แจกฟรีวอลเปเปอร์เพื่อประชาธิปไตย สำรวจโปสเตอร์การประท้วงยุคใหม่ กับ ‘ถนอม ชาภักดี’

Highlights

  • ช่วงเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่คนรุ่นใหม่เริ่มต้นรวมตัวใน #เยาวชนปลดแอก ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบใหม่โดยคนรุ่นใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์อยู่มาก หนึ่งในนั้นคือการวาดโปสเตอร์เพื่อให้คนเซฟไปแชร์ต่อในโลกโซเชียลมีเดียของตัวเอง
  • การทำภาพโปสเตอร์เช่นนี้แตกต่างจากการเคลื่อนไหวในอดีตอย่างชัดเจน ทั้งวิธีการ เทคนิค และการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกผ่านสีสันต่างๆ โดยมีฟังก์ชั่นของภาพที่เหมือนกันคือ ทำให้คนสามารถเอาไปแชร์ต่อในโลกโซเชียลมีเดียของตัวเองได้

ช่วงเดือนที่ผ่านมา เราเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองรูปแบบใหม่ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ม็อบของคนรุ่นใหม่ใน #เยาวชนปลดแอก จนถึงการหยิบป๊อปคัลเจอร์มาเป็นสีสันและสัญญะอย่าง #ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล #วิ่งกันนะแฮมทาโร่ และ #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย 

ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมต่างก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่ที่สังเกตได้ชัดในช่วงม็อบเยาวชนปลดแอกคือการทำภาพโปสเตอร์คืนประชาธิปไตยสู่ประเทศไทย และแจกจ่ายให้กับคนอื่นๆ เพื่อนำไปแชร์ในโซเชียลมีเดียของตัวเอง  

แน่นอนว่านี่คือความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยใหม่ที่ทำให้เราได้เห็นวิธีคิด ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และกระแสนิยมของคนรุ่นใหม่ที่นำมาต่อรองอำนาจกับชนชั้นนำอย่างสร้างสรรค์ 

เมื่อลองนำมาทาบทับกับแนวคิดสุนทรียะแห่งการต่อต้าน (The Aesthetic of Resistance) เราจะได้เห็นภาพการใช้ศิลปะมาเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่น่าสนใจไม่น้อย เราจึงชวน ถนอม ชาภักดี อาจารย์ นักวิจารณ์ศิลปะ และหนึ่งในผู้ร่วมเขียนโปสเตอร์ประท้วงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาสะท้อนภาพให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ผ่านภาพโปสเตอร์และสีสันจากเวทีแฟลชม็อบต่างๆ ทำให้เรามองเห็นปรากฏการณ์อะไรใหม่ๆ ในศิลปะและการเมืองไทยบ้าง  

The Aesthetic of Resistance สุนทรียะแห่งการต่อต้าน

การใช้ศิลปะมาเป็นสื่อแห่งการต่อต้านหรือต่อรองอำนาจไม่ได้เพิ่งเกิดในยุคเทคโนโลยี แต่เกิดขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ถนอมเล่าว่า ลักษณะโดยทั่วไปของสุนทรียะแห่งการต่อต้านจะต้องมีรูปแบบเรียบง่าย ชัดเจน และคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะสื่อที่อยู่ในกระบวนการประท้วงจะมีความเกี่ยวโยงกับ 3 ประเด็นหลัก คือ หนึ่ง–มีลักษณะงานแบบ mass สอง–มีความร่วมสมัย ซึ่งหมายถึงงานสามารถดึงอารมณ์ความรู้สึกของคนในขณะนั้นได้ทันที และ สาม–ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับสื่อนั้นได้

“ฉะนั้นเราจะเห็นว่าช่วง 14 ตุลาฯ หรือหลัง 6 ตุลาฯ ชาวบ้านหรือใครๆ ก็สามารถใช้กระดาษ สิ่งเหลือใช้ หรือวัสดุใกล้ตัวที่สุดมาทำโปสเตอร์ได้ โดยไม่ต้องไปจ้างโรงพิมพ์ แล้วจะเห็นความแตกต่างของแต่ละโปสเตอร์ชัด เพราะทุกคนทำขึ้นเอง ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ของเสรีภาพได้มากกว่า” 

“อีกอย่างผมคิดว่ามันมีความดิบอะไรบางอย่างในงานนั้นๆ เราจะเห็นว่าตัวหนังสือที่เขาใช้มันไม่มีจริต ลายมือใครก็เป็นของคนนั้น ถามว่านี่คือศิลปะไหม มันคือศิลปะ เพราะการพูดถึงศิลปะเชิงต่อต้านเราต้องทำลายกรอบขนบเดิมทิ้ง”

อีกแนวคิดที่เรามักเห็นในสุนทรียะแห่งการต่อต้านบ่อยๆ คือการสร้างงานที่มีลักษณะเสียดสีล้อเลียน ดังนั้นเราจึงได้เห็นภาพการ์ตูนล้อเลียนในการประท้วง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และขยายอาณาเขตมาอยู่ในโซเชียลมีเดียมากขึ้นด้วย

“อย่าลืมว่าชนชั้นนำเขาไม่ชอบแบบนี้ เพราะเขาอยู่ในสถานะที่ล้อเลียนไม่ได้ เขาจะพยายามเอาอำนาจทางจริยธรรมและศีลธรรมเข้ามาตั้งกฎเพื่อให้คุณอยู่ในกรอบ แต่เขาไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วย เพราะเขาอยู่คนละโลกกับเรา เพราะฉะนั้นการล้อเลียนมันทำให้เขามาอยู่ในระนาบเดียวกับเรา ทำให้เขาไม่ชอบ ทนไม่ได้ ยุคนี้เราก็ได้เห็นการล้อเลียนในม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาลหรือแฮมทาโร่กันเยอะ”  

 

สุนทรียะแห่งการต่อต้านในยุคศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน

แนวคิด The Aesthetic of Resistance เริ่มเข้ามาในไทยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2500 ผ่านการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในตอนนั้น แต่ถนอมบอกว่าในยุคนั้นเรียกวิธีการทางศิลปะนี้ว่า ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ 

แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อศิลปะเพื่อชีวิตคือสังคมนิยม ซึ่งได้รับมาจากจีนเป็นหลัก ฐานคิดนี้ทำให้คนรุ่นใหม่มองว่าศิลปะกระแสหลักในประเทศไทยขณะนั้นมีไว้เพื่อตอบสนองต่อชนชั้นนำของไทยเท่านั้น นั่นคือความสวยงามแบบสมบูรณ์แบบ ความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์

จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้เขียนหนังสือ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน’ ในนามทีปกร เชื่อว่างานศิลปะคือผลผลิตของมนุษย์ที่สร้างสรรค์จากการต่อสู้ชีวิต ทั้งในแง่ของธรรมชาติและสังคม ดังนั้นศิลปะเพื่อประชาชน หมายถึงศิลปะที่รับใช้ประชาชน โดยถ่ายทอดทั้งความคิด ความเชื่อของประชาชนเป็นหลัก

แนวคิดนี้ตั้งใจสั่นคลอนและตั้งคำถามต่อการครอบงำสุนทรียะทางศิลปะกระแสหลักของไทย อิทธิพลของศิลปะเพื่อชีวิตมีผลต่อการจัดทำป้ายข้อความ โปสเตอร์ วรรณกรรม ดนตรี เพลง ในขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 

“วิธีคิดศิลปะตอนนั้นมีลักษณะเป็น modernism สูงมาก มีแพตเทิร์นของสื่อบางอย่างที่ต้องทำออกมาเหมือนกัน เช่น ต้องออกหนังสือ ทำโปสเตอร์ต้องสวยแบบสังคมนิยม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากรัสเซียหรือจีน ต้องทำให้ภาพมีอิมแพกต์อะไรบางอย่าง” ถนอมย้อนนึกถึงตัวเองในฐานะนักเรียนช่างศิลป์อายุ 19 ปี สมัยเป็นหนึ่งในคนเขียนภาพโปสเตอร์ในช่วงนั้น 

งานศึกษาเรื่อง จ่าง แซ่ตั้ง กับ โลกศิลปะก่อนและหลัง 14 ตุลาฯ 16 โดย นวภู แซ่ตั้ง ก็ช่วยยืนยันได้ดีว่ากระแสงานศิลปะเพื่อชีวิตมีรสนิยมแตกต่างจากศิลปะกระแสหลักและเติบโตสัมพันธ์ไปพร้อมกับเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ โดยงานศึกษาเรื่องนี้หยิบเนื้อหาจากหนังสือชื่อ และแล้วความเคลื่อนไหวไม่ปรากฏ ของ David Teh นักวิชาการชาวออสเตรเลีย ผู้ศึกษาศิลปะยุคสมัยใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาระบุไว้ว่า ในยุคขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาเป็นช่วงเดียวที่วงการศิลปะไทยเป็นอิสระจากความนิยมของรัฐ 

 

สุนทรียะแห่งการต่อต้านในยุคเทคโนโลยี

ย้อนกลับมาในยุคนี้ แน่นอนว่าเทคโนโลยีเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองเปลี่ยนไปจากอดีต และน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การออกแบบโปสเตอร์แจกจ่ายในโลกออนไลน์ต้องเข้าถึงความชื่นชอบของผู้คน และสามารถนำไปแชร์ต่อได้ง่าย ทั้งยังสามารถเก็บใจความที่ต้องการสื่อสารได้ชัดเจน  

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อแอ็กเคานต์ @yeena_psd เล่าว่าต้องการเป็นกระบอกเสียงต่อเหตุการณ์ทางการเมือง จึงอยากทำสื่อที่มีรูปแบบเรียบง่ายเพื่อให้ผู้คนนำไปแชร์ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ โดยเลือกใช้คู่สีที่มีความนุ่มนวลมากกว่าแข็งกร้าว และเลือกใช้หลากหลายสีเพื่อสื่อสารถึงความหลากหลายของผู้คน

รวมถึงผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อแอ็กเคานต์ @kdyyyyy2 ก็เลือกออกแบบภาพในสไตล์ที่ตัวเองถนัด แต่ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงเนื้อหา ใช้โทนสีสบายตา ให้วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง

หรืออย่างภาพวาดชู 3 นิ้วของแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์ @manduguitar ก็เลือกใช้คู่สีแบบพาสเทลที่ตัวเองชอบมาสื่อสาร เพราะอยากให้ทุกคนคิดว่าเราทุกคนสามารถแสดงออกในรูปแบบที่เป็นตัวเองในจุดมุ่งหมายเดียวกันกับคนอื่นได้ 

ทั้งหมดทำให้เราเห็นลักษณะของภาพที่สำคัญคือ มีขนาดไม่เหมือนโปสเตอร์ทั่วไป บางคนทำออกมาเพื่อให้กดแชร์ในสตอรีของอินสตาแกรมได้ บางคนทำขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับการแชร์ทั้งในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ส่วนเทคนิคและสีเน้นความร่วมสมัย ทั้งเขียนข้อความด้วยบลัช บ้างก็ใช้เทคนิคภาพคอลลาจ เลือกสีสันแบบป๊อปๆ ที่คนยุคนี้สนใจ

อย่างกรณีภาพลายมือคำว่า ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน’ โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อแอ็กเคานต์ @_empttysoul_ ก็เป็นหนึ่งในงานแรกๆ ที่ได้รับความนิยมสูงมาก จุดเริ่มต้นของภาพนี้เจ้าของผลงานเล่าว่า อยากจะสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ให้เกิดขึ้น เมื่อลองสอบถามผู้ติดตามแล้วจึงเริ่มต้นหาประโยคหรือสัญลักษณ์ที่จะโดนใจคนได้ โดยแตกประเด็นจากคำว่า ‘ประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร’ จนกระทั่งคำว่า ‘อำนาจอธิปไตย’ ผุดขึ้นมาพอดีจึงกลายเป็นที่มาของประโยคนี้

เจ้าของผลงานเลือกใช้ภาพพื้นหลังหลากสีสัน เพื่อตอบโจทย์ความชอบที่หลากหลาย หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น บางคนเลือกนำภาพนี้ไปปรินต์เป็นโปสเตอร์ในการชุมนุม หรือแม้กระทั่งใช้เป็นรอยสัก และเจ้าของผลงานยังจัดทำเป็นเฟรมสำหรับภาพโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กและเป็นเสื้อยืดด้วย 

ในมุมของถนอมก็คิดเช่นกันว่า ภาพนี้เป็นหนึ่งในตัวอักษรที่ร่วมสมัยอย่างมาก แม้จะไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่ารูปแบบทางศิลปะของคนรุ่นใหม่ได้รับอิทธิพลมาจากไหน แต่เขาเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปภาพเหล่านี้ได้ คือการบ่มเพาะความรู้สึกมาตลอด 6 ปี

 “ปัจจัยพวกนี้มันมาจากข้างในจริงๆ ถ้าเราตีความจากโปสเตอร์ใบปิดที่ทุกคนทำขึ้นมา แต่ละภาพเราจะเห็นความเป็นปัจเจกอะไรบางอย่าง เช่น ภาพชวนมารวมตัวชุมนุมของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาสารคาม, ขอนแก่น, เชียงใหม่ ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเกิดความเคลื่อนไหวสุนทรียะในการต่อต้านครั้งนี้คือมันมีความเป็น fragment สูงมาก กลุ่มใครกลุ่มมัน แต่มีจุดร่วมอะไรบางอย่าง” 

ถนอมยังชวนขยายแนวคิดสุนทรียะในการต่อต้านไปถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในม็อบด้วย เขามองว่านี่คืออีกหนึ่งเวทีที่อาจจะเป็น performance art ได้ ทั้งการคัดเลือกกิจกรรม การขึ้นพูดเวทีปราศรัย หรือแม้กระทั่งธีมงานที่เริ่มสนุกขึ้นทุกวัน แต่ก่อนหน้านี้คนก็เคยตั้งคำถามว่าความขำขันเหล่านี้จะลดทอนประเด็นที่จริงจังไปหรือไม่

“ไม่ลดทอนเลย การชุมนุมประท้วงอะไรบางอย่างมันคือความบันเทิงอย่างหนึ่ง ถ้าคุณสามารถครีเอตความเป็น carnival หรืองานบุญฯ ขึ้นมามันจะสนุกมาก อย่างที่ขอนแก่นมีหมอลำด้วย เป็นสีสันมากเลย ถ้าในยุโรปคือการตีกลอง ทำให้เกิดเป็น carnival เพราะอย่าลืมว่าสิ่งเดียวที่รัฐอนุญาตให้คุณละเมิดได้คืองานบุญฯ”

 


แหล่งข้อมูล

doct6.com

ขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์ @AssNichar, @dntwakemeuppp, และ @lyngnwak

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย