มุก อรรถการวงศ์ ดีไซเนอร์สโลว์แฟชั่นผู้ปฏิเสธเลดี้กาก้า แต่กลับไทยมาสร้างฮับให้ศิลปินหน้าใหม่

มุก อรรถการวงศ์

หากคุณเสิร์ชหา ATT 19 แกลเลอรีในย่านเจริญกรุงแล้วเห็นชื่อ มุกพรทิพย์ อรรถการวงศ์ อยู่บ่อยๆ นั่นเพราะว่าเธอคือครีเอทีฟไดเรกเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังพื้นที่ตึกอายุ 120 ปีแห่งนี้ซึ่งเปิดให้คนได้รู้จักในฐานะมัลติสเปซ ทั้งเป็นร้านขายของแต่งบ้านแบบโบราณ คาเฟ่ ร้าน chef’s table และแกลเลอรีมานานเกือบ 2 ปี

มุก อรรถการวงศ์

อีกด้านหนึ่ง ถ้าคุณเอาชื่อภาษาอังกฤษ Mook Attakanwong ไปเสิร์ชดูบ้าง ผลการค้นหาจะเปิดเผยอีกหนึ่งบทบาทของเธอในฐานะแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้สร้างแบรนด์สโลว์แฟชั่นในนิวยอร์กที่ Vogue Italia จัดให้เป็น 1 ใน 200 emerging designers ประจำปี 2014 

ที่ผลการค้นหาเป็นแบบนั้นเพราะก่อนที่มุกจะกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างเป็นทางการ เธอคือแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ลงมือหยิบเสื้อผ้ามือสองมาปรับโฉมใหม่ ออกแบบให้มีดีไซน์เก๋ ร่วมสมัย จนสไตลิสต์ของ Rihanna ยังมาสั่งตัดชุดให้กับนักร้องดัง แถมยังมีออร์เดอร์ชุดแดนเซอร์ของ Lady Gaga เข้ามาก่อนที่กาก้าจะขึ้นคอนเสิร์ต Super Bowl หนึ่งอาทิตย์ ฟังแค่นี้ก็พอจะเห็นภาพว่าสื่อต่างชาติให้ความสนใจเธอแค่ไหน

แต่ใครๆ ก็ว่านิวยอร์กเป็นมหานครที่ไหลเวียนด้วยแรงงาน การแข่งขัน และธุรกิจ การทำแบรนด์สโลว์แฟชั่นที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมก็ยากอยู่แล้ว แต่การทำแบรนด์ให้อยู่รอดนั้นยากกว่า นี่จึงเป็นที่มาของการต่อสู้เพื่ออยู่รอดที่ทำให้มุกค้นพบเบื้องหลังอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษให้โลกอันดับหนึ่ง และการตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับบ้านเพื่อเริ่มต้นใหม่ทันที

มุก อรรถการวงศ์

คุณเคยบอกกับหลายคนว่าเหตุผลที่เลือกเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์เพราะตอนเด็กชอบเย็บตุ๊กตาและชอบงานดีไซน์มาก คิดว่าอะไรในวัยเด็กทำให้ชอบศิลปะขนาดนี้

ต้องพูดเรื่องครอบครัวก่อนเลยว่าเราโชคดี ป๊ากับแม่เปิดร้านขายวัตถุโบราณและของเก่าชื่อว่า Lek Gallery อยู่แถวเจริญกรุง ทุกวันหยุดป๊าจะให้เราวาดรูปวัตถุโบราณหนึ่งชิ้นแล้วเขียนอธิบายว่าของชิ้นนั้นมาจากไหน มันทำให้เราได้สำรวจการดีไซน์ของนั้นๆ ส่วนไหนโค้งเว้า ส่วนไหนแกะสลักออกมาแล้วเป็นยังไง อีกอย่างเจริญกรุงเป็นย่านสร้างสรรค์ทำให้เราได้เห็นร้านขายผ้า ร้านจิวเวลรี และงานดีไซน์เยอะ อย่างร้านขายผ้าไหมข้างๆ ก็จะชอบเอาเศษผ้ามาให้เราเย็บ 

ส่วนพี่สาวสามคนอายุห่างกับเรามาก เขาเลยทรีตเราเป็นผู้ใหญ่ พอเห็นว่าเราชอบเอาถุงเท้ามาเย็บเป็นตุ๊กตาหรือปักผ้าอยู่บ้านก็จะซื้ออุปกรณ์มาให้ ทั้งกี่ทอผ้า จักรเย็บผ้าพลาสติกอันเล็ก พี่สาวคนที่สองเรียนศิลปากรก็พาเราไปเดินงาน Gift (เทศกาลและตลาดรวมงานดีไซน์ของนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ไปซื้อของร้อยลูกปัด ซื้ออุปกรณ์ปักผ้ามาให้

เราเลยไม่เคยรู้สึกว่าการเย็บผ้าตั้งแต่เด็กมันประหลาด เราโชคดีที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สร้างความมั่นใจว่าเราไม่ได้ทำเล่นๆ และเราสามารถทำได้ เพราะถ้าเขาไม่เห็นว่าทำได้ก็คงซื้อตุ๊กตาให้แล้ว แต่ตอนไปโรงเรียนทุกคนมองว่าการเย็บผ้าของเรามันประหลาดมาก เรารู้สึกไม่โอเคก็เลยไปเรียนต่างประเทศ

คุณตัดสินใจไปเรียนเมืองนอกจากเรื่องนี้ทันทีเลยเหรอ

จริงๆ เราไม่แฮปปี้กับการไปโรงเรียนในหลายเรื่อง เราตั้งคำถามว่าทำไมครูเลือกที่จะตอบคำถามแต่คนเก่ง ทำไมสิ่งที่เราชอบกับที่เพื่อนชอบถึงไม่เหมือนกัน ทำไมฉันสอบได้คะแนนไม่ดีแล้วจะต้องมีใบคะแนนไปแปะหน้าห้องด้วย แล้วอีกอย่างห้องเรียนมันก็ใหญ่เกินไป

พูดแล้วมันจะเป็นพริวิเลจสตอรีมาก เพราะเราสามารถบอกป๊ากับแม่ได้ว่าเราไม่แฮปปี้กับโรงเรียนนี้ แล้วอยู่ดีๆ ไปโผล่เมืองนอก แต่คือช่วงนั้นประมาณปลายยุค 90s คนไทยเริ่มส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ลูกค้าที่ร้านป๊ากับแม่ก็มีลูกเป็นคนออสเตรเลีย เขาเลยลองส่งเราไปเรียนที่นู่นตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เราไปถึงที่นั่นแบบงงๆ เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ทุกคนก็ช่วย ทั้งเพื่อนและครู เขาทรีตเราทุกคนเท่ากัน ไม่ได้มีใครสูงกว่าใคร ครูก็ไม่ได้สูงกว่าเรา และโรงเรียนก็ทำให้เราฝึกเป็นผู้ใหญ่ จัดการตารางการทำงานและชีวิตได้

มุก อรรถการวงศ์

แล้วคุณก็เลือกเรียนแฟชั่นต่อที่นั่นเลย เรียนเป็นยังไงบ้าง มันทำให้คุณสนใจสโลว์แฟชั่นได้ยังไง

โคตรยาก ไม่ได้เป็นแบบที่คิดไว้ตอนเด็กเลย (หัวเราะ) ระดับปริญญามันเป็นการฝึกสกิล ลองทำทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าตัวเองจะเป็นดีไซเนอร์แบบไหน เราเลยเลือกไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา Fashion Design and Society ที่ Parsons School of Design เมืองนิวยอร์ก

ที่นี่ก็ยากเหมือนกัน ใช้คำว่าเกือบตายได้เลย เอาจริงๆ การเรียนในสายครีเอทีฟทั้งออกแบบอุตสาหกรรม ออกแบบโปรดักต์ หรือแฟชั่นมันโหดทุกอัน เพราะเขาจะใช้วิธีการแตกอินไซต์ออกมาเป็นเสี่ยงๆ เพื่อที่จะได้คิดและออกแบบงานได้ เขาฝึกให้เราคิดแบบ critical thinking ไม่ใช่ออกแบบเสื้อผ้าไปเฉยๆ แล้วจบ

มุก อรรถการวงศ์

ที่พาร์สันถ้าปีแรกไม่รอดเราจะถูกส่งกลับบ้านทันที แต่สุดท้ายเราก็รอดมาได้และทำให้มั่นใจขึ้นว่าเราถนัดด้านสิ่งทอจริงๆ ก่อนเรียนจบเราทำคอลเลกชั่นสุดท้ายด้วยการเอาผ้าที่แบรนด์ต่างๆ เขาบริจาคให้โรงเรียนมาผสมกับกางเกงยีนส์มือสองที่เรานั่งซับเวย์ไปซื้อมา

เราทำมันในคอนเซปต์ที่พูดถึงความขัดแย้งของคัลเจอร์ตัวเอง เราเป็นคนเอเชียที่โตมาในโลกตะวันตก ฝั่งคนเอเชียมองว่าเราเป็นคนแรงๆ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้แรง ตอนอยู่นิวยอร์กเราก็ไม่ได้เป็นฝรั่งจ๋า สรุปฉันเป็นใครกันแน่ แล้วถ้าฉันเป็นขบถล่ะ จะต้องใส่ชุดยังไง ก็เลยไปรีเสิร์ชความขบถจากแก๊งมอเตอร์ไซค์ L.A. ซึ่งเขาก็ใส่ยีนส์ และตอนอยู่นิวยอร์กเราก็ใส่ยีนส์บ่อยมาก เลยหยิบเอาสูท เสื้อเชิ้ต และยีนส์มาเย็บเข้าด้วยกัน แล้วมีการตะกุยเสื้อให้ขาด ใส่คริสตัลปักที่ Swarovski เป็นสปอนเซอร์ให้ ซึ่งเราก็เลือกจากสต็อกที่เขาไม่ใช้แล้ว ทั้งหมดใช้มือทำ งานนี้เลยเป็นสโลว์แฟชั่น แต่พอเรียนจบกลับอยู่ท่ามกลางฟาสต์แฟชั่นในนิวยอร์ก

ทำไมเลือกไปทำงานอยู่ท่ามกลางฟาสต์แฟชั่นในนิวยอร์ก

ตอนแรกเราอยากเก็บประสบการณ์ ไปเรียนรู้การทำงานของวงการที่นู่น แต่งานประจำไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น อาทิตย์หนึ่งเราต้องทำงานวิ่งไป-มา 4 บริษัท รวมแบรนด์ของตัวเองด้วยเพื่อพิสูจน์ให้ป๊ากับแม่เห็นว่าเราอยู่ได้ ไม่ต้องส่งเงินมาให้ สองวันแรกวิ่งไป opening ceremony อีกวันหนึ่งไปสไตลิ่งนางแบบให้อีกแบรนด์ อีกวันไปทำแพตเทิร์น แล้วตอนกลางคืนมีเด็กฝึกงานมาเย็บชุดด้วย ตอนนั้นริฮานนาสั่งชุด เรามีเวลาเย็บแค่ 2 ชั่วโมงต่อวัน พอทำออกมาเสร็จ สุดท้ายริฮานนาใส่ไม่ได้เพราะสไตลิสต์ไม่ยอมอัพเดตไซส์ให้เรา

ต่อมาเรามาทำงานเป็นคนคุมโรงงานกับการทำชุดตัวอย่างให้แบรนด์ชุดราตรี เราต้องทำให้ชุดเหล่านี้ขึ้นรันเวย์ให้ได้และต้องไปคุมโรงงานซึ่งมีหลายที่เพราะผลิตสินค้าไม่เหมือนกัน เช่น โรงงานนี้ทำเสื้อเชิ้ต โรงงานนี้ทำกางเกง ช่วงไหนที่เป็นแฟชั่นวีคจะโหดมากเพราะทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงตี 4 เราเดินในนิวยอร์กวันละ 23,000 สเตป

มุก อรรถการวงศ์

การทำงานในโลกแฟชั่นก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่ใครเคยคิดฝัน

ไม่เหมือนในหนังโรแมนติกคอเมดี้ หลายคนคิดว่าจะเป็นแบบนั้น โน ใส่รองเท้าส้นสูงเดินในนิวยอร์กไม่ได้เลย เหนื่อยมาก

การทำงานแบบนี้ทำให้เรารู้สึกว่าแฟชั่นงี่เง่าด้วยซ้ำ มันเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเลย อย่างการเตรียมชุดขึ้นรันเวย์ เราทำงานไม่ได้นอนเลยแต่ชุดสวยๆ พวกนี้เดินขึ้นไป 10 นาทีก็ลง เสร็จแล้วเอาของขึ้นรถบัสไปจัดโชว์รูม ฝ่ายขายเข้ามาทำงานต่อ ส่วนเราต้องไปเตรียมขึ้นคอลเลกชั่นใหม่ มันเร็วมาก การได้เห็นเสื้อผ้าจำนวนขนาดนี้ทุกวันทำให้เราตั้งคำถามเลยนะว่ามันขายได้เหรอวะ แล้วถ้าขายไม่ได้มันจะไปอยู่ไหน

มุก อรรถการวงศ์

ทุกอย่างสวนทางกับที่เราเรียนมาที่พาร์สันมาก เราเรียนคอร์สการออกแบบเพื่อสังคม เชื่อว่าการเป็นดีไซเนอร์สามารถทำอะไรบางอย่างให้สังคมดีขึ้นได้ แต่ในโลกความเป็นจริงคืออะไรกัน เรากำลังทำอะไรอยู่ ผิดจากที่เรียนหมดเลย

ยังไม่นับวิถีชีวิตที่ยุ่งเหยิงไปเลย แม้ว่าเจ้านายเราจะมีสวัสดิการเรียกอูเบอร์ไปส่งที่พัก สั่งข้าวให้ จ้างผู้ช่วยให้ แต่ผู้ช่วยทำอะไรไม่เป็นเลย แถมยังได้เงินเท่าเรา เพียงเพราะว่าเขาเป็นผู้ชายอเมริกันผิวขาว สุดท้ายเราทำงานหนักเหมือนเดิม เริ่มท้อ ฉันก็เป็นแค่ลูกจ้างคนอยู่ดีโดยที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ได้ช่วยใคร เย็บผ้าไปวันๆ แถมยังทำให้เกิดขยะอีก

มุก อรรถการวงศ์

Mook Attakanwong

ทั้งหมดนี้ทำให้คุณผิดหวังกับอาชีพที่ฝันอยากจะเป็นมาตั้งแต่เด็กไหม

เราไม่ได้ผิดหวังในอาชีพแต่ผิดหวังกับคนในวงการ อย่างตอนไปงานอาฟเตอร์ปาร์ตี้หลังจากจบรันเวย์ เรารู้สึกเลยว่า โห นิวยอร์กมัน very commercial งานปาร์ตี้มีหลายแบรนด์เป็นสปอนเซอร์ แล้วจะให้อินฟลูเอนเซอร์ใส่ชุดตัวอย่างมางาน วันรุ่งขึ้นเขาส่งชุดกลับมาแบบขยุ้มในถุงทั้งๆ ที่ตอนส่งให้ฉันส่งไปเป็นราว ปัญหาคือผ้าที่ผสมวัสดุเมทัลลิกมันรีดไม่ได้ พอขยุ้มมาแล้วมันอยู่ทรงแบบนั้น เราก็ต้องไปตัดใหม่

เราสงสัยว่านี่เขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำจริงๆ หรือเปล่า และก็เข้าใจว่าถ้าเราไม่ดีไซน์เสื้อผ้าให้มีเรื่องราวเบื้องหลัง สุดท้ายมันก็เป็นแค่เสื้อผ้าที่คนใส่แล้วทิ้งซึ่งเราเห็นแล้วเหนื่อย 

อีกอย่างคือสภาพแวดล้อมของนิวยอร์กทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากและ everything is commercial เราตื่นมาทุกเช้ารู้สึกว่าต้องไปสู้กับใครไม่รู้ การแข่งขันสูงมาก เราเลยทำแบรนด์สโลว์แฟชั่นไม่ได้ อย่างมีคนติดต่อให้ทำชุดแดนเซอร์ให้เลดี้ กาก้า ก่อนขึ้นคอนเสิร์ต Super Bowl หนึ่งอาทิตย์ เราทำไม่ได้ ชุดที่เราออกแบบมันใช้เวลาเป็นเดือนๆ เราเลยไม่สามารถรับงานเร่งด่วนได้เลย

ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง การที่ศิลปินดังมาติดต่อให้ออกแบบชุดให้ก็ดูจะทำให้แบรนด์มีโอกาสเติบโต ทำไมตอนนั้นไม่ยินดีที่จะไปต่อ

จริงๆ จะพูดว่าใจไม่ไปก็ไม่ใช่หรอก คือถ้ารวย มีลูกมือ ไปอยู่สตูดิโอ เราอาจเปิดแบรนด์ไปแล้วก็ได้ อย่างเพื่อนเราเป็นลูกเจ้าของบริษัทน้ำมันก็เปิดแบรนด์ จ้างพีอาร์ จ้างนู่นนี่ เขาก็ขายได้นะ

แต่ ณ โมเมนต์นั้นเราไม่อยากไปใช้เงินป๊ากับแม่ทำแบบนั้นแล้ว เขาอุตส่าห์ส่งเราเรียนเราก็ต้องพิสูจน์ว่าจะอยู่รอดให้ได้ ซึ่งมันทำให้จิตวิญญาณเราหายไปเพราะต้องทำทุกอย่าง ต้องสู้ให้อยู่รอดและสู้เพื่อความเป็นตัวเอง มันอดคิดไม่ได้นะว่าเราอยากทำงานให้ป๊ากับแม่ภูมิใจ อยากประสบความสำเร็จให้พวกเขาเห็น แต่เราทำงานทุกวัน ไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะวิดีโอคอลกับครอบครัวด้วยซ้ำ

พอป๊าโทรมาบอกว่าซื้อตึกของโรงเรียนอาทรศึกษาที่อยู่ข้างๆ ร้านไว้และรีโนเวตให้เป็นแกลเลอรี อีก 3-4 เดือนก็ใกล้เสร็จแล้ว ตอนนั้นเราเพิ่งได้ artist visa (วีซ่าระดับ O1 ที่ผู้มีความสามารถด้านศิลปะ การศึกษา และวิทยาศาสตร์จะได้ทำงานในสหรัฐอเมริกาโดยไม่มีระยะเวลากำหนด) แต่ใช้ได้ 6 เดือนก็ตัดสินใจทิ้งแล้วกลับไทยเลย

มุก อรรถการวงศ์

เสียดายไหมที่ต้องทิ้งสิ่งที่ทำเพื่ออาชีพในฝันมาทั้งหมด

ไม่เสียดาย เราอิ่มตัวกับนิวยอร์กแล้ว โอเค การมาไกลได้ขนาดนี้เพราะเราทำงานหนักจริงๆ ส่งอีเมลไปหาสื่อต่างๆ นำเสนองาน เราปากกัดตีนถีบเพื่อให้คนได้เห็นงาน นิวยอร์กมันทำให้เราเติบโต แต่อีกด้านการแข่งขันก็สูงมาก แล้วไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น สภาพจิตใจเราก็ไม่โอเค 

ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์เราไม่อยากจะสร้างอะไรขึ้นมาบนโลกที่มันไม่ได้ช่วยอะไรใคร แต่เรารู้สึกว่าควรทำอะไรที่เป็นประโยชน์มากกว่า เราสามารถใช้ตัวเราเป็นสื่อเพื่อสร้างอะไรได้มากกว่าความสวยงาม เพราะของที่มีความสวยงามอย่างเดียวบนโลกนี้ก็มีเยอะมากแล้ว

อีกอย่างคือเรารู้ว่าตัวเองมีอีกหน้าที่คือเป็นลูกเจ้าของธุรกิจ เราไปอยู่เมืองนอกมา 17 ปีก็อยากจะกลับมาดูแลครอบครัว สำหรับเราตอนนั้นเรื่องงานเลยเป็นเรื่องรองไปเลย

Mook Attakanwong

ตอนกลับมาไทย คุณวางแผนให้ ATT 19 สร้างประโยชน์อย่างที่คุณต้องการยังไง

เล่าก่อนว่าความจริงตอนแรกครอบครัวเราก็ยังไม่ได้วางภาพไว้ว่า ATT 19 จะเป็นอะไร พวกเราสร้างมาเพราะมีมายด์เซตที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่นี้ไว้ ไม่อยากให้ตึกตรงนี้หายไป ถ้าโดนทุบไปทำอย่างอื่นเจริญกรุงจะเป็นยังไง เราเลยไม่ได้นึกว่าจะหาผลกำไรจากมันยังไง หรือจะเป็นแกลเลอรีที่โด่งดังแบบไหน ไม่เคยคิดแต่แรก

มันเหมือนรวมเอาความสามารถของคนที่บ้านไว้ด้วยกันมากกว่า ด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ของเก่า วัตถุโบราณแต่งบ้าน มีคาเฟ่ ร้าน chef’s table ซึ่งพี่สาวเราเป็นเชฟอยู่แล้ว ส่วนด้านหลังป๊าสร้างสตูดิโอไว้ให้เราด้วย พอกลับมาเราก็มาช่วยดูแล เริ่มวางแผนว่าอยากทำแกลเลอรี มีนิทรรศการงานศิลปะ รวมๆ แล้วก็จะกลายเป็นมัลติสเปซที่ให้คนมาทำกิจกรรมได้หลายอย่าง เพราะตอนนั้นเมืองไทยมันก็ไม่ได้มีพื้นที่แบบนี้เยอะ

Mook Attakanwong

Mook Attakanwong

ไม่รู้มันใหญ่ไปไหม เราวางบทบาท ATT 19 ให้เป็นการสร้างพื้นฐานสังคม หมายถึงใช้ศิลปะสื่อสารเพื่อให้สังคมดีขึ้น ซึ่งมันอาจจะช่วยให้ศิลปินที่กำลังเติบโตมีแพลตฟอร์มมากขึ้น คนที่เราเลือกงานมาโชว์บางคนก็ไม่รู้จะไปโชว์ที่ไหน หรือบางคนที่เราเจอตอนนี้แล้วเขาไม่ได้แสดงงาน ในอนาคตก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้เป็นศิลปินอีกหรือเปล่า 

เราคิดว่าการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มันไม่ได้ยาก และบ้านเรามีเด็กเก่งๆ เยอะมาก เราอิ่มใจมากที่ได้ช่วยพวกเขา เราอยากให้ที่นี่เป็นศูนย์รวม เป็นกระบอกเสียงให้ดีไซเนอร์หรือศิลปิน เพราะที่บ้านเราสนับสนุนให้เราได้มีโอกาสเรียน มีโอกาสไปเจอโลกกว้าง แต่เด็กบางคนไม่มี เขาก็เก่งเหมือนกัน เขาก็ควรจะได้โอกาสด้วย 

Mook Attakanwong

พูดตรงๆ แบบนี้ได้ไหม เราใช้พริวิเลจของเราที่มีสถานที่และมีประสบการณ์ทำงานเมืองนอกมาช่วยเหลือคนอื่นที่เขาอาจจะยังไม่มีโอกาสไปถึงตรงนั้น

ใช่ เราใช้ตัวเองมากๆ มีงานที่เราไม่ชอบทำแต่ต้องทำเพื่อสนับสนุนให้งานศิลปินอื่นได้โชว์ด้วย เช่น เราโทรไปขอสปอนเซอร์ให้ ถ้าเราตระหนักว่าพาวเวอร์เราอยู่ตรงไหนเราก็ใช้มันให้ถูกทาง ใช้มันให้เป็นประโยชน์เพื่อสนับสนุนคนอื่น อีกอย่างคือโชคดีด้วยที่เรามีที่นี่ คือถ้านึกภาพว่าเราเป็นแกลเลอรีเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่แบบนี้เราก็ลำบากเหมือนกัน

จากจับผ้า เย็บผ้า มาจับเลือกของตกแต่งในแกลเลอรีและจัดนิทรรศการเป็นเรื่องยากไหม

ส่วนใหญ่เราอาศัยประสบการณ์การเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ เช่น การคิวเรตนิทรรศการที่มันเข้าถึงคนจริงๆ เพราะเราไม่อยากเป็นแกลเลอรีศิลปะร่วมสมัยที่คนเข้าถึงงานไม่ได้ แต่ใช้ความเป็นมนุษย์เลือกงานแทนที่จะไปโฟกัสกับศิลปะสูงส่ง อันนี้เป็นวิธีคิดมาจากการออกแบบเสื้อผ้าที่ต้องเข้าใจง่ายและคนเข้าถึงได้ เช่น นิทรรศการพูดเรื่องสิทธิสตรี อันนี้เราอินอยู่แล้ว ตอนอยู่นิวยอร์กไปประท้วงทุกอาทิตย์, นิทรรศการที่พูดเรื่องเซนเซอร์ที่จัดกับ Awakening Bangkok หรืองานที่พูดถึงการเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ที่จัดกับ I Wanna Bangkok

แต่พอลงมือทำจริงงานแกลเลอรีมันเกินตัวเรามากเหมือนกันเพราะไม่ได้เรียนด้านคิวเรเตอร์มาโดยตรง ATT 19 เลยเป็นการลองผิดลองถูก ถึงแม้ภายนอกจะดูเหมือนเรารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา แต่จริงๆ ก็ต้องทำงานหนัก ช่วงแรกๆ มันยากเพราะเราไม่ได้อยู่ในวงการอาร์ตตั้งแต่แรก น่าจะมีคนสงสัยว่าเราทำอะไร พ่อสร้างแกลเลอรีเลยจะมาทำงานศิลปะโดยที่ไม่รู้จักวงการนี้หรือเปล่า มาถึงไทยเราไม่ค่อยรู้จักใคร เรารู้สึกได้ว่าคนไม่ได้เชื่อถือเราเพราะไม่ได้เรียน fine art โดยตรง ไม่รู้จักนักสะสมงานศิลปะคนนี้ หรือไม่เคยรู้จักอาจารย์คนนั้น แม้แต่ลูกค้าเข้ามายังคิดว่าเราดูเด็กไปที่จะดูแลที่นี่เลย

Mook Attakanwong

มุก อรรถการวงศ์

มันทำให้รู้ว่าในเมืองไทยมันมีเรื่องอายุมาเกี่ยวข้องและการมีคอนเนกชั่นสำคัญมาก เราคิดนะว่าสมมติไม่ได้มีแบ็กกราวนด์ครอบครัวแบบนี้ ถ้าเกิดสเปซเราไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ไม่ใช่พื้นที่เก่า หรือมีของเก่า เป็นแค่ผู้หญิงทำแกลเลอรี แล้วยิ่งไม่มีต้นทุนในชีวิตมันคงจะยากมาก ความเหลื่อมล้ำมันมีตรงนั้นนะ

แต่อีกด้านหนึ่ง การที่เราไม่รู้จักใครเลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เราเลือกมาโชว์นั้นคิดบนพื้นฐานว่าทุกคนเท่ากัน เราไม่มีไบแอส เราคิดว่านั่นสำคัญที่สุดเพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณเรียนมาขนาดไหน หรือพ่อแม่คุณมีตังค์ช่วยคุณขนาดไหน

Mook Attakanwong

เคยคิดไหมว่าเราก็มีธุรกิจของครอบครัว ไม่จำเป็นต้องมาลำบากขนาดนี้ก็ได้

คิด (หัวเราะ) จริงๆ ATT 19 ไม่ต้องทำงานยากขนาดนี้ก็ได้ เราสามารถวางขายของโบราณ ของแต่งบ้านสองชั้นไปเลยก็โอเค

แต่เอาจริงๆ ถ้าให้คิดว่าเป็นผลประโยชน์ของตัวเองมันทำได้ง่าย ใครๆ ก็ทำได้ ใครๆ ก็อยากได้เงิน แต่การทำงานตอนนี้ของเรา ชั้นล่างมันก็เป็นผลประโยชน์ของเราอยู่แล้ว ซึ่งพอเรารู้ว่าตัวเองมีสกิลที่ไม่เหมือนคนอื่นเราก็ต้องให้คืนกับโลกได้มากกว่านี้ ถึงจะเหนื่อย แต่มันแลกมาด้วยมิตรภาพดีๆ และที่สำคัญคือเรามีความสุขกับการได้เห็นคนอื่นเติบโต เพราะเราก็เคยได้รับโอกาสเติบโตแบบนั้นเหมือนกัน

มุก อรรถการวงศ์

 

แต่อย่างที่รู้ว่าภาครัฐเมืองไทยก็ไม่ได้สนับสนุนความหลากหลายในวงการศิลปะบ้านเราขนาดนั้น กลัวไหมว่าสิ่งที่ทำอาจจะสูญเปล่า ถ้าสุดท้ายระบบไม่ได้เอื้อต่อศิลปินหน้าใหม่

เราเป็นแกลเลอรีเอกชนก็พูดได้ในแง่ที่ว่าเราไม่มีแรงกดดันจากองค์กรใหญ่ๆ ที่ซัพพอร์ตแกลเลอรีอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีกรอบความคิดบางอย่าง ความหลากหลายที่ว่ามันเลยพูดยากเหมือนกันนะ อย่างหลายปีก่อนศิลปิน LGBTQ+ ก็ไม่ค่อยได้มีแพลตฟอร์มแสดงงานด้วยซ้ำ

เราว่าที่สังคมไทยไม่มีความหลากหลายเพราะปัญหาสังคมเยอะ ซึ่งมันพูดยาก แต่เราเห็นและสัมผัสได้ว่าแกลเลอรีเล็กๆ หลายที่พยายามกันมากๆ ทุกคนพยายามด้วยความรู้หรืองบประมาณที่มี ทำเท่าที่ทำได้ ถึงมันจะเหนื่อยแต่ถ้าเรามีความหวังเราก็ทำมันได้

มุก อรรถการวงศ์

แต่ต่อให้ต้องใช้แรงขับเคลื่อนวงการศิลปะในสังคมไทยยังไง คุณก็ไม่อยากจะกลับไปทำงานที่นิวยอร์กแล้วใช่ไหม

ต้องบอกว่ารู้สึกโคตรโชคดีที่ตอนนี้ไม่ได้อยู่นิวยอร์ก (หัวเราะ) เพื่อนเราตกงานหมดเลย วงการแฟชั่นแย่มากจากพิษโควิด-19 เราว่าถ้ายังอยู่ที่นู่นคงไม่ได้ทำอะไรที่มีประโยชน์กับสังคมได้มากขนาดนี้ การกลับมาอยู่ที่นี่มันมีหนทางช่วยคนอื่นได้ และมีคนช่วยซัพพอร์ตเรา ผ่านมาเกือบ 2 ปีเราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในความคิดคนแล้วนะ ทุกคนเริ่มโหยหาสิ่งที่มีคุณภาพ อยากเห็นความโปร่งใสในการทำสินค้า อยากเข้าใจว่าชิ้นงานชิ้นหนึ่งมันมีขึ้นมาเพราะอะไร เข้าใจศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น และรับสื่อหลายๆ แบบ

แล้วการกลับมาจากเมืองนอกมันทำให้เห็นว่าคนไทยเก่ง คัลเจอร์เราแน่นกว่าหลายประเทศเยอะ เราเลยรู้ว่าอยากจะฉายสปอตไลต์ไปที่ไหนบ้างเพื่อให้คนได้เห็นความสำคัญ ซึ่งเราก็น่าจะช่วยอะไรได้บ้าง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone