ตำนานรัก โรมิโอกับจูเลียต จากบทกวีเชกสเปียร์สู่การตามรอยความรักในบ้านจูเลียต

วันวาเลนไทน์นี้จะไปไหน

ท่ามกลางช่วงเวลาที่รักแท้เป็นเหมือนภาพลวงตา ประโยคๆ นี้กลายเป็นคำถามที่ระคายสำหรับหลายคน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ

ความเชื่อในรักแท้ และการหลงรักแบบทุ่มสุดตัว เป็นสิ่งต้องห้ามของโลกปัจจุบัน

หลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่คนเดียว บางคนรู้สึกว่าความโดดเดี่ยวควรค่ามากกว่าความผิดหวัง

แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ยังมีผู้คนอีกนับล้านบินข้ามน้ำ ข้ามทะเลไปยัง
‘บ้านของจูเลียต’ ในเมืองเวโรนา ประเทศอิตาลี 

หรือสิ่งนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าลึกๆ ในใจของเรา ยังเชื่อใน ‘ความรัก’ อยู่…

เวโรนา บ้านเกิดของตำนานโรมิโอและจูเลียต

ระหว่างทางไปยังกรุงมิลาน ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอิตาลี และเมืองมรดกโลกอย่างเมืองเวนิส เป็นที่ตั้งของ ‘เวโรนา’ เมืองเล็กๆ นอกเส้นทางหลัก แต่กลับมีนักเดินทางไปเยือนมากติดอันดับของประเทศอิตาลี

การเดินทางมายังเมืองเวโรนา ค่อนข้างสะดวกสบาย นั่งรถไฟหรือรถบัสจากเมืองใหญ่ๆ ทางตอนเหนือของอิตาลีมาได้ ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

เมืองเก่าเมืองนี้มีความเป็นมาย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล มีคุณค่าทางประวัติศาตร์และสถาปัตยกรรม เป็นที่ตั้งของโรงละครโรมันและอาคารอนุรักษ์เก่าแก่ และเป็นอีกหนึ่งในเมืองที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกโดย องค์การยูเนสโก

เวโรนามีความพร้อมในการเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่สาเหตุหลักที่นักเดินทางมุ่งหน้ามายังที่แห่งนี้ ไม่ได้เป็นเพราะอารยธรรมโบราณหรือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพราะ ‘เวโรนา’ เป็นเมืองที่มาของตำนานความรักอมตะ ชนะใจคนทั้งโลกที่ชื่อว่า ‘โรมิโอกับจูเลียต’ 

‘โรมิโอกับจูเลียต’ บทละครอันดับหนึ่งของเชกสเปียร์

ตำนานพื้นเมืองเก่าแก่จากอิตาลีที่กลายเป็นเรื่องสั้นในประเทศอังกฤษ เป็นแรงบันดาลใจให้เชกสเปียร์เขียนบทละครเรื่อง ‘โรมิโอและจูเลียต’ ขึ้นเมื่อช่วงปลายสมัยเอลิซาเบธ หรือศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคทองของวรรณคดีอังกฤษ

กรุงลอนดอนในเวลานั้นเฟื่องฟูทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม ศิลปะการแสดงละครเวทีได้รับการยกย่อง การแสดงออกซึ่งสติปัญญาและความรู้เป็นมาตรฐานทางสังคม แล้วเชกสเปียร์และบทละครเวทีเรื่อง ‘โรมิโอกับจูเลียต’ ของเขาก็เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวของยุค

ในบทละครเรื่องโรมิโอกับจูเลียต เชกสเปียร์บรรยายภาพให้เวโรนาเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยอำนาจของสองตระกูลยักษ์ใหญ่คือ ตระกูลมองตากิวของโรมิโอ และตระกูลคาปูเลตของจูเลียต แล้วความขัดแย้งของทั้งสองตระกูลก็เป็นสาเหตุหลักของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

ถ้อยคำที่เชกสเปียร์ใช้บรรยายในบทละครโรมิโอกับจูเลียต สะท้อนให้เห็นถึงความรักและสัจธรรมของชีวิตในแง่มุมต่างๆ แต่ที่เด่นที่สุดคือการให้ความสำคัญกับ ‘ชื่อเรียก’ แทนการมองถึงคุณค่าที่อยู่ภายในมนุษย์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายองก์ของเรื่อง

บ้านจูเลียต ณ เมืองเวโรนา

ท่ามกลางความวุ่นวายในเมืองเล็กอย่างเวโรนา จะสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวพร้อมใจกันเดินตรงไปยังสถานที่เดียวกัน 

‘Casa di Giulietta’ หรือว่า ‘บ้านจูเลียต’ ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ​ของเมือง แต่สังเกตเห็นง่าย เพราะทุกคนต่างมุ่งหน้ามาที่ยังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

คฤหาสน์ของจูเลียตเป็นพิพิธภัณฑ์สำคัญของเมืองเวโรนา ภายในเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่จากยุคกลางของยุโรป บ้านหลังนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่หรือว่ากว้างขวางมากตามความหมายของคำว่า ‘คฤหาสน์’ ในปัจจุบัน แต่สิ่งนี้เป็นลักษณะเด่นของสิ่งก่อสร้างในยุคกลางที่ไม่เน้นความหรูหรา ฟู่ฟ่า และไม่นิยมการตกแต่งที่ละเอียดและระยิบระยับ เหมือนอย่างในสมัยหลังๆ 

จุดถ่ายรูปจุดแรกคือ กำแพงจารึกชื่อคู่รัก ที่ผ่านมาการเขียนชื่อตนเองและคนรักลงไปบนกำแพงนี้เป็นเหมือนพยานความรักของผู้ที่มาเยือน แต่ปัจจุบันห้ามไม่ให้เขียนข้อความใดๆ ลงไปอีกแล้ว

ต่อมาเป็นรูปปั้นจูเลียตที่ทำด้วยทองเหลือง ว่ากันว่าหากลูบบริเวณอกขวาของรูปปั้น จะได้พบกับรักแท้ในสักวันหนึ่ง จึงไม่แปลกที่นักเดินทางจะมาต่อแถวเข้าคิวรอกันที่บริเวณนี้กันแน่นขนัด

แต่ส่วนที่มีผู้มายืนรอเป็นจำนวนมากที่สุดที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ ระเบียงที่ยื่นออกมาจากห้องนอนของจูเลียต มุมนี้ก็เป็นสถานที่ซึ่งจูเลียตคร่ำครวญถึงโรมิโอ หลังจากเพิ่งพบกันเป็นครั้งแรกในงานเลี้ยง

“โอ้ โรมิโอ โรมิโอ ๆ ใยท่านเป็นโรมิโอ…” เชกสเปียร์บรรยายความรู้สึกของจูเลียตด้วยความถวิลหาและเจ็บปวด

ในบทละครของเชกสเปียร์ โรมิโอเองก็แอบมองจูเลียตจากสวนด้านล่างของคฤหาสน์อยู่ในตอนนั้น ก่อนที่จะเผยตัวออกมาให้จูเลียตเห็น แล้วทั้งสองก็บอกความรู้สึกรักที่มีต่อกัน ณ ระเบียงแห่งนี้ 

ฉากโรมิโอกับจูเลียตสาบานรักที่ระเบียงห้องนอน จึงเป็นฉากสำคัญที่เชกสเปียร์ใช้ดำเนินเรื่องและผูกปมความรักของทั้งสองในบทละคร แล้วในภาพยนตร์เรื่องโรมิโอกับจูเลียตซึ่งสร้างจากการตีความหรือการดัดแปลงบทละครของเชกสเปียร์ ยังมักใช้ระเบียงนี้เป็นภาพจำอีกด้วย

ทั้งเวอร์ชันภาพยนตร์คลาสสิกโดยผู้กำกับชาวอิตาเลียนที่มีชื่อว่า Franco Zeffirelli ในปี 1968 เวอร์ชันยุค 90 โดย Baz Luhrmann ที่ได้ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ นำแสดง และเวอร์ชันล่าสุดของฮอลลีวูดที่มีชือว่า ‘Letter to Juliet’

เวอร์ชันแรกหาชมค่อนข้างยาก นอกจากในห้องสมุดใหญ่ๆ ที่มีคอลเลกชันรวบรวมภาพยนตร์คลาสสิก ส่วนเวอร์ชันที่ 2 และ 3 ยังมีให้ชมกันในแพลตฟอร์มสตรีมมิง หลายคนจึงคุ้นกับสองเวอร์ชันหลังมากกว่า

แต่ไม่ว่าจะเพราะเวอร์ชันไหน มุมระเบียงห้องนอนของจูเลียตก็เป็นมุมที่มีผู้มายืนโพสต์ท่าถ่ายรูปมากที่สุดในแต่ละวัน

ทฤษฎี เรื่องเล่า ตำนาน และความเชื่อ

แม้ว่าโรมิโอกับจูเลียตจะมีความคลาสสิกอยู่ในใจผู้คนมาเป็นเวลาหลายร้อยปี แต่เรื่องราวความรักของทั้งสองคนยังเป็นที่ถกเถียงกันมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองเวโรนา ไม่ได้เป็นอย่างที่เชกสเปียร์เขียนขึ้นทั้งหมด ความขัดแย้งของทั้งสองตระกูลเป็นเพียงปมสำคัญที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมในบทละคร

ในเชิงประวัติศาสตร์ ตระกูลมองตากิวมีความเฟื่องฟู แต่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับตระกูลคาปูเลตแต่อย่างใด อำนาจสองขั้วเป็นของฝั่งผู้ปกครองเมืองและสันตะปาปาในสมัยก่อนมากกว่า

ส่วนผู้ครอบครองคฤหาสน์จูเลียตในสมัยหนึ่ง ก็เป็นตระกูล Cappello ซึ่งออกเสียงคล้ายกับนามสกุล ‘Capulet (คาปูเลต)’ ของจูเลียต แม้ว่าบ้านหลังนี้มีประวัติศาสตร์ย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 แต่หลายส่วนเพิ่งได้รับการติดตั้งและต่อเติมขึ้นในศตวรรษที่ 20 รวมทั้งระเบียงห้องนอนของจูเลียต

เพื่อให้เป็นตำนานความรักของทั้งสองคน

หลายคนทราบถึงความจริงข้อนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะมายังเมืองๆ นี้

เพราะลึกๆ ในใจแล้ว ยังมีความเชื่อมั่นใน ‘รักแท้’ อยู่ข้างในก็เป็นไปได้

เครดิตภาพ

imdb.com

italia.it
https://www.museiverona.com/casa-giulietta/
https://casadigiulietta.comune.verona.it/nqcontent.cfm?a_id=90895
https://www.empireonline.com/movies/reviews/william-shakespeare-romeo-juliet-review/
https://www.goodlifestyle.si/najvec-voscilnic-dobijo-ucitelji-10-zanimivosti-o-valentinovem/house-and-balcony-of-romeo-and-juliet-is-defaced-with-chewing-gum-and-graffiti-verona-italy-2004/

AUTHOR