มนทิรา จูฑะพุทธิ บ.ก. ดีเด่นประจำปี 2566 อ่าน เขียน เรียนรู้โลก แบบ ‘อายุไม่สำคัญ สำคัญว่าเรายังสนุกหรือเปล่า’

มนทิรา จูฑะพุทธิ บ.ก. ดีเด่นประจำปี 2566 อ่าน เขียน เรียนรู้โลก แบบ ‘อายุไม่สำคัญ สำคัญว่าเรายังสนุกหรือเปล่า’

ในวัยย่างเข้าเลข 6 คุณจินตนาการชีวิตของคุณเป็นแบบไหน? เรี่ยวแรงกำลังวังชาของคุณจะยังเหลือดุ่มเดินในชีวิตไปอีกสักเท่าไหร่? 

พูดกับคนหลัก 2 เขาก็คิดว่าหลัก 6 ยังอีกไกล และดูเป็นเรื่องวัยที่พร้อมจะปล่อยวาง แต่บางคนก็อาจมองว่า หลัก 6 ยังทำอะไรได้อีกมาก 

ต่อให้เป็นวัยเกษียณจากหน้าที่การงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเกษียณจากการใช้ชีวิต 

พี่อ้อย-มนทิรา จูฑะพุทธิ คือหนึ่งในคนที่ไม่ได้คิดว่าเกษียณแล้วต้องสำราญ หากแต่เธอเลือกที่จะสำราญใจกับชีวิตได้ในทุกช่วงวัย และที่สำคัญงานการที่เธอรักอย่างบทบาทบรรณาธิการ ก็เป็นบทบาทที่ฝังลึกแนบแน่นเกินกว่าจะมองเธอในบทบาทอื่นได้อีก ก็มันกินเวลาตั้ง 40 ปีนี่นะ 

ในวัยสาว เธอบุกตะลุยทำงานในฐานะบรรณาธิการนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ที่ว่ากันว่า เนื้อหาบรรเจิดเพริดแพร้ว แพรวพราว มากที่สุดเล่มหนึ่งในวงการนิตยสารไทย แถมยังได้ชื่อว่าเป็นนักสัมภาษณ์ที่เขียนบทสัมภาษณ์ที่อ่านเพลินที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ 

กาลเวลาผ่านเลย เธอขยับขยายไปก่อตั้งสำนักพิมพ์สามสี มีหนังสือดีๆ มากมายหลายเล่มที่ถือกำเนิดที่นี่ เคี่ยวกรำตัวเองในสมรภูมิสื่อสิ่งพิมพ์จนโชกโชนแล้วก็ถึงวันที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นตามยุคสมัย แต่มนทิราก็ยังคงสนุกและสนใจที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ตามประสานักเรียนรู้ ที่ไม่เหนื่อยกับโลกที่หมุนเร็ว 

เรียกว่าเป็นนักเขียน นักอ่าน บรรณาธิการ นักเดินทาง เป็นทุกอย่างที่ทำให้สายตาในการมองโลกยังสดใหม่เสมอ 

ปีนี้ พี่อ้อย มนทิรา เพิ่งได้รับตำแหน่งเกียรติยศไป 2 รางวัล นั่นคือรางวัล บรรณาธิการดีเด่น (รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง) และ Consultancy Professional Editor and Copy Editor ประจำปี 2566 ของ Unicef 

เรามาเรียนรู้อะไรสนุกๆ จากนักเรียนรู้คนนี้กันดีกว่าว่าโลกของบรรณาธิการอย่างเธอเป็นแบบไหน มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือน่าสนใจในสายตาเธอบ้าง 

“ตอนนี้เรามาทำออนไลน์เป็นหลักเลย 100% คือผ่านเพจ ชื่อเพจ A WALK เป็นเรื่องของตัวตนของเราใน 3 บริบท คือ บรรณาธิการ นักเขียน นักเดินทาง แล้วก็เปิดไว้สำหรับขายหนังสือและจัดทัวร์เที่ยว นี่ทำมาเป็นปีที่ 4 แล้ว” 

เรียกว่าเปิดใจกับทุกโอกาสที่ทำไหม เราถามเธอตรงๆ 

“มันดูเป็นคำสวยนะ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันอยู่ที่อะไรรู้ไหม อยู่ที่ว่าคุณสนุกไหม ถ้าคุณสนุกคุณจะสนใจมัน แต่ถ้าคุณไม่รู้สึกสนุก แล้วคุณบอกว่า มันยากมาก โคตรยากเลย วัยเราก็ไม่น่าให้แล้ว อายุ 60 เราควรจะเลี้ยงลูกหรือเข้าวัด มันก็จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่งนะ เพราะสำหรับเรา อายุเป็นเพียงตัวเลขจริงๆ ลูกสาวเราชอบพูดว่าไม่อยากแก่แล้ว เราก็บอกว่า เฮ้ยความแก่มันต้องแลกมาด้วยประสบการณ์เว้ย ไม่ใช่จะได้มาง่ายๆ นะ ไปดูคนแก่เมืองนอกสิอายุ 70 เนี่ยยังสวยพริ้งเลย หรือคนอายุ 75 ยังเดินเทรคกิ้ง ก็เคยเจอมาแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ทำไมบริบทของบางคนหรือของสังคมไทยบอกว่าแก่แล้วต้องหยุดทำงาน นึกออกไหม” 

“เรารู้สึกว่าชีวิตมันคือการเรียนรู้เสมอ และการเรียนรู้ก็ทำได้หลายเรื่อง คำว่าอายุหกสิบ ควรทำแบบนั้นแบบนี้มันเป็นเรื่องของ Mindset แล้วคำถามคือทำไมเราต้องเอา mind ไป set แบบนั้นด้วย มันไม่เห็นจำเป็นเลย อายุหกสิบแล้วยังไงเหรอ? มีรุ่นน้องคนหนึ่งปลื้มเรามาก เขามักจะบอกว่า โห..พี่อ้อย เก๋จัง หกสิบแล้วยังมาทำยูทูบอยู่เลย เราก็เลยถามว่า อ้าวเหรอ แล้วยูทูบนี่มันต้องทำตอนอายุเท่าไหร่? (หัวเราะ)​ คือเราไม่ได้คิดว่าอายุหกสิบแล้วอยากจะเป็นเจ้าแม่ยูทูบ ฉันทำคอนเทนต์ที่เหมาะกับตัวฉันแค่นั้นเอง แล้วก่อนเราจะทำอะไร ไม่ว่าจะเปิดเพจหรือทำยูทูบ เราก็ไม่ได้บุ่มบ่ามทำ เราคิดแล้วคิดอีก เรียน Digital Marketing เป็นเรื่องเป็นราว จ่ายเงินไม่ใช่น้อยๆ เพื่อจะได้เรียนรู้หลักการจนเข้าใจแต่ละแพลตฟอร์มที่เราจะทำ แล้วค่อยเลือกว่าทำแบบไหนถึงจะเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของเรามากที่สุด เช่นกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่บนเฟสบุ๊ก เราก็เลือกเฉพาะกลุ่มนี้ แล้วเราก็เลือกทำเพจให้ออกมามืออาชีพที่สุด ใช้คนทำกราฟิก ใช้มือตัดต่อดีๆ เป็นเรื่องเป็นราวเลย” 

“จนถึงตอนนี้นะ เราว่าเราชอบออนไลน์มากๆ มันเป็นแพลตฟอร์มที่ถ้าคนชอบเรียนรู้มันจะมีเรื่องให้เรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ มันสนุก แต่คุณต้องใจแข็งมากนะ โดยเฉพาะเฟสบุ๊ก เพราะถือว่าเราใช้แพลตฟอร์มคนอื่นเขา เราก็ต้องเคารพกติกาเขา มันมีข้อแม้ มันมีกฎที่เราต้องเรียนรู้และโอดครวญไม่ได้ และต้องยอมรับว่ากติกาเขามันก็ไม่ง่าย อย่างที่บอกว่าเราต้องมีใจที่หนักแน่นมากพอที่จะเข้าใจว่าวันนี้ระบบเฟสบุ๊กมันรวน เอไอมันเดี้ยง ปิดกั้นการมองเห็น แล้วเราจะแก้เกมยังไง เราต้องบูสต์มั้ย บางคนบอกว่าถ้าไม่บูสต์มันก็ไม่เห็น แต่มองกันแฟร์ๆ เขาก็ทำแพลตฟอร์มเป็นธุรกิจ ถ้าเขาไม่เก็บเงิน แล้วเขาจะทำธุรกิจยังไง อันนั้นแหละคือการเรียนรู้ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหนก็ตาม เข้าไปใช้แล้วเราต้องทำให้มันเกิดประโยชน์ เราต้องคิดว่าเรารู้จักแต่ละสิ่งดีพอหรือยัง ถึงได้บอกว่าความรู้เป็นเรื่องสำคัญ” 

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น ปีนี้ พี่อ้อย มนทิรา เพิ่งคว้ารางวัลสำคัญในฐานะบรรณาธิการถึงสองรางวัล และทั้งสองรางวัลก็ถือเป็นเรื่องน่าชื่นใจ น่าภาคภูมิใจในวิชาชีพของบรรณาธิการคนหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะอาชีพบรรณาธิการ คือด่านสำคัญในการคัดกรองและผลิตผลงานที่ได้มาตรฐานและมีความเป็นมืออาชีพ รางวัล ‘บรรณาธิการดีเด่น’ อาจฟังไม่น่าตื่นเต้นเหมือนรางวัลที่มอบให้คนทำงานในแวดวงออนไลน์ หรือแม้แต่รางวัลสำหรับอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ๆ ในยุคนี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรณาธิการมี ‘อิทธิพล’ กับหนังสือแต่ละเล่มไม่น้อย เพราะสายตาของบรรณาธิการนั่นเองที่ต้องคมชัด เห็นจุดอ่อน จุดแข็งของหนังสือและตัวตนของนักเขียน 

น้อยที่สุดคือตัวหนังสือแต่ละบรรทัด มากที่สุดคือภาพรวมของหนังสือแต่ละเล่ม 

และเมื่อหนังสือผ่านสายตาบรรณาธิการมาแล้วนั่นแหละ หนังสือจะมี ‘อิทธิพล’ กับคนอ่านอีกที 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าความสำคัญของบรรณาธิการยังต้องมี 

“จริงๆ เราทบทวนเรื่องนี้อยู่พอสมควรนะ แต่ท้ายที่สุดก็คิดว่า สำคัญหรือไม่สำคัญคงต้องขึ้นอยู่กับมุมมองของคนคนนั้นและบริบทของสังคม ยกตัวอย่างง่ายๆ คือตำแหน่ง Consultancy Professional Editor and Copy Editor ของ Unicef ที่เราต้องอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 2 ปี เท่าที่เราทราบที่ Unicef เขามีบรรณาธิการเยอะมาก เช่นในเรื่องเฉพาะกิจที่บรรณาธิการต้องมีความรู้ในแต่ละสาขา รวมทั้งคนที่เป็นบรรณาธิการทั่วไปหรือ Professional Editor แบบเรา นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าเขาเห็นความสำคัญของอาชีพนี้มาก นี่คือบริบทขององค์การนานาชาติ ทีนี้เรามาดูบริบทของบ้านเรา โดยเฉพาะโลกออนไลน์ ความที่เราอยู่กับโลกออนไลน์มาระยะหนึ่ง ถือว่ากำลังเป็นนักเรียนรู้ เราค้นพบว่ามีคนอยากเป็นนักเขียนรวมเล่มเยอะมาก แล้วก็มีคนตั้งตนมาสอนมากมายในออนไลน์ มีคนอยู่คนหนึ่ง ทำหนังสือโดยไม่มี Editor หรือไม่มีบรรณาธิการเลย เราก็เลยสั่งซื้อเพราะอยากดูเป็นกรณีศึกษาไปว่าหนังสือที่ไม่มี Editor เป็นยังไง แล้วหลังจากนั้นก็เห็นว่าเขากำลังจะออกเล่ม 2 แล้วเขาไปหาคนมาเป็น Editor ให้” 

“นี่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ดีเลยว่าหนังสือมันควรต้องมี Editor เราไปถามลูกสาวซึ่งเป็น Gen Z อ่านทุกอย่างแบบ Digital Format และอ่านเยอะมาก เราก็ถามว่าคิดว่าหนังสือต้องมี Editor ไหม เขาบอกต้องมีสิ ไม่มีมันจะเป็นหนังสือได้ยังไง ใครจะมากรองข้อมูล แล้วเราจะไปเชื่อได้ยังไง นี่คือเด็กพูดนะ เรื่องนี้ถ้าเราพูดเอง คนก็จะมองว่าแหงละ เธอเป็น บ.ก. เธอก็ต้องบอกว่าสำคัญสิ ดังนั้นเราว่าเรื่องนี้สำคัญหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปัจเจก” 

อาชีพบรรณาธิการไม่ใช่อาชีพที่จับสลากขึ้นมา

“ประสบการณ์บางอย่างเราต้องให้คุณค่าค่ะ อาชีพบรรณาธิการ โดยเฉพาะบรรณาธิการหนังสือไม่ใช่อาชีพที่จะจับสลากขึ้นมาได้ ไม่ใช่อยู่ๆ ใครก็เป็นได้ มันมีหลักเกณฑ์ มันมีศาสตร์และศิลป์ มีทฤษฎีที่คุณต้องเรียนรู้ เป็นรายละเอียดที่ไม่ใช่คนทั่วไปทำได้ แต่นอกเหนือจากนั้นก็คือคุณต้องมองให้ออกว่าหนังสือของคุณ มีประโยชน์กับคนอ่านยังไง ไม่ใช่ว่าคุณอยากจะทำอะไรคุณก็ทำ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่คุณทำก็จะเป็นได้แค่กระดาษเปื้อนหมึก”

“แล้วกระบวนการทำหนังสือมันไม่ได้แค่ทำให้เสร็จๆ ไปเล่มหนึ่ง คุณต้องไปเกี่ยวข้องกับการขาย การตลาด ต้องประชาสัมพันธ์มากมาย กว่าจะทำให้หนังสือเล่มหนึ่งเป็นที่รู้จัก แล้วคนเป็นบรรณาธิการเป็นเดี่ยวๆ แบบมาคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องเป็นได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคุณจะไม่ให้คุณค่ากับประสบการณ์และองค์ความรู้ที่เขามีเหรอ มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณอยากจะทำอะไรก็ทำโดยไม่มีมาตรฐานวิชาชีพ แต่ถามว่าเราจะไปบอกเรื่องนี้กับคนที่เขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องมี มันก็เหมือนเราไปร้องแรกแหกกระเชอกับคนที่ศีลไม่เสมอกันน่ะ ถ้าไปพูดกับคนที่ไม่เห็นว่าจำเป็น พูดยังไงเขาก็ไม่เข้าใจ เพราะบางทีเขาไม่ได้ต้องการคุณค่าของผลงาน แต่เขาต้องการเงิน เขาต้องการอะไรที่เร็วเพราะเขารู้สึกว่ามันง่าย ซึ่งมันก็แล้วแต่ทุกคนว่าให้คุณค่ายังไงกับบทบาทของบรรณาธิการและผลงานใช่ไหม เคยมีคนบอกว่า เขียนหนังสือแล้วได้เงินเป็นล้าน เรารีบทำคลิปออกมาเล่าเลยว่า มันไม่ง่ายนะ มันอาจจะมีคนที่ทำได้จริง แต่ถามว่าคนที่มีจิตวิญญาณของการเขียนจริงๆ น่ะ หน้าที่ของคุณก็คือเขียน ไม่ใช่เขียนเพื่อจะต้องการได้เงินล้าน เราอยากกระตุกความคิดหน่อยว่ามันไม่ควรไปตั้งเป้าหมายแบบนั้น เพราะในความจริงมันข้าม Logic ไปหลายเรื่อง ถ้าคุณไปแบบนั้น ก็แปลว่าไปผิดทาง แต่คลิปนี้คนดูเราเยอะไหมเมื่อเทียบกับคลิปที่เขาบูสต์โฆษณา มันไม่เยอะอยู่แล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนเสพ หน้าที่ของคนสร้างสรรค์คอนเทนต์อย่างเราหมดแล้ว”

“เรามองว่าอาชีพบรรณาธิการ มันเป็นเรื่องปัจเจก คือคุณต้องพัฒนาตัวคุณเอง และควรต้องถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อให้เห็นถึงมาตรฐานทางวิชาชีพออกไปสู่คนรุ่นใหม่ มันถึงจะสร้างมาตรฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอันนี้ทำลำพังไม่ได้ ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน จะน่ากลัวไปไหมถ้าจะบอกอย่างหนึ่งว่า มันไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าสังคมที่ไม่อ่านหนังสือนะ คนและสังคมจะอุดมปัญญาไม่ได้ถ้าคุณไม่มีความรู้ แล้วบางทีมันอาจจะสำคัญไปยิ่งกว่านั้นก็ได้ว่า ในกระบวนข้อมูลข่าวสารทั้งหมดไม่ว่าจะสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อหนังสือ สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ ถ้าคุณไม่มีตัวกรองว่าอันไหนดีไม่ดี เหมาะไม่เหมาะ ควรเสนอมากน้อยแค่ไหน แล้วที่สำคัญที่สุดคือถ้าไม่มีจรรยาบรรณเสียแล้ว สังคมมันอยู่ยากนะ ไอ้รุ่นเราน่ะมันไม่น่าห่วงหรอก มันต้องห่วงรุ่นข้างหลัง” 

นอกเหนือจากการเป็นบรรณาธิการมืออาชีพแล้ว ทุกวันนี้ มนทิรายังสนุกกับการเล่าเรื่องและการเขียนอยู่เสมอ ส่วนเรื่อง Content is King ในมุมมองของคนทำงานกับคอนเทนต์นั้น ส่วนตัวแล้วเธอบอกว่า

“ยุคนี้มันขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของคนด้วย บางเรื่องมันไม่เห็นจะเป็นคอนเทนต์อะไรเลย แต่มันเป็นเรื่องใหญ่ในเวลานั้น มันเป็น King ในความหมายนี้ เราเลยคิดว่ามันขึ้นอยู่กับบริบทและการตีความ แต่สำคัญกว่านั้นคือ คอนเทนต์ที่เราเลือกมาเล่า เราจะเล่าแบบไหน มันมีคุณค่ายังไง มีความคิดสร้างสรรค์แค่ไหน บางคอนเทนต์ห่วยมาก แต่เขาเล่าแบบสร้างสรรค์มาก ก็กลายเป็น Viral ได้ ยุคนี้มันไร้รูปแบบเสียจนทำอะไรก็ได้แล้ว และคุณค่าก็แล้วแต่ใครจะมองด้วย” 

นอกจากทุ่มเทและเอาจริงเอาจังกับการทำเพจ A WALK แล้ว วิถีชีวิตของเธอก็ยังเกี่ยวข้องกับการเดินทางอยู่อย่างสม่ำเสมอ เดินทางแล้วก็กลับมาเขียนหนังสือ แล้วก็ขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่เธอมองว่าทั้งท้าทายและสนุกนั่นแหละ 

“ก่อนหน้านี้ก็ไปหิมาลัย จนเขียนออกมาเป็นเล่มที่ชื่อ ‘หิมาลัยใช้ใจเดิน’ ปีที่แล้วก็ไปเทรคกิ้งที่อุทยานแห่งชาติ Fairly Meadows ปากีสถาน เดินอยู่สามวัน เดินหนักมาก กลับมาคือเล็บหลุดเลย แต่ความที่มันสวยซะจนต้องอดทนไปให้ถึงก็เลยเดินจนจบ บินไปคนเดียวด้วย แล้วก็ไปหาทัวร์ที่นั่น แล้วพอไปถึงคนอื่นเขาขี่ม้ากัน มีเราคนเดียวที่ไม่ขี่ เดินลงเขาทีเดียว 3 ชั่วโมงรวดก็เดินมาแล้ว เดินขึ้นเขาตอนกลางคืนก็ต้องเดินอยู่ 5 ชั่วโมง โหดมาก เหมือนไปทดสอบกำลังตัวเอง แล้วก็พบว่า ตอนนี้ใครมาชวนไปเทรคกิ้งจะโกรธ (หัวเราะ) แต่ที่เราไปอยากไปเหยียบที่นั่นให้ได้เพราะมันสวยมาก เคยเห็นภาพถ่ายแล้วจำแม่นเลย มันตื่นตะลึง แล้วเราไปเดือนตุลาคม ดอกไม้ก็จะบานเต็มเทือกเขา มันสวยจนบรรยายไม่ถูก แล้วพอไปเห็นแล้วมันก็ต้องเทรคกิ้งแล้วละ แต่จะขี่ม้าก็เสียศักดิ์ศรี ต้องเดินหน่อยละวะ พอเดินก็อย่างที่บอก เล็บหลุดจ้ะ” 

“แต่ถ้าเราไม่เดินทาง เราจะไม่มีทางเห็นดอกไม้ดอกเล็กๆ ตามรายทางเลยนะ แล้วถ้าเราไม่เลือกที่จะเดินเท้า เราจะไม่เห็นความเตี้ยของเราเมื่อเทียบกับเทือกเขาเลยว่ามันสูงแค่ไหน แล้วเวลามองจากมุมที่เดินมันเป็นยังไง การเดินนี่แหละที่จะทำให้เราเห็นความงามที่ซุกซ่อนอยู่ตามเบี้ยบ้ายรายทาง ถามว่าเหนื่อยไหม มันก็เหนื่อยแต่มันรื่นรมย์ แล้วการเดินทางก็ทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น โดยเฉพาะตอนที่เราพาตัวเองออกจากกรอบที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรือความสะดวกสบายต่างๆ มันจะทำให้เราเห็นตัวเองชัดขึ้น อีกอย่าง การเดินทางมันช่วยขัดเกลานิสัยไม่ดีของเราด้วย เช่น ปกติเวลาเราจะกิน เราจะเลือกเฉพาะอาหารที่ถูกปาก ถ้าเราไปเจออาหารที่ดูไม่ถูกปากหรือไม่ถูกสุขอนามัย เราจะเลือกกิน แต่เราเคยเดินทางเข้าไปที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอินเดีย แล้วอาหารมันดูไม่ค่อยน่ากิน แต่เขาจัดเตรียมมาให้เราอย่างดีเลย ตอนนั้นเราหันไปเห็นหน้าผู้ชายคนหนึ่งที่เขากำลังลุ้นว่าเราจะกินได้ไหม เราจะชอบไหม คือเป็นคุณจะทำยังไงอะ ก็ต้องกินเนอะ เพราะว่าเราคือแขกของเขา เราต้องเอามุมมองที่ไปตัดสินคนอื่นออกไปก่อน เราไม่อายเหรอ ถ้าเราไม่กินสิ่งที่เขาทำด้วยใจมาให้ นี่คือขนบของเขานะ และนี่คือสิ่งที่บอกว่า เราต้องขัดเกลาตัวเองก่อน เรื่องเล็กๆ แบบนี้แหละที่มันสอนเรา ค่อยๆ สอนไปจนเราค่อยๆ เป็นคนนิสัยดีขึ้นจากการเดินทาง” 

ไม่ได้หมายถึงชอบความลำบาก? เราถามต่อ

“เปล่าเลย ไม่ได้ชอบความลำบาก ไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าเราจะไปเจออะไรแบบนั้น เราไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้เลยว่าจะไปเจออะไรบ้าง แต่พอเราผ่านมาได้แล้ว เราจะขอบคุณความยากลำบาก เหมือนตอนที่เราเขียนหนังสือเรื่อง หิมาลัยใช้ใจเดิน เราบอกว่าทันทีที่ได้มองเห็นหิมาลัย เห็นความงามตอนแสงอาทิตย์ฉาบลงมา แล้วขณะที่เรานั่งกินกาแฟแล้วมองดูภาพนั้น เราเข้าใจเลยว่า เออ เราเกิดมาทำไม คำแบบนี้มันผุดขึ้นมาเลยว่า คุณต้องให้โอกาสชีวิตตัวเองได้เสพความงามแบบนี้บ้าง คุณต้องทำให้ตัวเองมีโอกาสที่จะทำให้หัวใจอ่อนโยนพอที่จะซึมซับความงามได้ง่ายๆ บ้าง สิ่งเหล่านี้ เราไม่รู้ว่าคนอื่นได้มาจากไหน แต่สำหรับเราได้มาจากการเดินทาง เพราะฉะนั้นเราจึงรักการเดินทางมาก การเดินทางเป็นเหมือนเพื่อนที่ช่วยเตือนสติ ตบหัวเราบ้าง และบางทีก็ให้รางวัล” 

“สุดท้าย ในทางพุทธศาสนา คนเราก็เกิดมาเพื่อเรียนรู้ให้ถึงที่สุดเพื่อที่จะไม่เกิดอีก แล้วถ้าเรามีสติมากพอนะ เราจะค้นพบว่าในช่วงเวลาที่ยากลำบากหรือทุกข์ที่สุดในชีวิต เราจะเห็นเลยว่าสุขทุกข์มันเท่ากัน เพราะที่สุดแล้วมันจะผ่านไป มันจะไม่อยู่กับเรานาน แต่เราต้องค่อยๆ ฝึกคิด ฝึกไปเรื่อยๆ แล้วมันจะทำให้เราอ่อนโยนกับตัวเอง อย่าไปอะไรกับชีวิตตัวเองมากเพราะมันเหนื่อยอยู่แล้ว แล้วถ้าเราอ่อนโยนกับตัวเองแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่อ่อนโยนกับคนอื่น” 

และในฐานะที่ครั้งหนึ่ง พี่อ้อย-มนทิรา ได้รับการยอมรับว่าเป็นบรรณาธิการและนักสัมภาษณ์ที่คุ้ยค้นตัวตนของคนอื่นได้อย่างเข้มข้นที่สุดคนหนึ่ง เรา…ในฐานะคนทำงานสัมภาษณ์ จึงอดไม่ได้ที่จะถามคำถามนี้ปิดท้าย 

เป็นนักสัมภาษณ์ก็ต้องตั้งคำถาม แล้วคิดว่าสิ่งที่นักสัมภาษณ์ควรจะถามตัวเองและเป็น Big Question เลยคืออะไร?​

“ถ้าเป็นนักสัมภาษณ์ในแง่ของการทำงาน ควรจะตั้งคำถามว่าคนคนนั้นน่าสัมภาษณ์ยังไง มีประโยชน์มากพอให้คนอื่นรู้จักยังไง และเมื่อเราไปนั่งอยู่กับเขาแล้ว เราก็ต้องเคารพและให้เกียรติเขา ที่สำคัญเราเป็นนักสัมภาษณ์ เราก็ต้องให้เขาพูด ไม่ใช่เราไปพูดแทนจนบดบังบทบาทหน้าที่ของเขาและของเรา คือคนเรานะ ถ้ารู้จักหน้าที่และบทบาทของตัวเอง และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ไม่ไปก้าวล่วงสิทธิของคนอื่น เราจะกระทบกระทั่งกันน้อยลงนะ แล้วเราจะไม่ไปสร้างปัญหากับคนอื่นเลย เพราะเราได้ทำหน้าที่แล้ว แต่ทันทีที่เราไม่ทำหน้าที่เรา นี่แหละมันจะกลายเป็นหน้าที่คนอื่นทันที”

“สุดท้าย ถ้าต้องมีคำถามสัมภาษณ์ตัวเองในวัย 60 เหรอ? อืม เราจะถามตัวเองว่า มนทิรา ‘ตอนนี้ สบายดีไหม’ สำหรับเรานี่เป็นคำถามเบสิกที่ทุกคนควรถามตัวเอง จะได้เป็นการเช็กตัวเองด้วย คำว่า สบายดีไหม เป็นคำที่เราชอบนะ เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องรู้สึกสบาย อย่างน้อยต้องสบายใจ สบายดี มันเป็นคำพูดที่ดูดาดๆ ธรรมดาๆ แต่มันทำให้เราสามารถตั้งคำถามกับทุกพาร์ตของชีวิตได้ง่ายมาก ชีวิตยังสบายดีไหม? ทำงานนี้แล้วยังสบายดีไหม? หรืออยู่กับคนรักแล้วเราสบายดีไหม? สำหรับเรามันเป็นคำถามที่ย้อนกลับมาถามตัวเองได้เสมอ แล้วใช้ได้กับทุกเรื่อง เพราะเราเป็นคนที่ชอบคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายๆ เราชอบอยู่ในสถานที่ที่เรารู้สึกสบาย มาคุยกับ a day เราก็รู้สึกสบายนะ บทสนทนาแบบนี้ ได้คุยกันแบบนี้ จะมีอะไรดีกว่านี้อีก” 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR