‘Mirrr Ninja Collab’ เมื่อ What The Duck ชวนนักวาดมาตีความเพลงใหม่ของ Mirrr ลงใน NFT

หากดูจากความคึกคักครึกครื้นของชุมชนนักวาดไทยในตลาด NFT และการที่ระบบเหรียญดิจิทัลชนิดนี้ค่อยๆ ขยับเข้าสู่กระแสหลักมากขึ้น ถึงขั้นคนที่สนใจมาก่อนหน้าเอ่ยปากว่าในที่สุดก็คุยกับเพื่อนรู้เรื่องสักที ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเมื่อมีใครพูดถึง NFT เราคงไม่ต้องมาอธิบายอย่างยืดยาวแล้วว่า NFT คือระบบเหรียญดิจิทัลที่มีความเฉพาะตัวที่ไม่สามารถทำซ้ำ คัดลอก ทดแทนหรือแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นได้ 

แม้กระทั่งการบอกว่านี่อาจเป็นทางรอดสำหรับศิลปินในบ้านเมืองที่น้อยคนนักจะเห็นค่าของศิลปะ ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกันดีแล้ว 

การเกิดขึ้นของ ‘Mirrr Ninja Collab’ โปรเจกต์ที่เริ่มต้นจากการร่วมมือร่วมใจของ 3 กลุ่มคนอย่าง มอย–สามขวัญ ตันสมพงษ์ ตัวแทนของค่ายเพลงดังอย่าง What The Duck, Studio Visual Assembly ทีมเบื้องหลังที่คอยซัพพอร์ตงานของ H.U.I. บริษัทของนักออกแบบคอนเสิร์ตอย่าง พล หุยประเสริฐ และสองสมาชิกวง Mirrr อย่าง โต–เลอทัศน์ เกตุสุข และ นาว–วิชชานนท์ ว่องวีรชัยเดชา จึงถือเป็นอีกหนึ่งขยับสำคัญที่เข้ามาตอกย้ำว่า NFT คือโอกาสใหม่ๆ ที่คนในวงการสร้างสรรค์น่าเข้าไปทดลอง

ความพิเศษของโปรเจกต์นี้นอกจากจะนำเสนอออกมาในรูปแบบของการรวมตัวกันระหว่างศิลปะและเสียงเพลง ผ่านการนำเนื้อร้องในเพลง นินจา (เพลงใหม่ที่จะพลิกไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้นของ Mirrr หลังก้าวเท้าเข้าสู่บ้าน What The Duck) มาตีความเป็นภาพ NFT Art เพื่อประกอบขึ้นเป็น lyrics video ซึ่งจะถูกลงขายจริงๆ ใน OpenSea 

นอกจากนี้ยังต่อยอดให้แฟนแพลงหรือกระทั่งผู้ที่สนใจทุกคนมาทำ NFT Art ตามธีม ‘The Lonely Girl and The Watcher’ เพื่อรวบรวมทำเป็น special video 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อขยับขยายคนสองกลุ่มที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงซึ่งกันและกันให้ได้รู้จักกันมากขึ้น 

และเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นมาเป็นไปของโปรเจกต์ Mirrr Ninja Collab อย่างลงลึกในรายละเอียด เราจึงชวนผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4 คนมาพูดคุยกัน

โปรเจกต์นี้เริ่มต้นได้ยังไง คุณเห็นโอกาสอะไรในตลาด NFT

มอย : ผมบอกตลอดว่า NFT น่าสนใจ ค่ายเราน่าจะลองทำอะไรกับสิ่งนี้ดู เราเคยเชิญอาจารย์ด้านนี้มาคุย ให้ความรู้กับน้องๆ ก็มีศิลปินในค่ายสนใจ แต่สุดท้ายก็ติดปัญหาว่าแล้วจะขายอะไรดี จะขายงานศิลปะก็คงไม่ใช่เพราะเราทำเพลง เหมือนเป็นช่วงที่กำลังหาว่าหากคนดนตรีอยากเข้าไปทำ NFT บ้างจะทำยังไงให้กลมกลืน

ทีนี้มันมาถูกเวลาตรงที่ว่าพอ Mirrr ย้ายมาอยู่กับเรา เขาก็กำลังพยายามเปลี่ยนจากการเป็น Mirrr ยุคแรก ที่มีเพลงแบบ นิโคติน, เกม หรือ มาโซคิสม์ ให้ไปในแนวทางที่เป็นตัวเองมากขึ้น กำลังทำอัลบั้มของตัวเอง ซึ่งพอเราคุยกันเรื่องคอนเซปต์อัลบั้ม คุยเรื่องไดเรกชั่นของวง ก็มีคีย์เวิร์ดหลายๆ คำที่หลุดออกมา เช่น ไซเบอร์พังก์ โลกเสมือนจริง หรือโลกดิจิทัล เราเลยได้พี่พลมาทำมิวสิกวิดีโอเพลงเปิดตัวอัลบั้มนี้ให้ภาพมันชัดขึ้นไปอีก 

พล : ตอนที่มอยส่งเพลงของ Mirrr มาให้ฟัง ตอนนั้นเรายังไม่ได้คุยอะไรเกี่ยวกับ NFT เลยด้วยซ้ำ แต่เราฟังแล้วรู้สึกว่าซาวนด์อัลบั้มนี้มันเท่ มีความโมเดิร์น ความดิจิทัลผสมอยู่ เรารู้สึกได้ว่าเขากำลังพยายามขยับ กำลังแสดงตัวตนอีกมุมหนึ่งที่ชัดเจนมากขึ้น เราเลยคุยกันว่าอยากจะทำเอ็มวีแบบ virtual ขึ้นมา เพราะเพลงที่วงทำมาดูน่าจะต่อยอดไปสู่สิ่งใหม่แบบที่เขาตั้งใจได้ 

แต่เพราะโควิด-19 แพลนถ่ายเราเลยค่อนข้างล่าช้าออกไป ประจวบกับค่ายก็อยากให้มี lyrics video ด้วย เราเลยเสนอว่างั้นเราใช้สิ่งนี้เป็นตัวเปิดในการทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับ NFT ไปเลยดีไหม เราเลยมีทั้ง lyrics video จาก Studio Visual Assembly ที่ภาพในนั้นก็จะถูกนำไปขายเป็น NFT และยังมีแคมเปญพิเศษที่ให้คนทำ NFT ขึ้นมาแล้วเดี๋ยวเราจะรวบรวมทำเป็น special video ช่วยโปรโมตให้เขา ซึ่งมันจะเขียนเลยว่า Mirrr คอลแล็บกับใคร ถ้าเห็นแล้วอยากซื้อรูปนี้ก็ไปซื้อจากเขาได้เลย

ทำไมถึงคิดว่ามันจะเป็นตัวเปิดที่เหมาะสม

พล : เพราะเราก็อยากทดลองว่าหากโลกของดนตรีกับศิลปะมาเจอกับ NFT จะสามารถครีเอตอะไรได้บ้าง ถ้าเอาเพลงในสไตล์ของ Mirrr มาประกอบกับรูปจะเป็นยังไง 

เรามองว่า NFT มันค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม คนส่วนใหญ่เป็นศิลปินกันเอง อาจจะมีคนไปลงทุนบ้าง เพราะ Cryptocurrency มันโต แต่วงการเพลงและดนตรีมันเป็นวงการเปิด เราเลยคิดว่าถ้าเราสามารถเอาสิ่งที่คนทั่วไปเข้าถึงได้อย่างเพลงเข้าไปจับ ก็น่าจะเป็นจุดเชื่อมที่ดีที่ช่วยให้วงการนี้มันขยับ ทำให้เกิดตลาดที่กว้างขึ้น คนที่ชอบ Mirrr อาจจะไม่เคยเล่น NFT เลยก็ได้ แต่พอฟังเพลงนี้ เห็นโปรเจกต์นี้ เขาอาจจะอยากไปลองทำ NFT ดู เราถือว่านี่คือสิ่งดี จะได้มากหรือได้น้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย

ย้อนกลับไปตอนคอนเสิร์ตของ BOWKYLION ที่เราทำให้ What The Duck ก็เป็นอะไรคล้ายๆ กัน คือเราเอานิทรรศการ งานถ่ายรูป มาผสมกับงานเพลงให้มันเกิดเป็นโปรเจกต์ใหม่ ครั้งนี้ก็เป็นอีกขยับหนึ่ง ซึ่งเราก็มองว่าสิ่งนี้มันเหมาะกับคาแร็กเตอร์ที่ Mirrr กำลังจะก้าวไป เอาเพลงมาเจอกับภาพ แล้วมันจะเป็นยังไงต่อ 

การทำเป็น NFT ก็เหมือนเราได้ลองสำรวจดูว่าต่อไปมันจะพาเราไปเจอจุดไหนที่น่าสนใจไหม มันคือการลองทำอะไรใหม่ๆ แหละ ยังไง What The Duck ก็เป็นค่ายที่ชอบลองอยู่แล้ว ก็ลองเลย

มอย : (พยักหน้าเห็นด้วย) เราไม่ได้มองว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนหรือเป็นทางรอดของค่ายเพลงหรอก โปรเจกต์นี้ค่อนข้างจะกึ่งทดลองนิดหนึ่ง เพราะเราไปศึกษาที่ศิลปินหรือค่ายเพลงต่างประเทศทำกันมันก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เขาทำ NFT ออกมาแบบมีความไฮบริดหน่อยๆ เช่น Kings Of Leon ก็ไม่ได้ขายแค่อัลบั้มที่เป็น NFT แต่เขามีแพ็กเกจเสริมที่เล่นกับพริวิเลจของแฟนคลับ มีการเพิ่มผลประโยชน์อย่างการให้ตั๋วแถวหน้าของวงไปตลอดชีวิตด้วย 

เราก็มองว่าการที่เราลองทำสิ่งนี้มันอาจจะเป็นโอกาสใหม่ เป็นถนนเส้นใหม่ที่เราสามารถสร้างรายได้ได้

แล้วในฐานะศิลปิน Mirrr คิดเห็นยังไงกับไอเดียนี้

โต : จริงๆ ผมมองว่าต้องขอบคุณพี่พลด้วยที่เสนอสิ่งนี้มา มันมาถูกจังหวะในช่วงที่ผมกำลังอยากออกไปจากโลกแห่งความเป็นจริง

ด้วยความที่ผมเป็นคนค่อนข้างขี้อาย ไม่ค่อยชอบแสดงออก เราเลยสนใจแนวคิดพวกการสร้างอวาตาร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ 3 มิติขึ้นมาหลายปีแล้ว เคยคุยกับพี่ๆ ด้วยซ้ำว่าเราอยากมี AI หรือคาแร็กเตอร์อะไรมาแทนตัวเองจัง จะได้ใช้คาแร็กเตอร์นั้นมาสื่อสารสิ่งต่างๆ แทน ซึ่งน่าจะช่วยได้มากสำหรับคนแบบเราที่มองว่าตัวเองไม่ค่อยเก่ง ไม่ค่อยเข้าใจตัวเอง

อย่างเวลาที่เราทำเพลงขึ้นมาหนึ่งเพลง ผมอาจจะถนัดในด้านการสร้างเสียงเพลง แต่ไม่ได้ถนัดสร้างแพ็กเกจจิ้งหรือบอกเล่าออกมา ในที่นี้คือไม่ใช่แค่ตัวตนของการเป็นศิลปินที่ถูกคาดหวังจากสังคมนะ แต่หมายถึงตัวตนของเพลงเลยด้วยซ้ำ เราไม่รู้ว่าจะอธิบายคนฟังยังไงว่าแนวเพลงของเรามันเป็นแบบไหน นั่นคือจุดแรกที่ทำให้ผมรู้สึกว่าความเป็นดิจิทัลมันตรงกับจิตวิญญาณของผม (หัวเราะ) 

มันอาจจะดูเป็นเรื่องเหนือจริงในการเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น AI แต่ในต่างประเทศมันเริ่มมีโมเดลแบบนี้ขึ้นมาแล้วจริงๆ และมันสามารถสร้างมูลค่าได้สูงมาก แม้จะฟังดูยากในการเริ่มต้น แต่ผมไม่อยากให้มองว่าสิ่งนี้มันเป็นเรื่องในจินตนาการ 

เหมือนกันกับ NFT สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมกับนาวสนใจกันมาก่อนแล้ว เราเคยคุยกับหลายคนว่าศิลปะในเมืองไทยราคาถูกเพราะดีมานด์มันน้อย กำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แต่พอ NFT เข้ามาทำให้ตัวกลางหายไป ไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์ใดๆ (ไม่นับค่าแก๊สในแพลตฟอร์มต่างๆ) ในอนาคตมันก็ทำให้ศิลปินสามารถสร้างแกลเลอรีขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ ไม่ต้องมีคอนเนกชั่นกับใคร 

เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันสามารถสร้างดีมานด์ให้กับศิลปินไทยได้ ทำให้คนทั่วไปรับรู้ถึงคุณค่าของการทำงานศิลปะ คือในเบื้องต้นคนอาจจะมองว่า NFT เป็นการเก็งกำไรแหละ แต่แล้วมันผิดตรงไหน ถ้านั่นคือการที่จะมีเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ เข้ามาสู่ศิลปินที่เคยถูกมองว่าไม่มีมูลค่า มันก็ไม่เห็นจะมีข้อเสีย 

พวกคุณสื่อสารภาพความเป็นดิจิทัลออกมาผ่านเพลงได้ยังไงบ้าง

นาว : ในทางดนตรี ถ้าฟังเพลง นินจา จะเห็นเลยว่ามันมีความแปลกใหม่ขึ้น มันเริ่มจากการตีความสิ่งที่โตอยากจะสื่อสารออกมา เราคุยกันว่าเพลงนี้จะพูดถึงอะไร พอผมได้ยินคำว่านินจาผมก็ตีความให้มันมีกลิ่นความเป็นตะวันออกของญี่ปุ่น ใส่ดนตรีประเภทเครื่องสายลงไปประกอบกับซาวนด์เอฟเฟกต์ที่เป็นซาวนด์ดีไซน์ให้มันมีกลิ่นความเป็นญี่ปุ่น มี ambient เสียงดาบให้รู้สึกว่าเราอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นจริงๆ 

ด้วยความที่ได้อินสไปร์มาจากเกมต่างๆ ผมเลยจะโฟกัสไปที่การทำบรรยากาศเพลงให้มีความล่องลอย มันเป็นเพลงที่ถ้าฟังครั้งเดียวอาจจะจับรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ ต้องฟังหลายๆ ที ซึ่งตอนที่เราทำเพลงนี้เสร็จเราก็ชอบไดเรกชั่นนี้กันมาก มันเป็นเหมือนการเปิดจักรวาลของอัลบั้มนี้เลย

พล : ขอเสริมว่าเราในฐานะคนที่เอาโปรเจกต์นี้มานั่งคิดต่อ พอฟังวิธีคิดเพลง ฟังสิ่งที่เขามองตัวเอง มันรู้สึกเลยว่าเพลงที่ทำออกมามันคือเขาจริงๆ คาแร็กเตอร์ของ Mirrr คือเด็กเนิร์ด เด็กนั่งเล่นเกมในห้อง ดังนั้นเนื้อเพลงมันก็สะท้อนคาแร็กเตอร์ความเป็นตัวเขา เป็นคนแอบชอบที่เหมือนนินจา อาศัยอยู่ในอีกโลกหนึ่ง และถ้าดูเนื้อเพลงนี้ก็จะเห็นเลยว่า โห นางเอกจะเหงาอะไรขนาดนี้ นินจานี่ก็เป็นผู้ยอมทุกอย่างเลย เป็นคนในที่มืด ไม่อยากให้เห็นตัวตน ส่วนตัวเราเลยรู้สึกว่าโปรเจกต์นี้มันมีความกลมมากทั้งในเรื่องของซาวนด์ที่เขาทำออกมาและคาแร็กเตอร์ของเพลง

มีเพลงแล้ว มีไอเดียแล้ว กระบวนการทำงานขั้นต่อไปคืออะไร กว่าจะออกมาเป็นภาพใน lyrics video อย่างที่เราเห็น

พล : กระบวนการทำงานมันก็คือการเอาเนื้อเพลงของเขามาตีความเพื่อจะเล่าตัวตนของเขาแหละ แต่เราต้องบอกก่อนว่าการทำงาน NFT กับการทำงานดีไซน์ในโปรเจกต์ที่ผ่านๆ มาของ H.U.I. มันต่างกันเยอะเหมือนกัน

สมมติเราทำคอนเสิร์ต เราจะพยายามเข้าใจศิลปิน ทำงานดีไซน์ให้มันออกมาตรงกับคาแร็กเตอร์เขา แต่กับ NFT มันคืองานที่เป็นตัวตนของนักวาดเจ้าของรูปนั้น อย่างที่ออฟฟิศนี่เราก็พยายามบอกให้น้องทำเลย นอกจากจะเป็นการหารายได้เสริมให้ตัวเอง มันยังเป็นการได้หาสไตล์ของตัวเอง หาว่าตัวตนของเขาเป็นใครด้วย

แต่เนื่องจากงานนี้มันเป็นงาน NFT เชิงโปรเจกต์ เราเลยต้องมีธีมกลางที่เอาไว้กำหนดภาพรวมต่างๆ มันเลยจะมีท่าบังคับคือต้องมีองค์ประกอบของผู้หญิงที่นั่งเศร้าอยู่กลางรูป ซึ่งเราใช้คำว่า ‘The Lonely Girl and The Watcher’ สื่อถึงว่าแม้ผู้หญิงคนนั้นจะเหงา เศร้า อกหัก หรืออะไรก็ตาม มันจะมีคนหนึ่งที่คอยเห็นคุณอยู่เสมอ เพื่อที่ว่าเวลาเราเอา NFT ที่คนทางบ้านส่งเข้ามาร่วมด้วยมันจะได้เชื่อมเป็นแคมเปญเดียวกันได้

มันคือการตั้งโจทย์ให้ชัดก่อน แล้วที่เหลือก็ปล่อยให้เกิดความสนุกในงาน สุดท้ายงานของน้องๆ ในทีมที่ถูกทำมาเป็น lyrics video ก็ยังมีความเป็นตัวตนของเขาอยู่ ทุกคนจะได้ทำในสิ่งที่เขาคิด และเราจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับงานดีไซน์ของเขา เพราะมันคืองานของเขา คือตัวตนของศิลปิน แค่เป็นงานที่มีอินสไปร์มาจากเพลง นินจา และผูกเข้ากับแคมเปญนี้เฉยๆ

เราถึงบอกว่าเราอยากให้โปรเจกต์นี้มีคนข้างนอกมาร่วมด้วยเยอะๆ ยิ่งถ้าเขาไม่เคยวาด NFT แล้วมาวาดให้เรา เราจะโคตรดีใจเลย เพราะมันคือประตูที่พวกเราอยากจะเปิดไปให้ถึง

การที่ศิลปินหรือคนทั่วไปสนใจทำ NFT เพื่อเข้าร่วมโปรเจกต์นี้ ดีต่อเขายังไง

พล : ก็หวังว่าเขาจะขายได้นะ เดี๋ยวพี่มอยจะไปไล่ซื้อ (หัวเราะ)

มอย : ที่ส่งมาสวยหลายรูปนะ 

พล : เราก็จะได้ช่วยโปรโมตให้เขาแหละ ในทางหนึ่งมันก็อาจจะทำให้เกิดการ bounce ของธุรกิจด้วย เช่น ฟังเพลงนี้แล้วนึกถึง NFT ลองกดไปซื้อ หรือลองลงไปทำ NFT เราว่ามันดีสำหรับตลาดทั้งคู่ โปรเจกต์นี้อาจจะไม่ได้จบแค่เพลงของ Mirrr หรืออาจจะไม่ได้จบที่รูปของน้องๆ ที่ทำขึ้นมาด้วยซ้ำ แต่มันอาจจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้มีจำนวนศิลปินเข้าไปจอย NFT มากขึ้นอีก 

ซึ่งเรามองว่าสิ่งที่ศิลปินที่เข้ามาร่วมด้วยจะได้คือการได้สำรวจหาสไตล์ของตัวเองนั่นแหละ ส่วนเรื่องจะขายได้-ไม่ได้ เราว่ายังไงหลังจากนั้นเดี๋ยวเงินก็จะมาเอง อาจจะไม่ได้มาด้วยรูปแบบ NFT ก็ได้ อย่างเราเองตอนนี้เวลาเลือกคนมาช่วยทำงานกราฟิก เราก็ไปเปิดจาก OpenSea ดูนะ 

มองภาพอนาคตที่มี NFT มาเกี่ยวข้องกับศิลปะไว้ยังไงกันบ้าง

มอย : เราว่ามันไปต่อได้อยู่แล้ว ไม่ต่างจากสมัยก่อนหรอก มันคล้ายจากสมัยก่อนที่เราฟังเพลงจากซีดีแล้วเปลี่ยนเป็น MP3 แล้วอยู่ดีๆ Apple ก็ออก iTunes มา จนทุกวันนี้คนซื้อในแนวคิดสตรีมมิงกันหมดแล้ว ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป คนซื้อไม่ได้ต้องการจะเป็นเจ้าของขนาดนั้น แต่แค่ได้ชื่นชม ได้เสพอะไรที่เขาสามารถจ่ายเงินได้ก็พอใจ คุณสมัคร Spotify เดือนละไม่กี่ร้อย คุณก็ได้ฟังเพลงทั้งหมดอย่างถูกกฎหมาย และเงินนั้นก็ส่งถึงผู้ผลิตและผู้สร้างสรรค์งานด้วย 

พล : มันเป็นทิศทางของโลกแหละ ตอนนี้โลกมัน decentralize เราพบแล้วว่าคนในสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องครอบครอง เป็นเจ้าของทุกอย่าง เราต้องการแค่ช่องทางในการฟังเพลง หรือครอบครอง NFT โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของชิ้นงานจริงๆ ต่อไป Mirrr อาจจะขายอัลบั้มแบบเป็น Cryptocurrency ก็ได้ ไม่มีใครรู้เลย แต่มันเดินไปต่อแน่ๆ และเราก็ต้องเดินตามไป

สุดท้าย คาดหวังผลลัพธ์ของโปรเจกต์นี้ไว้ยังไง

พล : อยากให้คนส่งมากันเยอะๆ ได้ยินเพลงนี้เยอะๆ และอยากให้โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์นำร่องที่จุดประกายให้ค่ายอื่นหันมาสนใจโปรเจกต์แบบนี้

มอย : ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการที่มีคนส่งเข้ามาร่วมเยอะๆ แน่นอน ณ จุดนี้ที่เราเห็นว่าโอกาสมันมา เวลามันเหมาะสม ศิลปินเองก็สนใจจะทำ เราเลยทำสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อทดลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งถ้าสิ่งที่ได้กลับมาคือมีคนเริ่มสนใจสิ่งนี้เพิ่มขึ้น หรือทำให้วงการมันขยับตัวมากขึ้น ผมว่ามันจบแล้วนะ 

เราไม่ได้บอกว่าเราทำสิ่งนี้เป็นกลุ่มแรก ศิลปินหลายๆ คนเขาก็ทำกันมาแล้ว เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่มาคอนเฟิร์มว่าตรงนี้มันมีโอกาสอยู่ ยิ่งกับช่วงนี้ที่ยังมีโควิด-19 ศิลปินยังออกไปทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่ได้ ผมว่ามันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

โต : สำหรับผมสิ่งนี้มันเป็นความมันส่วนตัวนิดหนึ่ง พูดตรงๆ ว่ามันอาจจะไม่สำเร็จก็ได้ สุดท้ายโปรเจกต์นี้อาจจะไม่แมส แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว แค่นั้นสำหรับผมก็คือสำเร็จแล้ว ไม่ว่าในสายตาของคนอื่นมันจะถูกมองว่าสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เพราะเราคุยกับทีมเรื่องนี้มาตลอด และได้เห็นความตั้งใจที่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายจริงๆ 

สังเกตคือตั้งแต่เริ่มคุยกันมาผมยังไม่ได้พูดถึงเพลงเลย แทบจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าเราปล่อยเพลง (หัวเราะ) เพราะผมมองว่าไม่ว่าจะเพลง ภาพ หรือแคมเปญ มันเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันทั้งหมด ในเชิงการตลาดหรือยอดขายไม่มีใครบอกได้หรอกว่าสิ่งนี้มันจะเวิร์กไหม แต่ผมก็เชื่อว่าถ้าสิ่งนี้มันเข้า NFT ไปแล้ว และมันเป็นสิ่งที่มีสตอรี เดี๋ยวมันจะมีมูลค่าเอง ซึ่งอาจจะมีมูลค่ามากกว่าในปัจจุบันก็ได้

AUTHOR