้วย

ไหนๆ จังหวัดสิงห์บุรีก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘ดินแดนแห่งแม่น้ำสามสาย’ กิจกรรมที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การพายซับบอร์ด นำทีมโดย คุณปิติภัทร ม่วงงาม เจ้าของร้าน เดอฌองคาเฟ่ (De’ Champ Café) ร้านสุดชิลริมถนนมุ่งตรงสู่วัดพิกุลทอง เป็นผู้ให้คำแนะนำและจัดหาอุปกรณ์ก่อนลงน้ำ เส้นทาง 8 กิโลเมตร สนนราคาอยู่ที่ 500 บาท ได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบเปียกปอนจริง แต่ก็สนุกสนานเรียกรอยยิ้มและกำลังใจจากเพื่อนร่วมทริป

ถือได้ว่าเทศกาล ‘แสง สี สิงห์’ ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ผ่านการใช้เทคโนโลยีเข้ามากระชับระยะห่างให้ใกล้กันมากขึ้น การตีความประวัติศาสตร์และเรื่องราวผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่ที่มีต่อเมืองบ้านเกิดของพวกเขา และรอการปลุกให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ แทนที่การเป็นเมืองผ่านไปสู่จังหวัดอื่นเหมือนที่เคยเป็นมา

ภาพ: กุลชนาฎ เสือม่วง และ สมัชชา อภัยสุวรรณ


อ้างอิงข้อมูลจาก

https://shorturl.asia/mZRK0

https://www.singburi.go.th/_2017/content/municipality

https://www.museumthailand.com/th/museum/Museum-Singburi

https://www.thaipost.net/tac/travel-news/422076/

http://www.tong-en.com/article/2/content/205/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream