OMG! รักจังวะ..ผิดจังหวะ หนังเรื่องแรกที่ได้เรียนรู้เรื่องการสลายอีโก้ ของ พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี

จิระ มะลิกุล แห่ง GDH พูดถึงผู้กำกับหนุ่มจากโปรดักชั่นเฮาส์ Hello Filmmaker คนนี้ไว้ว่า น่าสนใจ ชอบงานมานาน มีเนื้อเรื่องโดดเด่น

คิดอยู่ตลอดว่า “ฐิติพงศ์ คุณไปอยู่ไหนมา ทำไมไม่มาทำหนังไทย” 

แล้ว พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี ไปอยู่ที่ไหนมา? 

ในวงการภาพยนตร์ เขาคือผู้กำกับหน้าใหม่ OMG! (Oh My Girl) รักจังวะ..ผิดจังหวะ หนังโรแมนติกคอเมดี้เรื่องใหม่จากค่าย GDH คือหนังเรื่องแรกของเขา (หนังเข้าฉาย 27 ตุลาคม 2565)

แต่ในวงการเอ็มวีและโฆษณานั้น พงศ์ ฐิติพงศ์ คือผู้กำกับที่มีงานระดับไวรัลมากมาย เช่น เอ็มวีเพลง ขอ ของวงโลโมโซนิก (ที่มีประโยคคลาสสิก ‘จริงๆ ตอนนั้นก็ดีนะ’), เอ็มวีเพลง โอมจงเงย ของ แสตมป์ อภิวัชร์, เอ็มวีเพลง ซ่อนกลิ่น ของ ปาล์มมี่, หนังสั้น The only one ของ The 1 card เป็นต้น

แน่นอน การทำหนังคือความฝันของเขา แต่กว่าจะได้เริ่มทำ เขาต้องใช้เวลาจัดการกับอีโก้ของตัวเองอยู่นาน และแต่ละประสบการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกนั้น ก็คือการเรียนรู้ตลอดเส้นทาง

ก้าวแรกของ ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี กับวงการภาพยนตร์ไทยเริ่มนับหนึ่งแล้ว เขาเองก็คาดหวังจากมันไม่ต่างจากคนอีกจำนวนมากที่จับตามองอยู่  

ตอนนี้คุณยังอยู่ Hello Filmmaker มั้ย  

ยังอยู่ครับ แต่ก็หายมาทำโปรเจกต์นี้ 2 ปี ในขณะที่เพื่อนๆ ผม ปกติเฮลโลฟิล์มเมคเกอร์จะมีโปรดิวเซอร์ 2 คน คนหนึ่งก็มาเป็นไลน์โปรดิวเซอร์ให้หนังเรื่องนี้ อีกคนก็ยังทำโฆษณาหาเงินมาหมุนในออฟฟิศอยู่ เรียกได้ว่าเหมือนผมกินแรงเพื่อนอยู่ตอนนี้ (หัวเราะ) เพราะว่าพอเป็นหนัง long form แบบนี้ เราจะไม่รู้ว่ามันคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าจนกว่าหนังจะได้ออกไป ก็ลุ้นกันอยู่  

หนังเรื่องนี้เฮลโลฟิล์มเมคเกอร์เป็น co-production กับ GDH คือจริงๆ เฮลโลฟิล์มเมคเกอร์อยากจะเปลี่ยนตัวเองมาทำคอนเทนต์ซีรีส์หรือหนังตั้งนานแล้ว แต่เหมือนรอให้บทผมผ่านสักที ซึ่งยากมากเลยครับ ยาวนานมาก ระหว่างนั้นก็จะมีพาร์ตรับโฆษณา ใช้ผู้กำกับฟรีแลนซ์บ้าง หรือผู้กำกับรุ่นน้องที่เคยทำด้วยกัน เขาก็จะรับงานตรงนั้นไป แม้แต่ทีมงานที่เอามาทำหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทีมเฮลโลฟิล์มเมคเกอร์เกือบทั้งหมด

ถ้าอย่างนั้นช่วยเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้หน่อย 

ก็ต้องบวกไปอีก 4 ปี รวมเป็น 6 ปี จริงๆ โปรเจกต์นี้นับแค่ 2 ปีนิดๆ ที่ทำ ถ้ารวมโพสต์โปรดักชั่นด้วย แต่ว่าถ้านับตอนที่พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล-โปรดิวเซอร์) พี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์-โปรดิวเซอร์) ชวนก็คือตั้งแต่เอ็มวีเพลง ขอ ของวงโลโมโซนิก (2557) โน่นเลย เขาก็เรียกมาคุย ผมก็ตื่นเต้น อยากทำหนัง คิดว่ามันคงเป็นความฝันร่วมของออฟฟิศด้วย ดูจากการตั้งชื่อสิ (หัวเราะ) เราคงไม่ได้อยากไปเป็นทีมทำเอ็มวีหรือโฆษณาหรอก แต่มันก็เหมือนได้ทำเอ็มวี ทำโฆษณา ได้รับฟีดแบ็กที่ดี  แล้วดันได้ทำต่อมาเรื่อยๆ เลยไม่ได้เริ่มทำหนังสักที แต่ผมว่าใจจริงๆ ทุกคนน่าจะอยากทำหนัง แต่มันก็ดันเป็นสิ่งที่ยากที่สุดของสายงานนี้

เจอกันครั้งแรก คุณคุยอะไรกันบ้าง

นั่งในห้องนี้เลยครับ คุยกันว่าผมอยากทำอะไร สนใจการทำหนังมั้ย เขาเล่าว่าพี่บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) พี่หมู (ชยนพ บุญประกอบ) เข้ามาทำหนังได้ยังไง ซึ่งตอนนั้นจริงๆ คนที่สนใจและเอางานผมไปให้พี่เก้งพี่วรรณดูคือ พี่โต้ง (บรรจง ปิสันธนะกูล) กับพี่หมู ก็เป็นการคุยเหมือนนั่งคุยกึ่งเล่นกึ่งจริงจัง เขาก็เล่าให้ฟังว่า เขาทำงานยังไง ภาพรวมของวงการหนังไทยเป็นยังไง แล้วก็ย้อนกลับมาถามผมว่า เวลาทำงานเป็นยังไง หนังที่พงศ์อยากทำเป็นแบบไหน พี่ดูงานพงศ์แล้ว มันจะมีความ localization อยู่ แต่ก็ให้ความรู้สึก globalization ด้วย แล้วเขาก็บอกว่าวิธีเดียวที่จะได้เริ่มทำหนัง คือพงศ์ต้องไปเขียนมาว่าอยากเล่าอะไร

ซึ่งพอหลังจบเอ็มวี ขอ ที่ออฟฟิศก็มีงานเข้ามาเยอะที่สุดเท่าที่เคยเจอในช่วงนั้น คือถล่มมากจริงๆ ผมไม่เคยทำโฆษณาเดือนละ 7-8 ตัว บางเดือนพีกๆ ก็คาบเกี่ยวกัน 11 ตัว เราก็ เอ้า รับสิ ทำเงินหน่อย เพราะถ้าได้มาทำหนังงานมันก็จะขาดช่วงแบบนี้ ถ้าออฟฟิศไม่ตุนเงินไว้ก็จะลำบาก ก็เป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด แต่ก็มีรายได้มากที่สุดเหมือนกัน

สิ้นปีนั้น พองานเริ่มซา ผมก็อยากมาทำบทหนังละ แต่ไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี ก็เลยเขียนชีวิตตัวเองตอนเรียนมหา’ลัย 4 ปี แล้วก็ช่วงจบมา 4 ปี ชีวิตสมัยที่มีความฝันอยากเป็นฟิล์มเมกเกอร์ กับหลังจากจบมาจริงๆ แล้วต้องทำอะไรบ้าง อินกับเรื่องพวกนั้น อินกับเรื่องเพื่อนๆ มาทำงานด้วยกัน ก็ส่งไป แล้วมันยาวมาก มันเหมือนผมเขียนไดอารี่ส่งให้เขา แล้วเขาก็… นี่มันไม่ใช่บทหนังพงศ์ (หัวเราะ) แต่สนุกนะ เอาไปทำซีรีส์มั้ย พี่วรรณเขาก็แนะนำ ตอนนั้นไม่ได้อยากทำซีรีส์ แล้วเขาก็บอกว่าถ้าไม่อยากทำซีรีส์อยากทำเป็นหนัง เลือกมาหน้าหนึ่งแล้วกัน จาก 40 หน้านั้น เรื่องอะไรก็ได้ในนั้นที่โอเค

แล้วผมก็จิ้มไม่ถูกสักที จะเรียกว่าจิ้มไม่ถูกก็ไม่เชิง คือมันกว้างมาก แต่เราคิดว่ามันทำได้นะในการเล่าหนัง 8 ปี แต่มันคงจะซอยย่อยมากๆ จนอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรพิเศษในนั้นเลยมั้ง ก็จะเป็นหนังอีกรูปแบบหนึ่งที่ท่าทีมันคงจะ aesthetic สูงมาก storytelling น้อยมากๆ เป็นมวลเป็นมู้ดเสียมากกว่า นั่นแหละครับ จากนั้นผมก็เลยหายไป 4 ปี

4 ปีนั้นคือผมส่งพี่เก้งพี่วรรณดราฟต์ละปีมั้งครับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมาก ตามหลักมันควรจะส่งเดือนละดราฟต์ แต่ว่าผมเลือกไม่ได้จริงๆ แล้วผมก็พยายามจะย่อ 40 หน้านั้น เลือก 1 หน้าไม่ได้งั้นขอ 10 หน้าในนั้นแล้วอัดลงมาได้มั้ย ซึ่งก็ไม่สำเร็จครับ มันเหมือนเลือกประเด็นไม่ถูก เลือกไม่ได้สักที 

40 หน้านั้นคุณเขียนมาเป็นอะไร 

เขียนมาเป็นสตอรี่ครับ ไม่ใช่สกรีนเพลย์ ซึ่งตามหลักการเขียนทรีตเมนต์ ผมว่ามันควรจะ 8-10 หน้าก็พอแล้วมั้ง เต็มที่ 20 หน้าซึ่งควรจะเป็นทรีตเมนต์ที่ละเอียดก่อนไปขึ้นสกรีนเพลย์ แต่ทรีตเมนต์ไว้ขายผมคิดว่ายิ่งสั้นยิ่งดี จะได้รู้ว่าคุณอยากพูดอะไร เล่าเรื่องอะไร เขาจะได้ช่วยมองภาพรวมให้เรา 

แต่อะไรพวกนี้ มันเหมือนตอนเรียนมหา’ลัยก็รู้สึกว่ารู้มาแล้ว แต่พอต้องมาทำจริง ทำไมเหมือนไม่เข้าใจมันเลย (หัวเราะ) ช่วงนั้นผมก็จะได้คุยกับพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ได้คุยกับไก่ (ณฐพล บุญประกอบ) บ่อย เฮ้ย ทรีตเมนต์มันเขียนยังไงวะไก่ ไก่ก็แบบว่า กูไม่บอกมึงหรอก มึงต้องไปรับรู้ด้วยตัวเองว่ามันจะเขียนยังไง ผมก็ อ้าว ทำไมมันต้องกั๊กด้วยวะ หวงวิชาอะไรขนาดนั้น แต่ทุกวันนี้เข้าใจแล้ว ว่ายิ่งเราอยู่กับมันมากเท่าไหร่ ภาษามันจะเป็นของเรามากเท่านั้น แล้วแอดติจูดของคนทำมันจะไปอยู่ในนั้นโดยไม่รู้ตัว ว่าคุณอยากจะบอกอะไรค่าย อยากบอกอะไรคนดู มันจะถูกเรียบเรียงผ่านตัวคนทำ ถูกเค้นออกมา ซึ่งถ้าไก่ส่งตัวอย่างมาให้ดูว่าเขียนยังไง ผมในตอนนั้นคงจะลอกโครงสร้างที่คิดว่ามันน่าจะผ่าน 

กลายเป็นอันที่ผมส่งแล้วผ่าน เซอร์มาก มี 4 หน้า ต้น กลาง จบ ดุๆ (หัวเราะ) ผมยังตกใจเลย อ้าว เหรอ นี่คือได้ทำแล้วเหรอ ทำไมเวลาที่มันคลิกแล้วมันง่ายจังเลย แต่ไอ้ตอนที่หานี่ยากมากๆ 4 หน้านั้น ประมาณว่าผมเปลี่ยนเรื่องใหม่เลย ไม่เอาแล้วการย่อ 10 หน้า จิ้มมา 1 หน้า จริงๆ จิ้มมาแค่ 3 บรรทัดด้วยซ้ำรอบนี้ แล้วมาขยาย ส่งไปแล้วก็ผ่าน แล้วมันดันเป็นช่วงที่โควิดมาพอดี แปลว่าผมก็ต้องถูกบังคับให้มานั่งเขียนมันต่อโดยปริยาย เพราะว่าช่วงแรกๆ ที่โควิดเข้ามาโปรดักชั่นไม่สามารถทำงานได้เลย ก็จะมีงานอยู่ประเภทหนึ่งที่ยังพอถูไถได้คือการนั่งเขียนบทอยู่ในห้อง เลยได้ขังตัวเองแล้วนั่งเขียนจริงๆ 

ผมว่ามันเป็น 4 ปีที่เป็นอีโก้ด้วยครับ เวลาเราจะทำหนังเรื่องแรก มันจะเป็นการเดบิวต์เปิดตัวเรา แล้วไตเติลนั้นก็จะไปอยู่ใน IMDb ตลอดกาล ซึ่งในฐานะคนที่เวลาชอบภาพยนตร์เรื่องไหน ก็จะไปตามผู้กำกับคนนั้น ผมก็ไม่อยากมีเพลย์ลิสต์ที่ผมไม่ชอบ แล้วมันต่อสู้กับตรงนี้ยากมากเลย คือ ผมอยากเป็นผู้กำกับที่อินดี้หน่อยๆ แต่เล่าเรื่องด้วยนะ มานั่งคิดโพสิชั่นตัวเองมันก็จะไม่ออร์แกนิกแล้วนึกออกมั้ยครับ (หัวเราะ) แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ในขั้นตอนที่เราจะเลือก ผมอยากเป็น เวส แอนเดอร์สัน เหรอ อยากเป็น รอย แอนเดอร์สัน เหรอ วู้ดดี้ อัลเลน เหรอ เควนติน ทารันติโน่ เหรอ แดนนี่ บอยล์ เหรอ คือจะมีภาพในหัวว่า เราอยากเปิดตัวแบบไหนเต็มไปหมด แต่ไม่เคยคิดเลยนะว่าตัวเราเองเป็นใครวะ มีแต่อยากเป็นคนโน้นคนนี้ที่เราชอบในงานเขา

แต่พอ 4 ปีไม่ได้ทำ อีโก้ก็ลดลงเยอะครับ (หัวเราะ) 4 หน้านี้พี่ชอบใช่มั้ย มา! มันออกมาจากมือผมแล้ว 4 หน้านี้ ต่อให้ไม่ใช่เรื่องแรกสุดที่ผมอยากทำจริงๆ แต่มันก็ถูกดีไซน์ถูกเขียนผ่านผมแล้ว เพราะจริงๆ ณ ตอนนั้น ผมอินเรื่องเพื่อนมากกว่าเรื่องความรัก แต่พอถึงจุดหนึ่ง อันนี้มันก็เป็นความรักที่ผมรู้สึกว่า ผมน่าจะอินที่สุดในเรื่องความรักหลายๆ เรื่อง คือการที่เราชอบคนที่มีเจ้าของแล้วแบบจริงๆ จังๆ 

ทางค่ายไม่ได้ช่วยคุณเลือกเหรอว่า พงศ์เอาแค่นี้พอ หรือเอาเรื่องนี้แล้วกัน ในระหว่างเป็นดราฟต์ที่คุณแก้ๆ มา

เวลามาพรีเซนต์ทรีตเมนต์หรือบทแต่ละรอบ เขาก็จะพยายามช่วยบอกข้อดีนะครับว่า อันนี้ข้อดีมันอยู่ตรงไหน แต่พอมันไม่ใช่ข้อดีที่เกิดจากทั้งเรื่อง เหมือนผมเขียน 10 หน้ามาผมก็ต้องมาเลือกอีกอยู่ดีว่าผมจะเอาหน้าเดียว ซึ่งตอนนั้นเชื่อว่ามันทำได้ ก็เลยอยากจะดื้อมั้งครับ ว่าถ้าอย่างนั้นผมยังไม่เลือกอันที่พี่แนะนำดีกว่า ผมขอมานั่งเขียนเองต่อ ซึ่งสุดท้ายผมก็เลือกสิ่งเดียวกับที่เขาเคยพูดไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (หัวเราะ) แต่ว่าคนเราก็มีระยะเวลาเรียนรู้ต่างกัน ผมอาจจะช้าหน่อยเพราะว่าผมดื้อ เออ… ทำไมผมไม่เชื่อเขาวะ 4 ปีเลยนะเว้ย (หัวเราะ)

Hello Filmmaker ทำงานกับ GDH เป็นอย่างไรบ้าง คุณต้องประนีประนอมเยอะมั้ย

มีอยู่แล้วครับ ใดๆ ในโลก เอาจริงๆ ผมว่าที่ GDH นี่ใจดีและเปิดกว้างมากเลย แต่ในความเปิดกว้างนั้น เบื้องหลังคือเขาดันให้คนเขียนบทและผู้กำกับได้สัมผัสกับคนดู เราจะได้รู้ฟีดแบ็กคนดูประมาณหนึ่งตั้งแต่เป็นสคริปต์ว่ารู้สึกยังไงกับเรื่องนี้ ซึ่งปกติเวลาที่คอมเมนต์มันมาจากฟิล์มเมกเกอร์ด้วยกัน เราก็ยังเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง แต่คราวนี้เป็นในมุมคนดูที่บางทีเขาอาจจะสนใจฟิล์มหรือไม่สนใจเลย แล้วเขามาอ่านสคริปต์ เมื่ออ่านจบเขาก็จะได้มวลก้อนหนึ่งที่เขารู้สึกชอบอะไรไม่ชอบอะไร พอใจอะไรไม่พอใจอะไร อันนี้น่ากลัวกว่าการ compromise กับทีมงานหรืออะไรอีกครับ คือเมื่อเราโดนคนดูที่เป็นคนดูจริงๆ ด่ามานิดหนึ่ง เราจะเสียเซลฟ์มากเลยนะครับ แบบ เอ๊ะ ทำไมเราคิดว่าตรงนี้มันดีแล้ว แต่ว่าพอเขามาอ่าน เขารู้สึกว่ามันไม่ดีแล้วก็ nonsense มากๆ เราต้องมานั่งชั่งน้ำหนักว่าจะเชื่อตัวเองมากๆ แล้วดันทุรังมั้ย หรือเราจะยอมฟังเขาหน่อย เพราะถ้ามันมีบางจุดมาหนึ่งคน เราก็ยังพอรู้สึกว่า อ๋อ เขาคงติดประเด็นนี้จริงๆ โดยส่วนตัว เป็นความคิดเห็นเขา แต่บางอันที่คนพูดเหมือนกันหมดสัก 6 คนนี่ก็เริ่มคิดแล้วนะ เอาไงดีวะ

ผมเชื่อว่าการทำหนังในไทยตอนนี้ เราต้องสื่อสารกับคนดูประมาณหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเราจะยึดมันเป็นอาชีพนะครับ เราไม่สามารถหักดิบแล้วทำแบบที่ไม่สนใจเลย ไม่ได้ ต้องฟังเขาด้วยเหมือนกันว่าต้องการอะไร แต่มันไม่ใช่การทำหนังโดยมาฟังเขาบอกนะครับว่าเราควรจะทำอะไร มันเป็นการปิงปองระหว่างคนทำกับคนดู ผมเขียนสิ่งที่ผมอยากทำมานี่แหละ คุณอ่านเสร็จคุณรู้สึกยังไง เขาก็จะปิงปองความรู้สึกเขากลับมาว่า น่าสนใจนะ แต่ว่าตรงนี้ทำให้เขารู้สึกแย่ ตรงนี้ทำให้เขารู้สึกดีนะ มันก็เป็นข้อดีของการทำงานแบบนี้เหมือนกัน

ถามว่าผม compromise มั้ย ก็พอมันมาถึงทางแยกผมก็ทำนะ หมายถึงว่า อาจจะเป็นเพราะว่าเขาดันพูดมาในจุดที่ผมไม่แน่ใจอยู่แล้วด้วยครับ คือมันอาจจะเป็นซีนหรือก้อนที่ผมเองก็รู้สึกว่า ผมไม่ได้แน่ใจกับมันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะมีบางอันที่ผมรู้สึกว่าโดนเท่าไหร่ก็ไม่แก้เลย ก็ต้องมีอย่างนั้นเหมือนกันในฐานะคนทำ มันก็ต้องแยกส่วน

แต่เซนส์ของการ compromise ที่แบบว่า ไม่ชอบเลย ไม่อยากทำอย่างนี้ ไม่อยากให้มีซีนนี้ในหนังแต่ต้องมี เพราะว่าฟีดแบ็กคนหรือว่าค่ายบอกให้มี ไม่มีกรณีนี้นะครับ เพราะว่าเขาเคารพการตัดสินใจผมมากประมาณหนึ่งเลยพี่เก้งพี่วรรณ ประมาณว่า สุดท้ายเขาก็จะแนะนำแหละครับ แล้วถ้าเราไม่เอาเขาก็จะบอก ก็แล้วแต่ ก็ตามนั้นแหละ ถือว่าพูดแล้วนะ ซึ่งน่ากลัวกว่าจับยัดใส่มืออีก ประมาณว่าเดี๋ยวมึงก็รู้ (หัวเราะ) 

เหมือนคุณได้เป็นผู้กำกับหน้าใหม่อีกครั้ง เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเส้นทาง

โอ้โห เยอะมากเลยครับ ไม่รู้จะเรียบเรียงยังไง คือไม่เคยมีช่วงไหนในชีวิตที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมไม่เก่งได้เท่าการทำหนังเรื่องนี้แล้ว (หัวเราะ) อย่างสมัยทำงานหรือทำเอ็มวีผมก็จะมีอีโก้หรือมีความรู้สึกบ้างว่า เราเอาอยู่ว่ะ เชื่อผม อันนี้ผมทำได้ บางทีกล้าบอกกับลูกค้าอย่างนี้ด้วยว่า อันนี้ผมขอไม่แก้ เชื่อผม เดี๋ยวถ้ามันออกไป คนดูจะต้องชอบ แล้วจะสงสัยสิ่งนี้ เดี๋ยวเขาจะไปคุยกันต่อเอง พอทำหนังเรื่องนี้ ไอ้พวกนี้หดหมดเลยครับ กลายเป็น เหรอพี่วรรณ อันนี้มันจะเวิร์กเหรอครับ โอเคครับ (หัวเราะ)

หรืออย่างเวลาออกกอง แน่นอนว่าทุกอย่างมันต้องวางแผนมาดีมาก มันจะมีนิสัยเสียหนึ่งที่ผมชอบทำเวลาทำเอ็มวีหรือโฆษณา คือ สมมติว่าผมถ่ายอยู่ตรงนี้ แล้วผมเห็นตรงนั้นสวย ต่อให้ไม่ได้ขอโลเคชั่นก่อน ผมสามารถไปกระซิบแบบหรือนักแสดงว่า ไปถ่ายตรงนั้นให้หน่อย เดี๋ยวเราจะทำอย่างนี้นะ เราจะวอไปบอก เดินตรงนั้น ทำเสร็จ แอ็กอย่างนี้ เดินออกมา ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมันก็ทำให้เกิดเอ็มวีแบบเอ็มวี ขอ หรืออะไรอย่างนี้ เพราะถ้าเราออกกองห้าวันเจ็ดวันแบบนั้นจริงๆ งบที่มันน้อยมากอยู่แล้วในเอ็มวีไทย มันไม่สามารถถ่ายแบบนั้นได้ ผมก็ต้องไปขอนักแสดง คือมันกลายเป็นงานที่ 80 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีกองโจร 

แต่เรื่องนี้ทำไม่ได้เลย แปลว่าผมต้องคิดไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าผมจะเจออะไรบ้าง แล้วการทำงานที่เราควรจะเลิกให้เป็นเวลาเพื่อไม่ต้องไปลำบากใครเพียงเพราะผมดื้อ ก็เป็นสิ่งที่ผมต้องทำให้ได้เหมือนกัน ซึ่งก็บวกลบครับ พยายามทำให้ได้ แต่มันก็อาจจะมีดีเลย์บ้างชั่วโมงหนึ่ง ก็ต้องไปกราบขอโทษเขา 

การคุยกับนักแสดง อันนี้ก็สำคัญ ที่ผ่านมาผมจะไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้นักแสดงที่เป็นนักแสดงจริงๆ จะเป็นพวกแบบเสียมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งผมก็คิดว่าพอทำงานกับคนที่ไม่ได้เป็นนักแสดง เราเลยได้แอ็กติ้งที่ธรรมชาติมั้งครับ แต่พอได้มาทำกับนักแสดงที่เขามีสกิลมากๆ จริงๆ ผมรู้สึกทึ่งเลยนะว่า อ๋อ ที่ผ่านมา ที่เรารู้สึกว่าแอ็กติ้งของน้องๆ พวกนี้มันบวกลบ จริงๆ มันอาจจะเป็นแค่ไดเรกชั่นของผู้กำกับที่ไม่ได้ถูกจริตเรา แต่จริงๆ น้องพวกนี้มันเก่งมากนะ ถ้าเราได้มีเวลาคุยกับมัน นั่งคุยนั่งปรับโน่นนี่นั่น เขาทำให้เราได้สบายและเร็วมากๆ เลย จนพี่วรรณแนะนำว่าผมไม่ต้องใช้แอ็กติ้งโค้ชก็ได้ ทำแบบที่ผมถนัดเลยคือ คุยเองจัดการเอง ซึ่งก็ทำให้ได้เพื่อนใหม่ด้วย ได้สนิท ได้โดนไอ้เด็กพวกนี้เล่นหัว (หัวเราะ) 

อีกข้อดีคือ ได้กลับมาทำหนังด้วยกันกับศิษย์เก่าเฮลโลฟิล์มเมคเกอร์ เพื่อนบางคนที่ออกไปตั้งนานแล้วเขาก็มาเป็นเอ็กซ์ตร้าให้ เหมือนรียูเนี่ยน ผมว่ามันน่าจะเป็นกองที่สนุกที่สุดที่ผมเคยทำมาแล้วครับ มีแต่คนป่วนๆ มีแต่เพื่อนที่เจอหน้ากันมานานแล้ว ทะเลาะกันก็ทะเลาะกันจริงจังเลย แต่ก็ต้องรีบดีกัน เพราะพรุ่งนี้ไปออกกองแล้วตึงใส่กันมันไม่รอด 

เวลาอยู่ในกองคุณเป็นแบบไหน

ถ้าเป็นแต่ก่อนผมจะใช้คำว่า แอ็กตึง แอ็กหงุดหงิด เพราะผมเป็นผู้กำกับเร็วครับ 24-25 ก็เป็นแล้ว แล้วมันจะมีความไม่เชื่อถือจากผู้ใหญ่ ด้วยความที่สมัยก่อนเป็นอย่างนั้น ก็เลยต้องแอ็ก เพราะว่าถ้าผมไปต๊องใส่ตากล้องที่เขาแก่กว่าผม 30 ปี เขาก็จะแบบ มึงเป็นอะไร กลับไปเป็นผู้ช่วยไป หรือทีมต่างๆ เขาก็จะแบบ อุ๊ย ทำไมเด็กจังเลย เขาจะเอางานอยู่มั้ย ผมก็เลยรู้ว่า อ๋อ เรื่องนี้มันก็สำคัญนะ แต่กองนี้ผมต๊องประมาณหนึ่งนะ หมายถึงว่าไม่ได้เล่นตลกเรี่ยราด แต่ก็เหมือนถ่ายไปแล้วสามารถหันไปเม้าท์ได้ด้วย เพราะว่าพวกน้องๆ พวกเพื่อนๆ ผู้ช่วยผม เวลาถ่ายเสร็จหรือเวลามันจัดการงานมันเสร็จแล้ว ก็จะมาดูหลังมอนิเตอร์กัน แล้วเราก็จะมีอะไรคุยเล่น มีอะไรแซว แล้วพอแอ็กชั่นปุ๊บก็โฟกัส ดู ดูเสร็จ แก้ มันรีบนะครับ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็เหมือนได้ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ 

คนทำหนังเรื่องแรกส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องจากชีวิตตัวเอง ของคุณเป็นแบบนั้นมั้ย

ข้อนี้อันตรายจังเลย (หัวเราะ) ผมล่ะกลัวคำถามแบบนี้ที่สุด มันเหมือนถ้าผมตอบว่า อ๋อ ไม่ใช่ครับ เรื่องคนอื่น ผมก็จะดู เอ้า แล้วไปทำเรื่องคนอื่นทำไม ทำไมไม่เอาอินไซด์ตัวเองมาทำ แต่ถ้าผมบอกเป็นเรื่องตัวเอง แล้วตัวละครในหนังดันไปทำอะไรที่นิสัยไม่ดี มันก็จะดูแบบ อ๋อ มึงเป็นคนอย่างนี้ไง แล้วผมจะเลือกทางไหนดีวะ (หัวเราะ) 

ผมคิดว่าหลายๆ ส่วนมาจากเรื่องที่ผมได้เจอ บางเรื่องก็ยืมมาจากน้องผู้ช่วย บางเรื่องก็ยืมมาจากเพื่อน ผมชอบช็อตโน้ตเวลาที่มีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นแล้วผมรู้สึกว่า เฮ้ย มันน่ารักดี มันเป็นซีนที่ดีนะ หรือเวลาได้ยินเรื่องของน้องๆ ในออฟฟิศ เขามาเล่าให้ฟัง เพราะจริงๆ เฮลโลฟิล์มฯ สมัยก่อนมันจะมีลักษณะเหมือนคอมมูนิตี้เหมือนโคเวิร์กกิ้งสเปซ เหมือนบ้านคนเหงา ใครไม่มีอะไรทำก็มานั่งเล่นบอร์ดเกม หรือว่ามานั่งแฮงเอาต์ มานั่งคุยเล่าเรื่อง เฮ้ย เพิ่งอกหักมาว่ะ พอเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วทุกเรื่องมันกลายเป็นเรื่องตลก เฮิร์ตมามากๆ ก็จะโดนพวกผมปั่น เขาไปดีแล้วล่ะ เขาไม่อยู่กับมึง แต่มันก็จะหายเร็ว แล้วเรื่องพวกนี้มันก็จะเหมือนมาช่วยผมในงานได้บ่อยเหมือนกัน 

สมมติว่าย้อนกลับไปอย่างงาน the one card ตอนนั้นผมใช้วิธีว่า น้องผู้ช่วยผม มันเพิ่งอกหัก ผมก็เลยบอกว่าลองไปเขียนเรื่องของตัวเองมาให้อ่านหน่อยสิ แบบเอาให้ซึ้งที่สุดเลยนะ แล้วให้เปลี่ยนจากอกหักเป็นแฟนตายไปแล้ว เขาก็ไปเขียนมา แล้วมันค่อนข้างที่จะน้ำเน่าประมาณหนึ่งเลย ผมก็บอก กูขออันนี้แหละ แต่กูขอทำล้อทุกอย่างในนี้หมดเลยนะ การที่มึงดูหนัง The Classic แล้วอิน ขอล้อนะ การที่ไปนั่งดูท้องฟ้า Vanilla Sky ข้อล้อนะ อะไรอย่างนี้ อยากล้อให้หมดเลย มันก็คือเหมือนผมเบสออนทรูสตอรี่ของน้องเขา แต่ผมแค่เล่ามันในแบบที่ผมอยากเล่า บางทีมันก็บอกไม่ได้ว่านี่คือเรื่องจริงร้อยเปอร์เซ็นต์มั้ย เพราะทันทีที่มันถูกเล่าผ่านมาผม ก็เหมือนใส่สีสันเข้าไปในนั้น มันก็อาจจะไม่ได้จริงขนาดนั้นแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นแบบนั้นแหละครับ มันเกิดจากหลายๆ เรื่องหลายๆ ประสบการณ์ 

การจดช็อตโน้ตตลอดเวลาดูเป็นวิธีที่ขยันมากเลย คุณทำเป็นธรรมชาติเลยมั้ย

เป็นครับ แล้วมันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นพอทำจนชิน เพราะว่าผมจะช็อตมันให้พอเข้าใจ แล้วไม่บรรยายมากเกินไป แต่จะเขียนให้เข้าใจว่ามันดียังไง เช่นเหตุการณ์นี้ รุ่นน้องคนนี้ไปขอเบอร์สาวคนนั้นในร้านเหล้า แล้วมันเจอแบบนี้ มันตลกตรงที่ เขาทักมันว่า พี่เคยขอเบอร์หนูมาแล้วรอบหนึ่งนะ อะไรอย่างนี้ ก็จะจบเลย จดใส่มือถือในโปรแกรม Notes เพราะว่าเวลาเปลี่ยนเครื่องก็ย้ายข้อมูลไปได้ ถ้ายุคแรกลงสมุดก็จะเทอะทะหน่อย เดี๋ยวนี้บางทีผมเห็นอันนี้ตลกผมก็หยิบมาถ่ายรูปเลย แปะไว้ในโน้ต แล้วก็เขียนว่ามันคืออะไร

ตอนที่ได้ใช้มากที่สุดคือตอนทำสกรีนเพลย์นี่แหละครับ เหมือนต้องไปนั่งเปิดว่า 4 ปีนี้รวบรวมอะไรมาบ้าง แล้วอยากได้อะไรในเรื่องนี้บ้าง ก็เอามาวางๆ เรียง แปะโพสต์อิทบ้างอะไรบ้าง ทำเพื่อดูว่า มุกนี้เอาออก อันนี้อยู่ในซีนได้ อันนี้อยู่กับอันนี้แล้วดี ก็ทดๆ ไว้ แต่ส่วนใหญ่มุกผมมันจะเป็นมุกหึ มันจะไม่ใช่มุกก๊าก มันจะเป็นบรรยากาศหรือความเดี้ยงหรืออะไรก็ไม่รู้ 

รวมไปถึงไดอะล็อกที่ได้ยินมาแล้วชอบ อันนี้ก็จะจดบ่อย อย่าง ‘จริงๆ ตอนนั้นก็ดีนะ’ ในเอ็มวีเพลง ขอ มันก็มาแค่นั้น ผมก็อยากทำงานที่มันมีคำนี้ รู้สึกว่ามันง่ายและฟังก์ชั่นจังเลย มันกลางพอที่จะเป็นคำของใครก็ได้ แล้วก็มีความหมายมากพอที่จะทำให้คนรู้สึกได้เมื่ออยู่ถูกคอนเทนต์ ถ้าทำเอ็มวีตัวหนึ่งเต็มที่ก็จะได้ใช้สัก 2 หัวข้อที่จด เพราะมันสั้น แต่ในหนังเรื่องนี้ก็ได้ใช้เยอะครับ

ถึงตอนนี้แล้วคุณมองเส้นทางของหนังเรื่องนี้ยังไง

อยู่กับมันมาตั้ง 2 ปี จะบอกว่าไม่คาดหวังเลยก็ตลกแล้วล่ะ สำหรับผม ตัวผมเองก็อยากเห็นว่าพอชิ้นนี้ออกไปสู่คนดูแล้ว บาลานซ์ของผมที่มาอยู่ร่วมบ้านเดียวกับ gdh มันออกมาเป็นยังไงกับคนดู ซึ่งถามผม ส่วนตัวผมชอบนะ มันเหมือนมีคนมาช่วยในสิ่งที่เราขาด แล้วก็มาเตือนเหมือนกันว่า จริงๆ แล้ววงการที่เราทำอยู่มันอยู่ในจุดไหน มันต้องการอะไร แล้วจะผลักดันกันต่อยังไง เขาช่วยได้เยอะมาก ถ้าเป็นแต่ก่อนผมจะคิดง่ายมากเลยว่า ทำออกมา คนดูประมาณหนึ่ง โอเคแล้ว ให้มันไปเฟสติวัลได้ คิดแบบคนเรียนฟิล์ม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า พอผมมาทำแล้ว ผมชอบอาชีพนี้มากเลยนะ คือถ้ามันซัคเซสผมจะได้ไม่ต้องกลับไปทำโฆษณาทำเอ็มวีอีก ผมจะได้ อ๋อ โอเค มันมีที่ทางว่ะ ผมทำสิ่งนี้เป็นอาชีพได้แล้ว ก็จะทำมันเป็นอาชีพไป อาจจะมีแวะรับโฆษณาบ้างอะไรบ้างประปรายเวลาบทไม่ผ่าน แต่ก็อยากจะยึดอันนี้ เพราะมันสนุกมากจริงๆ 

ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ คุณมองวงการหนังไทยตอนนี้ยังไง

จริงๆ ข้อนี้ตอบยังไงก็การเมืองนะ มันชัดเจนอยู่แล้วว่า ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนขนาดนั้น แล้วก็บวกกับเห็นเขาชอบพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ แต่ซอฟต์พาวเวอร์มันไม่ได้เป็นการเอาวัฒนธรรมเข้าไปยัดอยู่ในช้ินงาน มันต้องเบลนด์กับไลฟ์สไตล์ กับวิถีชีวิตกับคนจริงๆ ว่าเขากินอะไร เขาอยู่ยังไง เขาทำอะไร ก่อนที่จะออกไปให้เห็น ไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้ยัดต้มยำกุ้งไปหน่อย ทำไมเขาเข้าใจผิดได้ขนาดนั้นวะ แล้วก็เรื่องการฉายเรื่องอะไรอีก คือมันยากมากเลย 

เรากำลังทำงานแข่งกับเวทีโลกกันอยู่ เพราะว่าในเมื่อมันมี Netflix เข้ามา ทุกคนสามารถดูหนังเกาหลีหนังอะไรได้ตลอด มันก็เลยจากเดิมที่เปอร์เซ็นต์รอดมันน้อยอยู่แล้ว ตอนนี้ทำออกไป มันโคตรน้อยเลยนะครับ แปลว่าในหนังทุกๆ เรื่อง ที่กำลังจะฉายโรง มันมีโอกาสที่จะมีเรื่องแบบนั้นแต่ดีกว่าอยู่ในเน็ตฟลิกซ์อยู่แล้ว คำถามคือ แล้วเขาจะออกมาดูทำไม นึกภาพออกมั้ยครับว่ามันยากมากๆ จริงๆ 

เหมือนที่ผมเคยพูดแหละว่า จริงๆ หนังที่ดีมัน localization หรือ globalization กันแน่วะ Squid Game คือ localization มากๆ ที่เอาเกมพื้นเมืองเกาหลีมาเล่นเลยนะ แล้วทำไมมันถึงเวิร์กกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นทำแนวนี้มาตั้งนานแล้ว ผมคิดว่าความรู้สึกตัวละครมันไม่เบียว มันไม่มีความเป็นญี่ปุ่นสูง มันยังกลางพอที่คนฝั่งยุโรปอเมริกาจะรีเลตได้ ว่าตัวละครนี้ซัฟเฟอร์เพราะอะไร ตัวละครนี้อะไรยังไง บางทีเวลาเราดูไลน์แอ็กชั่นญี่ปุ่นเราจะรู้สึกว่า มันก็เป็นอนิเมะแหละ มันก็โลจิกอนิเมะ แค่เอาคนมาเล่น แต่ Squid Game มันลดทอนอันนั้นลง แล้วมันเอาอยู่ในซีนที่ควรจะเอาอยู่ เช่น คุณลุงมาตัดสินใจว่าจะเลือกเล่นเกมต่อหรือเลิก ทุกคนเดาหมดแหละว่าก็ต้องเลือกเล่นต่อสิ ไม่งั้นหนังจบเลยนะ เอ้า เสือกไม่เล่น แล้วก็ไปเล่าชีวิตนอกนั้น เขารู้ทันในจุดที่ควรจะรู้ครับ มันไม่ต้องเป็นอย่างนั้นทั้งเรื่องก็ได้ มันแค่ทำให้ถูกที่ถูกเวลาพอ ซึ่งนั่นแหละครับ คู่แข่งเราทั้งหมดอยู่ในนั้นหมดเลย

เวลาทำอะไรออกไปแต่ละเรื่องที แทนที่จะคิดถึงไทยมีสิ่งนี้หรือยัง บางทีมันต้องมองว่า เอ้า แล้วเวทีโลกล่ะ แล้วผมทำ rom-com มาอย่างนี้ มันมีหนังเกาหลีเรื่องอื่นมาทดแทนเรื่องนี้ได้หรือเปล่า หรือมันมีอะไรอย่างอื่นหรือเปล่า เหมือนผมก็ต้องตึงมากพอ รอบคอบมากพอที่จะผลิตออกไปแล้วรู้สึกว่า ตัวเองยังสื่อสารกับคนดู แต่ก็เสือกมีความยูนีคมากพอที่จะได้ทำงานชิ้นต่อไปในฐานะผู้กำกับ เพราะถ้าไม่มีความยูนีคมากพอเลยก็จะไม่ได้ทำ ก็จะเป็นใครก็ได้เหมือนกัน โห ยากจัง 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ