ชวนฟังเพลงจากศิลปินดังไต้หวันที่ช่วยขับเคลื่อนกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน

ตั้งแต่ปี 2019 ที่กฎหมายการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันประกาศใช้ ไต้หวันก็กลายเป็นดินแดนที่ชาว LGBTQ+ ในเอเชียหลายคนมองว่าเป็นดินแดนในฝัน แม้ระหว่างทางจะต้องเจอกับอุปสรรคหลายด่าน โดยเฉพาะในขั้นตอนการลงประชามติ ที่หลายคนลงความเห็นไม่เห็นด้วยที่จะให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ภายใต้กฎหมายการสมรสฉบับดั้งเดิม หรือหลายคนก็ไม่เห็นด้วยที่กฎหมายจะรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันเลย

ถึงอย่างนั้นด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ไต้หวันก็ผลักดันจนเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ให้มีสิทธิเหมือนที่คู่สมรสต่างเพศพึงมี

ข่าวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นสมรสเท่าเทียมในไทย ทำให้เราอยากพูดถึงความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ของไต้หวันสักหน่อย เพราะเช่นเดียวกันกับในไทย กว่าที่ไต้หวันจะมาถึงจุดนี้ได้ก็มีการผลักดันจากหลายแวดวงที่ช่วยกันส่งเสียงเพื่อสนับสนุนสิทธิของ LGBTQ+

ไม่นานมานี้ ในคลาสเรียนภาษาจีนออนไลน์ของเรา เหล่าซือได้แนะนำเพลงจากศิลปินดังชาวไต้หวันมาประกอบการสอนภาษา มี 2-3 เพลงที่เราสังเกตว่ากำลังพูดถึงความสัมพันธ์ของคู่รัก LGBTQ+ บางเพลงเราเองก็เคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ แต่ถ้าไม่ตั้งใจฟังเนื้อเพลงดีๆ หรือไม่ได้มาดูเอ็มวี ก็อาจจะไม่รู้เลยว่าศิลปินกำลังสื่อสารกับคนฟังทางอ้อมถึงการสนับสนุนตัวตนและการสมรสของชาว LGBTQ+

เราลองไปค้นดูเพิ่มเติมแล้วพบว่า แม้จะยังไม่นับวงการเพลงอินดี้ที่เราเองไม่ค่อยถนัด แต่ศิลปินเบอร์ใหญ่ของไต้หวันมีไม่น้อยเลยที่แสดงการสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านผลงานเพลง และมีการตีความและนำเสนอได้น่าสนใจ อย่าง จางฮุ่ยเม่ย หรือ A-Mei ที่สื่อสารจุดยืนนี้อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2004 ในเพลง Love Is The Only Way ที่มีฉากงานแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในเอ็มวี และเพลง Rainbow ในปี 2009 และเป็นเพลงที่คนไต้หวันรอบตัวเราหลายคนก็เห็นไปในทางเดียวกันว่าทั้งความหมายและทำนองของเพลงนี้มีพลังมากๆ

ในปีนี้มี Official Video ของเพลงนี้ออกมาเผยแพร่บน YouTube ภาพของเวทีที่รายล้อมไปด้วยธงสายรุ้งและบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยิ่งทำให้เพลงนี้ดูทรงพลังขึ้นไปอีก ขนาดเราเคยได้ฟังเพลงนี้มาก่อนหลายครั้งแต่พอได้ดู Official Video เพื่อเขียนงานชิ้นนี้ก็อดขนลุกไม่ได้

อีกคนที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะถ้าเทียบฐานะเธอที่ไต้หวันกับวิธีเรียกแบบไทยๆ เธอก็คือ ‘แม่’ ที่ถ้าเพลงขึ้นเมื่อไหร่ทุกคนเป็นต้องลุกขึ้นมาแย่งกันเต้นเมื่อนั้น ไช่อี้หลิน หรือที่หลายคนเคยได้ยินว่า โจลิน ไช่ ก็มีผลงานเพลง We’re All Different, Yet The Same ออกมาในปี 2014 สองปีหลังจากที่สังคมไต้หวันเริ่มคุยกันเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันมากขึ้น

ที่จริงแล้ว โจลิน มีผลงานเพลงอีกหลายเพลงที่พูดถึงตัวตนของชาว LGBTQ+ แต่เพลงนี้ดูเหมือนจะเป็นเพลงสำหรับคู่รักเพศเดียวกันที่ชัดเจนที่สุด เพราะเปิดขึ้นมาด้วยท่อน “หญิงสาวสองคนตกหลุมรักกัน มันไม่ง่ายและก็ไม่แปลก” โดยเนื้อหาในเอ็มวีเป็นเรื่องที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริง เล่าเรื่องของคู่รักเพศเดียวกันที่ไม่สามารถช่วยเหลืออีกฝ่ายได้เมื่ออยู่ในภาวะคับขัน เพราะแม้จะอยู่ด้วยกันมานานแต่กลับไม่มีสถานะคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย

แม้ในปี 2019 คู่รักชาวไต้หวันทุกคู่จะไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิการจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตภายใต้กฎหมายแล้วก็ตาม แต่หากเป็นคู่รักไต้หวันกับชาวต่างชาติ ที่ประเทศของอีกฝ่ายยังไม่รองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ยังไม่สามารถจดทะเบียนภายใต้กฎหมายของไต้หวันได้เช่นกัน

เพลง SEA You Soon ของเหลียงจิ้งหรู หรือ Fish Leong และ อ้ายอี๋เหลียง หรือ Eve Ai เป็นอีกเพลงที่เนื้อหาในเอ็มวีสร้างมาจากเรื่องจริงของคู่รักชาวไต้หวันและญี่ปุ่นที่การบินข้ามประเทศไปพบอีกฝ่ายบ่อยๆ ด้วยสถานะเพื่อน ทำให้กลายเป็นคนต้องสงสัยของด่านตรวจคนเข้าเมือง

เพลงนี้เป็นเพลงที่ทำขึ้นเพื่อช่วยระดมทุนให้โครงการ SEA You Soon เพื่อช่วยเหลือคู่รักเพศเดียวกันที่มีปัญหาด้านกฎหมาย และมีเป้าหมายใหญ่คือผลักดันให้ไต้หวันเปิดกว้างให้การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในไต้หวันอย่างเท่าเทียม

ปัจจุบันแม้ไต้หวันจะยังไม่ได้แก้ไขข้อกฎหมายที่เป็นปัญหานี้ แต่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลไต้หวันได้ตัดสินอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันชาวไต้หวันและมาเลเซียสามารถจดทะเบียนกันได้ โดยอ้างจากกฎหมายมาตราหนึ่งว่าด้วยการเลือกใช้กฎหมายที่องค์ประกอบเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศว่า ถ้ามีการใช้กฎหมายจากต่างประเทศแล้วการใช้กฎหมายนั้นสร้างความวุ่นวายในไต้หวัน ก็ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายของต่างประเทศนั้นไป ทำให้เคสนี้กลายเป็นเคสตัวอย่างของคู่รักไต้หวันและชาวต่างชาติอีกหลายคู่ แต่เพราะกฎหมายที่เป็นต้นตอของปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไข หลายฝ่ายจึงยังเดินหน้าผลักดันกันต่อไป

ระหว่างทางที่เราค้นหาข้อมูลเพื่อเขียนบทความครั้งนี้ ยังเจอเพลงที่น่าสนใจอีกหลายเพลง มีทั้งที่พูดถึงความรักความสัมพันธ์ หรือการยอมรับตัวตนของชาว LGBTQ+ มีบางเพลงที่อยากแนะนำให้ลองฟังกันนอกเหนือจากเพลงด้านบนแล้ว คือเพลง WOMXNLY ของโจลิน ไช่ เพลง With You, With Love ของ Zy Co feat. Achau และเพลงจาก Mitchell ยูทูบเบอร์ดังชาวไต้หวัน ชื่อ I feel free when I’m saying truth

แม้จะไม่ใช่กำลังหลักในการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่การแสดงความสนับสนุนผ่านงานเพลงของศิลปินหลายๆ คนก็เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้าใจในสังคม และเป็นแรงใจสำคัญให้กับชาว LGBTQ+ ในไต้หวัน เหมือนที่ภาพจากเพลง Rainbow แสดงให้เราเห็น

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ