คุยกับทีมสถาปนิก IKEA บางใหญ่ สโตร์ในไทยที่ไม่เหมือนสาขาไหนในโลก

สำหรับคนบ้านใกล้รถไฟฟ้าสายสีม่วง อิเกียสาขาใหม่ล่าสุดที่บางใหญ่อาจดูน่าตื่นเต้นในฐานะที่หมายใหม่ให้ไปเดินเล่นในวันหยุด แต่สำหรับอิเกียแล้ว สาขาบางใหญ่คือการทดลองและสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสโตร์ในอนาคต

มองผิวเผินจากภายนอก สโตร์แห่งที่สองของอิเกียประเทศไทยก็ดูจะไม่ต่างอะไรกับสโตร์แห่งอื่นๆ ทั่วโลก สาขาใหม่ที่เพิ่งโค่นแชมป์เก่าจากยะโฮร์บาห์รู ประเทศมาเลเซีย และกลายมาเป็นอิเกียที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ยังคงมีหน้าตาเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ เอกลักษณ์ของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สวีเดนเจ้านี้

“มันก็ดูเหมือนแค่กล่องสีน้ำเงินกล่องหนึ่งใช่ไหม” Jonathan Grant แห่งบริษัทสถาปนิกระดับโลก Chapman Taylor ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบสโตร์สาขาบางใหญ่บอกขณะพาเราเดินชมรอบอาคาร “แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แค่นั้นเลย ในทางสถาปัตยกรรมก็มีความท้าทาย มันไม่ใช่แค่เรื่องว่าตึกหน้าตาเป็นยังไง แต่คือตึกทำงานยังไง และที่สำคัญยังคงต้องหน้าตาเหมือนตึกอิเกียอยู่ด้วย”

สำหรับ Chapman Taylor นี่เป็นการออกแบบที่ไม่หมูเพราะต้องผ่านด่านทั้งมาตรฐานภายในที่แสนเคร่งครัดและยิบย่อยของทั้งอิเกียเอง กฎหมายไทย และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งตั้งใจไว้แต่ต้นว่าต้องทำให้ผ่านการรับรองในระดับสูงที่สุด

แกรนต์ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง Director ของ Chapman Taylor ที่กรุงเทพฯ ทำงานร่วมกับ พิมพ์ภากร อินวะษา และทีมสถาปนิกในช่วงเวลากว่า 6 เดือนของการออกแบบ ก่อน Oscar Martinez จะเข้ามารับช่วงต่อหลังแกรนต์ ย้ายกลับไปประจำออฟฟิศที่ลอนดอน ในวันแรกของการเปิดให้บริการอิเกียบางใหญ่ ทั้งสามพาเราเดินทัวร์ลัดเลาะจาก self-serve area ไปจนถึงบันไดหนีไฟเพื่ออธิบายว่าอะไรอยู่เบื้องหลังการออกแบบของสโตร์แห่งใหม่ล่าสุดที่ทั้งทีมสถาปนิกและอิเกียต่างภูมิใจแห่งนี้

คิดเผื่อคนขาย

“มันเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ของลูกค้า พวกเขาไม่ได้อยากแค่จะสร้างสโตร์อิเกียขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง แต่ต้องการที่จะพัฒนาโมเดลใหม่ในอนาคตของสโตร์อิเกียในเอเชีย พวกเขาเริ่มจากที่นี่เพื่อจะได้รู้ว่าลูกค้ากำลังมองหาอะไรอยู่” มาร์ติเนสเล่าระหว่างลงนั่งจิบกาแฟกับเราที่อิเกียคาเฟ่

ด้วยเหตุนี้ อิเกียบางใหญ่เลยกลายเป็นสถานที่ทดสอบของหลายๆ งานออกแบบที่อิเกียไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้เป็นสโตร์แห่งแรกที่ลูกค้าเดินเข้าออกและชำระเงินได้ทุกชั้นแทนที่จะต้องเดินวนผ่านเขาวงกตกว้างใหญ่เพื่อไปยังทางออกที่จุดสิ้นสุด เป็นสโตร์แห่งแรกที่สร้างเชื่อมกับห้างสรรพสินค้าที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ อย่างครั้งแรกของการมีหน้าต่างกระจก และครั้งแรกของการใช้สีแดงในสโตร์ (แอบไปดูกันได้ที่บันไดทางขึ้นร้านอาหารชั้นลอย)

“ปกติแล้วในยุโรป คุณมักเห็นสโตร์อิเกียตั้งอยู่เดี่ยวๆ ไกลจากตัวเมือง แต่สำหรับที่นี่ เราเข้าใจว่าสิ่งที่เชื่อมต่อหรืออยู่รอบๆ สโตร์คือสิ่งที่ดึงดูดใจให้คนมาอิเกียด้วย พวกเขาเริ่มโดยการสร้างสโตร์ติดกับเมกาบางนาซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาก และนั่นเป็นสาเหตุให้พวกเขาพาร์ตเนอร์กับ CPN (บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)) เพื่อที่จะเชื่อมต่อกับเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต” มาร์ติเนสเล่าต่อ

แม้จะเชื่อมต่อกับห้างสรรพสินค้าเช่นเดียวกับที่บางนา แต่อิเกียบางใหญ่ก็เล่นใหญ่กว่าด้วยการเชื่อมสโตร์เข้ากับห้างฯ ถึง 3 ชั้น เพื่อสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อในการเดินช้อปปิ้งซึ่งแลกมาด้วยความท้าทายในเชิงเทคนิคที่จะต้องสร้างทางเชื่อมกว้าง 18 เมตรระหว่าง 2 อาคารโดยไม่มีเสารองรับด้านล่างเนื่องจากต้องเว้นไว้เป็นถนน หลักคิดเรื่องความไร้รอยต่อนี้ยังถูกนำไปใช้กับอาคารจอดรถความจุ 1,900 คันด้วย

“ที่กรุงเทพฯ ทุกคนขับรถ ดังนั้นที่จอดรถเป็นเรื่องใหญ่ เราต้องทำให้ที่จอดรถทุกชั้นเชื่อมต่อกับสโตร์ ถ้าสโตร์ไม่ได้เชื่อมต่อกับที่จอดรถทุกชั้น คนอาจจะไปชั้นอื่น”

คิดเผื่อคนซื้อ

แม้จะมีพื้นที่ถึง 50,278 ตารางเมตร แต่การจะนำเสนอสินค้าแปดพันกว่าชิ้นให้ลูกค้าได้เห็นครบถ้วนและอยากซื้อก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ได้อาศัยเพียงความรู้ด้านสถาปนิก

พิมพ์ภากรอธิบายว่าอิเกียเองมีแนวทางการจัดรูปแบบของสโตร์ภายในอยู่แล้ว โดยโชว์รูมชั้นบนสุดจะช่วยทำให้ลูกค้าเห็นไอเดียในการแต่งบ้าน ก่อนจะไล่ลงมาจับจ่ายซื้อของจริงๆ ที่ชั้นล่าง สิ่งที่ Chapman Taylor ทำคือช่วยจัดวางโฟลวของการออกแบบว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าเดินตามทิศทางไปจนเห็นสินค้าครบทั้งหมดได้อย่างเพลิดเพลินโดยไม่รู้ตัว

“อิเกียมีโปรไฟล์ลูกค้าหลายแบบ สำหรับคนที่มาเพื่อซื้อของไปแต่งอพาร์ตเมนต์ เราต้องทำให้ง่ายสำหรับเขา มาแล้วซื้อได้สะดวก สำหรับคนที่มาเดินเล่น เราต้องเตรียมสิ่งของที่อาจจะไม่จำเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์แต่เขาซื้อได้ ถ้าเดินผ่านโชว์รูม คุณจะเห็นของตกแต่งมากมาย สิ่งของเหล่านี้นั้นมีไว้สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาซื้อ แต่เมื่อเห็นมันแล้วก็จะถูกใจและซื้อในที่สุด” มาร์ติเนสเล่า

หนึ่งในจุดเด่นของอิเกียบางใหญ่ก็คือพื้นที่ร้านอาหาร คาเฟ่ สำหรับนั่งพักที่ใหญ่และเยอะขึ้น และเป็นแห่งแรกที่มีร้านจำหน่ายอาหารสุขภาพสไตล์สวีเดนซึ่งก็มีที่มาจากแนวคิดของอิเกียที่เห็นว่าการช้อปปิ้งเป็นเรื่องประสบการณ์ การมีพื้นที่เปิดให้นั่งพักมากขึ้นก็หมายถึงโอกาสที่คนจะมาใช้เวลาที่นี่มากขึ้นโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องตั้งใจมาช้อปปิ้งแต่แรก

ส่วนที่ว่ากันว่าสโตร์อิเกียไม่มีหน้าต่างเพราะไม่ต้องการหันเหความสนใจของลูกค้าให้ไปอยู่ภายนอกห้างนั้นดูจะใช้ไม่ได้กับสาขาบางใหญ่ที่มาพร้อมกระจกบานใหญ่เด่นเป็นที่แรกของอิเกียเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นเฟอร์นิเจอร์สนามในแสงธรรมชาติจริงๆ พิมพ์ภากรกระซิบบอกว่ากว่าจะได้หน้าต่างกระจกโซน Glass House นี้มาก็ยากเย็นจริงๆ ไม่ใช่เพราะอิเกียกังวลว่าลูกค้าจะวอกแวกมองออกไปไหน แต่เป็นเพราะเขาไม่ต้องการให้สโตร์ร้อนขึ้น

“กระจกที่เราใช้ต้องเป็นกระจกกันความร้อน เราต้องดีเบตกันว่าถ้าใช้แล้วจะไม่ทำให้การใช้พลังงานมากขึ้น เขาจึงจะยอม” เธอเล่า

คิดเผื่อโลก

อีกมาตรฐานใหม่ที่อิเกียบางใหญ่สร้างขึ้นก็คือการเป็นห้างค้าปลีกแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม LEED ในระดับสูงสุด หรือ LEED Platinum และระดับสูงสุดของมาตรฐานอาคารสีเขียว Green Mark จากสิงคโปร์ ซึ่งแกรนต์ยกเครดิตให้ว่าเกิดจากความมุ่งมั่นและจริงใจในเรื่องความยั่งยืนของอิเกียจริงๆ

“อิเกียสนใจลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ พวกเขาอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงเต็มใจที่จะจ่าย แม้ว่ามันจะใช้เวลานานกว่าจะถอนทุนคืนกลับมา” แกรนต์เล่า

“พวกเขาขายเฟอร์นิเจอร์ราคาประหยัด แต่สโตร์ของพวกเขานั้นพรีเมียมและลงทุนสูงมาก พวกเขาแน่วแน่เป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ที่นี่ให้ต่างจากสิ่งที่พวกเขาเคยทำมา” มาร์ติเนสเสริม

การลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่โดดเด่นที่สุดของอิเกียบางใหญ่น่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ 4,548 แผงบนดาดฟ้าเพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่จริงๆ แล้วมีความสามารถในการผลิตมากกว่าที่รัฐอนุญาตเสียอีก

“ต้นทุนมันสูงมาก อย่างตัว Solar Panel ของเราก็ต้องผ่านการขออนุญาตก่อน เพราะมันเป็นแหล่งพลังงาน เหมือนเป็นโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นอะไรที่ซับซ้อนอยู่เหมือนกัน เขาก็จะมีลิมิตอยู่ว่าเราทำได้ไม่เกินเท่าไหร่ จริงๆ แล้วเราผลิตได้ 1.5 เมกะวัตต์ แต่เขาจะให้เราใช้แค่ 1 เมกะวัตต์ เราก็เลยต้องลิมิตไม่ให้เกิน” พิมพ์ภากรเล่า

นอกจากนี้ แกรนต์บอกว่าพวกเขายังคำนึงถึงการออกแบบที่พยายามจะให้เกิดผลกระทบกับชุมชนน้อยที่สุด เช่น การออกแบบเส้นทางการเดินรถ การสร้างพื้นที่จอดรถและทางหนีไฟที่เพียงพอ

“developer จำนวนมากในกรุงเทพฯ คิดถึงแต่พื้นที่ของเขา ผมคิดว่าพวกเขาต้องคิดถึงชุมชนและสิ่งที่อยู่รอบๆ ด้วย เช่นว่า การจราจรจะเป็นอย่างไร”

อิเกียบางใหญ่นั้นใช้งบลงทุนถึง 6,300 ล้านบาท ในสายตาคนนอก การยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับโลกมากกว่าแลดูเป็นเพียงกลยุทธ์การตลาดที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ทำตามได้ยาก แต่มาร์ติเนสบอกว่าถ้ามานั่งคิดเลขกันจริงๆ แล้วมันคุ้มค่าทางเศรษฐกิจด้วย

“สโตร์อิเกียจะเปิดทำการไปอีก 20-30 ปี ดังนั้นถ้าพวกเขาลงทุนในความยั่งยืน พวกเขาก็อาจจะลดค่าไฟลงได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เมื่อคูณจำนวนปีที่พวกเขาเป็นเจ้าของห้างเข้าไปก็จะเป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้นมันจึงสมเหตุสมผลที่จะจ่ายมากขึ้นตอนนี้”

“พวกเขามีความรับผิดชอบในฐานะแบรนด์ชั้นนำระดับโลก พวกเขาแสดงให้เห็นว่ากำลังคำนึงถึงอนาคต ทำสิ่งที่จำเป็นและทำได้เพื่อนำทางให้กับคนอื่นๆ ถ้าผู้นำในตลาดไม่ทำ คนอื่นก็จะไม่ทำด้วยเพราะไม่เห็นความจำเป็น มันจึงเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ พวกเขาบอกว่าถ้าไม่ทำตอนนี้แล้วจะไปทำเมื่อไหร่”

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ และ Chapman Taylor

AUTHOR