Reviv บริการรับซ่อมเสื้อผ้าที่ตั้งใจถักทอวัฒนธรรมใช้ซ้ำและสนับสนุนแรงงานอย่างเป็นธรรม

หากใครที่ติดตามวงการแฟชั่นอยู่แล้วเป็นทุนเดิมจะเห็นว่า แวดวงแฟชั่นพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ ไม่ว่าจะเป็น NGO หลากหลายองค์กรและกลุ่มแอ็กทิวิสต์ต่างๆ ทักท้วงปัญหาในอุตสาหกรรมที่สร้างขยะไว้ปีละหลายล้านชิ้น รวมไปถึงคนรุ่นใหม่เองก็ตื่นตัวกับปัญหาเหล่านี้ จนเริ่มมองหาทางเลือกแบรนด์ที่มีจุดยืนทางสังคม

ไม่แปลกเลยที่ 2-3 ปีมานี้เราจะเห็นแบรนด์ใหญ่ๆ เริ่มขยับตัวเพื่อสื่อสารว่าฉันใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมนะ ผ่านการออกโปรดักต์ที่ติดป้ายไว้ว่าเป็นมิตรต่อโลก ไม่ว่าจะเริ่มหันมาใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ หรือหยิบเอาขยะมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าอีกที

แต่สินค้าใหม่ก็คือสินค้าใหม่อยู่วันยังค่ำ ซึ่งมันก็ไม่ได้ลดปริมาณสินค้าแฟชั่นที่มีอยู่แล้วให้หมดไป หลายกลุ่มจึงเริ่มคิดหาวิธีการให้คนสามารถสนุกกับแฟชั่น แต่อยู่ร่วมกับโลกได้อย่างเป็นมิตร ทั้งชวนคนมาแลกเปลี่ยนเสื้อผ้าในกิจกรรม cloth swap หรือถ้าตัดใจกับโปรโมชั่นของฟาสต์แฟชั่นไม่ได้ก็ต้องซื้อใช้ให้นานขึ้น

แต่ถ้าใครคิดว่าใช้เสื้อผ้าเหล่านี้ไปนานๆ แล้วเสื้อพังก็ต้องซื้อใหม่อยู่ดี เราขอผายมือแนะนำให้รู้จักกับ Reviv บริการรับซ่อมเสื้อผ้าที่จะช่วยต่ออายุเสื้อผ้าของเราให้ใช้ได้อีกยาวๆ

Reviv เริ่มต้นจากกลุ่มคนที่ต้องการสร้างธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยึดภารกิจสำคัญคือ แก้ปัญหาในโลกแฟชั่นที่กระทบต่อโลกด้วยวิธีการง่ายๆ และได้ช่วยสนับสนุนคนในสังคม โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่น 

ผู้ก่อตั้งอย่าง ปอน–อังกูร ไชยปรีชาวิทย์, ปิง–ศรวุฒิ ปิงคลาศัย, ภูมิ–ภาคภูมิ โกเมศโสภา, ฝ้าย–ฐนิตา เขตกิตติคุณ และพั้นซ์–พิมพ์นารา สินทวีวงศ์ ต้องการสร้างทางเลือกให้ผู้คนได้หันมาหมุนเวียนใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่ให้คุ้มค่าด้วยการรับซ่อมเสื้อที่พังแล้ว และดัดแปลงเสื้อเก่าให้มีสไตล์ใหม่ๆ ด้วยการใช้ช่างเย็บจากชุมชนเล็กๆ หรือแรงงานที่มีฝีมือตัดเย็บอยู่แล้ว โดยสนับสนุนให้พวกเขามีทักษะตอบโจทย์ต่อความต้องการลูกค้า และให้ค่าแรงเป็นธรรมด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ภูมิและฝ้ายมาพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขาทำในวันนี้ อะไรคือเป้าหมายการทำงานของ Reviv ในยุคที่การซื้อของใหม่ยังเป็นเรื่องง่ายและน่าพึงพอใจมากกว่าส่งเสื้อผ้าเก่าไปซ่อม ซึ่งนำไปสู่อีกคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องลงมือทำเพื่อให้บริการซ่อมเสื้อผ้ากลายเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งและมีคุณค่ากับผู้บริโภค ในโลกที่ทุนนิยมผลักดันให้การซื้อ-ขายกลายเป็นเรื่องแก้เครียดในชีวิตประจำวัน

ถักทอวัฒนธรรมใช้เสื้อผ้าซ้ำและสนับสนุนความเป็นธรรมต่อแรงงาน

หากสำรวจตลาดธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม เราได้เห็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเกิดขึ้นมาใหม่ๆ เสมอ Reviv ก็ตั้งใจอยากเป็นหนึ่งในตัวละครนั้นที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนที่เกื้อกูลต่อโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแฟชั่น 

“เมื่อเราพูดถึง circular economy บางคนพูดถึงการเอาเสื้อผ้าไปรีไซเคิลกลับมาใช้ซ้ำ แต่ในความเป็นจริงมันมีวิธีการที่ circular กว่านั้นได้ นั่นคือการใช้ให้นานที่สุด ถ้าพังก็ซ่อม ถ้าซ่อมแต่ไม่อยากใช้แล้ว ก็ส่งไปให้คนอื่นได้ ถ้าไม่ให้คนอื่น ก็ถึงเอาไปสู่กระบวนการรีไซเคิล หรือท้ายสุดถ้ารีไซเคิลไม่ได้ก็ต้องกำจัดอย่างถูกวิธี” ภูมิในฐานะผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาความยั่งยืนมานาน อธิบายให้เราฟัง

“ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่ circular economy ในประเทศไทยยังเน้นเรื่องการทำลูปที่กว้าง คือการรีไซเคิล แต่เราคิดว่าลูปที่ใกล้ควรเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากๆ นั่นคือการใช้ซ้ำหรือการซ่อมเสื้อผ้า เพราะมันเป็นการรักษามูลค่าของตัวเสื้อผ้า และทรัพยากรที่ต้องใช้ผลิตเสื้อผ้าเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรแรงงาน เป็นการรักษาคุณภาพเหล่านั้นให้ใช้ได้นานที่สุดและอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ไม่ต้องไปแตกสลาย ไม่ต้องไปรีไซเคิลใช้พลังงานอื่น”

อีกด้านหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง Reviv ทุกคนเห็นตรงกันว่าถ้าทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในไทยน่าจะมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นปัญหาใต้พรมที่ต้องทำไปควบคู่กันด้วย

“พอเราพูดเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไทย มันยากมากที่จะแยกประเด็นสิ่งแวดล้อมกับประเด็นสังคมออกจากกัน ภูมิเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนให้กับบริษัทสตาร์ทอัพที่เนเธอร์แลนด์ เวลาเราแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุโรป มันผลัก agenda ง่ายมาก มันไม่มีเรื่องความขัดแย้งด้านสังคมที่จะต้องกังวลมากนัก เพราะเขาพัฒนาไปแล้ว”

“แต่บ้านเรามีทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้นต่อให้เราแก้ปัญหาแฟชั่น การผลิตเสื้อผ้ามันก็มีความไม่เท่าเทียมของระบบอยู่ นั่นคือรายได้ที่ไม่เท่าเทียม หรือสิทธิพื้นฐาน สวัสดิการที่เขาควรจะได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีแรงงานคอยสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจประเทศ​เรา แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานในระบบเยอะมาก ยิ่งการทำงานในโรงงานฟาสต์แฟชั่นจะมีบางที่ไปจ้างแรงงานนอกระบบ เพื่อจะได้จ่ายเงินเดือนน้อย ไม่ต้องจ่ายค่าประกันสังคมด้วย”

Reviv จึงเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ตั้งใจแก้ปัญหาเป็นสิ่งแรก และกำไรสำหรับหล่อเลี้ยงองค์กรตามมาทีหลังเพื่อให้ความตั้งใจที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมเกิดขึ้นได้จริง ท่ามกลางการสร้างเทรนด์และสนับสนุนให้คนซื้อของใหม่ในโลกทุนนิยม

ดังนั้น ภารกิจของ Reviv จึงไม่ใช่แค่การรับซ่อมเสื้อผ้า แต่คือการถักทอวัฒนธรรมแฟชั่นอย่างยั่งยืนควบคู่กับเกื้อกูลสังคม ซึ่งทำให้พวกเขามีภารกิจที่เป็นเข็มทิศในการทำงานอยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่ง–ทำให้การใช้เสื้อผ้าซ้ำเป็นเรื่องปกติ เท่ และทันสมัย ผ่านบริการการซ่อมและดัดแปลงเสื้อผ้าเก่าให้กลายเป็นสไตล์ใหม่ๆ สอง–สนับสนุนเศรษฐกิจเกื้อกูลสังคม ทั้งความเป็นอยู่ของแรงงาน สนับสนุนสวัสดิการเป็นธรรม และช่วยเหลือให้ชุมชนที่มีฝีมือมีรายได้จากการทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่น และสาม–พัฒนาทักษะแรงงานช่างเย็บ ให้เพียบพร้อมต่อการไปสู่ fashionable economy 

“เพราะธุรกิจแฟชั่นมันกำลังจะถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยี เครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งตอนนี้ International Labour Organization (ILO) เขาคาดการณ์ว่าแรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นอาจจจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ ถ้าเราจะผลักดัน slow fashion หรือ circular economy ให้โตมากขึ้น เราต้องพัฒนาทักษะแรงงานของคนที่อยู่ในระบบให้มากขึ้นด้วย” 

ส่งเสื้อซ่อมแบบออนไลน์ได้สะดวกและมีคุณภาพ

เมื่อมีภารกิจที่ชัดเจนแล้ว คำถามคือพวกเขาจะเริ่มต้นทำให้สิ่งเหล่านี้สำเร็จได้ยังไงบ้าง ภูมิเล่าว่าเริ่มแรกพวกเขาต้องแบ่งการทำงานออกเป็นหลายส่วน โดยเฉพาะการตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการส่งสารไปถึง ซึ่งในมุมธุรกิจ Reviv ต้องการสื่อสารถึงกลุ่มที่สนใจสิ่งแวดล้อม และกลุ่มคนที่อยากซ่อมเสื้อผ้าแต่ยังหาบริการที่ถูกใจไม่ได้เป็นกลุ่มแรกก่อน 

“เป้าหมายของเราอันหนึ่งคือการสื่อสารธุรกิจให้เน้นการซ่อมสะดวกสบาย แล้วก็หลากหลาย เราอยากทำบริการที่มีคนต้องการซ่อมแต่หาที่ซ่อมไม่ได้ อย่างเช่น เสื้อแบบ jersey หรือสูท โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปซ่อมที่ไหน หรือบางคนมีเสื้อตัวโปรดแล้วอยากซ่อมก็มาหาที่เราได้” ภูมิเล่าแนวคิดของพวกเขา

แต่ถ้ากลับไปหาจุดร่วมของคนที่อยากซ่อมเสื้อผ้า สิ่งหนึ่งที่คนมักกังวลคือ ซ่อมแล้วจะเป็นยังไง จะกลับมาเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมไหม เชื่อใจช่างซ่อมได้แค่ไหน คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทีม Reviv เห็นตรงกันว่าจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าเห็นว่าสินค้าที่นี่มีคุณภาพ ซ่อมได้ตรงใจ และใช้บริการได้สะดวกผ่านออนไลน์

“ถ้าหากเราจะควบคุมคุณภาพงานก็จะต้องทำงานร่วมกับช่างก่อน เราจะมีแบบให้เลยว่าถ้าเย็บจะต้องทำยังไงให้ได้คุณภาพแบบที่เราต้องการ เพราะซ่อมเสื้อผ้าแล้วเราก็ต้องทำให้อยู่ได้นานด้วย ซึ่งตอนนี้เราทำงานร่วมกับชุมชนชาวลี้ภัยชาติพันธุ์ เป็นชาวม้งที่ไม่พูดภาษาไทย เคยมีประสบการณ์ทำงานเย็บผ้ามาก่อน แต่เราก็จะไปอบรม สอนวิธีการทำงานเขาตามคุณภาพที่เราอยากได้” ภูมิพูดขึ้นก่อนที่ฝ้ายจะช่วยเสริม

“แม่ๆ ที่ชุมชนเคยทำงานเย็บผ้าก็จริง แต่เขาไม่ได้มีวิธีแบบเดียวกับที่เราอยากให้ทำ เราเลยจะมีคู่มือแบบ manual ให้ดูว่าอยากให้ทำออกมาประมาณไหน เช่น เย็บตรงฝีเข็มมันควรจะเป็นประมาณไหน เวลาด้านหลังต้องมีผ้าปะ เราต้องเก็บรอยรุ่ยของผ้าปะยังไง หรือถ้าซิปแตก ซิปที่เราเอามาเปลี่ยนต้องเหมือนกับของเดิมมากที่สุด ยกเว้นแต่ว่าลูกค้าบอกว่าอยากเปลี่ยนเป็นอีกแบบ ต้องเย็บแบบไหนถึงแน่น ไม่หลุดง่าย เรามีผลงานให้ดูเลยว่าแบบนี้คือผ่านนะ แบบที่ไม่ผ่านเป็นแบบนี้เพราะอะไร ควรแก้ยังไง”

“อย่างชุมชนม้งที่เราทำงานด้วยอยู่ตอนนี้ พอเขาเห็นเกณฑ์ของเรา เขาบอกว่าดีมากเลยที่มีให้ เพราะจะได้รู้ว่าต้องทำงานออกมาให้เป็นแบบไหน แล้วถ้าเวลางานเขาผิด อะไรกันแน่ที่เขาควรจะแก้ รวมถึงเขาถามด้วยว่าพอมีวิธีไหนที่เราจะรู้ฟีดแบ็กของลูกค้าได้ไหม เพราะเขาอยากพัฒนางาน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราเลย” ฝ้ายเล่าถึงประสบการณ์ที่เธอทำงานร่วมกับชุมชน

เมื่อพัฒนาคุณภาพการซ่อมให้น่าเชื่อถือแล้ว ความยากอีกอย่างคือการนำบริการแบบ customization มาอยู่ในออนไลน์ เราคงนึกภาพออกเวลาตามหาช่างซ่อมเสื้อแล้วอยากบอกความต้องการของเราให้ชัดและเห็นภาพที่สุด แต่ถ้าต้องทำสิ่งเหล่านี้ผ่านออนไลน์ก็ดูจะสื่อสารกันยากกว่าปกติ นี่คือสิ่งที่ Reviv กังวลเช่นกัน พวกเขาจึงพยายามทำให้ความสะดวกสบายกับการ customize อยู่กึ่งกลางในระดับพอดีได้

“เพราะฉะนั้นตัวระบบออนไลน์ของเราจะต้องพัฒนาอินเตอร์เฟซให้ตอบโจทย์ เราจะต้องคิดกันเยอะนิดหนึ่ง เพราะไม่สามารถทำแบบระบบช็อปที่ผ่านมาได้ เช่น ถ้าลูกค้าจะซ่อมเสื้อผ้าเป็นรู จะเอาผ้าแบบไหนมาปิดรู ผ้าใหญ่หรือเล็ก มีลักษณะแบบไหน เราจึงต้องหาวิธีให้ลูกค้าสามารถ specify ได้ว่าอยากจะได้ประมาณนี้ ทำยังไงได้บ้าง”

ภูมิยกตัวอย่างว่าพวกเขาออกแบบระบบอำนวยความสะดวกคือให้ลูกค้าสามารถวาดรูป อัพโหลดส่งให้ช่างเพื่ออธิบายสิ่งที่ต้องการเป็นภาพได้ หรือที่พวกเขาเพิ่งพัฒนาได้ไม่นานคือการนัดเวลาคุยหรือปรึกษาการซ่อมผ่านวิดีโอคอลร่วมกับช่างและทีม Reviv นอกจากนี้ยังมีระบบ tracking system สามารถเช็กได้เลยว่าตอนนี้ถึงขั้นตอนไหนแล้ว

พัฒนาฝีมือแรงงาน และเปลี่ยนมุมมองแฟชั่นให้เป็นธรรมทั้งต่อคนและต่อโลก

นอกไปจากการซ่อมเสื้อผ้าแล้ว Reviv ยังอยากให้คนหันมาหยิบเสื้อเก่ามาดัดแปลงให้เป็นสไตล์ใหม่ๆ กับ Reviv เพื่อลดการซื้อของใหม่ได้อย่างแท้จริง

“แต่ก่อนจะเป็นสเตปนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันอาจจะต้องมีจุดที่ทำให้เขารู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ต้องเจอก่อนว่าลายนี้น่าสนใจ หรือว่าฉันจะเอาเสื้อผ้านี้มาทำอะไร ซึ่งมันแตกต่างกับการซื้อเสื้อผ้าใหม่ เพราะฉันเห็นตัวนี้สวย แค่กดซื้อ จบ เมื่อเทียบกับว่ากว่าเขาจะไปคุ้ยหาเสื้อผ้าเก่ามาเปลี่ยนใหม่มันดูยุ่งยาก

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมตรงนี้ได้ ต้องค่อยๆ สร้างความตระหนักรู้ อาจจะต้องใช้ระบบของกลไกการตลาด สร้างแคมเปญในการเปลี่ยนพฤติกรรม”

หนึ่งในสิ่งที่พวกเขากำลังเร่งมือวางระบบและทำงานร่วมกับชุมชนคือการสร้างลายใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้คนได้เลือกดัดแปลงเสื้อผ้า ซึ่งฝ้ายในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องเทคนิคการเย็บและการออกแบบลายจะคอยหมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนลายใหม่ๆ ในแต่ละเดือน และยังเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ร่วมออกแบบลายเย็บหรือซ่อม และลายตกแต่งเสื้อผ้าไปด้วยกัน

“มีครั้งหนึ่ง เรามีการบ้านให้แม่ๆ ชาวม้งลองทำก่อนทำงานให้ลูกค้าจริง ซึ่งมีคนหนึ่งชื่อแม่ชัว เขาใช้เวลาช้ามากในการทำการบ้านเพราะกลัวทำออกมาแล้วจะผิด ซึ่งตอนส่งงานมาให้เรา ถามว่าผิดไหม คือมันเป็นลายที่ไม่ตรงตามแบบที่เราส่งไป แต่กลับเป็นลายที่เขาทำออกมาอย่างตั้งใจมากๆ แล้วไม่ได้แย่ เราเลยบอกว่าแม่ชัวเดี๋ยวผมเอาลายนี้ไปขึ้นขายด้วยเลยละกัน แล้วก็ตั้งชื่อแบรนด์ว่า slow but chure คือเอาชื่อแม่ชัวมาใส่แทนคำว่า sure” 

“อีกอันหนึ่งเป็นของแม่ฟ้า เราเคยส่งงานให้เขาไปทำ อยากให้แม่ช่วยแกะลายให้ แต่ปรากฏว่าแม่แกะลายเพิ่มอีกอันมาด้วย เราก็บอกว่าชอบครับคุณแม่ ขอ CF เลยครับ เราตั้งชื่อเลยว่า So fah So good เพราะเราอยากสนับสนุนให้แม่ๆ ได้ออกแบบด้วยตัวเองเลย มันอยู่ในมิสชั่นของเราที่ต้องการพัฒนาทักษะ ซึ่งถ้าเขาสู่ fashion economy คุณจะต้องมีความครีเอทีฟ กล้าแสดงความคิดเห็น”

นอกไปจากการพัฒนาทักษะแรงงานแล้ว พวกเขายังสนับสนุนค่าแรงที่เป็นธรรมให้กับชุมชน โดยภูมิอธิบายว่า 45 เปอร์เซ็นจากรายได้ทั้งหมดจะให้กับช่าง แบ่งออกเป็น 33 เปอร์เซ็นต์เป็นรายได้โดยตรง 12 เปอร์เซ็นต์เป็นสวัสดิการของแรงงาน รวมถึงอีก 1 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จะมอบให้กับองค์กรทางสังคมที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนให้มีการขับเคลื่อนของหลายๆ กลุ่มในวงกว้างด้วย

“เพราะฉะนั้น เวลาใครถามว่า Reviv ซ่อมอย่างเดียวใช่ไหม เราจะบอกว่าไม่นะ เราทำธุรกิจตามภารกิจ คือทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้สอดคล้องกับภารกิจของเรา เพราะฉะนั้นในอนาคตเราอาจจะทำโปรดักต์ที่สอดคล้องกับการใช้เสื้อผ้าซ้ำ สอดคล้องกับเศรษฐกิจเกื้อกูลสังคม เราจะปรับเปลี่ยนไปเป็นตัวเลือกอื่นๆ ที่มากกว่าการซ่อมก็ได้” 


ใครสนใจบริการซ่อมเสื้อผ้าของ Reviv ลองกดเข้าไปดูบริการของพวกเขาได้ที่ revivshop.com

AUTHOR