Napier Fiber Textile เสื้อผ้าทำจากกอหญ้า พัฒนาจากเส้นใยที่ยังไม่เคยมีใครทำในโลก

พอร์ตโฟลิโอของ จิรัชญา ยิ่งนอก

จบการศึกษาจาก สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ชื่อผลงาน  การพัฒนาสิ่งทอจากหญ้าเนเปียร์

ใครจะคิดว่าหญ้าที่ใช้ให้อาหารสัตว์ จะกลายมาเป็นเสื้อผ้าโก้เก๋ได้อย่างที่เห็น และที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้น คงเพราะเจ้าของไอเดียสุดเจ๋งนี้ ไม่ใช่แบรนด์ดังที่ไหน แต่เป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 อย่าง แป้ง-จิรัชญา ยิ่งนอก ที่ทุ่มความพยายามทั้งหมดปลุกปั้นโปรเจกต์นี้ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้สำเร็จ 

ซึ่งตั้งแต่เธอได้ปล่อยคลิปเบื้องหลังขั้นตอนการทำต่างๆ ลงบน TikTok ก็ทำให้โปรเจกต์นี้เป็นที่รู้จักและเป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากขึ้น เราเองก็เป็นหนึ่งคนที่สะดุดตากับคลิปตั้งแต่แรกเห็น เลยไม่รอช้าที่จะยกหูหาเจ้าของผลงาน เพื่อชวนเธอมานั่งคุยถึงไอเดียตั้งต้น ความท้าทาย และความสนุกที่เกิดขึ้น 

บทสนทนาวันนี้เลยเต็มไปด้วยความทึ่ง ประหลาดใจ และชื่นชม สลับกันไปทุก 10 นาที ก่อนจะจบลงด้วยความรู้สึกยินดีกับก้าวแรกบนเส้นทางฝันของเธอ

ใครไม่เปียร์หญ้าเนเปียร์

 “โปรเจกต์จบของสาขาวิชาเรา ทุกคนต้องเลือกว่าจะทำหัวข้อแรงบันดาลใจ หรือการพัฒนาเส้นใยสิ่งทอแล้วนำมาผลิตเป็นเครื่องแต่งกาย ตอนนั้นเราอยากทำอะไรที่ตัวเองรู้สึกภูมิใจ และมีประโยชน์ต่อวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอ เลยตัดสินใจทำเกี่ยวกับเส้นใยจากธรรมชาติ” 

  “พอเราตัดสินใจจะทำเกี่ยวกับการพัฒนาเส้นใย  ก็ต้องมาดูว่ามีเส้นใยจากพืชอะไรบ้างที่ยังไม่มีคนทำ หรือมีคนทำน้อยที่สุด จากนั้นก็หาข้อมูลต่อว่าเส้นใยของพืชชนิดนั้นเหมาะจะนำมาพัฒนาต่อไหม“ แต่เรื่องราวไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด จากเดิมที่แป้งคิดจะเลือกใช้สาหร่ายเทาในการทดลองก็ต้องล้มเลิก เพราะทางโรงงานแจ้งว่า เป็นเส้นใยที่บางเกินไป จึงนำมาสู่บทดสอบถัดมา

“พอต้องหาเส้นใยใหม่เราก็เครียดมาก เพราะผ่านไปครึ่งเทอมแล้ว เวลาก็เหลือน้อยลงทุกที ตอนนั้นไม่ว่าจะกินอะไร เดินไปไหนมาไหนก็ต้องมาฉีกดูว่า พืชที่เรากินมีเส้นใยหรือเปล่า จำได้ว่าตอนนั้นกินมะรุมอยู่ ก็รูดแล้วคลี่ดูว่ามีเส้นใยรึเปล่า แล้วต้องสังเกตุอีกว่าเส้นใยแข็งหรือบางไปไหม ชีวิตช่วงนั้นเป็นอย่างนั้นเลย นึกย้อนไปแล้วตลกตัวเองมาก (หัวเราะ)”

“เราทำวิธีนี้มาเรื่อยๆ จนมาเจอหญ้าเนเปียร์แถวบ้าน ก็ลองเอามาฉีกดู พอเห็นว่ามีเส้นใยจำนวนหนึ่ง เลยคิดว่าน่าจะสามารถนำมาทำได้จากนั้นก็ไปเช็คข้อมูลต่อว่า เส้นใยนี้เหมาะที่จะนำมาพัฒนาต่อหรือเปล่า พอเราเริ่มเห็นความเป็นไปได้สุดท้ายเลยมาจบลงที่หญ้าเนเปียร์“

แค่เริ่มฟังก็กระตุ้นความอยากรู้แล้วว่า กว่าที่หญ้าเหล่านี้จะเปลี่ยนร่างมาเป็นเสื้อผ้าได้ เธอเจอกับความท้ายอะไรบ้างระหว่างทาง

จากกอหญ้าสู่เสื้อผ้าบนรันเวย์ 

“มันยากเพราะเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งทอเลย”

แป้งย้ำอยู่หลายหนถึงความท้าทายในครั้งนี้ และที่ยิ่งท้ายกว่าเดิมแบบคูณสองคงเพราะหญ้าเนเปียร์เป็นเส้นใยที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่นั่นก็ไม่ใช่กับดักที่ทำให้โปรเจกต์นี้ไม่ได้ไปต่อ…

กลับกันเธอเลือกที่จะศึกษาเรื่องเส้นใยและกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ต้น ค่อยๆ เริ่มทดลองความเป็นไปได้ทั้งหมดด้วยตัวเอง จนสามารถหาวิธีพัฒนาเส้นใยชนิดนี้ให้ออกมาเป็นเสื้อผ้าได้สำเร็จ

“ปกติถ้าจะทำเกี่ยวกับสิ่งทอ ส่วนใหญ่ต้องไปปรึกษาโรงงานเป็นหลักและให้เขาเป็นคนทดลองเท่านั้น แต่ช่วงนั้นโรงงานรับทำวิจัยค่อนข้างเยอะ เลยไม่สามารถรับทำให้เราได้ พอโรงงานปฏิเสธ เราเลยต้องมาศึกษาหาข้อมูลเองตั้งแต่ต้น  กลายเป็นว่าโปรเจกต์นี้เราทำเองแทบทั้งหมด ยกเว้นกระบวนการทอ ตัดเย็บ เราจะส่งไปให้ชุมชนทำต่อ“

แป้งเล่าถึงขั้นตอนคร่าวๆ ว่า “ตอนแรกๆ เราเริ่มศึกษาจากวิธีที่เขาใช้ทดลองกับพวกเส้นใยชนิดอื่นๆ เช่น เส้นใยสับปะรด เส้นใยอ้อย แล้วค่อยนำมาลองกับหญ้าเนเปียร์ไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่าวิธีไหนเหมาะกับวัสดุของเรามากที่สุด ส่วนวิธีการคัดเลือก เราจะใช้ต้นที่อ่อน เพราะเวลาเอาไปทอเส้นจะมีความนุ่มกว่าต้นที่แก่”

“ต่อมาก็ต้องมาทำให้เส้นใยที่เราจะใช้อ่อนตัวลง ขั้นตอนนี้เราใช้เวลาทดลองเป็นเดือน กว่าจะเจอกับวิธีการที่สามารถจัดการได้ดีที่สุด จากนั้นก็จะนำมาสางเพื่อให้เส้นใยมีความฟูมากพอที่จะสามารถนำไปปั่นด้าย”

“แต่ต้องยอมรับว่า เส้นใยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถจับตัวและปั่นเป็นเส้นด้ายด้วยตัวเองได้ จึงต้องใช้ฝ้ายมาเป็นส่วนผสมเหมือนกับเส้นใยธรรมชาติชนิดอื่น” แม้การวิจัยเส้นใยในครั้งนี้จะไม่ได้สำเร็จแบบ100% แต่ก็เป็นต้นแบบที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาต่อได้ในอนาคต

ความตั้งใจสีเขียว

         “ส่วนคอนเซปต์การออกแบบในครั้งนี้ เราได้แรงบันดาลใจจากเทรนด์ในปี 2024 กับกลุ่มลูกค้าที่เราตั้งไว้ว่า อยากทำเสื้อผ้าสำหรับคนทำงาน เลยออกมาเป็นแนวเวิร์กแวร์คลาสสิกอย่างที่ได้เห็น”

นอกจากความสวยงามแป้งยังคำนึงถึงเรื่อง Fast Fashion ชุดในคอลเลกชันนี้จึงเน้นดีไซน์เรียบโก้ เค้าโครงไม่ซับซ้อน ไม่ได้หวือหวาฉาบฉวยตามเทรนด์ แต่จะเป็นดีไซน์ที่สามารถใส่ได้บ่อยๆ เพื่อยืดอายุการใช้งานของชุดให้ยาวนานขึ้น และช่วยลดทรัพยากรในอุตสาหกรรมสิ่งทอได้อีกทางหนึ่งด้วย

อีกหนึ่งกิมมิกคือ ทุกชุดจะใช้สีธรรมชาติในการย้อม มีทั้งสีจาก คราม ครั่ง สมอไทย และขมิ้น เพราะแป้งอยากให้องค์ประกอบทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกันกับวัสดุจากธรรมชาติ และอยากเป็นจุดเล็กๆ ในวงการแฟชั่นที่คอยสนับสนุนแฟชั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม

“เราว่าชุดที่ทำจากธรรรมชาติจะมีเสน่ห์ในตัวของมันนะ เช่น สีธรรมชาติเวลาย้อมก็จะไม่ได้เข้มโดดเหมือนสีเคมี ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางทีก็มีความคาดเดาไม่ได้อยู่ในนั้น เราเลยรู้สึกว่าอะไรก็ตามที่มันมาจากธรรมชาติมันมีเสน่ห์มากจริงๆ ”

ความมุ่งมั่นของเธอ จึงไม่ใช่แค่ออกแบบชุดเส้นใยจากหญ้าเท่านั้น แต่ตั้งใจให้โปรเจกต์ในครั้งนี้ปลุกกระแสให้ผู้คนหันมาสนใจ เสื้อผ้า Eco Fashion มากขึ้น พร้อมกับหวังลึกๆ ว่า ผ้าไทยอาจจะช่วยชะลอความเร็วของแฟชั่นให้ช้าลงได้บ้าง 

“เรามองว่า ถ้าวันนี้ทำให้คนเห็นเสน่ห์ชุดจากเส้นใยธรรมชาติได้อย่างน้อยหนึ่งคน  ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเล็กๆ แล้วนะ เพราะถ้าเขาเริ่มสนใจอะไรเราจะอยากใส่ใจสิ่งนั้นมากขึ้นเอง” ส่วนความยั่งยืนที่เธอหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต คงต้องอาศัยการลงมือทำแบบต่อเนื่องกันต่อไป

ในความเป็นไปไม่ได้ มีความเป็นไปได้อยู่เสมอ

ทั้งหมดทั้งมวลแป้งใช้เวลาราว 8 เดือน ในการค้นคว้าและทดลองเพื่อหาความเป็นไปได้ให้กับวัสดุที่เธอเลือก “ช่วงนั้นจะเครียดมากกว่าสนุก แต่พอเสร็จแล้ว เรารู้สึกโล่งแล้วก็ดีใจมากที่ทำได้ ตอนนั้นมันคือคำว่า ‘เราก็ทำได้นี่หน่า’ มันภูมิใจเพราะเราทำในสิ่งที่ไม่เคยทำให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้”

มีชอบชุดไหนมากเป็นพิเศษไหม ?  เราโยนคำถาม

“ชอบหมดทั้ง 5 ชุดเลย เพราะมันมาจากความตั้งใจ ความพยายามของเราจริงๆ ” เธอรีบตอบแบบไม่ลังเล 

มากกว่านั้นการทดลองครั้งนี้ยังทิ้งบทเรียนชั้นดีให้กับเธอ “บางสิ่งที่เราไม่เคยทำ เรามักจะคิดไปก่อนแล้วว่าเป็นเรื่องยากเกินตัว แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ยากขนาดนั้น วันนี้เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองเลยว่า กับบางเรื่องถ้าเราลองทำ ลองศึกษาอย่างจริงจังก่อนสักตั้ง เราก็สามารถทำสิ่งนั้นออกมาได้เหมือนกัน แม้แวบแรกจะรู้สึกว่ามันยากมากก็ตาม” 

แป้งทำให้เห็นเลยว่า เมื่อไหร่ที่เราเปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า และลงมือทำอย่างเต็มที่ เราจะเขยิบเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้มากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะการที่เราได้เริ่มลงมือทำ นั่นเท่ากับเราได้สร้างโอกาสในความสำเร็จให้กับตัวเองแล้ว

“เวลาเห็นคนอื่นเขาทำเรื่องเจ๋งๆ แล้วรู้สึกว่าเขาเท่ จริงๆ เราก็เท่แบบเขาได้นะ ถ้าเริ่มลงมือทำ” เธอทิ้งท้าย

AUTHOR