“รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลง (ข่าว)” เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร ประชาไท

Highlights

  • เทวฤทธิ์ มณีฉาย คือบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท สำนักข่าวที่เชื่อมั่นในความจริงและอยู่ข้างหลักการประชาธิปไตย
  • ตลอดอายุ 16 ปีที่ผ่านมา ประชาไทเจอทั้งดอกไม้และก้อนหินจากการนำเสนอข่าวหลายครั้ง แต่เทวฤทธิ์ย้ำกับเราว่าประชาไทจะยังคงนำเสนอข่าวแบบเดิมต่อไป แม้รู้ว่าเสี่ยง แต่ในฐานะของสื่อ นี่คือสิ่งที่ควรทำ

ถ้าจะหาคำจำกัดความไหนที่นิยามสื่อทางเลือกอย่าง ประชาไท ได้ดีที่สุด คำตอบนั้นคงอยู่ในเว็บไซต์ prachatai.com เอง

ส่วนหนึ่งของความเชื่อมั่นและอุดมการณ์ของพวกเขาถูกบรรยายไว้ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

ประชาไทคือหนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บไซต์ที่คณะผู้ก่อตั้งมีแนวคิดที่จะจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมโดยไม่แสวงผลกำไร วัตถุประสงค์คือการเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนและชุมชนต่างๆ ได้มีโอกาสรับรู้และรู้ทันสถานการณ์ของสังคมไทย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางด้านการพัฒนาสุขภาวะ วิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาครอบครัวและชุมชน ตลอดจนการขยายโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศตามเจตนาของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย

ประชาไท

จากความตั้งใจข้างต้น สื่อทางเลือกนี้ได้เดินผ่านกาลเวลาพร้อมกับข่าวที่ตอบสนองความเชื่อมั่นดังกล่าวมาโดยตลอด 16 ปีที่ผ่านมาพวกเขาได้รับมาหมดแล้วทั้งคำชม คำตำหนิ และคำด่าทอ รวมถึงเอาตัวรอดมาได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าสังคมหรือขั้วอำนาจทางการเมืองจะเป็นแบบไหน จวบจนถึงปัจจุบันที่อยู่ภายใต้การบริหารของบรรณาธิการอย่าง เทวฤทธิ์ มณีฉาย

สถานการณ์ช่วงนี้ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาไทเป็นที่พูดถึงและถกเถียงในสังคมในฐานะสื่อที่นำเสนอข้อมูลทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนอย่างตรงไปตรงมา แม้อยู่ในโมงยามที่สายลมพัดแรงแต่พวกเขายังคงยืนหยัดไม่เปลี่ยนแปลง

แต่อะไรที่ทำให้ ‘ประชาไท’ ยังคงเป็น ‘ประชาไท’ ท่ามกลางแรงปะทะที่ถาโถม–นั่นคือเรื่องหลักที่เราสงสัย

และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราได้สนทนากับเขาในวันนี้

ประชาไท

หลักเกณฑ์ในการเลือกทำข่าวของประชาไทคืออะไร

การจะตอบคำถามนี้ต้องไล่ไปถึงต้นกำเนิดของประชาไทเมื่อ 16 ปีที่แล้ว แรกเริ่มเดิมทีประชาไทเกิดมาจากภาคประชาสังคม เหล่า NGOs นักพัฒนา และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ด้วยความที่ช่วงนั้นไม่ค่อยมีสื่อที่นำเสนอเนื้อหาด้านนี้ อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ จึงตั้งประชาไทขึ้นมาเพื่อพูดถึงข่าวด้านนี้โดยเฉพาะ ปัจจุบันเวลาเลือกข่าวแนวคิดนี้ก็ยังอยู่ เรายังคงเลือกจากหลักเกณฑ์แรกเริ่ม ยกตัวอย่างเช่นกรณีตากใบ ที่ถือเป็นข่าวแรกของประชาไทที่ถูกพูดถึงในทางสาธารณะ 

ในเดือนตุลาคมปี 2547 ตอนนั้นมีการชุมนุมของประชาชนที่ สภ.อ.ตากใบเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มคนที่ถูกจับกุม ครั้งนั้นเกิดการสลายการชุมนุมและการขนย้ายผู้ชุมนุมไปที่ค่ายทหารอย่างโหดร้าย สื่อส่วนใหญ่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แบบคร่าวๆ แต่สิ่งที่ประชาไททำในวันนั้นคือการไปสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ญาติ และคนที่เกี่ยวข้อง จนทำให้ข้อมูลอีกชุดหนึ่งออกมาในสังคม ถึงแม้ผลที่ตามมาเราจะกลายเป็นเป้าโจมตีของรัฐบาล แต่เราก็ต้องนำเสนอ เพราะในเรื่องราวเหล่านั้นมันมีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ประชาไทยึดถือเป็นอุดมการณ์อยู่

ดังนั้นถ้าให้สรุปคือทุกวันนี้งานข่าวของเราแบ่งเป็น 2 แบบ คือแบบ passive ถ้ามีใครถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเราจะเข้าไปรายงาน กับแบบ active คืองานเชิงรุกที่เราลงมือตรวจสอบองค์กรและสถาบันต่างๆ ที่ทำสิ่งที่มีผลต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย และงานอีกด้านหนึ่งคือการพยายามสร้างวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ เราพยายามนำเสนอคุณค่าเหล่านี้ขึ้นมาในสังคมไทยเพื่อให้คนดูเห็นว่ามีสิ่งนี้อยู่

 

อะไรคือความยากของประชาไทในฐานะคนนำเสนอข่าว

ถ้าพูดถึงข่าวทั่วไปที่ไม่เสี่ยงมากก็ไม่มีอะไรยากมาก ก็เป็นไปตามปกติที่ต้องตรวจสอบว่าเรื่องราวนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นข่าวที่ประเมินแล้วว่าสุ่มเสี่ยงก็จะยากกว่า เราต้องมาคิดและหาทางออกว่าจะทำยังไงเพื่อให้สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงออกไปได้

ประชาไท

ทำไมไม่เลือกที่จะไม่นำเสนอ เพราะถ้าว่ากันตามตรงก็ปลอดภัยกว่า

ด้วยความที่ประชาไทอยู่มา 16 ปี ด้านหนึ่งเราจึงเป็นเหมือนคลังข้อมูล ดังนั้นผมคิดว่าอย่างน้อยก็ต้องให้ข่าวเหล่านั้นถูกบันทึกไว้ ผมถือว่านี่เป็นหน้าที่ของเรา 

 

สภาวะทางการเมืองมีผลต่อความยากไหม

เราประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนมาตลอดว่าเราคือสื่อที่ชัดเจนต่อข้อเท็จจริงและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นไม่ว่าสภาวะทางการเมืองแบบไหน ผมคิดว่าประชาไทก็ต้องดำเนินการตามแนวทางเดิม แต่ไม่ใช่ไม่มีการประเมินสถานการณ์เลย ทุกวันนี้เรายังคงประเมินว่าในแต่ละข่าวมีความเสี่ยงแค่ไหน เช่น ข่าวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเองก็ผ่านยุคที่โทษทัณฑ์ของการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกจำคุกหลายสิบปี แน่นอนว่าผมมีความกลัวอยู่ในจิตใจอยู่แล้ว เราจึงต้องคิดให้เยอะเพราะมีโอกาสเกิดกรณีที่เลวร้ายที่สุดอยู่เสมอ (นิ่งคิด) แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนใหญ่ประชาไทก็เลือกที่จะลงข่าวแทบทุกครั้งนะ เพราะสุดท้ายเราก็เชื่อในข้อเท็จจริง 

ประชาไท

ในช่วงหลังคุณกังวลเรื่องการลงข่าวบ่อยไหม 

(หัวเราะ) เอาแค่เฉพาะรอบปีนี้ดีกว่า ปีนี้ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 3 ครั้งที่ตอนลงข่าวผมคิดกับตัวเองว่าขาข้างหนึ่งอยู่ในคุกแล้ว 

ครั้งแรกคือตอนที่เรารายงานงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยส่วนตัวผมไม่ได้มองว่าข้อมูลนี้เป็นคุณหรือโทษอะไร ผมแค่
เอาข้อเท็จจริงมาวาง ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่ข้อมูล ผมว่าสิ่งนี้แสดงออกด้วยซ้ำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญ เพราะรัฐบาลต้องเอางบประมาณมาอยู่ตรงนี้ด้วยจำนวนอย่างที่เห็น ดังนั้นด้วยเจตนา ผมไม่ได้มีอะไร แต่ในอีกมุมหนึ่งผมก็เข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเสี่ยง 

เรื่องที่สองคือคำปราศรัยของทนายอานนท์ที่ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ครั้งนั้นผมก็รู้สึกเสี่ยง ถึงผมเองจะคิดว่าสิ่งที่อานนท์พูดไม่ได้มีอะไรผิดกฎหมายหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสที่จะมีคนตีความหาเรื่อง ตีความตามยุคสมัยเก่า ทำให้เรามีโอกาสโดน

และครั้งที่สามคือ 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ครั้งนั้นประชาไทลงเนื้อความทั้งหมดและแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราเป็นสื่อเจ้าแรกที่ทำแบบนั้น สื่อใหญ่ที่ดูมีเกราะคุ้มกันสูงอย่าง BBC ลงแค่ 3 ข้อ แต่นี่เราลงครบทั้ง 10 ข้อ ผมเลยรู้สึกเสี่ยงเหมือนกัน เพราะ worst case คือผมอาจโดนจับโดยไม่ได้ประกันตัว แต่ก็โชคดีที่สุดท้ายรัฐไม่ว่าอะไร 

 

ยังไม่ต้องเข้าคุก

ใช่ อาจเพราะเราไม่ได้เป็นสื่อใหญ่ด้วย เราเป็นแค่สื่อทางเลือก เหมือนหนูที่ราชสีห์ไม่อยากเสียเวลาจับ แต่ก็เพราะเหตุนั้นแหละที่บางสถานการณ์ประชาไทก็อยากเป็นหนูทดลองเสนอข่าวเพื่อขยับเพดานการนำเสนอของสื่อไป เพื่อทำให้สื่อหลักรู้ว่าเขาเองก็สามารถนำเสนอเรื่องนี้ได้ 

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ยอมเสี่ยงเอาขาข้างหนึ่งไปอยู่ในคุก

(นิ่งคิด) มันคือการทำตามหน้าที่ที่ประชาไทได้ประกาศไว้นั่นแหละ ประกอบกับการประเมินแล้วว่าเราไม่ใช่สื่อหลักอะไร ประชาไทเป็นแค่สะเก็ดไฟ ไม่ใช่ไฟลามทุ่ง เราจึงอยากเป็นหนูทดลอง เพราะสำหรับผม เราควรพร้อมเสี่ยงเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เพราะถ้าเราไม่ทำก็อาจจะไม่มีใครทำแล้ว ไม่ได้จะบอกว่าตัวเองสำคัญอะไรนะ แต่ในเมื่อเราตัวเล็ก เราก็ควรทำตามสิ่งที่เราเชื่อเพื่อทำให้สื่อหลักรู้ว่าเขาเองก็สามารถนำเสนอเรื่องนี้ได้ 

 

ทุกคนในทีมประชาไทเห็นตรงกันกับแนวทางนี้ไหม

เราปรึกษาหารือกันตลอด เราช่วยกันประเมินความเสี่ยงว่าอาจโดนอะไรบ้าง ช่วยกันคิดว่าถ้าไม่ลงแล้วเสียงที่เบาจะถูกได้ยินหรือเปล่า และผมชัดเจนในความรับผิดชอบทุกครั้งว่าถ้าสุดท้ายเกิดคดีทางกฎหมายขึ้นมาจริงๆ ผมต้องเป็นคนรับผิดชอบ

 

แล้วตั้งแต่ทำงานมามีภัยมาถึงตัวเพราะการทำหน้าที่สื่อบ้างหรือยัง

(พยักหน้า) ย้อนไปไกลหน่อยก็ช่วง 6 ปีที่แล้วที่มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ด้วยความระมัดระวังของผู้ชุมนุมก็ทำให้ผมซึ่งไปทำข่าวในวันนั้นถูกเสียบประจานจนต้องมีคนพาออกมา หรืออีกอันหนึ่งก็ตอนรัฐประหารที่ผมโดนคำสั่ง คสช.ฉบับ 44/57 ให้ไปอยู่ฟรีที่ค่ายทหาร 3 วัน 2 คืน และหลังจากนั้นก็มีกระบวนการในการมอนิเตอร์ด้วย ทหารเข้ามาคุยถึงหน้าสำนักงานหรือเรียกเข้าไปคุยก็มี สงสัยอยากเป็นเพื่อนผมมั้ง (หัวเราะ)

คุณคิดยังไงกับคำว่าสื่อต้องเป็นกลาง

โดยส่วนตัวผมว่าเราไม่ควรนิยามคำว่าสื่อโดยนิยามเดียว เพราะสื่อทุกสื่อเป็นในแบบของตัวเอง แต่ไม่ว่าจะสื่อไหนก็ตาม ผมว่าเรื่องสำคัญคือสื่อต้องประกาศอย่างตรงไปตรงมาให้ผู้อ่านตรวจสอบได้ 

ยกตัวอย่างเช่นถ้าข่าวข่าวหนึ่งอยากนำเสนอ opinion เราก็ต้องชัดเจนว่าท่อนต่อจากนี้คือ opinion และคนที่พูด opinion นี้คือใคร พูดง่ายๆ ว่าทั้งหมดต้องเป็นการรายงานตามข้อเท็จจริงอย่างซื่อสัตย์ เพียงแต่ในฐานะสื่อทางเลือกอาจมีความต่างนิดหน่อยตรงที่พื้นฐานการรายงานข่าวของเราไม่จำเป็นต้องครบทุกฝ่ายแบบสมบูรณ์ คือเรายังให้พื้นที่แต่อาจเป็นแค่การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งอื่น ไม่ใช่การไปสัมภาษณ์เองขนาดนั้น เพราะด้วยทรัพยากรที่มีจำกัด ประชาไทเลือกให้พื้นที่กับฝ่ายที่เสียงเบาก่อน รวมถึงการที่รัฐและทุนมีกระบอกเสียงของเขาอยู่แล้ว เราจึงมีหน้าที่ทำให้ระบบนิเวศสื่อสมดุล

 

คุณคิดว่าสถานการณ์ของสื่อในปัจจุบันเป็นยังไงบ้าง

ถ้ามองในแง่ของการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงสื่อจากการที่ระบอบในปัจจุบันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ผมถือว่าการทำงานสื่อยังมีอุปสรรคอยู่ การจำกัดข้อมูลข่าวสารส่งผลให้ดุลพินิจของประชาชนด้อยประสิทธิภาพ แต่ในทางตรงกันข้าม ผมว่าด้วยความที่ทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อได้หมด มันก็ทำให้ความจริงหรือเรื่องบางเรื่องที่เคยถูกซุกไว้ใต้พรมถูกเอามาเปิดเผยมากขึ้นเช่นกัน ข้อเท็จจริงต่างๆ ถูกหยิบขึ้นมาให้กับผู้รับสารตลอดเวลา ดังนั้นผมว่าสื่อกับรัฐคงยันกันต่อไปในสภาพสังคมอย่างนี้ 

สื่อต้องทำหน้าที่ต่อไปและเป็นแบ็กอัพให้แก่กัน เพราะถ้ามีคนช่วยนำความจริงออกมาเรื่อยๆ ยังไงก็เป็นประโยชน์ อีกทั้งยังมีอีกหลายเรื่องราวที่อยู่ใต้พรม ผมเลยหวังว่าในเมื่อเพดานเปิดมากขึ้น ต่อจากนี้น่าจะมีอะไรตามมา เช่น การที่สื่อหลักที่มีศักยภาพมากกว่าประชาไทกล้าทำข่าวมากขึ้น

 

แต่ประชาไทก็จะเป็นหนูทดลองต่อไป

(พยักหน้าและยิ้ม)

สุดท้าย ในฐานะประชาชน เรามีส่วนร่วมกับสถานการณ์ของสื่อมวลชนได้ยังไงบ้าง

(นิ่งคิดนาน) ในเมื่อประโยชน์สูงสุดของสื่อคือผลลัพธ์ของประชาชน ดังนั้นผมว่ามันคงจะดีถ้าทุกคนช่วยกันปกป้องเสรีภาพของสื่อด้วย มันมีประโยชน์อยู่แล้ว เพราะเสรีภาพสื่อจะส่งผลต่อเสรีภาพของประชาชนแน่ๆ ดังนั้นสื่อไม่ควรอยู่ลอยๆ ในสังคม การร่วมกันปกป้องเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าปล่อยให้คนมากีดกันสื่อหรือข่าว ประชาชนจะไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงที่ต้องการได้ นั่นแปลว่าพื้นที่และข้อมูลของประชาชนจะแคบลงไปอีก  

มาช่วยกันปกป้องข้อเท็จจริงดีกว่า ช่วยกันเอาความจริงออกมาดีกว่า

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย